วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

Defense & Security 2015: อุตสาหกรรมและงานวิจัยพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ของไทย-๔

งานแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ Defense & Security 2015 ซึ่งจัดขึ้นที่ IMPACT Hall 6-8 เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ ๒-๕ พฤศจิกายนนั้น
มาชมส่วนจัดแสดงอุตสาหกรรมความมั่นคงของภาคเอกชนไทยบางส่วนกันครับ

บริษัท Marsun จำกัด




เท่าที่ได้พูดคุยกับตัวแทนบริษัท Marsun ในงาน Defense & Security 2015 เกี่ยวกับความคืบหน้าของเรือตรวจการณ์ปืนชุด ร.ล.แหลมสิงห์ (M58 Patrol Gun Boat) นั้น
หลังจากที่เรือมีการสร้างเสร็จสมบูรณ์ทั้งระบบที่อู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้าตามกำหนดในเดือนมิถุนายนปีหน้า ก็มีจะทดสอบประสิทธิภาพของเรือ(Sea Trial) ก่อนทำพิธีขึ้นระวางประจำการ

ปัจจุบันกองทัพเรือมีเรือตรวจการณ์ปืนประจำการอยู่ ๒ชุดคือ
เรือตรวจการณ์ปืนชุด ร.ล.สัตหีบ ๖ลำ เข้าประจำการช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๖-๒๕๒๙ ที่มีมีความแตกต่างกันสองแบบคือ
๓ลำแรกคือ ร.ล.สัตหีบ, ร.ล.คลองใหญ่ และ ร.ล.ตากใบ ติด ปืนใหญ่เรือ OTO Melara 76/62 ๑แท่น,  ปืนใหญ่กล OTOBreda 40/70 ๑แท่น และปืนใหญ่กล Oerlikon GAM-C01 20mm ๒แท่น
ส่วน ๓ลำหลังคือ ร.ล.กันตัง, ร.ล.เทพา และ ร.ล.ท้ายเหมือง ติดปืนใหญ่เรือ 76/50 ๑แท่น, Bofors 40/60 และปืนใหญ่กล Oerlikon GAM-C01 20mm ๒แท่น
อีกชุดคือเรือตรวจการณ์ปืนชุด ร.ล.หัวหิน ๓ลำ เข้าประจำการปี พ.ศ. ๒๕๔๔ คือ คือ ร.ล.หัวหิน, ร.ล.แกลง และ ร.ล.ศรีราชา อาวุธประจำเรือ ปืนใหญ่เรือ 76/50 ๑แท่น, Bofors 40/60 และปืนใหญ่กล Oerlikon GAM-C01 20mm ๒แท่น
รวมกองทัพเรือมีเรือตรวจการณ์ปืนประจำการอยู่ ๙ลำ

ถ้ากองทัพเรือพอใจในประสิทธิภาพของตัวเรือก็อาจจะมีการสั่งต่อเรือ ตกป.ชุด ร.ล.แหลมสิงห์เพิ่มครับ
โดยในส่วนของ กองเรือตรวจอ่าว กองเรือยุทธการ ซึ่งเป็นหน่วยขึ้นตรงของ ร.ล.แหลมสิงห์ในอนาคต อาจจะต้องการจะต่อเรือตรวจการณ์ปืนชุด ร.ล.แหลมสิงห์ เพิ่มอีก ๒ลำ เพื่อทดแทนเรือเก่า
อย่างเรือเร็วโจมตีติดอาวุธปล่อยนำวิถีชุด ร.ล.ปราบปรปักษ์ ๓ลำ คือ ร.ล.ปราบปรปักษ์, ร.ล.หาญหักศัตรู และ ร.ล.สู้ไพรินทร์ ที่เข้าประจำการมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๙-๒๕๒๐
จนอาวุธปล่อยนำวิถีต่อต้านเรือผิวน้ำ Gabriel ประจำเรือหมดอายุการใช้งาน จึงถอดแท่นยิงออกปรับเป็นเรือเร็วโจมตีปืน และมีแผนจะปลดในอนาคตอันใกล้นี้ครับ
(แต่ก็ไม่ทราบว่าทำไมถึงสั่งต่อเพียงหนึ่งลำก่อน อาจจะเป็นเหตุผลด้านงบประมาณ หรือเพื่อประเมินค่าแบบเรือก่อนเพราะเป็นลำแรกที่สร้าง)



