วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ความคืบหน้าโครงการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพไทยในปี ๒๕๕๙-๔

MBT-3000 or VT4 Main Battle Tank test in Pakistan(defence.pk)

ข่าวการจัดหายุทโธปกรณ์ในส่วนกองทัพบกไทยนั้น
สำหรับโครงการพิจารณาแบบรถถังหลักใหม่ของกองทัพบกไทย มีข่าวลือออกมาในช่วงเดือนเมษายนนี้ครับว่า
จีนอาจจะพิจารณามอบรถถังหลัก VT4 หรือ MBT-3000 ให้กองทัพบกไทยทดลองใช้งานก่อนราว ๕-๖คัน หรืออาจจะเป็น ๘คัน ส่งมอบภายในปี พ.ศ.๒๕๖๑(2018) ก่อนเพื่อเป็นการประเมินค่าก่อนการจัดซื้อจำนวนมากต่อไปในอนาคต
รถถังหลัก MBT-3000 หรือ VT4 นั้น NORINCO ผู้ออกแบบและผลิตรถมีรถต้นแบบอยู่จำนวนหนึ่งซึ่งแต่ละคันมีความแตกต่างออกไปบ้าง (เช่นคันล่าสุดที่ใช้ป้อมปืนแบบ Remote Weapon Station)
แต่ก็ยังไม่มีรายละเอียดออกมาว่ารถถังหลัก VT4(MBT-3000) สำหรับไทยตามข้อเสนอนี้จะเป็นไปในรูปแบบใด อย่างระบบอาวุธ อุปกรณ์ เครื่องยนต์ จะเป็นไปตามความต้องการของไทยหรือไม่
หรือจะเป็นการส่งรถถังต้นแบบที่มีอยู่มาทดสอบในไทยเหมือนที่ทำในปากีสถาน หรือเป็นชุดรถถังผลิตใหม่สำหรับไทยโดยเฉพาะ
แต่จะเห็นได้ว่าในช่วงหลังๆมานี้จีนเริ่มใช้นโยบายส่งมอบยุทโธปกรณ์ระดับสูงของตนให้มิตรประเทศที่ใกล้ชิดเพื่อทดลองใช้ก่อนมากขึ้น อย่างในกรณีที่มอบเฮลิคอปเตอร์โจมตี Z-10 จำนวนหนึ่งให้กองทัพบกปากีสถานทดลองใช้ ซึ่งหวังที่จะให้มีการสั่งซื้อจำนวนมากตามมาครับ

