วันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ความคืบหน้าโครงการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพไทยในปี ๒๕๖๐-๑

NORINCO VT4(MBT-3000) Main Battle Tank demonstrated at Zhuhai Air Show 2016, 1-6 November 2016

ตามคำให้สัมภาษณ์ต่อสื่อของ พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบกเมื่อต้นเดือนมกราคมถึงโครงการจัดหาอาวุธโธปกรณ์ของกองทัพบกหลายโครงการนั้น
โครงการจัดหารถถังหลัก VT4(MBT-3000) จาก NORINCO สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งงบประมาณปี พ.ศ.๒๕๕๙(2016) ที่ผ่านมามีการลงนามสัญญาจัดหาไปแล้ว ๒๘คัน วงเงิน ๔,๙๘๔ล้านบาทนั้น
ในงบประมาณปี พ.ศ.๒๕๖๐(2017) ก็จะมีการดำเนินการจัดหาต่อในระยะที่๒ ให้ครบหนึ่งกองพันทหารม้ารถถัง(เพิ่มอีก จัดหาอีก ๒๑คัน รวมประมาณ ๔๙คัน) วงเงินประมาณ ๒พันล้านบาท
เป็นงบประมาณผูกพันต่อเนื่อง ๓ปี และจะเริ่มส่งมอบรถถัง VT4 ในปีงบประมาณ ๒๕๖๐-๒๕๖๑(2017-2018) โดยชุดแรก ๒๘คันจะอาจจะส่งมอบมาในช่วงเดือนตุลาคมปีนี้ ซึ่งนับว่าค่อนข้างเร็วมากนับตั้งแต่สั่งจัดหาในปี ๒๕๕๙

โดยตามข้อมูลล่าสุดการจัดหารถถังหลัก VT ในระยะที่๒ งป.๖๐ นี้จะจัดซื้อเพิ่มเติมอีก ๑๐คัน พร้อมรถเกราะสายพานกู้ซ่อมอีก ๑คัน รวมถึงกระสุนระเบิดแรงสูงต่อสู้รถถัง(HEAT-T) อีกกว่า ๑,๐๐๐นัดด้วย
ตรงนี้ส่วนตัวเข้าใจได้ว่าเป็นข้อจำกัดด้านงบประมาณที่จะต้องทยอยจัดหาไปในแต่ละปีงบประมาณ ซึ่งเมื่อมีการสั่งจัดหา ถ.หลัก VT4 รวม ๓๘คันแล้ว ก็น่าจะต้องมีการจัดหาเพิ่มอีก ๑๐คันในปีงบประมาณหน้าต่อไป
ซึ่งกระทรวงกลาโหมและกองทัพไทยมีนโยบายที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมความมั่นคงในประเทศ โดยจีนเป็นประเทศหนึ่งที่มีความสามารถพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือด้านนี้แก่ไทย เช่นการจัดตั้งโรงงานศูนย์ซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์จีนในไทยครับ

Royal Thai Army Oplot and M60A3 Upgraded display at Royal Thai Army Day 2017 parade(tv5.co.th, ch7.com)

ทั้งนี้กองทัพบกไทยมีความจำเป็นต้องการจัดหารถถังหลักหลักใหม่เพื่อทดแทนรถถังเบา M41A3 ที่ประจำการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๕
โดยในส่วนโครงการจัดหารถถังหลัก Oplot-T จากยูเครนนั้น การผลิต การส่งกำลังบำรุง และการจัดส่งให้ไทยมีความล่าช้าอย่างมาก เนื่องจากปัญหาสงครามภายในระหว่างกองกำลังความมั่นคงรัฐบาลยูเครนกับกองกำลังติดอาวุธนิยมรัสเซีย
จากที่เอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทย และ Ukroboronprom รัฐวิสาหกิจด้านอุตสาหกรรมความมั่นคงยูเครนเคยให้สัญญาไว้ว่าจะจัดส่งรถถังหลัก Oplot ให้กองทัพบกครบ ๔๙คัน ภายในเดือนมีนาคมปีนี้
แต่จากคำให้สัมภาษณ์ของ ผบ.ทบ.ล่าสุดแจ้งว่าจะส่งมอบ ถ.หลัก Oplot ที่อีกอีกราว ๒๙คัน ครบภายในเดือนตุลาคมปีนี้ นั่นจึงเป็นเหตุผลหลักที่คณะกรรมการจัดหารถถังหลักของกองทัพบกเลือกจัดหารถถังหลัก VT4 จากจีน

แน่นอนด้วยว่าถ้ายูเครนไม่สามารถจะจัดส่ง ถ.หลัก Oplot ที่เหลืออีก ๒๙คันให้ครบภายในปีนี้ตามที่ทางไทยอนุโลมให้ผ่อนผันเลื่อนระยะเวลาการส่งมอบตามสัญญามาหลายครั้ง ทางไทยก็ต้องยื่นคำขาดกับยูเครนที่จะต้องขอยกเลิกโครงการจัดหารถถังหลัก Oplot ไป
แต่นั่นก็ย่อมหมายความว่า กองพันทหารม้าที่๒ กองพลทหารราบที่๒ รักษาพระองค์ จะต้องเป็นกองพันทหารม้ารถถังผสมระหว่างรถถังหลัก M48A5 และ Oplot ไปอีกสักระยะ ซึ่งมีผลเสียหลายด้านต่อแผนการปรับโครงสร้างอัตราจัดกำลังของเหล่าทหารม้า
อย่างไรก็ตามทางยูเครนได้ปฏิเสธกระแสข่าวการยกเลิกการจัดหารถถังหลัก Oplot ที่เหลือ(ซึ่งถูกปล่อยจากสื่อรัสเซีย) ว่าตอนนี้ยังไม่ได้รับการสั่งยกเลิกอย่างเป็นทางการจากทางไทยแต่อย่างใด 
และการจัดส่งรถชุดที่เหลือจะมีขึ้นในเร็วๆนี้จนครบตามสัญญาภายในปีนี้ โดยมีรายงานล่าสุดว่ารถถัง Oplot ชุดใหม่จะถูกส่งมาเพิ่มเติมตั้งแต่ช่วงเดือมกราคมที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีภาพยืนยันครับ

