วันอังคารที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2558

พิธีปล่อยเรือตรวจการณ์ปืน เรือหลวงแหลมสิงห์ ลงน้ำ ณ กรมอู่ทหารเรือ

พิธีปล่อยเรือตรวจการณ์ปืน (เรือหลวงแหลมสิงห์) ลงน้ำ ณ กรมอู่ทหารเรือ

วันนี้ (๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๘) เวลา ๑๐.๐๙ น. พลเรือเอก ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีปล่อยเรือตรวจการณ์ปืนลงน้ำ 
และ คุณณุฉัตรา จันทร์สุวานิชย์ ภริยา เป็นสุภาพสตรีผู้ประกอบพิธีปล่อยเรือ ณ กรมอู่ทหารเรือ ถนนอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

         กองทัพเรือ ได้จัดหาเรือตรวจการณ์ปืนลำใหม่ เพื่อทดแทนเรือตรวจการณ์ระยะปานกลางตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือ พุทธศักราช ๒๕๕๑ - ๒๕๖๐ 
ซึ่งได้ทยอยปลดประจำการและใช้ปฏิบัติงานร่วมกับเรือ อากาศนาวี หน่วยกำลังต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง หน่วยกำลังนาวิกโยธิน และหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ ตั้งแต่ในภาวะปกติ 
โดยมีขีดความสามารถปฏิบัติการรบ ๒ มิติ ได้แก่ การปฏิบัติการสงครามผิวน้ำและการต่อสู้ภัยคุกคามทางอากาศ 
โดยกองทัพเรือจัดซื้อแบบแปลนรายละเอียดและพัสดุสำหรับการสร้างเรือตรวจการณ์ปืนจาก บริษัท มาร์ซัน จำกัด ในลักษณะ Package Deal โดยใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น ๖๙๙,๔๕๙,๐๐๐ บาท 
และมอบหมายให้กรมอู่ทหารเรือเป็นหน่วยรับผิดชอบในการสร้างเรือ ใช้พื้นที่ของอู่ทหารเรือธนบุรีเป็นสถานที่ต่อเรือ 
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการดำเนินการตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและการพึ่งพาตนเอง กับเป็นการพัฒนาขีดความสามารถของกรมอู่ทหารเรือในการต่อเรือตรวจการณ์ปืน 
หลังจากที่กรมอู่ทหารเรือประสบความสำเร็จในการต่อเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุด เรือ ต.๙๙๑ และนำไปสู่การปรับปรุงเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุด เรือ ต.๙๙๔ ที่ได้มีการขยายแบบเรือและรูปทรง ตามพระบรมราชวินิจฉัย 
และล่าสุดคือ เรือหลวงกระบี่ ซึ่งเป็นเรือประเภทเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งที่มีขนาดใหญ่และสมรรถนะสูง

          การสร้างเรือตรวจการณ์ปืนลำใหม่นี้ กรมอู่ทหารเรือได้ดำเนินการต่อเองโดยแบ่งการสร้างเรือ ออกเป็น ๒ ระยะ 
ระยะแรกทำการต่อเฉพาะตัวเรือ รวมถึงระบบเครื่องจักร ณ อู่แห้งหมายเลข ๑ อู่ทหารเรือธนบุรี มีระยะมีระยะเวลาในการดำเนินการประมาณ ๑๓ เดือน 
และหลังจากที่ได้ปล่อยเรือลงน้ำแล้ว จะนำตัวเรือไปทำการประกอบในส่วน superstructure (หอบังคับการเรือ เสาสื่อสาร) รวมถึงระบบอาวุธ ณ อู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ 
โดยในระยะที่ ๒ นี้ มีระยะเวลาในการดำเนินการประมาณ ๑๐ เดือน (ถึงกลางเดือนมิถุนายน ๒๕๕๙) จึงอาจกล่าวได้ว่า 
กองทัพเรือได้ใช้ศักยภาพและความรู้ความสามารถของกำลังพลกองทัพเรือ ในการดำเนินการติดตั้ง ทดสอบ ได้อย่างเต็มภาคภูมิ แม้ว่าจะใช้แบบเรือของบริษัทเอกชน แต่ถือเป็นการดำเนินการในการสร้างเรือขนาดใหญ่อีกลำด้วยการพึ่งพาตนเอง

