วันจันทร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2560

แนวทางการจัดหาเฮลิคอปเตอร์โจมตีใหม่ของกองทัพบกไทย

Royal Thai Army AH-1F EDA Attack Helicopters of 3rd Aviation Battalion, Aviation Regiment, Army Aviation Center in firing range flight(unknow photo source)

นับตั้งแต่ที่กองทัพบกไทยได้จัดหาเฮลิคอปเตอร์โจมตีแบบแรกคือ ฮ.จ.๑ Bell AH-1F Cobra สหรัฐฯสร้างใหม่จากโรงงานจำนวน ๔เครื่องเข้าประจำการในปี พ.ศ.๒๕๓๔(1991)
โดยมี ๑เครื่องสูญเสียไปจากอุบัติเหตุระหว่างการฝึกบินที่หุบเขาในจังหวัดเชียงรายวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๓(2000) ซึ่งมีนักบินเสียชีวิตหนึ่งนายและเครื่องได้รับความเสียหายมากจนต้องทำการจำหน่าย
ต่อมามีการจัดหา AH-1F EDA(Excess Defense Article) ที่เดิมเป็นเครื่องที่เคยประจำการในกองทัพบกสหรัฐฯมาก่อนแล้วถูกปรับปรุงสภาพใหม่เพิ่มเติมอีก ๔เครื่องในปี พ.ศ.๒๕๕๕(2012) นั้น

ฮ.จ.๑ AH-1F ทั้ง ๗เครื่องที่ปัจจุบันประจำการในกองพันบินที่๓(กองบินปีกหมุนที่๓ เดิมที่เปลี่ยนนามหน่วยตามโครงสร้างใหม่) กรมบิน ศูนย์การบินทหารบก นับเป็นเฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธที่มีขีดความสามารถสูงที่สุดของกองทัพบกไทย
ที่ได้แสดงถึงอำนาจการยิงจากปืนใหญ่อากาศสามลำกล้องหมุน M197 ขนาด 20mm, จรวด Hydra 70 2.75"(70mm) และอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้รถถังอากาศสู่พื้น BGM-71 TOW(แท่นยิง M65) ในการฝึกซ้อมรบด้วยกระสุนจริงมาแล้วหลายครั้งเป็นเวลานานกว่า ๒๕ปี
แม้ว่าต่อมาจะมีการจัดหา ฮ.ติดอาวุธแบบอื่น เช่น เฮลิคอปเตอร์ลาดตระเวนติดอาวุธ ฮ.ลว./อว.๕๕๐ Airbus Helicopters AS550 C3 แต่ ฮ.โจมตี และฮ.ลาดตระเวน นั้นเป็น ฮ.ที่ใช้งานคนละรูปแบบกัน
(ฮ.โจมตีเหมือนรถถังหลักที่ใช้ในการยิงทำลายข้าศึกโดยตรง ฮ.ลาดตระเวนเหมือนยานยนต์ลาดตระเวนที่ใช้ในการสอดแนมและเป็นฉากกำบังต่อข้าศึก)

อย่างไรก็ตามก็เช่นเดียวกับเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป ฮ.ท.๑ Bell UH-1H ที่มีมีอายุการใช้งานมานานมากถึง ๔๐กว่าปีที่ได้มีการทยอยปลดประจำการลงทั้งหมดในอนาคตอันใกล้นี้เนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัยทางการบินและชิ้นส่วนอะไหล่อุปกรณ์ที่ไม่มีสายการผลิตอีกแล้ว
ฮ.โจมตี AH-1F ที่มีพื้นฐานโครงสร้างหลายส่วนร่วมกันกับ UH-1 เช่นระบบเครื่องยนต์ก็จะอยู่ในสภาพเช่นเดียวกันคือไม่มีอะไหล่และโครงสร้างอากาศยานหมดอายุการใช้งาน
ดังนั้นถ้ากองทัพบกไทยยังมีความต้องการที่จะคงการมีเฮลิคอปเตอร์โจมตีใช้งานก็จำเป็นจะต้องดำเนินการเช่นเดียวกับกองทัพหลายประเทศทั่วโลกที่มี ฮ.โจมตีตระกูล Cobra เครื่องยนต์เดี่ยวอย่าง AH-1S และ AH-1F
คือการตั้งโครงการคัดเลือกและจัดหาเฮลิคอปเตอร์โจมตีแบบใหม่มาทดแทน ฮ.โจมตี Cobra รุ่นเก่าของตน

ล่าสุดกองทัพบกไทยได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกแบบเฮลิคอปเตอร์โจมตีแบบใหม่ เพื่อทดแทน ฮ.จ.๑ AH-1F และ AH-1F EDA ทั้ง ๗เครื่อง โดยมีการกำหนดคุณสมบัติความต้องการเบื้องต้น เช่น

ระบบอากาศยาน
-เครื่องยนต์ Gas Turbine อย่างน้อย ๒เครื่องยนต์
-น้ำหนักบรรทุกสูงสุด(Payload) ไม่น้อยกว่า 1,000kg
-ความเร็วเดินทางไม่น้อยกว่า 120knots (222km/h)
-มีเพดานบินไม่น้อยกว่า 10,000ft.(3,000m)
-มีระยะเวลาในการบินนานไม่น้อยกว่า ๒ชั่วโมง ๓๐นาที
-มีเครื่องช่วยเดินอากาศยานในระบบ VOR, DME, IFF และ GPS ที่เป็นไปตาม มาตรฐานสากลใน Cockpit ของที่นั่งนักบินทั้ง ๒ตำแหน่ง
-มีระบบวิทยุติดต่อสื่อสารที่สามารถใช้งานร่วมกับวิทยุติดต่อสื่อสารที่มีใช้อยู่ ในอากาศยานที่ประจำการใน ทบ. ในปัจจุบัน
-สามารถทำการบินได้ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน และสามารถใช้งานร่วมกับ กล้องช่วยมองเห็นในเวลากลางคืนได้

