ความคืบหน้าล่าสุดหลังจากที่ผู้บัญชาการทหารอากาศ พลอากาศเอก ตรีทศ สนแจ้ง ไปทำภารกิจที่พระธาตุนภพลภูมิสิริ ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่นั้น
ผอ.ทอ.กล่าวว่ากองทัพอากาศได้รับการอนุมัติงบประมาณจากคณะรัฐมนตรีจำนวน ๓,๗๐๐ล้านบาท($112.67 million) สำหรับการจัดหาเครื่องบินฝึกใหม่ทดแทน บ.ขฝ.๑ L-39ZA/ART ฝูง๔๐๑ ชุดแรก ๔เครื่อง
ประเทศที่ส่งแบบเครื่องเข้าพิจารณามี ๕ประเทศเช่นเดิมคือ สหรัฐฯ อิตาลี เกาหลีใต้ รัสเซีย และจีน แต่เครื่องที่มีการคาดการณ์และกระแสข่าวมากว่าเป็นตัวเต็งคือ Alenia Aermacchi M-346 และ KAI T-50
เหตุผลที่ตัดเครื่องจีนเช่น Hongdu L-15 เข้าใจได้ไม่ยากครับ เพราะจากการที่จีนนำเครื่องมาแสดงสาธิตที่ไทยหลายครั้งในช่วง๒๐ปีมานี้
เจ้าหน้าที่ของกองทัพอากาศไทยดูไม่พอใจในสมรรถนะของอากาศยานรบจีนที่ล้าสมัยและคุณภาพการผลิตไม่ดีนัก ซึ่ง L-15 เองก็ยังมีความล่าช้าในการพัฒนาผลิตขึ้นเพียงไม่กี่เครื่องและยังไม่มีประเทศลูกค้าที่ชัดเจนในขณะนี้
ด้านเครื่องของสหรัฐฯก็เห็นจะมี Textron AirLand Scorpion ซึ่งตอนนี้มีเพียงเครื่องต้นแบบเพียงเครื่องเดียว มีประเทศที่สนใจบ้างเช่นสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
แต่แบบแผนของ Scorpion เป็น บ.โจมตีเบามากกว่า บ.ฝึกซึ่งทาง Textron AirLand มีแผนจะพัฒนา Scorpion รุ่นสำหรับฝึกบินในอนาคตโดยลดปีให้สั้นลงและใช้เครื่องยนต์แรงขับสูงขึ้น แต่ก็ยังไม่มีลูกค้าในขณะนี้
ฉะนั้นแบบแผนที่เป็นตัวเต็งก็มีแค่ M-346 กับ KAI T-50 เช่นเดิมอยู่ดีครับ
ถ้าดูแนวโน้มความต้องการของกองทัพอากาศที่ต้องการเครื่องในลักษณะเครื่องบินขับไล่ฝึกแล้ว ก็มีข่าวออกมามากกว่า KAI T-50 กำลังได้คะแนนนำอยู่ โดยมี M-346 ซึ่งกองทัพอากาศสิงคโปร์จัดหาไป ๑๒เครื่องตามมา
ซึ่ง บ.ตระกูล KAI T-50 ก็สามารถส่งออกให้กองทัพอากาศใน ASEAN หลายประเทศแล้ว เช่น T-50i(T-50)กองทัพอากาศอินโดนีเซีย ๑๖เครื่อง และ T-50PH(FA-50) กองทัพอากาศฟิลิปปินส์ ๑๒เครื่อง
ล่าสุดทางเกาหลีใต้เสนอ FA-50 ให้บรูไนตามที่เคยได้เสนอข่าวไปอีกประเทศ ซึ่งกองทัพอากาศบรูไนเคยมีแผนจะจัดหาเครื่องบินไอพ่นเข้าประจำการเช่น BAE Hawk มาก่อนแต่ก็ไม่ได้จัดหาเสียที
ซึ่งจะเห็นได้จากช่วงหลังมานี้กองทัพอากาศบรูไนอยู่ระหว่างการเสริมสร้างกำลังทางอากาศเป็นจำนวนมาก ทั้งการจัดหา ฮ.ลำเลียง S-70i(UH-60M ผลิตในโปแลนด์) ๑๒เครื่อง
เครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเล CN-235MPA ๓เครื่อง และเครื่องบินลำเลียง C-130J จากสหรัฐฯ ๑เครื่อง
อย่างไรก็ตามสำหรับ M346 และ KAI T-50 นั้นสำหรับงบประมาณจัดหาที่กองทัพอากาศได้รับเพียง ๓,๗๐๐ล้านบาทสำหรับ ๔เครื่องนั้นก็ไม่ทราบว่าจะเพียงพอหรือไม่
เพราะนอกจากตัวเครื่องยังต้องรวมถึงการจัดหาระบบสนับสนุน อะไหล่ และระบบการฝึกภาคที่ตั้งพื้นดินด้วย
โดยส่วนตัวเองก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมช่วงหลังมานี้กองทัพอากาศถึงเลือกรูปแบบการจัดหาอากาศยานมาทีละ ๒-๔เครื่อง แทนการจัดหามาทีละครึ่งฝูงอย่างโครงการ Gripen หรือเต็มฝูงไปเสียแต่ทีแรก
เพราะถ้าดูจากจำนวนความต้องการจัดหาเครื่องแทน L-39ZA/ART ในฝูง๔๐๑ ที่คาดว่าน่าจะอย่างน้อย ๑๒เครื่องแล้ว
การจัดหาจะต้องแบ่งเป็นอย่างน้อยสามระยะที่จะทยอยจัดหาทีละ ๔เครื่องจนกว่าจะครบฝูง ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ก็อีกนานกว่าจะครบฝูงครับและกว่าทั้งฝูงจะพร้อมรบเต็มอัตราก็นานหลายปีด้วย
ซึ่งดูเหมือนกับว่างบประมาณโครงการผูกผันต่อเนื่องที่อนุมัติให้กองทัพอากาศได้ในแต่ละปีงบประมาณสำหรับโครงการจัดหาอากาศยานนั้นน้อยลงไปอย่างมาก
ทั้งๆที่เป็นโครงการจำเป็นที่จะต้องแทนเครื่องเก่าที่ใช้งานมานานจนใกล้หมดอายุโครงสร้างอากาศยานและล้าสมัย ทั้ง ฮ.๑๑ EC725 แทน ฮ.๖ UH-1H และ L-39 ในโครงการนี้ที่จะใช้ต่ออีกไม่เกิน ๑๐ปี
ตรงนี้เป็นที่มาของการนำเสนอว่ากองทัพอากาศควรจะเลือก Yak-130 ซึ่งมีราคาถูกสามารถจัดหาได้หลายเครื่องกว่า M-346 และ KAI T-50 อีกทั้งยังเป็นเครื่องแบบแผนเดียวกับ M-346 หรือไม่
เพราะกองทัพอากาศก็ได้เลือกจัดหาเครื่องบินโดยสาร Sukhoi Superjet 100 ๓เครื่องสำหรับเป็นเครื่องรับส่งบุคคลสำคัญไปแล้ว
สำหรับเรื่องการจัดหา Sukhoi Superjet 100 นั้นตอนนี้เห็นมีแต่แหล่งข่าวจากสื่อต่างประเทศโดยเฉพาะรัสเซียที่นำเสนอมาเท่านั้นครับ แต่ทางกองทัพอากาศยังไม่ได้ออกมาประกาศหรือชี้เแจงใดๆอย่างเป็นทางการเลย
ซึ่งตอนที่ส่วนตัวได้ข่าวครั้งแรกนั้นแปลกใจมากครับ เพราะที่ผ่านมากองทัพอากาศจะจัดหาเครื่องบินโดยสารพระราชพาหนะและ VIP จากบริษัทตะวันตกมาตลอด
เช่นของ Boeing หรือ Airbus ในฝูง๖๐๒ รวมถึง ATR72 ในฝูง๖๐๓ก็เป็นของบริษัทยุโรปตะวันตก ตรงนี้อาจจะต้องรอติดตามข่าวความชัดเจนที่แท้จริงต่อไปว่าเป็นอย่างไร
