วันอาทิตย์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ประสบการณ์ที่ได้รับจากการประกวดโครงการนวนิยายรางวัลสุภัทร สวัสดิรักษ์ ครั้งที่๓



วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๘ ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล ที่ผ่านมามีการจัดงานการประกาศผลรางวัลสุภัทร สวัสดิรักษ์ ครั้งที่ ๓ ประจำปี ๒๕๕๖ ซึ่งผมก็เป็นนักเขียนคนหนึ่งที่ส่งนวนิยายเรื่องยาวเข้าร่วมประกวดในโครงการนี้
โดยโครงการครั้งนี้มีผู้ส่งผลงานนวนิยายเข้าประกวดถึง ๔๐เรื่อง ทำให้คณะกรรมการต้องเลื่อนการพิจารณาประกาศผลจากเดือนพฤศจิกายนปี ๒๕๕๗ มาเป็นเดือนมกราคม ๒๕๕๘ ดังกล่าว
ซึ่งมีผลงานนวนิยายที่เข้ารอบ ๙ท่าน และมีท่านได้รับรางวัลที่๑("แผ่นดินของใคร") รางวัลที่๒("ทางบุญ") และรางวัลที่๓("รหัสลับตามพรลิงค์") ครบทุกรางวัลเป็นครั้งแรกในการจัดการประกวด
แม้ว่าผลงานของผมจะไม่ได้เข้ารอบแต่ส่วนตัวผมก็ต้องขอบพระคุณกองบรรณาธิการและคณะกรรมการทุกท่านที่ให้โอกาสอ่านและพิจารณาผลงานนวนิยายของผมที่ส่งเข้าประกวดในครั้งนี้
อาทิ คุณนรีภพ สวัสดิรักษ์, รศ.ดร.คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์, คุณชมัยภร แสงกระจ่าง รวมถึงคณะกรรรมการท่านอื่นที่ไม่ได้เอยนาม ณ ที่นี้ด้วยครับ
(รายละเอียดท่านสามารถติดตามได้จากนิตยสารสกุลไทย รายสัปดาห์ ซึ่งน่าลงบทความรายงานการการประกาศผลในฉบับต่อไป)

ส่วนตัวผมเองก็ทราบตั้งแต่แรกแล้วครับว่านวนิยายเรื่องยาวที่ตนเองเขียนนั้นไม่น่าจะได้รับรางวัลหรือเข้ารอบแต่อย่างใด
เพราะแม่ผมซึ่งเป็นอาจารย์สังคมโรงเรียนมัธยมศึกษา(เกษียณอายุราชการแล้ว)และเป็นผู้ติดตามอ่านนิตยสารสกุลไทยมาตลอดก็ได้ให้ความเห็นเมื่อได้อ่าน ๑๐ตอนแรกแล้วว่า
"เรื่องบ้าอะไรของเธอเนี่ย!? ยิงกันหูดับตับไหม้ระเบิดตูมตามกันทั้งเรื่อง! ชื่อตัวละครกับพูดจาก็เป็นภาษาข่าขมุอะไรก็ไม่รู้? คนที่อ่านเรื่องนี้จบเสร็จแล้วต้องลุกขึ้นมาฆ่าคนที่นั่งอยู่ข้างๆแน่!"
(อ่านไปก็หัวเราะไป ทั้งๆที่ไม่ใช่นิยายตลกชวนหัว)

นวนิยายเรื่อง "ตำนานเจ้าคีรี" นี้ผมใช้เวลาเขียนตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ๒๕๕๖ จนถึงเดือนเมษายน ๒๕๕๗ (๑๐เดือนเต็ม)จึงส่งต้นฉบับ โดยเป็นนวนิยายเรื่องยาวลำดับที่๒ ของนิยายสงครามชุด "รัฐไกลา"
(นวนิยายเรื่องแรกในนิยายชุดรัฐไกลาที่เขียนคือ "คีตะคีรีไม่รู้จบ แนวรบตะวันตกไม่เคยสิ้นสุด" ซึ่งได้เคยนำลงให้อ่านที่ TAF ไปแล้ว)
ระหว่างเขียนได้ใช้ฐานข้อมูลจากแหล่งต่างๆเกี่ยวกับปฏิบัติการลับของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆของ OSS และ SOE ฝ่ายสัมพันธมิตรในการต่อต้านกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นที่สมรภูมิพม่าช่วงสงครามโลกครั้งที่๒
ซึ่งเก็บรวบรวมมามากกว่า ๖ปีเป็นจำนวนมาก ประกอบจินตนาการเล็กน้อย และประสบการณ์ตรงบางส่วนจากคำบอกเล่าของญาติที่เป็นทหารผ่านศึก
ผมคิดว่าในโครงการประกวดนวนิยายรางวัลสุภัทร สวัสดิรักษ์ ครั้งที่๓ นี่ผมคงจะเป็นผู้เข้าประกวดที่อายุน้อยที่สุด และน่าเป็นรายเดียวที่ส่งนิยายสงครามเข้าประกวดครับ

ปี ๒๕๕๗ ที่เพิ่งผ่านไปนอกจากโครงการประกวนวนิยายรางวัลสุภัทร สวัสดิรักษ์นี้ ผมก็ได้ทำผลงานและส่งเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆหลายอย่างในปีเดียวครับ
เช่น ไปขายหนังสือนิยายภาพ "บุกบูรพา ทหารม้าเกรียงไกร เหรียญชัยสมรภูมิ" ในงาน งาน Original and Community only event วันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๗ ที่กองพลทหารม้าที่ ๒ รักษาพระองค์
และส่งนิยายภาพ "บุกบูรพา" ดังกล่าวเข้าประกวดในงาน 8th International MANGA Award ที่สถานทูตญี่ปุ่นด้วยตนเองในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๗ เป็นต้น

ว่ากันตามตรงผมคิดว่าตนเองอายุมากเกินไปที่จะเขียนการ์ตูน Comic หรือ Manga หรือนิยายสำหรับกลุ่มผู้อ่านวัยรุ่นแล้ว แต่ก็ยังมีประการณ์ชีวิตไม่มากพอที่จะเขียนนวนิยายที่มีคุณค่าทางวรรณศิลป์สูงเช่นกัน
อย่างไรก็ตามผมถือคติตามที่นักเขียนนามอุโฆษ ป.อินทรปาลิต เจ้าของผลงานหัสนิยายชุด พล นิกร กิมหงวน ได้เคยให้คำแนะนำแก่ผู้ติดตามผลงานที่ไปหาท่านแล้วถามว่าอยากเป็นนักเขียนต้องทำอย่างไร
คำตอบคือ "เขียน เขียน เขียน แล้วก็เขียน" และนั่นคือคติพจน์ในการทำงานเขียนของผมครับ