วันพุธที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2560

ความคืบหน้าโครงการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพไทยในปี ๒๕๖๐-๒

NORINCO VT4(MBT-3000) Main Battle Tank demonstrated at Zhuhai Air Show 2016, 1-6 November 2016

การตรวจเยี่ยม กองโรงงานซ่อมสร้างยุทโธปกรณ์สายสรรพาวุธ ศูนย์ซ่อมสร้างสิ่งอุปกรณ์สายสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก(กรซย.ศซส.สพ.ทบ.) อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
ของพลเอก ประวิตร วงษ์สุววรษ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและคณะเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมและผู้นำเหล่าทัพเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้น
นอกจาการซ่อมสร้างอาวุธยุทโธปกรณ์ เช่นการประกอบสร้างปืนใหญ่อัตตาจรล้อยาง การซ่อมคืนสภาพระบบควบคุมการยิงของรถถังแล้ว
ยังมีการสำรวจความต้องการของแต่ละเหล่าทัพในการสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอาวุธยุทโธปกรณ์ที่จัดหามาจากแต่ละประเทศ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมความมั่นคงภายในของไทยให้พึ่งพาตนเองได้หลายรายการทั้งในทางทหารและในเชิงพาณิชย์
โดยจะมีความร่วมมือกับมิตรประเทศทั้งยูเครนและจีนที่ไทยมีการจัดหาอาวุธจากประเทศเหล่านี้มาแล้ว และญี่ปุ่นที่มีความสนใจด้านความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมทางทหารกับไทย

อย่างไรก็ตามในส่วนความร่วมมือกับต่างประเทศในการจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอาวุธยุทโธปกรณ์ในไทยนั้น เราจะต้องมั่นใจก่อนว่าคนไทยจะได้รับการถ่ายทอด Technology และองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์
ไม่ใช่เหมือนกับโรงงานอุตสากรรมหลายๆแห่งในไทยที่ญี่ปุ่นหรือจีนส่งเจ้าหน้าที่ช่างและวิศวกรของตนเองมาประจำโรงงานในไทยและควบคุมทุกอย่างโดยตรง ทำให้ภาคอุตสาหกรรมภายในไทยได้ประโยชน์น้อยมาก
รูปแบบโครงการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะต้องมีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ติดขัดปัญหาใดๆเช่นที่เคยเกิดในอดีตด้วย
ซึ่งแนวคิการจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอาวุธจีนอย่างรถถัง VT4 ที่กองทัพบกไทยกำลังจะจัดหานั้น ก็เป็นแนวทางแก้ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในอดีตตามที่เคยรายงานไปส่วนหนึ่งครับ

ทั้งนี้ในส่วนของโครงการจัดหารถถังหลัก VT4 นั้น ทางสื่อรายงานว่าจะเข้าประจำการทดแทนรถถังเบา M41A3 แต่ก็มีรายงานที่ดูขัดแย้งไม่น่าจะตรงกับความเป็นจริง
เช่นว่า ถ.หลัก VT4 จะเข้าประจำการใน กองพันทหารม้าที่๔ รักษาพระองค์ กองพลที่๑ รักษาพระองค์, กองพันทหารม้าที่๘ กองพลทหารราบที่๓ และ กองพันทหารม้าที่๙ กองพลทหารราบที่๔
โดยจะประจำการรถถังหลัก VT4 กองพันละ ๑๓+๑คัน(รวมรถถังในกองร้อยกองบังคับการกองพัน) รวม ๓กองพันเป็น ๔๒คัน ซึ่งเป็นอัตราจัดจำนวนรถถังที่น้อยเกินไปมาก
เพราะตามอัตราจัดปกติ ๑หมวดรถถังจะมีรถถังหลัก ๕คัน, ๓หมวดรถถังเป็น ๑กองร้อยรถถังมีรถถัง ๑๕คัน+รถถังกองบังคับการกองร้อย ๑คัน รวมเป็น ๑๖คัน, ๓กองร้อยรถถังมีรถถัง ๔๘คัน+รถถัง บก.พัน รวมแล้ว ๑กองพันรถถังจะมีรถถังหลัก ๔๙คัน
ถ้านี่ไม่ใช่รูปแบบอัตราจัดใหม่ของกองพันทหารม้ารถถังประจำกองพลทหารราบจริง ก็เป็นไปได้มากกว่าว่าจะเป็นความผิดพลาดในการรายงานข้อมูลของสื่อ ซึ่งถือเป็นเรื่อปกติสำหรับสื่อมวลชนหลักของไทยครับ

