วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

แนวทางโครงการจัดหารถถังหลักใหม่ของกองทัพบกไทยในปี ๒๕๕๙

ประเด็นที่เป็นกระแสในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาของกองทัพบกไทยคือ โครงการพิจารณาแบบเพื่อจัดหารถถังหลักใหม่ทดแทนรถถังเบา M41A3 ที่ประจำการมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๕(1962) ประมาณ ๕๐คัน
เพิ่มเติมจากโครงการจัดหารถถังหลัก Oplot ยูเครนที่สั่งจัดหาไปก่อนแล้ว ๔๙คัน และกำลังส่งมอบอยู่(อย่างล่าช้า) โดยมีการรับมอบแล้ว ๑๐คันสำหรับ กองพันทหารม้าที่๒ กองพลทหารราบที่๒ รักษาพระองค์
มีสื่อบางรายลงข่าวไปว่ามีการตั้งงบประมาณผูกพันโครงการปี พ.ศ.๒๕๕๙-๒๕๖๑ ที่วงเงิน ๘,๙๙๗,๔๕๐,๐๐๐บาท โดยมีตัวเลือกรถถังหลักที่พิจารณาสามแบบคือ T-90A หรือ T-90S รัสเซีย, VT4(MBT-3000) จีน และ K1A1 สาธารณรัฐเกาหลี
ซึ่งสื่อแต่ละแห่งรายงานข่าวไม่ตรงกันครับ บางแหล่งก็ว่ารถถังหลักจีนมีโอกาสสูงเพราะมีราคาและประสิทธิภาพเหมาะสมพร้อข้อเสนอที่น่าสนใจ แต่บางแหล่งก็ว่ารถถังหลักจากรัสเซียมีความเป็นไปได้ที่จะได้รับเลือกเพราะกองทัพบกไม่พอใจคุณภาพรถถังจีน

BTR-82A and T-90S model at Defense & Security 2015 (My Own Photo)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และคณะรัฐมนตรีอีกหลายท่าน ซึ่งมีกำหนดการเยือนรัสเซียในวันที่ ๒๓-๒๗ กุมภาพันธ์นั้น
ทาง รมต.กลาโหมได้ปฏิเสธข่าวการจัดซื้อรถถังหลัก T-90 และ T-14 ARMATA จากรัสเซียต่อสื่อไปก่อนแล้วครับ โดยให้เหตุผลว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องภายในของทางกองทัพบกที่จะต้องพิจารณาความจำเป็นในการใช้งานของหน่วย ซึ่งยังไม่ได้มีเสนอเรื่องมายังกลาโหม
ประกอบกับทางโฆษกกองทัพบก พันเอก วินธัย สุวารี ได้แถลงชี้แจงกรณีที่สื่อบางฉบับลงข่าวไปว่ากองทัพบกจะจัดซื้อรถถังหลัก T-90A จากรัสเซียแล้วว่าไม่เป็นความจริงและเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
ตรงนี้น่าจะพอสรุปได้เบื้องต้นครับว่า ตอนนี้ทางกองทัพบกยังไม่ได้มีการพิจารณาแบบรถถังหลักใหม่ซึ่งจะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานยุทโธปกรณ์ กยม. และเสนอเรื่องมาทางกลาโหมในตอนนี้
แต่ทั้งนี้เองก็มีรายงานว่าทางกระทรวงกลาโหมให้ความสนใจยุทโธปกรณ์บางแบบของรัสเซีย เช่น เครื่องบินดับเพลิง(อย่างเครื่องบินทะเล Beriev Be-200 Altair) และยานรบทหารช่าง(อย่าง IMR-3M ที่ใช้แคร่รถฐานของ ถ.หลัก T-90)

A Russian specification T-90A (wikipedia.org)

