โครงการจัดหารถถังหลัก Oplot จากยูเครนซึ่งมีการเผยแพร่ภาพการทดสอบรถถังชุดใหม่ ๕คันที่สนามทดสอบที่ Kharkiv ไปแล้วก่อนหน้านี้
โดยทาง UKROBORONPROM ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการส่งออกยุทโธปกรณ์ของยูเครน ได้เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตรถถังหลัก Oplot ให้ไทยล่าสุดตามนี้
UKROBORONPROM CAN REARM THE ARMY OWNING TO EXPORT
http://www.ukroboronprom.com.ua/en/newsview/1/631
ใจความสำคัญของข่าวของคือ รถถังหลัก Oplot จะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อการส่งออกเป็นหลักไม่ได้สร้างเพื่อนำไปใช้เอง
โดยราคาต่อคันที่ $4.9 million นั้นยูเครนจะสามารถนำไปต่อยอดในการปรับปรุงรถถังหลัก T-64 และ T-72 ของกองทัพยูเครนได้อีกเป็นจำนวนมาก เช่น T-64B1M หรือ T-72UA1 เป็นต้น
ซึ่งปี 2015 นี้โรงงาน Malyshev จะทำการผลิต Oplot ให้ได้ ๔๐คัน ซึ่งควรจะเป็นจำนวนที่ครบตามที่กองทัพบกไทยสั่งจัดหาคือ ๔๙คันสำหรับเข้าประจำการใน กองพันทหารม้าที่๒ กองพลทหารราบที่๒ รักษาพระองค์ ด้วย
แต่ที่ว่าจะผลิต ถ.Oplot ให้ได้ในปีถัดๆไป ๑๐๐-๑๒๐คัน นี่ก็ไม่ทราบว่ายูเครนสามารถหาลูกค้าเพิ่มนอกจากไทยได้ตั้งแต่เมื่อไร
ตรงนี้ก็หวังว่ายูเครนจะสามารถจัดส่งรถถังหลัก Oplot-T ชุดใหม่หลังจากการตรวจรับมอบมาถึงไทยได้เสียทีครับ
อีกโครงการคือโครงการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป ฮ.ท.๑๓๙ AW139 เพิ่มเติมจำนวน ๖เครื่องวงเงิน ๒,๘๐๐ล้านบาท เพิ่มเติมจากชุดแรก ๓เครื่องที่เข้าประจำการใน กองการบิน กรมการขนส่งทหารบก (กบบ.ขส.ทบ.)
โดยคาดว่าการจัดหา ฮ.ท.๑๓๙ ใหม่นี้จะถูกนำเข้าประจำการในศูนย์การบินทหารบก(ศบบ.) เพื่อนำไปวางกำลังสนับสนุนปฏิบัติการของกองทัพภาค
เช่นงานขนส่งบุคลสำคัญอย่างคณะนายทหารของกองทัพภาพที่เดินทางตรวจเยี่ยมหน่วยงานภาคสนามตามชายแดน และภารกิจธุรการอื่นๆ เช่น การส่งกำลังบำรุงให้หน่วยต่างๆตามชายแดน
ทั้งนี้รูปแบบการจัดระบบภายในเช่นห้องโดยสารของ ฮ.ท.๑๓๙ AW139 ๖เครื่องที่จัดหามาใหม่น่าจะเป็นแบบลำเลียงทั่วไปต่างจาก ฮ.ชุดแรก ๓เครื่องของ กบบ.ขส.ทบ. ที่เป็น ฮ.รับส่งบุคคลสำคัญ(เช่นไม่น่าจะมีเบาะหนัง)
หลังจากที่กองทัพบกนำ AW139 ชุดแรกเข้าประจำการมา ก็จะเห็นได้ว่า ฮ.ได้ถูกใช้งานในภารกิจการขนส่งบุคคลสำคัญบ่อยมากในช่วงหลังมานี้
ซึ่งเป็นการลดภาระการนำ ฮ.ใช้งานทางยุทธวิธีอย่าง ฮ.ท.๖๐ UH-60 ไปใช้ในภารกิจขนส่งบุคคลสำคัญลงไปได้มาก
ตรงนี้จึงมองว่าถ้าจะมีการนำ ฮ.ใหม่ทั้ง ฮ.ท.๑๓๙ AW139 จำนวน ๖เครื่องที่จะจัดหาลงใน ศบบ. และ ฮ.ท.๑๔๕ EC145 T2 ที่มีข่าวว่าจะจัดหามา ๖ลำลงใน ศบบ.เป็น ฮ.VIP ด้วยนั้น
ส่วนตัวก็คาดเดาว่า ฮ.ใหม่ทั้งสองแบบน่าจะถูกนำมาใช้แทน ฮ.เก่าที่ใช้สนับสนุนภารกิจการขนส่งบุคคลสำคัญ และงานธุรการทั่วไปในระดับกองพล และกองทัพภาค