Thailand's Defence Technology Institute demonstrated test firing domestic DTI-2 122mm Multiple Rocket Launcher system on Type 85 Armoured Personnel Carrier chassis for Royal Thai Army at Artillery Center, 2 November 2016

DTI Black Widow Spider 8x8 Prototype for Royal Thai Army at Defense & Security 2015 (My Own Photo)

Update งานวิจัย DTI

- ปีนี้สิ้นปีจะมีการส่งมอบจรวดสมรรถนะสูงขนาด 122 มม. หรือ DTI-2 ในรุ่นฝึก และรุ่นใช้งานจริงกำลังอยู่ในระหว่างการทดสอบ ซึ่งการส่งมอบเลื่อนจากปีที่ผ่านมาเพื่อทำการทดสอบให้มั่นใจ 
โดยที่ผ่านมาเรามีการยิงทดสอบอย่างต่อเนื่องมากกว่าร้อยนัดเพื่อให้ตัวจรวดมีความน่าเชื่อถือทางสถิติว่าจะมีความปลอดภัยและมีสมรรถนะในการใช้งานจริงได้ตามที่ออกแบบไว้ 
นี่ก็เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมอาวุธมักจะมีราคาแพงมาก เพราะต้องทำการวิจัยเป็นเวลานาน รวมถึงต้องทำการทดสอบเป็นจำนวนมาก แต่ข้อดีของการพัฒนาในประเทศเองก็คือ 
สุดท้ายแล้วเราสามารถผลิตลูกจรวดได้ในราคาที่ถูกกว่าการจัดหาจากต่างประเทศ และที่สำคัญมีหลายองค์กรและภาคเอกชนหลายส่วนที่เป็นคนไทยแท้ ๆ มาร่วมมือกับ DTI กันพัฒนา เราจึงพูดได้ว่านี่จะเป็นจรวดแบบแรกที่เป็นฝีมือคนไทย 100%

- ยานเกราะล้อยางที่ทุกท่านถามกันเสมอนั้น ก็ต้องเรียนเหมือนกันว่า การทดสอบทดลองเพื่อให้แน่ใจว่ามีประสิทธิภาพตามที่ออกแบบไว้นั้นต้องใช้เวลาครับ 
โดยในปีนี้ยานเกราะล้อยาง DTI 8x8 BWS จะเข้ารับการทดสอบเพื่อขอรับรองมาตรฐานทางทหารกับกองทัพบก ส่วนยานเกราะล้อยางเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของหน่วยนาวิกโยธินกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการครับ

- เรายังมีอีกโครงการหนึ่งก็คือโครงการสนามฝึกยิงปืนชุดประหยัด ซึ่งจะเป็นระบบเรครื่องฝึกจำลองยุทธ์ที่มีราคาไม่แพง แต่มีประสิทธิภาพในระดับหนึ่งซึ่งถูกออกแบบมาสำหรับสนับสนุนการฝึกของหน่วยทหารต่าง ๆ ให้มีเครื่องฝึกจำลองยุทธ์ใช้งานได้อย่างทั่วถึง 
เช่น ตามโรงเรียนเหล่า หรือตามหน่วยทหารราบในระดับกรมเป็นต้น โดย DTI มีแผนจะส่งมอบสนามฝึกยิงปืนในล็อตแรกจำนวน 10 ชุด

- สำหรับท่านที่สนใจจะมาเล่นชุดจำลองของสนามฝึกยิงปืน ชมความก้าวหน้าของโครงการจรวดฝนหลวง รวมถึงพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับนักวิจัย สามารถพบกับ DTI ได้ที่กิจกรรมของกระทรวงกลาโหม ณ ลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ในวันที่ 15 - 17 ก.พ. นี้ 
โดยเราจะประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่อไปครับ

