กองทัพเรือ จัดพิธีรับมอบเรือตรวจการณ์ปืน เรือหลวงแหลมสิงห์
วันนี้ (21 กันยายน 2559) เวลา 15.09 น. พลเรือเอก ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีรับมอบเรือตรวจการณ์ปืน เรือหลวงแหลมสิงห์ ณ ท่าเรือแหลมเทียน การท่าเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
โดยมี พลเรือเอก นริส ประทุมสุวรรณ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ พลเรือตรี สุรศักดิ์ เมธยาภา ผู้บัญชาการกองเรือตรวจอ่าว กองเรือยุทธการ กำลังพลประจำเรือ และแขกผู้มีเกียรติให้การต้อนรับ
กองทัพเรือ ได้จัดหาเรือตรวจการณ์ปืนลำใหม่เข้าประจำการ กองเรือตรวจอ่าว กองเรือยุทธการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทดแทนเรือตรวจการณ์ระยะปานกลาง ตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือ พ.ศ.2551 – 2560
ซึ่งได้ทยอยปลดประจำการ และใช้ปฏิบัติงานร่วมกับเรือ อากาศนาวี หน่วยกำลังต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง หน่วยกำลังนาวิกโยธิน และหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ
ตั้งแต่ในภาวะปกติโดยมีขีดความสามารถปฏิบัติการรบ 2 มิติ ได้แก่ การปฏิบัติการสงครามผิวน้ำ และการต่อสู้ภัยคุกคามทางอากาศ
โดยกองทัพเรือ ได้จัดซื้อแบบแปลนรายละเอียด และพัสดุ สำหรับการสร้างเรือตรวจการณ์ปืน จากบริษัท มาร์ซัน จำกัด ในลักษณะ Package Deal โดยใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 699,459,000 บาท
ทั้งนี้ กองทัพเรือได้มอบหมายให้ กรมอู่ทหารเรือ เป็นหน่วยรับผิดชอบ ในการสร้างเรือ โดยใช้พื้นที่ของอู่ทหารเรือธนบุรีเป็นสถานที่ต่อเรือ
เพื่อเป็นการดำเนินการตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและการพึ่งพาตนเองกับเป็นการพัฒนาขีดความสามารถของกรมอู่ทหารเรือ ในการต่อเรือตรวจการณ์ปืน
หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการต่อเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.991 และนำไปสู่การปรับปรุงเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.994 ที่ได้มีการขยายแบบเรือ และรูปทรง ตามพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
และล่าสุด คือ เรือหลวงกระบี่ ซึ่งเป็นเรือประเภทเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งที่มีขนาดใหญ่และสมรรถนะสูง
ในขั้นตอนของการสร้างเรือตรวจการณ์ปืนลำใหม่นี้ กรมอู่ทหารเรือได้ดำเนินการต่อเอง โดยแบ่งการสร้างเรือออกเป็น 2 ระยะ
ระยะแรกทำการต่อเฉพาะตัวเรือ รวมถึงระบบเครื่องจักร ณ อู่แห้งหมายเลข 1 อู่ทหารเรือธนบุรี มีระยะเวลาในการดำเนินการประมาณ 13 เดือน
และหลังจากที่ได้ปล่อยเรือลงน้ำแล้ว ได้นำตัวเรือไปทำการประกอบในส่วน superstructure (หอบังคับการเรือ เสาสื่อสาร) รวมถึงระบบอาวุธ ณ อู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ
โดยในระยะที่ 2 นี้ มีระยะเวลาในการดำเนินการประมาณ 10 เดือน จึงอาจกล่าวได้ว่า กองทัพเรือได้ใช้ศักยภาพและความรู้ความสามารถของกำลังพลกองทัพเรือ ในการดำเนินการติดตั้ง ทดสอบได้อย่างเต็มภาคภูมิ
แม้ว่าจะใช้แบบเรือของบริษัทเอกชน แต่ถือเป็นการดำเนินการในการสร้างเรือขนาดใหญ่อีกลำด้วยการพึ่งพาตนเอง
ตามระเบียบของ กองทัพเรือ ได้กำหนดหลักเกณฑ์การตั้งชื่อเรือรบ ตามประเภทของเรือ โดยในส่วนของเรือตรวจการณ์ (ปืน) กำหนดให้ตั้งชื่อตามอำเภอชายทะเล