ประเด็นที่ว่ารัสเซียจะเสนอขายรถถังหลัก T-90A ซึ่งเป็นรุ่นที่มีใช้งานเฉพาะกองทัพบกรัสเซียเท่านั้น
เนื่องจากว่ากองทัพบกรัสเซียมีแผนที่จะจัดหารถถังหลัก รถเกราะ และรถรบรุ่นใหม่เข้าประจำการแทนรถรุ่นเก่าที่ใช้มาตั้งแต่สมัยสงครามเย็น โดยเฉพาะรถถังหลัก T-14 Armata ที่มีแผนจะจัดหาราว ๒,๓๐๐คัน ตั้งแต่ช่วงหลังปี 2020 เป็นต้นไป
ทำให้กระทรวงกลาโหมรัสเซียจะไม่มีการสั่งจัดหารถถังหลัก T-90 เพิ่มเติม และจะทำให้สายการผลิตรถถังหลักรุ่นส่งออกทั้ง T-90SA และ T-90MS อาจจะต้องปิดตัวลงในอนาคตนั้น
อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงดูเหมือนว่าแผนการใช้กำลังรถถังหลักของกองทัพบกรัสเซียในตอนนี้ยังจำเป็นที่จะต้องคงกำลังรถถังหลักที่มีอยู่เดิมแล้วส่วนหนึ่งอยู่ครับ
เช่น การปรับปรุงรถถังหลัก T-72B ให้เป็นมาตรฐาน T-72B3 และ T-72B3M ที่บริษัท Uralvagonzavod ยังคงได้รับคำสั่งจัดหาจากกระทรวงกลาโหมรัสเซียอยู่
ซึ่งกองทัพบกรัสเซียได้รับมอบ T-72B3 ที่ปรับปรุงใหม่ตั้งแต่ปี 2013 แล้วมากกว่า ๕๖๔คัน เข้าประจำการในเขตภาคทหารต่างๆตั้งแต่สิ้นปี 2015 และมีแผนจะจัดหาอีกรวมกว่า ๑,๐๐๐คัน ตามแผนปรับโครงสร้างกำลังกองทัพรถถังตามที่รายงานไป
รวมถึงรถถังหลัก T-90A กองทัพบกรัสเซียซึ่งคงยังไม่น่าจะปลดประจำการลงในช่วงเร็วๆนี้แม้จะไม่มีการจัดหาเพิ่ม ถึงจะหลังจากที่รถถังหลัก T-14 เริ่มเข้าประจำการอย่างเป็นทางการในช่วงต้นแล้วก็ตาม
โดยทั้งรถถังหลัก T-14 Armata และรถรบแบบใหม่อื่นๆ เช่น รถรบทหาราบหนัก BMP T-15 Armata, รถหุ้มเกราะสายพาน Kurganets และรถหุ้มเกราะล้อยาง Bumerang 8x8
ยังต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะผ่านการทดสอบและยอมรับความพร้อมปฏิบัติการจริงโดยกองทัพรัสเซียและเริ่มสายการผลิตจำนวนมากได้

Syrian Army T-90A During Battle in northern aleppo, February 2016 (wikipedia.org)


แต่จากรายงานภาพและวีดิทัศน์ล่าสุดที่การพบว่าในปฏิบัติการรบของกองทัพรัฐบาลซีเรียต่อกลุ่มติดอาวุธฝ่ายต่อต้านนั้น กองทัพรัฐบาลซีเรียมีรถถังหลัก T-90A ใช้งานในปฏิบัติการรบ เช่นการรบที่เมือง Aleppo ล่าสุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา
ตรงนี้ก็ไม่ทราบรายละเอียดครับว่า T-90A ที่กองทัพรัฐบาลซีเรียใช้นั้นรัสเซียมอบให้โดยมีเงื่อนไขข้อตกลงอย่างไร โดยตามข้อมูลที่มีปัจจุบันกองทัพบกรัสเซียมี ถ.หลัก T-90A ประจำการ ๕๔๓คัน และเก็บสำรองไว้ราว ๒๐๐คัน
แน่นอนว่าทั้งรัฐบาลซีเรียนั้นเป็นพันธมิตรหลักสำคัญของรัสเซียในตะวันออกกลางที่ย่อมได้รับความช่วยเหลือทางการทหารแบบใกล้ชิดแนบแน่นเป็นพิเศษพอที่รัสเซียจะมอบรถถังของตนให้ใช้แบบ Hot Transfer
แต่สำหรับไทยแล้วส่วนตัวมองว่าเราไม่ได้สนิทกับรัสเซียมากพอที่รัสเซียจะส่งมอบรถถังของตนในคลังราว ๕๐คันให้ไทยแบบซีเรียครับ รวมถึงจะเป็นข้อโจมตีจากภาคประชาชนด้วยว่ากองทัพบกไทยจะจัดหารถถังมือสองอีกแล้ว
และทาง Rosoboronexport รัฐวิสาหกิจการส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ของรัสเซียเอง ก็ยังคงประชาสัมพันธ์เสนอขายรถถังหลัก T-90MS, รถรบทหารราบสายพาน BMP-3 และรถเกราะล้อยาง BTR-82A เป็นหลักอยู่
นั่นทำให้ดูแล้วทางรัสเซียยังไม่พร้อมที่จะส่งออกระบบรถรบรุ่นใหม่ล่าสุดอย่าง ถ.หลัก T-14 Armata ที่ยังไม่ได้เข้าประจำการในกองทัพรัสเซียอย่างเป็นทางการในช่วงเร็วๆนี้แม้ว่าจะมีหลายประเทศสนใจก็ตามครับ

