วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2559

โอกาสของเครื่องบินลำเลียงทางยุทธวิธีจีนในกองทัพอากาศไทย









People's Liberation Army Air Force Y-9 Transport Aircraft at U-Tapao Royal Thai Navy Air Base to joint AM-HEx 2016 Thailand.

เมื่อวันที่ ๑ ก.ย.๕๙ กองกำลังนานาชาติ จากสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ และสหพันธรัฐมาเลเซีย 
ได้ทำการเคลื่อนย้าย และลำเลียงยุทโธปกรณ์ เพื่อเตรียมพร้อมในการเข้าร่วม "การฝึกร่วมด้านการบรรเทาภัยพิบัติและการแพทย์ทหารอาเซียน (AM – HEx2016) ณ ฝูงบิน ๑๐๖ สนามบินอู่ตะเภา จังหวัดชลบุรี
https://www.facebook.com/media/set/?set=a.317879015228347.1073741829.308415916174657
https://www.facebook.com/AM-HEx-308415916174657/

การให้สัมภาษณ์สื่อของผู้บัญชาการทหารอากาศ พลอากาศเอก ตรีทศ สนแจ้ง ในพิธีบรรจุเข้าประจำการเครื่องบินลำเลียงแบบที่ ๑๘ Sukhoi Superjet 100LR จำนวน ๒ เครื่อง ณ กองบิน๖ ดอนเมือง เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙(2016) ที่ผ่านนั้น
ผอ.ทอ.กล่าวว่า กองทัพอากาศไทยกำลังศึกษาโครงการจัดหาเครื่องบินลำเลียงทางยุทธวิธีแบบใหม่ทดแทน บ.ล.๘ C-130H ฝูงบิน๖๐๑ จำนวน ๑๒เครื่อง ที่ประจำการมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๓(1980) มีอายุการใช้งานมาแล้ว ๓๖ปี
แม้ว่า C-130H และ C-130H-30 ของกองทัพอากาศไทยได้รับการปรับปรุงระบบใหม่ไปเมื่อหลายปีก่อน เช่น ระบบ Avionic และห้องนักบินแบบ Glass Cockpit แต่จากอายุโครงสร้างอากาศยานจะทำให้เครื่องใช้งานได้อีกไม่เกิน ๕ปีเป็นอย่างมาก
ทำให้มีการศึกษาโครงการจัดหาเครื่องทดแทน แต่เครื่องบินลำเลียงทางยุทธวิธีใหม่อย่าง Lockheed Martin C-130J Super Hercules ที่กองทัพอากาศสหรัฐฯและหลายประเทศทั่วโลกใช้นั้นมีราคาสูง ซึ่งกองทัพอากาศกำลังทำการศึกษาเครื่องบินลำเลียงแบบอื่นๆด้วย

C-130H Royal Thai Air Force at Singapore.

ทั้งนี้ในการฝึกร่วมด้านการบรรเทาภัยพิบัติและการแพทย์ทหาร ASEAN(ADMM-Plus Military Medicine-Humanitarian Assistance and Disaster Relief Joint Exercise 2016) หรือ AM-HEx 2016 ที่มีพิธีเปิดการฝึกไปเมื่อวันที่ ๕ กันยายนนั้น
กำลังพลจากกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อร่วมการฝึกโดยเครื่องบินลำเลียงแบบ Shaanxi Y-9 ซึ่งเป็นเครื่องบินลำเลียงทางยุทธวิธีขนาดกลางแบบล่าสุดของกองทัพอากาศปลดปล่อยประชาชนจีน
ซึ่งนั่นทำให้มองได้ว่าจีนได้กำลังแนะนำระบบอาวุธยุทโธปกรณ์ของตนเองให้ไทยชมเช่นเดียวกับการฝึกที่ผ่านมาในปีนี้ เช่น Blue Strike 2016
แต่สำหรับอากาศยานจีน เช่น เครื่องบินลำเลียง Y-9 จีนแล้วเครื่องรุ่นนี้มีความเหมาะสมที่จะเป็นตัวเลือกของกองทัพอากาศไทยสำหรับโครงการจัดหาเครื่องบินลำเลียงทางยุทธวิธีแบบใหม่ทดแทน บ.ล.๘ C-130H หรือไม่?