ส่วนโอกาส Yak-130 ของในกองทัพอากาศไทยนั้นส่วนตัวมองว่ามีไม่มากถ้าเทียบกับตัวเต็งอย่าง M-346 และ KAI T-50 ครับ แต่ก็สูงกว่า Scorpion และ L-15
เหตุผลหลักคืออากาศยานรบระบบรัสเซียแท้นั้นดูจะไม่เหมาะกับกองทัพอากาศไทยครับ
ข้อมูลจากบทความในนิตยสาร Tango ฉบับเดือนธันวาคม ๒๕๕๗ ซึ่ง Yak-130 ขึ้นปกลงไว้ว่า
Yak-130 นั้นสามารถปรับแต่งการแสดงผลข้อมูลของจอ HUD และเครื่องวัดประกอบการบินในจอ MFD ให้แสดงผลแบบมาตรฐานเครื่องบินตะวันตกได้(เช่นแสดงหน่วยวัดเป็น Feet Knots เป็นต้น)
รวมถึงการเปลี่ยนระบบควบคุม HOTAS ให้ใช้ Joystick และ Throttle ที่เหมือนกับเครื่องบินขับไล่ตะวันตกแทนแบบรัสเซียด้วย
นั่นทำให้ Yak-130 สามารถใช้ในการฝึกนักบินพร้อมรบสำหรับกองทัพที่ใช้เครื่องขับไล่หลักเป็นระบบตะวันตกมาตรฐาน NATO อย่างกองทัพอากาศไทยที่ใช้ F-16 และ Gripen ได้
แต่อย่างไรก็ตามระบบอาวุธที่ติดตั้งกับเครื่องได้ก็ยังเป็นระบบรัสเซียเหมือนเดิม เพราะทางรัสเซียคงต้องการที่จะขายระบบอาวุธและอุปกรณ์ของตนเองมากกว่า
โดยระบบที่ใช้ร่วมกันได้กับ L-39 ก็เห็นจะมีแต่ปืนใหญ่อากาศ 23mm แฝดสองเท่านั้นที่ L-39ZA/ART ติดใต้เครื่องความจุ ๑๕๐นัด ส่วน Yak-130 เป็นกระเปาะ SNPU-130
นอกนั้นตั้งแต่ระเบิดตระกูล FAB, KAB จรวดอากาศสู่พื้น S-8 S-13 และอาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่อากาศ R-73E ต้องจัดหาจากรัสเซียใหม่หมด
จะใช้ระเบิดตระกูล Mk80s จรวด 2.75" FFAR และ AIM-9 Sidewinder ที่ L-39ZA/ART ใช้ในตอนนี้ไม่ได้เลย
ในขณะที่ M-346 และ KAI T-50 สามารถติดตั้งใช้งานระเบิด Mk80s จรวด 2.75" FFAR AIM-9 Sidewinder และ AGM-65 ที่กองทัพอากาศไทยมีใช้ได้ทั้งหมด
ซึ่ง M-346 นั้นยังติด IRIS-T ที่ Gripen C/D และ F-16A/B eMLU ติดตั้งใช้ได้ด้วย
แล้วการว่าจ้างให้บริษัทจากอิสราเอลทำการปรับปรุง Yak-130 ให้เป็นมาตรฐานตะวันตกเช่นเดียวกับที่เคยทำกับ บ.ขฝ.๑ L-39ZA/ART มาแล้วเล่า
ส่วนตัวมองว่าแนวทางนี้มีความเป็นไปได้น้อยมากครับ
กองทัพอากาศอิสราเอลนั้นได้เลือก M-346 เป็น บ.ฝึกไอพ่นและโจมตีเบาแบบใหม่แทน A-4 Skyhawk ที่ใช้มานานมาก โดยเพิ่งจะได้รับเครื่องชุดแรกจากโรงงานประมาณ ๒เครื่องในปีนี้
โดย M-346 ที่ประจำการในกองทัพอากาศอิสราเอลจะถูกเรียกว่า Lavi ซึ่ง Elbit และ IAI ได้รับสัญญาในการติดตั้งอุปกรณ์ย่อยต่างๆตามที่กองทัพอากาศอิสราเอลต้องการด้วย
