วันเสาร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2558

ความคืบหน้าโครงการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพไทยในงบประมาณปี ๒๕๕๙

ข่าวที่มีสื่อหลักรายงานออกมาเกี่ยวกับการให้สัมภาษณ์ของผู้บัญชาการทหารอากาศ พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง ในการเสนอแผนพัฒนาและจัดหายุทโธปกรณ์กองทัพไทยประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๙ ต่อคณะรัฐมนตรีนั้น
นอกจากในส่วนกองทัพอากาศที่กล่าวถึงการพัฒนาระบบ Network Centric สำหรับการรบเป็นเครือข่ายของอากาศยานรบหลักโดยเฉพาะเครื่องบินขับไล่ Gripen และขยายไปยัง F-16 และ F-5 ให้สมบูรณ์
รวมถึงการย้ายโรงเรียนนายเรืออากาศจากดอนเมืองไปอำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรีที่คาดว่าจะแล้วเสร็จใน๓-๔ปีข้างหน้านั้น
ยังมีข่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ของทั้งสามเหล่าทัพอีกบางรายการด้วย

ก่อนอื่นต้องขอกล่าวพาดพิงถึงรายงานข่าวการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพในสื่อกระแสหลักที่แทบจะทุกครั้งจะมีความผิดพลาดและคลาดเคลื่อนมาก
จนสร้างความเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและองค์กรหรือหน่วยงานในกองทัพเจ้าของโครงการบ่อยครั้ง
ซึ่งประเด็นนี้เป็นปัญหาหามานานแล้วของนักข่าวสายการเมืองบางคนที่พอทำงานข่าวติดตามนายทหารระดับสูงบางคนก็เรียกตนเองว่า"นักข่าวสายทหาร" ได้แล้ว
(เราไม่อยากรู้หรอกว่าใครจะโดนย้ายไปไหน หรือใครจะได้ตำแหน่งอะไร หรือใครเป็นพวกใครรุ่นอะไรสายไหน)
แต่พอทำรายงานข่าวการจัดหายุทโธปกรณ์ออกมาเผยแพร่ผ่านสื่อให้ประชาชนทั่วไปรับทราบกลับไม่มีความถูกต้องเหมือนไม่เคยค้นหาข้อมูลประกอบ
แย่กว่านั้นคือไม่รู้อะไรเลยแต่บิดเบือนลงข้อมูลมั่วหรือใส่ข้อความอันเป็นเท็จจนเกิดความเสียหายแก่หน่วยงานนั้น
(อย่างที่เรียกว่า "นั่งเทียนเขียนข่าว")
โดยมีพื้นฐานว่าโครงการนั้นต้องโกงต้องทุจริตเสมอ แถมส่วนใหญ่เมื่อมีการชี้แจงกลับว่าข่าวนั้นผิดกลับไม่มีการขอโทษหรือชี้แจงอะไรด้วย เพราะอาศัยความเป็นฐานนันดรที่๔ปกป้องตนเอง
ซึ่งนั่นเป็นปัญหามานานแล้วของสื่อหลักในไทยเกี่ยวเรื่องความมั่นคงและการทหาร จนทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่รับสื่อขาดความเข้าใจที่ถูกต้องอันดีและมีอคติต่อกองทัพ
(หนึ่งในคำถามน่าเบื่อหน่ายตลอดกาล "ซื้ออาวุธมาแสนแพงจะไปรบกับใคร?" รวมถึงคำอื่นๆจากกลุ่มที่ต่อต้านกองทัพทุกเรื่องอย่างไร้เหตุผลโดยสิ้นเชิงที่มีอยู่จำนวนหนึ่งด้วย)

ในกรณีนี้ก็คือข่าวที่ว่ากองทัพเรือไทยจะตั้งโครงการจัดหาเรือดำน้ำใหม่เข้าประจำการจำนวน ๒-๓ลำ ซึ่งถึงขั้นมีการลงข้อมูลไปแล้วว่าเลือกแบบเรือ U209 ที่ต่อในเกาหลีใต้เพราะราคาถูกสุดลำละ ๑๑,๐๐๐ล้านบาท
จนทำให้กองเรือดำน้ำซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับโครงการต้องออกมาชี้แจงผ่าน Facebook Page ประชาสัมพันธ์ของหน่วยว่าข้อมูลดังกล่าวคาดเคลื่อนจากความจริงมาก
เพราะถึงกองทัพเรือจะมีการเสนอโครงการจัดหาเรือดำน้ำจริงแต่ขณะนี้ก็ยังอยู่ในขั้นตอนการรวบรวมข้อมูลจากบริษัทประเทศต่างๆที่นำมาเสนอเท่านั้น
ซึ่งหลังจากที่กองทัพเรือมีการเสนอโครงการไปแล้วจึงจะมีหนังสือให้บริษัทผู้ผลิตยื่นข้อเสนอตามกำหนดรายละเอียดคุณลักษณะตามที่กองทัพเรือต้องการอีกทีก่อน บริษัทผู้ผลิตจึงจะยื่นเสนอรายละเอียดเรือพร้อมราคาและเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกต่อไป
โดยในปี ๒๕๕๗ ที่ผ่านมามีตัวแทนบริษัทประเทศต่างๆนำเสนอแบบเรือดำน้ำให้กองทัพเรือรับทราบข้อมูลอยู่บ้าง เช่น