Y-9 เป็นเครื่องบินลำเลียงทางยุทธวิธีขนาดกลางสี่เครื่องยนต์ใบพัดที่ออกแบบสร้างโดย Shaanxi Aircraft Corporation ซึ่งปัจจุบันได้ควบรวมกิจการกับ Xi'an Aircraft Industrial Corporation แล้ว โดยทั้งสองบริษัทต่างเป็นรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในเครือ Aviation Industry Corporation of China หรือ AVIC รัฐวิสาหกิจด้านอุตสาหกรรมอากาศยานของจีน
เครื่องบินลำเลียง Y-9 นั้นมีพื้นฐานพัฒนามาจากเครื่องบินลำเลียง Shaanxi Y-8F ซึ่งเครื่องบินลำเลียงตระกูล Y-8 นั้นจีนได้ลอกแบบมาจากเครื่องบินลำเลียง Antonov An-12 รัสเซียสมัยอดีตสหภาพโซเวียต
ซึ่งตั้งแต่ปี 1981 เป็นต้นมาจีนได้ผลิตเครื่องบินลำเลียง Y-8 หลายรุ่นเข้าประจำการในกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนเองและส่งออกหลายประเทศทั่วโลกมากกว่า ๑๗๐เครื่อง อย่างในกลุ่ม ASEAN เช่นกองทัพอากาศพม่าที่มี Y-8D ๔เครื่อง และ Y-8F-200W ๒เครื่องที่เพิ่งเข้าประจำการล่าสุดตามที่ได้เคยรายงานไป

เครื่องบินลำเลียง Y-9 มีความยาวตัวเครื่อง 16.2m กว้าง 3.2m สูง 2.3m ติดตั้งเครื่องยนต์ใบพัด Turboprop แบบ FWJ-6C กำลัง 5,100shp จำนวน ๔เครื่อง ซึ่งใช้ใบพัดวัสดุผสมหกกลีบแบบ JL-4
Y-9 มีห้องนักบินแบบ Glass Cockpit ใช้กำลังพลประจำเครื่อง ๔นาย ประกอบด้วยนักบินที่๑, นักบินที่๒, วิศวกรการบิน และเจ้าหน้าที่ควบคุมการขนถ่ายสัมภาระ สามารถบรรทุกสัมภาระได้หนักสุด 25tons หรือผู้โดยสาร ๑๐๖คน หรือพลร่ม ๑๓๒นาย หรือแผ่น pallets ๙แผ่น
Y-9 ทำความเร็วได้สูงสุด 670km/h มีความเร็วเดินทางสูงสุด 650km/h ระยะทำการบินไกลสุด 5,700km พิสัยบินไกลสุด 7,800km เพดานบินสูงสุด 10,400m เพดานบินเดินทางสูงสุด 8,000m ต้องการทางวิ่งขึ้นยาว 1,350m

C-130J Super Hercules from the 135th Airlift Squadron, 175th Wing, Maryland Air National Guard, U.S. Air Force(wikipedia.org)

นั่นทำให้ Y-9 จีนมีสมรรถนะใกล้เคียงหรือเหนือกว่าเล็กน้อยเมื่อเทียบเครื่องบินบินลำเลียง C-130J-30 สหรัฐฯ
แต่อย่างไรก็ตามปัจจุบันนอกจาก Y-9 รุ่นลำเลียงมาตรฐาน และการพัฒนารุ่นอื่นๆอย่างเครื่องบินแจ้งเตือนภัยทางอากาศ KJ-500 ติด Radar ตรวจการณ์สำหรับกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนเองแล้ว ยังไม่มีความชัดเจนว่าจีนพร้อมจะส่งออก Y-9 ต่างประเทศในเร็วๆหรือไม่ เพราะจีนก็เพิ่งนำ Y-9 เข้าประจำการไปเมื่อปี 2012
ขณะที่ C-130J และ C-130J-30 นั้นได้เปิดสายการผลิตมาตั้งแต่ปี 1996 เข้าประจำการใน ๑๙ประเทศทั่วโลกจำนวนมากกว่า ๓๐๐เครื่อง และยังคงมียอดการสั่งซื้อเพิ่มเติมเรื่อยๆแม้ว่าจะมีราคาเฉลี่ยต่อเครื่องในการส่งออกที่ประมาณ $100-120 million







Antonov's technical proposal of Heavy Transport Aircraft(TTS) for AVIC 2004.(www.aviaport.ru/conferences)

