วันอังคารที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

กองทัพเรือไทยทำพิธีปล่อยเรือปฏิบัติการอุทกศาสตร์ลำใหม่ หมายเลขเรือ 822 ลงน้ำ








Royal Thai Navy (RTN) held launching ceremony of the new Hydrographic Vessel (822) at Asian Marine Service PCL (ASIMAR) shipyard in Laem Pha Pha Subdistrict, Phra Samut Chedi District, Samut Prakan Province, Thailand on 19 May 2025. (Royal Thai Navy) 

กองทัพเรือจัดพิธีปล่อยเรือปฏิบัติการอุทกศาสตร์ลำใหม่ลงน้ำ เพื่อทดแทนเรือหลวงสุริยะที่จะปลดระวางประจำการ
วันนี้ (19 พฤษภาคม 2568) พลเรือเอก จิรพล  ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีปล่อยเรือปฏิบัติการอุทกศาสตร์ลงน้ำ ณ อู่ต่อเรือ บริษัท เอเชี่ยนมารีนเซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ 
สำหรับลำดับพิธีที่สำคัญประกอบด้วย พิธีเจริญพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล จากนั้นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชี่ยนมารีน เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กล่าวให้การต้อนรับ ประธานกรรมการร่วมฯ กล่าวรายงาน ผู้บัญชาการทหารเรือกล่าวเพื่อเป็นเกียรติในพิธี 
จากนั้น พลเรือตรีหญิง ดอกเตอร์ ทันตแพทย์หญิง จีระวัฒน์ กฤษณพันธ์ ว่องวิทย์ นายกสมาคมภริยาทหารเรือ กล่าวเชิญมิ่งขวัญและมงคลสู่เรือ ก่อนทำพิธีเจิมปิดทองคล้องพวงมาลัย ผูกผ้าสามสี โปรยข้าวตอกดอกไม้ และประพรมน้ำพระพุทธมนต์แผ่นป้ายชื่อเรือตามลำดับ 
ในเวลา 13:39 น. นายกสมาคมภริยาทหารเรือ ได้ตัดเชือกปล่อยเรือปฏิบัติการอุทกศาสตร์ลงน้ำโดยพระสงฆ์เจริญชัยมงคาถา วงดุริยางค์ทหารเรือบรรเลงเพลงมหาฤกษ์

โครงการจัดหาเรือปฏิบัติการอุทกศาสตร์ Hydrographic Vessel เป็นการจัดหาเรือปฏิบัติการอุทกศาสตร์จำนวน 1 ลำ เพื่อทดแทนเรือหลวงสุริยะ ที่จะปลดระวางประจำการ โดยจะทำหน้าที่ในการตรวจซ่อมบำรุงเครื่องหมายทางเรือในน่านน้ำไทย เช่น ประภาคาร กระโจมไฟ และทุ่น ที่ติดตั้งตามชายฝั่งทะเลและเกาะ รวมถึงบริเวณอันตรายต่างๆ 
เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยให้กับการคมนาคมขนส่งทางทะเลและการพาณิชยนาวีของประเทศและยังสามารถสนับสนุนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลอีกด้วย
สำหรับเรือปฏิบัติการอุทกศาสตร์ลำนี้มีความยาวตลอดลำ 60 เมตร ความกว้างสูงสุดของเรือ 13.3 เมตร กินน้ำลึกสูงสุด 3.05 เมตร ระวางขับน้ำ 1,460 ตัน และมีความคงทนทะเลที่ Sea State 5 ทำความเร็วสูงสุดต่อเนื่อง 13.1 นอต ความเร็วมัธยัสถ์ 10 น็อต โดยมีระยะปฏิบัติการ 2,400 ไมล์ทะเล กำลังพลประจำเรือ 67 นาย 
ซึ่งได้มีการลงนามสัญญาจ้างสร้างเรือโดยบริษัท เอเชี่ยนมารีนเซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการ เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2566 นับได้ว่าเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการต่อเรือภายในประเทศ อีกทั้งยังเป็นการประหยัดงบประมาณมากกว่าการจัดหาจากต่างประเทศ และในส่วนของพิธีวางกระดูกงูเรือ จัดให้มีขึ้นเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 โดยจะมีกำหนดส่งมอบให้แก่กองทัพเรือในห้วงเดือนตุลาคม 2568