สำหรับความคืบหน้าของการพัฒนาระบบเครื่องยิงจรวดหลายลำกล้อง DTI-2 122mm เพื่อทดแทนเครื่องยิงจรวดหลายลำกล้อง จลก.๓๑ Type 82 ขนาด 130mm ๓๐ท่อยิง ที่ติดตั้งบน รสพ.Type 85 ใน กองพันทหารปืนใหญ่ที่๗๑๑ กองพลทหารปืนใหญ่ กองทัพบกไทยนั้น
ก็จำเป็นจะต้องมีการพัฒนาปรับปรุงแก้ไขจากข้อผิดพลาดเพื่อให้มีความเชื่อถือในการเปิดสายการผลิตแล้วเข้าประจำการจริงเป็นจำนวนมากต่อไป
เช่นเดียวกับโครงการยานเกราะล้อยาง Black Widow Spider 8x8 ที่กำลังรอการรับรองมาตรฐานจากกองทัพบกไทย และกำลังพัฒนารถตามความต้องการของนาวิกโยธิน กองทัพเรือไทย
ซึ่งส่วนตัวมองว่าจะเป็นการดีกว่ามากที่ทั้งกองทัพบกและนาวิกโยธินจะจัดหารถหุ้มเกราะล้อยางที่ไทยผลิตเองในประเทศแทนการจัดหาจากต่างประเทศเพื่อพัฒนาอุตสากรรมความมั่นคงภายในของไทยครับ




AgustaWestland AW149 Royal Thai Army Delivered

หลังจากที่มีภาพเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป ฮ.ท.๑๔๙ AW149 ติดเครื่องหมายชาติไทยทำการบินไปเมื่อปีที่แล้ว ล่าสุดก็มีภาพปรากฎออกมาครับว่ามี ฮ.AW149 อย่างน้อย ๑เครื่องถูกส่งมอบให้กองทัพบกไทยที่ไทยแล้ว
โดยกองทัพบกไทยเป็นลูกค้ารายแรกที่ได้ลงนามจัดหาเฮลิคอปเตอร์ AgustaWestland AW149 จาก Leonardo จำนวน ๕เครื่องวงเงิน ๓,๒๔๘ล้านบาท ซึ่งต้องรอดูข้อมูลทางการออกมาครับ

Conventional Submarine model of China Shipbuilding Industry Corporation(CSIC) and China Shipbuilding & offshore International(CSOC) at Ship Tech.III 2016 (My Own Photo)

สำหรับความคืบหน้าของโครงการจัดหาเรือดำน้ำแบบ S26T จากสาธาณรรัฐประชาชนจีนของกองทัพเรือไทยนั้น ก็เหลือนที่ส่วนขั้นตอนที่กองทัพเรือจะส่งเรื่องให้กระทรวงกลาโหมนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติงบประมาณผูกพันข้ามปีต่อไป
โดยมีรายงานข่าวว่าถ้ามีการส่งเรื่องเข้าที่ประชุม ครม.ไม่ทันภายในเดือมกุมภาพันธ์หรือไม่เกินมีนาคมนี้ โครงการจัดหาเรือดำน้ำก็จะไม่ทันงบประมาณปี พ.ศ.๒๕๖๐(2017) และต้องนำวงเงิน งป.ไปใช้อย่างแทนและพักโครงการออกไปอีกในระยะยาว
ในส่วนของทัพเรือนั้นก็จัดทำรายละเอียดโครงการจัดหาเรือดำน้ำวงเงิน ๑๓,๕๐๐ล้านบาทเสร็จแล้ว รอส่งเข้ากระทรวงกลาโหมให้ส่งต่อไปยัง ครม.ตามขั้นตอนต่อไปให้ทันภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ครับ

Royal Thai Navy sign Integrity Pact for new 5 Inshore Patrol Craft from Marsun

กองทัพเรือจัดพิธีลงนามในข้อตกลงคุณธรรม สำหรับโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง จำนวน 5 ลำ
วันนี้(23 กุมภาพันธ์ 2560) เวลา 13.00 น.พลเรือโท เจริญศักดิ์ มารัตนะ รองเสนาธิการทหารเรือ และประธานคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง 
เป็นประธานฝ่ายกองทัพเรือในพิธีลงนามในข้อตกลงคุณธรรม(Integrity Pact :IP)ความร่วมมือป้องกันและต่อต้านการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ สำหรับโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง จำนวน 5 ลำ
โดยมีนายสัญชัย จงวิศาล ประธานเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร บริษัท มาร์ซัน จำกัด เป็นฝ่ายผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมเสนอราคา/ผู้ทำสัญญา 
นายประเสริฐ หวังรัตนปราณี ว่าที่ ร้อยตรีกิตติพันธ์ มูลศรีชัย, นาวาเอกชุมพล พรหมประสิทธิ์ ดร.คณิต วัฒนวิเชียร นางวาสนา สุทธิเดชานัย และนายชัยฤทธิ์ นาคสัมฤทธิ์ เป็นผู้สังเกตการณ์ (Observer) ร่วมลงนาม ณ บริษัท มาร์ซัน จำกัด อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ

การลงนามในข้อตกลงคุณธรรม(Integrity Pact :IP)ความร่วมมือป้องกันและต่อต้านการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2558 เห็นชอบในหลักการดำเนินงานโครงการป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 
ให้นำข้อตกลงคุณธรรม(Integrity Pact :IP) ใช้ในโครงการจัดซื้อจัดจ้าง และอนุมัติคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต 
โดยข้อตกลงคุณธรรมนี้เป็นข้อตกลงที่เป็นลายลักษณ์อักษรร่วมกัน 3 ฝ่าย ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนที่เป็นผู้เสนอราคาหรือเสนองานกับภาครัฐ และผู้สังเกตการณ์ว่าจะไม่กระทำการใดๆ ที่ส่อไปในทางทุจริต 
เช่น ไม่เรียกร้องสินบนหรือผลประโยชน์อันใด และจะปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใสและธรรม โดยยอมรับให้มีบุคคลที่สามที่มาจากภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมสังเกตการณ์ ในกระกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างนั้นๆ 
ตั้งแต่การจัดทำร่างขอบเขตของงาน(Terms of Reference:TOR) จนถึงสิ้นสุดสัญญา

กองทัพเรือได้ลงนามในสัญญาจ้างสร้างเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ว่าจ้างบริษัท มาร์ซัน จำกัด สร้างเรือตรวจการณ์ชายฝั่งจำนวน 5 ลำ เพื่อทดแทนเรือที่ปลดระวางประจำการ และเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์กองทัพเรือในการเสริมสร้างขีดความสามารถของกองทัพ 
ทั้งนี้พลเรือเอกณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ มีนโยบายให้กองทัพเรือจะต้องเป็นหน่วยงานที่มีความสุจริต และโปร่งใส และตอบสนองตามนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดมาตราการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเป็นยุทธศาสตร์ และวาระแห่งชาติ 
จึงเสนอโครงการสร้างเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง จำนวน 5 ลำ เข้าโครงการข้อตกลงคุณธรรมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย)


การจัดหาเรือตรวจการณ์ชายฝั่งที่น่าจะยังเป็นแบบเรือ M21 ของบริษัท MARSUN เช่นเดียวกับเรือ ต.228, ต229, ต.230, ต.232, ต.233, ต.234, ต.235, ต236 และ ต.237
ซึ่งกองทัพเรือมีความต้องการเรือ ตกช.ใหม่ไม่ต่ำกว่า ๑๐ลำเพื่อทดแทนเรือตรวจการณ์ชายฝั่งชุด เรือ ต.21-ต.29 และชุดเรือ ต.211-ต.212 ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า ๔๐ปี และส่วนหนึ่งเริ่มทยอยปลดประจำการไปแล้ว
นอกจากจะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมความมั่นคงในประเทศไทยแล้ว ก่อนหน้านี้ไม่นานกองทัพเรือก็เพิ่งจะได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติที่หน่วยงานคุณธรรมและความโปร่งใส การดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐระดับสูงมาก จากนายกรัฐมนตรี 
จากการประเมินโดย คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(คตช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(สำนักงาน ป.ป.ท.) ซึ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่ากองทัพเรือไทยเป็นเหล่าทัพที่มีความโปร่งใสในโครงการจัดหาอาวุธยุทโธกรณ์สูงที่สุด 
เป็นความจริงที่ตรงข้ามกับที่ผู้ไม่หวังดีต่อประเทศพยายามโจมตีใส่ร้ายโครงการต่างๆของกองทัพเรือมาตลอดทุกโครงการทั้งการจัดหาเรือสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือชุด เรือ ต.111, เฮลิคอปเตอร์ลำเลียง, เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง, เรือฟริเกตสมรรถนะสูง และเรือดำน้ำครับ

