วันอาทิตย์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ศักยภาพในการต่อสู้รถถังหลักของยานเกราะเหล่าทหารม้ากองทัพบกไทย-๒

กลุ่มรถถังที่ติดปืนใหญ่รถถังขนาด 105mm นั้นเป็นกำลังหลักของเหล่าทหารม้ากองทัพบกไทยมานานหลายสิบปีนับตั้งแต่การจัดหา

รถถังหลัก M48A5 ในปี ๒๕๒๒

รถถังเบาแบบ ๓๒ Stingray ในปี ๒๕๓๒

รถถังหลัก M60A1 Rise/Passive ในปี ๒๕๓๔

และ M60A3 TTS ในปี ๒๕๓๙-๒๕๔๐

นอกจาก ถ.เบา ๓๒ Stingray แล้วรถถังหลักในกลุ่มนี้ล้วนเป็นรถมือสองที่เคยประจำการในกองทัพสหรัฐฯมาก่อนทั้งสิ้น
โดยรถถังกลุ่มนี้คาดว่าจะมีอายุการใช้งานนับจากที่ปีเข้าประจำการไปไม่ต่ำกว่า 40-50ปี ถ้าเทียบกับ M41A3
อย่าง M48A5 และ M60A1 ก็มีการปรับปรุงระบบควบคุมการยิงเป็น FCS-10 และ FCS-10MS ของอิสราเอลไปหลายสิบปีแล้ว และระบบควบคุมการยิง Marconi DFCS ของ Stingray ก็ยังมีประสิทธิภาพอยู่
แต่จำเป็นต้องปรับปรุงบางส่วนที่เริ่มเก่าและเสื่อมสภาพ ซึ่งกองทัพบกก็มีโครงการซ่อมปรับปรุงหรือจัดหาระบบควบคุมการยิงใหม่สำหรับรถถังสามแบบนี้อยู่
ส่วนระบบควบคุมการยิง เครื่องหาระยะด้วย Laser แบบ AN/VVG-2 กล้องเล็งพลยิงแบบ AN/VSG-2 ของ M60A3 ก็ยังใช้งานได้ดีอยู่

ในส่วนของอาวุธหลักคือปืนใหญ่รถถังของรถถังกลุ่มนี้นั้น
กระสุนปืนใหญ่แรงถอยต่ำ L7A3 ที่ติดตั้งกับ Stingray สามารถใช้ร่วมกันได้กับกระสุนปืนใหญ่รถถัง M68 ที่ติดตั้งกับ M48A5 และ M60A1/A3
โดยตัวอย่างกลุ่มกระสุนที่ใช้ต่อสู้กับรถถังหลักด้วยกันที่อ้างอิงตามคู่มือของกองทัพบกและจากที่เคยเห็นว่ามีใช้งานจริงก็เช่น

กระสุนปืนใหญ่รถถังขนาด 105mm ที่ใช้กับปืน M68 นั้นตัวที่น่ามีประสิทธิภาพสูงสุดที่กองทัพบกไทยมีคือ
กระสุนเจาะเกราะสลัดครอบทิ้งเองทรงตัวด้วยครีบหาง APFSDS แบบ M426 ของ IMI อิสราเอล
ซึ่งเจาะเกราะเหล็กกล้าRHA(Rolled Homogeneous Armour) ได้หนา 450mm ที่ระยะยิง 2,000m
ส่วนกระสุนรุ่นเก่าดั้งเดิมของสหรัฐฯที่ใช้กับ ปถ.M68 ก็มีเช่น M735A1 APFSDS เจาะเกราะได้หนา 300mm ที่ระยะ 2,000m
ในคู่มือของกองทัพบกนั้นยังมีข้อมูลของกระสุน M833 APFSDS ของสหรัฐฯซึ่งใช้แกนลูกดอกยูเรเนียมไร้รังสี(Depleted Uranium) เจาะเกราะได้หนา 420mm ที่ระยะ 2,000m
ซึ่งจะใช้ในภาวะสงครามเท่านั้น แต่ก็ไม่ทราบว่ากองทัพบกไทยมีใช้งานจริงๆหรือไม่
ส่วนกระสุนระเบิดแรงสูงต่อสู้รถถังก็มีเช่น M456A2 HEAT-T-MP เจาะเกราะได้ 430mm ที่ระยะ 2,000m

