Type 039A Yuan Class People's Liberation Army Navy Submarine Force
Thailand edges closer to Chinese submarine procurement
http://www.janes.com/article/52605/thailand-edges-closer-to-chinese-submarine-procurement
สำหรับความคืบหน้าของโครงการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทยล่าสุดนั้นมีรายงานในสื่อหลัก เช่น หนังสือพิมพ์ M2F และ Bangkok Post เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ที่ผ่านมาว่า
คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกแบบและจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ซึ่งมี พลเรือเอก ณรงค์พล ณ บางช้าง เป็นประธานคณะกรรมการจำนวน ๑๗ท่าน
ได้มีการลงคะแนนเสียง ๑๐ท่าน ให้เลือกแบบเรือดำน้ำจากจีน ๓ลำ ซึ่งมีรายงานข้อมูลว่าราคาตกเฉลี่ยลำละ $355 Million(ประมาณ ๑๒,๐๐๐ล้านบาท) หรือรวมทั้งโครงการ ๓๖,๐๐๐ล้านบาท ตามที่สื่อรายงานออกมาก่อนหน้านี้
ซึ่งเข้าใจว่าแบบเรือที่เลือกก็คือ S26T ที่เคยมีการนำเสนอบรรยายข้อมูลให้กองทัพเรือตามที่เคยรายงานไปแล้ว โดยการจัดหานั้นจะรวมถึงการที่จีนจะจัดตั้งระบบกองเรือดำน้่ำและการถ่ายทอด Technology เรือดำน้ำให้ไทยด้วย
S26T Conventional Submarine Proposal for Royal Thai Navy
ตรงนี้ต้องกล่าวตามตรงว่าอย่าพึ่งรีบแสดงความยินดีหรือออกมาวิจารณ์กับข่าวโครงการจัดหาเรือดำน้ำที่มีออกมาช่วงนี้ก่อนจะดีกว่าครับ
นอกจากแหล่งข่าวของ Jane's ซึ่งมีความน่าเชื่อถือในวงการทหารและความมั่นคงระดับโลก มีการลงข้อมูลจากโฆษกของกองทัพเรือว่า "ยังไม่ได้มีการตัดสินใจในขณะนี้"(but that "no decisions" have yet been made.) แล้ว
ตอนนี้เห็นมีแต่แหล่งข่าวจากภายในของไทยออกมาให้ข้อมูล และแหล่งข่าวต่างประเทศที่ลงเรื่องที่กองทัพเรือเลือกแบบเรือดำน้ำจีนในช่วงนี้ยังอ้างอิงแหล่งข้อมูลของทาง Bangkok Post เท่านั้น
อย่างไรก็ตามกว่าจะถึงขั้นมีการลงนามจัดหาเรือยังต้องใช้เวลาและมีอีกหลายขั้นตอนมาก
ทั้งขั้นตอนตามระเบียบภายในกองทัพเรือจนถึงระดับกระทรวงกลาโหมที่จะต้องให้ ครม.อนุมัติ หรือจนกว่าจะมีการทำพิธีลงนามสัญญาจัดหาระหว่างกองทัพเรือไทยกับจีน จนถึงขั้นวางกระดูกงูเรือตัดเหล็กก่อสร้างแล้วจริงแน่ๆ
ส่วนตัวจึงมองว่าอยากให้รอว่าทางกองทัพเรือจะมีการออกมาประกาศแถลงข้อมูลถึงเรื่องนี้อย่างเป็นทางการก่อนดีกว่า เพราะทุกอย่างยังมีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้ตลอดครับ
(ตอนที่เขียนอยู่นี้แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีล่าสุดเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๘ นั้นไม่ได้กล่าวถึงเรื่องเรือดำน้ำเลย ซึ่งก็น่าจะตรงกับกับการอ้างแหล่งข่าวของ Jane's ในข้างต้น)
