วันพุธที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ความคืบหน้าโครงการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพไทยในปี ๒๕๖๐-๑๐


Royal Thai Army have delivered first batch of new 28 VT4(MBT-3000) Main Battle Tanks from NORINCO.
VT4 MBT was transfered to RTA Cavalry Center, Fort Adisorn, Saraburi for trial and acceptance, before transited to commissioned at 6th Cavalry Battalion, 6th Cavalry Regiment, 3rd Cavalry Division, Khon Kaen.
https://www.facebook.com/andrei.btvt

กองทัพบกไทยได้รับมอบรถถังหลัก VT4 ที่ผลิตโดย NORINCO สาธารณรัฐประชาชนจีน ชุดแรก ๒๘คัน โดยทำการขนส่งมาเรือถึงท่าเรือทุ่งโปร่ง สัตหีบ ชลบุรี
ก่อนเคลื่อนย้ายมาโดยรถพ่วงชานต่ำมายัง ศูนย์การทหารม้า ค่ายอดิศร สระบุรี เพื่อทำการทดลองและตรวจรับมอบรถ ก่อนจะเคลื่อนย้ายไปเข้าประจำการที่ กองพันทหารม้าที่๖ กรมทหารม้าที่๖ กองพลทหารม้าที่๓ ขอนแก่น
โดยจะมีการโอนย้ายรถถังเบา ถ.๓๒ Stingray จาก ม.พัน.๖ ไป กองพันทหารม้าที่๙ กองพลทหารราบที่๔ แทนรถถังเบา M41A3 ซึ่งจะปลดประจำการลง (ในภาพข้างต้นจะเห็นได้ว่ารถถังหลัก VT4 ทุกคันมีการแขวนพวงมาลัยเชิญแม่ย่านางรถมาสถิตแล้ว)
กองทัพบกไทยได้มีการสั่งจัดหารถถังหลัก VT4 ระยะที่๑ จำนวน๒๘คัน วงเงิน ๔,๙๘๔ล้านบาท($147 million) ในปี พ.ศ.๒๕๕๙(2016) ต่อมาสั่งจัดหาระยะที่๒ จำนวน ๑๑คันวงเงินประมาณ ๒,๐๐๐ล้านบาท($60 million)ในปี พ.ศ.๒๕๖๐(2017) รวมเป็น ๓๙คัน
ราคาต่อคันตามที่ พันเอก วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบกระบุคือ ๑๗๒ล้านบาท($5.2 million) และคาดว่าในปี พ.ศ.๒๕๖๑(2018)จะมีการสั่งจัดหาในระยะที่๓ อีก ๑๐คันเพื่อให้ครบ ๑กองพัน จำนวน ๔๙คัน(รถถังยุคใหม่อย่าง K2 Black Panther เกาหลีใต้ราคาสูงถึงคันละ $7.5 million แล้ว http://aagth1.blogspot.com/2017/10/k2-black-panther.html)

Royal Thai Army M48A5 21st Cavalry Battalion, 6th Infantry Division

มีข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนการปรับโครงสร้างอัตราจัดกำลังเหล่าทหารม้าด้วยครับว่า ในส่วนของกองทัพภาคที่๒ นั้นจะมีการโอนย้ายกองพันทหารม้ารถถังในกองพลทหารราบไปเป็นหน่วยขึ้นตรงของกองพลทหารม้าที่๓
ซึ่งประกอบด้วย กองพันทหารม้าที่๒๑ กองพลทหารราบที่๖ ที่ใช้รถถังหลัก M48A5 และกองพันทหารม้าที่๘ ที่ใช้รถถังเบา M41A3 จะถูกโอนย้ายไปเป็นหน่วยขึ้นตรง พล.ม.๓ เข้าใจว่าน ม.พัน.๖ และ ม.พัน.๒๑ น่าจะเป็นหน่วยขึ้นตรงใน กรมทหารม้าที่๖
ม.๖ ตามอัตราจัดกรมทหารม้าแบบที่๑ ประกอบด้วย ๒กองพันทหารม้ารถถัง และ ๑กองพันทหารม้าบรรทุกยานเกราะ โดย กรมทหารม้าที่๗ ซึ่งจัดตั้งขึ้นใหม่จะเป็นกรมทหารม้าแบบที่๒ มี ๑พัน.ม.ถ. และ ๒ พัน.ม.(ก.)(http://aagth1.blogspot.com/2015/05/blog-post_30.html)
โดยตามแผนจะมีการโอน ถ.หลัก M48A5 จาก ม.พัน.๒๑ ไป กองพันทหารม้าที่๑๖ กองพลทหารราบที่๕ แทน ถ.เบา M41A3 เช่นเดียว ม.พัน.๘ ที่จะปลดและจัดหารถถังใหม่แทน ซึ่งจำนวนรถถังในกองพันทหารม้ารถถังจะปรับเหลือเพียง ๓๐คัน จากเดิม ๔๙คัน ลงมาเป็น๔๔คัน
ตรงนี้มองว่าเป็นไปได้มากว่าตามอัตราจัดกำลังเหล่าทหารม้าใหม่นั้น พัน.ถ.ใน พล.ร.อาจจะหายไป ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าจะรวมถึงกองร้อยทหารม้าลาดตระเวน และกองพันทหารม้าลาดตระเวน ในกองพลทหารรราบด้วยหรือไม่ครับ

