วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

Defense & Security 2015: อุตสาหกรรมและงานวิจัยพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ของไทย-๒

งานแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ Defense & Security 2015 ซึ่งจัดขึ้นที่ IMPACT Hall 6-8 เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ ๒-๕ พฤศจิกายนนั้น
ยังมีการจัดแสดงผลงานวิจัยพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ในส่วนของกองทัพและหน่วยงานของกระทรวงกลาโหมที่มาจัดแสดงในงานอีกหลายโครงการครับ



โครงการชุดเกราะกันกระสุนแบบบูรณาการ ของกรมสรรพาวุธทหารเรือ และกรมสารวัตรทหารเรือ
ประกอบด้วยเสื้อเกราะกันกระสุนสะเทินน้ำสะเทินบก(เสื้อเกราะลอยน้ำ) ที่สามารถพยุงร่างกายของผู้สวมในน้ำลอยตัวได้มากกว่า 100kg
ตัวเกราะวัสดุผสมหลายชนิด (เช่น X-ray film ที่เลิกใช้แล้ว, ผงถ่าน Carbon ที่เกิดจากการเผาถ่านหิน และ ผ้าใยแก้ว)สามารถกันกระสุนปืนพกเช่นขนาด 9mm และ .45ACP ได้
เมื่อประกอบกับหมวกกันกระสุนก็จะเป็นชุดเกราะป้องกันแบบบูรณาการ เพื่อการป้องกันชีวิตลดการสูญเสียกำลังพล ในภารกิจอารักขาบุคคลสำคัญ การรักษาความสงบเรียร้อยของบ้านเมือง เป็นต้น


อีกโครงการคือการพัฒนาแหวนขอบยางกันซึมของปืนใหญ่ลากจูง ปกค.๒๕ M198 ขนาด 155mm ของสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพบก ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เหตุผลที่ต้องมีการพัฒนาชิ้นส่วนอะไหล่ของปืนใหญ่นี้ด้วยตนเอง ก็เนื่องจากปืนมีอายุการใช้งานมานานจนชิ้นส่วนต่างๆเสื่อมสภาพไปตามเวลา และบริษัทผู้ผลิตได้ยกเลิกสายการผลิตอะไหล่ของปืนใหญ่รุ่นนี้ทั้งหมดไปแล้ว
(กองทัพบกสหรัฐฯและนาวิกโยธินสหรัฐฯเลิกใช้ปืนใหญ่ M198 และนำปืนใหญ่ลากจูง M777 ขนาด 155mm ซึ่งเบาและทันสมัยกว่าเข้าประจำการแทน ปืนใหญ่ M198 ที่กองทัพสหรัฐฯเก็บสำรองไว้ส่วนหนึ่งจึงถูกนำมาปรับปรุงสภาพส่งออกให้มิตรประเทศ
เช่นที่กองทัพบกไทยได้จัดหาปืนใหญ่ M198 ที่ปรับปรุงใหม่จากสหรัฐฯจำนวนราว ๕๔กระบอก วงเงินประมาณ ๘๕๐ล้านบาท ในปี พ.ศ.๒๕๕๕ เพิ่มเติมเสริมปืนใหญ่ M198 ที่กองทัพบกไทยมีอยู่เดิมซึ่งชุดแรกจัดหามาตั้งแต่กว่า ๓๐ปีก่อน
ปัจจุบันกองทัพบกประจำการ ปกค.๒๕ M198 ใน กองพันทหารปืนใหญ่ที่๑๐๓, กองพันทหารปืนใหญ่ที่๑๐๔, กองพันทหารปืนใหญ่ที่๑๐๖, กองพันทหารปืนใหญ่ที่๑๐๙, กองพันทหารปืนใหญ่ที่๒ รักษาพระองค์ และกองพันทหารปืนใหญ่ที่๒๑ รักษาพระองค์)
ซึ่งนอกจากอะไหล่แหวนขอบยางกันซึ่มของ ปกค.๒๕ M198 ที่ส่งมอบให้กองทัพบกแล้ว ยังมีการวิจัยแหวนขอบยางกันซึมสำหรับ ปนร.๓๔ GHN-45A1 155mm
โดยเพิ่งมีการทดสอบกับปืนใหญ่ GHN-45A1 ของ กองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๗๑๓ กองพลทหารปืนใหญ่ เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ที่ผ่านมาครับ