VT4(MBT-3000) on 4410A Heavy Transporter model at Defense & Security 2015 (My Own Photo)

อีกประเด็นคือเรื่องที่ว่าจีนจะเสนอการถ่ายทอด Technology และสิทธิบัตรเพื่อจัดตั้งสายการผลิตโรงงานประกอบรถถังในไทยถ้ากองทัพบกไทยเลือกจัดหารถถังหลักจีนนั้น
ประเด็นสำคัญคือว่าเรื่องสิทธิบัตรการผลิตนี่จะเป็นความเป็นไปได้จริงหรือไม่ ส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้มากนักครับ
เพราะประเทศที่จะประกอบรถถังหลักที่ซื้อสิทธิบัตรจากต่างประเทศได้นั้นจะต้องมีพื้นฐานมาระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งคงต้องจะมาดูตัวอย่างในประเทศอื่นก่อน เช่น
อินเดียที่ประกอบรถถังหลักมาหลายแบบ เช่น Vijayanta (Vickers Mk.1) กับ T-72 Ajeya(T-72M1) มาตั้งแต่ช่วงปี 1960s-1970s มาแล้วถึงจะมาประกอบ T-90S ในปี 2000s ได้
หรืออย่างอิหร่านเองก็มีการซื้อสิทธิบัตรการผลิตรถถังหลัก T-72S จากรัสเซียในช่วงปี 1993-2001
ที่ได้รายงานไปว่าทางบริษัท Uralvagonzavod รัสเซียเสนอสิทธิบัตรสายการผลิต T-90S ให้อิหร่าน ถ้าไม่ติดที่รัฐบาลรัสเซียยังคงระงับความช่วยเหลือทางทหารบางส่วนกับอิหร่านตามมติ UN ปี 2010 อยู่
แต่ทั้งนี้อิหร่านต้องการจะพัฒนารถถังหลักของตนเองมากกว่าเช่นเดียวกับรถถังหลักตระกูล Zulfiqur โดยล่าสุดรัฐมตรีกลาโหมอิหร่าน พลจัตวา Hossein Dehqan ได้ประกาศว่าอิหร่านกำลังพัฒนารถถังหลักใหม่ชื่อ Karrar ซึ่งออกแบบจากแบบร่างและมีความร้ายกาจเท่า T-90 รัสเซีย

Al-Khalid (MBT-2000) Pakistan Army

กรณีศึกษาที่น่าสนใจอีกประเทศก็คือโครงการรถถังหลัก Al-Khalid ซึ่งเป็นโครงการร่วมระหว่างจีนกับปากีสถาน
โดย ถ.หลัก Al-Khalid ปากีสถานนั้นมีพื้นฐานพัฒนามาจากรถถังหลัก Type 90-II ของจีน ทำการประกอบสร้างที่โรงงาน Heavy Industries Taxila
ซึ่งก่อนหน้านั้นโรงงาน Taxila ปากีสถานนี้ได้ทำการสร้างรถถังหลัก Type 69-II และ Type 85-IIAP ภายใต้สิทธิบัตรของจีนมาแล้ว
ถ.หลัก Al-Khalid ของปากีสถานนั้นนอกจากระบบหลักๆจากจีนก็มีการนำระบบจากแหล่งอื่นมาใส่ในรถถัง เช่น เครื่องยนต์ดีเซล 6TD-2 กำลัง 1200HP จากยูเครนแบบเดียวกับที่ใช้กับรถถังหลัก Oplot เป็นต้น
ตรงนี้มองว่าถ้าจะมีการตั้งสายการผลิตประกอบรถถังหลักจีนตามสิทธิบัตรจริง การจัดตั้งโรงงานและระบบพื้นฐานอาจจะทำได้โดยเป็นโครงการความร่วมมือร่วมกับจีน