ผบ.ทบ.ยังกล่าวถึงโครงการจัดหาอากาศยานในส่วนของกองทัพบกไทยโดยเฉพาะเฮลิคอปเตอร์นั้น ได้ดำเนินแผนงานเสร็จสิ้นแล้วและปีนี้จะมีการรับมอบอากาศยานเข้าประจำการเพิ่มอีกหลายรุ่น รวมถึงการจัดหาเพิ่มเติมในอนาคต
โดยเฉพาะเฮลิคอปเตอร์แบบใหม่ที่จะมาทดแทนเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไปแบบ ฮ.ท.๑ UH-1H Huey และเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงหนัก ฮ.ล.๔๗ CH-47D ที่มีอายุการใช้งานมานานซึ่งจำเป็นต้องปลดประจำการลงทั้งหมดในอนาคตใกล้ 
ทั้งเฮลิคอปเตอร์ที่ใช้ในงานธุรการ การส่งกำลังบำรุง และลำเลียงอย่าง ฮ.ท.๗๒ UH-72A, ฮ.ท.๑๔๕ H145, ฮ.ท.๑๓๙ AW139 และ ฮ.ท.๑๗ Mi-17V5 และเฮลิคอปเตอร์ที่ใช้ภารกิจทางยุทธวิธีเช่น ฮ.ท.๖๐ UH-60L/UH-60M และ ฮ.ท.๑๔๙ AW149 เป็นต้นครับ

Royal Thai Army M60A3 Upgraded by Elbit Systems Land and C4I display at Royal Thai Army Day 2017 parade(www.tv5.co.th)

การแสดงยุทโธปกรณ์ของกองทัพบกไทยในวันเด็กแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๐(2017) ณ กองพลทหารม้าที่๒ รักษาพระองค์ และในพิธีสวนสนามและกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล เนื่องในวันกองทัพบกและวันกองทัพไทย ปีพ.ศ.๒๕๖๐ ในส่วนมณฑลทหารบกที่๑๑ มทบ.๑๑ ณ กรมทหารราบที่๑๑ รักษาพระองค์นั้น
ก็ได้มีการเปิดตัวรถถังหลัก M60A3 กองพันทหารม้าที่๑๗ รักษาพระองค์ ที่ได้รับการปรับปรุงระบบโดย Elbit Systems อิสราเอลให้เด็กเยาวชนและประชาชนชมด้วย
ซึ่งรถถังหลัก M60A3 ที่ได้รับการปรับปรุงแล้วนี้ก็จะทยอยทำการปรับปรุงจนครบกองพันเมื่องบประมาณอำนวย ซึ่งรวมถึง ถ.หลัก M60A3 กองพันทหารม้าที่๕ รักษาพระองค์ ในอนาคตด้วยครับ

Royal Thai Army BTR-3E1 
https://www.facebook.com/media/set/?set=a.785541138154105.1073741887.100000946781882

ส่วนความคืบหน้าในโครงการจัดหายานเกราะล้อยางใหม่ของกองทัพบกไทยหลังจากที่ได้รับมอบรถหุ้มเกราะล้อยาง BTR-3E1 ยูเครนครบทั้งระยะที่๑ ๙๖คัน และระยะที่๒ ๑๒๑คัน ในส่วนของหน่วยขึ้นตรงบางส่วนใน กองพลทหารราบที่๒ รักษาพระองค์
คือ กองพันทหารราบที่๑ รักษาพระองค์ กรมทหารราบที่๒ รักษาพระองค์ และ กองพันทหารราบที่๑ รักษาพระองค์ กรมทหารราบที่๒๑ รักษาพระองค์ ที่มีแผนจะปรับโครงสร้าง ร.๒ รอ. และ ร.๒๑ รอ.ให้เป็นกรมทหารราบยานเกราะครบทั้งสามกองพันหน่วยขึ้นในตรงกรมนั้น
นอกจากการเสนอจากทางยูเครนที่ถึงความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเปิดสายการผลิตรถเกราะล้อยาง BTR-3E1 ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนจากทางไทยในตอนนี้นัก
รวมถึงการเสนอรถหุ้มเกราะล้อยาง BTR-4 เช่นที่ล่าสุดนาวิกโยธินกองทัพเรืออินโดนีเซียได้ทดสอบ BTR-4M ไปก็ไม่ได้รับความสนใจจากกองทัพบกไทยนักด้วย(มีผลเนื่องจากสถานการณ์ความมั่นคงภายในยูเครนที่ส่งผลต่อการผลิตอาวุธให้ไทยที่ผ่านมาซึ่งไม่เป็นที่น่าพอใจ)

