วันพฤหัสบดีที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2564

DTI ไทยทดสอบสมรรถนะการใช้งานทางทหารของปืนเล็กกล DTI7
















The prototype of domestic DTI7 personal defense weapon, 7" length barrel assault rifle developed by thai company KHT Firearms and cooperative with Defence Technology Institute (DTI) was testing on military operational standard in 2 March 2021. 

สทป. ทดสอบสมรรถนะการใช้งานของปืน ตามมาตรฐานทางทหาร โครงการวิจัยและพัฒนาอาวุธปืนและกระสุน (อาวุธปืนเล็กรุ่น DTI7)

วันนี้ (2 มี.ค.64) สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) ทำการทดสอบสมรรถนะการใช้งานของปืน โครงการวิจัยและพัฒนาอาวุธปืนและกระสุน (อาวุธปืนเล็กรุ่น DTI7) โดยใช้มาตรฐานทางทหาร (Mil-Standard) 
เป็นต้นแบบ โครงการแรกของ สทป. ที่ดำเนินการร่วมกับ บริษัท เคเอชที ไฟร์อาร์มส์ จำกัด โดยมี พลเอก พอพล มณีรินทร์ ประธานกรรมการ สทป. และพลอากาศเอก ดร.ปรีชา ประดับมุข ผอ.สทป. ให้เกียรติร่วมเป็นประธานการทดสอบ 
โดยมีคณะทำงานโครงการวิจัยและพัฒนาอาวุธปืนและกระสุน ของ สทป. และผู้บริหารจาก บริษัท เคเอชที ไฟร์อาร์มส์ จำกัด ได้แก่ คุณอภิมุข ถิรธรรมนุภาพ ประธานกรรมการ และคุณกรณรงค์ ถึงฝั่ง กรรมการ เข้าร่วมดำเนินการทดสอบใน 4 หัวข้อการทดสอบที่สำคัญจากใน 14 หัวข้อดังนี้ 

(1.) ทดสอบความแม่นยำระยะ 15 – 25 เมตร 
(2.) ทดสอบการยิงกึ่งอัตโนมัติ 
(3.) ทดสอบการยิงต่อเนื่อง (30 นัด) 
(4.) ทดสอบเชิงยุทธวิธี ซึ่งการทดสอบในครั้งนี้ได้รับความสำเร็จอย่างดียิ่ง

ซึ่งการทดสอบเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนงานวิจัยและพัฒนาที่จะต้องทดสอบเพื่อประเมินหาคุณลักษณะของปืน พร้อมทั้งทดสอบการใช้งานในลักษณะต่างๆ เพื่อเป็นการยืนยันถึงมาตรฐานของปืน 
การทดสอบในครั้งนี้ได้รับผลสำเร็จอย่างดียิ่งสอดคล้องกับเป้าหมายงานวิจัยและพัฒนาของประเทศ สนับสนุนความมั่นคงในการพึ่งพาตนเอง และส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย อีกทั้งยังมีคุณภาพสูงทัดเทียมกับปืนมาตรฐานสากลยุคปัจจุบัน 
เป็นการแสดงศักยภาพของประเทศที่สามารถมีปืนประจำชาติไทยที่ผลิตโดยคนไทยเอง สทป. ยังเล็งเห็นถึงศักยภาพของบริษัทเอกชนของไทยอื่น ๆ ที่มีองค์ความรู้และความสามารถในการผลิตอาวุธปืนอีกจำนวนมากในประเทศ 
ที่ยังขาดในเรื่องของการสนับสนุนการทดสอบสมรรถนะการใช้งานของปืน ตามมาตรฐานทางทหาร เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการเชิงพาณิชย์ ผ่านการร่วมทุนในแบบต่าง ๆ หรือจัดตั้งนิติบุคคลเพื่อประกอบกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ 
ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เพื่อการพึ่งพาตนเองด้านความมั่นคงภายในประเทศ อีกทั้งยังสามารถส่งออกเพื่อนำรายได้เข้าประเทศอีกทางหนึ่ง





โครงการวิจัยและพัฒนาอาวุธปืนเล็ก DTI7 ในความร่วมมือระหว่างสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ สทป.(DTI: Defence Technology Institute) และบริษัท KHT Firearms ไทย เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามสนับสนุนอุตสาหกรรมความมั่นคงภายในประเทศของไทย
DTI7 เป็นปืนเล็กกลทำงานด้วยระบบลูกสูบแก๊ซช่วงชักสั้น(short stroke gas piston) โดยลูกสูบกับก้านกระทุ้งแยกกับโครงลูกเลื่อนเป็นสามส่วน ขนาดลำกล้อง 7inch ที่สั้นกว่าปืนเล็กยาวจู่โจมทำให้ DTI7 มีลักษณะเป็นอาวุธป้องกันประจำบุคคล(PDW: Personal Defense Weapon)
โดย DTI7 สามารถจะถูกนำมาใช้เป็นอาวุธป้องกันตัวสำหรับกำลังพลของหน่วยที่ไม่ได้มีหน้าที่ทำการรบปะทะโดยตรงเช่น พลประจำยานพาหนะ ทหารปืนใหญ่ แพทย์สนาม และสารวัตรทหาร รวมถึงใช้ในภารกิจคุ้มกับบุคคลสำคัญ และการรบระยะประชิดของหน่วยปฏิบัติการพิเศษ

จะเห็นได้ว่าปืนเล็กกล DTI7 ในการออกแบบสร้างแตกต่างจากปืนเล็กยาวตระกูล NARAC556 ของบริษัท NARAC ARMS INDUSTRY ไทย และสถาบันเทคโนโลยีช่างกลปทุมวัน(Pathumwan Institute of Technology) ที่ออกมาเป็นอาวุธประจำกาย(Individual Weapon) สำหรับหน่วยใช้กำลังรบ
ซึ่งได้ถูกจัดหาเข้าประจำการในหน่วยขึ้นตรงของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม(Office of the Permanent Secretary for Defence) กระทรวงกลาโหมไทย ในชื่อปืนเล็กยาวตระกูล MOD 963(https://aagth1.blogspot.com/2020/10/556mm.html)
ปลย.NARAC556 นั้นใช้ระบบลูกสูบแก๊ซช่วงชักสั้นเช่นเดียวกับ DTI7 แต่ต่างที่ก้านลูกสูบจะเป็นชิ้นเดียวกัน รวมถึงความยาวลำกล้องของปืนเล็กยาว MOD 963 และปืนเล็กยาวจู่โจม MOD 963 AR ที่ 20" และ 14.5" ตามลำดับ ทำให้ติดเครื่องยิงลูกระเบิดขนาด 40mm ได้เป็นต้นครับ