มีผลต่อขีดความสามารถของกองทัพบกไทยในการต่อต้านภัยคุกคามสำหรับสงครามตามแบบที่มีความเป็นไปได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน
ซึ่งเดิมทีภัยคุกคามจากรถถังหลักรอบประเทศไทยนั้นยังอยู่ในขีดความสามารถที่รถรบและยานเกราะของกองทัพบกยังสามารถรับมือได้
แตในช่วงหลายปีหลังมานี้ประเทศที่มีแนวโน้มเป็นภัยคุกคามของไทยได้ได้มีการจัดหารถถังหลักที่มีสมรรถนะสูงมากขึ้น
หัวข้อนี้จะเป็นการวิเคราะห์ถึงศักยภาพของยานเกราะในการต่อสู้กับรถถังหลักเฉพาะในส่วนของหน่วยที่เป็นเหล่าทหารม้าครับ
เริ่มแรกมาดูที่การประเมินภัยคุกคามที่เป็นรถถังหลักที่เหล่าทหารม้ากองทัพบกอาจจะต้องเผชิญในการรบก่อน
กำลังรถถังหลักในกองทัพหลายประเทศที่คาดว่าจะเป็นภัยคุกคามของไทยได้ส่วนใหญ่จะยังเป็นรถถังในตระกูล T-54/T-55
และรถถังจีนที่มีพื้นฐานจากรถถังรุ่นนี้ เช่น Type 59 และ Type 69 เป็นต้น
อำนาจในการป้องกันตนเองของรถถังตระกูลนี้ในปัจจุบันถือว่าค่อนข้างจะด้อยอยู่พอสมควรแล้ว
เพราะเกราะหลักเป็นเหล็กกล้า RHA(Rolled Homogeneous Armour) ที่มีความหนาไม่มากนัก
ตามข้อมูลที่รวบรวมได้โดยอิงจากรถถัง T-55 โซเวียตความหนาของเกราะ RHA จะมีรายละเอียดคราวๆดังนี้คือ
T-55 เกราะตัวถังด้านหน้าหนา 100mm ด้านข้าง 80mm ด้านหลัง 60mm ด้านบน 16-33mm
เกราะป้อมปืน ด้านหนา 205mm ด้านข้าง 130 ด้านหลัง 60mm ด้านบน 30mm
ซึ่งรถถังจีนเช่น Type 59 และ Type 69-II น่าจะมีรายละเอียดความหนาเกราะแตกต่างกันไม่มากนัก
(แต่ตามข้อมูลที่สืบค้นได้ดูจะบางกว่าเล็กน้อย เช่น ป้อมปืนมีความหนาเกราะหนา 203mm รวมถึงคุณภาพเหล็กที่ใช้สร้าง)
อย่างไรก็ตามในช่วงหลายปีหลังมานี้มีข้อมูลและภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นกองทัพหลายประเทศมีการจัดหารถถัง T-55 รุ่นที่มีการเสริมเกราะเพิ่ม
เช่น T-55AM2 ที่ติดตั้งเกราะเสริมรูปครึ่งวงกลม bra armor ให้ป้อมปืนมีความหนาในการต่อต้านกระสุนเจาะเกราะสลัดครอบทิ้งเองทรงตัวด้วยครีบหาง APFSDS เทียบเท่าเกราะ RHA ที่ 330mm และกระสุนระเบิดแรงสูงต่อสู้รถถัง HEAT ที่ 400-450mm
หรือ Type 59D และ Type 59M ของจีนที่ปรับปรุงติดเกราะปฏิกิริยาแรงระเบิด ERA(Explosive Reactive Armour) ที่เพิ่มอำนาจในการต่อต้านการถูกยิงด้วยกระสุนและจรวดต่อสู้รถถังมากขึ้น
(อ้างว่าป้องกันกระสุนปืนใหญ่รถถังขนาด 105mm NATO ในระยะ 2,000m ได้)
ในส่วนของอาวุธหลักคือปืนใหญ่รถถังแบบ D-10T ขนาด 100mm ระยะยิงหวังผลราว 2,000m หรือรถถังของจีนที่ใช้ปืนขนาดเดียวกันกันแต่มีการปรับปรุงประสิทธิภาพมากขึ้นเช่น Type 69-II นั้น
กระสุนต่อสู้รถถังที่ดีที่สุดของ T-55 คือกระสุนแบบ 3BM25 APFSDS ซึ่งสามารถเจาะเกราะเหล็กกล้า RHA ได้สูงสุดที่ 350mm
โดยในคู่มือของกองทัพบกไทย กระสุนปืนใหญ่รถถังขนาด 100mm ที่ใช้กับรถถังหลักแบบ ๓๐ Type 69-II ที่เคยประจำการในไทย ก็มีกระสุน APFSDS ที่มีประสิทธิภาพสูงเช่นกัน(ความเร็วต้น 1,480m/s)