มีข้อสังเกตุที่ว่าการที่คณะกรรมการเสียงส่วนใหญ่ของกองทัพเรือเลือกแบบเรือดำน้ำจีน ดูเหมือนจะเป็นเหตุผลแนวเดียวที่กองทัพเรือเคยเลือกจัดหาเรือดำน้ำจากญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘
คือต่อได้จำนวนลำมากที่สุด และมีข้อเสนอผลประโยชน์ต่างตอบแทนกับกองทัพเรือดีที่สุด ในกลุ่มแบบเรือดำน้ำตัวเลือกที่พิจารณา เมื่อใช้งบประมาณที่กำหนดไว้
สมัยนั้นคือ พ.ศ.๒๔๗๘ คณะกรรมการของกองทัพเรือได้พิจารณาเลือกแบบโครงการเรือดำน้ำตามแผนปรับปรุงกำลังรบของกองทัพสยามในสมัยนั้น
โดยมีตัวแทนแต่ละประเทศมาเสนอแบบเรือดังนี้คือ
อิตาลี มีตอร์ปิโดหัวเรือ ๔ท่อ ท้าย ๒ท่อ ไม่มีปืนใหญ่ ลูกปืน และลูกตอร์ปิโด ๓ลำราคา ๓,๗๔๗,๔๒๐บาท ถ้า ๔ลำราคา ๔,๙๗๐,๖๔๐บาท
เดนมาร์ค ๔ลำ (ไม่ทราบรายละเอียด) ราคา ๕,๖๘๘,๔๖๘บาท
อังกฤษ เฉพาะตัวเรือและเครื่องจักร ๓ลำราคา ๔,๐๒๓,๖๓๐ บาท ๔ลำราคา ๕,๒๔๑,๐๓๖บาท
เนเธอร์แลนด์ มีปืนใหญ่พร้อมลูก และตอร์ปิโดพร้อมลูก ๓ลำ ราคา ๕,๐๑๒,๙๗๖บาท ๔ลำ ราคา ๖,๕๗๑,๓๘๖บาท
ถ้าไม่มีลูกปืนและลูกตอร์ปิโด ๓ลำ ราคา ๔,๑๘๘,๑๕๙บาท ๔ลำ ราคา ๕,๔๗๑,๘๑๑บาท
ฝรั่งเศส ไม่มีลูกปืน ไม่มีลูกตอร์ปิโด ราคาลำละ ๓,๒๖๒,๗๗๓บาท
ญี่ปุ่น มีตอร์ปิโดหัวเรือ ๔ท่อ ไม่มีท้าย มีปืนใหญ่และลูกปืน แต่ไม่มีลูกตอร์ปิโด แบ่งตามขนาดระวางขับน้ำและจำนวนลำดังนี้
-ขนาด ๓๔๕ตัน ๓ลำราคา ๒,๓๙๐,๓๓๐บาท ๔ลำราคา ๓,๑๖๑,๒๙๐บาท
-ขนาด ๓๗๐ตัน ๓ลำราคา ๒,๔๗๙,๓๕๕บาท ๔ลำราคา ๓,๒๘๐,๐๐๐บาท
-ขนาด ๓๘๐ตัน ๓ลำราคา ๒,๖๐๖,๖๐๑บาท ๔ลำ ราคา ๓,๔๔๗,๗๔๒บาท
Matchanu class Royal Thai Navy Submarines
ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาของกองทัพเรือในสมัยนั้นเลือกแบบเรือญี่ปุ่นขนาด ๓๗๐ตัน ๔ลำราคาลำละ ๘๒๐,๐๐๐บาท รวมราคา ๓,๒๘๐,๐๐๐บาท เพราะมีข้อเสนอดีที่สุดและราคาถูกสุดในกลุ่มตัวเลือกทั้งหมด
เรือดำน้ำชั้นมัจฉาณุ ทั้งสี่ลำคือ ร.ล.มัจฉาณุ(ลำที่๒), ร.ล.วิรุณ, ร.ล.สินสมุทร และ ร.ล.พลายชุมพล ได้ขึ้นระวางประจำการในวันที่ ๑๙ กรกฏาคม พ.ศ.๒๔๘๑ และปลดประจำการในวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๔
รวมระยะเวลาประจำการเพียง ๑๒ปี ๔เดือน เนื่องจากญี่ปุ่นผู้ผลิตเรือแพ้สงครามโลกครั้งที่๒และถูกยึดครองไม่สามารถผลิตอะไหล่โดยเฉพาะ Battery ของเรือดำน้ำชั้นนี้ให้กองทัพเรือไทยได้
และกองทัพเรือไทยยังได้รับผลกระทบจากเหตุทางการเมืองในสมัยนั้นด้วย(กบฎแมนฮัดตัน) ทำให้มีการปรับลดกำลังกองทัพเรือและยุบเลิกหมวดเรือดำน้ำในที่สุด