กลุ่มกระสุนปืนใหญ่ขนาด 105mm ที่ใช้กับ ปถ.L7 จะมาจากอังกฤษ ตัวอย่างเช่น
L64A4 APFSDS เจาะเกราะ RHA ได้หนา 340mm ที่ระยะยิง 2,000m
และกระสุนเจาะเกราะสลัดครอบทิ้งเอง APDS แบบ L52 ซึ่งเป็นกระสุนรุ่นเก่าที่เจาะเกราะได้ 300mm ที่ระยะ 2,000m ด้วย
นอกจากนี้ก็มีกระสุนระเบิดแรงสูงกระเทาะเกราะ HESH แบบ L35 เจาะเกราะได้หนา 310mm อีกแบบ

สำหรับการต่อต้านรถถังหลักในตระกูล T-54/T-55 และรถถังจีนที่มีแบบพื้นฐานมาเช่น Type 59 และ Type 69 นั้น
รถถังของเหล่าทหารม้ากองทัพบกไทยที่ใช้ ปถ.105mm ไม่มีปัญหาในการจัดหาสำหรับ T-55 และ Type 59 รุ่นพื้นฐาน ที่ระยะ 2,500m ลงมา
ซึ่งก็รวมถึง T-55AM2 ที่ติดเกราะเสริมครึ่งวงกลมที่ป้อมปืนด้วยเมื่อใช้กระสุน APFSDS แบบประสิทธิภาพสูงที่กองทัพบกมี
โดยปืนใหญ่รถถัง D-10T และปืนรถถังของจีนขนาด 100mm นั้นมีระยะยิงและระบบควบคุมการยิงด้อยกว่า ปถ.105mmพอสมควร
แต่สำหรับ Type 59D และ Type 59M ที่ติดเกราะปฏิกิริยาแรงระเบิด ERA เสริมและติด ปถ.Type 83A ขนาด 105mm นั้นจะมีขีดความสามารถในการคุกคามเพิ่มอีกระดับ
การจัดการ Type 59D/M อาจจะต้องยิงในส่วนที่ไม่ใช่เกราะด้านหน้าซึ่งติดเกราะ ERA เสริมซึ่งสามารถต่อต้านกระสุนลูกดอก SABOT และ HEAT ได้มาก
และอาจจะต้องยิงในระยะต่ำกว่า 2,000m ลงมา ซึ่งอานุภาพในการเจาะเกราะของ ปถ.105mm จีนนั้นเทียบเท่า M68 และ L7
สำหรับ M48A5, M60A1 และ M60A3 เกราะป้อมปืนหลัก RHA ที่หนา 120mm ไม่เพียงพอจะสามารถจะป้องกันได้



เฉพาะ M60A1/A3 อาจจะจำเป็นต้องติดเกราะเสริมเช่น เกราะ Blazer ซึ่งมีภาพว่ากองทัพบกไทยมีใช้อยู่เพื่อเพิ่มอำนาจในการป้องกันอีกระดับ

แต่ในส่วน Stingray แล้ว ตัวถังและป้อมปืนโลหะผสม CADLOY ที่เกราะหน้าป้องกันได้เพียงกระสุนเจาะเกราะขนาด 14.5mm แล้ว
ไม่สามารถที่จะต่อต้านการยิงของไม่ว่าจะ ปถ.100mm ของ T-55 หรือ ปถ.105mm ของ Type 59D/M ได้เลย

ยิ่งถ้าภัยคุกคามรถถังหลักในภูมิภาคนี้ยกระดับขึ้นเป็นรถถังในสาย T-72 ด้วยแล้ว
อำนาจการยิงของปืนใหญ่รถถังขนาด 125mm 2A42M สามารถจะจัดการรถถังหลักที่ดีที่สุดของกองทัพบกไทยในปัจจุบัน
คือ M60A3 และรถถังที่ติด ปถ.105mm ทุกแบบได้ในการยิงนัดเดียวที่ระยะต่ำกว่า 2,500m ลงมา
ในส่วนเกราะป้องกันของ T-72 นั้น เกราะหน้าของ T-72M1 ที่ความหนาประมาณ 400-420mm อาจยังสามารถใช้กระสุนที่ดีที่สุดของ ปถ.105mm คือ M426 จัดการได้
แต่ถ้าเป็น T-72S ที่ติดเกราะ ERA เสริมเทียบเท่าเกราะ Kontakt1 ที่มีความหนาเกราะป้อมปืนด้านหน้าเพิ่มเป็น 520-540mm แล้วไม่มีทางที่จะจัดการได้ง่ายๆเลย 
การเสริมเกราะ ERA อย่างเกราะ Blazer สำหรับ M60A1/A3 ก็ดูจะไม่เพียงพอสำหรับการป้องกันกระสุน APFSDS ขนาด 125mm รุ่นใหม่ๆด้วย

