วันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2559

นิตยสาร Future Gamer ฉบับสุดท้าย ๒๐ปีในวงการหนังสือเกมของไทย


ตั้งแต่ที่นิตยสาร Console Games "PLAY" ปิดตัวลงเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๘ ผมก็นึกไว้แล้วว่าสักวันหนึ่งผมต้องมาเขียนบทความนี้
เมื่อนิตยสาร Future Gamer Issue 240 October 2016 วางแผงเป็นฉบับสุดท้ายได้ปิดตัวลงในโอกาสครบรอบ ๒๐ปีก้าวสู่ปีที่๒๑พอดีในเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙ นี้


ประวัติคร่าวๆของนิตยสาร Future Gamer นี้เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙(1996) โดยบริษัท Future view ในขณะนั้นได้ซื้อลิขสิทธิ์นิตยสาร PC GAMER จากสหรัฐฯมาตีพิมพ์เป็นภาษาไทย
ซึ่งถ้าเทียบในช่วงเดียวกันซึ่งเป็นยุควิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ.๒๕๔๐(1997) และเป็นช่วงเริ่มต้นของการเติบโตในวงการ PC Game ในไทย
นิตยสาร Future Gamer ราคา ๑๘๐บาท ที่แถม CD ที่มี Demo Games, Video Clip เกี่ยวกับ Game และ Multimedia อื่นๆ(อย่างเจ้า Coconut Monkey) นับว่าเหนือกว่านิตยสารคู่แข่งในสมัยเดียวกันมาก
และเนื้อหาบทความเกมจากต่างประเทศก็มีคุณภาพสูงกว่าทั้งเนื้อหาและการแปลจากกองบรรณาธิการหลักและนักเขียนอิสระ ถ้าเทียบนิตยสารเกมอื่นที่วางตลาดในยุคเดียวกัน
(นิตยสารเกมบางหัวในสมัยนั้นยัง 'ขโมย' บทความของ Future Gamer ไปลงในหนังสือตัวเองด้วยซ้ำ)

ต่อมาในช่วงปี พ.ศ.๒๕๔๑ ในปีที่๓ (Vol.3 1998) นิตยสาร Future Gamer ก็ได้ปรับเปลี่ยนราคาเป็นแบบไม่มี CD ราคา ๖๕บาท และแบบมี CD ๙๕บาท เปลี่ยนกระดาษและลดหน้าสีเพื่อลดต้นทุน
ซึ่งผมเองก็เริ่มซื้อนิตยสาร Future Gamer ในช่วงปีที่๔ พ.ศ.๒๕๔๒(Vol.4 1999) เพราะ FG เป็นนิตยสารเกมเดียวที่มีข้อมูลเกมจำลองการรบ Combat Simulation ที่มีข้อมูลครบถ้วนดีที่สุด
ต่อมาก็มีการเปลี่ยนแปลงในหลายๆด้านอย่างออกฉบับแถม DVD ในปีที่๙ พ.ศ.๒๕๔๗(Vol.9 No.1 March 2004) ราคา ๙๕บาท และฉบับแถม CD ราคา ๖๕บาท ต่อมาปรับราคาฉบับแถม DVD เป็น ๑๐๐บาท ในปีที่๑๐ พ.ศ.๒๕๔๘(Vol.10 No.9 November 2005)
ในยุคนี้เองนิตยสาร Future Gamer ก็เป็นสื่อกลางในลงข่าวสารวงเกมในไทย ทั้งนักเล่นเกมในการแข่งขันเกม และข่าวสารและบทความสัมภาษณ์แนะนำเกมไทยและนักพัฒนาเกมไทยในยุคแรกๆสมัยนั้นอย่างต่อเนื่อง

ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุดในช่วงยุคสุดท้ายของ FG คือการที่บริษัท Future Gamer ตัดสินใจไม่ซื้อลิขสิทธิ์นิตยสาร PC GAMER อีกต่อไปและเริ่มทำเนื้อหาด้วยตนเองโดยกองบรรณาธิการของไทยในปีที่๑๔ พ.ศ.๒๕๕๒(Issue 149 March 2009)
โดยต่อมาบริษัท Future Gamer ได้ถูกซื้อกิจการโดยบริษัท True Digital Content And Media ในปีที่๑๕ พ.ศ.๒๕๕๓(Issue 161 March 2010)
ซึ่งมีการปรับ Logo หัวหนังสือใหม่ไม่ให้ตรงกับนิตยสาร PCG และปรับขนาดหนังสือให้เล็กลงในปีที่๑๖ พ.ศ.๒๕๕๔(Issue 171 January 2011) ต่อมายกเลิกการแถม DVD ในปีที่๑๗ (Issue 188 June 2012)
และสุดท้าย True มีการปรับโครงสร้างใหม่เป็นบริษัท True Icontent ในปีที่๑๗ (Issue 213 July 2014) ซึ่งไม่มีการรับงานของนักเขียนบทความอิสระ(Freelance Writers) โดยให้กองบรรณาธิการหลักเท่านั้นทำงานหนังสือในช่วง๓ปีสุดท้าย

นอกจากสถานการณ์อุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ในไทยปัจจุบันที่ตกต่ำถึงขีดสุด นิตยสารเกมที่เป็นรูปเล่มหนังสือรายเดือนนั้นไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้เล่นเกมยุคปัจจุบันอีกแล้ว
เพราะทุกวันนี้ Gamer จะติดตามข่าวสารจาก Internet, Social Network และ Youtube เป็นหลัก ซึ่ง Future Gamer ก็มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปในช่องทางนั้นเช่นกัน
แต่เราก็จะไม่ลืมว่านิตยสาร Future Gamer เป็นหนึ่งในบรรดา 'ผู้มาก่อน' ของวงการเกมไทย ที่ผมและหลายท่านได้ติดตามข่าวสารวางการเกมและเป็นที่เปิดตัวนักพัฒนาเกมไทยมาแล้วหลายราย
ก็คงสามารถติดตาม FG ในรูปแบบใหม่ตามช่องทางตาม Link ข้างใต้เหล่านี้ ต้องขอขอบคุณ Future Gamer อีกครั้งสำหรับ ๒๐ปีตลอดมานี้ในวงการเกมไทยครับ
https://www.online-station.net/pc
https://www.facebook.com/futuregamer
https://www.youtube.com/channel/UCmyPnzW7iBwVsVziN_QeKvQ
https://www.youtube.com/user/OnlineStationShow