วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ความคืบหน้าโครงการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพไทยในปี ๒๕๕๙-๑

มาติดตามความคืบหน้าของโครงการจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพไทยประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๙ ในเดือนมกราคม ๒๕๕๙ บางส่วนครับ

New contract for Royal Thai Navy Offshore Patrol Vessel
We have signed a new contract with Bangkok Dock to assist in the licensed construction of a second 90 metre Offshore Patrol Vessel for the Royal Thai Navy.
http://www.baesystems.com/en/article/new-contract-for-royal-thai-navy-offshore-patrol-vessel

ในส่วนกองทัพเรือไทย BAE Systems สหราชอาณาจักรได้แถลงข่าวการลงนามสัญญาร่วมกับบริษัทอู่กรุงเทพ Bangkok Dock ในการช่วยเหลือทาง Technic สำหรับการก่อสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งขนาด 90m ชุด ร.ล.กระบี่ ลำที่๒
ซึ่งบริษัทอู่กรุงเทพได้ซื้อสิทธิบัตรแบบเรือจาก BAE Sytems Maritime-Naval Ships (BVT Surface Ships เดิม)

http://www.supplyonline.navy.mi.th/pdf2/16631.pdf
ถ้าดูจากรายละเอียดที่ลงใน Website ศูนย์ข้อมูลจัดซื้อ จัดจ้าง สอบราคา ประกวดราคา ของกองทัพเรือ เกี่ยวกับโครงการจัดหาในส่วนของสำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์ทหารเรือ สยป.ทร.นั้น
มีเอกสารโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง (ชุด ร.ล.กระบี่ ลำที่๒) วงเงินงบประมาณรวม ๒,๖๕๐ล้านบาท ดำเนินงานช่วงปีงบประมาณ ๒๕๕๙-๒๕๖๑ ซึ่งมีรายละเอียดโครงการจัดซื้อย่อย ๕รายการ ได้แก่
๑.การจัดซื้อระบบควบคุมบังคับบัญชาการและตรวจการณ์ ๑,๔๐๐ล้านบาท
๒.การจัดซื้อระบบอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่พื้น (ยังไม่ทราบข้อมูลแบบที่เลือก) ๓๖๐ล้านบาท
๓.การจัดซื้อระบบปืนหลัก (น่าจะเป็น ปืนใหญ่เรือ OTO Melara 76/62) ๓๗๐ล้านบาท
๔.การจัดซื้อปืนรอง (น่าจะเป็น ปืนใหญ่กล MSI DS30MR 30mm) ๑๕๐ล้านบาท
๕.การบริหารโครงการและการฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ รวมทั้งการดำเนินการอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ๓๗๐ล้านบาท

ตรงนี้ก็ค่อนข้างจะเป็นไปตามข้อมูลเอกสารที่เคยมีภาพหลุดออกมาเผยแพร่ในปีที่แล้วครับว่า เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชุด ร.ล.กระบี่ ลำที่๒นี้จะมีความก้าวหน้าด้านแบบแผนกว่า ร.ล.กระบี่ ที่เข้าประจำการตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๖(2013) แล้วมาก
คือมีลานจอดและโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ท้ายเรือ และมีการติดตั้งระบบอาวุธปล่อยนำวิถีต่อต้านเรือผิวน้ำ นับว่าเป็นแบบแผนเรือที่ก้าวหน้ามากที่สุดของแบบเรือ BAE Systems 90m OPV(Offshore Patrol Vessels)
ถ้าเทียบเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น River ของกองทัพเรือสหราชอาณาจักร และเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น Amazonas ของกองทัพเรือบราซิล ที่ติดตั้งอาวุธเบากว่าเรือ ตกก.ชุด ร.ล.กระบี่มากคือมีแต่ปืนใหญ่กลเป็นอาวุธหลัก

กำลังเรือรบในสังกัดกองเรือตรวจอ่าวนั้นในอนาคตอันใกล้ก็จำเป็นต้องมีการจัดหาเรือรบใหม่มาทดแทนเรือเก่าที่จะต้องปลดประจำการไปจำนวนหนึ่ง
เช่น เรือเร็วโจมตีติดอาวุธปล่อยนำวิถีชุด ร.ล.ปราบปรปักษ์ ซึ่งถููกถอดอาวุธปล่อยนำวิถีต่อต้านเรือผิวน้ำ Gabriel ที่หมดอายุการใช้งานไปสิบกว่าปีแล้วและตัวเรือก็มีอายุมากคือ ๔๐ปีแล้ว
ตรงนี้เข้าใจว่าในอนาคตกองทัพเรือจะเริ่มทยอยจัดหาเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งเพิ่มเติมและปรับปรุงเรือ ตกก.ที่ประจำการอยู่เช่น ชุด ร.ล.ปัตตานี ให้มีขีดความสามารถในการใช้อาวุธปล่อยนำวิถีต่อต้านเรือผิวน้ำมาทดแทนเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถี และเรือเร็วโจมตีปืน
เพราะเรือ ตกก.นั้นมีความอ่อนตัวในการใช้งานมากว่าเรือ รจอ.และเรือ รจป.ซึ่งตัวเรือมีขนาดเล็กไม่มีความทนทะเลมากซึ่งค่อนข้างล้าสมัยต่อหลักนิยมในการใช้กำลังทางทะเลของกองทัพเรือในปัจจุบันแล้ว