ระบบอาวุธ
-ติดตั้งระบบอาวุธปืนขนาดกว้างปากลำกล้องไม่น้อยกว่า 20mm
-ติดตั้งระบบอาวุธจรวดขนาดไม่น้อยกว่า 70mm และสามารถติดตั้ง กระเปาะจรวดได้ไม่น้อยกว่า ๒กระเปาะ
-สามารถติดตั้งอาวุธนำวิถีต่อสู้รถถังหรืออาวุธนำวิถีอากาศสู่พื้น และ/หรือ ติดตั้งอาวุธนำวิถีอากาศสู่อากาศ แบบนำวิถีด้วย Laser หรือติดตามความร้อน(Infrared)ได้

ระบบควบคุมการยิง
-ที่นั่งนักบินทั้ง ๒ตำแหน่ง สามารถทำการค้นหาเป้าหมาย การเล็ง และ การควบคุมการยิงระบบอาวุธได้ทุกชนิดที่ติดตั้งในอากาศยาน
-ติดตั้งระบบกล้องกลางวันและกลางคืน (EO และ IR: Electro-Optical and Infrared) พร้อมทั้งมี Laser วัดระยะ (Laser Range Finder) เพื่อใช้ในการเล็งเป้าหมายทั้งในเวลากลางวันและเวลากลางคืน
-หมวกนักบินของนักบินทั้ง ๒ตำแหน่ง สามารถทำการเล็งและควบคุม ทิศทางการยิงอาวุธปืนของ ฮ.โจมตี ได้ หรือมีระบบควบคุมการยิงอาวุธปืนที่เทียบเท่าหรือดีกว่า

ระบบป้องกันตนเอง
-ติดตั้งอุปกรณ์แจ้งเตือนตรวจจับอากาศยานจาก Radar ป้องกันภัยทางอากาศ (Radar Warning)
-ติดตั้งอุปกรณ์ยิงเป้าลวงอาวุธต่อต้านอากาศยานที่นำวิถีด้วยความร้อน (Flare)
-ติดตั้งอาวุธยิงเป้าลวงอาวุธต่อต้านอากาศยานที่นำวิถีด้วย Radar (Chaff)

มีประจำการในกองทัพประเทศผู้ผลิต
ไม่เป็นเครื่องที่อยู่ในระหว่างการพัฒนาเพื่อการผลิต (Production Prototype)

AH-64E Apache Guardian from 1st Battalion, 25th Aviation Regiment, 25th Combat Aviation Brigade, US Army conducts landing qualifications on flight deck of amphibious assault ship LHA-5 USS Peleliu Exercise RIMPAC 2014(wikipedia.org)

ตัวเลือกเฮลิคอปเตอร์โจมตีแบบใหม่ทดแทน ฮ.จ.๑ AH-1F Cobra ที่กองทัพบกไทยเคยมองมาตลอดคือ Boeing AH-64 Apache ที่เป็นม้างานของกองทัพบกสหรัฐฯและหลายประเทศทั่วโลกที่ได้จัดหาไปใช้งานแล้ว 
เช่น กองทัพอากาศอิสราเอล, กองทัพอากาศเนเธอร์แลนด์, กองทัพบกกรีซ, กองทัพบกซาอุดิอาระเบีย, กองทัพอากาศคูเวต, กองทัพอากาศสหรัฐอาหรับเอมิเรนตส์, กองทัพอากาศอียิปต์, 
กองกำลังป้องกันตนเองทางบกญี่ปุ่น, กองทัพบกไต้หวัน, กองทัพบกเกาหลีใต้, กองทัพอากาศอินเดีย, กองทัพอากาศกาตาร์(กำลังสั่งจัดหา) 
เช่นเดียวกับกลุ่มประเทศอาเซียนคือ กองทัพอากาศสิงคโปร์ที่มีการนำ AH-64D มาวางกำลังฝึกใช้พื้นที่ในไทยบ่อยครั้ง และกองทัพบกอินโดนีเซียซึ่งจะได้รับมอบ AH-64E 8เครื่องในเร็วๆนี้(http://aagth1.blogspot.com/2017/05/ah-64e-apache-guardian.html
รวมถึงกองทัพบกสหราชอาณาจักรสำหรับรุ่น AgustaWestland WAH-64D Apache AH1 ที่ติดตั้งเครื่องยนต์ Turbo Shaft Rolls-Royce/Turbomeca RTM322 แทนเครื่องยนต์ Turbo Shaft ตระกูล General Electric T700-701 
พร้อมระบบอุปกรณ์เฉพาะตามความต้องการของอังกฤษหลายแบบ โดยกองทัพบกอังกฤษจะมีการจัดหาและปรับปรุงเครื่องที่ให้มีเป็นมาตรฐาน AH-64E ต่อไปในอนาคต

Apache AH Mk 1 British Army Air Corps takes off from L12 HMS Ocean during Operation Ellamy and the 2011 military intervention in Libya(wikipedia.org)