การยกระดับอำนาจการยิงของรถถังที่ใช้ ปถ.105mm ของเหล่าทหารม้ากองทัพบกไทยนั้นอาจจะมีแนวทางเลือกจำกัด
หนึ่งคือการจัดหากระสุนปืนใหญ่รถถังขนาด 105mm รุ่นใหม่ที่มีอำนาจการเจาะเกราะสูงขึ้น

ตัวอย่างเช่นกระสุน APFSDS-T แบบ K274 ของ POONGSAN เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นกระสุนที่ใช้กับรถถังกองทัพเกาหลีที่ใช้ ปถ.105mm เช่น M48A5K2 และ K1
ซึ่งอ้างว่าสามารถเจาะเกราะ RHA ได้ที่ 470mm ที่ระยะ 2,000m
ตามข้อมูลที่มีออกมาการปรับปรุงรถถังหลัก K1E1 ของกองทัพเกาหลีใต้นั้นจะไม่มีการเปลี่ยน ปถ.จาก KM68 105mm เป็น KM256 120mm 
เนื่องจากป้อมปืนของ K1 มีขนาดเล็กกว่า K1A1 ที่ออกแบบมาสำหรับ ปถ.120mm แต่แรกการเปลี่ยน ปถ.ใหม่จึงทำไม่ได้
แต่เกาหลีใต้จะเลือกพัฒนากระสุน 105mm รุ่นใหม่ที่มีอำนาจการเจาะเกราะสูงขึ้นแทน ซึ่งสามารถพัฒนาให้เจาะเกราะได้ถึง 550mm ในระยะ 2,000m


แนวทางที่สองคือการปรับปรุงรถถังหลัก M60A1 และ M60A3 ให้ทันสมัยขึ้น อย่างโครงการปรับปรุง M60T Sabra ของกองทัพบกตุรกี โดย IMI อิสราเอล 
ซึ่งเสริมเกราะใหม่ เปลี่ยน ปถ.ใหม่เป็น MG253 ขนาด 120mm และเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่เป็น 1,000hp
อย่างไรก็ตามแนวทางนี้จะใช้งบประมาณจำนวนมากพอสมควร รวมถึงต้องมีการขออนุมัติจากสหรัฐฯในการปรับปรุงเสียก่อนด้วย

จะเห็นได้ว่าการที่โครงการจัดหารรถถังหลัก Oplot ของกองทัพบกไทยประสบปัญหาความล่าช้านั้น 
ส่งผลต่อขีดความสามารถในการต่อต้านภัยคุกคามจากรถถังหลักในภูมิภาคนี้ที่มีการเพิ่มศักยภาพมากขึ้น
เราได้แต่หวังว่าโครงการจัดหารถถังหลัก Oplot จะไม่ประสบความล้มเหลวลง
เพราะถ้าเหล่าทหารม้ากองทัพบกไทยจัดหารถถังหลักแบบใหม่ได้ช้าเท่าไร ผลกระทบต่อดุลอำนาจด้านกำลังทางบกของไทยที่ตกลงไปมากขึ้นเท่านั้น
ซึ่งถึงศูนย์การทหารม้าจะมีรถถังหลัก Oplot ชุดต้นแบบ 5คันอยู่ต่อไป โดยจะไม่มีการส่งกลับไปยูเครนก็จริง
แต่รถถังยุคที่สามที่ทันสมัยที่สุดเพียงหมวดเดียว คงไม่สามารถส่งผลต่อการปฏิบัติการรบของสงครามในภาพรวมได้อยู่ดีครับ