ทั้งนี้ตามรายงานของงานแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ Defense & Security 2015 เมื่อปีที่แล้วนั้น ทาง Thales สนใจที่จะเสนอการปรับปรุงระบบเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชุด ร.ล.ปัตตานี
และมีข้อมูลว่ากองทัพเรือไทยสนใจแบบเรือคอร์เวต BAE Sytems 99m Corvettes อย่างชั้น Khareef ของกองทัพเรือโอมาน
ซึ่งกองทัพเรืออาจจะสนใจนำมาทดแทนเรือเก่าที่ประจำการมานานในกองเรือฟริเกตที่๑ เช่น เรือฟริเกต ชุด ร.ล.ตาปี และชุด ร.ล.มกุฎราชกุมาร และเรือคอร์เวต ชุด ร.ล.รัตนโกสินทร์ ในอนาคตครับ

Aerostar Tactical Unmanned Aerial System

http://www.dae.mi.th/auction/egpdae/procurement/special/3%20UAVs.pdf
ในส่วนของกองทัพอากาศไทย มีรายงานเอกสารโครงการจัดซื้ออากาศยานไร้คนขับ จำนวน ๑ระบบ (UAV ๓เครื่อง) ของกรมช่างอากาศ วงเงิน ๔๐ล้านบาท กับบริษัท Aeronautics Ltd. อิสราเอล
ปัจจุบัน ฝูงบิน๔๐๔ กองบิน๔ ซึ่งเป็นฝูงบิน UAV ของกองทัพอากาศไทยมี UAV แบบ Aerostar ประจำการอยู่ราว ๕เครื่อง
และได้มีการรายงานเอกสารการจัดผลิตอากาศยานไร้นักบินต้นยุทธวิธีขนาดกลาง บร.ทอ.๑ Tiger Shark II จำนวน ๑๗เครื่อง วงเงิน ๕๗๙,๗๐๔,๖๐๐บาท ของ ศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการบินและอวกาศกองทัพอากาศ
ตรงนี้ไม่แน่ใจว่า UAV ๑ระบบ ๓เครื่องที่กรมช่างอากาศจะจัดหานั้นเป็นการจัดหา UAV แบบ Aerostar เพิ่ม หรือเป็น UAV แบบอื่น โดยไม่แน่ใจว่าที่กรมช่างอากาศจะจัดหามาจำนวนเท่านี้เพื่อจะใช้การศึกษาประเมินค่าเพื่อการวิจัยพัฒนาหรือนำไปใช้งานอย่างอื่นครับ

Mi-28 Russian Air Force (wikipedia.org)

ในส่วนของกองทัพบกไทยอีกข่าวหนึ่งที่มีกระแสออกมาคือกรณีที่กองทัพบกไทยอาจจะสนใจเฮลิคอปเตอร์โจมตีแบบ Mil Mi-28 (NATO กำหนดรหัส Havoc) จากรัสเซีย
เพื่อทดแทน ฮ.จ.๑ AH-1F Cobra ที่ประจำการในกองบินปีกหมุนที่๓ ศูนย์การบินทหารบก จำนวน ๗เครื่อง
แต่โดยความเห็นส่วนตัวแล้วมองว่าโอกาสความเป็นไปได้ในกรณีนี้อาจจะไม่ได้มีมากนักก็ได้ครับ 