คงเป็นที่ทราบดีถึงสมรรถนะของ ฮ.โจมตี Apache ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากนับตั้งแต่ที่เครื่องรุ่นแรก AH-64A ถูกนำไปใช้ในปฏิบัติการรบจริงครั้งแรกที่ปานามาในยุทธการ Just Cause ปี 1989 ตามด้วยสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งที่๑ ยุทธการ Dessert Strom ปี 1991 
ฮ.รุ่นที่สอง AH-64D Apache Longbow ได้ถูกนำไปใช้ในปฏิบัติการรบที่อัฟกานิสถานตั้งแต่ยุทธการ Enduring Freedom ปี 2001และอิรักตั้งแต่ยุทธการ Iraqi Freedom ปี 2003 
จนถึงการโจมตีทางอากาศต่อลิเบียในปี 2011 ที่อังกฤษได้ใช้ ฮ.Apache AH1 ของกองการบินทหารบกวางกำลังปฏิบัติจากเรืออู่ยกพลขึ้นบกบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ L12 HMS Ocean กองทัพเรือสหราชอาณาจักร 
ซึ่ง ฮ.โจมตี Apache ของอังกฤษนั้นถูกออกแบบมาสำหรับปฏิบัติการจากเรือในทะเลได้(ก่อนหน้านั้นอังกฤษได้ปลดประจำการเครื่องบินโจมตีขึ้นลงทางดิ่ง Harrier GR9A รวมถึงเรือบรรทุกเครื่องบินชั้น Invincible ที่เริ่มทยอยปลดประจำการลงในช่วงใกล้เคียงกัน) 
โดย ฮ.โจมตี Apache ของแต่ละประเทศนั้นมีอัตราการสูญเสียเครื่องและมีนักบินเสียชีวิตในปฏิบัติการรบจริงน้อยมาก (ส่วนใหญ่การสูญเสียจะมาจากสาเหตุอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการรบโดยตรง เช่น อุบัติเหตุระหว่างการฝึก) 
จากผู้ใช้งานจำนวนมากในข้างต้นจึงเป็นการพิสูจน์ถึงความสำเร็จของ ฮ.รุ่นนี้เป็นอย่างดี ซึ่งหลายประเทศที่กล่าวมาก็ได้จัดหา ฮ.Apache มาทดแทน ฮ.Cobra รุ่นเก่าของตน

เฮลิคอปเตอร์โจมตี AH-64E Apache Guardian รุ่นล่าสุดที่มีสายการผลิตในปัจจุบันจึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่จะทดแทน ฮ.จ.๑ AH-1F ของกองทัพบกไทย 
โดยระบบเครื่องยนต์ GE T700 สองเครื่องที่ใช้ใน ฮ.Apache นั้นเป็นตระกูลเดียวที่ใช้ในเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป ฮ.ท.60 UH-60L และ UH-60M  Black Hawk ที่ประจำการในกองพันบินที่๙(กองบินปีกหมุนที่ 9 ผสม เดิม) 
ระบบอาวุธและระบบสนับสนุนก็เป็นมาตรฐานกองทัพสหรัฐฯซึ่งเจ้าหน้าที่ไทยมีความคุ้นเคยโดยมีอาวุธบางแบบจาก ฮ.โจมตี Cobra ที่สามารถใช้ร่วมกับ ฮ.Apache ได้ เช่น กระเปาะจรวด M261 ความจุ ๑๙นัดสำหรับจรวด Hydra 2.75"(70mm) 
แต่อาวุธหลายแบบสำหรับ ฮ.Apache ก็จำเป็นที่ต้องมีการจัดหามาใหม่ เช่น ปืนใหญ่อากาศ M230 ขนาด 30x113mm ความจุ ๑,๒๐๐นัด, อาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่อากาศพิสัยใกล้ AIM-92 Air To Air Stinger(ATAS) 
และอาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่พื้น AGM-114 Hellfire ทั้งรุ่นนำวิถีด้วย Laser(SALH: Semi-Active Laser Homing) และรุ่นนำวิถีด้วยเรดาห์ที่ใช้ร่วมกับเรดาห์ควบคุมการยิงแบบ AN/APG-78 Longbow ที่ติดบนยอดแกนใบพัดประธาน 
ซึ่งอาวุธปล่อยนำวิถี Hellfire มีระยะยิง 8km มากกว่าอาวุธปล่อยนำวิถี TOW ที่นำวิถีผ่านเส้นลวดแบบเล็งตามเป้ากึ่งอัตโนมัติ(Wire-Guided SACLOS: Semi-Automatic Command Line of Sight) ที่มีระยะยิงเพียง 3.75km เป็นสองเท่า

US Marine Corps AH-1Z Viper assigned to Marine Medium Helicopter Squadron HMM-268 takes off from amphibious assault ship LHD-8 USS Makin Island(wikipedia.org)

ดังนั้นตัวเลือกอีกแบบที่มีความเข้ากันได้กับ ฮ.จ.1 Cobra ที่กองทัพบกไทยมีใช้อยู่มากกว่า ฮ.Apache ก็คือ Bell AH-1Z Viper ซึ่งเป็นเฮลิคอปเตอร์โจมตีตระกูล Cobra รุ่นสองเครื่องยนต์แบบล่าสุดที่เข้าประจำการในหน่วยนาวิกโยธินสหรัฐฯ 
ซึ่ง ฮ.โจมตี AH-1Z ใช้เครื่องยนต์ T700-GE-401C ตระกูลเดียวกับที่ใช้ใน UH-60 เช่นกัน ระบบอาวุธประจำเครื่องคือปืนใหญ่อากาศ M197 20mm ความจุ ๗๕๐นัด ก็เป็นแบบเดียวกับ AH-1F 
ทำให้อาวุธใหม่ที่จะต้องจัดหาเพิ่มเติมอาจจะมีเพียงอาวุธปล่อยนำวิถี AGM-114 Hellfire และอาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่อากาศพิสัยใกล้ AIM-9 Sidewinder เท่านั้น 

