วันพุธที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

เปรียบเทียบรถหุ้มเกราะล้อยาง BTR-82A รัสเซียและ BTR-3E1 ยูเครนในโครงการจัดหายานเกราะล้อยางแบบใหม่ของกองทัพบกไทย

ก่อนที่จะมีการยืนยันการตั้งโครงการพิจารณาจัดหายานเกราะล้อยางแบบใหม่ที่จะนำเข้าประจำการในกองทัพบกไทยเพิ่มเติมนอกจากยานเกราะล้อยางแบบ BTR-3E1 รุ่นต่างๆที่ทยอยจัดหาเข้าประจำการตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๓ เป็นต้นมานั้น
ช่วงต้นปีที่ผ่านมาก็มีกระแสข่าวถึงการที่รัสเซียจะเสนอรถหุ้มเกราะล้อยางแบบ BTR-82A ของตนในโครงการจัดหารถหุ้มกราะล้อยางใหม่ของกองทัพบก
โดยคาดว่าจะมีการเปิดการยื่นเอกสารขอข้อมูลรายละเอียด(RFI: Request for Information) ในเดือนพฤษภาคมนี้ และจะมีขั้นตอนการประเมินค่าแบบรถในเดือนมิถุนายนตามมา
ระหว่างที่รอข่าวเพิ่มเติมว่าจะมียานเกราะล้อยางแบบใดจากประเทศใดอีกบ้างมาเสนอแบบรถของตนกับกองทัพบกไทย นอกจากยานเกราะล้อยาง BTR-82A รัสเซียที่มีข่าวมาต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนมานี้
ลองมาเปรียบเทียบแบบรถระหว่างรถหุ้มเกราะล้อยาง BTR-3E1 ยูเครนที่ประจำการในกองทัพบกไทยแล้ว และรถถหุ้มเกราะล้อยาง BTR-82A รัสเซียที่อาจจะเป็นแบบรถที่เข้ามาแข่งขันคัดเลือกแบบในโครงการนี้ครับ

BTR-82A at Tank Biathlon 2014(wikipedia.org)

BTR-82A
น้ำหนัก: 14.5tons ความยาว: 7.65m ความกว้าง: 2.95m ความสูง: 2.8m
เครื่องยนต์: เครื่องยนต์ดีเซล KamAZ 740.14-300 กำลัง 300HP
ความเร็วบนถนนสูงสุด: 80km/h ความเร็วขณะลอยตัวในน้ำ: 9km/h พิสัยทำการ: 600km
อาวุธ: ป้อมปืนไร้คนบังคับแบบ BPPU ติดตั้งปืนใหญ่กล 2A72 ขนาด 30mm และปืนกลร่วมแกน PKTM ขนาด 7.62x54Rmm ระบบควบคุมการยิง: TKN-4GA
กำลังพลประจำรถ: 3(ผบ.รถ,พลขับ,พลยิง)+7(ชุดรบหมู่ทหารราบ)

BTR-3E1 กองพันทหารราบที่๑ รักษาพระองค์ กรมทหารราบที่๒ รักษาพระองค์ กองพลทหารราบที่๒ รักษาพระองค์
https://www.facebook.com/media/set/?set=a.785541138154105.1073741887.100000946781882

BTR-3E1 (สำหรับกองทัพบกไทย)
น้ำหนัก: 16tons ความยาว: 7.85m ความกว้าง: 2.95m ความสูง: 2.86m
เครื่องยนต์: เครื่องยนต์ดีเซล MTU6 R106 TD21 กำลัง 326HP
ความเร็วบนถนนสูงสุด: 100km/h ความเร็วขณะลอยตัวในน้ำ: 10km/h พิสัยทำการ: 600km
อาวุธ: ป้อมปืนไร้คนบังคับแบบ Shturm ติดตั้งปืนใหญ่กล ZTM-1 ขนาด 30mm, ปืนกลร่วมแกน KT-7.62 ขนาด 7.62x54Rmm, เครื่องยิงลูกระเบิดอัตโนมัติ KBA-117 ขนาด 30mm และอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้รถถังนำวิถี Laser แบบ Barrier ระบบควบคุมการยิง: SVU-500-4TS
กำลังพลประจำรถ: 2(พลขับ,พลยิง)+11(ผบ.รถ/ผบ.หมู่+ชุดรบหมู่ทหารราบ)