จะว่ากันตรงๆแล้วในสมัยนั้นภาพลักษณ์ของสินค้าที่ผลิตโดยญี่ปุ่นในหมู่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้เหมือนสมัยนี้ครับ คือสินค้าจากญี่ปุ่นนี้นจะถูกมองว่าของเลียนแบบราคาถูกด้อยคุณภาพถ้าเทียบของยุโรปตะวันตกหรืออเมริกา
อย่างนาฬิกาไซโก(seiko)นี่สมัยนั้นเด็กๆยังร้องเพลงล้อกันเลยครับว่า "นาฬิกาไซโก เช้าโก้ เย็นแก้ สามวันเจ๊งแน่ แย่แน่ไซโก"
ด้านวิทยาการเรือดำน้ำสมัยนั้นก็น่าเชื่อว่าเรือที่สร้างโดยประเทศตะวันตกที่เป็นตัวเลือกในสมัยนั้นทั้ง อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ ย่อมน่าจะสูงกว่าญี่ปุ่นอยู่
แต่ถ้ากลับไปมองพัฒนาการด้านวิทยาการเรือดำน้ำของจักรพรรดินาวีญี่ปุ่นสมัยก่อนสงครามโลกจะสิ้นสุดลงเอง ก็เห็นได้จากบันทึกประวัติศาสตร์ของกองทัพเรือไทยเองจะพบว่า
กองทัพเรือญี่ปุ่นและบริษัทอู่ต่อเรือญี่ปุ่นนั้นได้ทำการต่อเรือดำน้ำชั้นมัจฉาณุทั้งสี่ลำและทำการฝึกกำลังพลของราชนาวีสยามประดุจต่อเรือและฝึกทหารเรือดำน้ำของญี่ปุ่นเองเลยทีเดียว
และเรือดำน้ำบางชั้นของเองญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่สองนั้นก็นับว่ามีความก้าวหน้าทางแนวคิดการทำสงครามและทางวิศวกรรมมาก อย่างเรือดำน้ำบรรทุกเครื่องบินชั้น I-400 ที่เป็นต้นกำเนิดแนวคิดเรือดำน้ำติดขีปนาวุธทางยุทธศาสตร์ในปัจจุบัน
Imperial Japanese Navy submarine I-400
ขณะที่ชาติต่างๆในยุโรปสมัยนั้นกลับขายเรือและอาวุธให้กองทัพเรือสยามในแบบจำกัดขีดสมรรถนะ คือถ้าต่อเรือใหม่ก็เป็นเรือที่ไม่ดีเท่าเรือที่ต่อใช้เองในกองทัพเรือตน หรือขายอาวุธที่เลิกใช้แล้วให้ซึ่งดีกว่าอาวุธขายที่ส่งออกให้สยามใช้
ตัวอย่างเช่น เรือพิฆาต ร.ล.พระร่วง ที่เดิมคือเรือ HMS Radiant มือสองของกองทัพเรืออังกฤษ ที่ ร.๖ ได้ทรงจัดซื้อโดยมีพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนพร้อมใจกันออกทุนเรี่ยไรถวายสนับสนุนเงินทุนให้ในนามราชนาวีสมาคม
อาวุธต่างๆบนเรือจัดว่าทันสมัยมากสำหรับกองทัพเรือสยามสมัยนั้น(พ.ศ.๒๔๖๓) ทั้งปืนใหญ่เรือ ๔นิ้ว(๑๐๒มม.) และ ๓นิ้ว(๗๖มม.), ปืนใหญ่กล ๒ปอนด์(๔๐มม.) และ ๒๐มม., ตอร์ปิโด ๒๑นิ้ว(๕๓๓มม.) แบบ ๕๓ก., รางปล่อยและแท่นยิงระเบิดลึก
ขณะที่เรือปืนเบา ร.ล.รัตนโกสินทร์(ลำที่๑) และ ร.ล.สุโขทัย(ลำที่๑) ที่สยามสั่งต่อจากอู่ Armstrong Whitworth อังกฤษ นั้นมีราคาแพงต้องใช้เวลานานหลายปีถึงจัดหาครบได้สองลำ และสมรรถนะตัวเรือก็ไม่ได้ดีนักด้วยถ้าเทียบกับเรือรบในยุคนั้น
หรือตอร์ปิโดแบบ ๔๕จ. ขนาด ๔๕ซม. ที่เดนมาร์ส่งออกให้สยามในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ซึ่งติดตั้งในเรือหลายลำ เช่น เรือยามฝั่ง ๑,๓,๔,๔ และเรือตอร์ปิโด ร.ล.ตราด ร.ล.ภูเก็ต ร.ล.ปัตตานี สามแบบคือ จ., จ", "จ"