อย่างไรก็ตามก็คงจะขึ้นอยู่ด้วยว่ากองทัพบกจะสั่งจัดหารถถังจำนวนกี่คัน ซึ่งถ้าเพียงแค่กองพันเดียวประมาณ ๕๐คัน คงจะไม่คุ้มกับการที่จะตั้งสายการผลิตในไทย
และตอนนี้ไทยเรายังไม่มีระบบโรงงานอุตสาหกรมความมั่นคงขนาดใหญ่พอสำหรับรองรับสายการผลิตของรถถังหลักเป็นจำนวนมากๆแบบต่างประเทศอย่าง อินเดีย ปากีสถาน และอิหร่านที่ได้ยกตัวอย่างมา
รถถังหลักยุคที่๓ นั้นมี Technology สูง และมีความซับซ้อนของระบบมากกว่ารถเกราะล้อยางกันทุ่นระเบิด MRAP อย่าง First Win 4x4 ของบริษัทชัยเสรี (Chaiseri)
และรถหุ้มเกราะล้อยาง Black Widow Spider 8x8 ของบริษัทปรีชาถาวร ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ(DTI) ที่ไทยมีประสบการณ์บ้างแล้วแต่ก็เพิ่งที่จะเริ่มต้นมาก
ถึงจะเป็นการประกอบแบบ Knock-Down Kits ที่ส่งชิ้นส่วนต่างที่เสร็จแล้วจากจีนมาประกอบเป็นรถที่สมบูรณ์ในไทยก็ตาม เพราะตอนนี้ไม่ว่าทั้งสายการผลิตประกอบ BTR-3E1 และ DTI Black Widow Spider ที่ยังไม่ได้เริ่มระดับสายการผลิตจำนวนมากเลย
ถ้าจะตั้งสายการผลิตประกอบรถถังหลักกันจริงๆ ต้องใช้เวลาจัดตั้งสถานที่ ระบบเครื่องจักร และฝึกคนงานกันพอสมควร แต่ถ้าจะทำจริงก็มองว่าไทยเรามีศักยภาพที่จะทำได้ครับแต่ต้องใช้เวลาและความตั้งใจที่จะลงมือทำจริงๆ
(ไม่แน่ใจว่าจะมีเพียงแค่ข้อเสนอจากทางจีนรายเดียวหรือไม่ที่เสนอสิทธิบัตรและการจัดตั้งโรงงานประกอบรถถังหลักให้ไทย เพราะรัสเซียเองก็ควรที่จะมีข้อเสนอสิทธิบัตรการเปิดสายการผลิตรถถังหลักของตนอย่าง T-90 ให้ไทยด้วย
แต่อาจจะติดที่รัสเซียยังไม่เชื่อถือไทยสนิทมากพอที่จะถ่ายทอด Technology ระดับนี้ให้ ถ้าเทียบกับจีนที่ใกล้ชิดกับไทยมากกว่า)