เพราะช่วงหลายปีหลังมานี้กองทัพบกยังใช้วิธีการจัดหาอากาศยานมาใช้งานแบบสั่งจัดหาเป็นชุดจำนวนไม่มากนั้น จะเห็นได้จากตามที่รายงานไปทั้งการจัดหา เช่น
เฮลิคอปเตอร์ลาดตระเวนติดอาวุธ ฮ.ลว./อว.๕๕๐ AS550 C3, เฮลิคอปเตอร์ลำเลียงใช้งานทั่วไป ฮ.ท.๗๒ UH-72A, ฮ.ท.๖๐ UH-60M, ฮ.ท.๑๓๙ AW139, H145 และ ฮ.ท.๑๗ Mi-17V5 เป็นต้นนั้น
ที่กล่าวมาในข้างต้นไม่มีอากาศยานแบบใดที่จัดหามาในชุดโครงการหนึ่งเกิน ๑๐เครื่องขึ้นไป  ซึ่งในความจำเป็นทางการใช้งานแล้วกองทัพบกยังมีความต้องการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงใช้งานทั่วไปใหม่ทดแทน ฮ.เก่าที่ใกล้จะหมดอายุใช้งานอีกหลายแบบครับ
ทั้ง ฮ.ท.๑ UH-1H, ฮ.ท.๒๐๖ Bell 206A และ ฮ.ล.๔๗ CH-47D ที่จำเป็นต้องมีการพิจารณาแบบเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงหนักแบบใหม่มาแทนในอนาคต ซึ่งเฮลิคอปเตอร์เหล่านี้มีความจำเป็นในการจัดหามาใช้งานมากกว่าเฮลิคอปเตอร์โจมตีมาก

AH-1F EDA Royal Thai Army

ถึงแม้ว่ากองทัพบกจะจัดหา ฮ.จ.๑ AH-1F ๔เครื่องแรกตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๔(1991) และจัดหา AH-1F EDA เพิ่มเติมในปี พ.ศ.๒๕๕๕(2012) ๔เครื่องซึ่งเป็นเครื่องที่ผ่านการใช้มาแล้วก็ตาม
แต่ว่าด้วยเหตุผลด้านความเหมาะสมด้านงบประมาณ กองทัพบกอาจจะยังคงจำเป็นต้องประจำการ ฮ.จ.๑ AH-1F ต่อไปอีกสักระยะ เพราะการจะจัดหาเฮลิคอปเตอร์โจมตีใหม่นั้นไม่ว่าจะเป็นของสหรัฐฯ ยุโรปตะวันตก หรือรัสเซียก็ต้องใช้งบประมาณสูงทั้งนั้น
อย่างเช่นเฮลิคอปเตอร์โจมตีแบบ AH-64A Apache นั้นเคยอ่านบทความมาว่านักบิน ฮ.ของกองทัพบกแสดงความเห็นส่วนตัวว่ามีราคาแพงกว่า ฮ.จ.๑ AH-1F แต่ไม่ได้มีขีดความสามารถการรบต่างกันอย่างเด่นชัดนัก
หรือในกรณีของ ฮ.โจมตี AH-64E Block III Apache Guardian รุ่นล่าสุดที่ปรับปรุงระบบล้ำยุคหลายอย่าง เช่น กล้องตรวจจับที่แสดงภาพสีในเวลากลางคืนได้ ก็มีราคาที่แพงมากๆ จนกองทัพบกไม่น่าจะมีงบประมาณมากพอที่จะเลือกจัดหา
จะเห็นได้จากที่ยังมีโครงการจัดหายุทโธปกรณ์หลายโครงการที่ถูกระงับหรือชะลอไปเพราะไม่มีงบประมาณ เช่นโครงการอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้รถถังทดแทน M47 Dragon ที่มีข่าวเลือก Spike MR แต่ก็ยังไม่มีการจัดหาเพราะไม่มี งป.เป็นต้น

แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเฮลิคอปเตอร์โจมตีรัสเซียอย่าง Mi-28 จะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าเสมอไปถ้ามองด้านราคาต่อประสิทธิภาพอย่างที่กองทัพบกไทยได้จัดหา ฮ.ท.๑๗ Mi-17V5 เข้าประจำการใน กองบินสนับสนุนทั่วไป ศูนย์การบินทหารบก จำนวน ๕เครื่องแล้ว
เพราะต้องคำนึงด้วยว่าในส่วนอากาศยานติดอาวุธที่มีประจำการในกองทัพบกตั้งแต่อดีตปัจจุบัน เช่น ฮ.ท.๑ UH-1H Huey Gunship, ฮ.จ.๑ AH-1F Cobra และ ฮ.ลว./อว.๕๕๐ AS550 C3 นั้นระบบอาวุธพื้นฐานบางส่วนสามารถใช้งานร่วมกันได้ตามมาตรฐาน NATO
เช่น ปืนกล M60D และ M134 Minigun ที่ติดกับ Huey Gunship ใช้กระสุนขนาด 7.62x51mm NATO ร่วมกับปืนกล FN MAG ที่ติดกับ AS550 C3 
รวมถึงกระสุนกระเปาะปืนกลหนัก FN HMP400 ขนาด .50cal (12.7x99mm) ที่ติดกับ AS550 C3 และปืนใหญ่อากาศสามลำกล้องหมุน M197 ขนาด 20x102mm ของ AH-1F ก็เป็นกระสุนมาตรฐานที่ใช้งานกองทัพบกมานาน  
เช่นเดียวกับจรวดอากาศสู่พื้นขนาด 2.75" FFAR (Hydra 70mm) ที่ติดกับกระเปาะจรวด M260 ความจุ 7นัดที่ติดกับ Huey Gunship และ M261 ความจุ 19นัด ที่ติดกับ AH-1F นั้นก็เป็นมาตรฐานเดียวกับที่ใช้กับกระเปาะจรวด FZ220 หรือ FZ223 ความจุ 7นัดของ AS550 C3 ด้วย