แต่สำหรับ Type 59D/M แล้วนั้นนอกจากเกราะ ERA แล้ว ยังมีการเปลี่ยนระบบควบคุมการยิงใหม่และปืนใหญ่รถถังใหม่เป็นขนาด 105mm แบบ Type 83A ของจีน ซึ่งใช้กระสุนชนิดเดียวและมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับปืนใหญ่รถถังแบบ L7 และ M68 ของ NATO ทำให้มีระยะยิงและใช้กระสุน APFSDS ที่อ้างว่ามีอำนาจเจาะเกราะ RHA หนา 460-510mm ด้วย
การพัฒนาขีดความสามารถของกำลังรถถังหลักของประเทศในกลุ่มที่มีแนวโน้มจะเป็นภัยคุกคามหลักของกองทัพบกไทย ที่เพิ่มมากยิ่งขึ้นคือการจัดหารถถังหลักในสายตระกูล T-72 จากรัสเซียและกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก
ซึ่งที่ยืนยันได้ก็มี T-72S ที่ติดเกราะ ERA รูปแบบเดียวกับเกราะ ERAแบบ Kontakt1 ของกองทัพพม่า
และข่าวลือจากด้านตะวันออกที่จะมีแผนการจัดหา T-72M1 เสริมจากที่เคยจัดหา T-55 มือสองจากกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกเมื่องบประมาณอำนวย
T-72 ที่เป็นรุ่นส่งออกซึ่งส่วนผลิตในโปแลนด์และอดีตเชคโกสโลวาเกีย เป็นรุ่นที่ลดประสิทธิภาพด้านเกราะ ระบบควบคุมการยิงและอาวุธลง
เช่น T-72M1 ป้อมปืนมีความหนาในการต่อต้านกระสุน APFSDS เทียบเท่าเกราะ RHA ที่ประมาณ 420mm และกระสุน HEAT ที่ 490mm เกราะตัวถังต่อต้านกระสุน APFSDS ที่ 400mm และกระสุน HEAT ที่ 490mm
แต่สำหรับ T-72S ที่ติดเกราะ ERA แบบ Kontakt1 น่าจะเทียบเท่ากับรุ่น T-72B1 ที่กองทัพรัสเซียยังใช้อยู่ในปัจจุบันได้แต่จะด้อยกว่าเพียงเล็กน้อย
คือเกราะป้อมปืนต่อต้านกระสุน APFSDS ได้ที่มากกว่า 520-540mm ต่อต้านกระสุน HEAT ที่ 900-950mm เกราะตัวถังต่อต้านกระสุน APFSDS ที่ 480-530mm และกระสุน HEAT ที่ 900-950mm
โดยนี่เป็นข้อมูลคราวๆเนื่องจากเกราะของ T-72 นั้นแท้จริงเฉพาะพื้นที่ด้านหน้าของรถเกราะจะมีความหนาไม่เท่ากันทุกจุด
ในส่วนของอาวุธหลักของ T-72 คือปืนใหญ่รถถัง 2A46M ขนาด 125mm
กระสุนที่มีความเป็นไปได้ที่จะจัดหามาใช้เช่น กระสุน APFSDS แบบ 3BM42 สามารถเจาะเกราะ RHA ความหนา 450mm ได้ที่ระยะ 2,000m
ซึ่งสามารถจัดการรถถังหลักที่กองทัพบกไทยประจำการได้ทุกแบบในปัจจุบันด้วยการยิงนัดเดียวยกเว้น Oplot
ตรงนี้ยังไม่นับ MBT-2000 ซึ่งเป็นรถถังหลักยุคที่3รุ่นส่งออกของจีน ที่ทางกองทัพบกพม่ามีการจัดหามาแล้วจำนวนหนึ่งด้วย
ทีนี้จะมาดูเฉพาะในส่วนรถถังเบาในกองพันทหารม้ารถถังกองพลทหารราบ ยานเกราะล้อยางติดปืนใหญ่รถถัง และรถถังเบาในกองพันทหารม้าลาดตระเวน ของเหล่าทหารม้าก่อนครับ
รถถังเบาแบบ M41A3 ที่กองทัพบกไทยจัดหามาตั้งแต่ช่วงปี ๒๕๐๕-๒๕๑๒ จำนวนราว 200คันนั้น
อาวุธหลักคือปืนใหญ่รถถังแบบ M32 ขนาด 76mm มีระยะยิงหวังผลราว 2,000m ลงมา
อ้างอิงจากคู่มือการฝึกของกองทัพบก กระสุนที่ใช้เป็นกระสุนรุ่นเก่าที่พัฒนาขึ้นตั้งแต่ยุค 1950s-1960s
เช่น M339 AP-T, M319 HVAP-T เจาะเกราะ RHA หนา 150mm ได้ที่ระยะ 2,000m และ M331A2 HVAP-DS-T ที่เจาะเกราะได้มากกว่า 150-200mm ที่ระยะ 1,000-2,000m