อย่างไรก็ตามปัจจุบันนี้ผู้ใช้งาน ฮ.โจมตี Viper นอกจากนาวิกโยธินสหรัฐฯเองก็มีเพียงกองทัพบกปากีสถานที่ได้สั่งจัดหา AH-1Z จำนวน ๑๒เครื่องซึ่งจะได้รับมอบในราวปี 2017-2018 ตามที่ได้รายงานไป(http://aagth1.blogspot.com/2017/09/mi-35m-ah-1z.html)
นอกนั้นบริษัท Bell กำลังหาลูกค้ารายใหม่หลังจากที่พ่ายแพ้ให้กับ ฮ.โจมตีแบบอื่นในโครงการจัดหาของหลายประเทศ 
เช่นที่ล่าสุดได้เสนอ AH-1Z Viper แก่กองทัพบกออสเตรเลียเพื่อทดแทนเฮลิคอปเตอร์โจมตี Tiger ARH พร้อมกับเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป UH-1Y Venom ที่จะมีโครงการจัดหาในราวกลางปี 2020s(http://aagth1.blogspot.com/2017/03/bell-ah-1z-viper-tiger-arh-uh-1y-venom.html
โดย Bell ได้นำเสนอว่า AH-1Z เป็น ฮ.โจมตีที่ออกแบบมาสำหรับปฏิบัติการจากเรือในทะเลได้แต่แรกถ้าเทียบกับ ฮ.โจมตี Tiger ARH ที่ ทบ.ออสเตรเลียนำไปทดสอบการปฏิบัติการบนเรืออู่ยกพลขึ้นบกบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ชั้น Canberra กองทัพเรือออสเตรเลียทั้ง 2ลำ 
ซึ่งก็มีข้อจำกัดอย่างการพับใบพัดเข้าโรงเก็บในตัวเรือไม่ได้ เช่นเดียวกับที่กองทัพบกสเปนทดสอบ ฮ.โจมตี Tiger HAD จากเรืออู่ยกพลขึ้นบกจู่โจม Juan Carlos I กองทัพเรือสเปน(เรือชั้น Canberra ออสเตรเลียมีแบบพื้นฐานจากเรือของสเปน)

ถ้าดูจากการจัดหาเฮลิคอปเตอร์แบบต่างๆของกองทัพบกไทยในช่วงสิบปีมานี้มีการจัดหาจากแหล่งอื่นนอกจากสหรัฐฯที่เคยกำลังอากาศยานหลักแล้ว 
เช่น เฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป ฮ.ท.๑๓๙ Leonardo(AgustaWestland เดิม) AW139 และ ฮ.ท.๑๔๙ AW149 อิตาลี-อังกฤษ, ฮ.ท.๑๔๕ Airbus Helicopters H145 ฝรั่งเศส-เยอรมนี และ ฮ.ท.๑๗ Mil Mi-17V5 รัสเซีย
เฮลิคอปเตอร์โจมตีแบบอื่นก็น่าจะมีโอกาสเป็นตัวเลือกทดแทน ฮ.จ.๑ AH-1F ได้เช่นกัน


Australian Army Tiger ARH conduct testing operational on flight deck of Royal Australian Navy L02 HMAS Canberra(www.navy.gov.au)

สำหรับเฮลิคอปเตอร์โจมตี Airbus Helicopters(Eurocopter เดิม) Tiger นั้นประเทศผู้ผลิตและใช้งานหลักคือ กองทัพบกฝรั่งเศส, กองทัพบกเยอรมนี และกองทัพบกสเปนได้พิสูจน์ขีดความสามารถของ ฮ.รุ่นนี้ในการรบจริงมาแล้ว 
ทั้งการสนับสนุนภารกิจกองกำลังช่วยเหลือการรักษาความมั่นคงนานาชาติ(ISAF: International Security Assistance Force) ของฝรั่งเศส, เยอรมนี และสเปนในอัฟกานิสถาน 
การโจมตีทางอากาศต่อลิเบียซึ่งฝรั่งเศสนำ ฮ.โจมตี Tiger ปฏิบัติการบนเรืออู่ยกพลขึ้นบกบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ชั้น Mistral คือ L9014 Tonnerre 
และปฏิบัติการสนับสนุนกองกำลังรักษาสันติภาพสหประชาชาติต่อต้านกลุ่มติดอาวุธก่อการร้ายในประเทศมาลี โดยฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 2013 และล่าสุดเยอรมนีในปี 2017 ซึ่งมีอุบัติเหตุจนสูญเสียไป ๑เครื่องพร้อมนักบินทั้ง ๒นาย(http://aagth1.blogspot.com/2017/08/tiger.html)

ด้านความเหมาะสมกับกองทัพบกไทยแล้วระบบอาวุธบางแบบที่ใช้กับ ฮ.ลว./อว.๕๕๐ AS550 C3 เช่น กระเปาะจรวด FZ220 หรือ FZ223(Forges de Zeebrugge เบลเยียม) ขนาด 70mm(Hydra 70) ความจุ ๗ และ ๑๒นัด สามารถใช้งานร่วมกับ ฮ.โจมตี Tiger ได้
โดยระบบอาวุธและอุปกรณ์ประจำเครื่องสามารถเลือกได้ตามความต้องการ เช่น ปืนใหญ่อากาศ GIAT 30 M781 ขนาด 30x113mm ความจุ ๔๕๐นัด 
อาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่พื้นต่อสู้รถถังสามารถเลือกใช้ได้ทั้ง Hellfire สหรัฐฯ, PARS 3LR เยอรมนี หรือ SPIKE ER อิสราเอล รวมถึงอาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่อากาศ Stinger และ Mistral 

