วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

กองทัพเรือไทยทำพิธีวางกระดูกงูเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดใหม่สองลำ ต.997 และ ต.998


Admiral Luechai Rutdit Commander-in-Chief of the Royal Thai Navy was presided over the Keel laying ceremony of new 2 Coastal Patrol Craft T.997-class (T.997 and T.998) from Thailand's shipyard company Marsun Public Company Limited., 14 November 2019

Clip: พิธีวางกระดูกงูเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดใหม่จำนวน 2 ลำ
https://www.facebook.com/prthainavy/videos/545500889517052/



พิธีวางกระดูกงูเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดใหม่จำนวน 2 ลำ
วันนี้ (14 พฤศจิกายน 2562) เวลา 09.49 น. พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีวางกระดูกงูเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง จำนวน 2 ลำ ณ บริษัท มาร์ซัน จำกัด ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ 
โดยมี พลเรือเอก วศินสรรพ์ จันทวรินทร์ ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง คณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือและผู้บริหาร บริษัท มาร์ซัน จำกัด (มหาชน) ให้การต้อนรับ 
โดยในเวลา 09.49 น. ผู้บัญชาการทหารเรือในฐานะประธานในพิธีได้กดปุ่มไฟฟ้าประสานกระดูกงูเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ชุดใหม่



สำหรับพิธีวางกระดูกงูเรือนั้น มีความเชื่อว่า เรือเดินทะเลที่จะลงมือสร้างนั้น ครั้งแรกของการสร้างก็คือการวางกระดูกงูเรือเสียก่อน โดยจัดให้มีพิธีวางกระดูกงู และเชิญแขกผู้มีเกียรติมาร่วมในพิธี ผู้ที่เป็นประธานในพิธีจะทำการย้ำหมุดตัวแรก และมีพิธีในทางศาสนาด้วย 
พิธีวางกระดูกงูถือกันว่าเพื่อให้เกิดความสวัสดีมีชัย และความวัฒนาถาวรให้แก่เรือและนอกจากนั้น ยังถือกันว่าเป็นการเชิญแม่ย่านางเรือให้เข้าสิงสถิตด้วย โดยปัจจุบันได้มีการปรับจากการย้ำหมุดตัวแรก เป็นการกดปุ่มประสานกระดูกงูเรือด้วยไฟฟ้า


กองทัพเรือได้รับมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการพระราชทานทั้งพระราชดำริและพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับการต่อเรือ เพื่อการพึ่งพาตนเองของกองทัพเรือ 
นับตั้งแต่การสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุด เรือ ต.91 ถึงเรือ ต.99 จำนวน 9 ลำ ระหว่างปี พ.ศ.2510 – 2530 อันเป็นการดำเนินโครงการของกองทัพเรือ ตามพระราชดำริของพระองค์. 
โดยกองทัพเรือได้จัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเรือ ต.991 - ต.993 เนื่องในโอกาสมหามงคลที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระชนมายุครบ 80 พรรษา ในปี พ.ศ.2550ประสบความสำเร็จด้วยดี 
และต่อมาในปี พ.ศ.2552 กองทัพเรือจัดทำโครงการการจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา เรือ ต.994 - ต.996 ด้วยเป็นการสนองพระราชดำริ ในเรื่องการพึ่งพาตนเองของกองทัพเรือ 
และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานทั้งพระราชดำริและพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับการต่อเรือ 
ซึ่งโครงการเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติฯ ชุดเรือ ต.994 นี้ได้สร้างแล้วเสร็จในปีพ.ศ.2554 และสามารถปฏิบัติงานตอบสนองต่อภารกิจได้เป็นอย่างดี


ทั้งนี้ในการจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.991 และ ชุดเรือต.994 ครั้งนั้นบริษัทมาร์ซัน จำกัด (มหาชน) ได้ผ่านการคัดเลือกและได้รับความไว้วางใจจากกองทัพเรือให้เป็นผู้จัดส่งวัสดุและอุปกรณ์ให้กับกรมอู่ทหารเรือดำเนินการสร้างเรือ ต.991 และต.994 ณ อู่ทหารเรือธนบุรี 
และบริษัทมาร์ซันฯเป็นผู้สร้างเรือ ต.992 - ต.993 และเรือ ต.995 - ต.996 ซึ่งบริษัทฯ ได้ส่งมอบเรือให้แก่กองทัพเรือเรียบร้อยถูกต้องตรงตามสัญญาทั้งสองโครงการ 