อย่างไรก็ตามนอกจากที่การรับมอบรถถังหลัก VT4 ถูกยกนำมาเป็นประเด็นโจมตีกองทัพบกโดยผู้ไม่หวังดีต่อชาติบ้านเมืองและสื่อไร้จรรยาบรรณต่างๆที่ใช้การสร้างข้อมูลเท็จซ้ำซากขึ้นมาบ่อยครั้ง เช่นหาว่าเป็นรถถังเก่ามือสองที่จีนหลอกขายไทยจึงส่งมอบได้รวดเร็ว
ทั้งที่ความเป็นจริงเป็นรถถังประกอบใหม่จากโรงงานซึ่งเป็นรุ่นใหม่ล่าสุด โดยจีนมีขีดความสามารถด้านการผลิตสูงมากตามที่ได้เคยรายงานไป(http://aagth1.blogspot.com/2017/07/vt4-norinco.html)
สื่อกระแสหลักส่วนหนึ่งก็พยายามที่จะเข้าทำข่าวถ่ายรูปภายในค่ายทหารซึ่งถือเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมด้านความมั่นคงของประเทศ แต่อีกทางหนึ่งชุดภาพต่างๆที่เผยแพร่ออกมานั้นก็มาจากเจ้าหน้าที่ภายในกองทัพบกเอง(อะไรที่ใส่ลงไปใน Internet แล้วจะเอาคืนภายหลังไม่ได้)
ซึ่งนี่เป็นอีกกรณีที่กองทัพไทยจำเป็นต้องมีการตื่นตัวในการรับมือการเปลี่ยนแปลงของการเผยแพร่ความลับทางทหารในยุคสมัยใหม่
และนับเป็นโครงการจัดหารถถังหลักใหม่จากโรงงานที่มีวงเงินน้อยมากที่ต้องแบ่งเป็นการทยอยจ่ายในหลายปีเนื่องจากข้อจำกัดของงบประมาณกลาโหมไทยที่น้อยไม่ตรงกับสภาพความจริง เมื่อเทียบกับกองทัพต่างประเทศที่สั่งครั้งเดียว ๕๐-๑๐๐กว่าคัน วงเงินไม่ต่ำกว่า $300-500 million ครับ

AH-1F and AH-1F EDA of 3rd Aviation Battalion, Aviation Regiment, Army Aviation Center, Royal Thai Army(https://www.facebook.com/ball.kittidej)