เช่น กองร้อยบินของกองพลทหารราบ และชุดปฏิบัติการบินสนับสนุนกองทัพภาคต่างๆ แทน ฮ.แบบเก่าที่ใช้มานานหลายสิบปี ทั้ง ฮ.ท.๑ UH-1H, ฮ.ท.๒๐๖ Bell 206A และ ฮ.ท.๒๑๒ Bell 212
แต่ตรงนี้ก็มีข้อสงสัยอยู่ครับว่า ฮ.ท.๒๑๒ ที่ประจำการอยู่ในส่วน กองทัพภาค นั้นถ้าถูกโอนกลับมาอยู่ในส่วนกลางคือ ศบบ.แล้ว ก็กองทัพมีการจะปรับโครงสร้างอัตราจัดอย่างไรต่อ
เช่น จะปรับปรุงเป็น ฮ.ใช้งานทางยุทธวิธี เช่น ฮ.ท.๒๑๒ Bell 212 EDA ที่ปรับปรุงใหม่ที่ประจำใน กองบินปีกหมุนที่๒ หรือไม่ครับ
ในส่วนของกองทัพเรือนั้นโครงการสำคัญคือการผลักดันโครงการจัดหาเรือดำน้ำใหม่จำนวน ๒-๓ลำ ซึ่งก็มีการรายงานการนำเสนอแบบเรือของบริษัทต่างๆอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี ๒๕๕๘ มานี้ เช่น
บริษัท CSOC สาธารณรัฐประชาชนจีน เสนอข้อมูลเรือดำน้ำแบบ S26T
Rosoboronexport รัสเซีย เสนอข้อมูลเรือดำน้ำแบบ Project 636 Kilo และเรือดำน้ำแบบ Amur 1650
บริษัท TKMS เยอรมนี เสนอข้อมูลเรือดำน้ำแบบ U209/1400mod และ U210mod
บริษัท Hyundai Heavy Industries (HHI) สาธารณรัฐเกาหลี เสนอข้อมูลเรือดำน้ำแบบ HDS-500RTN
บริษัท Saab AB สวีเดน เสนอข้อมูลเรือดำน้ำแบบ A26
ขณะนี้ผู้บัญชาการทหารเรือและคณะกำลังอยู่ในระหว่างการเดินทางไปเยือนประเทศต่างๆ ซึ่งภารกิจหนึ่งในการเยือนน่าจะร่วมการเยี่ยมชมข้อมูลเรือดำน้ำของประเทศต่างๆด้วย
เช่น จีน ซึ่งไปพร้อมคณะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และล่าสุดคือสวีเดนเป็นต้น
จีนนั้นมีความพยายามในการเสนอเรือดำน้ำให้กองทัพเรือไทยมาตลอดครับ ตั้งแต่เรือดำน้ำแบบ Type 039 Song เมื่อเกือบ ๑๐ปีก่อน
ซึ่งตอนนั้นจีนเสนอการให้เช่าเรือดำน้ำชั้น Song ที่ประจำการในกองทัพเรือปลดปล่อยประชาชนจีนแก่กองทัพเรือเพื่อฝึกกำลังพลทำความคุ้นเคยด้วย แต่ตอนนั้นกองทัพเรือปฏิเสธไปเนื่องสองเหตุผลคือ
กองทัพเรือยังไม่มีงบประมาณเพียงพอโดยเฉพาะส่วนโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการสนับสนุนปฏิบัติการของเรือ และจีนยังจำเป็นต้องคงจำนวนเรือดำน้ำ Type 039 Song ที่มีประจำการในกองเรือดำน้ำของตนอยู่
โดยความพยายามล่าสุดของจีนในการเสนอเรือดำน้ำให้ไทยคือเรือแบบ S26T ซึ่งพัฒนามาจาก Type 039A Yuan รุ่นล่าสุดตามที่มีการนำเสนอข้อมูลไปก่อนหน้านี้
ถ้ากองทัพเรือสนใจจะจัดหาเรือดำน้ำจากจีนจริง จีนก็ต้องทำสัญญาโครงการจัดหาในรูปแบบจัดตั้งระบบให้แบบครบวงจรครับ
ทั้งการจัดตั้งระบบที่ตั้งชายฝั่ง อู่เรือดำน้ำ และระบบสนับสนุนการซ่อมบำรุงเรือ ระบบการฝึกจำลองแบบสมบูรณ์
การเข้าถึงข้อมูลการผลิตอะไหล่การซ่อมบำรุงชิ้นส่วนอุปกรณ์และอาวุธประจำเรือ เช่น Battery, Torpedo อาจจะรวมถึงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อต้านเรือผิวน้ำด้วย เป็นต้น
กล่าวคือจีนควรจะต้องไม่ได้เสนอขายเฉพาะตัวเรือให้กองทัพเรือไทย แต่จีนจะต้องขายกองเรือดำน้ำให้กองทัพเรือไทยทั้งระบบครับ