สำหรับโครงการจ้างเรือสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง จำนวน 2 ลำ ในครั้งนี้ ได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือ พ.ศ.2558 – 2567 ที่ได้กำหนดความต้องการเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง จำนวนทั้งสิ้น 16 ลำ เพื่อใช้ในภารกิจต่าง ๆ และทดแทนเรือที่ครบกำหนดปลดระวางประจำการ 
ที่ผ่านมานั้น กองทัพเรือได้จัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งไว้ใช้ในราชการแล้วคือ เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุด เรือ ต.81 – ต.83 ชุดเรือ ต.991 – ต.996 และชุดเรือ ต.111 – เรือ ต.113 รวมเป็นจำนวน 12 ลำ 
ยังคงมีความต้องการในการจัดหาเพิ่มเติมจำนวน 4 ลำ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างสัญญาจ้างสร้างเรือตรวจการใกล้ฝั่ง (งป.61) จำนวน 2 ลำ คือเรือ ต.114 และเรือ ต.115 มีกำหนดรับมอบใน เดือนสิงหาคม พ.ศ.2563 


และในส่วนของการจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง 2 ลำนี้ กองทัพเรือได้ออกประกาศเชิญชวนยื่นข้อเสนอโดยวิธีคัดเลือก และบริษัท มาร์ซันฯ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้สร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง จำนวน 2 ลำตามแบบเรือ ต. ชุดเรือต.994 ของกองทัพเรือ 
โดยมีรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะทางเทคนิคตามความต้องการของฝ่ายเสนาธิการ โดยได้จัดให้มีพิธีลงนามในสัญญา เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2562
ที่ผ่านมาโดยการว่าจ้างให้ บริษัท มาร์ซันฯ เป็นผู้ดำเนินการสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง จำนวน 2 ลำ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 720,110,000 บาท มีกำหนดส่งมอบเรือ ภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 โดยให้สร้างตามแบบเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ชุดเรือ ต.994 
ซึ่งจะดำเนินการขอพระราชทานกำหนดชื่อเรือ ในชื่อ เรือ ต.997 และเรือ ต.998 ต่อไป ดังนั้น เมื่อกองทัพเรือได้รับมอบเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ทั้ง 4 ลำ 


ตามที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น จะทำให้กองทัพเรือมีเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเพียงพอต่อการใช้งาน ตอบสนองต่อภารกิจตามยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
ทั้งยังเป็นการสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการการพึ่งพาตนเองของกองทัพเรือ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการต่อเรือภายในประเทศ อีกทั้งยังเป็นการประหยัดงบประมาณมากกว่าการจัดหาจากต่างประเทศ 
โดยเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งทั้งสองลำนี้จะเข้าประจำการใน กองเรือยามฝั่ง กองเรือยุทธการมีภารกิจในการตรวจการณ์สกัดกั้น ลาดตระเวน ป้องกันการแทรกซึมทางทะเลและชายฝั่ง 
คุ้มครองเรือประมงและเรือพาณิชย์ป้องกันและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ บริเวณชายฝั่งทะเลในอ่าวไทย และทะเลอันดามัน รักษากฎหมายในทะเลตามอำนาจหน้าที่ที่กองทัพเรือได้รับมอบหมาย รวมถึงการถวายความปลอดภัยแด่พระบรมวงศานุวงศ์


