วันอังคารที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

โอกาสของเครื่องบินลำเลียงทางยุทธวิธีรัสเซียในกองทัพอากาศไทย

A model of the IL-112 concept at the MAKS in 2009.

A model of the UAC/HAL IL-214 Multi-role Transport Aircraft (MTA) at the Aero India exhibition in 2009.

อย่างที่ทราบว่า บ.ล.๘ C-130H และ C-130H-30 ซึ่งประจำการในฝูงบิน๖๐๑ กองทัพอากาศไทยตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๓ นั้นแม้จะได้รับการปรับปรุงระบบ Avionic และยืดอายุการใช้งานแล้วก็ตาม
แต่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าก็จะต้องฉลองครบรอบการเข้าประจำการเป็นปีที่ ๔๐แล้ว ซึ่งถือว่านานทีเดียวสำหรับเครื่องบินลำเลียงที่เป็นม้าใช้ของกองทัพแบบหนึ่ง
ถ้าดูจากผลปฏิบัติการล่าสุดในการขนส่งเจ้าหน้าที่และสิ่งของไปช่วยเหลือเหตุแผ่นดินไหวในเนปาลปี ๒๕๕๘ นี้ล่าสุด แม้ว่า C-130H ของกองทัพอากาศไทยจะยังทำหน้าที่ได้ดีอยู่
แต่ถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆที่นำเครื่องบินลำเลียงทางทหารที่มีขนาดใหญ่บรรทุกได้มากและพิสัยบินไกลกว่าเข้าปฏิบัติการแล้ว กองทัพอากาศไทยก็คงทราบข้อจำกัดของ C-130H อยู่
และน่าจะมีความต้องการเครื่องบินลำเลียงที่มีพิสัยบินไกลกว่าและมีน้ำหนักบรรทุกมากกว่า ถ้าจะมีการจัดตั้งโครงการจัดหาเครื่องบินลำเลียงแบบใหม่ทดแทน บ.ล.๘ ในอนาคตอันใกล้
ประกอบกับโครงการจัดหาเครื่องบินลำเลียงทางยุทธวิธีขนาดกลางที่จะมาแทน บ.ล.๑๔ G222 ที่ปลดประจำการไปหลายปีแล้วก็ยังไม่มีความคืบหน้านักในขณะนี้

ก็เคยมีการแสดงความเห็นอยู่ว่าทำไมกองทัพอากาศไทยจึงไม่สนใจที่จะจัดหาเครื่องบินลำเลียงทางยุทธวิธีจากรัสเซียมีราคาไม่แพงนักถ้าเทียบกับเครื่องบินลำเลียงจากค่ายตะวันตกและมีสมรรถนะดี
ซึ่งทางรัฐบาลรัสเซียเองก็ให้ความสนใจและพร้อมที่จะเสนอขายยุทโธปกรณ์แบบต่างๆที่ตนพัฒนาและผลิตเองในประเทศให้กองทัพไทย
แต่ทั้งนี้ก็มีผู้ให้ความเห็นว่าอากาศยานของรัสเซียมีโอกาสที่จะถูกจัดหาโดยกองทัพอากาศไทยได้ยาก เนื่องจากนักบินและช่างอากาศยานของกองทัพอากาศไทยฝึกและศึกษาการใช้งานระบบอากาศยานมาตรฐานตะวันตกในกลุ่ม NATO มาตลอด
การเปลี่ยนไปใช้งานระบบอากาศยานรัสเซียซึ่งมีเครื่องยนต์ ระบบเครื่องวัด Avionic อุปกรณ์สนับสนุนใหญ่เล็ก จนถึงระบบอาวุธที่เป็นคนละแบบโดยสิ้นเชิงกับระบบพื้นฐานที่กองทัพอากาศใช้งานอยู่เดิมนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยากไม่ค่อยคุ้มค่าในทางปฏิบัติ
ซึ่งในกลุ่ม ASEAN เองก็มีตัวอย่างกองทัพอากาศมิตรประเทศหลายประเทศที่มีปัญหาความพร้อมรบเมื่อต้องใช้อากาศยานต่างค่ายร่วมกันในกองทัพอากาศตนจนความพร้อมรบต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
ดังนั้นสำหรับประเทศที่มีงบประมาณด้านความมั่นคงที่จำกัดเช่นไทยแล้ว การจัดหาอากาศยานที่ใช้ระบบต่างค่ายกันโดยสิ้นเชิงจึงไม่น่าจะใช้แนวคิดที่ดีนักในด้านการจัดการบริหารทรัพยากรของกองทัพอากาศ