โดยเรือตรวจการณ์ปืนลำใหม่นี้ ได้รับพระราชทานชื่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า “เรือหลวงแหลมสิงห์” (อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี)
คุณลักษณะทั่วไปมีดังนี้
- ความยาวตลอดลำ 58 เมตร - ความกว้างกลางลำ 9.3 เมตร
- ความลึกกลางลำ 5.1 เมตร - กินน้ำลึกเต็มที่ 2.9 เมตร
- ระวางขับน้ำสูงสุด 520 ตัน
ขีดความสามารถของเรือตรวจการณ์ปืน
- ความเร็วสูงสุดที่ระวางขับน้ำสูงสุด 23 นอต
- ระยะปฏิบัติการไม่น้อยกว่า 2,500 ไมล์ทะเล
- ความคงทนทะเลจนถึงสภาวะระดับ 4 (Sea State 4)
- มีสถานที่จัดเก็บเสบียงอาหาร และระบบน้ำจืด เพียงพอสำหรับการปฏิบัติงานในทะเลต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 7 วัน โดยไม่ต้องรับการส่งกำลังบำรุง
- มีห้องและที่พักอาศัยเพียงพอสำหรับกำลังพลประจำเรือตามอัตรา 53 นาย
ขีดความสามารถในการปฏิบัติการ (Operation Capabilities)
- ต่อต้านภัยผิวน้ำ ด้วยการซ่อนพราง การใช้อาวุธปืนหลัก/ปืนรองของเรือ และการชี้เป้าให้กับเรือผิวน้ำและอากาศนาวี
- การโจมตีที่หมายบนฝั่ง ด้วยอาวุธปืนหลัก/ปืนรองของเรือ
- การป้องกันฝั่ง การสกัดกั้น และการตรวจค้นด้วยระบบตรวจการณ์ และเรือยางท้องแข็งไฟเบอร์กลาสความเร็วสูง (RIB)
- การป้องกันภัยทางอากาศในลักษณะการป้องกันตนเอง ด้วยระบบควบคุมการยิง และการใช้อาวุธปืนหลัก/ปืนรองของเรือ
- การค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลตามแนวชายฝั่ง
- การสนับสนุนการป้องกันและต่อต้านการก่อการร้ายในทะเลและท่าเรือ
- การสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรืออื่น ๆ
อาวุธประจำเรือ
- ปืนขนาด 76/62 มิลลิเมตร OTO Melara (Refurbished) จำนวน 1 กระบอก
- ปืนกลขนาด 30 มิลลิเมตร MIS จำนวน 1 กระบอก
- ปืนกลขนาด .50 นิ้ว จำนวน 2 กระบอก
อนึ่ง ตามระเบียบของ กองทัพเรือ ได้กำหนดหลักเกณฑ์การตั้งชื่อเรือรบ ตามประเภทของเรือต่าง ๆ ไว้ดังนี้
- เรือพิฆาต ตั้งตามชื่อตัวบุคคล บรรดาศักดิ์ หรือสกุล ของผู้ประกอบคุณประโยชน์ไว้แก่ชาติ เช่น เรือหลวงนเรศวร เรือหลวงตากสิน
- เรือฟริเกต ตั้งตามชื่อแม่น้ำสายสำคัญ เช่น เรือหลวงเจ้าพระยา เรือหลวงบางปะกง
- เรือคอร์เวต ตั้งตามชื่อเมืองหลวง และเมืองสำคัญในประวัติศาสตร์ เช่น เรือหลวงสุโขทัย เรือหลวงรัตนโกสินทร์
- เรือเร็วโจมตี (อาวุธนำวิถี) ตั้งตามชื่อเรือรบในทะเล สมัยโบราณที่มีความเหมาะสมกับหน้าที่ของเรือนั้น ๆ เช่น เรือหลวงอุดมเดช เรือหลวงปราบปรปักษ์
- เรือเร็วโจมตี (ปืน,ตอร์ปิโด) ตั้งตามชื่อจังหวัดชายทะเล เช่น เรือหลวงปัตตานี เรือหลวงนราธิวาส
- เรือดำน้ำ ตั้งตามชื่อผู้อิทธิฤทธิ์ในวรรณคดีในด้านการดำน้ำ เช่น เรือหลวงมัจฉานุ
- เรือทุ่นระเบิด ตั้งตามชื่อสมรภูมิรบที่สำคัญในประวัติศาสตร์ เช่น เรือหลวงบางระจัน
- เรือยกพลขึ้นบก เรือลากจูง เรือส่งกำลังบำรุง เรือน้ำมัน ตั้งตามชื่อเกาะ เช่น เรือหลวงอ่างทอง (เรือยกพลขึ้นบก) เรือหลวงมาตรา (เรือน้ำมัน) เรือหลวงสิมิลัน (เรือส่งกำลังบำรุง)
- เรือตรวจการณ์ (ปืน) ตั้งชื่อตามอำเภอชายทะเล เช่น เรือหลวงหัวหิน
- เรือตรวจการณ์ (ปราบเรือดำน้ำ) ตั้งชื่อตามเรือรบในลำน้ำ สมัยโบราณที่มีความเหมาะสมกับหน้าที่ของเรือนั้น ๆ เช่น เรือหลวงทยานชล
- เรือสำรวจ ตั้งชื่อตามดาวที่สำคัญ เช่น เรือหลวงจันทร์