Rosoboronexport รัสเซียเสนอแบบเรือ Project 636 KILO และ AMUR 1650 ซึ่งเคยรายงานไปแล้ว
http://www.namo.navy.mi.th/index.php/today/detail/content_id/3096


DSME สาธารณรัฐเกาหลีเสนอแบบเรือ DSME1400


และ DCNS ฝรั่งเศสแบบเรือ Scorpene1000 และ Scorpene2000

https://www.facebook.com/pages/Submarine-Squadron-กองเรือดำน้ำ-กองเรือยุทธการ/222887361082619

ซึ่งก็ตามที่กล่าวไปในข้างต้นว่าเป็นการบรรยายนำเสนอข้อมูลให้กองทัพเรือทราบเท่านั้น ไม่ได้เป็นการยื่นราคาแบบเรือแข่งขันในโครงการจัดหาแต่อย่างใดครับ
เพราะฉะนั้นที่สื่อรายงานข่าวว่ากองทัพเรือเลือกแบบเรือและกำหนดราคาไปแล้วจึงไม่ถูกต้องตามความจริงอย่างมาก
โดยเฉพาะตอนนี้เองรัฐบาลมีรายจ่ายที่จะต้องใช้แก้ปัญหาต่างๆอีกเป็นจำนวนมากในปี ๒๕๕๘ นี้ ทั้งเรื่องภัยธรรมชาติ ปัญหาผลผลิตการเกษตร และอื่นๆที่มีผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่
ถ้ามีข่าวการอนุมัติโครงการจัดหาเรือดำน้ำในช่วงนี้แน่นอนว่าจะถูกประชาชนส่วนใหญ่โจมตีว่าไม่เหมาะสมอย่างมากครับ

(อันนี้ความเห็นส่วนตัวนะครับ การที่รองนายกรัฐมนตรีเคยกล่าวให้สัมภาษณ์กับสื่อเรื่องโครงการจัดหาเรือดำน้ำมาก่อนหน้านี้ในเดือนธันวาคมปีที่แล้วนั้น
ส่วนตัวคิดว่าเหมือนเป็นการบอกกองทัพเรือแบบอ้อมๆด้วยซ้ำไปครับว่า ถึง ครม.จะไม่ขัดข้องแต่ขอให้กองทัพเรือกลับไปพิจารณาก่อนเสนอให้ดีก่อน
อย่าเพิ่งตั้งโครงการเรือดำน้ำตอนนี้จะดีกว่า เพราะติดขัดเรื่องงบประมาณและความเหมาะสม
และถ้ากองทัพเรือจะโดนฝ่ายการเมืองกดดันเรื่องการเลือกแบบเรือดำน้ำด้วยแล้วกองทัพเรือคงไม่ยอมครับ เพราะถ้าจะโดนเช่นนั้นขอยอมให้ก็ยกเลิกโครงการไม่เอาเรือดีกว่า
เพราะถ้าได้เรือที่ไม่ตรงกับความต้องการและคุณภาพไม่ดี จะไม่คุ้มค่าและเสี่ยงต่อความปลอดภัยของกำลังพลที่จะต้องใช้ในระยะยาวครับ)

ด้านกองทัพบกไทยมีสองโครงการที่เป็นข่าวคือโครงการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไปทดแทน ฮ.ท.๑ UH-1H ระยะที่๓ วงเงิน ๒,๘๐๐ล้านบาท ซึ่งน่าจะคือโครงการจัดหา ฮ.ท.๗๒ UH-72A ระยะที่๓ ในรูปแบบ FMS
ก็น่าจะเป็นไปตามแผนที่วางไว้ครับหลังจากที่จัดหาระยะแรกซึ่งเครื่องชุดนี้น่าจะส่งมอบในเดือนเมษายนปีนี้ตามกำหนดการณ์เดิม ๖เครื่อง และการอนุมัติจัดหาระยะที่๒ อีก ๙เครื่องในปีที่ผ่านมารวม ๑๕เครื่อง

ที่มา Page ศูนย์การบินทหารบก
https://www.facebook.com/pages/ศูนย์การบินทหารบก/203323443120577

อีกโครงการคือโครงการจัดหาเครื่องบินลำเลียงทางยุทธวิธี ๑เครื่อง วงเงิน ๑,๒๕๐ล้านบาท
ซึ่งน่าจะนำมาทดแทนเครื่องบินลำเลียงเก่าที่ปลดไปแล้วอย่าง Short 330-UTT ที่เคยประจำการ ๒เครื่อง
และเสริมเครื่องบินลำเลียงทางยุทธวิธี บ.ล.๒๑๒ CASA C-212 ที่มีประจำการอยู่ ๒เครื่อง ซึ่งจัดหามาตั้งแต่ปี ๒๕๔๐


