วันอังคารที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2559

ความคืบหน้าโครงการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพไทยในปี ๒๕๕๙-๒


สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทป. วิจัยและพัฒนาจรวดหลายลำกล้องแบบนำวิถี DTI-1G โดยสร้างต้นแบบที่สมบูรณ์ให้ทันต่อความต้องการใช้งานของกองทัพ
และได้ทำพิธีส่งมอบต้นแบบระบบจรวดหลายลำกล้องแบบนำวิถี DTI-1G เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2559
โดย พลเอก อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ สทป. โดยพลอากาศเอก พงศธร บัวทรัพย์ ประธานกรรมการบริหาร ส่งมอบให้ ผู้บัญชาการกองทัพบก พลเอก ธีรชัย นาควานิช
เพื่อมอบให้แก่หน่วยผู้ใช้คือ กองพลทหารปืนใหญ่ นำเข้าประจำการต่อไป


https://www.facebook.com/dtithailand/photos/a.367102006783139.1073741830.364043297089010/541562566003748/
https://www.facebook.com/dtithailand

เป็นเวลาราว ๑๐ปีแล้วครับที่สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (DTI) ได้ถูกจัดตั้งขึ้นและเริ่มโครงการพัฒนาหลักคือโครงการจรวดเพื่อความมั่นคง
ที่ถูกพัฒนามาเป็นเครื่องยิงจรวดหลายลำกล้องแบบนำวิถี DTI-1G และมีพิธีส่งมอบระบบต้นแบบเข้าประจำการใน กองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๗๑๑ กองพลทหารปืนใหญ่ กองทัพบก
ตรงนี้ก็หวังว่าในส่วนโครงการอื่นๆของ DTI ทั้งเครื่องยิงจรวดหลายลำกล้อง DTI-2 122mm, ลูกระเบิดยิงนำวิถี 120mm, จรวดนำวิถีต่อสู้รถถัง และรถเกราะล้อยาง 8x8 Black Widow Spider
จะมีความคืบหน้าและประสบความสำเร็จในการพัฒนาต่อไปในอนาคตครับ

ความคืบหน้าที่ไทยจะจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากรัสเซียนั้นก็ดูจะยังไม่เป็นไปได้ชัดเจนออกมาหลังจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและคณะกลับจากการเยือนรัสเซียและเบลารุสเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาครับ
โดย รมต.กลาโหมแถลงว่ายังไม่มีการพูดคุยกับรัสเซียเรื่องการจัดซื้ออาวุธ มีการดูงานอุตสาหกรรมความมั่นคง การพูดคุยเรื่องการแลกเปลี่ยน Technology ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ อาหาร สินค้าการเกษตร และความมั่นคงในการต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ
ซึ่งไทยสนใจเครื่องบินดับไฟป่า ยานรบทหารช่าง ซึ่งจะให้หน่วยที่เกี่ยวข้องอย่าง หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กรมการทหารช่าง และกองทัพอากาศ ส่งเจ้าหน้าที่ไปดูงานที่รัสเซียต่อไปในอนาคต
ดูในภาพรวมแล้วส่วนตัวเข้าใจว่าอาจจะยังไม่มีการตัดสินใจเรื่องการพิจารณาแบบรถถังหลักใหม่อย่างรถถังหลัก T-90 รัสเซีย หรือรถถังหลัก VT4(MBT-3000) จีนที่เป็นประเด็นกันก่อนหน้านี้ในช่วงเร็วๆนี้ครับ

3D Artist second Krabi class Offshore Patrol Vessel Royal Thai Navy

วันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พลเรือโท จุมพล มพิกานนท์ รองเสนาธิการทหารเรือและโฆษกกองทัพเรือได้มีการแถลงข่าวเปิดตัวโครงการเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชุด ร.ล.กระบี่ ลำที่๒
ซึ่งแบบเรือยังคงเป็นแบบของบริษัท BAE Systems Ships สหราชอาณาจักร ซึ่งบริษัทอู่กรุงเทพฯได้ซื้อสิทธิบัตรมาทำการก่อสร้างเรือในประเทศไทยที่ อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ เช่นเดียวกับ ร.ล.กระบี่ที่เข้าประจำการในปี พ.ศ.๒๕๕๖(2013)
รายละเอียดเพิ่มเติมที่มีการแถลงคือโครงการเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชุด ร.ล.กระบี่ ลำที่๒ นี้จะใช้งบประมาณผูกพันปี พ.ศ.๒๕๕๙-๒๕๖๑ วงเงินรวม ๕,๔๘๒,๙๓๐,๐๐๐บาท เพิ่มขึ้นจาก ร.ล.กระบี่ลำแรกที่ใช้ งป.๒๕๕๑-๒๕๕๔ ที่วงเงิน ๒,๙๓๑,๒๘๕,๘๘๔บาท
โดยแบ่งเป็นงบประมาณในส่วนการซื้อแบบเรือ วัสดุก่อสร้าง เครื่องมือเครื่องจักร การฝึกอบรม เอกสารคู่มือ การถ่ายทอด Technology วงเงิน ๒,๘๓๒,๙๓๐,๐๐๐บาท
และงบประมาณการจัดหาระบบอำนวยการรบ อาวุธ และการบริหารโครงการ แบ่งเป็น