อย่างไรก็ตาม ฮ.Tiger ไม่ได้ประสบความสำเร็จในการส่งออกนัก โดยประเทศนอกยุโรปที่จัดหาไปมีเพียงออสเตรเลีย โดยโครงการคัดเลือก ฮ.โจมตี AIR 87 ของกองทัพบกออสเตรเลียเพื่อทดแทน OH-58 Kiowa และ UH-1 รุ่น Gunship นั้น 
ในการสาธิตของ ฮ.Tiger ออสเตรเลียมีอุบัติเหตุที่ทำให้ ฮ.ตกกระแทกพื้นแต่นักบินประจำเครื่องทั้งสองนายสามารถออกจากเครื่องได้อย่างปลอดภัยโดยไม่ได้รับบาดเจ็บ 
ทำให้กองทัพบกออสเตรเลียประกาศเลือก ฮ.Tiger ARH (Armed Reconnaissance Helicopter) จำนวน ๒๒เครื่องเมื่อ ๒๑ ธันวาคม 2001 
แต่ทว่าหลังจากที่รับมอบ ๒เครื่องแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2004 จนถึงเครื่องชุดสุดท้ายเมื่อเดือนมิถุนายน 2010 (มี ๑๘เครื่องที่ทำการประกอบในออสเตรเลีย) 
กว่าที่ ฮ.Tiger ARH จะมีความพร้อมปฏิบัติการตามแผนก็เป็นเดือนธันวาคมปี 2011 และเพิ่งเข้าสู่ความพร้อมปฏิบัติการรบขั้นสุดท้ายเมื่อ ๑๘ เมษายน 2016 
นั่นทำให้กองทัพบกออสเตรเลียมองการหา ฮ.โจมตีแบบใหม่ในอนาคต ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่กองทัพบกไทยน่าจะต้องพิจารณาในการจัดหา ฮ.โจมตี Tiger ว่าจะมีปัญหาตามมาภายหลังหรือไม่

ด้านเฮลิคอปเตอร์โจมตี Agusta A129 Mangusta มีผู้ใช้งานหลักคือกองทัพบกอิตาลีที่ได้รับมอบมาตั้งแต่ปี 1990-2004 จำนวนรวม ๖๖เครื่อง ฮ.โจมตี Mangusta ได้รับการปรับปรุงความทันสมัยมาหลายครั้ง 
เช่น การติดปืนใหญ่อากาศ M197 20mm ความจุกระสุน ๕๐๐นัด(ฮ.A129 รุ่นแรกไม่ติดปืนที่ตัวเครื่อง) อาวุธที่ติดตั้งได้เป็นแบบเดียวกับ ฮ.โจมตีสหรัฐฯ เช่น จรวด 2.75" อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้รถถัง TOW และ Hellfire 
ซึ่งอิตาลีก็ได้นำ ฮ.โจมตี A129 ร่วมปฏิบัติการรบจริงมาแล้วเช่นที่ภารกิจรักษาสันติภาพของสหประชาชาติที่มาซีโดเนีย, โซมาเลีย และแองโกลา รวมถึงสงครามในอัฟกานิสถานและอิรัก

Turkish Aerospace Industries(TAI)/AgustaWestland(now Leonardo) T129 ATAK Attack Helicopters in flight(www.tai.com.tr/en)

ด้านการส่งออกนั้นเมื่อ ๓๐ มีนาคม 2007 กองทัพบกตุรกีได้เลือกแบบเฮลิคอปเตอร์โจมตี T129 ATAK ๕๐เครื่อง 
ซึ่งมีพื้นฐานจาก A129 ที่ดำเนินการประกอบสร้างโดย Turkish Aerospace Industries(TAI) ในตุรกีภายใต้ความร่วมมือการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก Leonardo(AgustaWestland เดิม) 
ฮ.โจมตี T129 ตุรกีได้พัฒนาขึ้นจากต้นแบบโดยติดตั้งเครื่องยนต์ Turboshaft LHTEC CTS800-4N สองเครื่องซึ่งผลิตในตุรกีโดย TEI รุ่นเดียวที่ใช้กับเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทางทะเล Super Lynx 300 ที่กองทัพเรือไทย(Royal Thai Navy) มี ๒เครื่อง และ AW159 Wildcat 
เช่นเดียวกับระบบอื่นที่ออกแบบผลิตในตุรกี เช่น กล้องตรวจการณ์ชี้เป้าหมายของ ASELSAN อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้รถถัง UMTAS และจรวดนำวิถี Laser แบบ Cirit 70mm ของ Rocketsan รวมถึงอาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่อากาศ Stinger หรือ Mistral หรือ Sidewinder 
ทั้งนี้ TAI ตุรกีได้มองแนวทางส่งออก ฮ.โจมตี T129 ให้ต่างประเทศ เช่น ปากีสถาน ที่เสนอพร้อมสายการผลิตที่โรงงานอากาศยาน Pakistan Aeronautical Complex(PAC) ของปากีสถานด้วย