ถึงแม้ว่า M-346 และ Yak-130 ทั้งสองแบบเมื่อมองจากภายนอกเครื่องทั้งสองแบบจะเหมือนกันมากเพราะมีที่มาจากแบบแผนเครื่องแบบเดียวจากความร่วมมือระหว่าง Yakolev และ Aermacchi ในช่วงปี 1990s
แต่ในความเป็นจริงนั้นถ้าลงไปในรายละเอียดภายในจะพบว่ M-346 มีการปรับเปลี่ยนแบบแผนภายในเครื่องต่างไปจาก Yak-130 ค่อนข้างมาก
ซึ่งตั้งแต่ Alenia Aermacchi ยุติความร่วมมือกับ Irkut/Yakolev ในช่วงปี 2000s การพัฒนา Yak-130 กับ M-346 ก็เริ่มแยกออกจากกันนับแต่นั้น
โดยเครื่องทั้งสองแบบมีโครงสร้างภายในทั้งในส่วนเครื่องยนต์และระบบ Avionic Cockpit และระบบควบคุมที่แตกต่างกันตามความต้องการของกองทัพอากาศรัสเซียและกองทัพอากาศอิตาลี
ดังนั้นถ้าให้บริษัทอิสราเอลมาทำการปรับปรุง Yak-130 ให้ใช้ระบบ Avionic และระบบอาวุธตะวันตกจะเป็นคนละงานกับการติดตั้งระบบกับ M-346 ไม่เหมือนกันเลยเสียทีเดียว
ทั้งนี้ทางรัสเซียเองก็มีนโยบายที่ต่างไปจากสาธารณรัฐเชคที่ Aero Vodochody ร่วมพัฒนากับ Elbit อิสราเอลพัฒนา L-39ZA/ART ขายให้กองทัพอากาศไทย ๓๖เครื่องเมื่อปี ๒๕๓๗ ด้วย
เพราะตอนนั้นเชคมีนโยบายเข้าหาตะวันตกหลังการทำลายกำแพง Berlin และการล่มสลายของสหภาพโซเวียตแล้ว ซึ่งเครื่องที่พัฒนาต่อมาคือ L-159 ก็เป็นระบบตะวันตกทั้งเครื่อง
แต่ในส่วนเครื่องของรัสเซียที่ใช้ระบบตะวันตกบางส่วนติดตั้งกับเครื่องไม่ว่าจะเป็น Su-30MKI ของอินเดียที่มีระบบของอิสราเอลในเครื่อง หรือ Su-30MKM ของมาเลเซียที่ติดตั้งระบบของ Thales เป็นต้นนั้น
ทั้งหมดเป็นเครื่องที่สร้างโดยบริษัท Irkut Corporation เจ้าของเดียวกับ Yak-130 ซึ่งไม่มีเครื่องไหนเลยที่สามารถติดตั้งระบบอาวุธตะวันตกได้ โดยยังใช้ระบบอาวุธของรัสเซียเช่นเดิม
และด้วยสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตกในปัจจุบัน ความร่วมมือด้านการบูรณาการระบบถึงจะให้อิสราเอลทำคงจะเป็นไปได้ยากด้วย
ทั้งหมดที่กล่าวมาถ้ากองทัพอากาศไทยเลือกที่จะจัดหา Yak-130 จริงก็คงจะถูกกองทัพอากาศกำหนดแบบเป็น บ.ฝ.๒๑ ครับ เพราะคงจะใช้เป็น บ.ฝึกอย่างเดียวไม่ติดอาวุธสำหรับภารกิจโจมตีเหมือน บ.ฝ.๑๙ PC-9
แต่กองทัพอากาศต้องการเครื่องบินฝึกขับไล่ที่ทำภารกิจโจมตีเป็นภารกิจรองได้ด้วย(น่าจะกำหนดแบบเป็น บ.ขฝ.๒) เพราะฉะนั้นตัวเลือกที่มีโอกาสสูงและเหมาะสมกว่ายังคงเป็น KAI T-50 กับ M-346 มากกว่าอยู่ดี
ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลที่ Yak-130 อาจจะไม่เหมาะกับกองทัพอากาศไทยครับ