ทางรัสเซียเองที่เสนอรถหุ้มเกราะล้อยาง BTR-82A ซึ่งมีการออกแบบในตระกูลเดียวกับ BTR-3 แต่ขนาดเล็กกว่านั้น มีข้อมูลว่าทางรัสเซียไม่ค่อยอยากให้รถของตนติดตั้งอุปกรณ์มาตรฐาน NATO ซึ่งต้องจัดหาจากกลุ่มประเทศตะวันตกเท่าไร
ซึ่งถ้าจะให้มีการติดตั้งจริงๆก็ต้องมีค่าใช้จ่ายให้ทางรัสเซียเพิ่มเติมในการพัฒนาทดสอบประเมินระบบที่จะติดตั้ง ซึ่งนอกจากเครื่องยนต์ MTU เยอรมนี และระบบส่งกำลัง Allison อย่างที่ใช้กับ BTR-3E1 ของกองทัพบกไทยและนาวิกโยธินกองทัพเรือไทยแล้ว
ระบบสื่อสารมาตรฐาน NATO อย่างระบบวิทยุ Tadiran อิสราเอลที่ใช้กับ BTR-3E1 ที่เชื่อมโยงกับระบบสื่อสารอื่นๆในกองทัพบกได้นั้นมีความสำคัญมาก เพราะระบบรัสเซียตั้งแต่ Intercom ภายในรถและระบบวิทยุรัสเซียไม่มีความเข้ากันได้กับมาตรฐานที่กองทัพบกไทยใช้อยู่
นั่นทำให้มีความเป็นไปได้มากว่ารถหุ้มเกราะล้อยางที่จีนเสนออย่าง NORINCO VN1 ที่การเลือกติดตั้งระบบสื่อสารหรือระบบอื่นๆน่าจะทำตามความต้องการของไทยได้มากกว่า รวมถึงขีดความสามารถในการผลิตและราคา ที่น่าจะเป็นตัวเก็งในโครงการนี้

ซึ่งตามแผนที่กองทัพบกไทยวางไว้มานานตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๙(1986) กองพลทหารราบที่จะปรับโครงสร้างเป็นกองพลทหารราบยานเกราะนอกจาก กองพลทหารราบที่๒ รักษาพระองค์แล้วยังมี กองพลทหารราบที่๓ ในส่วนกองทัพภาคที่๒ และกองพลทหารราบที่๔ ในส่วนกองทัพภาคที่๓ ด้วย
แต่ก็อย่างที่ทราบว่าในระยะเวลา ๓๐ปีมานี้กองทัพบกประสบปัญหาขาดแคลนการสนับสนุนด้านงบประมาณที่ไม่เพียงพอ ทำให้ตอนนี้ พล.ร.๒ รอ.ก็ยังแปรสภาพ นขต.นอกจาก กรมทหาราบที่๑๒ รักษาพระองค์ ที่ใช้รถสายพานลำเลียง M113A3 ครบทั้งสามกองพันทั้งกรมไปนานแล้ว
ทั้ง ร.๒ รอ. และ ร.๒๑ รอ. ยังแปรสภาพเป็นหน่วยทหารราบยานเกราะไม่ครบคือแต่ละมี ร.๒ พัน.ร.๑ รอ. กับ ร.๒๑ พัน.ร.๑ รอ.เท่านั้นที่มี BTR-3E1 ครบ ซึ่ง ร.๒ พัน.ร.๒ รอ., ร.๒ พัน.ร.๓ รอ. กับ ร.๒๑ พัน.ร.๒ รอ. และ ร.๒๑ พัน.ร.๓ รอ. ก็ยังรอยานเกราะล้อยางบรรจุในกองพันอยู่
การจัดหารถหุ้มเกราะล้อยางใหม่อาจจะไม่ใช่ทั้งของยูเครนและจีนเนื่องจากข้อจำกัดด้านสภาพงบประมาณที่ติดขัดมานาน(คืออาจจะไม่มีโครงการอีกนาน) ยังไม่รวมแผนการจัดหาในเหล่าทหารม้าด้วยครับ

Conventional Submarine model of China Shipbuilding Industry Corporation(CSIC) and China Shipbuilding & offshore International(CSOC) at Ship Tech.III 2016 (My Own Photo)

ในด้านคืบหน้าของโครงการจัดหาเรือดำน้ำ S26T ระยะที่๑ จำนวน ๑ลำวงเงิน ๑๓,๕๐๐ล้านบาทของกองทัพเรือไทย ที่มีรายงานในเดือนมกราคมที่ผ่านมาระบุว่า
กองทัพเรือผ่านกระทรวงกลาโหมกำลังอยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรีให้อนุมัติโครงการภายในเดือนมีนาคมในกรอบงบประมาณปี พ.ศ.๒๕๖๐
ซึ่งตามแผนที่ดำเนินโครงการที่เคยรายงานไปคือจะจัดหาต่อเนื่องให้ครบ ๓ลำพร้อมปฏิบัติการในปี พ.ศ.๒๕๖๙(2026) ในระยะเวลาปีงบประมาณผูกพัน ๑๑ปีวงเงินรวม ๓๖,๐๐๐ล้านบาท
ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเจรจากับจีนในการกำหนดรายละเอียดระบบอุปกรณ์ที่จะติดตั้งกับเรือ ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลาในการก่อสร้างราว ๖ปี