แต่สำหรับกองทัพบกไทยแล้วนอกจากสายการผลิตของอิตาลีที่ปิดไปสิบกว่าปีแล้วทาง Leonardo ได้ประกาศเมื่อ ๑๒ มกราคม 2017 ว่า
ได้รับสัญญาโครงการพัฒนาเฮลิคอปเตอร์สำรวจและคุ้มกันใหม่ (NEES: New Exploration and Escort Helicopter) ให้กองทัพบกอิตาลีเพื่อทดแทน ฮ.A129 Mangusta ที่มีแผนจะปลดประจำการในปี 2025(http://aagth1.blogspot.com/2017/01/leonardo-a129-mangusta-m345-het.html
ด้านตุรกีเองก็ยังไม่เคยประสบความสำเร็จในการส่งออกอาวุธให้ไทยด้วย ดังนั้นโอกาสของ ฮ.โจมตี A129/T129 ในไทยจึงอาจจะมีไม่มากนัก
แต่ในช่วงหลายปีหลังมานี้ตุรกีเข้ามาทำการตลาดอาวุธยุทโธปกรณ์ของตนในภูมิภาค ASEAN อย่างมากและประสบความสำเร็จการขายในบางประเทศแล้ว เช่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย สำหรับไทยจึงอาจจะต้องจับตามองระบบอาวุธตุรกีไว้บ้าง

New Mil Mi-28NM Attack Helicopter for Russian Air Force(russianplanes.net)

เฮลิคอปเตอร์โจมตี Mil Mi-28 (NATO กำหนดรหัส Havoc) รัสเซียเป็นตัวเลือกอีกแบบที่ถูกกล่าวถึงบ่อยขึ้นในช่วงไม่กี่ปีหลังมานี้ นอกจากกองทัพอากาศรัสเซียที่มีการจัดหาและพัฒนาเครื่องรุ่นใหม่คือ Mi-28NM ที่มีการทดสอบบินครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2016 
ฮ.โจมตี Mi-28NE รุ่นส่งออกก็ได้รับการจัดหาจากต่างประเทศคือกองทัพบกอิรัก และกองทัพอากาศแอลจีเรีย กับกองทัพอากาศเวเนซุเอลาในอนาคต 
โดย ฮ.โจมตี Mi-28 ได้เข้าร่วมปฏิบัติการรบจริงครั้งแรกโดยกองทัพบกอิรักในสงครามต่อต้านกลุ่มติดอาวุธก่อการร้ายภายในประเทศตั้งแต่ปี 2015 และกองทัพอากาศรัสเซียได้วางกำลัง ฮ.Mi-28 ของตนในซีเรียเพื่อสนับสนุนการโจมตีทางอากาศต่อกลุ่มติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลซีเรีย 
มีรายงานว่ารัสเซียสูญเสีย ฮ.โจมตี Mi-28 ๑เครื่องเมื่อ ๑๒ เมษายน 2016 โดยนักบิน ๒นายเสียชีวิตคาดว่าเป็นอุบัติเหตุจากความขัดข้องทางเทคนิค(http://aagth1.blogspot.com/2016/04/mi-28n_16.html)

เมื่อมองความเหมาะสมของ ฮ.โจมตี Mi-28 สำหรับกองทัพบกไทยแล้ว Mi-28 นั้นเครื่องยนต์แบบ Klimov TV3-117VMA สองเครื่องแบบเดียวกับที่ใช้ในเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป ฮ.ท.๑๗ Mil Mi-17V5 ทั้ง ๕เครื่องที่ประจำการในกองพันบินที่๔๑ (กองบินสนับสนุนทั่วไปเดิม) 
ตั้งแต่จัดหามาในปี พ.ศ.๒๕๕๔(2011) กองทัพบกไทยดูจะพอใจกับประสิทธิภาพของ Mi-17 มากโดยมีแผนจะจัดหาเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่ง โดยกำลังอยู่ระหว่างการจัดหาเพิ่มเติม ๒เครื่อง โดยต้องการทั้งหมดรวมที่มีอยู่เดิมเป็น ๑๒เครื่อง 
เพื่อทดแทนภารกิจในส่วนของเฮลิคอปเตอร์ลำเลียง ฮ.ล.๔๗ Boeing CH-47D ๖เครื่องที่ประจำการมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๔(1991) ที่จะปลดประจำการลงในอนาคตอันใกล้(http://aagth1.blogspot.com/2017/01/blog-post_17.html

แต่อย่างไรก็ตามนอกจากกระสุนปืนใหญ่ขนาด 30x165mm สำหรับปืนใหญ่อากาศ 2A42 ความจุ ๒๕๐นัด ซึ่งเป็นแบบเดียวที่ใช้กับปืนใหญ่กล ZTM-1ของยานเกราะล้อยาง BTR-3E1 ของกองทัพบกไทยและนาวิกโยธินไทย ซึ่งไทยสามารถผลิตกระสุนขนาดนี้ได้เองแล้ว 
ระบบอาวุธอื่นๆนั้นต้องจัดหามาใหม่หมด เช่น จรวด S-8 ขนาด 80mm พร้อมกระเปาะจรวด B-8 ความจุ ๒๐นัด และอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้รถถัง 9M120M Ataka นำวิถีผ่านคลื่นวิทยุเล็งตามเป้ากึ่งอัตโนมัติ(Radio SACLOS) ระยะยิง 6-8km 
รวมถึงอาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่อากาศ R-73 แต่อาจจะยกเว้นอาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่อากาศพิสัยใกล้ Igla-V ซึ่งกองทัพบกไทยมีรุ่นอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่อากาศแบบประทับบ่ายิง Igla-S MANPADS ประจำการอยู่ก่อนแล้ว

first Egyptian Air Force K-52 attack helicopter, June 2017(https://www.facebook.com/pg/EGYDEFPORTAL)