แบบ จ"(จ.ดาว) กับที่เคยใช้เองแล้วมาขายมือสองให้สยามคือแบบ "จ"(จ.สองดาว) ก็มีสมรรถนะต่างกันเล็กน้อยทั้งที่ของมือสองเก่ากว่าและแบบส่งออกขายแพงกว่า
ขณะที่ตอร์ปิโดแบบ ๔๕ฉ. ขนาด ๔๕ซม. ของ Mitsubishi ญี่ปุ่นที่จัดหามาในปี พ.ศ.๒๔๘๐ ซึ่งใช้ในเรือหลายลำ เช่น เรือตอร์ปิโดใหญ่ ร.ล.ชุมพร ร.ล.สุราษฎร์ ร.ล.ชลบุรี และเรือตอร์ปิโดเล็ก ร.ล.คลองใหญ่ ร.ล.ตากใบ ร.ล.กันตัง ร.ล.สัตหีบ นั้น
มีราคานัดละ ๑๐,๐๐๐บาท ทำด้วยวัสดุแข็งแรงและมีการประกอบอย่างดี สามารถใช้งานได้ยาวนานมาหลายสิบปีจนถึงช่วงที่ชุดเรือตอร์ปิโดดังกล่าวปลดประจำการลงอีกราว ๓๕ปีต่อมา เป็นต้น
ทุกวันนี้ก็อย่างที่ทราบว่าสินค้าของญี่ปุ่นนั้นมีภาพลักษณ์เป็นสินค้าคุณภาพสูงมี Technology ล้ำหน้านำสมัยไปแล้ว
ในส่วนของเรือดำน้่ำญี่ปุ่นเองอย่างเรือชั้น Souryu นั้นก็จัดว่าเป็นเรือดำน้ำที่มีขีดความสามารถที่ก้าวหน้าสูงมากในปัจจุบัน ซึ่งญี่ปุ่นได้เสนอ Technology เรือชั้นนี้ให้ออสเตรเลียสำหรับโครงการจัดหาเรือดำน้ำแทนเรือชั้น Collins
แม้ว่าจะติดกฎหมายรัฐธรรมนูญสันติภาพที่ยังมีข้อจำกัดห้ามการส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์อยู่ แต่รัฐบาลญี่ปุ่นชุดปัจจุบันกำลังพยายามแก้ไขกฎหมายเพื่อให้อุตสาหกรรมด้านความมั่นคงญี่ปุ่นมีข้อจำกัดในการส่งออกยุทโธปกรณ์แก่มิตรประเทศน้อยลง
สมัยนี้ พ.ศ.๒๕๕๘ ผ่านมาจากการเลือกแบบสมัยนั้นมา ๘๐ปี ตัวเลือกแบบเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทยที่มีก็เช่น
เยอรมนี(TKMS U209/1400mod, U210mod)
สาธารณรัฐเกาหลี(DSME DW1400T, HHI HDS-500RTN)
รัสเซีย(Project 636 KILO, AMUR 1650)
สวีเดน(SAAB Kockums A26)
ฝรั่งเศส(DCNS Scropene)
และจีน(S26T)
มีข่าวลือมาว่าถ้าดูจากคุณสมบัติความต้องการแล้วกำลังพลในกองเรือดำน้ำต้องการแบบเรือของสวีเดน ไม่ก็เยอรมนี หรืออย่างน้อยเกาหลีใต้
แต่ทางคณะกรรมการเสียงส่วนใหญ่ต้องการแบบเรือจีนเนื่องจากมีความคุ้มค่าในด้านงบประมาณค่าใช้จ่ายมากที่สุด
ซึ่งก็น่าจะคืองบประมาณที่สื่ออ้างว่าตั้งไว้ที่ ๓๖,๐๐๐ล้านบาท เพื่อจะจัดหาเรือดำน้ำ ๒ลำนั้น จะสามารถจัดหาเรือดำน้ำจีนได้ถึง ๓ลำ
โดยมีการติดตั้งระบบอุปกรณ์ขั้นสูงของจีนอย่างระบบขับเคลื่อน AIP และอาจจะพร้อมการถ่ายทอด Technology ด้วย
สำหรับอาวุธยุทโธปกรณ์จากจีนเอง แม้ว่าเฉพาะในส่วนกองทัพเรือไทยก็มีประสบการณ์การจัดหาและใช้งานเรือรบที่จัดหาจากจีนมาในอดีตไม่สู้ดีนัก แต่ปัจจุบันนี้กองทัพเรือก็ยังไม่มีการปลดประจำการเรือที่จัดหามาจากจีนแต่อย่างใด
และก็มีเรือบางส่วนที่ได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้นด้วย เช่น เรือฟริเกตชุด ร.ล.กระบุรี และชุด ร.ล.นเรศวร เป็นต้น