Type 69-II with 105mm Tank gun Upgraded Royal Thai Army

ทั้งนี้ในกรณีที่รถถังหลักจีนถูกเลือกจัดหามาจริงก็ต้องดูเรื่องความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันด้วยครับ
เพราะว่ากรณีรถถังหลัก Type 69-II ที่จัดหาจากจีนเมื่อปี ๒๕๓๐ นั้นเป็นรถถังที่ถูกจัดหามาในราคาถูกมากเป็นพิเศษแบบเร่งด่วนในตอนนั้น เพื่อเพิ่มกำลังหน่วยรถถังของกองทัพบกในการต่อต้านกองทัพประชาชนเวียดนามที่ยึดครองกัมพูชาในขณะนั้น
การปรับปรุง ถ.๓๐ Type 69-II ของกองทัพบกไทยครั้งสุดท้ายคือการนำไปปรับปรุงติดปืนใหญ่รถถัง 105mm NATO ของจีน(ลอกแบบ ปถ.L7) ที่เคยเห็นรถต้นแบบอยู่ที่ กองพันทหารม้าที่๒๒ ศูนย์การทหารม้านั้น ไม่แน่ใจว่ารถต้นแบบคันดังกล่าวยังคงอยู่ที่ ม.พัน.๒๒ หรือไม่
แต่เท่าที่ทราบคือเหตุผลที่กองทัพบกไม่เลือกที่จะทำการปรับปรุง ถ.๓๐ ที่ยังคงประจำการอยู่ในตอนนั้นให้เป็นมาตรฐานรุ่นนี้ ก็เพราะประเมินว่าไม่มีความคุ้มค่าพอที่จะดำเนินการปรับปรุงครับ
คือรถถังรุ่นนี้มี Technology ที่ล้าสมัย และไม่มีอะไหล่แล้วเพราะทางจีนก็จะเลิกใช้แล้ว ประกอบกับรถถังหลักที่ใช้ ปถ.105mm อยู่เช่น ถ.เบา๓๒ Stingray(L7) M48A5 และ M60A1 M60A3 (M68) ก็ยังใช้งานได้ดีอยู่ ณ ขณะนั้น จึงไม่มีความจำเป็นสำหรับการปรับปรุง ถ.๓๐
(แต่บางประเทศเช่นกองทัพบกพม่ายังคงใช้รถถังหลัก Type 59D/M ซึ่งเป็นรุ่นที่เก่ากว่า Type 69-II ของกองทัพบกไทย โดย ถ.หลัก Type 59D/M ของพม่าได้รับการปรับปรุงใกล้เคียงกับ Type 69-II ที่ได้รับการปรับปรุง คือติด ปถ.105mm และรถถังพม่าติดเกราะ ERA เสริมด้วย)

Type 99A People's Liberation Army Victory Day parade 2015

Type 96A People's Liberation Army in Tank Biathlon 2014 

หลักนิยมในการใช้รถถังหลักของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนดูจะมีความคล้ายคลึงกับหลักนิยมของกองทัพบกโซเวียตสมัยสงครามเย็นครับ คือมีรถถังหลักใช้งานสองแบบคือแบบมาตรฐานทั่วไป(Type 96)กับแบบสมรรถนะสูงสำหรับหน่วยที่มีความสำคัญ(Type 99)
ดังนั้นการส่งออกรถถังหลักของจีนให้มิตรประเทศก็ดูจะใช้นโยบายเดียวกับอดีตสหภาพโซเวียตเช่นกันที่ส่งออกเฉพาะ ถ.หลัก T-72 รุ่นลดสมรรถนะแล้ว และเก็บ T-80 ไว้ใช้เองเท่านั้น
แต่จะว่าไปแล้วทั้งรถถังหลัก Type 96 และรถถังหลัก Type 99 เองก็มีความแตกต่างภายนอกที่ดูเผินๆแล้วไม่ชัดเจนมากนัก
ซึ่งรถถังหลักทั้งสองแบบถูกพัฒนาและผลิตโดย China North Industries Corporation หรือ NORINCO และโรงงานเครื่องจักรมองโกเลียในที่หนึ่ง (First Inner Mongolia Machinery Factory)
การพัฒนารถถังหลักยุคที่๓ ของกองทัพปลดปลดปล่อยประชาชนจีนนั้นมีการกล่าวอ้างว่ามาจากการศึกษาแบบรถถังหลัก T-72M1 ที่จีนได้จากโรมาเนียที่ให้เพื่อแลกกับเครื่อง Plasma Spray
โดยสายการพัฒนาเริ่มจาก Type 85-IIA ซึงเป็นรถถังหลักแบบแรกที่ติดปืนใหญ่รถถัง 125mm ต่อมาคือ Type 85-IIM/Type 88C และมาเป็น Type 96/Type 96A ในที่สุด
อีกสายที่พัฒนาจาก Type 90-II คือ Type 98 และต่อมาพัฒนาเป็น Type 99, Type 99G และ Type 99A เป็นรถถังหลักที่ติดตั้งเครื่องยนต์ เกราะป้องกัน และระบบควบคุมการยิงดีกว่า Type 96

Type 99 Tank (two in front) and Type 96 Tank (one in back)

