กองทัพเรือจะผลักดันโครงการจัดหาเรือดำน้ำอีกครั้ง
พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ กล่าวต่อผู้สื่อข่าวในวันกองทัพเรือ เมื่อ 20 พ.ย.57 ว่าได้เสนอแผนพัฒนากองทัพเรือ ซึ่งประกอบด้วยโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระหว่างการตรวจเยี่ยมกองบัญชาการกองทัพเรือเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ได้สั่งการให้กองทัพเรือ ทำการศึกษารายละเอียดความต้องการเรือดำน้ำเพื่อนำเสนอต่อไป
กองทัพเรือมีความพยายามในการจัดหาเรือดำน้ำจำนวนหลายครั้ง นับตั้งแต่ปลดระวางประจำการเรือดำน้ำชุด ร.ล.มัจฉาณุ จำนวน 4 ลำ เมื่อกว่า 60 ปีที่ผ่านมา โดยล่าสุดกองทัพเรือได้เสนอโครงการจัดหาเรือดำน้ำชั้น 206A มือสองจำนวน 6 ลำ (พร้อมใช้ 4 ลำ) เมื่อปี พ.ศ.2553 พร้อมกับได้จัดตั้งกองเรือดำน้ำขึ้นเพื่อเตรียมการรองรับโครงการเรือดำน้ำดังกล่าว แต่โครงการได้ถูกต่อต้านและไม่ถูกนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี
ต่อมาในปี พ.ศ.2555 กองทัพเรือได้อนุมัติการจัดส่งกำลังพลไปศึกษาความรู้เกี่ยวกับเรือดำน้ำ ณ ต่างประเทศ จำนวนรวม 28 นาย เพื่อเตรียมองค์ความรู้สำหรับโครงการจัดหาเรือดำน้ำในอนาคต และกองทัพเรือได้ทำพิธีเปิดอาคารกองบัญชาการกองเรือดำน้ำอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
http://www.bangkokpost.com/news/general/444449/navy-renews-push-for-sub-plan
ที่มา page กองเรือดำน้ำ
https://www.facebook.com/pages/Submarine-Squadron-กองเรือดำน้ำ-กองเรือยุทธการ/222887361082619
ตรงนี้ขอกล่าวถึงบทความข่าวต้นฉบับของ Bangkok Post สักเล็กน้อยครับว่ามีการกล่าวถึงประวัติการจัดหาเรือดำน้ำที่ผ่านมาของกองทัพเรือ
ตั้งแต่เรือดำน้ำ A19 ของ Kockums สวีเดนช่วงปี ๒๕๓๘-๒๕๓๙ เรื่องที่จีนเสนอให้เช่าซื้อเรือดำน้ำ Type 039 Song ช่วงปี ๒๕๔๙
และโครงการจัดหาเรือ U206A จากเยอรมนีในปี ๒๕๕๓-๒๕๕๔ ซึ่งทั้งหมดมีการพาดพิงถึงเรื่องการเมืองด้วย
แน่นอนความเห็นตอบรับของผู้อ่านข่าวส่วนใหญ่ไปในทางเดียวกันครับคือต่อต้านว่ากองทัพเรือจะมีเรือดำน้ำทำไม?
จะเอามาเป็นของเล่นพวกนายพลแก่ๆรึ? จะผลาญงบประมาณประเทศเล่นรึ? เอาไปลงกับการศึกษา คมนาคม กับเกษตรไม่ดีกว่ารึ?