คุณภาพและความก้าวหน้าทาง Technology ด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ของจีนในปัจจุบันก็นับว่าค่อนข้างจะดีขึ้นกว่าในอดีตเมื่อ ๒๐-๓๐ปีที่แล้วพอสมควร
Type 039 Song Class People's Liberation Army Navy Submarine Force
กรณีของเรือดำน้ำยุคใหม่เช่นเรือดำน้ำชั้น Type 039 Song ที่ออกแบบในยุคปี 1990s นั้นเป็นเรือซึ่งติดตั้งระบบที่มีที่มาจากตะวันตกอย่างเครื่องยนต์ดีเซล MTU-16V396 ที่ได้สิทธิบัตรผลิตในจีน และ Sonar แบบ Thomson-CSF
ซึ่งช่วงนั้นเรือของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปทางเรือตะวันตกมากขึ้น จะเห็นได้จากชุดเรือรบผิวน้ำของกองทัพเรือไทยที่จัดหามาในช่วงนั้น
เช่น เรือฟริเกตชุด ร.ล.เจ้าพระยา และชุด ร.ล.บางปะกง ที่เป็นเรือ Type 053T และ Type 053HT ถึงระบบภายในทั้งระบบตรวจจับ ระบบอำนวยการรบ และระบบอาวุธจะเป็นจีนล้วน แต่ก็ใช้เครื่องยนต์ MTU ระบบ CODAD
ส่วนเรือฟริเกตชุด ร.ล.นเรศวร Type 025T ก่อนการปรับปรุงใหม่ก็เรือลูกผสมระบบจีน-ตะวันตก และเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชุด ร.ล.ปัตตานี ก็มีตัวเรือที่ต่อที่จีน แต่ระบบเครื่องยนต์ ระบบอำนวยการรบ ระบบตรวจจับ และระบบอาวุธ เป็นของตะวันตกทั้งหมด
ฉะนั้นถ้าเป็นเรือดำน้ำจีนก็น่าจะทำแบบเดียวกันได้
new variant Type 039C/Type 041 Yuan Class People's Liberation Army Navy Submarine Force
โดยในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีงบประมาณด้านความมั่นคงจำกัดแล้ว นอกจากประเด็นด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์จากจีนยังเป็นตัวเลือกหนึ่งในกรณีที่ไม่สามารถจัดหาอาวุธจากตะวันตกได้
อีกทั้งจีนมักจะให้ข้อเสนอในการถ่ายทอด Technology ด้านอาวุธยุทโธปกรณ์แก่หลายประเทศโดยมีข้อจำกัดน้อยกว่ากลุ่มประเทศตะวันตกหรือแม้แต่รัสเซียเองด้วย
(สำหรับไทยเองก็เช่น โครงการพัฒนาจรวดเพื่อความมั่นคง DTI-1 และ DTI-1G ของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ที่ได้ Technology จากจีนในการพัฒนาด้วย)
เพราะฉะนั้นอาจจะเร็วเกินไปที่จะสรุปในทันทีขณะนี้ว่าเรือดำน้ำจีนอย่างแบบ S26T ที่เสนอในกองทัพเรือไทยนั้นเป็นแบบเรือที่แย่ จนกว่าจะได้รับมอบเรือเข้าประจำการและมีการใช้งานแล้วระยะหนึ่ง
(แม้แต่ U209/1400mod และ U210mod เยอรมนี, DW1400T และ HDS-500RTN เกาหลีใต้, Kilo และ Amur รัสเซีย, A26 สวีเดน, Scorpene ฝรั่งเศส ก็บอกไม่ได้ว่าดีจริงหรือไม่
เพราะส่วนใหญ่เรือเหล่านี้ยังไม่เคยถูกต่อขึ้นมาให้กำลังพลของกองทัพเรือทำการทดลองประเมินการใช้งานจริงเลย มีแต่ข้อมูลเปรียบเทียบในเอกสารเช่นเดียวกับ S26T ของจีน)