ความแตกต่างในส่วนรถแคร่ฐานนั้น Type 99 จะมีบางส่วนคล้าย T-72 แต่ก็ไม่เหมือนในหลายส่วนเช่นตำแหน่งเครื่องยนต์และชุดส่งกำลัง ต่างจาก Type 96 ซึ่งจะเป็นอีกแบบที่มีพื้นฐานจาก Type 85/88 รุ่นก่อน
ส่วนเครื่องยนต์ Type 99 ใช้ ย.ดีเซลกำลัง 1500HP ขณะที่ Type 96 ใช้ ย.ดีเซลกำลัง 1000HP ตำแหน่งสถานีพลขับนั้น Type 96 จะอยู่ด้านซ้ายของหน้ารถ ส่วน Type 99 จะอยู่กึ่งกลางตัวรถ(เหมือน T-72)
ป้อมปืนของรถถังหลักทั้งสองแบบเป็นแบบเชื่อมใช้เกราะเหล็กกล้ากับวัสดุผสมและเกราะปฏิกิริยาระเบิด ERA(Explosive Reactive Armor) แบบ Modular
แต่ป้อมปืนของ Type 99 นั้นจะมีขนาดใหญ่และยาวกว่า Type 96 อีกทั้ง Type 99 ยังติดตั้งระบบเกราะป้องกันระดับที่ก้าวหน้าสูงกว่า Type 96
Type 99 มีการติดตั้งระบบกล้อง Panoramic Sight สำหรับสถานีผู้บังคับการรถ และระบบกล้องเล็งพลยิงที่มีขีดความสามารถในการรบแบบ Hunter-Killer รวมถึงติดตั้งระบบป้องกันเชิงรุก Active Protection System (เป็นแท่นกล่องสี่เหลี่ยมบนหลังคารถ) ซึ่งรถถังหลัก Type 99A ที่เปิดตัวในปี 2015 นั้นติด APS รุ่นใหม่(ทรงกระบอกเหลี่ยม)
ขณะที่ Type 96A ที่มีการปรับปรุงล่าสุดโดยติดตั้งเกราะ ระบบควบคุมการยิง และกล้องเล็งใหม่เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการรบเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็ดูจะเป็นระบบที่พื้นฐานกว่าที่ติดตั้งกับ Type 99
สิ่งที่เห็นได้ชัดอีกอย่างหนึ่งว่ารถถังหลักจีนได้แนวทางพัฒนามาจากรถถังหลัก T-72 คือระบบบรรจุกระสุนอัตโนมัติในป้อมปืนซึ่งมีกระสุนพร้อมรบ ๒๒นัด และบรรจุหัวกระสุนและดินส่งกึ่งครบนัดเข้ารังเพลิงปืนใหญ่ถังสองจังหวะเหมือน T-72
(เหตุผลหนึ่งที่จีนยังคงประจำการทั้ง Type 96 และ Type 99 คือราคาของ Type 99 ที่แพงกว่าทำให้จีนไม่สามารถจะสั่งจัดหาแทนรถถังหลักเก่าให้ครบทุกหน่วยได้ หลายหน่วยจึงได้รับมอบ Type 96 ซึ่งมีราคาถูกกว่าที่ผลิตมาก่อน Type 99
ถ้าเทียบกับรถถังหลักรัสเซียในปัจจุบันแบบคร่าวๆ Type 96 ก็เทียบเท่า T-72B ซึ่งเป็นรถถังหลักยุคที่๒.๕ Type 96A เทียบเท่า T-72B3 ซึ่งได้รับการปรับปรุงเกราะและระบบควบคุมการยิงใหม่ให้ใกล้เคียงรถถังหลักยุคที่๓
ส่วน Type 99/Type 99A ก็อาจเทียบได้กับ T-90A/T-90AM ซึ่งเป็นรถถังหลักยุคที่๓/๓.๕ ที่มีขีดความสามารถสูงสุด ปัจจุบันรัสเซียได้พัฒนารถถังหลักยุคที่๔ คือ T-14 Armata ออกมาแล้วซึ่งทางจีนยังไม่มีข้อมูลว่ามีโครงการพัฒนาเช่นเดียวกันหรือไม่)

NORINCO VT4 MBT-3000

VT4 during combat trials in Pakistan(wikipedia.org)