คำถามที่ว่ากองทัพบกจำเป็นต้องการจัดหารถถังหลักจำนวนมากหรือไม่ คำตอบก็คือมีความจำเป็นอยู่ครับ
ในส่วนรถถังหลักนั้นกองทัพบกมีแผนที่ต้องการจะจัดหารรถังหลักใหม่เพื่อทดแทนรถถังเบา M41A3 ที่ยังคงประจำการใน กองพันทหารม้ารถถังประจำกองพลทหารราบ ซึ่งมีอายุการใช้งานมานานและล้าสมัย
คือ กองพันทหารม้าที่๔ รักษาพระองค์ กองพลที่๑ รักษาพระองค์, กองพันทหารม้าที่๘ กองพลทหารราบที่๓, กองพันทหารม้าที่๙ กองพลทหารราบที่๔ และ กองพันทหารม้าที่๑๖ กองพลทหารราบที่๕
รวมถึงในส่วนของ พัน.ม.ถ.ที่ใช้ รถถังหลัก M48A5 ทั้งกองพันทหารม้าที่๒ กองพลทหารราบที่๒ รักษาพระองค์ฯ ที่กำลังรับมอบรถถังหลัก Oplot แทน M48A5 ให้ครบทางกองพันตามแผน และ กองพันทหารม้าที่๒๑ กองพลทหารราบที่๖ ที่ยังคงใช้ ถ.หลัก M48A5 ด้วย
ยังรวมไปถึงกองพันทหารม้ารถถังในกรมทหารม้า ที่เป็นหน่วยขึ้นตรงของ กองพลทหารม้าที่๓ คือ กรมทหารม้าที่๖ ที่โอนย้ายมาจาก กองพลทหารม้าที่๑ และ กรมทหารม้าที่๗ ที่ตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งต้องจัดหารถถังหลักแบบใหม่มาบรรจุไม่ต่ำกว่าสองถึงสามกองพัน
ตรงนี้ก็ไม่นับในส่วน กองพลทหารม้าที่๒ รักษาพระองค์ ซึ่งน่าจะยังคงยุทโธปกรณ์เดิมที่มีอยู่ในหน่วยขึ้นตรงปัจจุบันต่อไป
คือรถถังหลัก M60A3 ใน กองพันทหารม้าที่๑๗ รักษาพระองค์ กรมทหารม้าที่๑ รักษาพระองค์ และ กองพันทหารม้าที่๕ รักษาพระองค์ กรมทหารม้าที่๔ รักษาพระองค์ และรถถังหลัก M60A1 ใน กองพันทหารม้าที่๒๐ รักษาพระองค์ กรมทหารม้าที่๕ รักษาพระองค์
จะเห็นได้ว่าจำนวนรถถังหลักที่กองทัพอาจจะมองไว้ในอนาคตอาจจะมีไม่ต่ำกว่า ๔-๕กองพัน หรือ ๒๐๐-๒๕๐คัน แต่สำหรับคำถามที่ว่ามีความจำเป็นต้องการจัดหารถถังหลักอย่างเร่งด่วนหรือไม่นั้นตรงนี้ไม่ทราบครับ









วันที่ ๑๙ เมษายนที่ผ่านมา รัฐมนตรีกลาโหมยูเครน Stepan Poltorak และรัฐมนตรีกลาโหมลิทัวเนีย Juozas Olyekas ได้เยือนเขต Kharkiv และได้เยี่ยมชมอุตสาหกรรมความมั่นคงของยูเครนที่โรงงาน Malyshev ในเครือ KMDB
จะเห็นได้จากชุดภาพว่าโรงงาน Malyshev กำลังผลิตรถถังหลัก Oplot ที่กองทัพบกไทยสั่งจัดหาอยู่ โดยมีป้อมปืนหล่อใหม่และอีกหลายๆชิ้นส่วนใหม่ด้วย โดยมีการระบุว่าตัวถังแคร่รถฐานรถถัง Oplot ที่หล่อใหม่นั้นมีอย่างน้อยถึงชิ้นส่วนสำหรับคันที่ ๒๑แล้ว
ตรงนี้ก็น่าจะเป็นการเผยแพร่ของทางยูเครนเพื่อแสดงให้ลูกค้าที่จัดซื้อยุทโธปกรณ์เช่นกองทัพบกไทยที่กำลังจัดหารถเกราะ BTR-3E1 และรถถังหลัก Oplot ว่าทางยูเครนยังมีขีดความสามารถในการผลิตประกอบและส่งมอบให้ได้ตามสัญญาอยู่
ซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศลูกค้ารายอื่นๆที่สนใจในอนาคตด้วย ทั้งนี้ในงานแสดงยุทโธปกรณ์ Defense Services Asia 2016 ที่จัดขึ้นที่ Kuala Lumpur มาเลเซีย ระหว่างวันที่ ๑๘-๒๑ เมษายน ที่ผ่านมานั้น 
Ukroboronprom และ Ukrspetsexport ซึงเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลยูเครนด้านอุตสาหกรรมความั่นคงและการส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ของยูเครน ก็ได้เปิดตัวรถหุ้มเกราะล้อยาง Dozor-B 4x4 ในงาน DSA 2016 ว่าพร้อมผลิตส่งออกให้มิตรประเทศที่สนใจครับ

อีกโครงการหลังที่มีข่าวการคณะทำงานพิจารณายานเกราะล้อยางมาใช้ในกองทัพบก ครั้งที่๑ ที่ ศูนย์การทหารราบ ค่ายธนะรัชต์ เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙
ล่าสุดก็มีการออกคุณสมบัติของยานเกราะล้อยางที่กองทัพบกไทยจะจัดหาเข้าประจำการในอนาคตโดย คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานยุทโธปกรณ์กองทัพบก (กมย.ทบ.) 