อากาศยานไร้นักบินแบบขึ้นลงทางดิ่ง Falcon-V VTOL UAV ของบริษัท TOP Engineering Group ร่วมกับ กองทัพเรือ เป็นแนวคิดที่น่าสนใจในการรวมอากาศยานแบบปีกตรึงกับแบบหลายใบพัดเข้าไว้ด้วยกัน
Falcon-V สามารถขึ้นบินได้จากพื้นที่ขนาด 10x10m เช่นบนเรือทีมีพื้นที่จำกัดได้ มีระบบควบคุมการบินขึ้น ทำภารกิจตามเส้นทาง และลงจอดแบบอัตโนมัติ รุ่นปีก 3m และปีก 4.5m หนัก 6kg และ 6.5kg บรรทุกได้ 5kg น้ำหนักบินขึ้นสูงสุด 22kg
มีพิสัยทำการแบบควบคุมจากระยะไกลได้ 50km และพิสัยทำการแบบตั้งค่าอัตโนมัติล่วงหน้า 200km ถ้าใช้ Lithium Batteries บินได้นาน ๑๒๐นาที ใช้ Hydrogen Fuel Cell นาน ๒๒๐นาที ใช้ Gasoline นาน ๓๐๐นาที
ทำความเร็วได้สูงสุด 130km/h ความเร็วเดินทางรุ่นปีก 3m 90km/h รุ่นปีก 4.5m 70km/h มีความเร็วต่ำสุด 45km/h เพดานบินสูงสุด 3,000m ติดกล้องตรวจการณ์ Digital ขนาด 20MP Full HD และกล้อง Infrared เป็นต้นครับ


UAV แบบนารายณ์ พัฒนาโดย กรมสรรพาวุธทหารเรือ เป็นอากาศยานไร้นักบินสี่ใบพัดบินขึ้นลงทางดิ่ง สำหรับภารกิจตรวจการณ์ทางอากาศและพิสูจน์เป้าหมายทางบกและทางทะเลได้ทั้งกลางวันกลางคืน
มีความเร็ว 60km/h บินได้นาน ๔๕-๖๐นาที เพดานบิน 600m บรรทุกได้หนัก 500g บินได้ไกลกว่า 5km ควบคุมการบินอัตโนมมัติ 16 waypoint


UAV แบบองคต ติดอาวุธปืนเล็กยาว M16 พัฒนาโดย กรมสรรพาวุธทหารเรือ เป็นอากาศยานไร้นักบินหกใบพัดบินขึ้นลงทางดิ่งติดอาวุธ สำหรับภารกิจป้องกันฐานปฏิบัติการ
ความเร็วเดินทาง 60km/h บินได้นานมากกว่า ๒๐นาที เพดานบิน 600m บรรทุกได้หนัก 3kg รัศมีทำการ 1-2km ควบคุมการบินอัตโนมมัติ 16 waypoint
ติดตั้งระบบ Gimbol ประกอบด้วยกล้อง ปืนเล็กยาว M16 ติดกล้อง, Servo Pan & Tift, Transmitter 5.8GHz


หมวกทหารราบติดกล้องถ่ายทอดภาพสถานการณ์ พัฒนาโดย กรมสรรพาวุธทหารเรือ สำหรับใช้ในการลาดตระเวนและเฝ้าตรวจของทหารราบระดับยุทธวิธี
ระยะรับส่งภาพในแนวระดับโดยไม่มีสิ่งกีดขวางไม่น้อยกว่า 500m สัญญาณภาพเป็นแบบ Digital HD ส่งด้วยระบบ Wi-Fi


ระบบตรวจการณ์เพื่อต่อต้านและป้องกันภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ของ สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ
เป็นการบูรณาการระบบอุปกรณ์ต่างๆที่กล่าวมาในข้างต้นทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการปฏิบัติการ


ทุ่นหมายตำบลที่ทุ่นระเบิดจากยานล่าทำลายทุ่นระเบิด พัฒนาโดย กองเรือทุ่นระเบิด กองเรือยุทธการ
เป็นการพัฒนาทุ่นหมายตำบลที่ทุ่นระเบิดซึ่งไม่มีอำนาจอิทธิพลแม่เหล็กและเสียงติดตั้งไปกับยานยานล่าทำลายทุ่นระเบิดโดยที่ยานยังคงขีดความสามารถในการเดินทางใต้น้ำ
สามารถแสดงตำบลที่เหนือผิวน้ำทั้งกลางวันกลางคืนและมีน้ำหนักพอที่จะรักษาที่อยู่กับทะเลโดยไม่เคลื่อนที่ไปกับกระแสน้ำ เป็นยุทธวิธีใหม่ในการลดขั้นตอนและความอันตรายในการกู้ทุ่นระเบิด
(วิธีเดิมคือการ "เวคเตอร์เรือยาง" คือใช้เรือยางนำ Sonar Reflector ไปทิ้งใกล้ๆตำบลที่ตรวจพบเป้าทุ่นระเบิดและผูกที่หมายให้เจ้าหน้าที่ถอดทำลายอมภัณฑ์ดำเนินการต่อ)

อีกโครงการคือระบบวิเคราะห์ภาพเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายและรักษาความปลอดภัย พัฒนาโดย โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช
เป็นการพัฒนาระบบตรวจจับและจดจำใบหน้าจากข้อมูลภาพที่ได้จากกล้องวงจรปิดเก็บในฐานข้อมูลช่วยในการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ 
ซึ่งนำมาใช้กับด่านหรือจุดตรวจจะช่วยเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบกลุ่มบุคคลต้องสงสัยได้ครับ



อากาศยานไร้คนขับขนาดเล็ก TEagle Eyes II พัฒนาโดย โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช
เป็น UAV ขนาดเล็ก ปีกกว้าง 1.8m ลำตัวยาว 1.1m หนัก 2.5kg ความเร็ว 45-75km/h ระยะเวลาบินนานสุด ๒ชั่วโมง รัศมีปฏิบัติการมากกว่า 10km เพดานบินสูงสุด 3,000ft ปฏิบัติการได้ทั้งกลางวันกลางคืน
นายทหารเจ้าหน้าที่โครงการให้ข้อมูลว่า UAV ขนาดเล็ก จะใช้ในภารกิจทางยุทธวิธี เช่นการป้องกันฐานบินร่วมกับอากาศโยธิน และงานด้านการข่าว ลาดตระเวน และตรวจการณ์ครับ



อากาศยานไร้นักบินต้นแบบประเภทยุทธวิธีขนาดกลาง บร.ทอ.๑ Tiger Shark II พัฒนาโดย ศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการบินและอวกาศกองทัพอากาศ
ระบบชุดหนึ่งจะมีเครื่อง MALE(Medium-Altitude Long-Endurance) UAV ติดตั้งชุดกล้องตรวจการณ์กลางวันกลางคืน ระบบควบคุมภาคพื้นดิน และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง
Tiger Shark II UAV มีปีกกว้าง 6m ลำตัวยาว 4.2m ความเร็วสูงสุด 110knots ระยะเวลาบินนานสุด ๑๒ชั่วโมง ที่เพดานบินสูงสุด 12,000ft
จากการสอบถามนายทหารเจ้าหน้าที่โครงการกล่าวว่า ปัจจุบัน Tiger Shark II UAV สร้างต้นแบบขึ้นมาแล้ว ๓เครื่อง ซึ่งมีการทดสอบและประจำการที่ ฝูงบิน๔๐๔ กองบิน๔ 
ปัจจุบันฝูงบิน๔๐๔ มี UAV ของ Aeronautics อิสราเอล แบบ Aerostar อยู่ ๕เครื่อง ส่วน Tiger Shark II UAV ต้นแบบสองเครื่องแรกตอนนี้ไม่บินแล้ว
ทั้งนี้ก็หวังว่า Tiger Shark II UAV จะสามารถเปิดสายการผลิตสร้างขึ้นให้กองทัพอากาศได้ในจำนวนมากเพียงพอกับความต้องการของกองทัพอากาศไทย จะได้ลดการจัดหา UAV จากต่างประเทศลงได้มากครับ