แต่โดยความเห็นส่วนตัวแล้วข่าวที่ออกมาจากทางไทยจะยืนยันได้แน่ชัดก็มีข่าวจากทางจีนร่วมด้วย คือมีพิธีลงนามสัญญาจัดหาระหว่างกองทัพเรือไทยกับCSOC(China Shipbuilding & Offshore International Co., Ltd.)จีนให้แน่ๆเสียก่อน
ไม่เช่นนั้นก็จะเหมือนกับตอนที่เป็นกระแสวิจารณ์ในสังคมขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๘-๒๕๕๙(2015-2016) ที่คัดค้านจนต้องพักโครงการไปให้เรื่องเงียบลง แล้วก็ยืดระยะเวลาออกไปแบบไม่มีกำหนด
และถ้าโครงการจัดหาเรือดำน้ำ S26T จีนนี้จะต้องมีอันถูกยกเลิกไปเหมือนโครงการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทยในอดีตก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจอะไร เพราะกระแสต่อต้านมีสูงมากแม้แต่ในส่วนกำลังพลของกองทัพเรือเอง

ที่น่ากังวลอีกทางหนึ่งคือถึงแม้ว่าโครงการจัดหาเรือดำน้ำระยะที่ ๑ จะผ่านมีการลงนามสัญญาจัดหาอย่างเป็นทางการกับจีนเป็นที่สำเร็จ จนมีการสร้างเรือและส่งมอบเรือให้กองทัพเรือไทยแล้วก็ตาม
แต่ด้วยที่เป็นโครงการระยะยาวที่ใช้งบประมาณผูกผันต่อเนื่องยาวนานถึง ๑๑ปีในข้างต้น ส่วนตัวก็กังวลเหลือเกินว่าการจัดหาเรือดำน้ำ S26T มาได้ ๑ลำก่อนจะเกิดปัญญาอุปสรรคติดขัดตามมาจนไม่สามารถจัดหาเรือในระยะที่๒ และระยะที่๓ อีก ๒ลำจนครบ ๓ลำตามความต้องการได้
ทั้งนี้ก็มีตัวอย่างกองทัพเรือบางประเทศที่มีเรือดำน้ำโจมตีดีเซล-ไฟฟ้าตามแบบประจำการอยู่เพียงทั้งลำเดียวในกองทัพเรือครับ เช่น กองทัพเรือโรมาเนีย กับกองทัพเรือโปแลนด์เป็นต้น

Polish Navy Orzel Submarine in 2010(wikipedia.org)

ในกรณีของโปแลนด์นั้นมีเรือดำน้ำชั้น Project 877E Kilo ชื่อ ORP Orzel ๑ลำที่ประจำการมาตั้งแต่ปี 1986 กับเรือดำน้ำชั้น Kobben(Type 207) มือสองจากนอร์เวย์ 4ลำที่จัดหามาตั้งแต่ปี 2002-2004
อย่างไรก็ตามเรือดำน้ำชั้น Kobben ทั้ง 4ลำของโปแลนด์นั้นมีอายุการใช้งานมานานมากปัจจุบันไม่น่าจะปฏิบัติการรบอย่างเต็มรูปแบบได้แล้ว เช่นเดียวกับเรือดำน้ำชั้น Kilo 1ลำที่ก็ต้องปลดประจำการลงในอนาคต
โดยหลักจากที่กลุ่ม Warsaw pact ถูกยุบหลังการล่มสลายของอดีตสหภาพโซเวียต โปแลนด์ก็ได้เข้าเป็นชาติสมาชิก NATO ในปี 1999 ทำให้ความสัมพันธ์ด้านการทหารกับรัสเซียซึ่งเป็นผู้สร้างเรือนั้นถูกลดระดับลงไปมาก ซึ่งน่าจะส่งผลต่อการซ่อมบำรุงเรือดำน้ำชั้น Kilo
ปัจจุบันกองทัพเรือโปแลนด์มีโครงการจัดหาเรือดำน้ำใหม่ ๓ลำเพื่อทดแทนเรือดำน้ำเก่าซึ่งก็มีบริษัทผู้สร้างเรือดำน้ำรายใหญ่ในยุโรปเข้าแข่งขันหลายรายตามที่ได้เคยรายงานไป

Romanian Naval Forces Delfinul submarine in 2008(wikipedia.org)

ส่วนกองทัพเรือโรมาเนียนั้นปัจจุบันมีเรือดำน้ำชั้น Project 877E Kilo ชื่อ Delfinul ๑ลำที่ประจำการมาตั้งแต่ปี 1985 โดยโรมาเนียเคยมีแผนจะจัดหาเรือดำน้ำชั้น Kilo เพิ่มอีก ๒ลำแต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากการขาดแคลนงบประมาณหลัง Warsaw pact ถูกยุบเมื่อโซเวียตล่มสลาย
ตั้งแต่ปี 1996 เรือ Delfinul อยู่ในสภาพที่จำเป็นต้องได้รับการซ่อมบำรุงคืนสภาพใหม่โดยเฉพาะการเปลี่ยน Battery ของเรือใหม่ แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากไม่มีงบประมาณเพียงพอ
ประกอบกับที่โรมาเนียเข้าเป็นสมาชิก NATO ในปี 2004 ทำให้ความสัมพันธ์ด้านการทหารกับรัสเซียก็จึงลดระดับลงไป ซึ่งน่าจะส่งผลต่อการซ่อมบำรุงเรือเหมือนโปแลนด์
เรือดำน้ำ Delfinul ได้ถูกลดระดับเป็นเรือสำรองสงครามในปี 1995 ต่อมาในปี 2001 เรือถูกโอนให้สายการบังคับบัญชาไปอยู่กับโรงเรียนนายเรือ Mircea cel Batran เพื่อใช้ในการฝึกโดยจอดที่ฐานทัพเรือเมืองท่า Constanta
และปัจจุบันกองทัพเรือโรมาเนียยังไม่มีแผนจะจัดหาเรือดำน้ำใหม่แต่อย่างใดเนื่องจากไม่มีงบประมาณ

