วันพุธที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2559

กองทัพเรือไทยทำพิธีวางกระดูกงูเรือลากจูงขนาดกลาง














วันนี้ (19 มกราคม 2559) เวลา 10.45 น. พลเรือเอก ณะ อารีนิจ
ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีวางกระดูกงูเรือลากจูงขนาดกลาง (ลจก.) ณ อู่ต่อเรือ บริษัท อิตัลไทย มารีน จำกัด ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ
กองทัพเรือได้ว่าจ้างสร้างเรือลากจูงขนาดกลาง (ลจก.) จำนวน 1 ลำ จากบริษัท อิตัลไทย มารีน จำกัด ซึ่งจากการดำเนินโครงการนี้เป็นการจัดหาเรือลากจูงเพื่อทดแทนเรือเก่า 
และให้มีเรือลากจูงขนาดกลางในจำนวนที่เพียงพอ รวมทั้งให้สอดคล้องกับการสนับสนุนเรือต่างๆ ในทุกพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพเรือ 
ทั้งนี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้อนุมัติ กรอบงบประมาณให้กองทัพเรือก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณโครงการจัดหาเรือลากจูงขนาดกลาง โดยผูกพันปีงบประมาณ 2558 – 2559 
และ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยังได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณปี 2558 ซึ่งมีงบประมาณของโครงการจัดหาเรือลากจูงขนาดกลางรวมอยู่ด้วย 
กองทัพเรือ จึงได้ว่าจ้าง บริษัท อิตัลไทย มารีน จำกัด ดำเนินการจัดสร้างเรือลากจูง ขนาดกลาง ดังกล่าว

คุณลักษณะของเรือลากจูงขนาดกลาง
เป็นไปตามที่กองทัพเรือกำหนด แบบเรือออกแบบโดย บริษัท Robert Allan Ltd., Naval Architects and Marine Engineering ประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นผู้ออกแบบเรือลากจูงที่มีชื่อเสียงระดับโลก 
แบบเรือที่ใช้คือ RAmparts 3200CL เป็นแบบเรือมาตรฐาน RAmparts 3200 Series ของ Robert Allan ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ได้ผ่านการสร้างโดยอู่ต่อเรือต่าง ๆ ทั่วโลก และ เป็นที่ยอมรับของเจ้าของเรือมาแล้วเป็นจำนวนมากกว่า 100 ลำ
แบบเรือ RAmparts 3200 ของ Robert Allan Ltd. ได้ปรับปรุงให้ตรงกับความต้องการของกองทัพเรือ ตัวเรือทำด้วยเหล็ก ประสานด้วยการเชื่อม ความหนาของแผ่นเหล็ก 
ออกแบบให้หนากว่าความต้องการขั้นต่ำของสมาคมจัดชั้นเรือ และเรือออกแบบให้เป็นเรือที่ให้บริการบริเวณท่าเรือประเภท ship – assist tug ลากจูง (Towing) ส่วนการทำงานใช้ดึง และดันทางด้านหัวเรือเป็นหลัก 
โดยมี กว้านลากจูง และกว้านเก็บเชือก ระบบขับเคลื่อนเป็นแบบ Azimuth Stem Drive (ASD)หรือ Z – drive ชนิดสองใบจักร ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดีเซล และติดตั้งระบบดับเพลิงภายนอกเรือ ที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดีเซลที่แยกต่างหากจากเครื่องจักรใหญ่

สมรรถนะของเรือ
เรือมีกำลังเพียงพอที่จะทำให้เรือมีกำลังดึงไม่น้อยกว่า 53 เมตริกตัน และวงหันหมุนรอบตัวเอง (360 องศา) ใช้เวลาไม่เกิน 60 วินาที

ลักษณะโดยทั่วไป
ขนาดของเรือ
1. ความยาวตลอดลำเฉพาะตัวเรือ 32.00 เมตร
2. ความกว้าง 12.40 เมตร
3. กินน้ำลึกสูงสุด 4.59 เมตร
4. ระยะตั้งฉากจากหัวเรือถึงเก๋ง 9.10 เมตร
ความจุถัง (อัตราการบรรทุก)
1. น้ำมันเชื้อเพลิง 149.2 ลูกบาศก์เมตร
2. น้ำจืด 49.00 ลูกบาศก์เมตร
3. ถังน้ำถ่วงเรือ 56.00 ลูกบาศก์เมตร
4. ถังบรรจุของเสีย 5.90 ลูกบาศก์เมตร
5. ถังเก็บน้ำมันที่สกปรกปนเปื้อน 5.90 ลูกบาศก์เมตร
6. ถังน้ำยาดับเพลิงโฟมเคมี 6.90 ลูกบาศก์เมตร
7. ถังบรรจุสารเคมีกำจัดคราบน้ำมัน 6.90 ลูกบาศก์เมตร

ความเร็วเรือ
ความเร็วสูงสุดต่อเนื่องที่ระวางขับน้ำเต็มที่ ไม่ต่ำกว่า 12 นอต โดยกำลังเครื่องยนต์ไม่เกินร้อยละ 100 ของ MCR (Maximum Continuous Rating)

ระยะปฏิบัติการ
ระยะปฏิบัติการไม่น้อยกว่า 2500 ไมล์ทะเล ด้วยความเร็ว 8 นอต ที่ระวางขับน้ำเต็มที่ (Full Load Displacement) โดยใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ไม่เกินร้อยละ 95 ของความจุน้ำมันเชื้อเพลิงเต็มถัง

กำลังพลประจำเรือ
นายทหาร จำนวน 3 นาย
พันจ่า จำนวน 3 นาย
จ่า จำนวน 6 นาย
พลทหาร จำนวน 4 นาย
รวมพลประจำเรือทั้งหมด จำนวน 16 นาย

กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
https://th-th.facebook.com/prthainavy/posts/1093746967343325
https://th-th.facebook.com/prthainavy
https://www.facebook.com/media/set/?set=a.1126215814057701.1073742212.546940131985275
https://www.facebook.com/RTNI2459/

ปัจจุบันตามข้อมูลที่ปรากฎกองทัพเรือไทยมีเรือลากจูงขนาดกลางอยู่สองชุดคือ
ชุด ร.ล.ริ้น ประกอบด้วย ร.ล.ริ้น 853 และ ร.ล.รัง ต่อที่สิงคโปร์ เข้าประจำการตั้งแต่ ๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๔
และชุด ร.ล.แสมสาร ประกอบด้วย ร.ล.แสมสาร 855 และ ร.ล.แรด ต่อภายในไทย เข้าประจำการตั้งแต่ ๒๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๗ และ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๗
จะเห็นได้ว่าเรือ ลจก.ทั้งสองชุดโดยเฉพาะ ชุด ร.ล.ริ้น นั้นมีอายุการใช้งานมากแล้วจึงจำเป็นที่ต้องมีการจัดสร้างเรือใหม่เข้าประจำการทดแทนต่อไปครับ