ระบบควบคุมบังคับบัญชาการและตรวจการณ์ ๑,๔๐๐ล้านบาท (ประกอบด้วยเช่น ระบบอำนวยการรบ TACTICOS, Radar ตรวจการพื้นน้ำ SCOUT, Radar ควบคุมการยิงและกล้อง Electro-Optic STIR 1.2 EO Mk2 ซึ่งเป็นของบริษัท Thales)
ระบบอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่พื้น คืออาวุธปล่อยนำวิถีต่อต้านเรือผิวน้ำ RGM-84 Harpoon ๘นัด ๓๖๐ล้านบาท
ระบบปืนหลัก ปืนใหญ่เรือ OTO Melara 76/62 ๑กระบอก ๓๗๐ล้านบาท
ปืนรอง ปืนใหญ่กล MSI DS30MR 30mm ๒กระบอก ๑๕๐ล้านบาท
และการบริหารโครงการ การฝึกอบรม และอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ๓๗๐ล้านบาท โดยกองทัพเรือได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการ ซึ่งมี พลเรือเอก พลเดช เจริญพูล เป็นประธาน

สำหรับเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชุด ร.ล.กระบี่ ลำที่๒ ที่ยังไม่ได้ขอพระราชทานนามชื่อเรือนั้นน่าจะเป็นเรือ ตกก.แบบแรกของกองทัพเรือไทยที่ติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อต้านเรือผิวน้ำจริงครับ
(นอกจากเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชุด ร.ล.ปัตตานี ที่ออกแบบให้ติด Harpoon ได้เช่นกันแต่ยังไม่มีการปรับปรุงติดในขณะนี้ ซึ่งทาง Thales ก็เสนอการปรับปรุงเรือให้กองทัพเรือไทยตามที่เคยรายงานไป)
อาจจยกเว้นว่าเรือลำใหม่ยังไม่มีโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ในลำตัวเรือเช่นเดียกับ ร.ล.กระบี่ แต่ก็มีการขยายขนาดลานจอดเฮลิคอปเตอร์ท้ายเรือรองรับการลงจอดของ ฮ.ขนาด 10tons อย่าง ฮ.ปด.๑ SH-60B Seahawk จากเดิมที่รองรับ ฮ.ขนาด 7tons อย่าง ฮ.ตผ.๑ Super Lynx 300
ในประเด็นที่อาจจะมีการตั้งข้อสังเกตว่างบประมาณในการต่อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำที่๒นั้นสูงขึ้นจากเรือลำแรก ส่วนตัวเข้าใจว่าน่าจะมาจากค่าใช้จ่ายในการจัดหาวัสดุที่ราคาเพิ่มสูงขึ้นตามกลไกตลาด
รวมถึงการจัดหาเครื่องมือเครื่องจักรปรับปรุงการต่อในอู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดชที่เป็นผลจากประสบการณ์ในการต่อ ร.ล.กระบี่ ลำแรกมาแล้ว
นอกจากนี้ทางโฆษกกองทัพเรือยังได้แถลงด้วยว่าการฝึกกองทัพเรือประจำปี ๒๕๕๙ นั้นจะเริ่มขึ้นในวันที่ ๑ มีนาคม-๒๐ มิถุนายนนี้ครับ



https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10208636718333507&set=a.1536942381618.78377.1176621495
https://www.facebook.com/rach2511
ที่มา รัชต์ รัตนวิจารณ์