คุณสมบัติเบื้องต้นของยานเกราะล้อยางแบบใหม่ของกองทัพบกไทย
เป็นยานเกราะล้อยาง 6x6 ขึ้นไป สามารถปฏิบัติงานได้ทุกสภาวะและภูมิประเทศ
บรรทุกกำลังพลได้ไม่ต่ำกว่า ๑๑นาย
มีเกราะป้องกันกระสุนขนาด 7.62mm ที่ระยะยิง 150m ลงมาได้
พลประจำรถสามารถตรวจการณ์และทำการยิงด้วยการควบคุมจากภายในตัวรถได้
ติดตั้งป้อมปืนได้ และมีรุ่นที่ใช้งานได้หลายภารกิจตามอัตราการจัดยุทโธปกรณ์ของกองทัพบก
มีระบบป้องกัน นิวเคลียร์ ชีวะ เคมี และมีระบบความปลอดภัยให้กับกำลังพลในรถ
ติดตั้งวิทยุประจำรถที่ใช้งานร่วมกับวิทยุ FM แบบคลื่นก้าวกระโดด(Frequency Hopping)ที่กองทัพบกมีใช้งานได้
ใช้เครื่องยนต์ดีเซลหรือใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้หลายประเภท
มีสายการผลิตและประจำการในประเทศผู้ผลิต และสามารถสนับสนุนอะไหล่ได้ไม่น้อยกว่า ๑๕ปี

BTR-3E1 กองพันทหารราบที่๑ รักษาพระองค์ กรมทหารราบที่๒ รักษาพระองค์ ตั้งแสดงในการสวนสนามยานยนต์พิธีเทิดเกียรติและอำลาชีวิตราชการนายทหารชั้นนายพล ที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ๒๙ กันยายน ๒๕๕๗

ตรงนี้เป็นที่เข้าใจได้ว่าทางกองทัพบกกำลังมองหาการจัดหารถหุ้มเกราะล้อยางแบบใหม่นอกจากการจัดหารถหุ้มเกราะล้อยาง BTR-3E1 ที่ทยอยจัดหามาสำหรับเหล่าทหารราบและเหล่าทหารม้า
คือ กรมทหารราบที่๒ รักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่๒๑ รักษาพระองค์ เพื่อแปรสภาพให้กองพลทหารราบที่๒ รักษาพระองค์ เป็นหน่วยทหารราบยานเกราะสมบูรณ์ทั้งกองพล และล่าสุดคือ กองพันทหารม้าที่๑๐ กองพลทหารม้าที่๑ ที่เข้าร่วมการฝึกภาคสนามของกองทัพภาคที่๓
เข้าใจว่าในอนาคตอันใกล้อาจจะมีการออกเอกสารขอข้อมูล(RFI: Request For Information) สำหรับตัวแทนของบริษัทประเทศต่างๆที่สนใจจะส่งผลิตภัณฑ์รถหุ้มเกราะล้อยางของตนเข้าแข่งขันในโครงการ

ยานเกราะล้อยาง DTI 8x8 Black Widow Spider รถต้นแบบในงาน Defense & Security 2015 (My own Photo)