- เรือหน้าที่พิเศษ ตั้งชื่อด้วยถ้อยคำที่มีความหมายและเหมาะกับหน้าที่ของเรือนั้น เช่น เรือหลวงจักรีนฤเบศร
- เรือขนาดเล็ก (เล็กกว่า 200 ตัน) ตั้งชื่อด้วยอักษรย่อตามชนิดและหน้าที่ของเรือนั้น มีหมายเลขต่อท้าย เช่น เรือ ต.991
กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
https://th-th.facebook.com/prthainavy/posts/1277384188979601
https://www.facebook.com/NavyForLifePage/videos/1118344151536811/
ขึ้นระวางประจำการ ร.ล.แหลมสิงห์
M58 Patrol Gun Boat เรือที่ออกแบบโดยบริษัท Marsun และต่อโดย กรมอู่ทหารเรือ และบริษัทเอกชนในประเทศร่วมมือกัน จะทำพิธีรับมอบเรือ และขึ้นระวางประจำการในวันที่ 21 ก.ย.59 เวลา 1509 โดยมี พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผบ.ทร. เป็นประธานในพิธี
หลังจากเสร็จสิ้นการตรวจรับตัวเรือ ระบบขับเคลื่อน ระบบอาวุธ และระบบต่างๆ ของเรือ พบว่าทุกระบบเป็นไปตาม Spec ที่กองทัพเรือกำหนด นั่นหมายถึงความพร้อมอีกขั้นของกองทัพเรือ
และความพร้อมในการต่อเรือของ ทร. และ อุตสาหกรรมต่อเรือในประเทศในการพึ่งพาตนเองตั้งแต่
ขั้นออกแบบเรือ สำหรับเรือตรวจการณ์ระยะปานกลาง
ขอบคุณ มัลติมีเดียจาก บ.มาร์ซัน ครับ
By Admin ต้นปืน 561
https://www.facebook.com/NavyForLifePage/
https://www.facebook.com/ThaiPBSFan/videos/10157563423510085/
กองทัพเรือรับมอบเรือหลวงแหลมสิงห์ ซึ่งเป็นเรือตรวจการณ์ปืนลำใหม่ในรอบเกือบ 20 ปี ThaiPBS
วันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๙ นี้ เรือตรวจการณ์ปืนเรือหลวงแหลมสิงห์ก็ได้มีการทำพิธีขึ้นระวางประจำการในกองทัพเรือไทยแล้วตามข้อมูลในข้างต้น เป็นการเสร็จสิ้นโครงการสร้างเรือตรวจการณ์ปืนที่ดำเนินการมาต่อเนื่อง ๑,๐๐๓วัน วงเงิน ๖๙๙,๔๕๙,๐๐๐บาท อย่างสมบูรณ์
โดยปัจจุบันกองทัพเรือไทยมีเรือตรวจการณ์ปืนประจำการอยู่ ๒ชุด รวม ๙ลำ คือ
เรือตรวจการณ์ปืนชุด ร.ล.สัตหีบ ๖ลำ เข้าประจำการในช่วงปี พ.ศ.๒๕๒๖-๒๕๒๙ ซึ่งมีสองชุดย่อยประกอบด้วย
ร.ล.สัตหีบ 521, ร.ล.คลองใหญ่ 522 และ ร.ล.ตากใบ 523 ที่ติดปืนใหญ่เรือ OTO Melara 76/62 Compact และปืนใหญ่กล Breda 40/L70 ซึ่งเป็นป้อมปืนเรืออัตโนมัติ
กับ ร.ล.กันตัง 524, ร.ล.เทพา 525 และ ร.ล.ท้ายเหมือง 526 ที่ติดปืนใหญ่เรือ 76/50 และปืนใหญ่กล Bofors 40/60 ซึ่งเป็นป้อมปืนแบบใช้พลประจำปืนควบคุมด้วยมือ
เรือตรวจการณ์ปืนชุด ร.ล.หัวหิน ๓ลำ เข้าประจำการในปี พ.ศ.๒๕๔๔ ประกอบด้วย ร.ล.หัวหิน 541, ร.ล.แกลง 542 และ ร.ล.ศรีราชา 543 ติดปืนใหญ่เรือ 76/50 และปืนใหญ่กล Bofors 40/60 (ป้อมปืนควบคุมด้วยมือ)
เรือตรวจการณ์ปืนเหล่านี้มีภารกิจหลักในการตรวจการณ์ลาดตนะเวนทางทะเลเพื่อรักษากฎหมายและคุ้มครองเรือประมงในยามสงบ โดยมีอายุการใช้งานระหว่าง ๓๓ปี ถึง ๑๕ปี
ซึ่งเรือที่ใช้ระบบอาวุธป้อมปืนควบคุมด้วยมือรุ่นเก่าและมีอายุการใช้งานมานานจำเป็นที่จะต้องจัดหาเรือใหม่ทดแทนราว ๓-๖ลำ
ทั้งนี้ตามรายงานที่เคยได้เสนอไปนั้นกองทัพเรืออาจจะมีแผนความต้องการเรือตรวจการณ์ปืนใหม่เพิ่มอีก ๒ลำ ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะมีการพิจารณาอนุมัติเรือ ตกป.ลำใหม่เมื่อไร และทางกองทัพเรือพอใจสมรรถนะของ ร.ล.แหลมสิงห์ หรือไม่
ตรงนี้ยังเข้าใจว่าน่าจะคงเป็นแบบเรือ M58 Patrol Gun Boat ของบริษัท Marsun อยู่และอาจจะสั่งต่อที่อู่ของบริษัท Marsun ซึ่งก็ต้องติดตามความคืบหน้าต่อไปในอนาคตครับ