จะเห็นได้ว่า BTR-82A นั้นเป็นการปรับปรุงมาจากรถเกราะล้อยาง BTR-80 เดิมที่ใช้งานมาตั้งสมัยโซเวียต ตั้งแต่พัฒนาเป็น BTR-80A จนถึง BTR-82 โดยปรับปรุงเกราะ เครื่องยนต์ ระบบอาวุธและระบบควบคุมการยิงรุ่นใหม่ 
ขณะที่ BTR-3 นั้นเป็นการออกแบบรถใหม่ โดยการขยายมิติขนาดตัวรถให้ใหญ่ขึ้นจากพื้นฐานของ BTR-80 (เหมือนรถเกราะล้อยาง BTR-90 รัสเซียที่ยกเลิกโครงการไป โดยรัสเซียสั่งจัดหา BTR-82A เพิ่มเติม และพัฒนารถเกราะล้อยาง Bumerang 8x8 แทน
ซึ่งรถเกราะ Bumerang มีรูปแบบการออกแบบรถในแนวทางเดียวกับรถเกราะล้อยาง 8x8 ของตะวันตกเช่นเดียวกับรถเกราะล้อยาง BTR-4 ยูเครน คือมีส่วนประตูเปิดท้ายขนาดใหญ่สำหรับกำลังพลชุดรบหมู่ทหารราบขึ้นลงจากท้ายรถแทนประตูเล็กๆด้านข้างซ้ายขวา)
เดิมทีนั้น BTR-3 ถูกออกแบบมาสำหรับรองรับพลประจำรถ 3+6นาย แต่เพื่อให้ตรงความต้องการตามอัตราจัดหมู่ปืนเล็กทหารราบมาตรฐานของกองทัพบกไทย ๑๑นาย จึงมีการปรับปรุงที่นั่งภายในรถให้บรรทุกได้ตามที่เห็นในภาพลายเส้นแผนผังที่นั่งภายในรถข้างต้น
โดยถ้าเมื่อเทียบกับ BTR-82A ซึ่งมีพื้นที่ภายในรถเล็กกว่า และยังมีส่วนสถานีพลยิงซึ่งเป็นป้อมปืนตรงกลางส่วนหน้าของรถแล้ว การจัดพื้นที่ภายในรถให้รองรับหมู่ปืนเล็ก ๑๑นาย จะมีความยุ่งยากลำบากและไม่สะดวกในการขึ้นรถขณะปฏิบัติงานจริงกว่ามาก


อีกทั้งระบบอาวุธของ BTR-82A ดูจะด้อยกว่า BTR-3E1 คือป้อมปืน BPPU ของ BTR-82A ติดตั้งปืนใหญ่กล 2A72 30mm(กระสุนเจาะเกราะ APBC-T 3UBR6 กระสุนระเบิดแรงสูงเพลิง HEI 3UOF8 รวม ๓๐๐นัด) และปืนกลร่วมแกน PKTM 7.62mm(๒,๐๐๐นัด) 
ขณะที่ป้อมปืน Shturm ของ BTR-3E1 มีทั้งปืนใหญ่กล ZTM-1 30mm ๔๐๐นัด, ปืนกลร่วมแกน KT-7.62 ๒,๐๐๐นัด, เครื่องยิงลูกระเบิดอัตโนมัติ KBA-117 30mm ๘๗นัด และอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้รถถัง Barrier ๔นัด(พร้อมรบในรางติดข้างป้อมปืนด้านขวา ๒นัด) 
จะเห็นได้ว่า BTR-3E1 นั้นมีอำนาจการยิงสูงกว่าและมีจำนวนกระสุนที่บรรทุกไปได้มากกว่า BTR-82A มาก

สถานีพลยิง(ที่นั่งหลังขวา) และสถานีผู้บังคับการรถ(ที่นั่งหน้าขวา) BTR-3E1

BTR-80A turret interior(warfare.be)

และในส่วนระบบควบคุมการยิงของพลยิงนั้น BTR-3E1 สถานีพลยิงจะใช้จอภาพแสดงผลร่วมกับที่ควบคุมการยิงป้อมปืน Shturm ซึ่งพลยิงจะนั่งประจำที่นั่งขวาหลังที่นั่ง ผบ.รถ โดยไม่มีการเคลื่อนไหวของส่วนกลไกใดๆ
ขณะที่ป้อมปืน BPPU ของ BTR-82A สถานีพลยิงจะอยู่ใต้ป้อมปืนกลางตัวรถค่อนทางด้านหน้า ซึ่งพลยิงจะมองเป้าหมายผ่านกล้องเล็งและเมื่อควบคุมการหมุนป้อมปืนซ้ายขวาป้อมปืนก็จะหมุนไปพร้อมกับที่นั่งพลยิงเช่นเดียวกับป้อมปืนทั่วไป