ทั้งนี้ทาง Marsun กล่าว่าทางกองทัพเรือต้องการจะให้บริษัทต่อเรือขนาดเล็กที่จำเป็นในการใช้งานแทนเรือเก่าที่ใช้มานาน ๔๐-๕๐ปี มากกว่าเรือขนาดใหญ่ครับ
เช่น เรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ชุด ต.230 (M21 Patrol Boat) ซึ่งขณะนี้สั่งทาง Marsun สร้างแล้ว ๑๐ลำ รวมถึงเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง อย่างชุดเรือ ต.991 และชุดเรือ ต.994 ที่ทางบริษัทหวังจะได้รับคำสั่งต่อเพิ่มอนาคต
เพื่อทดแทนเรือตรวจการณ์ชายฝั่งและเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งรุ่นเก่าในสังกัด กองเรือยามฝั่ง ที่ใช้งานมานานกว่า ๔๐-๕๐ปี ซึ่งต้องทยอยปลดไปเรื่อยๆ



ส่วนเรือปฏิบัติการพิเศษ ชุด พ.51 (M18 Fast Assault Boat) รุ่นที่สองสำหรับ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ ก็มีการคุยเรื่องแบบเรือ พ.55 (M18-S Fast Assault Boat)
ที่มีการปรับปรุงคุณบัติแบบเรือให้ใหญ่ขึ้น (ตัวเรือยาวสัก 25m) เพื่อให้ทนคลื่นลมในทะเลสูงขึ้น และมีพิสัยทำการไกลขึ้นมานานแล้ว(กับผู้บัญชาการ นสร.หลายท่านที่ดำรงตำแหน่งมา) แต่ยังไม่มีงบประมาณจะสั่งต่อตอนนี้
มีผู้สนใจบางท่านอาจจะกล่าวว่าถ้าเทียบกับเรือรูปแบบเดียวกันอย่างของกองทัพเรือสหรัฐฯที่ล่าสุดก็เพิ่งประจำการเรือเร็วปฏิบัติการพิเศษ Mk.VI รุ่นใหม่สำหรับสนับสนุนหน่วยรบพิเศษ US Navy SEAL ไปในปีนี้
ว่าทำไมเรือปฏิบัติการพิเศษของไทยจึงอาวุธน้อยมากคือมีแค่ปืนกลหนัก .50cal ๑-๒กระบอก ขณะที่เรือแบบเดียวกันของกองทัพเรือสหรัฐฯติดอาวุธหนักเพียบ เช่น ปืนกลลำกล้องหมุน Minigun และเครื่องยิงลูกระเบิด Mk19 40mm
คำตอบคือเป็นความต้องการของหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือที่จะให้เรือปฏิบัติการพิเศษเข้าพื้นที่แบบเงียบๆ ส่งชุดนักทำลายใต้น้ำจู่โจมด้วยเรือยางหรือดำน้ำไปเงียบๆ และรับกลับแบบเงียบๆ ไม่มีการปะทะ อาวุธจึงติดน้อย
ซึ่งเป็นหลักนิยมของ นสร.มาตั้งแต่เรือแบบเก่าอย่างชุดเรือ ต.241 (Mk.IV) ขณะที่เรือปฏิบัติการพิเศษกองทัพเรือสหรัฐฯจะติดอาวุธไว้พร้อมรับมือได้ทุกสถานการณ์ทั่วโลกครับ




เรือสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือ ชุด เรือ ต.111 (M36 Patrol Boat) และเรือเร็วตรวจการณ์ลำน้ำ (M10 Riverine Patrol Boat) ของ กองเรือลำน้ำ ที่ล่าสุดสั่งต่อเรือเร็วตรวจการณ์ลำน้ำรุ่น M10 Mk2 เพิ่มอีก ๖ลำ จากเดิมที่มีอยู่ ๓ลำ
ซึ่งเรือขนาดเล็กเหล่านี้ทั้งใน กองเรือยามฝั่ง และกองเรือลำน้ำ ใช้งานจริงบ่อยกว่าเรือรบที่ขนาดใหญ่กว่ามากอย่างเรือคอร์เวต หรือเรือฟริเกต
แต่ก็อย่างที่ทราบว่ากองทัพเรือมีงบประมาณจำกัด ต้องค่อยทยอยสั่งต่อไปตามงบประมาณที่ได้รับในแต่ละปีครับ


M39 Patrol Gun Boat (Navy Version)

ทาง Marsun บอกว่าชาวต่างประเทศค่อนข้างจะแปลกใจที่ไทยมีอุตสาหกรรมต่อเรือในประเทศด้วย เพราะส่วนใหญ่จะรู้แค่ที่เด่นๆในภูมิภาคนี้มีคือสิงคโปร์อย่าง ST Marine
ส่วนมาเลเซีย และอินโดนีเซียที่มาออกแสดงในงาน Defense & Security 2015 นี้ ก็มีผลงานด้านอุตสาหกรรมต่อเรือในประเทศของตนเองด้วยเช่นกัน แต่ชาวต่างประเทศก็ไม่ค่อยทราบนักเช่นเดียวกับไทย
แต่ก็เคยมีต่างประเทศสนใจจะมีติดต่อร่วมงานหรือดูงานกับทางบริษัทหลายประเทศ เช่น IAI Ramta อิสราเอลติดต่อว่าจะส่วนจะให้ Marsun ร่วมงานกันเพื่อต่อเรือตามสิทธิบัตรของตน (อาจจะเช่น Super Dvora Mk III ที่พม่าสนใจ ๖ลำ)
แต่ทาง Marsun ปฏิเสธไปเพราะทางบริษัทอยากต่อเรือที่คนไทยออกแบบเองมากกว่า
หรือทางสหรัฐฯก็สนใจจะมาดูงานในอู่ Marsun แต่ทางบริษัทบอกให้ไปขอทางกลาโหมก่อน ซึ่งก็น่าแปลกเพราะล่าสุดนี่กองทัพเรือสหรัฐฯก็เพิ่งประจำการเรือเร็วปฏิบัติการพิเศษ Mk.VI รุ่นใหม่ไปในปีนี้ตามที่กล่าวไป ก็ไม่ทราบว่าจะมาดูงานต่อเรือของเราทำไม

ทั้งนี้สำหรับเรือขนาดใหญ่เองที่ได้คุยมาทางบริษัท Marsun ก็มีความร่วมมือกับบริษัทอู่กรุงเทพ ในการร่วมมือกันในการสร้างเรือ อย่างการกระจายงานสร้างชิ้นส่วนของเรือในอู่ของแต่ละบริษัทแล้วนำมาประกอบกันเป็นเรือทั้งลำในอู่ใหญ่
ซึ่งเรือขนาดใหญ่อย่างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชุด ร.ล.กระบี่ ที่กองทัพเรือสั่งต่อใหม่อีก ๑ลำรวมถึงเรือฟริเกตสมรรถสูง ที่ทาง DSME หวังจะให้กองทัพเรือลงนามได้ในปีหน้าและจะถ่ายทอด Technology ให้ต่อในไทยนั้น ถ้าใช้วิธีนี้จะทำให้การดำเนินการสร้างเร็วขึ้นครับ
แต่ถ้าถามว่าไปลงทุนกับระบบพื้นฐานของอู่อย่างเครนยกขนาดใหญ่เพื่อจะได้ไม่ต้องแบ่งซอยชิ้นส่วนเรือถี่ๆแบบ ร.ล.กระบี่ไม่ดีกว่าหรือ ทาง Marsun บอกว่าทางบริษัทภาคเอกชนลงทุนเองไม่ไหวครับ ต้องเป็นทางกองทัพเรือและรัฐบาลที่จะสนับสนุน
และทาง Marsun ยังสนใจที่จะขยายธุรกิจของตนไปสู่ผลิตภัณฑ์ระบบอื่นๆเช่น
ยานผิวน้ำไร้คนบังคับ (USV: Unmanned Surface Vehicle), ยานใต้น้ำไร้คนบังคับ (UUV: Unmanned Underwater Vehicle) และอากาศยานไร้คนบังคับ(UAV: Unmanned Aerial Vehicle) ด้วยครับ