พาลไปจนถึงว่าน่าจะยุบกองทัพเรือแล้วตั้งเป็นหน่วยยามฝั่งอย่างเดียวดีกว่าเพราะประเทศไทยไม่มีภัยคุกคามทางทะเลแล้ว
คือมันเสียเวลาไปชี้แจงตอบนะครับ เราไม่สามารถทำความเข้าใจกับพวกคนที่มีธงในใจเรียบร้อยแล้วได้ เพราะพวกเขาเลือกที่จะเชื่อแบบนั้นนะครับ
กลับมาที่เรื่องความเป็นไปได้สำหรับโครงการจัดหาเรือดำน้ำใหม่ของกองทัพเรือไทยต่อ
ส่วนตัวคิดว่าการพิจารณาจัดตั้งหรืออนุมัติโครงการจัดหาเรือดำน้ำนั้นอาจจะไม่ได้เกิดในช่วงรัฐบาลนี้ครับ
คืออาจจะมีการกล่าวถึงอีกทีหลังเลือกตั้งใหม่ปลายปี ๒๕๕๘ ถึงต้นปี ๒๕๕๙ ก็เป็นได้ครับ
เพราะเห็นท่าทีของทางกองเรือดำน้ำเองจะเน้นเรื่องเตรียมการภายในและประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรือดำน้ำและการปฏิบัติการเรือดำน้ำ
รวมถึงเหตุผลความจำเป็นในการจัดหาเรือดำน้ำ เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและภาคประชาชนต่อไป
นอกนั้นก็จะเป็นในส่วนการฝึกศึกษา เช่นที่ได้ส่งนายทหารไปศึกษาที่เยอรมนี ๑๘นาย และที่เกาหลีใต้ ๑๐นายแล้วตามข้อมูลในข้างต้นครับ
แต่ถ้าจะมีการพิจารณาและอนุมัติโครงการจัดหาเรือดำน้ำในช่วงรัฐบาลนี้จริงก็น่าจะมีข้อจำกัดในการเลือกแบบอยู่พอสมควรครับ
ก็ตามที่เคยรายงานไปว่าในช่วงปีหลังมานี้มีตัวแทนบริษัทผู้สร้างเรือจากหลายประเทศมาเสนอข้อมูลแบบเรือดำน้ำให้กองทัพเรือไทยพิจารณา
ถ้าให้วิเคราะห์ส่วนตัวมองว่าแหล่งจัดหาเรือดำน้ำถ้าเป็นเรือใหม่ของกองทัพเรือที่เป็นไปได้มากในช่วงนี้อาจจะมีเพียงสองแหล่งคือจีนกับเกาหลีใต้ครับ
เหตุที่ตัดแหล่งจากยุโรปก็เนื่องจากสถานการณ์ภายในประเทศไทยขณะนี้ แต่ถ้าจะว่าไปตามตรงสหภาพยุโรปอาจจะไม่มีปัญหาอะไรมากกับการขายอาวุธให้กองทัพเรือไทยก็ได้
(ดูตัวอย่างโครงการจัดหา SAAB ARTHUR กับ Airbus Helicopters EC645 T2 ที่ลงนามในปีนี้)
ประเด็นสำคัญคือราคาเรือที่ถือว่าแพงไม่ว่าจะเช่นเรือแบบ Scorpene ของ DCNS ฝรั่งเศส ที่มาเลเซียจัดหาไปแล้ว ๒ลำ
หรือ U214 ที่เป็นที่นิยมในหลายประเทศหรือ U218SG ที่สิงคโปร์จะจัดหา ๒ลำในราวปี 2020 ของ ThyssenKrupp Marine Systems เยอรมนี
ส่วนเรือดำน้ำแบบ A26 ของ SAAB Kockums สวีเดนตามที่เคยรายงานข่าวไปครับว่าแม้ว่ารัฐบาลสวีเดนจะยกเลิกโครงการและให้บริษัทไปออกแบบความต้องการเรือแบบใหม่แทนแล้ว
แต่ SAAB Kockums สวีเดนได้เสนอแบบเรือดำน้ำ A26 ให้หลายประเทศอยู่ เช่นเสนอเรือ 4,000tons ที่พัฒนาจาก A26 ให้กองทัพเรืออสเตรเลียในโครงการทดแทนเรือชั้น Collins
หรือการเสนอเรือดำน้ำ A26 ให้กองทัพเรือโปแลนด์ทดแทนเรือแบบ Project 877E Kilo ORP Orzel ๑ลำแข่งกับ U212A ของ TKMS และ Scorpene ของ DCSN