อีกหนึ่งทางเลือกของ OPV

ในวันศุกร์ที่ 24 ก.พ.60 เวลา 0900-1200 บริษัท มาร์ซัน จำกัด และ บริษัท Thyssen Krupp Marine System ได้เข้ามาบรรยายเทคโนโลยีเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง (Offshore Patrol Vessel : OPV) ให้กับนายทหารสัญญาบัตร ในกองเรือตรวจอ่าวรับฟัง 
โดยได้นำเสนอเรือแบบ MEKO 100 OPV ด้วยการนำแนวความคิด Mission Module Concept แบบ FLEX มาอยู่ในกรอบแนวความคิดในการออกแบบด้วย

สำหรับ Mission Module Concept แบบ FLEX สำหรับเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง แบบ MEKO 100 นั้น ออกแบบให้รองรับการปฏิบัติการในสาขา ASUW (Anti Surface Warfare) , AAW (Anti Air Warfare) , ASW (Anti Submarine Warfare) , Special Operation และ Mine Countermeasure
โดยสามารถเลือกนำ Module ต่างๆ มาเปลี่ยนเพื่อรองรับการปฏิบัติการทางเรือตามสาขาได้ นอกจากนั้น MEKO 100 OPV ยังออกแบบให้รองรับการ Upgrade เป็นเรือ Corvette ได้อีกด้วย หากมีความต้องการเพิ่มขีดความสามารถในปฏิบัติการทางเรือให้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน กองทัพเรือ (ทร.) กำลังอยู่ระหว่างการต่อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง ตามแบบ ร.ล.กระบี่ (ลำที่ 2) โดยได้จ้าง บริษัทอู่กรุงเทพ จำกัด ในการส่งแบบเรือ และพัสดุให้กับ ทร. 
โดยการต่อเรือนั้นช่างของกรมอู่ทหารเรือ (อู่ทหาเรือมหิดลอุดยเดช อรม.) เป็นผู้ดำเนินการต่อเรือตามแบบ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเอง 
ปัจจุบัน เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง (OPV) ของกองทัพเรือ มีประจำการแล้วทั้งสิ้น 3 ลำ ได้แก่ ร.ล.ปัตตานี ร.ล.นราธิวาส และ ร.ล.กระบี่ และอยู่ระหว่างการต่ออีก 1 ลำ คือ ร.ล.ตรัง โดย ทร.มีความต้องการ เรือ OPV เป็นจำนวน 6 ลำ

กองทัพเรือยังคงมุ่งมั่นส่งเสริมอุตสาหกรรมต่อเรือภายในประเทศ โดยมีความพยายามในการขยายแบบเรือที่สามารถออกแบบและต่อเรือเองได้ ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตอีกด้วยครับ

ข้อมูลได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ (ในส่วนที่สามารถเผยแพร่ได้) จาก บริษัท มาร์ซัน จำกัด

By Admin ต้นปืน561

ทั้งนี้เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริษัท MARSUN ประเทศไทย และ บริษัท Thyssen Krupp Marine System เยอรมนีก็ได้มาบรรยายเทคโนโลยีเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง(OPV: Offshore Patrol Vessel) ให้กับนายทหารของกองเรือตรวจอ่าวตามข้อมูลในข้างต้น
ทำให้แบบเรือ MEKO A100 OPV เป็นแบบเรือล่าสุดที่มีการนำเสนอต่อกองทัพเรือไทยสำหรับเป็นแบบเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งใหม่ต่อหลังจาก ร.ล.ตรัง จบโครงการสร้าง และอาจจะร่วมถึงโครงการจัดหาเรือคอร์เวตใหม่ด้วย
ซึ่งตามที่ได้รายงานไปก่อนหน้านี้ BAE System สหราชอาณาจักรก็ได้เสนอแบบเรือ 99mm Corvette เช่นเดียวกับเรือคอร์เวตชั้น Khareef ของกองทัพเรือโอมานซึ่งมีพื้นฐานร่วมกับเรือ ตกก.90m OPV ทั้ง ร.ล.กระบี่ และร.ล.ตรัง ที่กองทัพเรือไทยมีประสบการณ์ในการสร้างมาแล้ว
เช่นเดียวกับที่มีข่าวว่าจีนได้เสนอแบบเรือคอร์เวตชั้น Type 056A ให้กองทัพเรือไทยด้วย ก็ต้องติดตามต่อไปว่าการจัดหาเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งทดแทนเรือเร็วโจมตีที่จะปลดประจำการลงในอนาคตตามแผนของ กตอ.นั้นจะออกมาในรูปแบบใดครับ 