แต่อย่างไรก็ตามการการกำหนดคุณสมบัติเบื้องต้นของยานเกราะล้อยางใหม่นี้ ส่วนตัวมองว่าอาจจะไม่ได้เอื้ออำนวยโอกาสให้โครงการยานเกราะแห่งชาติ DTI 8x8 Black Widow Spider ของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ สทป.มากนักครับ
เพราะติดข้อกำหนดที่ว่า "มีสายการผลิตและประจำการในประเทศผู้ผลิต" ซึ่งปัจจุบันรถหุ้มเกราะล้อยาง Black Widow Spider ยังมีสถานะเป็นรถต้นแบบที่ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์และยังไม่มีการผลิตรถต้นแบบเพิ่มเติม
โดยจุดประสงค์ของโครงการในเบื้องต้นคือการสร้างต้นรถแบบเพื่อส่งมอบให้กองทัพประเมินค่าการใช้งาน แต่จะมีการเปิดสายการผลิตจำนวนมากได้หรือไม่ก็เป็นอีกกรณีหนึ่ง
รถเกราะ DTI จึงอาจจะไม่ได้มีโอกาสมากนัก ซึ่งน่าเสียดายสำหรับการพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมความมั่นคงของไทยที่จะพัฒนาสร้างและผลิตใช้เองด้วยฝีมือคนไทย

NORINCO VN1 8x8 model at Defense & Security 2015 (My own Photo)

และการที่กำหนดคุณสมบัติว่าเป็นยานเกราะล้อยาง 6x6 ขึ้นไปก็แสดงถึงการไม่จำกัดแบบรถว่าต้องเป็นยานเกราะล้อยาง 8x8 เหมือนรถเกราะล้อยาง BTR-3E1 ทีกองทัพบกมีใช้อยู่แล้วด้วย 
นั่นทำให้มีระบบรถหุ้มเกราะล้อยางหลายแบบมากขึ้นที่จะสามารถเข้าแข่งขันในโครงการจัดหายานเกราะล้อยางใหม่ของกองทัพบกไทยได้ อย่างรถเกราะล้อยาง 6x6 และ รถเกราะล้อยาง 8x8 แบบต่างๆของจีนที่มีใช้งานในประเทศกลุ่ม ASEAN 
เช่น รถหุ้มเกราะล้อยาง VN2 6x6 ที่เป็นรถรุ่นส่งออกล่าสุดของ WZ551 ซึ่งกองทัพบกพม่ามีรถรบทหารราบล้อยาง Type 92 6x6 และรถเกราะล้อยางติดปืนใหญ่รถถัง 105mm และ Type 87 (PTL-02) 
รวมถึงรถหุ้มเกราะล้อยาง VN1 8x8 (รุ่นส่งออกของ ZBL-09) ที่มีหลายรุ่นทั้งรถลำเลียงพล รถรบทหารราบ และรถเกราะติดปืนใหญ่รถถัง ที่ส่งออกประจำการในหน่วยนาวิกโยธินกองทัพเรือเวเนซุเอลาด้วย
หรือรถหุ้มเกราะล้อยาง VP10 8x8 รุ่นใหม่ที่มีรูปแบบคล้ายคลึงกับรถหุ้มเกราะล้อยาง Bumerang 8x8 รัสเซีย Patria AMV ฟินแลนด์ และ Terrex สิงคโปร์ โดยในรุ่นลำเลียงพลจะติดป้อมปืน Remote สำหรับปืนกล 7.62mm หรือ 12.7mm บรรทุกกำลังพลได้ ๑๐-๑๒นาย   
ซึ่งคงต้องมาดูอีกทีว่าจะมีรถเกราะล้อยางแบบใดมาเสนอให้กองทัพบกไทยบ้างครับ

แบบจำลองเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้า Type 039A ในงาน 3rd Ship Tech 2016 (My own Photo)