อย่างไรก็ตามจากข่าวที่ออกมาเมื่อปีที่แล้วว่ากองทัพอากาศมีแผนจะจัดหาเครื่องบินโดยสาร Sukhoi Superjets 100 จำนวน ๓เครื่องจากรัสเซีย สำหรับภารกิจรับส่งบุคคลสำคัญ
ซึ่ง SSJ-100 เป็นเครื่องบินโดยสารที่รัสเซียออกแบบตามมาตรฐานการบินตะวันตก และเริ่มกระแสข่าวการที่กองทัพอากาศไทยอาจพิจารณาการให้ความสนใจเครื่องบินลำเลียงจากรัสเซียด้วยแล้ว
ทำให้มีคำถามเกิดตามมาว่าจะมีโอกาสมากน้อยแค่ไหนที่กองทัพอากาศไทยสนใจจะจัดหาเครื่องบินลำเลียงทางยุทธวิธีจากรัสเซีย?
คำตอบที่ได้จากการหาข้อมูลคือเครื่องบินลำเลียงทางยุทธวิธีของรัสเซียส่วนใหญ่ยังเป็นโครงการในอนาคตครับ

กลุ่มอุตสาหกรรมอากาศยานหลักของรัสเซียคือเครือ United Aircraft Corporation(UAC) ที่ประกอบด้วยบริษัทหลายๆย่อย เช่น Ilyushin และ Tupolev ซึ่งเป็นผู้ออกแบบพัฒนาและสร้างเครื่องบินลำเลียงและเครื่องบินโดยสารหลักของรัสเซียนั้น
ปัจจุบันกองทัพอากาศรัสเซียกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาเครื่องบินลำเลียงทางยุทธวิธีหลายขนาดเพื่อทดแทนเครื่องบินลำเลียงรุ่นเก่าที่ใช้งานมาตั้งแต่สมัยอดีตสหภาพโซเวียต
โดยเฉพาะเครื่องของ Antonov ที่ปัจจุบันเป็นของยูเครน ซึ่งกองทัพรัสเซียตัดสินใจที่จะไม่ดำเนินโครงการทางทหารใดๆร่วมกับยูเครนแล้ว
เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองที่เลวร้ายลงจากวิกฤตการณ์ใน Crimea และ Donbass ตั้งแต่ปี 2014


ตัวอย่างเช่นเครื่องบินลำเลียง IL-112 นั้นกองทัพอากาศรัสเซียตั้งใจจะพัฒนาขึ้นเพื่อนำมาทดแทนเครื่องบินลำเลียง An-26 ที่มีใช้งานเป็นจำนวนมากในรัสเซียและหลายประเทศทั่วโลกตั้งแต่ช่วงปี 1970s
IL-112 นั้นเป็นเครื่องบินลำเลียงขนาดเบาใช้เครื่องยนต์ turboprops แบบ  Klimov TV7-117ST กำลังเครื่องละ 2,800hp สองเครื่อง
สามารถบรรทุกสิ่งของได้หนักสุด 6tons ทำความเร็วได้สูงสุด 550-580km/h(297-313knots) มีพิสัยทำการไกลสุด 1,000km(540nmi) เมื่อบรรทุกเต็มอัตรา และ 5,000km(2,700nmi) เมื่อบรรทุกหนัก 2tons
ซึ่งกองทัพอากาศรัสเซียเคยสั่งยกเลิกโครงการ IL-112 ในปี 2011 เพื่อจัดหา An-140 จากยูเครน ๗เครื่องสำหรับเป็นเครื่องบินลำเลียงสินค้า
แต่กองทัพอากาศรัสเซียได้อนุมัติให้ Ilyushin ดำเนินการพัฒนาต่อในปี 2013 และยกเลิกการจัดหา An-140
คาดว่าเครื่องต้นแบบจะมีกำหนดบินขึ้นได้ในราวปี 2017 โดยแผนการดังเดิมรัสเซียต้องการจัดหา IL-112 รุ่นเครื่องบินลำเลียงทางทหารราว ๗๐เครื่อง