ในส่วนกองทัพเรือไทย มีการเผยแพร่ภาพ Airbus Helicopters H145M หรือเดิมคือ Eurocopter EC645 T2 ซึ่งกองทัพเรือไทยสั่งจัดหาจำนวน ๕เครื่อง โดยตั้งงบประมาณโครงการจัดหาไว้ที่วงเงิน ๒,๕๐๐ล้านบาท
แม้ว่ายังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดออกมา แต่ดูจากสีพรางแล้วเหมือน ฮ.ลล.๒ Bell 212 น่าเชื่อว่าเฮลิคอปเตอร์ H145M จะเป็นรุ่นใช้งานทางทหารเพื่อทดแทน Bell 212 ที่มีอายุใช้งานมานานหลายสิบปี
ในภารกิจสนุนกำลังภาคพื้นของกองทัพเรือ เช่น นาวิกโยธิน และ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ นสร.
และอาจจะรวมถึงเฮลิคอปเตอร์แบบอื่นที่มีอายุการใช้งานมานานและเริ่มทยอยปลดประจำการลงไปบ้าง และมีแผนจะปลดประจำการในอนาคต เช่น ฮ.ลล.๓ Bell-214ST, ฮ.ลล.๔ S-76B
และถ้าติดอาวุธได้ก็จะทดแทน Bell 212 Gunship ที่ติดปืนกลหนัก .50cal ข้างประตู, กระเปาะจรวด 2.75" และกระเปาะปืนใหญ่อากาศ 20mm ที่คานอาวุธ  รวมถึง บ.ตช.๑ T-337 ในภารกิจชี้เป้าและโจมตีภาคพื้นดินสนับสนุนทางอากาศครับ

http://www.supplyonline.navy.mi.th/pdf2/17585.pdf
โครงการจัดซื้อลูกเป้าลวงตอร์ปิโด แบบ Anti Torpedo Decoy ของบริษัท DCNS ฝรั่งเศส โดยกรมสรรพาวุธทหารเรือ จำนวน ๒๔ลูก วงเงิน ๑๕๘,๓๖๐,๐๐๐บาท
ยังไม่ทราบข้อมูลครับว่าเป็นระบบใดและนำมาติดตั้งกับเรือชุดใดของกองทัพเรือไทย


แต่สำหรับผลิตภัณฑ์ Anti Torpedo Decoy ของ DCNS ก็มี CONTRALTO-V ซึ่งพัฒนารวมกับ Terma เดนมาร์กซึ่งใช้งานร่วมกับแท่นยิงเป้าลวง Soft Kill Weapon System(SKWS) ขนาด 130mm ที่ติดตั้งบนเรือฟริเกตชุด ร.ล.นเรศวร ได้ ก็ไม่ทราบว่าจะใช่ระบบนี้หรือไม่ครับ


ในส่วนกองทัพอากาศไทย ข่าวสำคัญในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาคือการที่ ผู้บัญชาการทหารอากาศ พลอากาศเอก ตรีทศ สนแจ้ง มีแนวคิดที่จะเปิดรับสุภาพสตรีเข้าเป็นนักบินของกองทัพอากาศ
โดย ผบ.ทอ.กล่าวให้สัมภาษณ์ว่า กองทัพอากาศมีปัญหานักบินเครื่องบินลำเลียงไม่เพียงพอ เนื่องจากอุตสาหกรรมการบินปัจจุบันนี้ขยายตัวมากขึ้น จึงสูญเสียนักบินลำเลียงให้กับภาคอุตสาหกรรมการบินพลเรือนไปราวร้อยละ๑๐
คือปีหนึ่งกองทัพอากาศผลิตนักบินได้ ๕๐-๖๐นาย จะลาออกไปเป็นนักบินพาณิชย์ ๕-๖นายต่อปี เพราะรายได้เฉลี่ยสูงกว่าเงินเดือนรวมบวกค่าฝ่าอันตรายและค่าผู้บังคับอากาศยานของกองทัพอากาศ
ดังนั้นถ้ามีนักบินหญิงเข้ามาช่วยกองทัพอากาศก็จะดี เพราะผู้หญิงมีความสามารถเท่าเทียมกับผู้ชาย ต่างประเทศก็มีนักบินหญิงในกองทัพมานานหลายสิบปีแล้ว