อย่างไรก็ตามจากประสบการณ์ที่ผ่านมาของกองทัพเรือไทยเองจากการใช้งานเรือจีนที่มีปัญหาที่พบอย่าง
ชุด ร.ล.นเรศวร ในการบูรณาการระบบที่ต้องโละระบบของจีนออกทั้งระบบอำนวยการรบ ระบบตรวจับ ระบบควบคุมการยิง และระบบอาวุธ แล้วเปลี่ยนใช้ระบบตะวันตกใหม่ทั้งหมดในการปรับปรุงเรือใหม่ล่าสุด
ชุด ร.ล.ปัตตานี ที่มีปัญหาการเก็บงานภายในเช่นการเดินสายไฟ ทำให้ยุ่งยากในการติดตั้งระบบอุปกรณ์และอาวุธของตะวันตกหลังจากที่รับเรือมาไทย
และอื่นๆ ทั้งคุณภาพเหล็กที่ใช้สร้างตัวเรือที่พบระหว่างการปฏิบัติงาน ซ่อมบำรุงตามวงรอบ หรือปรับปรุงเรือ
การเสื่อมสภาพของระบบรุ่นเก่าที่ใช้งานไม่ได้ต้องเปลี่ยนใหม่หรือพัฒนาระบบทดแทนเอง อย่างกรณีระบบควบคุมการยิงปืนใหญ่เรือของชุด ร.ล.เจ้าพระยา เป็นต้น
ประกอบกับแนวทางที่ว่าถ้าจัดหาเรือดำน้ำจีนมาแล้วมีการบูรณาการติดตั้งระบบจากตะวันตกลักษณะเดียวกับเรือรบผิวน้ำที่จัดหามาจากจีนก่อนหน้านี้เช่น ชุด ร.ล.นเรศวร และชุด ร.ล.ปัตตานีนั้น มองว่าอาจจะเป็นไปได้ยาก
เพราะช่วงหลังมานี้จีนพยายามที่จะเสนอขายระบบอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ตนพัฒนาเองล้วนๆทั้งระบบให้ลูกค้า มากกว่าระบบผสมจีน-ตะวันตก หรือเฉพาะตัวเรือต่อในจีนและภายในเป็นระบบตะวันตก
ซึ่งปัจจุบันนี้เองจีนมีนโยบายที่จะไม่ส่งออกระบบอาวุธที่ดีที่สุดที่กองทัพปลดปล่อยประชาชนใช้เองให้ต่างประเทศด้วย โดยมากมักจะเป็นรุ่นที่พัฒนาขึ้นเพื่อการส่งออกโดยตรง หรือส่งออกเพียงบางระบบให้ประเทศที่ใกล้ชิดมากๆเท่านั้น
อีกส่วนคือด้านความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มประเทศตะวันตกกับจีนในช่วงนี้น่าจะทำให้การส่งออกอุปกรณ์ทางทหารไปติดตั้งกับเรือจีนเป็นไปได้ค่อนข้างยากถ้าเทียบกับ๑๐ปีก่อนด้วย
หรือถึงจะมีการส่งออกระบบอุปกรณ์ของเรือดำน้ำของตะวันตกให้เรือที่จะต่อในจีนหรือติดตั้งในไทยหลังรับเรือมาเองก็ ก็ยากมากที่ตะวันตกจะส่งมอบระบบที่มีความก้าวหน้าขั้นสูงให้ด้วย
(เพราะกลัวจีนจะได้ความลับ Technology ที่รั่วไหลออกมาเพื่อทำการวิศวกรรมย้อนกลับลอกแบบไปพัฒนาใช้เองต่อและออกมาขายแข่ง)
S20 Conventional Submarine Export Model
รวมถึงการเพิ่มจำนวนลูกค้าเรือดำน้ำของจีนที่ตอนนี้เห็นจะมีลูกค้าหลักเพียงไม่กี่ประเทศคือ
บังคลาเทศที่จัดหาเรือดำน้ำชั้น Type 035G Ming มือสองจำนวน ๒ลำ และปากีสถานที่กำลังมีการเจรจากับจีนในการจัดหาเรือดำน้ำใหม่คือแบบ S20 จำนวน ๘ลำที่เคยรายงานไปแล้ว
ก็ค่อนข้างน่ากังวลที่ว่ากองทัพเรือไทยจะกลายเป็นลูกค้ากลุ่มผู้ทดลองใช้เรือดำน้ำรุ่นส่งออกยุคใหม่จากจีนเป็นรายแรกๆ