ตรงนี้มองว่าถ้าดูจากที่ระบบของกองทัพเรือไทยในช่วงหลังที่ใช้ระบบของ SAAB สวีเดนอย่างมาก ทั้งโครงการปรับปรุงเรือชุด ร.ล.นเรศวร และระบบที่ติดตั้งกับเรือฟริเกตสมรรถนะสูงที่สั่งต่อกับ DSME เกาหลีใต้แล้ว
ถึงแม้ว่าเรือแบบ A26 จะยังไม่มีการสร้างออกมาจริง แต่ก็น่าจะเป็นแบบเรือดำน้ำที่เหมาะกับไทยมาก เพราะทะเลบอลติกในสวีเดนก็เป็นทะเลน้ำตื้นที่ลึกน้อยกว่าอ่าวไทย
(สวีเดนแม้เป็นประเทศเป็นกลางแต่ก็มีภัยคุกคามหลักจากเรือดำน้ำรัสเซียที่เข้ามาสอดแนมล้ำน่านน้ำสวีเดนบ่อยมากซึ่งตรวจจับได้หลายครั้งแต่ทำอะไรไม่ได้มาก)
ถ้าไม่ติดปัญหาเรือดำน้ำสวีเดนก็น่าจะยังเป็นตัวเลือกที่ดีอยู่ แม้ส่วนตัวจะคิดว่าไม่น่ามีโอกาสมากนักในขณะนี้ครับ
ด้านเรือดำน้ำรัสเซียอย่าง Project 636M Kilo ที่กองทัพเรือประชาชนเวียดนามจัดหามา ๖ลำซึ่งขณะนี้ได้รับมอบแล้ว ๓ลำ
อาจจะมีข้อแย้งว่าเนื่องจากระบบเรือดำน้ำของไทยนั้นต้องเริ่มใหม่ตั้งแต่ศูนย์ การจะเลือกเรือดำน้ำของรัสเซียก็อาจจะเป็นตัวเลือกหนึ่งที่กองทัพเรือไทยสามารถพิจารณาได้เช่นกัน
แต่อย่างไรก็ตามส่วนตัวยังมองว่าการจัดตั้งกองเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทยทั้งระบบการฝึกและการส่งเจ้าหน้าไปฝึกศึกษาที่ต่างประเทศจะอิงระบบของตะวันตกโดยเฉพาะเยอรมนีเป็นหลัก
อีกทั้งกองทัพเรือไทยไม่เคยจัดหาระบบอาวุธเรือหลักจากรัสเซียเลยด้วย แม้ว่ารัสเซียจะส่งตัวแทนมานำเสนอเรือแบบ Kilo หรือ AMUR หลายครั้ง
เพราะฉะนั้นส่วนตัวยังมองว่าเรือดำน้ำของรัสเซียคงจะเกิดในกองทัพเรือไทยค่อนข้างยากครับ
สำหรับจีนอย่างที่ทราบว่าพยายามเสนอขายหรือเช่าซื้อเรือดำน้ำให้กองทัพเรือมาตลอดเช่นการเสนอให้เช่าซื้อเรือแบบ Type 039 Song ที่กล่าวไปในข้างต้น
หรือการเสนอเรือดำน้ำแบบ S20 ที่เป็นรุ่นส่งออกของ Type 039A Yuan ที่ลดขนาดลงจาก3,600tons เป็น 1,850tons และลดสมรรถนะคือตัด AIP ออก
ซึ่งโครงการเรือดำน้ำที่ปากีสถานจะเจรจาจัดหาจากจีน ๖ลำก็เป็นในลักษณะนั้น
แต่ก็อย่างที่ทราบว่านอกจากบังคลาเทศที่จะจัดหาเรือชั้น Type 035 Ming มือสอง ๒ลำวงเงิน $200 million แล้วก็แทบจะไม่เคยมีประเทศอื่นใดที่จัดหาเรือดำน้ำจีนไปใช้เลย
และก็เช่นกันว่าที่ผ่านมากองทัพเรือไม่ค่อยพอใจกับคุณภาพเรือรบที่ต่อจากจีนนัก ตั้งแต่เรือชุด ร.ล.เจ้าพระยา ชุด ร.ล.กระบุรี ชุด ร.ล.นเรศวร จนถึงชุด ร.ล.ปัตตานี
เข้าใจว่ากองทัพเรือน่าจะเลี่ยงเรือดำน้ำจีนให้ใด้มากที่สุดถ้าเป็นไปได้ เพราะถ้ากองทัพเรือไทยจะจัดหาเรือดำน้ำจีนจริงคงจะเป็นการแบกรับความเสี่ยงอย่างมากครับ
ถ้ากองทัพเรือเลือกเรือดำน้ำที่ผลิตจากเกาหลีใต้แบบเดียวกับที่อินโดนีเซียสั่งจัดหาไปล่าสุดคือแบบ DW1400Tของ DSME ๓ลำก็ถือว่ายอมรับได้ครับ