สำหรับความคืบหน้าโครงการจัดหาเฮลิคอปเตอร์โจมตีแบบใหม่ของกองทัพบกไทยเพื่อทดแทน ฮ.จ.๑ AH-1F ๗เครื่อง กองพันบินที่๓ กรมบิน ศูนย์การบินทหารบก 
ซึ่งมีอายุการใช้งานนานและหลายเครื่องมีสภาพไม่สมควรเดินอากาศ เช่นเดียวกับเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป ฮ.ท.๑ UH-1H ที่จะปลดประจำการทั้งหมดเนื่องจากอะไหล่ที่หลายส่วนใช้ร่วมกันได้ปิดสายการผลิตไปแล้วนั้น
ก็เป็นไปตามที่รัฐมนตรีกลาโหม พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ และผู้บัญชาการทหารบก พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท ชี้แจงต่อสื่อไปครับว่าขณะนี้ยังไม่ได้การเลือกแบบใดๆ ซึ่งขั้นตอนการพิจารณาและเสนออนุมัติจะเป็นไปตามปกติซึ่งต้องใช้เวลานานพอสมควร
ทั้งนี้ก็ได้ข้อมูลมาอีกทางครับว่าทาง ศบบ.จะมีการประเมินสภาพของ AH-1F ว่ายังสามารถทำการซ่อมบำรุงเพื่อให้ใช้งานต่อไปอีกระยะได้หรือไม่ ซึ่งถ้าประเมินแล้วว่าไม่คุ้มที่จะใช้ต่อ คณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นถึงจะดำเนินการจัดหา ฮ.โจมตีใหม่ต่อไปครับ

Royal Thai Navy announce procurement of one Medium Tug Boat and two Coastal Patrol Craft 

Model of Marsun T.111-class Multi-role patrol boat  or M36 Patrol Boat(My Own Photo)

เอกสารจากศูนย์ข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างและราคากลางกองทัพเรือเมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๐(2017) ประกาศถึงสองโครงการจัดหาใหม่ของ  สำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์ทหารเรือ คือ 
โครงการจัดหาเรือลากจูงขนาดกลางใหม่ ๑ลำ วงเงิน ๓๕๐ล้านบาท และโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ๒ลำ ในงบประมาณปี พ.ศ.๒๕๖๑-๒๕๖๓(2018-2020) วงเงิน ๔๗๕ล้านบาท
แน่นอนว่าเรือลากจูงใหม่ ๑ลำนั้นก็มีความจำเป็นต้องนำมาทดแทนเรือเก่าที่มีอายุการใช้งานมานาน ส่วนเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งนั้นก็เป็นม้างานกำลังหลักหนึ่งของ กองเรือยามฝั่ง กองเรือยุทธการ กองทัพเรือ

โดยเอกสารมีการอ้างอิงถึงเรือสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือชุดเรือ ต.๑๑๑ คือแบบเรือ M36 Patrol Boat ของบริษัท Marsun ไทย จึงอาจจะเป็นแบบเรือ ตกฝ.ใหม่ที่พัฒนาจาก ต.๑๑๑ ที่มีประจำการแล้ว ๓ลำคือเรือ ต.๑๑๑, ต.๑๑๒ และ ต.๑๑๓ 
ส่วนเรือลากจูงขนาดกลางก็น่าจะเป็นการสร้างเรือลากจูงชั้น ร.ล.ปันหยี ลำที่๒ ที่สร้างโดยบริษัท ITALTHAI Marine ออกแบบโดย บริษัท Robert Allan Ltd., Naval Architects and Marine Engineering แคนาดา(http://aagth1.blogspot.com/2016/10/blog-post_43.html)
มองว่าทั้งสองโครงการจะเป็นการต่อเรือโดยบริษัทของไทยเองที่เป็นการเสริมสร้างความมั่นคงอย่างมาก ในการพึ่งพาตนเองของภาคอุตสาหกรรมทางเรือเอกชนและกองทัพเรือไทยครับ

Royal Thai Marine Corps, Royal Thai Navy's HMV-150 upgraded of V-150 4x4 by Panus Assembly Co.,Ltd Thailand for field test at Narathiwat has equipped with M2 .50cal(12.7x99mm) Heavy Machinegun and MG3 7.62x51mm Machinegun on turret

นาวิกโยธินพร้อมใช้งาน HMV-150....ทหารนาวิกโยธินกับรถเกราะล้อยาง HMV-150 ซึ่งติดตั้งอาวุธเรียบร้อยแล้ว ที่ค่ายจุฬาภรณ์ จ.นราธิวาส ระหว่างฝึกอบรมการใช้งาน จากนี้ไปจะนำรถ HMV-150 ออกปฏิบัติการในพื้นที่ภาคใต้ต่อไป..."HMV-150 เกราะป้องกันทหารนาวิกโยธิน"