อันนี้ก็คงต้องหวังว่าถ้ากองทัพเรือไทยสามารถจัดหาเรือดำน้ำแบบ S26T จีนระยะที่๑ มาได้ ๑ลำจริงแล้ว ในอนาคตอีกหลายสิบปีข้างหน้าคงไม่เกิดปัญหาคล้ายกับโปแลนด์หรือโรมาเนีย คือเป็นกองทัพเรือที่มีเรือดำน้่ำประจำการเพียงลำเดียวและอยู่ในสภาพที่ใช้ปฏิบัติการไม่ได้
แต่ก็นั่นละที่ในความเป็นจริงเรือหลวงทุกลำที่กองทัพเรือไทยต่อเองในประเทศหรือจัดหามาจากต่างประเทศยังคงใช้ปฏิบัติงานได้ทุกลำ แม้แต่เรือที่ทั้งชุดมีลำเดียวอย่าง ร.ล.จักรีนฤเบศร หรือ ร.ล.อ่างทอง ก็ยังคงปฏิบัติการฝึกและทำภารกิจช่วยประชาชนอย่างต่อเนื่องมาตลอดทั้งปี
ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม ASEAN รอบทะเลอ่าวไทยและอันดามัน ทั้งกองทัพเรืออินโดนีเซีย กองทัพเรือสิงคโปร์ กองทัพเรือมาเลเซีย กองทัพเรือเวียดนาม มีเรือดำน้ำครบทุกประเทศหมดแล้ว กองทัพเรือพม่าและกองทัพเรือฟิลิปปินส์ก็มีแผนจะจัดหาเรือดำน้ำในอนาคตอันใกล้
ดังนั้นถ้าจัดหาเรือดำน้ำเข้าประจำการแม้จะเพียง ๑ลำก็ต้องได้ใช้งานเรือดำน้ำแน่ แต่ถ้าไม่มีเรือดำน้ำก็คือกองเรือดำน้ำทำอะไรไม่ได้ทั้งนั้น รวมถึงมีเรือดำน้ำเพียงลำเดียวก็ไม่เพียงพอในการปกป้องอธิปไตยของชาติทางทะเลด้วยครับ

Royal Thai Navy new Frigate FFG-471 HTMS Tachin launching ceremony at Daewoo Shipbuilding & Marine Engineering(DSME) Okpo-Dong shipyard Republic of Korea, 23 January 2017

DSME launches Thailand's first multipurpose frigate

ตามที่กองทัพเรือไทยและบริษัท Daewoo Shipbuilding & Marine Engineering(DSME) สาธารณรัฐเกาหลีได้ทำพิธีปล่อยเรือฟริเกตสมรรถนะสูง ร.ล.ท่าจีน(ลำที่๓) ลงน้ำไปเมื่อวันที่ ๒๓ มกราคมที่ผ่านมานั้น
ก็เป็นก้าวย่างหลักที่สำคัญของโครงการจัดหาเรือฟริเกตสมรรถนะสูงระยะที่๑ วงเงิน ๑๔,๖๐๐ล้านบาท($396 million) ที่กองทัพเรือไทยลงนามจัดหาไปเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๖(2013)
ทั้งนี้สำหรับโครงการจัดหาเรือฟริเกตสมรรถนะสูงระยะที่๒ คือเรือฟริเกตชุด ร.ล.ท่าจีน กองทัพเรือมีแผนที่จะดำเนินการสร้างเรือฟริเกตภายในประเทศโดยความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเกาหลีใต้
ที่นอกจากการดำเนินการจัดหาและเตรียมเครื่องมือปรับปรุงที่อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดชให้พร้อมแล้ว กองทัพเรือยังคงรอการอนุมัติงบประมาณจัดหาอีกราว ๑๕,๐๐๐ล้านบาทสำหรับการสร้างเรือฟริเกตในไทยเมื่อมีโอกาสอำนวยด้วยครับ
(แต่อย่างไรก็ตามก็เช่นเดียวกับโครงการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์อื่นของกองทัพไทยที่ถูกภาคประชาสังคมวิจารณ์เช่นเดิมว่า กองทัพเรือจะไปรบกับใครเดี๋ยวนี้เขาไม่รบกันแล้วไม่มีประโยชน์สิ้นเปลืองงบประมาณจากภาษีประชาชนไปจ้างต่างประเทศ
ทั้งที่ผ่านกองทัพเรือไทยได้จัดหายุทโธปกรณ์ด้วยความเหมาะสมคุ้มค่าและเป็นประโยชน์กับประเทศไทยและใช้ภารกิจช่วยเหลือประชาชนมาโดยตลอด แต่ไม่เคยมีประชาชนสนใจรับทราบความจริงแต่อย่างใด)

FAC-313 HTMS Soo Pirin, Prabbrorapak-class fast attack craft missile boat converted to fast attack craft gun boat