ออกไปแตะขอบฟ้าด้วยกันนะคะ
กองทัพอากาศรับสมัครบุคคลหญิง (ผู้มีใบอนุญาตนักบินพานิชย์ตรี - เครื่องบิน : CPL) เข้ารับราชการเป็นข้าราชการชั้นสัญญาบัตร เหล่าทหารนักบิน ประจำปี 2560 จำนวน 5 อัตรา
สมัครด้วยตนเองที่ พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศและการบินแห่งชาติ ตั้งแต่วันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 ถึง วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 (ไม่เว้นวันหยุดราชการ)
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ : http://job.rtaf.mi.th

คุณสมบัติทั่วไป
-เป็นหญิงโสดผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ
-เป็นผู้ที่อายุไม่ต่ากว่า 18 ปีและไม่เกิน 28 ปี(เป็นผู้ที่เกิดปี พ.ศ.2532 ถึง พ.ศ.2542)
-เป็นผู้ที่มีอวัยวะรูปร่างลักษณะท่าทางและขนาดของร่างกายเหมาะสม แก่การเป็นทหาร ไม่เป็นโรคตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงกลาโหม ฉบับที่ 74 (พ.ศ.2540) 
 ออกตามความ ในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.249 และมาตรฐานการตรวจทางการแพทย์ของสถาบันเวชศาสตร์การบินกองทัพอากาศ
-ไม่เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดี
-ไม่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือเป็นบุคคลล้มละลายตามคำพิพากษาของศาล
-ไม่เป็นผู้ที่เคยต้องโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาลในคดีอาญา ยกเว้นความผิดฐานประมาทหรือลหุโทษ
-ไม่เป็นผู้ที่อยู่ในระหว่างพักราชการหรือสำรองราชการอันเนื่องมาจากความผิด หรือหนีราชการ
-ไม่เป็นผู้เสพยาเสพติด หรือสารเคมีเสพติดให้โทษ
-ไม่เป็นผู้ที่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์
-ไม่เป็นผู้ที่มีรอยสักบนร่างกายที่เห็นเด่นชัด

คุณสมบัติเฉพาะ
-เป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี(ไม่จำกัดสาขาวิชา)และมีผลการศึกษา คะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรไม่น้อยกว่า 2.80
-เป็นผู้ที่ส่วนสูงไม่ต่ากว่า 162 เซนติเมตร
-เป็นผู้ที่มีใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ตรี - เครื่องบิน (Commercial Pilot License - Aeroplane : CPL)
-เป็นผู้ที่มีผลการทดสอบภาษาอังกฤษของผู้ถือใบอนุญาตประจำหน้าที่ (ICAO English Language Proficiency Test) ไม่ต่ำกว่า Level 4

สำหรับการเปิดรับสมัครนักบินหญิงของกองทัพอากาศไทยในปี พ.ศ.๒๕๖๐ นั้นก็ถือว่าเป็นรุ่นที่๒ แล้วโดยปีนี้จะรับเฉพาะผู้ที่มีใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ตรี ๕อัตรา
เพื่อที่จะได้เข้ารับการหลักสูตรเฉพาะการเปลี่ยนพลเรือนให้เป็นทหาร และวิชาการบินทางทหารเบื้องต้น ไม่ต้องฝึกเป็นนักบินใหม่
ซึ่งนักบินหญิงที่ง ๕ท่านนี้ก็จะทำการบินกับกลุ่มอากาศยานลำเลียงของกองทัพอากาศเช่นเดียวกับท่านในรุ่นแรก ไม่ได้เป็นนักบินรบครับ

Royal Thai Air Force Alpha Jet 231 Squadron Wing 23

Royal Thai Air Force Alpha Jet 231st Squadron rear seat accident by unknowed self-ejection 