ถ้าอ้างอิงจากแผนพัฒนากองทัพของกระทรวงกลาโหมเก่าซึ่งกำหนดความต้องการโครงการจัดหาเครื่องบินลำเลียงทางยุทธวิธีขนาดกลางที่มีรายละเอียดดังนี้แล้ว

บันทึก 14 โครงการจัดหา บ.ลำเลียง ทดแทน (ระยะที่ 1)
จัดหา บ.ลำเลียง (จำนวนผู้โดยสารไม่ต่ำกว่า 40 คน น้ำหนักบรรทุกไม่ต่ำกว่า 4,000 กก.
ความเร็วเดินทางไม่ต่ำกว่า 240 นอต และพิสัยบินไม่ต่ำกว่า 1,000 ไมล์ทะเล )
จำนวน 6 เครื่อง พร้อมเครื่องมือ อุปกรณ์ อะไหล่ การฝึกอบรม และเอกสารเทคนิค

IL-112 อาจจะเป็นตัวเลือกหนึ่งที่ไม่น่าสนใจนักถ้าเทียบกับเครื่องบินลำเลียงขนาดกลางสองเครื่องยนต์ของตะวันตกที่มีสมรรถนะสูงกว่า เช่น


C-27J Spartan ที่ใช้ ย.turboprops Rolls-Royce AE2100-D2A กำลังเครื่องละ 3,400hp ทำความเร็วได้สูงสุด 325knots บรรทุกได้หนักสุด 11.5tons มีพิสัยทำการไกลสุด 1,000nmi เมื่อบรรทุกหนัก 10tons


หรือ C-295M ที่ใช้ ย.turboprops Pratt & Whitney Canada PW127G กำลังเครื่องละ 2,645hp ทำความเร็วได้สูงสุด 311knots บรรทุกได้หนักสุด 9.25tons มีพิสัยทำการไกลสุด 1,000nmi เมื่อบรรทุกเต็มอัตรา
จะเห็นได้ว่าในกลุ่มเครื่องบินลำเลียงทางยุทธวิธีที่มีขนาดใกล้เคียงกันนั้น IL-112 ของรัสเซียมีสมรรถนะต่ำที่สุด ดังนั้นกองทัพอากาศจึงอาจจะไม่สนใจ IL-112 ซึ่งยังไม่เปิดสายการผลิตในขณะนี้ครับ


ส่วนเครื่องบินลำเลียงทดแทน C-130H นั้นโครงการหนึ่งของที่น่าสนใจคือ IL-214 ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาเครื่องบินลำเลียงทางยุทธวิธีขนาดกลางร่วมระหว่าง UAC รัสเซีย และ Hindustan Aeronautics Limited(HAL)
IL-214 เป็นเครื่องลำเลียงทางยุทธวิธีขนาดกลางใช้เครื่องยนต์ไอพ่น turbofan แบบ Aviadvigatel PD-14M สองเครื่อง กำลังเครื่องละ 34,392lbf
ทำความเร็วได้สูงสุด 470knots บรรทุกได้หนักสุด 20tons มีพิสัยทำการไกลสุด 1,755nmi เมื่อบรรทุกเต็มอัตรา
กองทัพอากาศอินเดียต้องการนำเครื่อง IL-214 เข้าประจำการแทน An-32 ราว ๖๐เครื่อง ซึ่งมีกำหนดเข้าประจำการในราวปี 2018 หลังจากที่เครื่องต้นแบบเริ่มทำการบินครั้งแรกในปี 2017 เช่นเดียวกับ IL-112