บริษัท CHAISERI จำกัด

CHAISERI เปิดตัวรถหุ้มเกราะล้อยางตระกูล FIRST WIN 4x4 รุ่นใหม่สามรุ่นในงาน ซึ่งปัจจุบันรถหุ้มเกราะล้อยาง FIRST WIN 4x4 ได้รับการจัดหาจากหน่วยงานของรัฐบาลไทยหลายหน่วยแล้ว
เช่น กองทัพบกไทย, กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม (DSI), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ปปส.) และ กรมราชทัณฑ์ เป็นต้นครับ





FIRST WIN 4x4 Left Hand Drive Armored Personal Carrier
FIRST WIN 4x4 รุ่นพวงมาลัยซ้ายสำหรับส่งออกต่างประเทศโดยเฉพาะ น้ำหนักรถ 11.5tons ถังเชื้อเพลิงความจุ 250liter พลประจำรถ ๑๐+๑oนาย สำหรับรุ่นลำเลียงพล(APC) ความเร็วสูงสุด 110km/h น้ำหนักบรรทุก 2tons ระยะปฏิบัติการรบ 800km
ได้รับความสนใจจากประเทศหนึ่งในแถบตะวันออกกลาง (สามารถแข่งขันกับรถเกราะ 4x4 ที่มาจัดแสดงในงาน เช่น Streit Group ยูเครน-แคนาดา และ NIMR สหรัฐอาหรับเอมิเรนต์ ได้)
รวมถึงได้รับความสนใจในการจัดหาจากฟิลิปปินส์ ซึ่งถ้าประสบความสำเร็จจะเป็นประเทศที่สองในกลุ่ม ASEAN ต่อจากมาเลเซียที่จะจัดหารถเกราะ FIRST WIN 4x4 จากไทยครับ





FIRST WIN 4x4 Reconnaissance
FIRST WIN 4x4 รุ่นลาดตระเวน น้ำหนักรถ 8.5tons ถังเชื้อเพลิงความจุ 200liter พลประจำรถ ๘นาย ความเร็วสูงสุด 100km/h น้ำหนักบรรทุก 1.5tons ระยะปฏิบัติการรบ 600km
ติดป้อมปืน Remote Weapon Station แบบ IMI WAVE 2000 อิสรเอล สำหรับปืนกลหนัก M2 .50cal ชุดเครื่องยิงระเบิดควัน 76mm สามท่อยิง ๔ชุด รวม ๑๒ท่อยิง
รถเกราะล้อยาง 4X4 FIRST WIN E รุ่นขนาดเล็กที่เปิดตัวในงาน Defense & Security 2013 ครั้งก่อน ได้รับการทดสอบโดย ศูนย์การทหารม้า กองทัพบก เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