          ตามระเบียบของกองทัพเรือได้กำหนดหลักเกณฑ์การตั้งชื่อเรือรบ ตามประเภทของเรือ โดยในส่วนของเรือตรวจการณ์ (ปืน) กำหนดให้ตั้งชื่อตามอำเภอชายทะเล 
โดยเรือตรวจการณ์ปืนลำใหม่นี้ ได้รับพระราชทานชื่อจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า "เรือหลวงแหลมสิงห์" 
คาดว่าจะดำเนินการสร้างแล้วเสร็จ ประมาณเดือนมิถุนายน ๒๕๕๙ มีคุณลักษณะที่สำคัญคือ ยาว ๕๘ เมตร กว้าง ๙.๓๐ เมตร กินน้ำลึก ๒.๕๐ เมตร ระวางขับน้ำสูงสุด ๕๒๐ ตัน 
ทำความเร็วสูงสุดได้ไม่น้อยกว่า ๒๓ นอต (ที่ระวางขับน้ำสูงสุด) มีระยะปฏิบัติการในทะเลไม่น้อยกว่า ๒,๕๐๐ ไมล์ทะเล 
มีความคงทนทะเลจนถึงสภาวะทะเลระดับ ๔ (SEA STATE 4) โดยที่ตัวเรือมีความแข็งแรงเพียงพอที่สภาวะทะเลระดับ ๕ (SEA STATE 5) 
มีสถานที่จัดเก็บเสบียงอาหาร และระบบน้ำจืดเพียงพอสำหรับการปฏิบัติงานในทะเลต่อเนื่องไม่น้อยกว่า ๗ วัน โดยไม่ต้องรับการส่งกำลังบำรุง มีห้องพักและที่อาศัยเพียงสำหรับกำลังพลประจำเรือ จำนวน ๕๓ นาย 
ในส่วนของระบบอาวุธประจำเรือที่สำคัญ คือ ปืนขนาด ๗๖/๖๒ มิลลิเมตร ปืนกลขนาด ๓๐ มิลลิเมตร ปืนกลขนาด .๕๐ นิ้ว และมีพื้นที่ดาดฟ้าท้ายเรือกว้างขวาง สามารถติดตั้งอุปกรณ์หรือยุทโธปกรณ์อื่น ๆ อาทิ อาวุธนำวิถีได้ในอนาคต

          เรือตรวจการณ์ปืนลำใหม่นี้ จะเข้าประจำการใน กองเรือตรวจอ่าว กองเรือยุทธการ 
มีภารกิจในการตรวจการณ์ ลาดตระเวน ป้องกันการแทรกซึมในทะเล คุ้มครองเรือประมงและเรือพาณิชย์ ป้องกันและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน 
รักษากฎหมายในทะเลตามอำนาจหน้าที่ที่กองทัพเรือได้รับมอบหมาย การถวายความปลอดภัยแด่พระบรมวงศานุวงศ์ รวมทั้งสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือสาขาต่าง ๆ ตลอดจนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลและชายฝั่ง

          สำหรับพิธีปล่อยเรือลงน้ำ เป็นพิธีที่มีมาตั้งแต่ครั้นโบราณกาล เมื่อถึงเวลาปล่อยเรือเดินทะเลลงน้ำจะต้องทำพิธีเพื่อให้เกิดสวัสดิมงคลแก่ตัวเรือเสียก่อน ปัจจุบันพิธีปล่อยเรือลงน้ำแบบสากลให้สุภาพสตรีเป็นผู้ประกอบพิธี 
ในส่วนของกองทัพเรือพิธีปล่อยเรือลงน้ำเฉพาะที่มีหลักฐานปรากฏในสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพิธีปล่อยเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลงน้ำเมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๕๔ 
ส่วนเรือหลวงที่สร้างจากต่างประเทศที่มีหลักฐานปรากฏ ได้แก่ เรือหลวงคำรณสินธุ์ ประเภทเรือพิฆาต มีพิธีปล่อยเรือลงน้ำ เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๔๕๓ ณ อู่กาวาซากิ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น 
สำหรับเรือหลวงตัวเรือเป็นเหล็ก สร้างโดยกรมอู่ทหารเรือ ที่มีพิธีปล่อยเรือลงน้ำเป็นครั้งแรก คือ เรือหลวงสัตหีบ (ลำที่ ๑) 
โดย คุณหญิง วิจิตรา ธนะรัชต์ ภริยา จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (ในขณะนั้น) เป็นสุภาพสตรีผู้ประกอบพิธีปล่อยเรือลงน้ำ เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๐๐ 
(ที่มา : สลก.ทร.) 
http://www.sctr.navy.mi.th/navynews/2558/aug/nvn250858.php






ที่มา ยุทธเศรษฐ วังกานนท์
https://www.facebook.com/yootthasate/posts/1146736638686665







ที่มา กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
https://www.facebook.com/media/set/?set=a.1019430504774972.1073741884.659408270777199

พลเรือเอก ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ และคุณณุฉัตรา จันทร์สุวานิชย์ ภริยาผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีปล่อยเรือตรวจการณ์ปืนลงน้ำ 
โดยมี พลเรือโท พิทักษ์ พิบูลทิพย์ เจ้ากรมอู่ทหารเรือ และคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ให้การต้อนรับ 
เมื่อวันอังคารที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ณ อู่แห้งหมายเลข ๑ อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ






ที่มา กิจการพลเรือน กรมอู่ทหารเรือ
https://www.facebook.com/ketjakarn.pen/posts/1638759383048559