ดังนั้นประเด็นที่ว่ามีแรงกดดันจากฝ่ายการเมืองให้กองทัพเรือเลือกจัดหาเรือดำน้ำจากจีนนั้น ก็เป็นที่เข้าใจได้ไม่ยากว่าบุคลากรในกองทัพเรือโดยเฉพาะกองเรือดำน้ำน่าจะค่อนข้างลำบากใจในเรื่องนี้
เพราะเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ได้ฝึกศึกษาวิทยาการด้านเรือดำน้ำเป็นหลักเป็นระบบตะวันตก โดยเฉพาะของเยอรมนี และประเทศอื่นเช่นเกาหลีใต้เป็นต้น
และระบบที่จัดตั้งมาที่กองบัญชาการกองเรือดำน้ำ เช่น ห้องฝึกจำลองศูนย์ยุทธการเรือดำน้ำนั้นก็เป็นระบบของเยอรมัน
กดน.จึงน่าจะมองตัวเลือกแบบเรือจากตะวันตกคือ เยอรมนี หรือสวีเดนเป็นแบบหลักอันดับต้นๆมากกว่า โดยมีระบบของเกาหลีใต้อันดับรองลงมา
และมองรัสเซียและจีนเป็นลำดับท้ายๆ เนื่องจากไม่มีความคุ้นเคยในระบบอาวุธรัสเซีย เช่นเดียวกับจีนทีมีข้อสงสัยด้านความน่าเชื่อถือของเรือดำน้ำจีน
เพราะก็ตามที่ทราบว่ากองทัพเรือนั้นมีประสบการณ์ที่ไม่น่าพอใจกับการจัดหา ใช้งาน และปรับปรุงเรือรบผิวน้ำชุดต่างๆที่จัดหามาจากจีนนัก เป็นที่มาในประเด็นความน่าเชื่อถือของเรือดำน้ำจีน
ซึ่งเรือดำน้ำจีนเองนั้นก็ตามที่ทราบว่าแทบจะไม่มีประเทศใดจัดหาไปใช้เลย นอกจากบังคลาเทศ คือ Type 035 Ming มือสอง และแบบ S20 ที่ปากีสถานกำลังเจรจากับจีน
แม้ว่าข้อเสนอของจีนในโครงการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือก็อาจจะมีรูปแบบคล้ายคลึงกับการซ่อมบำรุงและปรับปรุงเรือจีนหลายๆแบบที่กองทัพเรือนำเข้าประจำการมา
คือถึงจะมีการถ่ายทอด Technology และจัดตั้งระบบสนับสนุนต่างให้กองทัพเรือแบบครบวงจรก็จริง แต่ในทางกลับกันก็จะเป็นว่ากองเรือดำน้ำจะต้องพึ่งพาและใช้ระบบต่างขึ้นอยู่กับจีนไปตลอด
อย่างน้อยจนกว่าจะสามารถเลือกและเปลี่ยนแบบระบบใหม่ไปเป็นของประเทศอื่นแทน เช่น ระบบเรือดำน้ำตะวันตก หรือรัสเซียได้ ซึ่งตรงนี้ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียที่กองทัพเรือจำเป็นต้องพิจารณาให้รอบคอบ
จึงไม่น่าแปลกใจที่เจ้าหน้าที่ใน กดน.จะมีการตอบสนองต่อแรงกดดันการนำเสนอเรือดำน้ำแบบ S26T ในเชิงลบครับ
แต่ส่วนตัวมองในแง่ร้ายครับว่ากองทัพเรือมีทางเลือกจำกัดในตัดสินใจคือ ถ้าไม่เลือกจัดหาเรือดำน้ำจากจีนตามความต้องการของฝ่ายการเมืองแล้ว ก็คงต้องตัดสินใจยกเลิกโครงการจัดหาเรือดำน้ำไปโดยที่ยังไม่ได้ตั้งโครงการ
ตรงนี้ถ้าจะให้กล่าวตามตรงคือแนวโน้มคงจะกลับไปรูปแบบเดิมครับคือกองทัพเรืออาจจะต้องปฏิเสธความต้องการของฝ่ายการเมือง โดยยกเลิกโครงการจัดหาเรือดำน้ำที่ยังไม่มีการตั้งขึ้นมาเลยไปเสีย
โดยถ้ากองทัพเรือถูกฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงในการตัดสินใจในโครงการจัดหาเรือดำน้ำซึ่งยังไม่ได้ตั้งขึ้นมาแล้ว รูปแบบก็อาจจะใกล้เคียงกับกรณีที่เกิดกับโครงการจัดหาเรือดำน้ำ U206A จากเยอรมนีครับ