ตัวเลือกแบบอื่นของรัสเซียอย่างเฮลิคอปเตอร์จู่โจม Mil Mi-35(รุ่นส่งออกของ Mi-24 NATO กำหนดรหัส Hind) ซึ่งมีกองทัพชาติอาเซียนใช้งานหลายประเทศ เช่น กองทัพอากาศประชาชนเวียดนาม, กองทัพบกอินโดนีเซีย และกองทัพอากาศพม่านั้น
เป็น ฮ.ที่ไม่เหมาะกับหลักนิยมการใช้กำลังอากาศยานปีกหมุนของไทยที่ต้องการ ฮ.โจมตีที่มีความคล่องตัวสูงและไม่จำเป็นต้องสามารถลำเลียงกำลังพลได้ แม้ว่า ฮ.Hind จะติดอาวุธพร้อมกับบรรทุกทหารได้ ๘นาย แต่มีความคล่องตัวต่ำและเริ่มล้าสมัยแล้วในสงครามยุคใหม่
ส่วนเฮลิคอปเตอร์โจมตี Kamov Ka-52(NATO กำหนดรหัส Hokum B)นั้นเป็น ฮ.โจมตีที่มีสมรรถนะสูงสุดทั้งความคล่องตัว ระบบตรวจจับ อาวุธ และเป็น ฮ.แบบเดียวในโลกที่นักบินสามารถสละเครื่องได้ด้วยเก้าอี้ดีดตัว ที่ได้ถูกนำไปใช้จริงที่ซีเรียแล้วเช่นกัน 
โดยรัสเซียได้ส่งออก Ka-52 ให้ลูกค้ารายแรกคือกองทัพอากาศอียิปต์ ๔๖เครื่องที่เครื่องชุดแรกในสายการผลิตทำการบินทดสอบแล้วและส่งมอบได้ภายในปี 2017 นี้(http://aagth1.blogspot.com/2017/06/ka-52k.html
แต่ก็เช่นเดียวกับ Mi-28 ที่ระบบอาวุธส่วนใหญ่ต้องจัดหามาใหม่หมด และอาจจะรวมถึงความเข้ากันได้กับระบบสื่อสารของกองทัพบกไทย นั่นทำให้การพิจารณาจัดหา ฮ.โจมตีจากรัสเซียจะต้องมองความเหมาะสมด้านการจัดการและสนับสนุนในภาพรวม

People's Liberation Army Ground Force new Z-10K Attack Helicopter at Zhuhai Airshow(Airshow China) 2016, November 2016

ตัวเลือกแบบสุดท้ายที่เพิ่งถูกกล่าวถึงเมื่อเร็วๆนี้คือ Changhe Aircraft Industries Corporation(CAIC) Z-10 ซึ่งเป็นเฮลิคอปเตอร์โจมตีแท้แบบแรกที่ออกแบบสร้างในจีน(มีข้อมูลว่า Kamov รัสเซียให้ความช่วยเหลือในการออกแบบ) 
หลังการทดสอบและพัฒนามาเป็นเวลานาน ฮ.โจมตี Z-10 ถูกนำเข้าประจำการในกองทัพบกกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนที่อ้างว่ามีการสั่งจัดหาเป็นจำนวนมากกว่า ๑๘๐เครื่อง และมีการพัฒนาเครื่องรุ่นใหม่ที่ออกมาต่อเนื่อง 
ฮ.Z-10 ติดตั้งเครื่องยนต์ Turboshaft WZ-9 สองเครื่อง ระบบอาวุธมีปืนใหญ่อากาศขนาด 30x165mm(ลอกแบบ 2A72 รัสเซีย), จรวดขนาด 57mm และ 90mm, อาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่อากาศ TY-90 ระยะยิง 6km, อาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่อากาศ PL-9 ระยะยิง 22km, 
อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้รถถัง HJ-10 หรือ AKD-10 ที่อ้างว่ามีระยะยิงถึง 10กิโลเมตรโดยมีระบบนำวิถีหลายแบบทั้งกล้อง TV, กล้องสร้างภาพ Infrared , Laser และ Radar 
รุ่นส่งออกของ HJ-10 คืออาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่พื้น Blue Arrow7 กับ Blue Arrow9 ที่ส่งออกให้กองทัพบกปากีสถาน อีกแบบหนึ่งคืออาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่พื้น AR-1 ที่เป็นอาวุธของอากาศยานรบไร้คนขับ(UCAV: Unmanned Combat Aerial Vehicle) CH-3 
เช่นที่ส่งออกให้กองทัพอากาศพม่า, ไนจีเรีย และปากีสถาน (สร้างเองในชื่อ Burraq) กับ CH-4 ที่ส่งออกให้อียิปต์ อิรัก และซาอุดิอาระเบีย (มีรุ่นที่พัฒนาในประเทศชื่อ Saqr1)