ยานยนต์หุ้มเกราะเพื่อภารกิจลาดตระเวนโจมตี (Fast Attack Vehicle) พัฒนาโดย คณะวิศวกรรมป้องกันประเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
เป็นยานยนต์ขนาดเล็กสี่ล้อติดเกราะกันกระสุนสองที่นั่ง โครงสร้างเข็งแรงน้ำหนักเบา ทนทานสมบุกสมบันทุกสภาพพื้นที่ มีความเร็วและพละกำลังปีนป่ายสูง
พร้อมติดตั้งอุปกรณ์เสริมสำหรับรองรับทุกภารกิจ มีระบบสื่อสาร กล้องตรวจการณ์พร้อมจอ Monitor มีฐานติดปืนกลเบาหมุนยิงได้รอบตัวพร้อมเกราะป้องกัน
โครงการนี้มีมีการพัฒนาวิจัยมาได้ราว ๒ปีแล้ว สำหรับใช้ในภารกิจลาดตระเวนเคลื่อนที่เร็วเสริมการลาดตระเวนทางยุทธวิธี เช่น การปฏิบัติการร่วมกับชุดรถจักรยานยนต์
ซึ่งเหมาะสมกับหลักนิยมในการใช้กำลังของหน่วยพร้อมรบเคลื่อนที่เร็ว (RDF:Rapid Deployment Force) เช่น กรมทหารราบที่๓๑ รักษาพระองค์
โดยมีแนวคิดที่จะนำยานยนต์ FAV นี่ไปใช้ในภารกิจที่ชายแดนภาคใต้ด้วยครับ



รถต้นแบบสะเทินน้ำสะเทินบก สนับสนุนการบรรเทาสาธารณภัย พัฒนาโดย สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ
มีขนาดกว้าง 2.1m สูง 2.3m ยาว 5.5m ใช้เครื่องยนต์ดีเซลขนาด 3,300cc ระบบ Automatic Gear ในการขับเคลื่อนทั้งบนบกและในน้ำ ติดถังลอย ๕ถังสำหรับการลอยตัวของรถ





เครื่องบินทะเล พัฒนาโดย สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ
สร้างจากวัสดุผสม Composite ปีกกว้าง 10m เครื่องยนต์ ROTAX 912 กำลัง 100HP เชื้อเพลิงเบนซิน 95 ความจุ 80liter น้ำหนักขณะไร้ภาระบรรทุก 550kg น้ำหนักขึ้นบิน 650kg
ความจุ ๒-๔ที่นั่ง ความเร็วเดินทาง 80knots ความเร็วสูงสุด 110knots เพดานบินสูงสุด 7,000ft บินได้นาน ๓ชั่วโมง รัศมีทำการ 100nmi ระยะบินไกลสุด 240nmi
มีการสร้างต้นแบบออกมาแล้ว ๓เครื่อง นอกจากจะใช้งานของกองทัพเรือแล้ว ทางนายทหารเจ้าของโครงการยังกล่าวว่าจะมีการผลิตรุ่นพลเรือนสำหรับใช้บินโดยสารระหว่างเกาะด้วยครับ




ป้อมปืนอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Turret) พัฒนาโดย กรมสรรพาวุธทหารบก
เป็นแท่นปืนกลที่มีระบบรับแรงสะท้อนถอยหลัง ควบคุมการยิงด้วยวิทยุบังคับและตรวจการณ์ด้วยภาพจากจอ Monitor ระยะการควบคุมทางวิทยุ 5km
มีการทดสอบติดตั้งและยิงด้วยปืนกล 7.62mm (ปก.M60) และปืนกลหนัก .50cal (ปก.๙๓ M2) แล้ว โดยมีการสร้างต้นแบบออกมา ๔ชุด
สามารถใช้ติดตั้งได้กับรถหุ้มเกราะล้อยางลาดตระเวน ประกอบการดำเนินกลยุทธ์ของหน่วยรบ ในการเข้าตี ตั้งรับ และถอยร่น หรือเป็นส่วนฐานยิง ทำการยิงประกอบการเคลื่อนที่
(ที่ผ่านมาในการใช้งานรถหุ้มเกราะในชายแดนภาคใต้ เมื่อถูกซุ่มโจมตีด้วยระเบิดแสวงเครื่อง พลยิงประจำป้อมปืนของรถจะมีอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงถ้าเทียบกับกำลังพลภายในรถ
การใช้ป้อมปืนควบคุมจากระยะไกลภายในตัวรถจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะต้องให้พลยิงออกมาประจำตำแหน่งป้อมปืนนอกตัวรถลงได้มาก)