เพราะพื้นฐานระบบเรือดำน้ำของกองทัพเรือเกาหลีใต้เป็นระบบเยอรมัน ตั้งแต่ชั้น Chang Bogo U209/1200 และชั้น Son Won il U214
ซึ่งกำลังพลในส่วนที่กองทัพเรือผลิตมาในหน่วยกองเรือดำน้ำก็มาจากแหล่งการศึกษาตะวันตกโดยเฉพาะเยอรมนีเป็นหลักรวมถึงเกาหลีใต้ตามข้อมูลในข้างต้นด้วย
อย่างไรเรือดำน้ำเกาหลีใต้ก็คงน่าจะเหมาะสมและดีกว่าเรือดำน้ำจีนสำหรับกองทัพเรือไทยครับ
อย่างไรก็ตามก็ตามที่เคยกล่าวมาแล้วหลายครั้งครับว่าโครงการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทยยังไม่มีอะไรที่แน่นอนในขณะนี้
กองทัพเรือเองยังมีโครงการจัดหายุทโธปกรณ์ที่สำคัญซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมากต่อเนื่องอยู่หลายโครงการครับ
เช่นโครงการจัดหาเรือฟริเกตสมรรถนะสูงใหม่จากเกาหลีใต้ซึ่งต้องจัดหาให้ครบ ๒ลำ พร้อมการถ่ายทอด Technology การต่อเรือในประเทศ
โครงการอากาศยานของกองการบินทหารเรือ เช่น เครื่องบินลาดตระเวนแบบใหม่แทน P-3T ที่ปลดประจำการไป
อาจรวมถึง F-27 Mk200 กับ DO-228 ในอนาคต และ UAV ตรวจการณ์แทน T-337 ด้วย
การจัดหา ฮ.ลล.๕ MH-60S เพิ่มเติมให้ครบความต้องการ ๖เครื่อง โครงการจัดหา ฮ.ประจำเรือฟริเกตใหม่ ๔เครื่อง
ในส่วนของนาวิกโยธินก็มีเช่นการขยายขนาดกำลังเพิ่มอย่างการจัดตั้งกรมทหารราบที่๒อีกกรม การจัดหารถเกราะล้อยางระยะที่๒ อีก๑๒คัน
และอีกหลายๆอย่างมากครับ
ถึงแม้ว่าจะมีการเปิดอาคารกองบัญชาการกองเรือดำน้ำ ณ ที่ตั้งถาวรที่สัตหีบ เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา
แต่ในช่วงปัจจุบันนี้มองว่าเป็นไปได้ยากมากที่กองทัพเรือจะได้รับงบประมาณตามที่ประเมินไว้คือราว ๔๐,๐๐๐ล้านบาท สำหรับการจัดหาเรือดำน้ำ ๒ลำได้
ส่วนตัวเกรงเหลือเกินว่าในอนาคตอันใกล้กองทัพพม่าอาจจะจัดหาเรือดำน้ำเข้าประจำการเพื่อคานอำนาจกับกองทัพเรือบังคลาเทศที่มีข้อพิพาททางทะเลกันอยู่
ซึ่งกองทัพเรือพม่าอาจจะได้เรือดำน้ำมาประจำการได้ก่อนกองทัพเรือไทยก็ได้ ตราบใดที่โครงการเรือดำน้ำยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและประชาชนส่วนใหญ่อยู่
และยิ่งกองทัพเรือไทยยังไม่มีเรือดำน้ำประจำการถึงขั้นพร้อมรบนานเท่าไร การคงอำนาจในการป้องกันภัยคุกคามทางทะเลของไทยก็ยิ่งลดขีดความสามารถลงเรื่อยๆเท่านั้น
ฉะนั้นตรงนี้มองว่าก่อนที่จะเริ่มประกาศการจัดตั้งโครงการเรือดำน้ำใหม่จริง งานหลักของกองเรือดำน้ำก็คือการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าเข้ากับทุกภาคส่วนให้ประสบผลมากที่สุด
เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาซ้ำกับที่เคยเกิดกับโครงการเรือดำน้ำแบบ U206A ที่ผ่านมา เพราะกองทัพเรือไทยเมื่อตั้งกองเรือดำน้ำแล้วก็ต้องมีเรือดำน้ำประจำการจริงให้ได้ครับ