ถึงแม้ว่าในช่วงไม่กี่ปีหลังมานี้กองทัพบกไทยจะมีการจัดหาอาวุธจากจีนหลายโครงการ เช่น รถถังหลัก VT4 และยานเกราะล้อยาง VN1 แต่อากาศยานจีนนั้นยังไม่เคยได้รับการจัดหาโดยกองทัพไทยมาก่อน 
โดยเฉพาะอากาศยานรบที่ระบบอาวุธต้องจัดหาใหม่แทบทั้งหมด รวมถึงความเข้ากันได้กับระบบสื่อสารของกองทัพบกเช่นเดียวกับอากาศยานรบรัสเซีย 
รวมถึง Z-10 เองก็เป็น ฮ.โจมตีแบบเดียวในปัจจุบันที่ไม่เคยถูกนำไปปฏิบัติการรบจริง ด้านการส่งออกจีนได้ส่ง ฮ.Z-10 ให้กองทัพบกปากีสถานทดลองใช้ ๓เครื่อง 
แต่ทางปากีสถานเองก็ได้สั่งจัดหา ฮ.โจมตี AH-1Z และ ฮ.จู่โจม Mi-35M 4เครื่อง โดยยังไม่มีรายงานการสั่งซื้อ ฮ.โจมตี Z-10 กับจีนเพิ่มเติม 
ดังนั้นเฮลิคอปเตอร์โจมตี Z-10 จีน จึงอาจจะเป็นได้ทั้งม้ามืดและตัวเลือกไม่ค่อยเหมาะสมสำหรับกองทัพบกไทย


Royal Thai Army Bell 212 of 1st Air Mobile Company(now 1st Aviation Battalion, Aviation Regiment, Army Aviation Center) on flight deck of CVH-911 HTMS Chakri Naruebet Royal Thai Navy helicopter carrier

ทั้งนี้จากการฝึกซ้อมรบร่วมกองทัพไทยในช่วงไม่กี่ปีหลังมานี้ที่มีการนำกำลังอากาศยานของกองทัพอากาศไทย และรถถัง ยานเกราะของกองทัพบกไทยปฏิบัติการร่วมกับกองทัพเรือ 
ถ้าจะมีการฝึกให้กองทัพบกไทยนำเฮลิคอปเตอร์โจมตีของตนวางกำลังปฏิบัติการได้จาก ร.ล.จักรีนฤเบศร ก็จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการสนับสนุนปฏิบัติการอย่างการยกพลขึ้นบกได้มากถ้ากองทัพบกไทยเลือกจัดหา ฮ.โจมตีที่ออกแบบมาใช้งานร่วมกับเรือได้แต่แรก 
แม้ว่าการนำ ฮ.ขึ้นลงบนดาดฟ้าเรือจำเป็นต้องมีการฝึกบินเป็นการเฉพาะ ซึ่งนักบินของกองการบินทหารเรือจะได้รับการฝึกด้านนี้โดยตรง ขณะที่นักบินศูนย์การบินทหารบกมักจะไม่ได้มีการฝึกบินด้านนี้ 
แต่ที่จริงแล้วนักบิน ฮ.ของกองทัพเรือส่วนใหญ่มักจะจบหลักสูตรการบินจากโรงเรียนการบินทหารบก(กองทัพเรือไม่มีโรงเรียนการบินของตนเองต้องฝากฝึกกับเหล่าทัพอื่น) ฉะนั้นการจะให้นักบิน ทบ.ฝึกบินลงจอดดาดฟ้าเรือจึงเป็นเรื่องที่ทำได้และเคยมีการทำมาแล้ว 
โดย ฮ.โจมตีหลายแบบที่กล่าวมาทั้ง AH-64E กองทัพบกสหรัฐฯและกองทัพบกอังกฤษ, AH-1Z นาวิกโยธินสหรัฐฯ และ Ka-52K กองทัพเรือรัสเซีย ก็ได้รับการออกแบบให้สามารถปฏิบัติการบนดาดฟ้าบินของเรือได้

ขณะที่ ฮ.จ.๑ AH-1F ทั้ง ๗เครื่องใกล้ที่จะหมดอายุการใช้งานในอนาคตอันใกล้ ศูนย์การบินทหารบกจึงมีแผนความต้องการจัดหาเฮลิคอปเตอร์โจมตีแบบใหม่ทดแทนหนึ่งกองร้อยบินคือ ๘เครื่อง ตามที่มีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกแบบในข้างต้น
แต่อย่างไรก็ตามความต้องการอากาศยานปีกหมุนทดแทนในส่วนเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป และเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงนั้นมีความจำเป็นที่เร่งด่วนกว่า ฮ.โจมตีมาก 
ดังที่เห็นได้จาการจัดหา ฮ.ท.๗๒ UH-72A Dakota, ฮ.ท.๑๔๕ H145 และ ฮ.ท.๑๔๙ AW149 เพื่อทดแทน ฮ.เก่าที่จำเป็นต้องปลดประจำการไปทั้ง ฮ.ท.๑ UH-1H และ ฮ.ท.๒๐๖ Bell 206A Jet Ranger เป็นต้น 
ซึ่งการจัดหา ฮ.ใหม่ในช่วงสิบปีหลังมานี้ก็เป็นงบประมาณผูกพันแต่ละปีระยะเพียงชุดละ ๕-๖เครื่อง อีกทั้ง ฮ.โจมตีสมัยใหม่ของตะวันตกก็มีราคาแพงพอๆกับเครื่องบินรบไอพ่น คือเครื่องเปล่าเครื่องละ $30-35 million ขึ้นไป 
ถ้ามาพร้อมระบบอุปกรณ์และอาวุธครบอาจจะมีราคารวมทั้งโครงการเฉลี่ยเครื่องละถึง $65 million หรือมากกว่า ฮ.โจมตีรัสเซีย หรือ ฮ.โจมตีจีนอาจจะมีราคาถูกกว่าบ้างแต่ก็ไม่มากนักคือที่เครื่องละ $20 million ขึ้นไป 
ฉะนั้นด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณกลาโหมของกองทัพบกไทยในปัจจุบัน ก็ต้องติดตามว่าโครงการจัดหาเฮลิคอปเตอร์โจมตีใหม่ล่าสุดของกองทัพบกไทยนี้จะมีผลสรุปออกมาในแนวทางใดครับ