ซึ่งในสมัยสงครามเวียดนาม M41 ของเวียดนามใต้ก็เคยปะทะและยิงทำลาย T-54 ของเวียดนามเหนือได้หลายคัน
กระสุนที่พัฒนาขึ้นใหม่ที่ใช้ในช่วงหลังสงครามเวียดนามก็เช่น M496 HEAT-T ที่เจาะเกราะได้ 200mm ที่ระยะ 2,000m ก็มีข้อมูลว่ากองทัพบกไทยมีใช้อยู่ตามคู่มือ
แต่ก็ไม่แน่ใจว่าไทยจะมีกระสุน M646 APFSDS ที่เจาะกราะได้ 230-250mm ที่ระยะ 2,000m ซึ่ง M41DK ของเดนมาร์คเคยใช้ และ M41D ที่ไต้หวันมีใช้ด้วยหรือไม่
รถรบในส่วนของกองพันทหารม้าลาดตระเวนใช้นั้นก็มีคือ
รถถังเบาแบบ ๒๑ Scorpion อาวุธหลักคือปืนใหญ่รถถังแบบ L23A1 ขนาด 76mm ระยะยิงหวังผลประมาณ 2,200m
ซึ่งกระสุนที่พอจะใช้ต่อสู้ยานเกราะขนาดหนักเช่นรถถังหลักได้คือกระสุนระเบิดแรงสูงกระเทาะเกราะแบบ L29 HESH-T ซึ่งเจาะเกราะได้หนา 80mm
รวมถึงได้รับการปรับปรุงติดกล้องเล็ง SELEX Galileo STAWS และระบบควบคุมการยิงใหม่ที่แม่นยำทั้งกลางวันและกลางคืน
อีกแบบคือยานเกราะล้อยางแบบ V-150 รุ่นติดป้อมปืนใหญ่รถถังแบบ Cockerill Mk.3 ขนาด 90mm ระยะยิงหวังผลประมาณ 1,950m
กระสุนที่มีใช้ตามคู่มือของกองทัพบกคือ NR 478 HEAT-T ซึ่งเจาะเกราะได้หนา 250mm และ NR 503 HESH
แต่กระสุนรุ่นใหม่ที่มีการผลิตออกมาเช่น NR 220 HEAT-T-HVY เจาะเกราะได้หนา 330mm
และกระสุน APFSDS ความเร็วต้น 1,200m/s เจาะเกราะได้หนา 100mm ที่ระยะ 1,000m ที่มุมปะทะ 60degree นั้นไม่ทราบว่ามีใช้หรือไม่
สำหรับ M41A3 นั้นเป็นระบบที่ล้าสมัยและจะเริ่มปลดประจำการลงทั้งหมดในอนาคตอันใกล้แล้ว
โดยที่ผ่านมากองทัพบกก็เคยมีแนวคิดที่จะปรับปรุง M41A3 ให้ทันสมัยขึ้นอยู่บ้าง หลักๆคือเช่นเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่จากเบนซินเป็นดีเซล แต่คงประเมินแล้วว่าไม่คุ้มค่าเลยไม่ทำ
ส่วน ถ.เบา ๒๑ Scorpion และ V-150 ติด ปถ.90mm นั้น ม.ลว.จะใช้เป็นในลักษณะเป็นฉากกำบังหรือการลาดตระเวนเขตแนวหน้าพื้นที่รบ ถ้าไม่จำเป็นคงจะไม่ถูกส่งไปเข้าตีกำลังรถถังหลักตรงๆ
โดยกระสุน L29 HESH นัดเดียวคงทำอะไรรถถังหลักอย่าง T-55 หรือ Type 59 ไม่ได้
แต่กระสุนระเบิดแรงสูงกระเทาะเกราะนั้นเท่าที่ทราบเกราะ ERA จะไม่ค่อยมีผลในการต่อต้านกระสุนชนิดนี้ ซึ่งจะระเบิดผิวเกราะสร้างการแตกร้าวนัก ถ้ายิงหลายๆนัดอาจจะพอได้ผลในการสร้างความเสียหายภายในรถบ้าง
ส่วนกระสุน NR 478 นั้นสามารถจัดการ T-55 ในระยะต่ำกว่า 1,500mm ได้ แต่ยากในการจัดการ T-55AM2, Type 59D และ Type 59M ได้ในนัดเดียว
แน่นอนถ้าทั้ง M41A3, Scorpion และ V-150 ติด ปถ.90mm โดนยิงมานัดเดียวก็จบ
ไม่รวมถึง T-72 ทุกรุ่นที่ปืนใหญ่รถถังความเร็วต้นกระสุนสูงอย่าง M32 76mm และปืนใหญ่รถถังความเร็วต้นกระสุนต่ำทั้ง L23 76mm และ Cockerill Mk.3 90mm ที่กระสุนทุกแบบไม่สามารถยิงเจาะเกราะเข้าด้วยเช่นกัน
ในโอกาสต่อไปจะกล่าวถึงรถถังเบาและรถถังหลักในเหล่าทหารม้าซึ่งใช้ปืนใหญ่รถถังขนาด 105mm ซึ่งเป็นกำลังหลักของกองทัพบกไทยในปัจจุบันครับ