แต่ก็เช่นเดียวกับ IL-112 ว่ากลุ่มเครื่องบินลำเลียงทางยุทธวิธีขนาดกลางสองเครื่องยนต์ไอพ่นแบบอื่นๆที่เปิดสายการผลิตหรือมีเครื่องต้นแบบแล้ว เช่น


Embraer KC-390 ที่ใช้ ย.turbofan แบบ IAE V2500-E5 กำลัง 31,330lbf สองเครื่อง ทำความเร็วสูงสุด 0.8MACH บรรทุกได้หนักสุด 23.6tons มีพิสัยทำการไกลสุด 1,400nmi เมื่อบรรทุกเต็มอัตรา
ที่เพิ่งทำการบินครั้งแรกไปเมื่อ ๓ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้น ก็เป็นเครื่องบินลำเลียงทางยุทธวิธีมาตรฐานตะวันตกที่มีหลายประเทศให้ความสนใจจัดหาไปประจำการเป็นจำนวนมาก
ตามที่เคยรายงานไปแล้วว่ามียอดสั่งจัดหารวมไม่ต่ำกว่า ๖๐เครื่องแล้วในขณะนี้จากประเทศในกลุ่มอเมริกาใต้และยุโรป





หรือ Antonov An-178 ซึ่งเป็นเครื่องบินลำเลียงทางยุทธวิธีแบบล่าสุดของยูเครนซึ่งเพิ่งเปิดตัวจากโรงงานให้สาธาณชนชมเมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน ที่ผ่านมาและจะมีกำหนดทำการบินครั้งแรกในราวเดือนพฤษภาคมนี้
โดย An-178 ใช้ ย.turbofan แบบ Progress D-436-148FM กำลัง 7,880kgf(17,372lbf) สองเครื่อง มีพิสัยทำการไกลสุด 1,000km(540nmi) เมื่อบรรทุกหนัก 18tons
แม้ว่าจะมีสมรรถนะน้อยกว่า IL-214 แต่ An-178 ก็ดูจะมีข้อได้เปรียบกว่าที่มีเครื่องต้นแบบจริงแล้ว ซึ่งทาง Antonov ตั้งเป้าที่จะขาย An-178 ได้ ๒๐๐เครื่องทั่วโลก
(ความเห็นส่วนตัวอาจจะยากเพราะ KC-390 ดูจะมีข้อได้เปรียบด้านสมรรถนะถ้าเทียบกับ An-178 และ Embraer มีโอกาสในการทำการตลาดทั่วโลกที่ดีกว่า Antonov
ซึ่งอุตสาหกรรมทางทหารเพื่อส่งออกของยูเครนได้รับผลกระทบในภาพรวมจากสงครามกับกลุ่มติดอาวุธนิยมรัสเซีย)


และคงไม่ต้องกล่าวถึงเครื่องบินลำเลียงทางยุทธศาสตร์อย่าง IL-76MD-90A หรือ IL-476 อันเป็นรุ่นปรับปรุงล่าสุดของ IL-76 ที่ออกแบบผลิตมาตั้งแต่ปี 1970s
โดยกองทัพอากาศรัสเซียสั่งจัดหาเครื่องใหม่ ๓๙เครื่อง และจะทำการปรับปรุง IL-76MD ที่มีอยู่เดิมโดยใช้เครื่องยนต์ใหม่แบบ PS-90A-76 ระบบ Avionic ระบบควบคุมการบินใหม่ และ glass cockpit อีกจำนวนหนึ่ง
เพราะก็เหมือนกับ Boeing C-17 Globemaster III ที่ใหญ่และแพงเกินความจำเป็นสำหรับกองทัพอากาศไทยไปหน่อย