คุณลักษณะที่สำคัญของเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดใหม่. 
ความยาวตลอดลำ 41.45 เมตร 
ความกว้างสูงสุดของเรือ 7.2 เมตร 
ความลึกของเรือ 3.8 เมตร
ระยะกินน้ำลึกตัวเรือ 2.0 เมตร 
ความเร็วสูงสุดต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่า 28 นอต 
กำลังพลประจำเรือ 33 นายเ
ครื่องจักรใหญ่ตราอักษร MAN กำลังเครื่องยนต์ 2960 KW ที่ 1900 rpm พร้อมเพลาใบจักร ตราอักษร WARTSILA จำนวน 2 
ชุดเครื่องไฟฟ้า ขนาด 150 KW 380 VAC จำนวน 2 ชุด
เกียร์ส่งกำลัง ตราอักษร ZF รุ่น 9055จำนวน 2 ชุด 
มีการจัดแบ่งที่พักอาศัยสำหรับกำลังพลตามอัตรา 33 นาย เสบียงอาหาร และน้ำจืดเพียงพอ 
สามารถปฏิบัติงานในทะเลได้อย่างต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่า 7 วัน โดยไม่ต้องรับการส่งบำรุง 
ระยะปฏิบัติการ ไม่น้อยกว่า 1,500 ไมล์ทะเล ด้วยความเร็วเดินทางมัธยัสถ์ที่ระวางขับเต็มที่

กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
https://www.facebook.com/prthainavy/posts/2789227921128546

พิธีวางกระดูงูเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดใหม่จำนวน ๒ลำ เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๒(2019) ซึ่งจะเป็นเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.997 ที่ประกอบด้วยเรือ ต.997 และเรือ ต.998 ที่มีกำหนดส่งมอบเรือในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๔(2021)
ตามที่ บริษัท มาร์ซัน จำกัด (มหาชน)(Marsun Public Company Limited) ได้รับสัญญาจากกองทัพเรือไทย(RTN: Royal Thai Navy) ในวงเงิน ๗๒๐,๑๑๐,๐๐๐บาท($23,575,681) ที่ลงนามเมื่อ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๒(https://aagth1.blogspot.com/2019/07/marsun.html)

อู่เรือบริษัท Marsun ไทยยังอยู่ระหว่างการสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.114 จำนวน ๒ลำประกอบด้วยเรือ ต.114 และ ต.115 ที่ทำพิธีวางกระดูกเรือไปเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๑(https://aagth1.blogspot.com/2018/06/114.html)
โดยใช้แบบเรือ M36 Mk II ซึ่งปรับปรุงจากชุดเรือ ต.111(M36) ที่เข้าประจำการแล้ว ๓ลำประกอบด้วยเรือ ต.111, ต.112 และ ต.113 ซึ่งเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.114 ทั้ง ๒ลำนั้นมีกำหนดจะรับมอบในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๓(2020)

เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.997 จำนวน ๒ลำมีพื้นฐานพัฒนาจากแบบเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.994 ที่เข้าประจำการแล้ว ๓ลำคือ เรือ ต.994, ต.994 และ ต.996 ที่พัฒนาจากเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.991 ที่เข้าประการก่อนแล้ว ๓ลำคือ เรือ ต.991, ต.992 และ ต.993
เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.997 ใหม่ ๒ลำยังเป็นเรือรบผิวน้ำแบบแรกของกองทัพเรือไทยที่สร้างเองในประเทศที่จะติดตั้งระบบอาวุธจากรัสเซียคือปืนเรือแบบปืนกล AK-306 ขนาด 30mm ด้วย(https://aagth1.blogspot.com/2019/07/ak-306-30mm.html)

ปืนเรือ AK-306 30mm ซึ่งเป็นระบบป้องกันระยะประชิด(CIWS: Close-In Weapon System) ปืนกลหกลำกล้องหมุนระบายความร้อนด้วยอากาศจะถูกติดตั้งร่วมกับระบบตรวจจับและระบบควบคุมการยิงจากรัสเซียที่ประกอบด้วย ระบบควบคุมการยิง(Fire Control System) แบบ Antares Mod.9,
อุปกรณ์นำร่อง DGPS แบบ AQUA-BORD-12, ระบบนำร่องเข็มทิศ Gyro แบบ KAMA-NS-V, Radar เดินเรือแบบ MR-231, เครื่องวัดความเร็วทิศทางลม Hydrometeostation แบบ Kharakter-K และเครื่องวัดความเร็วเรือ Electromagnetic Log แบบ LEM2-1M ครับ