ช่วงตั้งแต่หลังปี 2000 เป็นต้นมาจีนได้มีความพยายามพัฒนาศักยภาพด้านอุตสาหกรรมอากาศยานของตนอย่างก้าวกระโดด โดยในส่วนโครงการพัฒนาเครื่องบินลำเลียงนั้นมีข้อมูลส่วนหนึ่งออกมานานแล้วว่าจีนได้รับความช่วยเหลือในการออกแบบพัฒนาจาก Antonov ยูเครน
โดยเอกสารที่เผยแพร่ออกมาล่าสุดนั้นเปิดเผยข้อมูลว่า ในปี 2004 Antonov ยูเครนได้เสนอเอกสารข้อเสนอทางเทคนิคต่อ AVIC คือโครงการ "เครื่องบินลำเลียงหนัก" (TTS: Tyazhelogo Transportnogo Samoleta)
ที่จากข้อมูลตัวอย่างเอกสารข้างต้นก็คือเครื่องบินลำเลียงหนักทางยุทธศาสตร์ Y-20 ที่เพิ่งจะเข้าประจำการอย่างเป็นทางการในกองทัพอากาศปลดปล่อยประชาชนจีนในปี 2016 นี้ตามที่ได้เคยรายงานไปนั่นเอง

China and Ukraine agree to restart An-225 production
Having demonstrated a world-record payload of 253.82 tonnes, the six-engined An-225 is the largest transport aircraft ever to have flown.
The manufacturer has now agreed to restart production in China, according to media reports. Source: Antonov
http://www.janes.com/article/63341/china-and-ukraine-agree-to-restart-an-225-production

An-225 uncompleted fuselage.

ล่าสุดเมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคมที่ผ่านมา AVIC จีนและ Antonov ยูเครนได้ลงนามข้อตกลงร่วมกันในการกลับมาเปิดสายการผลิตเครื่องบินลำเลียงหนักทางยุทธศาสตร์ An-225 Mriya (NATO กำหนดรหัส Cossack) อีกครั้ง
โดยยูเครนจะให้จีนเข้าถึงข้อมูลการออกแบบและ Technology ของเครื่องบินลำเลียง An-225 ยูเครนซึ่งเป็นเครื่องบินลำเลียงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่เคยมีการสร้างและประจำการในปัจจุบัน
Antonov An-225 Mriya ใช้เครื่องยนต์ไอพ่น Turbofan แบบ Progress D-18T จำนวน 6เครื่อง สามารถบรรทุกสัมภาระได้หนักสุด 253.8tons ซึ่งเดิมถูกออกแบบมาสำหรับใช้ขนส่งกระสวยอวกาศ Buran ของอดีตสหภาพโซเวียต
เครื่องบินลำเลียง An-225 ทำการบินครั้งแรกเมื่อ 1988 โดยมีเครื่องที่ถูกสร้างเสร็จสมบูรณ์เข้าประจำการได้เพียงลำเดียวคือเครื่องหมายเลข 01-01 ซึ่งปัจจุบันประจำการในสายการบิน Antonov Airlines รหัสทะเบียน UR-82060
ทั้งนี้ Antonov ยูเครนยังมีชิ้นส่วนโครงสร้างอากาศยานของเครื่องบินลำเลียงหนัก An-225 เครื่องที่สองหมายเลข 01-02 ซึ่งหยุดดำเนินการสร้างต่อในราวกลางปี 2001 เนื่องจากขาดแคลนงบประมาณ
มีรายงานว่ายูเครนน่าจะนำ An-225 เครื่องที่สองที่ยังสร้างไม่เสร็จนี้ปรับปรุงสภาพให้เสร็จสมบูรณ์เพื่อส่งออกให้จีน และให้จีนดำเนินการสร้างเครื่องเพิ่มเติมต่อภายในจีนเอง ซึ่งคาดว่าเครื่องแรกจะส่งมอบได้ภายในราวปี 2019
http://bmpd.livejournal.com/2114029.html
แต่อย่างไรก็ตามทางประธานบริษัท Antonov ก็ได้ยื่นเอกสารชี้แจงต่อถึงประธานคณะกรรมการนโยบายอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการของรัฐบาลยูเครนว่า
ไม่เป็นความจริงที่ว่าบริษัท Antonov จะถ่ายทอด Technology และการเข้าถึงเอกสารการออกแบบใดๆของ An-225 ให้จีน รวมถึงการคัดลอกการผลิตอากาศยานโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วยครับ

