Royal Thai Navy (RTN) was formal hand on ceremony of new 2 Coastal Patrol
Craft T.114-class (T.114 and T.115) from Marsun Thailand at Laem Thian Pier,
Sattahip naval base, Chonburi Province in 29 March 2021.
Clip: พิธีรับมอบเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง เรือ ต.114 และ ต.115 ณ
ท่าเรือแหลมเทียน ฐานทัพเรือสัตหีบ วันจันทร์ที่ 29 มีนาคม 2564
Clip: กองทัพเรือจัดพิธีรับมอบเรือ ต.114 และ เรือ ต.115 จำนวน 2
ลำ
กองทัพเรือจัดพิธีรับมอบเรือ ต.114 และ เรือ ต.115 จำนวน 2 ลำ
วันนี้ (วันจันทร์ที่ 29 มีนาคม 2564) เวลา 12.30 น. พลเรือเอก ชาติชาย
ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธานในพิธีรับมอบเรือ ต.114 และเรือ ต.115
จำนวน 2 ลำ ณ ท่าเรือแหลมเทียน การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ
จังหวัดชลบุรี
โดยมี พลเรือเอก วศินสรรพ์ จันทวรินทร์ ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ ในฐานะ
ประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง
พลเรือเอก สุทธินันท์ สมานรักษ์ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ
พลเรือตรี สุเทพ ลิมปนันท์วดี ผู้บัญชาการกองเรือยามฝั่ง กองเรือยุทธการ
ตลอดจนข้าราชการกองเรือยามฝั่ง กองเรือยุทธการ ให้การต้อนรับ
กองทัพเรือได้ดำเนินการจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง จำนวน 2 ลำ
เพื่อใช้ในภารกิจถวายความปลอดภัยแด่พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์
การลาดตระเวนตรวจการณ์ คุ้มครองเรือประมงและเรือสินค้า
ป้องกันและต่อต้านการก่อการร้ายในทะเลและท่าเรือ
ป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายในทะเล การรักษากฎหมายในทะเล
ตามอำนาจหน้าที่ที่กองทัพเรือได้รับมอบหมาย
พร้อมทั้งสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือสาขาต่าง ๆ
และการบรรเทาสาธารณภัยให้แก่พี่น้องประชาชนทั้งในทะเลและชายฝั่ง
โดยได้ว่าจ้างให้ บริษัท มาร์ซัน จำกัด เป็น ผู้ดำเนินการ
นับได้ว่าเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการต่อเรือภายในประเทศ
อีกทั้งยังเป็นการประหยัดงบประมาณมากกว่าการจัดหาจากต่างประเทศ
โดยแบบเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งทั้งสองลำนี้
ได้รับการพัฒนาปรับปรุงมาจากแบบเรือชุดเรือ ต.111
โดยภายหลังจากพิธีรับมอบเรือแล้ว จะเข้าประจำการที่กองเรือยามฝั่ง
กองเรือยุทธการต่อไป
ขีดความสามารถปฏิบัติการรบ (Combat Capabilities) ของเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง
เรือ ต.114 และเรือ ต.115
สามารถปฏิบัติภารกิจได้ครอบคลุมพื้นที่ปฏิบัติการในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน
ระบบตรวจการณ์ของเรือสามารถตรวจจับ ติดตาม และพิสูจน์ทราบเป้าผิวน้ำ หยุดยั้ง
ขัดขวาง เรือผิวน้ำ และป้องกันตนเองจากข้าศึกได้
ตามสมรรถนะของอาวุธประจำเรือ
ปฏิบัติการทางเรืออย่างต่อเนื่องในทะเลได้ไม่น้อยกว่า 10 วัน
และปฏิบัติงานได้สภาวะทะเลระดับ 5 (Sea State 5)
เรือมีการทรงตัวและความคงทนทะเลที่ดี
และยังสามารถสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือสาขาต่าง ๆ ได้
คุณลักษณะทั่วไป มีความยาวตลอดลำ 36.00 เมตร ความกว้างของเรือ 7.60 เมตร
ความลึกของเรือ 3.60 เมตร กินน้ำลึกตัวเรือ ไม่เกิน 1.75 เมตร
ความเร็วสูงสุดที่ระวางขับน้ำเต็มที่ ไม่ต่ำกว่า 27.0 นอต ระยะปฏิบัติการ
ไม่น้อยกว่า 1,200 ไมล์ทะเล
กำลังพล ประจำเรือตามอัตรา 30+1+13 (ชปพ.นสร.) 44 นาย
เครื่องจักร ที่สำคัญประกอบด้วย เครื่องจักรใหญ่ ตราอักษร CUMMINS 1,342KW
(1,800bhp) 1,900rpm จำนวน 3 เครื่อง และเครื่องกำหนดไฟฟ้า ขนาด 112KWe 380VAC,
3PH, 50HZ จำนวน 2 เครื่อง
อาวุธประจำเรือ อาวุธปืนหลัก ปืนกลขนาด 30 มม. ติดตั้งบริเวณหัวเรือ จำนวน 1
แท่น และอาวุธรอง ปืนกลขนาด 50 นิ้ว ติดตั้งบริเวณกราบเรือซ้ายขวา จำนวน 2
แท่น
พิธีรับมอบเรือ เป็นพิธีที่มีมาตั้งแต่ครั้นโบราณกาล
ได้เริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อใดไม่พบหลักฐานที่แน่นอน