ถ้ากองทัพอากาศไทยจะสนใจเครื่องบินลำเลียงขนาดหนักที่ใหญ่กว่า C-130 แล้ว Airbus A400M Atlas อย่างที่กองทัพอากาศมาเลเซียจัดหาไป ๔เครื่อง ซึ่งเพิ่งได้รับมอบชุดแรกไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านอาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า
โดย A400M นั้นใช้ ย.turboprops สี่เครื่องแบบ Europrop TP400-D6 กำลังเครื่องละ 11,060hp ทำความเร็วสูงสุด 420knots บรรทุกได้หนักสุด 37tons มีพิสัยทำการไกลสุด 1,780nmi เมื่อบรรทุกเต็มอัตรา
และตามที่เคยรายงานไปว่ากองทัพอากาศเยอรมนีและกองทัพอากาศสเปนต้องการจะขายเครื่องส่วนเกินที่ลดจากจำนวนที่ตนต้องการจำนวนหนึ่ง
ถ้าลูกค้าหลักของเครื่องส่วนเกินนี้ไม่ใช่เฉพาะสมาชิกในกลุ่ม NATO หรือสหภาพยุโรปก็น่าสนใจอยู่ถ้าไม่ติดขัดปัญหาอะไรกับไทย



หรือ An-70 ของยูเครน ซึ่งใช้เครื่องยนต์ propfans แบบ Progress D-27 สี่เครื่อง กำลังเครื่องละ 13,880hp ทำความเร็วได้สูงสุด 421knots บรรทุกได้หนักสุด 47tons มีพิสัยทำการ 5,000km(2,700nmi)เมื่อบรรทุกหนัก 35tons
ที่มีต้นแบบแล้ว ๒เครื่อง ซึ่งกองทัพอากาศรัสเซียได้ยกเลิกการจัดหา An-70 จำนวน ๖๐เครื่องเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านจากปัญหาความสัมพันธ์ทางทหารกับยูเครนที่ได้กล่าวในข้างต้น
ตามที่เคยรายงานไปเช่นกันว่า Antonov กำลังปรับปรุงระบบอากาศยานของตนให้เข้าสู่มาตรฐาน NATO เพื่อมองหาลูกค้ารายใหม่ๆในกลุ่มประเทศตะวันตกแทนรัสเซียที่ยกเลิกการจัดหาเครื่องบินลำเลียงของ Antonov หลายโครงการ
(ถ้าเทียบกันแล้ว An-70 มีสมรรถนะบางด้านที่สูงกว่า A400M แต่เช่นเดียวกับการเปรีบเทียบระหว่าง An-178 กับ KC-390 ที่ Airbus ที่มีโอกาสในการทำการตลาดมากกว่า Antonov)

สรุปได้ในภาพรวมครับว่า ณ ขณะนี้โครงการพัฒนาเครื่องบินลำเลียงทางยุทธวิธีใหม่ๆของรัสเซียเองที่พอจะน่าสนใจสำหรับกองทัพอากาศไทยนั้น ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาไม่มีเครื่องต้นแบบทำการบินจริงเลย
ซึ่งตรงนี้เป็นผลมาจากการที่รัสเซียยกเลิกโครงการจัดหาเครื่องบินลำเลียงของ Antonov กับยูเครนเป็นจำนวนมาก เช่น An-70 และ An-140 ทำให้การพัฒนาเครื่องใหม่ทดแทนเครื่องรุ่นเก่าที่ใช้มาตั้งแต่สมัยอดีสหภาพโซเวียตเกิดความล่าช้า
ถ้ากองทัพอากาศไทยจะเริ่มตั้งโครงการจัดหาเครื่อบินลำเลียงขนาดกลางใหม่หรือทดแทน C-130H ในเร็วๆนี้แล้ว
จะเห็นว่ายังมีเครื่องบินลำเลียงทางยุทธวิธีแบบต่างๆมีมีสายการผลิตพร้อมแล้ว รวมถึงมีความเข้ากันได้กับระบบพื้นฐานของกองทัพอากาศไทยเป็นจำนวนมากให้สนใจเลือกพิจารณามากกว่าเครื่องบินลำเลียงของรัสเซีย
ตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของท่านผู้บัญชาการทหารอากาศคนปัจจุบันคือ พลอากาศเอก ตรีทศ สนแจ้ง ซึ่งเติบโตมาในสายนักบินเครื่องบินลำเลียงด้วยว่าจะเป็นไปในทิศทางใดครับ