ปืนกลมือ ปกม.๔๘ พัฒนาโดย กรมสรรพาวุธทหารบก
เป็นโครงการวิจัยพัฒนาสร้างปืนกลมือขนาด 9mm โดยดัดแปลงจากปืนเล็กยาว ปลย.๑๑ HK33 และศึกษาแบบจากปืนกลมือ HK MP5 และ HK MP5K
สามารถใช้แทนกันได้ทุกชิ้นส่วน ได้รับการออกแบบ ศึกษาขั้นตอนการผลิต ขั้นตอนควบคุมการผลิต ตรวจสอบคุณภาพทุกขั้นตอนให้ได้มาตรฐาน มีประสิทธิภาพทันสมัย
ปืนกลมือ ปกม.๔๘ ใช้ในภารกิจของหน่วยรบพิเศษ หรือหน่วยที่ได้รับภารกิจพิเศษ เจ้าหน้าที่ป้องกันการก่อความไม่สงบ หรือป้องกันสถานที่ราชการ และการอารักขาบุคคลสำคัญ
(ส่วนตัวมองว่าชุดแต่งปืน อย่างราง Picatinny ติดกล้องช่วยเล็ง และด้ามจับ ที่เสริม ปกม.๔๘ นี้น่าจะมาดัดแปลงปรับปรุงใช้กับ ปลย.๑๑ HK33 ที่ยังคงใช้ประจำการอยู่ได้
ถ้าไปดูที่ส่วนจัดแสดงของ MKE ตุรกี ก็มีการจัดแสดงปืนเล็กยาวที่พัฒนาจาก HK33 ที่ตุรกีได้สิทธิบัตรในการผลิตในประเทศเช่นเดียวกับไทย ซึ่งถูกพัฒนาปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้นครับ)




ชุดลดแรงสะท้อนถอยหลังของ ปก.๙๓ พร้อมขาหยั่งสูง พัฒนาโดย กรมสรรพาวุธทหารบก
เนื่องจากปืนกล ปก.๙๓ M2 .50cal(12.7x99mm) ที่จัดหามานั้นไม่ได้มีชุดลดแรงสะท้อนถอยหลังติดตั้งมาด้วย ทำให้มีแรงถีบสูงจนยากที่จะยิงได้อย่างแม่นยำ
ทำให้การติดตั้งยิงบนบางระบบ เช่น ยานพาหนะเกิดแรงถีบสูงจนสร้างความชำรุดเสียหายต่อโครงสร้างยานพาหนะในระยะยาวด้วย
ชุดอุปกรณ์รับแรงสะท้อนถอยหลังนี้ประกอบด้วยชุดแท่นสำหนับติดตั้งตัวปืนกล ชุดขาหยั่งสูงสามขาปรับระดับสูงต่ำได้ ที่ปลายด้านบนมีเป้าทำด้วยทองเหลือง
มีขนาดตามมาตรฐาน NATO M5 สามารถตั้งยิงได้ทั้งเป้าหมายพื้นดินและในอากาศ ขาหยั่งส่วนบนมีที่แขวนตะขอสำหรับแขวนถุงทรายสำหรับปลอกกระสุนขณะยิงและถ่วน้ำหนักไม่ให้ขาหยั่งกระดก
ระบบมีน้ำหนัก 28.5kg ลดแรงสะท้องได้มากกว่า 70% สามารถติดตั้งได้กับรถรบทุกชนิดทั้ง รถถัง รถเกราะ รถ HMMWV  สะดวกรวดเร็วในการติดตั้งขนย้าย



กระสุนปืนพก กระสุนปืนลูกซอง และกระสุนปืนยาว ผลิตภัณฑ์ของโรงงานวัตถุระเบิดทหาร กรมการอุตสาหกรรมทหาร ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร



กล้องมองกลางคืน (Night Vision Monocular) พัฒนาโดย กรมการทหารช่าง ร่วมกับ ศูนย์วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (สวทช NSTDA)
เป็นกล้องมองกลางคืนใช้สำหรับเฝ้าระวังป้องกันพื้นที่ของหนวยปฏิบัติการรักษาความปลอดภัยของกำลังพลและสถานที่ ในสภาวะทัศนวิสัยจำกัด เช่น ความมืด หรือมีแสงสว่างจำกัด
ใช้ปฏิบัติการได้หลายรูปแบบ เช่นการเฝ้าตรวจ การดำเนินกลยุทธ์ การปฐมพยาบาล การซ่อมสิ่งอุปกรณ์ การลาดตระเวนติดอาวุธ เพื่อความได้เปรียบต่อฝ่ายตรงข้าม
การวิจัยกล้องมองกลางคืนใช้หลอดขยายแสงจากสหรัฐฯและยุโรปในการเปรียบเทียบคุณสมบัติจากสองแหล่ง และได้นำอุปกรณ์ไปทดสอบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ครับ