แต่สำหรับรถถังหลักจีนยุคใหม่ที่ถูกสร้างมาสำหรับส่งออกโดยตรงอย่าง VT4 MBT-3000 คงเป็นคนละเรื่องกับ Type 69-II ครับ
เพราะ Technology ต่างยุคสมัยกันเกินกว่าที่จะมาสรุปได้โดยเร็วในตอนนี้ว่าจะมีสภาพเหมือนกันกับที่เคยจัดหาก่อน รถถังหลักจีนยุคที่๓ ที่เป็นรุ่นส่งออกต่างประเทศอย่าง VT1 MBT-2000 ที่มีลูกค้าอยู่บ้างนี่ หลายประเทศก็ยังใช้งานไม่เกิน ๑๐ปีครับ
ใกล้ๆบ้านเราก็เช่นกองทัพบกพม่าที่มีรถถังหลัก VT1A MBT-2000 ประจำการ (อาจจะเว้น Al-Khalid ของปากีสถานที่ร่วมพัฒนากับจีนซึ่งประจำการมานานกว่า)
ในกรณีของจีนสำหรับรถถังหลักยุคที่๓ คือการพัฒนารุ่นสำหรับส่งออกต่างประเทศโดยตรง เช่น VT1A(MBT-2000) และ VT4(MBT-3000) ซึ่งต่างมีพื้นฐานจาก ถ.หลัก Type 90-II แต่ใช้ Technology ใหม่บางส่วนที่มาจาก ถ.หลัก Type 99 ที่ลดระดับลงสำหรับการส่งออก
เช่น VT1A(MBT-2000) หรือ Al-Khalid ที่ติดกล้อง Panoramic Sight และติดเกราะERA เสริมป้อมปืนและแคร่รถฐานส่วนหน้า อย่างเห็นใช้งานในปากีสถาน, บังคลาเทศ, โมร็อกโก และกองทัพบกพม่า และทดสอบในเปรู
(เปรูนั้นเคยเลือกจัดหารถถังหลัก VT1A/MBT-2000 เพื่อทดแทน T-55 มาแล้ว แต่รัฐบาลเปรูขณะนั้นถูกโจมตีจากสื่อว่าโครงการไม่โปร่งใส และยูเครนซึ่งส่ง Oplot เข้าแข่งขันในโครงการปฏิเสธที่จะส่งเครื่องยนต์ 6TD-2 ให้ใช้กับรถของเปรู
เปรูจึงยกเลิกการสั่งซื้อ VT1A/MBT-2000 และตั้งโครงการจัดหารถถังหลักใหม่ ซึ่งโครงการใหม่นี้จีนส่ง VT4/MBT-3000 เข้าแข่งขันโดยใช้ระบบของจีนล้วนโดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซลกำลัง 1300HP)
ส่วน VT4(MBT-3000) ใช้เกราะวัสดุผสมและเกราะ ERA แบบใหม่ในป้อมปืนและแคร่รถฐาน(มีพื้นฐานจากเกราะที่ใช้กับ Type 99A) และติดกล้องเล็งและระบบควบคุมการยิงใหม่ พร้อมเลือกติดตั้งป้อมปืน Remote Weapon Station 12.7mm และระบบ APS แบบ GL5 ได้เป็นต้น
(ไม่นับรถถังหลัก VT2 ซึ่งเป็นรุ่นส่งออกของ Type 96A ซึ่ง NORINCO วางระดับของรถถังหลักรุ่นนี้ไว้เป็นรุ่นใช้ Technology พื้นฐานรองลงมาจาก VT1A ซึ่ง ถ.หลัก VT2 มีราคาถูกที่สุดเหมาะสำหรับประเทศที่มีงบประมาณจำกัด
อาจจะกล่าวได้ว่าตอนนี้ NORINCO จีนมีผลิตภัณฑ์รถถังหลักของตนล่าสุดสองแบบคือ VT2 คือ Type 96A รุ่นส่งออก และ VT4 ที่อาจจะเป็นเหมือน Type 99A รุ่นส่งออก ดูได้จากการสาธิตสมรรถนะผลิตภัณฑ์ในงาน NORINCO Armour Day 2014 ตาม Clip ข้างต้น)
แต่นั่นละที่ว่ารถถังหลักรัสเซียคือ T-90 นั้นอาจจะมีความน่าเชื่อถือในเรื่อง Technology และจำนวนลูกค้าที่ส่งออกได้มากกว่ารถถังหลักจีน ก็ต้องดูไปนานๆหลายปีกว่านั้นครับว่ารถถังหลักจีนเหล่านี้จะมีปัญหาที่ทำให้ปลดประจำการเร็วกว่าที่ควรหรือไม่ครับ