ตามที่ได้รายงานการบรรยายนำเสนอของ นาวาเอก ประวุฒิ รอดมณี เสนาธิการ กองเรือดำน้ำ กองเรือยุทธการ ในงาน UDT Asia 2017 ที่สิงคโปร์เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคมที่ผ่านมาไปว่า
ในอนาคต ๑๐ปีข้างหน้านั้นกองทัพเรือไทยจะมีการปรับโครงการกำลังรบทางเรือเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางทะเลเพื่อตอบสนองต่อภัยคุกคามในปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะสงครามอสมมาตรเช่น การก่อการร้ายและโจรสลัด

นอกจากโครงการจัดหาเรือดำน้ำในข้างต้นแล้ว เรือรบผิวน้ำเก่าที่มีอายุการใช้งานมานานและมีสมรรถนะล้าสมัยไม่สอดคล้องต่อความต้องการของกองทัพเรือในอนาคตก็จะต้องถูกปลดประจำการไป
ทั้งเรือเร็วโจมตีติดอาวุธปล่อยนำวิถีชุด ร.ล.ปราบปรปักษ์ และชุด ร.ล.ราชฤทธิ์ที่จะปลดประจำการลงทั้งหมดในปี พ.ศ.๒๕๖๙(2026) และอาจจะรวมถึงเรือเร็วโจมตีปืนชุด ร.ล.ชลบุรี และเรือตรวจการณ์ปืนชุด ร.ล.สัตหีบ ตามมาอีกหลายปีถัดไป
โดยกองทัพเรือจะมีการจัดหาเรือรบที่มีความอ่อนตัวในการทำภารกิจมากกว่า มีระวางขับน้ำใหญ่กว่า ประหยัดค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการมากกว่า และมีความทนทะเลกว่า เข้าประจำการแทนในจำนวนน้อยกว่าแต่มีประสิทธิภาพการปฏิบัติงานสูงกว่า
(เรือ รจอ.ถูกออกแบบมาตามหลักนิยมในสมัยสงครามเย็นคือมีระวางขับน้ำน้อย ติดอาวุธหนัก และใช้เครื่องยนต์ที่ให้กำลังมากความเร็วสูง ซึ่งทำให้สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมาก มีพิสัยทำการสั้น และมีพื้นที่ภายในตัวเรือจำกัด ขาดความอ่อนตัวต่อภารกิจในยุคปัจจุบันและอนาคต)

เช่นในส่วนกองเรือตรวจอ่าวคือเรือตรวจการณ์ปืนใหม่อย่าง เรือ ตกป.ชุด ร.ล.แหลมสิงห์ หรือแบบใหม่กว่าเพิ่มเติม และเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งเสริมเพิ่มเติมจาก เรือ ตกก.ชุด ร.ล.ปัตตานี และชุด ร.ล.กระบี่
ในส่วนกองเรือฟริเกตที่๑ หลังการปลดเรือฟริเกตชุด ร.ล.พุทธยอดฟ้าจุฬาโลก(Knox class) ครบ ๒ลำ ก็จะรับมอบเรือฟริเกตสมรรถนะสูงลำแรกคือ ร.ล.ท่าจีน(ลำที่๓) ที่ต่อโดยอู่เรือ DSME สาธาณรัฐเกาหลี
โดยเรือฟริเกตสมรรถนะสูงลำที่สองนั้นมีแผนจะต่อภายในประเทศไทยตามการถ่ายทอด Technology จากเกาหลีใต้ รวมถึงความร่วมมือกับบริษัทด้านอุตสาหกรรมทางเรือชั้นนำของต่างประเทศอีกหลายบริษัทตามที่ได้เคยรายงานไป
และเรือแบบอื่นๆ อย่างเรืออู่ยกพลขึ้นบก(LPD: Landing Platform Dock) ใหม่อีก๑ลำ เสริม ร.ล.อ่างทอง(ลำที่๓) ที่มีแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการปฏิบัติการที่สูงในภารกิจช่วยเหลือประชาชนจากภัยน้ำท่วมที่ภาคใต้ครับ

Royal Thai Air Force SAAB Gripen C 70108 70109 during transfer flight April 2013

Royal Thai Air Force Gripen crashes at airshow

Missing man formation Tribute to callsign 'ETHER' Gripen 701 Sqaudron Wing 7 Royal Thai Air Force pilot

ความคืบหน้ากรณีเครื่องบินขับไล่ บ.ข.๒๐ Gripen C หมายเลข 70108 ตกขณะทำการแสดงการบินในวันเด็กที่ กองบิน ๕๖ หาดใหญ่วันที่ ๑๔ มกราคม นั้น
ตามการแถลงข่าวต่อสื่อของ พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง ผู้บัญชาการทหารอากาศ ที่ได้รายงานไปก่อนหน้านี้และข้อมูลที่ให้ต่อสื่อของพลอากาศตรี พงษ์ศักดิ์ เสมาชัย โฆษกกองทัพอากาศ เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ว่า
มีการพบชิ้นส่วน CSMU(Crash Survivable Memory Units) ของเครื่อง Gripen ที่ตกแล้ว (การเก็บกู้ซากเครื่องเสร็จสิ้นไปตั้งแต่คืนวันที่ ๑๔แล้ว) โดยจะมีการถอดรหัสข้อมูลที่ระบบบันทึกได้เพื่อใช้ในการสอบสวนหาสาเหตุของอุบัติเหตุต่อไป
ทั้งนี้แม้ว่าจะมีคำสั่งให้งดบิน Gripen ฝูงบิน๗๐๑ กองบิน๗ ทุกเครื่องระหว่างการสอบสวนหาสาเหตุเพื่อความปลอดภัย แต่ Gripen ทั้ง ๑๑เครื่องยังคงมีความพร้อมปฏิบัติการเต็มที่อยู่ 
อีกทั้งบริษัท SAAB สวีเดนก็จะรอผลสอบสวนอย่างเป็นทางการของกองทัพอากาศและพร้อมที่ให้การช่วยเหลือในการสอบสวนหาสาเหตุถ้ามีการร้องขอ