สำหรับพิธีปล่อยเรือลงน้ำ เป็นพิธีที่มีมาตั้งแต่ครั้นโบราณกาล เมื่อถึงเวลาปล่อยเรือเดินทะเลลงน้ำจะต้องทำพิธีเพื่อให้เกิดสวัสดิมงคลแก่ตัวเรือเสียก่อน ในสมัยปัจจุบันพิธีปล่อยเรือลงน้ำแบบสากล ให้สุภาพสตรีเป็นผู้ประกอบพิธี โดยการปล่อยขวดแชมเปญให้กระทบหัวเรือ 
การนี้สืบเนื่องมาจากการดื่มอวยพรด้วยถ้วยเงิน เมื่อดื่มแล้วก็ขว้างถ้วยขึ้นไปบนเรือปรากฏว่าสิ้นเปลืองมาก จึงเปลี่ยนเป็นขว้างขวดกับหัวเรือแทน คราวหนึ่งสุภาพสตรีผู้ประกอบพิธีได้ขว้างขวดแชมเปญไม่ถูกหัวเรือ แต่กลับไปถูกแขกที่มาในงานพิธีได้รับบาดเจ็บ จึงได้ใช้เชือกผูกคอขวดเสียก่อนเสมอ 
จนถึงปัจจุบันนี้พิธีปล่อยเรือลงน้ำของราชนาวี เฉพาะที่มีหลักฐานปรากฏในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพิธีปล่อยเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลงน้ำ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2454 ส่วนเรือหลวงที่สร้างจากต่างประเทศที่มีหลักฐานปรากฏ ได้แก่ เรือหลวงเสือคำรณสินธุ์ ประเภทเรือพิฆาต มีพิธีปล่อยเรือลงน้ำ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2453 ณ อู่กาวาซากิ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น 
สำหรับเรือหลวงตัวเรือเป็นเหล็ก สร้างโดย กรมอู่ทหารเรือ ที่มีพิธีปล่อยเรือลงน้ำเป็นครั้งแรก คือ เรือหลวงสัตหีบ (ลำที่ 1) ซึ่งมี คุณหญิงวิจิตรา  ธนะรัชต์ ภริยา จอมพล สฤษดิ์  ธนะรัชต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (ในขณะนั้น) เป็นสุภาพสตรีผู้ประกอบพิธีปล่อยเรือลงน้ำ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2500

กองประชาสัมพันธ์ 
สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ

กองทัพเรือไทย(RTN: Royal Thai Navy) ได้ทำพิธีปล่อยเรือปฏิบัติการอุทกศาสตร์ลำใหม่ทดแทน เรือหลวงสุริยะ(ลำที่๒) ณ อู่ต่อเรือของ บริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน)(ASIMAR: Asian Marine Service PCL) ไทย ในตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๘(2025) นั้น
ตรงกับ "วันอาภากร" ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ "องค์บิดาของทหารเรือไทย" และปี พ.ศ.๒๕๖๘ นี้ยังตรงกับ แรม ๘ค่ำ เดือน๖ "วันอัฏฐมีบูชา" คือวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า(หลัง "วันวิสาขบูชา" แปดวัน) ด้วย

กองทัพเรือไทยได้ลงนามสัญญาการสร้างเรือปฏิบัติการอุทกศาสตร์ วงเงิน ๘๘๕,๐๐๐,๐๐๐บาท($24,552,298.35) กับบริษัท ASIMAR ไทยเมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๖(2023) โดยได้มีการทำพิธีวางกระดูกงูเรือเมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๗(2024) ณ อู่เรือ ASIMAR ไทยเช่นกัน(https://aagth1.blogspot.com/2024/02/oceanographic.html)
เรือปฏิบัติการอุทกศาสตร์ลำใหม่ได้ถูกนำลงสู่น้ำเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๘ ก่อนได้รับการทำสีตัวเรือและหมายเลขเรือ "822" ที่เห็นในพิธีปล่อยเรือลงน้ำล่าสุด ตามกำหนดส่งมอบเรือภายใน ๗๖๐วันหลังลงนามสัญญาคาดว่าเรือเข้าสู่การทดลองเรือหน้าท่า(HAT: Harbor Acceptance Test) ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๘ ตามด้วยการทดลองเรือในทะเล(SAT: Sea Acceptance Trial) ในเดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๖๘ 

และส่งมอบเรือในเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๘ เพื่อทดแทน ร.ล.สุริยะ(ลำที่๒) ที่สร้างโดยบริษัทอู่กรุงเทพ(Bangkok Dock) ไทย โดยสั่งสร้างในปี พ.ศ.๒๕๑๙(1976) เป็นวงเงิน ๕๒,๕๑๗,๐๐๐บาทในเวลานั้น มีพิธีวางกระดูกงูเรือเมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๙ และขึ้นระวางประจำการเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๒(1979) รวมอายุการใช้งานราว ๔๖ปี ซึ่งแสดงถึงการส่งเสริมอุตสาหกรรมต่อเรือในไทยอย่างต่อเนื่อง
กองทัพเรือไทยขอกรมศิลปากรและสำนักงานราชบัณฑิตยสภารวมพิจารณาในการขอพระราชทานชื่อเรือจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯสามชื่อคือ "เรือหลวงสุริยะ(ลำที่๓)", "เรือหลวงอาภากร" ซึ่งมีความหมายถึงดวงอาทิตย์เช่นเดียวกับคำว่า "สุริยะ", และ "เรือหลวงแก้วโกสินทร์" ตามดาวเคราะห์แก้วโกสินทร์ ที่สหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ(IAU: International Astronomical Union) ประกาศรับรองในปี พ.ศ.๒๕๖๖ ครับ