จะเห็นได้ว่าแม้ว่าอุตสาหกรรมอากาศยานของจีนจะมีการเติบโตและพัฒนาก้าวหน้าอย่างมากและสามารถนำพาตนเองเข้าสู่ตลาดนานาชาติได้มากขึ้นก็ตาม
ประกอบกับการที่กองทัพอากาศไทยได้มีการจัดหาเครื่องบินลำเลียง บ.ล.๑๘ Sukhoi Superjet 100LR จากรัสเซียที่ติดตั้งระบบภายในหลายส่วนจากตะวันตก นับเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของกองทัพอากาศไทยในการจัดหาเครื่องบินโดยสารจากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่สหรัฐฯหรือยุโรปตะวันตกนั้น
แต่อย่างไรก็ตามในตลาดเครื่องบินลำเลียงทางยุทธวิธีขนาดกลางที่มีสมรรถนะระดับเดียวกับ C-130J ซึ่งน่าจะเป็นคุณสมบัติความต้องการพื้นฐานของกองทัพอากาศไทยสำหรับเครื่องบินลำเลียงใหม่ที่จะทดแทน บ.ล.๘ C-130H นั้นยังมีอีกเป็นจำนวนมากพอสมควร
เช่น Airbus A400M และ Antonov An-70 ยูเครนซึ่งเป็นเครื่องบินลำเลียงใบพัดมีสมรรถนะสูงกว่า C-130J หรือกลุ่มที่ใช้เครื่องยนต์ไอพ่นที่สมรรถนะใกล้เคียงหรือสูงกว่า C-130J อย่าง Embraer KC-390 บราซิล, Kawasaki C-2 ญี่ปุ่น และ Antonov An-178 ยูเครน
รวมถึงการที่อุตสาหกรรมอากาศยานจีนเองยังต้องพึ่งพาความร่วมมือในการช่วยเหลือจากต่างประเทศในการพัฒนาออกแบบอากาศยานของตนเองอยู่พอสมควร แม้ว่าจะพยายามพึ่งตนเองและส่งออกต่างประเทศได้บ้างแล้วก็ตาม
แต่จีนก็ยังมีช่องว่างในระบบอุตสาหกรรมอากาศยานของตนที่ต้องใช้เวลาพัฒนาองค์ความรู้ของตนเพื่อเติมเต็มให้สมบูรณ์อยู่ โดยเฉพาะการพัฒนาระบบเครื่องยนต์สำหรับอากาศยานที่มีความน่าเชื่อถือเพียงพอต่อการสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าระดับส่งออก

หรือแม้จะเป็นรูปแบบการจัดหาจากความสัมพันธ์มิตรประเทศใกล้ชิดระหว่างไทย-จีนเป็นพิเศษก็ตาม
เพราะตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ.๒๕๓๒(1989) ที่จีนส่งเครื่องบินขับไล่ F-7M Airguard(J-7 รุ่นส่งออกซึ่งลอกแบบ MiG-21 รัสเซียแบบผิดลิขสิทธิ์) มาแสดงสาธิตที่สนามบินดอนเมืองและทดสอบที่กองบิน๑ โคราชเพื่อให้ไทยประเมินค่า
ตอนนั้นถึงกับมีข่าวออกมาว่าผู้บัญชาการทหารอากาศขณะนั้นคือ พลอากาศเอก วรนาถ อภิจารี แถลงข่าวเรื่องการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่  F-7M จีนเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๑(1988)ก็ตาม
แต่หลังจากที่ผู้บัญชาการทหารอากาศท่านต่อมาคือ พลอากาศเอก เกษตร โรจนนิล ในปี พ.ศ.๒๕๓๓ กล่าวกับสื่อว่าจะทบทวนเรื่องการจัดหา F-7M โดยมีข้อมูลออกมาว่าจากการประเมินเจ้าหน้าที่ของกองทัพอากาศยังไม่พอใจสมรรถนะและคุณภาพของเครื่องบินจีน
นั่นทำให้การส่งอากาศยานแบบอื่นๆของจีนมาประชาสัมพันธ์ในไทยช่วงหลังอย่างเครื่องบินฝึกไอพ่น K-8 ที่มาไทยเมื่อราว ๑๕ปีก่อนก็ยังไม่ทำให้กองทัพอากาศไทยสนใจที่จะจัดหาได้

ตรงนี้ก็ยังมองได้อยู่ว่ากองทัพอากาศไทยน่าจะยังคงพิจารณาการจัดหาอากาศยานโดยคำนึงถึงประสิทธิภาพและสมรรถนะของเครื่อง และค่าน่าเชื่อถือของบริษัทผู้ผลิตและจำนวนลูกค้าที่เลือกจัดหาไปใช้งานทั่วโลกเป็นหลักอยู่
ฉะนั้นแล้วสำหรับเครื่องบินลำเลียงทางยุทธวิธีจีนจึงอาจจะไม่ใช่ตัวเลือกที่กองทัพอากาศไทยอาจจะมองเป็นอันดับต้นๆครับ