อย่างไรก็ตามกระแสคัดค้านจากสื่อกระแสหลักที่เรียกร้องให้มีการสอบสวนกรณีทุจริตโครงการจัดหาเครื่องขับไล่ Gripen C/D ๑๒เครื่อง(Peace Suvarnabhumi) ที่กองทัพอากาศได้มีการชี้แจงไปก่อนมานานแล้ว
การเรียกร้องให้กองทัพอากาศยกเลิกการแสดงการบินและจัดแสดงอากาศยานในวันเด็ก เนื่องจากเป็นอันตรายต่อเด็กเยาวชนและประชาชน รวมถึงเป็นการสร้างความหวาดกลัวให้เด็กและประชาชนมากกว่าจะสร้างบันดาลใจ และเรื่องการแสดงความมีเอกราชอธิปไตยของชาตินั้นฟังไม่ขึ้น
รวมถึงการปล่อยข้อมูลเท็จว่านักบินถ้าทำการสละอากาศยานแล้วรอดชีวิตจะต้องถูกลงโทษให้ชดใช้ค่าเสียหายให้กองทัพ ซึ่งขัดแย้งกับความจริงที่นักบินพร้อมรบถูกฝึกให้ทำการสละอากาศได้ทันทีถ้าสุดวิสัยที่จะควบคุมแก้ไขได้
ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งที่ ผบ.ทอ.ได้กล่าวแถลงว่าเป็น 'เรื่องโกหกที่ผิดไปจากความเป็นจริง' ทั้งสิ้นที่สื่อเหล่านี้สร้างขึ้นมาเพื่อโจมตีนักบินที่เสียชีวิตและกองทัพอากาศไทยเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองในการทำลายความมั่นคงของประเทศ

ถึงแม้ว่ากองทัพอากาศจะมีคำสั่งงดบินเครื่องบินขับไล่ Gripen C/D ฝูงบิน๗๐๑ กองบิน๗ สุราษฎร์ธานี ทั้ง ๑๑เครื่องที่เหลือเป็นการชั่วคราวเพื่อความปลอดภัยระหว่างการสอบสวนหาสาเหตุของคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุอากาศยาน
แต่ล่าสุดจากวิดีทัศน์การบินหมู่รูปขบวน Missing man Finger Four V ของเครื่องบินขับไล่ Gripen เป็นการให้เกียรติรำลึกต่อนักบินที่เสียชีวิตนั้น ก็น่าจะแสดงว่า Gripen ฝูงบิน๗๐๑ ได้กลับมาปฏิบัติการบินแล้ว 
อย่างไรก็ตามกองทัพอากาศยังคงยืนยันว่า บ.ข.๒๐ Gripen ทั้งหมดยังมีความพร้อมปฏิบัติการรบและมีจำนวนเพียงพออยู่ แต่ทั้งนี้จากสถานการณ์ด้านสภาพงบประมาณที่ไม่เพียงพอและการต่อต้านจากภาคประชาชนที่มีสื่อกระแสหลักคอยสร้างข้อมูลเท็จนั้น 
การจัดหาเครื่องบินขับไล่ Gripen C/D เพิ่มเติมเพื่อทดแทนและเพิ่มจำนวนเครื่องให้ครบฝูง ๑๖-๑๘เครื่องคงไม่น่าจะเกิดขึ้นเนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณ ทำให้กองทัพอากาศคงจะมี Gripen เพียง ๑๑เครื่องเท่านั้นต่อไปโดยไม่เพิ่มไปจากนี้แล้วครับ


Royal Thai Air Force Gripen's Weapons and Equipments include IRIS-T air-to-air missile, RBS 15F anti-ship missile and LITENING III targetting pod

ในงานแสดงการบินและอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพอากาศไทยในงานวันเด็กแห่งชาติวันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๐ นั้น ได้มีการจัดแสดงระบบอาวุธและอุปกรณ์ของเครื่องบินขับไล่ Gripen
ซึ่งนอกจากอาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่อากาศ IRIS-T และอาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่พื้นต่อต้านเรือผิวน้ำ RBS 15F เคยเคยเปิดตัวไปแล้วนั้น
ยังมีการการเปิดตัวกระเปาะนำชี้เป้า Laser แบบ Rafael LITENING III ต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก ซึ่งแสดงถึงขีดความสามรรถในการใช้อาวุธระเบิดนำวิถี Laser ความแม่นยำสูงของ Gripen ครับ


KS-1CM Surface to Air Missile Royal Thai Air Force Security Force, Air Defence Battalion Wing 7 Surat Thani RTAFB display in Children's Day 2017