ส่วนข่าวการจัดหายุทโธปกรณ์ในอนาคตของกองทัพเรือไทยมีเรื่องหลักคือ 
ความคืบหน้าโครงการจัดหาเรือดำน้ำที่คณะกรรมการกองทัพเรือได้เลือกเรือดำน้ำแบบ S26T จีนจำนวน ๓ลำ วงเงิน ๓๖,๐๐๐ล้านบาทนั้น มีข่าวออกมาจากสื่อหลักของไทยบางสำนักว่า 
หลังจากที่กองทัพเรือส่งเรื่องไปให้กระทรวงกลาโหมตามขั้นตอน มีการสั่งการจากรัฐบาลให้กองทัพเรือขยายแผนปีผูกผันงบประมาณจากเดิม ๗ปี เป็น ๑๑ปี ซึ่งจะทำให้กองทัพเรือใช้งบประมาณภายในของตนเองโดยไม่ต้องมีวงเงินเพิ่มเติมเป็นพิเศษ 
เมื่อกองทัพเรือจัดทำแผนงบประมาณใหม่เสร็จก็น่าจะมีการนำเรื่องส่งให้กระทรวงกลาโหมและให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติตามขั้นตอนต่อไป

แน่นอนครับว่าถึงขณะนี้คงไม่มีการเปลี่ยนแบบเรือดำน้ำที่จะจัดหาคือเรือดำน้ำ S26T จีน ๓ลำแล้ว แต่ประเด็นสำคัญคือการที่มีการนำเสนอเรื่องนี้ในสื่อดูจะเป็นกลายเป็นแรงกดดันที่ส่งผลให้กองทัพเรือตกเป็นจุดสนใจจากภาคสังคมอีกครั้ง
โดยเฉพาะความพยายามจากฝ่ายที่ผลักดันโครงการเรือดำน้ำที่ต้องการจะลดแรงกดดันจากภาคประชาสังคมเรื่องความเหมาะสมด้านงบประมาณต่อสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ก็มาเป็นข้อโจมตีของฝ่ายที่ต่อต้านการจัดหาเรือดำน้ำไปเสีย
ตามความเห็นส่วนตัวถึงตอนนี้ก็ยังไม่เชื่อว่าโครงการจัดหาเรือดำน้ำนี้จะผ่านการอนุมัติได้โดยง่าย ถึงแม้ว่าอาจจะมีการอนุมัติโครงการและลงนามสัญญาจัดหาอย่างเป็นทางการจริงในเวลาอันใกล้ แต่ต่อไปในอนาคตก็อาจจะมีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไปถึงขั้นต้องยกเลิกโครงการก็ได้
เพราะอย่างที่เห็นว่าแรงต่อต้านทั้งภายในและภายนอกสูงมาก และกองทัพเรือก็จะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้เต็มๆอยู่ดี ทั้งการจัดการงบประมาณภายใน แผนยุทธศาสตร์การใช้กำลังเพื่อความมั่นคงในทะเล และความเชื่อมั่นจากภาคสังคมครับ

แบบจำลองเรือฟริเกต DSME DW3000H ในงาน 3rd Ship Tech 2016 (My own Photo)

อีกโครงการคือโครงการจัดหาเรือฟริเกตสมรรถนะสูง ระยะที่๒ นั้่น มีบางสื่อรายงานออกมาว่ากองทัพเรือได้ลงนามสัญญากับ บริษัท Daewoo Shipbuilding & Marine Engineering (DSME) สาธารณรัฐเกาหลี สำหรับการจัดหาเรือฟริเกตลำที่๒ไปแล้วเมื่อไม่นานมานี้
อันนี้ต้องมาดูรายละเอียดที่จะมีออกมาอีกทีในอนาคตถ้ามีครับ โดยเฉพาะเรื่องการถ่ายทอด Technology ว่าเรือฟริเกตสมรรถนะสูงลำที่๒ นี้จะมีการต่อสร้างภายในประเทศไทยตามที่เคยมีข้อมูลออกมาก่อนหน้านี้หรือไม่
ทั้งนี้เมื่ออ้างอิงจากการให้สัมภาษณ์ของ นาวาเอก พิชเยนทร์ ตันประเสริฐ กรรมการผู้จัดการบริษัทอู่กรุงเทพ เกี่ยวแผนการต่อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งเพิ่มเติมอีก ๒ลำในอนาคตช่วงปี พ.ศ. ๒๕๖๑-๒๕๖๒(2018-2019) แล้ว
แผนที่ตามมาต่อไปคือการต่อเรือฟริเกตได้เองในประเทศไทย ซึ่งต้องมีการเตรียมความพร้อมในหลายๆส่วนหลายๆด้าน เช่น การพัฒนาขยายอู่ต่อเรือของกองทัพเรือและภาคเอกชนครับ