ด้านอุบัติเหตุทางอากาศล่าสุดของกองทัพอากาศไทยเมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๐(2017) ที่เครื่องบินโจมตี บ.จ.๗ Alpha Jet ฝูงบิน๒๓๑ เกิดอุบัติเหตุที่นั่งนักบินหลังดีดตัวออกเองโดยไม่ทราบสาเหตุ ระหว่างการฝึกบินเหนือหมู่บ้านเจริญสุข สภ.นาดินดำ อ.เมือง จังหวัดเลย
ทำให้นักบินที่สองของเครื่อง นาวาอากาศตรี สุโขทัย ศรีสมใส ได้รับบาดเจ็บร้ายแรงต้องส่งเข้ารักษาพยาบาลแต่อาการเบื้องต้นปลอดภัยแล้ว โดยนักบินที่หนึ่ง เรืออากาศโท ภูริ จุลพัลลภ สามารถบังคับเครื่องลงจอดที่สนามบินกองบิน๒๓ อุดรธานีได้อย่างปลอดภัย
เท่าที่มีข้อมูลเก้าอี้ดีดตัวของ บ.โจมตี Alpha Jet กองทัพอากาศไทยนั้นเป็นแบบ Martin Baker Mk10 ซึ่งเป็นเก้าอี้ดีดตัวจากบริษัท Martin Baker ผู้ผลิตได้ถูกใช้ติดตั้งในเครื่องบินรบมาตรฐานตะวันตกทั่วโลก 
ซึ่งสาเหตุที่แน่ชัดของอุบัติเหตุจะต้องมีการสอบสวนต่อไป โดยได้การสั่งงดบิน Alpha Jet ที่มีอยู่ ๑๖เครื่องระหว่างรอผลการสอบสวน แล้ว

กองทัพอากาศไทยได้จัดหาเครื่องบินโจมตี Alpha jet จำนวน ๒๕เครื่องจากเยอรมนีเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๒(1999) และได้เริ่มรับมอบในปี พ.ศ.๒๕๔๓(2000) โดยใช้งานจริง ๒๔เครื่อง เป็นอะไหล่ ๑เครื่อง
อุบัติเหตุรายแรงครั้งเดียวของ Alpha Jet คือเมื่อ ๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๕ ที่ Alpha Jet หมายเลข 23133 ตกที่ทุ่งนา หมู่บ้านทุ่งโปร่งใต้ อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู ทำให้นักบินคือ เรืออากาศเอก ณรงค์ชัย งามปัก เสียชีวิต
โดยผลการสอบสวนสาเหตุของอุบัติเหตุครั้งนั้นมาจากนักบินเกิดอาการหลงสภาพการบิน(Vertigo) ไม่ใช่สาเหตุจากเครื่องขัดข้องครับ (และก็เช่นเคยที่สื่อหลักได้รายงานข่าวนี้อย่างผิดพลาด เช่นระบุว่าเครื่องที่เกิดเหตุคือ F-16 รวมถึงมีการโจมตีใส่ร้ายกองทัพอากาศด้วย)

Korea Aerospace Industries T-50TH(FA-50) model at Defense & Security 2015(MY OWN PHOTO)

ด้านโครงการจัดหาเครื่องบินฝึกไอพ่น T-50TH จาก Korea Aerospace Industries(KAI) สาธารณรัฐเกาหลีเพื่อทดแทนเครื่องบินขับไล่และฝึกแบบที่๑ บ.ขฝ.๑ L-39ZA/ART 
ที่ได้กองทัพอากาศไทยได้มีการลงนามสัญญาจัดหา KAI T-50TH ระยะที่๑ จำนวน ๔เครื่อง วงเงิน ๓,๗๐๐ล้านบาท เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๘(2015) โดยจะได้รับมอบเครื่องในราวเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๖๑(2018)
ล่าสุดมีรายงานว่ากองทัพอากาศไทยจะมีโครงการจัดหา T-50TH ระยะที่๒ จำนวน ๘เครื่อง วงเงิน ๙,๐๐๐ล้านบาท ซึ่งจะทำให้จำนวนเครื่องที่จัดหารวมเป็น ๑๒เครื่องตามอัตราพื้นฐานขั้นต้น(และเท่ากับที่กองทัพอากาศฟิลิปปินส์จัดหา FA-50PH ๑๒เครื่อง)
โดยตามที่รายงานไปก่อนหน้านี้เครื่องบินฝึกไอพ่น T-50TH นั้นจะเข้าประจำการที่ ฝูงบิน๔๐๑ กองบิน๔ ตาคลี เพื่อทดแทน L-39 ที่ส่วนหนึ่งเริ่มถูกปลดประจำการและจำหน่ายออกไปแล้ว
ตรงนี้ไม่แน่ใจว่า บ.ขฝ.๒ T-50TH ๑๒เครื่องนี้จะเป็นจำนวนที่กองทัพอากาศไทยต้องการเพียงพอแล้ว หรือจะจัดหาต่อเพิ่มอีกในระยะที่๓ ครับ