K1A2 Republic of Korea Army

ส่วนตัวเลือกอีกแบบคือรถถังหลัก K1A1 สาธารณรัฐเกาหลีนั้นยิ่งดูไม่น่าจะมีความเป็นไปได้มากเท่าใดนักเช่นกันครับ
เนื่องจาก K1A1 นี่เคยเป็นตัวเลือกหนึ่งร่วมกับ T-84 Oplot-M และ T-90S ในโครงการจัดหารถถังหลักของกองพันทหารม้าที่๒ กองพลทหารราบที่๒ รักษาพระองค์มาแล้ว
ซึ่ง K1A1 ถูกคัดออกเนื่องจากระบบอุปกรณ์หลายส่วนของรถมาจากสหรัฐฯซึ่งจะต้องให้รัฐบาลสหรัฐฯอนุมัติการส่งออกก่อน(เหมือนเครื่องบินฝึกไอพ่น KAI T-50 ของกองทัพอากาศไทย แต่ทางกองทัพบกคงไม่อยากทำให้การจัดหามีขั้นตอนยุ่งยาก)
อีกทั้งสายการผลิตของ K1A1 นั้นได้สิ้นสุดลงในปี 2010 ดังนั้นเมื่อเหลือตัวเลือกเพียง Oplot กับ T-90S แล้วกองทัพบกจึงเลือก Oplot เนื่องจากมีราคาถูกกว่าและประสิทธิภาพบางอย่างเหนือกว่า T-90S
ทั้งนี้ทางเกาหลีใต้เองไม่น่าจะมีการส่งออก ถ.หลัก K1A1 มือสองให้ต่างประเทศในเร็วๆนี้ด้วยครับ 
เนื่องจากสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลีมีความตึงเครียดสูงจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีที่เอาแน่เอานอนไม่ได้และมีการปะทะเกิดขึ้นได้ตลอด เกาหลีใต้จำเป็นต้องคงกำลังรถถังหลักไว้ยันเกาหลีเหนืออยู่
โดยรถถังหลัก K1 รุ่นแรกที่ใช้ปืนใหญ่รถถัง KM68A1 105mm จะได้รับการปรับปรุงเป็นมาตรฐานรุ่น K1E1 ตั้งแต่ปี 2013 และจะปรับปรุงจนครบทุกคันในปี 2026
ส่วนรถถังหลัก K1A1 ที่ใช้ปืนใหญ่รถถัง KM256 120mm เองก็จะไรับการปรับปรุงเป็นมาตรฐานรุ่น K1A2 ตั้งแต่ปี 2012 และจะปรับปรุงจนครบทุกคันในปี 2022
และล่าสุดรถถังหลัก K2 Black Panther รุ่น Batch1 คันที่ 100 ก็เพิ่งจะออกจากโรงงาน และรถถัง K2 Batch2 ที่จะเปลี่ยนไปใช้เครื่องยนต์ดีเซล Doosan DV27K 1500HP ของเกาหลีใต้เอง แทน ย.ดีเซล MTU-890 เยอรมนีก็กำลังพัฒนาสร้างอยู่ครับ
ล่าสุดในการฝึกยกพลขึ้นบกของการฝึกผสมนานาชาติ Cobra Gold 2016 ในไทยช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นาวิกโยธินสาธารณรัฐเกาหลีได้ส่งรถถังหลัก K1 ๑คันเข้าร่วมฝึกนอกจากรถเกราะสะเทินน้ำสะเทินบก KAAV-7A1

ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าแบบรถถังหลักใหม่ที่กองทัพบกอาจจะมีการจัดหาในอนาคตนั้นจะนำมาเข้าประจำการในกองพันทหารม้ารถถังหน่วยใด
ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนครับว่าจะเป็นในส่วนกองพันทหารม้ารถถังใน กองพลทหารราบ หรือในกรมทหารม้า กองพลทหารม้าที่๓ แต่ตอนนี้อาจจะยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ครับ