เขี้ยวเล็บใหม่ของกองทัพเรือ ซึ่งจะตอบโจทย์กับภาระกิจ เจ้าเครื่องตัวนี้เหมือนๆตลาดทั่วไป อาจจะไม่แปลกตา สิ่งที่จะแปลกคืออุปกรณ์ในตัวเครื่องลำนี้ 
กระแสบอกกว่าเครื่องจีน หรือป่าว ขอบบอกเลยนะครับ กองทัพเรือไม่มีนโยบายนั้น เครื่องถูกอ๊อปชั่นต่ำๆ กองทัพเรือไม่มีนำมาใช้ เพราะมันไม่สามารถมาปฏิบัติกับภาระกิจของกองทัพเรือได้ 
ซึ่งเครื่องบินที่กองทัพเรือมี จะต้องสามารถปฏิบัติการในทะเลได้ ต้องสามารถบินได้ท่ามกลาง พายุฝน ลุยทะเล แม้ในท่ามกลางทัศนะวิสัยที่เลวร้าย 
จึงขอเรียนทำความเข้าใจกับกระแสต่างๆที่เข้ามา ส่วนรายละเอียดเจ้าเครื่องตัวนี้ เอาใว้มาศึกษาดูงานกันได้นะครับ ขอให้เจ้าหน้าที่ ที่ปฏิบัติกับเครื่องตัวนี้ตอบดีกว่าครับ หรือไม่ก็วันเด็กครับ อาจจะได้เจอกันกันเครื่องบิน ฮ. ลำนี้

ที่มา กองการบินทหารเรือ

H145M Royal Thai Navy in Germany (http://www.airbushelicopters.com)

ภาพล่าสุดของเฮลิคอปเตอร์ Airbus H145M หรือเดิมคือ EC645 T2 ของกองทัพเรือไทยที่สั่งจัดหา ๕เครื่องนั้น เห็นได้จากภาพชัดเจนครับว่าเป็นรุ่นติดอาวุธซึ่งมีแท่นติดตั้งอาวุธปืนกลยิงจากประตูข้าง และคานอาวุธเสริมข้างลำตัวสำหรับกระเปาะปืนกลอากาศและกราะเปาะจรวด
เพียงแต่ดูเหมือนว่า ฮ.H145M ที่กองทัพเรือจัดหานั้นจะไม่ได้ติดตั้งกล้อง FLIR เหมือนอย่างที่กองทัพเยอรมนีสั่งจัดหามาเพื่อใช้สนับสนุนหน่วยรบพิเศษ KSK 
(ซึ่งก็เหมือน ฮ.ลว./อว.๕๕๐ AS550 C3 ๘เครื่องของกองทัพบกที่จัดหามาโดยไม่ติดกล้อง FLIR เช่นกัน โดยล่าสุดมีข้อมูลว่ากำลังจะมีการจัดหากล้อง FLIR มาติดให้ ฮ.AS550 C3 ในอนาคตนี้)
แต่สำหรับภารกิจสนับสนุนการปฏิบัติของนาวิกโยธินและหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ ที่จะมาแทน ฮ.ลล.๒ Bell 212 ที่ประจำการใน ฝูงบิน๒๐๒ กองบิน๒ กองการบินทหารเรือ ที่มีอายุใช้งานมานานแล้วก็ถือว่ามีประสิทธิพอและเหมาะสมมากพอสมควร
ล่าสุด Airbus Helicopters ได้ทำพิธีส่งมอบเครื่องชุดแรก ๒เครื่องให้กองทัพเรือไทยเมื่อวันที่ ๒๙ เมษายนที่ผ่านมา และกำลังทำการฝึกนักบินชุดแรกของกองการบินทหารเรือที่ศูนย์ฝึกการบินของ Airbus Helicopters ในเยอรมนี
คาดว่าการส่งมอบเครื่องจะมีขึ้นในเร็วๆนี้คือประมาณเดือนกันยายนปี ๒๕๕๙ (2016) ตามที่ได้รายงานไปครับ