Mil Mi-28 weapons load 16 Ataka anti-tank missiles and 40 S-8 rockets(wikipedia.org)

ขณะที่ระบบอาวุธที่ติดตั้งใช้กับ ฮ.โจมตี Mi-28 นั้นเรียกได้ว่าแทบจะต้องจัดหาใหม่ทั้งหมด อาจจะยกเว้นกระสุนปืนใหญ่อากาศ 2A42 ขนาด 30x165mm ที่ใช้กระสุนขนาดเดียวกับปืนใหญ่กล ZTM-1 ของรถเกราะล้อยาง BTR-3E1 
นอกนั้นต้องจัดหาใหม่ทั้งจรวดอากาศสู่พื้น S-8 ขนาด 80mm และ S-13 ขนาด 122mm, อาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่พื้นต่อสู้รถถัง 9M120M Ataka และส่วนอุปกรณ์สนับสนุนการปรนนัติบัติซ่อมบำรุงอื่นๆเป็นต้น
ตรงนี้มองว่ากองทัพไทยนั้นดูจะไม่เหมาะกับการใช้กำลังอากาศยานรบที่มีความแตกต่างด้านระบบอาวุธกันโดยสิ้นเชิงสองค่ายขึ้นไปในกองทัพนัก เพราะมีความสิ้นเปลืองสูงส่งผลต่อสภาพความพร้อมรบในภาพรวมเช่นเดียวกับที่เห็นในหลายประเทศเพื่อนบ้าน ASEAN
แต่ไม่แน่ว่าหลังจากที่กองทัพบกไทยจัดหาระบบอาวุธจากรัสเซีย-ยูเครนมากขึ้น เฮลิคอปเตอร์โจมตี Mi-28 อาจจะเป็นตัวเลือกที่จะต้องจับตาว่าอาจจะมีการจัดหาจริงในอนาคตก็ได้ครับ 


ช่วงวันที่ ๒๕-๒๘ มกราคม ที่ผ่านมา พลเอก ธีรชัย นาควานิช และคณะนายทหารได้ทำการเยี่ยมเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนตามคำเชิญของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน
ซึ่งนอกจากการเข้าพบรัฐมนตรีกลาโหมจีนและนายทหารระดับสูงของกองทัพปลดปล่อยประชาชนแล้ว ยังมีการเยี่ยมชมส่วนอุตสาหกรรมยุทโธปกรณ์ของจีนด้วย
แต่อย่างไรก็ตามในแง่ความคืบหน้าการจัดหาอาวุธจากจีนในส่วนของกองทัพบก เช่น การพิจารณาแบบรถถังหลัก VT4 (MBT-3000) นั้นยังไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมในขณะนี้ 
ซึ่งก็คงต้องติดตามข่าวการเยือนของผู้นำรัฐบาล กองทัพ และกระทรวงกลาโหมของไทยกับประเทศอื่นภายในปีนี้ เช่นกับรัสเซียที่มีการพิจารณาแบบรถถังหลัก T-90 ด้วย

อย่างไรก็ตามเท่าที่ได้กระแสข่าวมาล่าสุดเรื่องการพิจารณาแบบรถถังหลักใหม่นั้น ดูเหมือนว่ารถถังหลักจากจีนจะมีโอกาสสูงครับ แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับว่ากองทัพบกจะได้รับงบประมาณสำหรับการจัดหารถถังหลักใหม่หรือไม่ในวงเงินเท่าไร
และแม้ว่าสายการผลิตของรถถังหลัก Oplot-T จะล่าช้าไม่เป็นไปตามที่วางแผนมาไว้ ซึ่งโรงงาน Malyshev ที่เป็นผู้สร้างรถถังหลัก Oplot จะเปลี่ยนผู้อำนวยการโรงงานมาแล้ว4-5คนภายในเวลไม่ถึง2ปี
แต่ทางกองทัพบกไทยดูจะยังไม่มีแผนที่จะยกเลิกโครงการจัดหารถถังหลัก Oplot ครับ