Royal Thai Marine Corps, Royal Thai Navy's new PHANTOM 380-X1 Cobra 4x4 by Panus Assembly Co.,Ltd Thailand in field operation at Narathiwat

รถหุ้มเกราะ Phantom 380X1 ของนย.ปฏิบัติงานในภาคใต้......ภาพที่เห็นนี้เป็นการปฏิบัติงานของทหารนาวิกโยธินในจังหวัดนราธิวาสโดยการใช้รถลำเลียงพลหุ้มเกราะป้องกันระเบิด Phantom 380 X1 สร้างโดยบริษัท พนัส แอสเซมบีย์ จำกัด 
ซึ่งกองทัพเรือได้จัดหามาใช้งานจำนวนหนึ่งและสามารถใช้งานได้ดีมาจนถึงปัจจุบัน โดยกองทัพเรือมีแผนจัดหามาใช้งานเพิ่มเติมอีกในเร็วๆนี้

ตามที่หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธิน กองทัพเรือไทยนำรถหุ้มเกราะล้อยาง HMV-150 ที่บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ ทำการปรับปรุงจากรถหุ้มเกราะล้อยาง V-150 4x4 ที่ประจำการใน กองร้อยยานเกราะ กองพันรถถัง กองพลนาวิกโยธิน มาก่อน วางกำลังที่จุฬาภรณ์ จังหวัดนราธิวาสนั้น
จะเห็นได้ว่าระบบอาวุธที่ได้รับการติดตั้งป้อมปืนเป็นระบบมาตรฐานเดิมที่ใช้ในรถเกราะ V-150 ก่อนที่จะได้รับการปรับปรุงคือ ปืนกลหนัก M2 .50cal(12.7x99mm) และปืนกลเอนกประสงค์ MG3 7.62x51mm NATO เช่นเดียวกับ V-150 ของตำรวจตระเวนชายแดน
ซึ่งอาวุธลักษณะนี้เพียงพอต่อการใช้กำลังในการรักษาความสงบจากกลุ่มก่อความไม่สงบ ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องมีอาวุธหนักสำหรับสงครามตามแบบอย่างปืนใหญ่กลขนาด 20mm-30mm ขึ้นไปแต่อย่างใด

รถหุ้มเกราะล้อยาง Phantom 380-X1 ที่เป็นอีกผลิตภัณฑ์ของบริษัทพนัสที่เข้าประจำการในนาวิกโยธินไทย กองทัพเรือไทย ที่ชายแดนภาคใต้แล้วและกำลังจะจัดหาเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่ง
ก็จะเห็นได้จากชุดภาพข้างต้นที่มีการนำไปปฏิบัติการจริงที่นราธิวาสว่า ด้านหน้าของตัวรถมีการติดตั้งเครื่องกวาดตะปูเรือใบ ซึ่งเป็นยุทธวิธีที่ผู้ก่อความไม่สงบใช้ขัดขวางยานยนต์ล้อยางของเจ้าหน้าที่
จึงเป็นที่ชัดเจนว่านาวิกโยธิน กองทัพเรือไทยมีความพยายามในการนำรถหุ้มเกราะป้องกันทุ่นระเบิด MRAP(Mine Resistant Ambush Protected) มาใช้งานในพื้นที่ ที่เป็นระบบที่บริษัทของไทยพัฒนาเองครับ

Royal Thai Air Force former L-39ZA/ART of 401st Squadron Wing4 Takhli was transited to combine unit in 411st Squadron Wing41 Chiang Mai, 5 October 2017

นาวาอากาศเอก สุนทร ผ่องอำไพ ผู้บังคับการกองบิน ๔๑ เป็นประธานในพิธีการรับโอนเครื่องบินขับไล่และฝึกแบบที่ ๑ (บ.ขฝ.๑) L-39 ZA/ART จาก ฝูงบิน ๔๐๑ กองบิน ๔ ตาคลี นครสวรรค์ มาสังกัด ฝูงบิน ๔๑๑ กองบิน ๔๑ เชียงใหม่ 
และพิธีทำบุญวันคล้ายวันสถาปนา ฝูงบิน ๔๑๑ กองบิน ๔๑ เชียงใหม่ ณ ลานจอดอากาศยาน ฝูงบิน ๔๑๑ กองบิน ๔๑ เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๖๐ 