ผู้บัญชาการทหารเรือ ลงนามในพิธีลงนามในสัญญาซื้อระบบควบคุมบังคับบัญชาและตรวจการณ์ สัญญาซื้อระบบปืนหลัก สัญญาซื้อระบบปืนรอง และสัญญาซื้อระบบอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่พื้น สำหรับเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง
วันนี้ (วันที่ 29 เมษายน 2559) เวลา 09.00 น. พลเรือเอก ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ ลงนามในพิธีลงนามในสัญญาซื้อระบบควบคุมบังคับบัญชาและตรวจการณ์ สัญญาซื้อระบบปืนหลัก สัญญาซื้อระบบปืนรอง และสัญญาซื้อระบบอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่พื้น 
สำหรับเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง ณ ห้องรับรอง กองบัญชาการกองทัพเรือพระราชวังเดิม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร

กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
https://th-th.facebook.com/prthainavy/posts/1164644050253616

Second Krabi class Offshore Patrol Vessels model (My Own Photo) 

การลงนามสัญญาจัดซื้อระบบอุปกรณ์และอาวุธสำหรับโครงการเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชุด ร.ล.กระบี่ ลำที่๒ ระหว่างกองทัพเรือไทยกับตัวแทนของบริษัทนานาชาติต่างๆ
(ระบบควบคุมบังคับบัญชาการและตรวจการณ์ ประกอบด้วยเช่น ระบบอำนวยการรบ TACTICOS, Radar ตรวจการพื้นน้ำ SCOUT, Radar ควบคุมการยิงและกล้อง Electro-Optic STIR 1.2 EO Mk2 ของบริษัท Thales ฝรั่งเศส/เนเธอร์แลนด์/สหราชอาณาจักร
ระบบอาวุธประกอบด้วย อาวุธปล่อยนำวิถีต่อต้านเรือผิวน้ำ RGM-84 Harpoon ของบริษัท Boeing สหรัฐฯ, ปืนใหญ่เรือ OTO Melara 76/62 ของบริษัท Otobreda/Finmeccanica อิตาลี และปืนใหญ่กล MSI DS30MR 30mm ของบริษัท MSI-Defence Systems สหราชอาณาจักร )
ก็เป็นความคืบหน้าของโครงการล่าสุดเพิ่มเติมจากได้รายงานไปก่อนหน้านี้ครับ

วารสารสารชาวฟ้า ฉบับที่๒๑๓๒ ในส่วนบทความวันคล้ายวันสถาปนาหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน ๑ มกราคม ๒๕๕๙ นั้น
มีการลงข้อมูลว่ายุทโธปกรณ์ในส่วนระบบต่อสู้อากาศยานล่าสุดที่กองทัพอากาศไทยได้มีการจัดหาสำหรับอากาศโยธินคือระบบอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่อากาศ KS-1C จากจีนซึ่งคาดว่าจะได้รับมอบในปี พ.ศ.๒๕๕๙ (2016) นี้
ก่อนหน้านี้ไม่นานไม่แน่ใจว่าในงานวันที่ระลึกกองทัพอากาศ ๒๗ มีนาคม หรือวันกองทัพอากาศ ๙ เมษายนที่ผ่านมา มีการแสดงป้ายภาพในงานซึ่งมีภาพของระบบอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพอากาศประกอบ หนึ่งในนั้นมี KS-1C ด้วย
นี่ก็น่าจะยืนยันได้ว่ากองทัพอากาศมีการจัดหาระบบดังกล่าวจึงและน่าจะได้รับมอบในเร็วๆนี้

