วันอาทิตย์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2565

F-16AM/BM, Gripen C/D, T-50TH และ AU-23A ร่วมพิธีสวนสนามการรับส่งหน้าที่ผู้บัญชาการทหารอากาศไทย












Flying Formation of Royal Thai Air Force (RTAF)'s Lockheed Martin F-16AM/BM EMLU Fighting Falcon 403rd Squadron, Wing 4 Takhli; Saab Gripen C/D 701st Squadron, Wing 7 Surat Thani; Korea Aerospace Industries (KAI) T-50TH Golden Eagle 401st Squadron, Wing 4 Takhli and Fairchild AU-23A Peacemaker 501st Squadron, Wing 5 Prachuap Khiri Khan during RTAF's commander-in-chief transition ceremony on 30 September 2022. (Royal Thai Air Force/Battlefield Defense)

พิธีสวนสนามเนื่องในโอกาสรับ-ส่งหน้าที่ผู้บัญชาการทหารอากาศ และการมอบการบังคับบัญชา

ตามที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้นายทหารรับราชการสนองพระเดชพระคุณ ให้ พลอากาศเอก อลงกรณ์  วัณณรถ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็น ผู้บัญชาการทหารอากาศ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 นั้น 
วันนี้ (วันศุกร์ที่ 30 กันยายน 2565) กองทัพอากาศ ได้จัดพิธีรับ-ส่งหน้าที่ผู้บัญชาการทหารอากาศ ระหว่าง พลอากาศเอก นภาเดช  ธูปะเตมีย์ ซึ่งเกษียณอายุราชการ กับ พลอากาศเอก อลงกรณ์  วัณณรถ ผู้เข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารอากาศ (ท่านใหม่) 
ณ ลานอเนกประสงค์ โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช ถนนพหลโยธิน เขตสายไหม กรุงเทพ ฯ โดยมีผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพอากาศ ข้าราชการทหารอากาศ ผู้ช่วยทูตทหารต่างประเทศ สมาคมแม่บ้านทหารอากาศ และแขกผู้มีเกียรติร่วมในพิธี 
โดยพลอากาศเอก นภาเดช  ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้ส่งธงประจำตำแหน่งผู้บัญชาการทหารอากาศ และแฟ้มเอกสารรับ-ส่งหน้าที่ผู้บัญชาการทหารอากาศ ให้แก่ พลอากาศเอก อลงกรณ์  วัณณรถ ผู้เข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารอากาศ (ท่านใหม่) 

เพื่อแสดงถึงการส่งมอบหน้าที่และการบังคับบัญชาอย่างเป็นทางการ ในโอกาสนี้ กองทัพอากาศได้จัดกำลังพลสวนสนามเพื่อเป็นเกียรติ จำนวน 4 กองพัน ประกอบด้วย 
- กองพันที่ 1 จัดกำลังพลจาก กรมนักเรียนนายเรืออากาศ รักษาพระองค์ โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช
- กองพันที่ 2 จัดกำลังพลจาก กองนักเรียน โรงเรียนจ่าอากาศ กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ
- กองพันที่ 3 จัดกำลังพลจาก กรมทหารอากาศโยธิน รักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน
- กองพันที่ 4 จัดกำลังพลจาก กรมทหารต่อสู้อากาศยาน รักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน

นอกจากนี้ยังจัดให้มีการสวนสนามทางอากาศ โดยจัดอากาศยานของกองทัพอากาศ ทำการบินผ่านพิธี ดังนี้
ห้วงเวลาที่ 1 ประกอบด้วย หมู่บิน FINALE FLYING ซึ่งเป็นการประกอบกำลังของอากาศยานจำนวน 10 เครื่อง 
- เครื่องบินฝึกแบบที่ 2 (T-50) จำนวน 3 เครื่อง จากฝูงบิน 401 กองบิน 4 
- เครื่องบินขับไล่แบบที่ 19 ก (F-16) จำนวน 3 เครื่อง จากฝูงบิน 403 กองบิน 4 
- เครื่องบินขับไล่แบบที่ 20 ก (GRIPEN) จำนวน 4 เครื่อง จากฝูงบิน 701 กองบิน 7
ห้วงเวลาที่ 2 ประกอบด้วย อากาศยานบินผ่านพิธีสวนสนาม 
- หมู่บินที่ 1 เครื่องบินฝึกแบบที่ 2 (T-50) จำนวน 4 เครื่อง จากฝูงบิน 401 กองบิน 4 
- หมู่บินที่ 2 เครื่องบินขับไล่แบบที่ 19 ก (F-16) จำนวน 4 เครื่อง จากฝูงบิน 403 กองบิน 4 
- หมู่บินที่ 3 เครื่องบินขับไล่แบบที่ 20 ก (GRIPEN) จำนวน 4 เครื่อง จากฝูงบิน 701 กองบิน 7
- หมู่บินที่ 4 เครื่องบินโจมตีธุรการ แบบที่ 2 (AU-23 Peacemaker) จำนวน 3 เครื่อง บินปล่อยควันสีธงชาติ 
ห้วงเวลาที่ 3 ประกอบด้วย เครื่องบินขับไล่แบบที่ 20 ก (GRIPEN) จำนวน 1 เครื่อง จากฝูงบิน 701 กองบิน 7

ทั้งนี้ การสวนสนามทางอากาศ เป็นธรรมเนียมของกองทัพอากาศที่จะจัดการบินเพื่อแสดงออกถึงการส่งมอบศักยภาพ และแสนยานุภาพในการทำหน้าที่ของกองทัพอากาศ และเป็นการบินเพื่อเทิดเกียรติแก่บุคคลสำคัญ และผู้บังคับบัญชาระดับสูง ผู้ประกอบคุณงามความดีให้แก่ประเทศชาติ 
กองทัพอากาศจึงดำรงธรรมเนียมการสวนสนามทางอากาศเช่นนี้ไว้ ซึ่งการบินดังกล่าวมีการปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องเพื่อแสดงให้กำลังพลของกองทัพอากาศ และพี่น้องประชาชนได้เห็นถึงความพร้อมของกองทัพอากาศ เสริมสร้างขวัญ กำลังใจ และมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของกำลังทางอากาศ

สำหรับ พลอากาศเอก อลงกรณ์  วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ คนที่ 29 เป็นนักเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 22 นักเรียนนายเรืออากาศ รุ่นที่ 29 เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ อาทิ เป็นนักบิน ทำการบินกับเครื่องบิน T-33 (T-BIRD) และ L-39 เป็นครูการบิน 
รวมถึงปฏิบัติงานที่กรมยุทธการทหารอากาศ ก่อนที่จะได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในสายงานปลัดบัญชี โดยเคยดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักบริหารทรัพยากร สำนักงานปลัดบัญชีทหารอากาศ รองปลัดบัญชีทหารอากาศ และปลัดบัญชีทหารอากาศ 
ก่อนจะเข้าดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพอากาศ และผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ ตามลำดับ มีความชำนาญมากกว่า 20 ปี ในการวิเคราะห์เพื่อการอนุมัติโครงการพัฒนาศักยภาพกำลังกองทัพในมิติต่าง ๆ ของกองทัพอากาศ 
การกำหนดวิสัยทัศน์และการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนากองทัพอากาศ การบริหารทรัพยากรด้านงบประมาณทั้ง 3 มิติของกองทัพอากาศ ได้แก่ มิติทางอากาศ (Air Domain) มิติไซเบอร์ (Cyber Domain) และมิติอวกาศ (Space Domain) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด 
นอกจากนี้ ยังมีส่วนร่วมในการเตรียมการจัดซื้อเครื่องบินรบยุคใหม่ที่กองทัพอากาศกำลังทำแผนการจัดหา โดยดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานคณะกรรมการบริหารการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตี ยุคที่ 5 ของกองทัพอากาศ

การสวนสนามทางอากาศของกำลังอากาศยานกองทัพอากาศไทย(RTAF: Royal Thai Air Force) ระหว่างพิธีรับ-ส่งหน้าที่ผู้บัญชาการทหารอากาศและการมอบการบังคับบัญชาเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๕(2022) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๕ นั้น ประกอบด้วย
เครื่องบินขับไล่แบบที่๑๙/ก บ.ข๑๙/ก F-16AM/BM EMLU ฝูงบิน๔๐๓ เครื่องบินขับไล่และฝึกแบบที่๒ บ.ขฝ.๒ T-50TH ฝูงบิน๔๐๑ กองบิน๔ เครื่องบินขับไล่แบบที่๒๐/ก บ.ข.๒๐/ก Saab Gripen C/D ฝูงบิน๗๐๑ กองบิน๗ และเครื่องบินโจมตีธุรการแบบที่๒ บ.จธ.๒ AU-23A ฝูงบิน๕๐๑ กองบิน๕

การสวนสนามทางอากาศในโอกาสพิธีรับ-ส่งหน้าที่ผู้บัญชาการทหารอากาศแต่ละครั้งเป็นโอกาสอันดีสำหรับนักถ่ายภาพอากาศยานและผู้สนใจการบินจะได้มีโอกาสถ่ายรูปอากาศยานทางทหารของกองทัพอากาศระหว่างการบินในเขตกรุงเทพฯ นอกจากงานวันเด็กแห่งชาติในส่วนกองทัพอากาศ
อย่างไรก็ตามงานสวนสนามทางอากาศล่าสุดได้ถูกสื่อไร้จรรยาบรรณโฆษณาชวนเชื่อโดยผู้ไม่หวังดีต่อชาติโจมตีกองทัพอากาศว่าเป็นการสร้างความเดือดร้อนแก่การจราจรทางอากาศ เปลืองภาษีประชาชน และไม่มีประโยชน์ในการให้เกียรติทหารอากาศทุกนายตั้งแต่พลทหารถึงนายพลที่ทำงานมาจนเกษียณอายุราชการ

ผู้ไม่หวังดีที่มีสื่อไร้จรรยาบรรณเหล่านี้มีความพยายามทำลายหรือลดทอนขีดความสามารถของกองทัพอากาศมาตลอดนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์เครื่องบินขับไล่ MiG-29 กองทัพอากาศพม่าล้ำน่านฟ้าจังหวัดตาก แม้ว่าจะมีการชี้แจงแล้วก็ตาม(https://aagth1.blogspot.com/2022/07/mig-29.html)
แต่ก็มีการโจมตีต่อเนื่องเช่น ให้ย้ายกองบิน๑ และกองบิน๒๓ เพราะว่าเครื่องบินรบกวนประชาชนทั้งๆที่ฐานบินอยู่มาก่อนเขตชุมชนจะขยายเข้ามา ให้เลิกซื้อเครื่องบินทุกชนิดเพราะค่าเงินบาทอ่อนน้ำท่วมและไม่จำเป็นในการปกป้องอธิปไตยของชาติ ซึ่งล้วนแต่ไม่มีเหตุผลรองรับเพียงพอทั้งนั้นครับ
(แน่นอนว่าเรื่องต่างๆเหล่านี้ไม่เกี่ยวกัน แต่การโยงเรื่องเหล่านี้เข้าด้วยกันมาเพื่อโจมตีกองทัพอากาศไม่ได้หวังดีต้องการให้กองทัพอากาศมีการปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปหรอก พวกนี้แค่อยากเห็นทหารอากาศไทยทุกนายตาย!ในหลายๆความหมายเพื่อความสะใจต่างหาก)