ส่วนจัดแสดงในงานวันเด็กของ กองบิน๗ สุราษฏร์ธานี ก็ได้เปิดตัวระบบอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่อากาศแบบ KS-1CM ที่จัดหาจากสาธารณรัฐประชาชนจีนต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก
ซึ่ง KS-1CM ของกองทัพอากาศไทยที่จัดหามานั้นใช้แท่นยิงรางคู่ภายนอก ไม่ได้บรรจุมาในแท่นยิงกล่องสี่เหลี่ยมเหมือน KS-1C ของกองทัพเติร์กเมนิสถานตามที่เคยรายงานไป
ตรงนี้ก็ไม่ทราบว่ารายละเอียดคุณสมบัติของ KS-1CM กองทัพอากาศไทยนั้นแตกต่างจาก KS-1C อย่างไรบ้างครับ

(ตรงนี้บ่นส่วนตัว ทั้งเรื่องโครงการจัดหารถถังหลัก VT4 ของกองทัพบกและโครงการจัดหาเรือดำน้ำและเรือฟริเกตสมรรถนะสูงของกองทัพเรือที่ถูกสังคมวิจารณ์อย่างหนักว่า ไม่มีความจำเป็นเปลืองงบประมาณรัฐที่มาจากภาษีประชาชนเพราะเดี๋ยวนี้เขาไม่รบกันแล้วหรือเราจะไปรบกับใคร
จนถึงกรณีอุบัติเหตุเครื่องบินขับไล่ บ.ข.๒๐ Gripen C ตกนักบินเสียชีวิตระหว่างการแสดงการบินในงานวันเด็กที่กองบิน๕๖ หาดใหญ่ ซึ่งมีการเผยแพร่ข้อความ ภาพประกอบ และวีดิทัศน์ จำนวนมากที่มีเนื้อหาโจมตีใส่ร้ายนักบินที่เสียชีวิตและกองทัพอากาศไทย จากสื่อมวลชนกระแสหลักที่ไร้จรรยาบรรณวิชาชีพ และกลุ่มผู้ไม่หวังดีต่อประเทศชาติบ้านเมือง

หน้าที่หลักสำคัญหนึ่งกองทัพไทยและทหารไทยมีคือการเตรียมกำลังไว้ป้องกันประเทศไทยจากอริราชศัตรูที่เป็นภัยคุกคามของต่อ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชนชาวไทย
ไม่มีทหารและกองทัพใดรบได้ถ้าอาวุธยุทโธปกรณ์ไม่มีความพร้อมรบเต็มอัตรา ไม่ว่าจะไม่มีกระสุน เชื้อเพลิง ขาดการปรนบัติบำรุงรักษา และหมดอายุการใช้งาน ซึ่งการจัดหายุทโธปกรณ์ทุกโครงการของกองทัพไทยก็เพื่อทดแทนสิ่งที่ขาดและเสริมศักยภาพดังกล่าว
แต่ในความคิดของประชาชนส่วนใหญ่แล้ว การบำรุงกองทัพและทหารในยามสงบมีค่าไม่ต่างอะไรกับการซื้อไฟฉายในยามแดดจ้าฟ้าแจ้งไร้เมฆตอนเที่ยงวัน ประชาชนย่อมคิดว่าการเอาเงินไปให้ตนหรือแจกนู่นทำนี้ดีกว่าการเอาเงินไปซื้ออาวุธราคาแพงที่ไร้คุณค่าต่อการดำรงชีวิตของพวกเขา

อีกทั้งเมื่อทหารชั้นผู้น้อยจนถึงนายทหารชั้นผู้ใหญ่บางส่วนถูกตอกย้ำจากทัศนคติของประชาชนส่วนหนึ่งรวมถือสื่อกระแสหลักและสังคม Online จนเกิดความรู้สึกว่า 
"ทหารมีหน้าที่ปกป้องประชาชน แต่กับประชาชนที่อยากให้ทหารตกงาน แถมถ้าทหารทำอะไรพลาดหรือตายก็มีแต่หัวเราะเยาะซ้ำเติม แต่ก็อยากได้ชีวิตที่สุขสบายและร่ำรวยโดยไม่ขยันทำงาน เอาแต่รอคนมาคอยแจกเงินและทำสิ่งต่างๆให้ ประชาชนแบบนี้มีค่าให้ทหารแลกชีวิตปกป้องหรือ?" 
ส่วนตัวกลัวเหลือว่าเมื่อกองทัพจะตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องของประชาชนผู้รักสันติให้ยกเลิกจัดหาโครงการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ พวกเขาเหล่านั้นจะเพิ่มข้อเรียกร้องต่อไปเรื่อยๆ จนกว่ากองทัพไทยจะถูกยุบและไม่มีอาชีพข้าราชการทหารในประเทศไทยอีกต่อไป

เมื่อถึงตอนนั้นในยุคที่ประชาชนปฏิเสธการมีอยู่ของกองทัพ โดยการตัดการสนับสนุนกองทัพเพื่อนำเงินไปใช้กับอย่างอื่นที่พวกเขาคิดว่ามีประโยชน์กว่า พร้อมกับที่ทหารชั้นผู้น้อยจนถึงนายทหารชั้นผู้ใหญ่ส่วนใหญ่หมดกำลังใจที่จะทำหน้าที่ของตนเองต่อไปแล้ว 
ก็คงจะเป็นตามสุภาษิตโบราณที่ว่า "ถ้าเราไม่หาเสบียงมาเลี้ยงดูกองทัพของเราเอง เราก็ต้องหาเสบียงมาเลี้ยงกองทัพของชาติอื่นอยู่ดี" ซึ่งก็ไม่ทราบว่านั่นเป็นสิ่งที่พวกที่มีแนวคิดสุดโต่งในทางเหล่านั้นอยากให้เกิดขึ้นรึไม่ครับ?)