A KS-1A mobile SAM launcher on display at the Military Museum of the Chinese People's Revolution in Beijing(wikipedia.org)

KS-1B Myanmar Army


KS-1C Zhuhai Air Show 2012(trishul-trident.blogspot.com)

ระบบอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่อากาศพิสัยกลาง KS-1 เป็นระบบที่มีพื้นฐานการพัฒนาเพื่อทดแทนระบบอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่อากาศ HQ-2 ซึ่งจีนลอกแบบมาจากระบบอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่อากาศ S-75 Dvina รัสเซีย(NATO กำหนดรหัส SA-2 Guideline)
กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนเองมีระบบในตระกูล KS-1 ประจำการจำนวนหนึ่ง โดยส่วนหนึ่งเป็นการปรับปรุง HQ-2 ที่มีอยู่ เช่น ระบบอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่อากาศ HQ-12 ซึ่งใช้จรวด KS-1 กับ Radar แบบ SJ-202 ซึ่งใช้กับ HQ-2 เดิมและ Radar Digital solid-state แบบ SJ-212
นอกจากกองทัพอากาศไทยแล้วมีประเทศที่จัดหาระบบนี้จากจีนก่อนไทยคือกองทัพบกพม่าที่จัดหาระบบอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่อากาศ KS-1A/KS-1B รุ่นก่อนที่มีระยะยิง 50km เพดานยิงสูงสุด 25km 
ระบบอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่อากาศ KS-1C เป็นการพัฒนาต่อจาก KS-1 และ KS-1A ทำงานร่วมกับ Passive Phase Array Radar แบบ H-200 ลากจูง หรือ SJ-231 อัตตาจร 
โดย KS-1C มีระยะยิง 70km เพดานยิงสูงสุด 27km มีรุ่นที่ตัวจรวดบรรจุในแท่นยิงกล่องสี่เหลี่ยมคู่ แทนแท่นยิงรางคู่แบบรุ่นก่อนครับ

สำหรับโครงการรับสมัครนักบินหญิงของกองทัพอากาศที่รับรุ่นแรก ๕คนนั้น การเปิดรับสมัครระหว่าวันที่ ๑๘-๒๔ เมษายน มีผู้สมัครเข้ามารวม ๘คนด้วยกัน
หลังจากนี้จะมีการทดสอบภาควิชาการเพื่อจะรับพลเรือนเข้ามาบรรจุเป็นข้าราชการกองทัพอากาศ ตรวจร่างกายทางการแพทย์ ทดสอบจิตวิทยาการบิน ทดสอบความถนัดส่วนบุคคลและวิภาววิสัย สอบสัมภาษณ์ และทดสอบสมรรถนะของร่างกาย 
คาดว่าวันที่ ๑๗-๑๘ พฤษภาคม จะทราบว่ามีผู้ผ่านคุณสมบัติครบกี่คน ถ้าไม่ครบ ๕คนก็จะรับข้าราชการหญิงของกองทัพอากาศมาคัดเลือกเพิ่มให้ครบ
ซึ่งผู้สมัครที่ผ่านจะมีการฝึกทางทหารอีก ๓เดือนเพื่อให้ทราบถึงการเป็นทหารอากาศและจะติดยศเป็นว่าที่เรืออากาศตรีหญิง จากนั้นจะเข้าหลักสูตรการเข้าบินกองทัพอากาศ ทั้งภาคพื้น ภาคอากาศ และการยังชีพ และจะส่งไปเป็นศิษย์การบิน ฝูงบินลำเลียง กองบิน๖ ต่อไป
โครงการนักบินหญิงนี้เป็นการนำร่อง ๕คนแรกระยะเวลา ๓ปี ซึ่งมีการประเมินผลก่อนว่าต่อไปว่า จะดำเนินนโยบาย เช่น จะรับเพิ่มเติมอีกต่อไปหรือไม่ครับ