คือกองทัพเรือคงจะตัดสินใจระงับการจัดตั้งโครงการจัดหาเรือดำน้ำแล้วชะลอโครงการออกไปอีกนานจนกว่าจะมีโอกาสใหม่อำนวย
ทำให้ส่วนตัวมองว่าโครงการจัดหาเรือดำน้ำครั้งใหม่นี้มีแนวโน้มความเป็นเป็นไปได้อยู่ค่อนข้างมากว่า อาจจะไม่ประสบความสำเร็จเหมือนกับหลายๆกรณีที่ผ่านมาในอดีตครับ
และถ้ากองทัพเรือเลือกแนวทางที่จะปฏิเสธโครงการจัดหาเรือดำน้ำซึ่งเป็นความต้องการทางยุทธศาสตร์สำคัญของกองทัพเรือแล้ว ก็หมายความว่ากองเรือดำน้ำจะเป็นกองเรือที่ไม่มีเรือเข้าประจำการในกองเรือไปอีกนาน
นั่นก็คงเป็นที่น่าลำบากใจของกองทัพเรือมากครับว่า กองทัพเรือจะตัดสินใจให้กองเรือดำน้ำที่เพิ่งจัดตั้งมาใหม่เพียงไม่กี่ปี เป็นชนวนข้อขัดแย้งให้เกิดปัญหาผลกระทบกับหน่วยใช้กำลังหลัก
โดยเฉพาะกองเรือต่างๆในกองเรือยุทธการที่ต้องใช้การงบประมาณไปใช้ในโครงการของตนเช่นกันหรือไม่ ซึ่งก็จะเป็นคำถามตามมาถึงการมีอยู่ของ กดน.ต่อไปในอนาคตว่า
กองทัพเรือจะเลือกจัดหาเรือดำน้ำจีนเพื่อให้มีเรือดำน้ำเข้าประจำการเสียที หรือจะเลือกที่จะเป็นกองทัพเรือที่ไม่มีเรือดำน้ำประจำการต่อไปกันแน่?(หรือจะสู้กับแรงบีบบังคับเพื่อให้ได้แบบเรือที่กำลังพลต้องการจริงๆ)
แต่หวังว่าคราวนี้กองทัพเรือจะผ่านอุปสรรคนานานับประการจากที่เคยเจอมาไปได้เสียทีครับ
Thailand increases defence budget by 7%
ยังมีโครงการจัดหายุทโธปกรณ์ขนาดใหญ่บางโครงการที่ไม่ได้รายงาน เช่น โครงการจัดหาเครื่องบินฝึกขั้นก้าวหน้าใหม่ทดแทน บ.ขฝ.๑ L-39ZA/ART ของกองทัพอากาศไทย ซึ่งยังไม่มีรายงานข่าวเพิ่มเติม
ตามรายงานของ Jane's นั้นงบประมาณกลาโหมประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๙ ของไทยที่จะอนุมัติในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ อาจจะเพิ่มขึ้นราวร้อยละ๗ หรืออยู่ที่ประมาณ ๒๐๗,๐๐๐ล้านบาท($6.3 billion)
มีอัตราส่วนเป็นร้อยละ๘ ของงบประมาณประเทศทั้งหมด คิดเป็นร้อยละ๑.๕ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)
ตรงนี้จะเห็นได้ว่าถึงจะดูเพิ่มขึ้นก็จริงแต่ก็เทียบไม่ได้กับหลายประเทศในกลุ่ม ASEAN เช่นอินโดนีเซียที่เพิ่มเกือบ $9 billion ในปี 2016 จะเพิ่มขึ้นเป็นถึง $15 billion ภายในปี 2020(แต่ทั้งนี้ก็เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นประเทศใหญ่ด้วย)
และพม่าซึ่งใช้งบประมาณกลาโหมถึงร้อยละ๔ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ แม้ว่าในภาพรวมจะยังเป็นเงินจำนวนไม่มากนัก แต่งบประมาณที่รัฐบาลพม่าเพิ่มให้กองทัพพม่าในปี 2015-2016 นั้นก็เพิ่มขึ้นจากเดิมราว $2.75 billion แล้ว
ก็น่าจะพอมองออกครับว่าประเทศในกลุ่ม ASEAN ส่วนใหญ่กำลังเริ่มเพิ่มงบประมาณกลาโหมและจัดหายุทโธปกรณ์ใหม่ๆมากขึ้น ซึ่งจะไม่ให้ไทยขยับตัวตามบ้างเลยคงไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องความมั่นคงของชาติที่มีความจำเป็นล้วนๆครับ