แต่เมื่อปี พ.ศ.2451 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่
5 มีพิธีมอบเรือเสือทยานชล เรือตอร์ปิโดที่ 1 เรือตอร์ปิโดที่ 2
และเรือตอร์ปิโดที่ 3 เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2451 จากนายทหารเรือญี่ปุ่น
โดยนำเรือทั้ง 4 ลำ ซึ่งต่อจากประเทศญี่ปุ่น เข้ามายังกรุงเทพ ฯ
ในปัจจุบันเมื่อถึงเวลารับมอบเรือจะต้องทำพิธีเพื่อให้เกิดสวัสดิมงคลแก่ตัวเรือเสียก่อน
โดยบูชาพระรัตนตรัย พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์
จากนั้นประธานกรรมการบริหารโครงการ ( พลเรือเอก วศินสรรพ์ จันทวรินทร์)
กล่าวรายงานความเป็นมาในการสร้างเรือ
ประธานบริษัทผู้สร้างเรือ (นายภัทรวิน จงวิศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท
มาร์ซัน จำกัด มหาชน) กล่าวมอบเรือ
ประธานในพิธี (พลเรือเอก ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ)
กล่าวรับมอบเรือและรับมอบเอกสาร
แล้วส่งต่อให้ ผู้บัญชาการกองเรือ ( พลเรือตรี สุเทพ ลิมปนันท์วดี
ผู้บัญชาการกองเรือยามฝั่ง )
กำลังพลประจำเรือเชิญธงราชนาวีขึ้นสู่ยอดเสาแล้วกล่าวคำปฏิญาณว่า
“ตายในสนามรบเป็นเกียรติของทหาร”
ประธานในพิธีทำพิธีคล้องมาลัยและผู้ผ้าสามสีที่หัวเรือ
พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา และประพรมน้ำพระพุทธมนต์ที่หัวเรือ
เพื่อความเป็นสิริมงคล
กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.114 ทั้งสองลำคือ เรือ ต.114 และเรือ ต.115
ที่มีพิธีรับมอบเรือเมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๔(2021)
ได้มีการทำพิธีวางกระดูกงูเรือเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๑(2018)(https://aagth1.blogspot.com/2018/06/114.html)
และทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๓(2020)(https://aagth1.blogspot.com/2020/08/114.html) ณ อู่ต่อเรือ บริษัท มาร์ซัน จำกัด (มหาชน)(Marsun Public Company Limited)
ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ
การเข้าประจำการของเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.114
ทั้งสองลำใช้พื้นฐานแบบเรือ M36 Mk II ของบริษัท Marsun ซึ่งปรับปรุงจากแบบเรือ
M36 Patrol Boat ที่ใช้เป็นพื้นฐานของเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.111
หรือเรือสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือชุดเรือ ต.111
โดยเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.111 ที่เข้าประจำการก่อนหน้าแล้วจำนวน ๓ลำ
ประกอบด้วยเรือ ต.111, ต.112 และ ต.113 นั้นก็เป็นหนึ่งในผลงานของบริษัท Marsun
ประเทศไทย ที่ได้รับสัญญาจ้างสร้างเรือให้กับกองทัพเรือไทยเช่นกัน
เรือ ตกฝ.ชุดเรือ ต.๑๑๔ ใหม่ ๒ลำได้รับการปรับปรุงแตกต่างจากเรือ ตกฝ.ชุดเรือ
ต.๑๑๑ จำนวน ๓ลำก่อนหน้าโดยใช้อาวุธปืนหลักปืนกลขนาด 30mm แบบ MSI-DS SEAHAWK
๑แท่น พร้อมระบบควบคุมการยิง แทนปืนกล Denel Land Systems GI-2 ขนาด 20mm
แบบควบคุมด้วยมือ
และปืนกล M2 .50cal ๒แท่น รวมถึงพื้นที่ห้องภายในตัวเรือรองรับชุดปฏิบัติการพิเศษ
หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ(Naval Special Warfare Command, Royal Thai Navy
SEAL) จำนวน ๑๓นาย ซึ่งมีความยืดหยุ่นในการปฏิบัติการหลากหลายรูปแบบสูง
นอกจากเรือ ตกฝ.ชุดเรือ ต.111 ๓ลำ และชุดเรือ ต.114 ๒ลำล่าสุดแล้ว
กองทัพเรือไทยยังประจำการด้วยเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.991 จำนวน ๓ลำ(เรือ
ต.991, ต.992 และ ต.993) และเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.994 จำนวน ๓ลำ(เรือ
ต.994, ต.995 และ ต.996) รวม ๑๑ลำ
โดยยังมีความต้องการอีก ๒ลำคือเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.997 จำนวน ๒ลำคือ
เรือ ต.997 และเรือ ต.998 ที่ทำพิธีวางกระดูงูเรือเมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน
พ.ศ.๒๕๖๒(2019)(https://aagth1.blogspot.com/2019/11/997-998.html) และคาดว่าจะปล่อยเรือลงน้ำได้ในปี ๒๕๖๔ นี้ครับ