ซึ่งรถเกราะล้อยาง FIRST WIN รุ่นขนาดนี้เหมาะที่จะมาใช้งานแทนรถยนต์บรรทุกที่ใช้อยู่ในส่วนกำลังรบดำเนินกลยุทธ์ของเหล่าทหารราบและเหล่าทหารม้า เช่น รยบ.HMMWV, รยบ.๕๐ และ รยบ.M151
โดยจะเห็นได้จากโครงการจัดหารถยนต์บรรทุกของต่างประเทศ เช่น Joint Light Tactical Vehicle(JLTV) ของกองทัพสหรัฐฯที่เลือก Oshkosh L-ATV
หรือโครงการProtected Mobility Vehicle-Light (PMV-L) ในการจัดหารถเกราะ 4x4 Hawkei แทนรถยนต์บรรทุก Land Rover ของกองทัพบกออสเตรเลีย ตามที่เคยรายงานไปนั้น
ล้วนเป็นรถยนต์บรรทุกหุ้มเกราะที่มีขีดความสามารถในการป้องกันกำลังพลจากการถูกโจมตีด้วยอาวุธเบาและทุ่นระเบิดได้ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่ทหารในเขตปฏิบัติการทุกระดับความขัดแย้งยุคใหม่ต้องเผชิญ

ทั้งนี้รถเกราะล้อยางตระกูล FIRST WIN 4x4 มีระดับเกราะป้องกันตามมาตรฐาน NATO STANAG 4569 Level 2 คือ ทนต่อการยิงกระสุนปืนเล็กยาวได้ทุกขนาด(5.56x45mm, 5.45x39mm, 7.62x39mm และ 7.62x51mm)
ป้องกันกำลังพลจากทุ่นระเบิดต่อสู้รถถังขนาด 6kg และแรงระเบิดและสะเก็ดกระสุนปืนใหญ่ 155mm ที่ระยะ 80m ขึ้นไปครับ




FIRST WIN 4x4 Infantry Fighting Vehicle
FIRST WIN 4x4 รุ่นรถรบทหารราบ น้ำหนักรถ 12tons ถังเชื้อเพลิงความจุ 280liter พลประจำรถ ๘+๑นาย ความเร็วสูงสุด 110km/h น้ำหนักบรรทุก 2tons ระยะปฏิบัติการรบ 850km
รุ่นนี้ได้รับความร่วมมือกับ DEFTECH มาเลเซีย ในการส่งออกและผลิตภายใต้สิทธิบัตรในมาเลเซียให้กองทัพบกมาเลเซียในชื่อ DEFTECH AV4
DEFTECH AV4 มีรายละเอียดบางจุดต่างจาก FIRST WIN 4x4 รุ่นพื้นฐาน เช่น มีประตูด้านข้างเพียงสองประตูหน้า และติดตั้งระบบแจ้งเตือนการตรวจจับด้วย laser สำหรับการยิงเป้าลวงระเบิดควันของบริษัท Kembara Suci มาเลเซียเป็นต้น
ขณะนี้รถเกราะ 4x4 DEFTECH AV4 (FIRST WIN) สำหรับกองทัพบกมาเลเซียชุดแรก ๒๐คัน กำลังเปิดสายการผลิตในโรงงานของ CHAISERI ที่ปทุมธานีแล้ว ๖คัน
และส่วนที่เหลือจะทำการประกอบภายในมาเลเซีย ซึ่งกองทัพบกมาเลเซียมีความต้องการรถเกราะ AV4 ราว ๒๐๐คันครับ (ไม่ได้ถ่ายภาพภายในตัวรถ เนื่องจากทางบริษัทขอความร่วมมือไม่ให้บันทึกภาพภายในรถ)



บริษัท CHAISERI นับเป็นภาคเอกชนในส่วนอุตสาหกรรมความมั่นคงของไทยบริษัทหนึ่งที่มีชื่อเสียงทั้งในไทยและระดับโลกมานานหลายสิบปี
ทั้งการซ่อมบำรุงยานยนต์ทางทหาร ผลิตล้อยาง Run Flat และสายพานหุ้มยางติดรถรบหลายแบบ เช่น รถถังหลัก M60, T-72 และ Oplot ส่งออกได้หลายประเทศทั่วโลก

ยังมีส่วนอุตสาหกรรมยุทโธกรณ์ของไทยอีกหลายบริษัทที่ไม่ได้นำเสนอ เช่น AVIA Group และอื่นๆเนื่องจากข้อจำกัดของเวลาต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