(และอาจจะถูกจีนเก็บข้อมูลที่ได้จากการใช้งานของไทยกลับไปพัฒนาเรือดำน้ำของตนในอนาคตอีกต่างหาก)
และเมื่อรวมกับการที่จีนจะถ่ายทอด Technology และจัดตั้งระบบกองเรือดำน้ำให้แบบครบวงจร เช่น ระบบที่ตั้งชายฝั่ง อู่เรือดำน้ำและระบบสนับสนุนการซ่อมบำรุงเรือ ระบบการฝึกจำลองแบบสมบูรณ์
การเข้าถึงข้อมูลการผลิตอะไหล่การซ่อมบำรุงชิ้นส่วนอุปกรณ์และอาวุธประจำเรือ เช่น Battery, Torpedo อาจจะรวมถึงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อต้านเรือผิวน้ำ เป็นต้น
กล่าวคือจีนไม่ได้เสนอขายเฉพาะตัวเรือให้ไทยแต่จะขายกองเรือดำน้ำให้ไทยทั้งระบบด้วยแล้ว
ก็เป็นที่น่ากังวลว่ากองทัพเรือไทยจะต้องพึ่งพาการผูกขาดระบบเรือดำน้ำจากจีนเป็นระบบหลักไปในช่วงระยะเวลานาน ขัดกับที่ผ่านมาระบบพื้นฐานที่กองเรือดำน้ำฝึกศึกษาและก่อตั้งมาจากแหล่งตะวันตกมาตลอด
เช่น การฝึกศึกษาที่เยอรมนี สาธารณรัฐเกาหลี รวมถึงเครื่องฝึกศูนย์ยุทธการเรือดำน้ำที่เป็นระบบเยอรมนีด้วย
คำถามในประเด็นการถ่ายทอด Technology เรือดำน้ำจากจีนที่ยังไม่มีรายละเอียดในขณะนี้คือ กองทัพเรือจะได้ประโยชน์การการถ่ายทอด Technology จากจีนนี้อย่างเต็มที่จริงมาแค่ไหน
(ประเด็นเรื่องความคุ้มค่าในด้านอื่นๆ เช่น ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้าต่างตอบแทน และโครงการพัฒนาประเทศร่วมที่อาจจะมาในโครงการนั้น โดยส่วนตัวไม่ได้มองว่าเป็นสาระสำคัญเลย
เพราะหลายท่านคงจะทราบถึงรูปแบบพื้นฐานของการจัดหาต่างๆของหน่วยงานรัฐครับว่า เป็นการจัดหาเพื่อวัตถุประสงค์ใช้งานเฉพาะภายในหน่วยงานนั้นๆเท่านั้น ไม่ได้มีการเชื่อมโยงกับหน่วยอื่นๆ
ซึ่งการที่กองทัพเรือจะจัดหาเรือดำน้ำมาประจำการ ก็ไม่ได้เกี่ยวกับการลงทุนภาคเอกชนอะไรเลย เพราะเราไม่ค่อยได้มีวิสัยทัศน์ในการมองการดำเนินนโยบายระดับชาติแบบองค์รวมในระยะยาว แต่มักจะเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่า)
อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลรายละเอียดหรือการประกาศแถลงอย่างเป็นทางการออกมา เนื่องจากแหล่งประชาสัมพันธ์หลัก เช่น กองเรือดำน้ำ หรือกองทัพเรือเองก็ยังไม่ออกมาให้ข้อมูลใดๆออกมาในขณะนี้
(Facebook Page ทางการของกองเรือดำน้ำ หยุดให้ข้อมูลไปหลายเดือนแล้ว)
ก็จึงไม่อาจทราบได้ว่าถ้าเปรียบเทียบข้อเสนอแบบเรือของบริษัทแต่ละประเทศแล้วแบบเรือของจีนมีข้อเสนอที่ดีกว่าอย่างไร
ถึงแม้ว่าในที่สุดกองทัพเรือไทยโดยเฉพาะกองเรือดำน้ำซึ่งจะเป็นหน่วยงานที่รับมอบเรือมาใช้งานนั้น
อาจจำเป็นจะตัดสินใจว่าจะเลือกที่ยอมรับแบบเรือดำน้ำจีนและดำเนินกระบวนการจัดหาตามขั้นตอนเพื่อให้ กดน.เป็นกองเรือรบที่มีคุณค่าทางยุทธการสมบูรณ์
หรือจะตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะไม่รับแบบเรือดำน้ำจีน และหวังแนวทางการจัดหาใหม่ในอนาคต โดยจะยังคงเป็นกองเรือที่ไม่มีเรือต่อไปรึไม่นั้น
ต่างก็เป็นแนวทางที่ยากลำบากสำหรับกำลังพลทุกระดับของกองทัพเรือในอนาคตทั้งนั้น
แนวทางการพัฒนาและการฝึกศึกษากำลังพลของกองเรือดำน้ำที่ผ่านมาที่เป็นระบบตะวันตก แต่อาจจะกลับต้องมาใช้งานระบบเรือจีนนั้น
อาจจะดูเป็นเรื่องยากและน่าลำบากใจที่จำต้องเปลี่ยนมาเรียนรู้ระบบที่แตกต่างจากที่เคยฝึกและเรียนรู้มา แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องที่เสียเปล่า
เพราะอย่างไร ๑+๑ ก็ต้องเท่ากับ ๒ ไม่ใช่ ๐ อย่างน้อยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากำลังพลของกองทัพเรือก็ได้สะสมความรู้เกี่ยวกับวิทยาการและการทำงานกับเรือดำน้ำมาตลอด
ซึ่งหลักการพื้นฐานต่างๆส่วนใหญ่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับเรือดำน้ำจีนที่อาจจะจัดหามาได้
ถึงการจัดหาเรือดำน้ำจีนจะมีค่าแค่ ๑+๑ = ๒ คือเป็นเรือที่ทำได้เหมือนกับเรือดำน้ำมาตรฐานตะวันตกร้อยละ๘๐-๙๐ ในคุณภาพด้อยกว่า
ก็น่าผิดหวังอยู่ที่กองทัพเรือควรจะสามารถจัดหาเรือดำน้ำที่มีค่าเป็น ๑+๓ = ๔ สำหรับเรือดำน้ำตะวันตก หรืออย่างน้อยเรือดำน้ำรัสเซียที่มีค่า ๑+๒ = ๓
แต่ก็ยังดีกว่าเป็น ๑+๐ = ๑ เหมือนเดิมต่อไปมาก คือเป็นกองเรือดำน้ำที่ไม่มีเรือดำน้ำประจำการต่อไปไม่รู้อีกนานเท่าไร
ตรงนี้ก็จึงไม่ทราบว่าถ้าต้องถูกบังคับเลือกระหว่าง
การที่กองเรือดำน้ำยังคงมีสภาพเป็นกองเรือหนึ่งในกองเรือยุทธการที่ไม่เรือแบบใดๆประจำการตั้งแต่จัดตั้งมา โดยต้องรอคอยโอกาสในการจัดตั้งโครงการจัดหาเรือต่อไปเรื่อยๆเกือบ ๕-๑๐ปีนั้น
กับการยอมรับจัดหาเรือดำน้ำจีน ซึ่งตัวเรือสามารถทำได้เกือบทุกอย่างเหมือนเรือดำน้ำตะวันตกหรือเรือดำน้ำรัสเซีย(แต่อาจจะด้อยคุณภาพกว่า) แต่ก็ทำให้ กดน.เป็นกองเรือจริงๆโดยสมบูรณ์เสียทีแล้ว
อย่างใดจะดีกว่ากัน?
ส่วนตัวหวังเพียงอย่างเดียวว่าคราวนี้โครงการจัดหาเรือดำน้ำจะไม่ประสบกับความล้มเหลวเหมือนหลายๆครั้งที่ผ่านมาในอดีต
เพราะกองทัพเรือไทยนั้นขาดกำลังใต้น้ำที่จะให้มิติการรบครบสามมิติสมบูรณ์มานานเกินไปแล้ว ในสถานการณ์ความมั่นคงภายในภูมิภาคและโลกที่เต็มไปด้วยอันตรายจากภัยคุกคามที่มองเห็นได้ยากในขณะนี้
การยอมรับเรือดำน้ำจีนด้วยเหตุผลด้านความเหมาะสมในหลายๆส่วนนั้น อาจจะเป็นสิ่งที่จำต้องยอมรับด้วยเหตุผลด้านประโยชน์ส่วนร่วมของชาติและราชนาวี
ซึ่งนั่นเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตข้าราชการทหารทุกเหล่าทัพที่ต้องเผชิญ ยอมรับ ต่อสู้ และรับผิดชอบในสิ่งที่ตามมาครับ