มีข่าวลือออกมานานแล้วครับว่ามีแบบเครื่องสองแบบที่กองทัพบกสนใจจะจัดหาคือ EADS CASA C-295 สเปน และเครื่องบินลำเลียงขนาดกลางของ Antonov ยูเครนที่มีข่าวว่ามีเจ้าหน้าที่กองทัพบกไปดูงานที่ยูเครนมาแล้ว
แต่รายงานข่าวจากสื่อส่วนนี้ก็มีความคาดเคลื่อนเช่นกันที่เสนอว่าแบบเครื่องที่สนใจคือ An-30 ที่เป็นเครื่องบินตรวจการณ์ถ่ายภาพทางอากาศที่ดัดแปลงจาก An-24 ซึ่งเก่าและปิดสายการผลิตไปนานมากแล้ว
แบบเครื่องจริงน่าจะเป็น Antonov An-32 มากกว่า โดยมีข้อมูลว่ากองทัพอากาศอิรักเพิ่งจัดหาไป ๖เครื่องเมื่อปี 2012 เข้าใจว่าสายการผลิตน่าจะมีอยู่
ซึ่ง An-32 เองก็มีรุ่นที่ติดตั้งเครื่องยนต์ เครื่องวัดประกอบการบิน และระบบ Avionic แบบตะวันตกทั้งของสหรัฐฯ อิสราเอล และยูเครนเองให้เลือกด้วย


โดยความเห็นส่วนตัวถ้าให้เลือกระหว่าง C-295 กับ An-32 แล้ว C-295 หรือเครื่องบินลำเลียงตะวันตกแบบอื่นๆน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าครับ
อย่างไรก็ตามในช่วงหลังมานี้นับตั้งแต่การจัดหา ฮ.ท.๑๗ Mi-17V5 เป็นต้นมา โอกาสของอากาศยานจากรัสเซียหรือค่ายตะวันออกในกองทัพบกมีความเป็นไปได้มากขึ้น
เพราะฉะนั้นก็ไม่แน่สำหรับโอกาสของเครื่องบินลำเลียง Antonov ในกองทัพบก เพราะถึงจะเผชิญกับสงครามภายในเขต Donbass จากการแทรกแซงของรัสเซีย แต่ยูเครนก็ยังผลิตอาวุธส่งออกต่างประเทศได้เรื่อยๆตลอดครับ

ในส่วนของกองทัพอากาศไทยก็มีโครงการหลักโครงการเดียวคือการจัดหาเครื่องบินฝึกขับไล่ทดแทน บ.ขฝ.๑ L-39ZA/ART ฝูงบินขับไล่ทางยุทธวิธีที่๔๐๑ จำนวน ๔เครื่อง วงเงิน ๓,๗๐๐ล้านบาท
ซึ่งตามสื่อนั้นรายงานว่าตอนนี้มีแบบเครื่องสามแบบที่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของกองทัพอากาศคือ

KAI T-50 สาธารณรัฐเกาหลี

Alenia Aermacchi M-346 อิตาลี

และ Textron AirLand Scorpion สหรัฐฯ

เหตุผลที่ Yak-130 รัสเซีย และ L-15 จีนน่าจะถูกตัดออกไปเข้าใจได้ไม่ยากครับ เพราะระบบเครื่องไม่ได้เป็นอากาศยานรบมาตรฐาน NATO ที่กองทัพอากาศใช้เป็นระบบหลักพื้นฐานในปัจจุบัน
ซึ่งตัวเลือกที่เป็นไปได้มากที่สุดก็ตามที่เคยเสนอไปแล้วครับว่าคือมี KAI T-50 และ M-346 ซึ่งน่าจะสูสีกันมาก
โดยเหตุผลที่ Scorpion อาจจะตกออกไปในท้ายสุดก็เนื่องจากถึงสมรรถนะจะตรงความต้องการของกองทัพอากาศเช่นเดียวกับ KAI T-50 และ M-346 ก็ตาม
แต่ Scorpion ยังมีเพียงเครื่องต้นแบบเครื่องเดียวและยังไม่มีประเทศใดประกาศจัดหาไปประจำการอย่างเป็นทางการในขณะนี้ ถ้าเทียบกับ KAI T-50 และ M-346 ที่มีสายการผลิตจำนวนมากแล้ว
อย่างไรก็ตามในตอนที่ตั้งโครงการจัดหาเครื่องบินฝึกขั้นก้าวหน้าทดแทน บ.ฝ.๑๑ T-33 เมื่อ๒๐ปีก่อนนั้น L-39ZA/ART ก็เป็นม้ามืดที่ชนะโครงการถูกเลือกมาแล้วครับ
เพราะเครื่องที่เข้าแข่งขันในขณะนั้นอย่าง AMX อิตาลี หรือ BAE Hawk ไม่สามารถสู้ราคาและปรับแต่งเครื่องตามความต้องการของกองทัพอากาศไทยตอนนั้นได้
ถ้า Textron AirLand เสนอ Scorpion ในราคาถูกมากพร้อมข้อตกลงที่น่าสนใจสำหรับกองทัพอากาศแล้ว โอกาสเกิดของ Scorpion ก็ไม่แน่ก็ได้ครับ