ตรงนี้จะเห็นได้ว่าในภาพรวมแล้วระบบอาวุธที่มีการออกแบบพื้นฐานอยู่ในยุคเดียวกันทั้งรัสเซียและยูเครนในกรณี BTR-3E1 และ BTR-82A ที่ต่างมีพื้นฐานมาจาก BTR-80 ที่เข้าประจำการมาตั้งแต่สมัยอดีสหภาพโซเวียต ปี1984 จะมีความคล้ายคลึงกันมาก
อย่างในกลุ่มระบบยานเกราะล้อยาง 8x8 แล้ว BTR-80, BTR-80A จนถึง BTR-82A ล่าสุดที่เข้าประจำการกองทัพรัสเซียตั้งแต่ปี 2013 และกำลังทยอยจัดหาและปรับปรุงรถเกราะ BTR-80 เป็นมาตรฐาน BTR-82AM และล่าสุดส่งออก BTR-82A ให้คาซัคสถาน, เบลารุส และซีเรียนั้น
ถ้าเทียบกับยูเครนแล้ว BTR-3 มีลูกค้าส่งออกได้น้อยกว่าเช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรนต์, อาเซอร์ไบจัน, เอกวาดอร์, ชาด, ไนจีเรีย, พม่า และไทย รวมถึงปัญหาความล่าช้าในสายการผลิตของทางยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อการจัดหาของไทยโดยตรง
แต่ดูเหมือนระบบของยูเครนจะมีบางด้านที่เหนือกว่าระบบของรัสเซียอยู่ ซึ่งคุณภาพของระบบอาวุธรัสเซีย-ยูเครนที่เป็นแบบที่มีพื้นฐานจากระบบสมัยยุคปี 1980s นั้นดูจะไม่ได้มีความต่างกันมากอย่างมีนัยสำคัญ
แม้ว่าถ้าเทียบกันแล้ว BTR-82A อาจจะดูเป็นตัวเลือกที่ดีของกองทัพบกเพราะมีความใกล้เคียงและใช้ระบบอาวุธหลักร่วมกันกับ BTR-3E1 ได้รวมถึงราคารถ 
แต่ถ้ามีระบบรถเกราะล้อยางที่ดีกว่ามาเสนอซึ่งก็มีอยู่หลายแบบในตลาดขณะนี้กองทัพบกก็น่าจะพิจารณารถแบบอื่นมากกว่ารถเกราะล้อยางตระกูล BTR ครับ


ทั้งนี้ในงาน DSE2016 ที่มาเลเซียนั้น VPK รัสเซียผู้ผลิตรถเกราะล้อยาง BTR-82A และ Bumerang ก็ได้เปิดเผยข้อมูลการพัฒนารถเกราะล้อยาง BTR-87 ซึ่งเป็นรุ่นล่าสุดที่ดัดแปลงแบบจาก BTR-82A เป็นอย่างมาก 
โดยย้ายเครื่องยนต์มาอยู่ด้านขวาหน้าของตัวรถเพื่อให้กำลังพลลงจากรถทั้งหลังคาและประตูหลังแทนข้างรถของรุ่นเดิม เป็นแบบรถอีกแบบที่เป็นตัวเลือกสำหรับการส่งออกให้ประเทศลูกค้าที่สนใจ
(มีรถถต้นแบบซึ่งอาจจะไม่ได้ประจำการในกองทัพรัสเซีย เพราะเป็นโครงการของทาง VPK ที่ดำเนินการเอง)

Bumerang 8x8 BMP-K K-17 VPK-7829(wikipedia.org)

อย่างไรก็ตามสำหรับกองทัพรัสเซียเองแล้วรถเกราะล้อยางตระกูล BTR-80 รุ่นเก่าจะถูกแทนที่ด้วยรถเกราะล้อยาง Bumerang รุ่นใหม่ที่การออกแบบที่ทันสมัยกว่า 
แต่ขณะเดียวกันด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณและเพื่ออุดช่องว่างในการจัดหาระบบอาวุธใหม่รถเกราะล้อยาง BTR-82A ก็ยังคงได้รับคำสั่งจัดหาจากกระทรวงกลาโหมรัสเซียเพิ่มจำนวนหนึ่งอยู่ 
ก็จนกว่าที่ยานเกราะล้อยาง Bumerang จะเข้าประจำการในกองทัพรัสเซียอย่างเป็นทางการและทางรัสเซียเสนอรถเกราะ Bumerang ส่งออกได้เมื่อไรนั่นละที่เราจึงทราบว่ารถเกราะล้อยางยุคใหม่ของรัสเซียดีกว่าจริงไม่

BTR-4E at the exhibition "The Power of unconquered" on the Day of the defender of Ukraine(wikipedia.org)

อาจจะรวมถึงความเป็นไปได้ที่ว่ายูเครนอาจจะเสนอระบบรุ่นใหม่ของตนให้กองทัพบกไทยนอกจาก BTR-3E1 ที่ประจำการอยู่แล้วอย่างรถหุ้มเกราะล้อยาง BTR-4 ด้วยหรือไม่
ซึ่ง BTR-4 นั้นนอกจากจะมีประจำการในยูเครนเองแล้วยังส่งออกให้ต่างประเทศได้บ้าง เช่น อิรัก(ที่มีข่าวยกเลิกไม่ยอมรับมอบรถเพิ่มเนื่องจากปัญหาคุณภาพตัวรถ) ตำรวจไนจีเรีย และอินโดนีเซีย(ที่ข่าวการจัดหาเงียบไปไม่ทราบว่ายกเลิกไปแล้วหรือไม่) เป็นต้น
รวมถึงความคืบหน้าการเปิดสายการผลิตรถเกราะ BTR-3E1 ที่ไทยลงนามกับยูเครนไปเมื่อปีที่แล้วด้วย แต่สำหรับโครงการยานเกราะล้อยางใหม่ของกองทัพบกไทยแล้ว คงต้องมาดูกันครับว่านอกจาก BTR-82A รัสเซียแล้วจะมีรถแบบใดอีกบ้างที่มาเสนอครับ