เครื่องบินขับไล่และฝึก บ.ข.๑ L-39ZA/ART ฝูงบิน๔๐๑ กองบิน๔ ตาคลีที่ยังคงประจำการอยู่ก็ได้มีการรับโอนเครื่องมารวมที่ฝูงบิน๔๑๑ กองบิน๔๑ เชียงใหม่ ที่จะเป็นฝูงบินเดียวและฝูงบินสุดท้ายที่จะประจำการ L-39 (จำนวนที่เปิดเผยได้น้อยกว่า ๒๔เครื่อง แต่มากกว่า ๑๒เครื่อง)
โดย บ.ข.L-39ZA/ART ที่กองทัพอากาศไทยจัดหาจากสาธารณรัฐเชคจำนวน ๓๖เครื่อง ที่ได้รับการปรับปรุงระบบอาวุธและ Avionnic ให้เป็นมาตรฐาน NATO โดยบริษัท Elbit อิสราเอล ซึ่งเข้าประจำการตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๗(1994) ต่อมาจัดหาเพิ่มอีก ๔เครื่องรวม ๔๐เครื่องนั้น
จากเดิมที่ประจำการในฝูงบิน๑๐๑ และฝูงบิน๑๐๒ กองบิน๑ กับ ฝูงบิน๔๐๑ โคราชก็มีการยุบฝูงโอนย้ายเครื่องไปรวมฝูงและย้ายฝูงหลายครั้งจนเหลือเพียงฝูงบิน๔๑๑ที่ประจำการ L-39 โดยมีเครื่องจำนวนหนึ่งที่ปลดประจำการจำหน่ายออก หรือนำมาตั้งแสดงที่พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศแล้ว
ทั้งนี้ฝูงบิน๔๐๑ จะได้รับมอบเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่  KAI(Korea Aerospace Industries) T-50TH จากสาธารณรัฐเกาหลีระยะที่๑ ชุดแรก ๔เครื่องในเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๖๑(2018) และอีกระยะที่๒ อีกชุด ๘เครื่องในอนาคตตามแผนที่กองทัพอากาศไทยวางไว้ครับ

แต่ถ้าจะว่ากันโดยตรงในภาพรวมแล้ว เฉพาะการจัดหาอากาศยานตามความต้องการในแต่ละเหล่าทัพนั้น เห็นได้ชัดว่างบประมาณกลาโหมของไทยที่ได้รับมาในช่วงหลายปีมานี้ถึงจะเพิ่มขึ้นแต่ไม่ได้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงนัก
ตัวอย่างเช่นโครงการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไปแบบต่างๆของกองทัพบกไทยและเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงของกองทัพเรือไทยและกองทัพอากาศไทยที่แต่ละแบบจัดหามาไม่เกิน ๔-๖เครื่องในแต่ละปีงบประมาณโดยส่วนมากเป็น งป.ผูกพันต่อเนื่องระยะเวลา ๓ปี
รวมถึงการจัดหาเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ T-50TH ที่แบ่งการจัดหาเป็น ๓ระยะที่กว่าจะครบฝูง ๑๖เครื่องต้องใช้เวลารวมไม่ต่ำกว่า ๕-๖ปี ก็แสดงให้เห็นว่างบประมาณกลาโหมของไทยนั้นนั้นยังจัดว่าน้อยมากไม่สอดคล้องกับราคาอาวุธยุทโธปกรณ์ในตลาดโลกที่แพงขึ้นเรื่อยๆมาก
จะเห็นได้จากที่รายงานการจัดหาอาวุธของประเทศอื่นไม่ว่าเครื่องบินหรือเฮลิคอปเตอร์ที่ส่วนใหญ่จัดหาทีเดียวหลายสิบเครื่องขึ้นไป การที่ผู้ที่ไม่รู้จริงและไม่หวังดีต่อชาติบ้านเมืองมักบอกบ่อยๆว่า งป.กลาโหมไทยสูงเกินไปน่าจะตัดลดไปแบ่งไปให้หน่วยอื่นนั้นจึงไม่ได้ตรงกับความจริงเลยครับ