คุณสมบัติเบื้องต้นที่จะรับคือ สถานะโสด ส่วนสูงไม่น้อยกว่า160cm จบปริญญาตรี สาขาวิทยาศาสตร์ ค่าตคะแนนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า ๒.๘ ความรู้ภาษาอังกฤษ TOEIC ไม่น้อยกว่า ๕๓๐คะแนน
สำหรับผู้สมัครพลเรือนภายนอกถ้าใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ตรีจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ หรือเป็นผู้สมัครจากนายทหารสัญญาบัตรหญิงของกองทัพอากาศ
อย่างไรก็ตามนักบินหญิงที่มีแผนจะรับนั้นจะบรรจุให้เป็นนักบินประจำอากาศยานลำเลียง เช่น เครื่องบินลำเลียง และเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งจะต้องผ่านการฝึกที่กองบิน๖ และกองบิน๒ ก่อน
โดยจะยังไม่มีนักบินหญิงที่ทำการบินกับอากาศยานรบ เช่น เครื่องบินขับไล่ และเครื่องบินโจมตี ซึ่งยังเป็นงานของนักบินชายที่จบจากโรงเรียนนายเรืออากาศเท่านั้นอยู่ครับ
ทั้งนี้จะต้องให้ทางกระทรวงกลาโหมอนุมัติแผนดังกล่าวภายในปีนี้ก่อน เพื่อทำโครงการนำร่องขึ้นมาใช้เวลาอีก ๒-๓ปี คาดว่าจะเป็นรูปเป็นรูปเป็นร่างและเปิดรับสมัครได้ภายในปีนี้

เมื่อราว ๓๐ปีก่อนในกองทัพอากาศชาติตะวันตก เช่น สหรัฐฯ และยุโรปตะวันตก ก็เริ่มมีการอนุญาตให้มีนักบินหญิงทำการบินกับกองทัพได้
โดยส่วนใหญ่จะถูกจำกัดให้ทำการบินเฉพาะอากาศยานที่ไม่ได้เป็นเครื่องสำหรับทำการรบโดยตรงคือ เครื่องบินลำเลียง และเฮลิคอปเตอร์ลำเลียง เช่นกัน
จนผ่านมาจนถึงปัจจุบันก็เห็นเป็นตัวอย่างแล้วครับว่าในกองทัพประเทศตะวันตกมีนักบินขับไล่หญิง จนถึงนายพลหญิงคุมหน่วยใช้กำลังรบหรือหน่วยสนับสนุนการรบเป็นจำนวนมากแล้ว
แต่ในกรณีนี้สำหรับกองทัพอากาศไทยเรายังต้องใช้เวลาในการตอบคำถามอีกหลายประเด็น เช่น ภาวะสมองไหลของนักบินกองทัพอากาศในระยะยาว ความเท่าเทียมและความก้าวหน้าในอาชีพราชการของนักบินหญิงในระยะยาว นี่จึงเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้นครับ

Saab's Next-Gen Gripen Fighter Jets Ready in May
The Royal Thai Air Force is under discussions to purchase another 12 Gripen C/D variants.(Photo: Stefan Kalm/Saab AB)
http://www.defensenews.com/story/defense/show-daily/singapore-air-show/2016/02/18/saabs-next-gen-gripen-fighter-jets-ready-may/80573874/

ในงานแสดงการบิน Singapore Airshow 2016 ระหว่างวันที่ ๑๖-๒๑ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในส่วนของบริษัท SAAB ที่เสนอผลิตภัณฑ์ต่างๆของตนในงานนั้น
ทางนาย Richard Smith หัวหน้าฝ่ายขาย SAAB กล่าวว่า SAAB จะยังพัฒนาและผลิตเครื่องบินขับไล่ Gripen C/D และ Gripen E/F ทั้งสองรุ่นต่อไป โดยมีลูกค้าที่ทำสัญญาจัดหาแล้วและให้ความสนใจจากหลายประเทศมากขึ้น
ที่เกี่ยวข้องกับไทยคือ SAAB กล่าวว่ากองทัพอากาศไทยต้องการจัดหาเครื่องบินขับไล่ Gripen C/D ชุดที่๓อีก ๖เครื่อง เพิ่มเติมจากจำนวน ๑๒เครื่องที่มีอยู่ใน ฝูงบิน๗๐๑ กองบิน๗ ที่สั่งจัดหามาสองระยะชุดละ๖เครื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๔
โดยกองทัพอากาศไทยต้องการ Gripen เต็มสองฝูง ๓๖เครื่อง ฝูงละ ๑๘เครื่องตามจำนวนมาตรฐานฝูงบินขับไล่

แผนการที่จะจัดหา Gripen C/D ชุดที่๓ อีก ๖เครื่องมีข้อมูลเปิดเผยมาระยะหนึ่งแล้วเพื่อเพิ่มขีดความสามารถอัตรากำลังรบของ ฝูงบิน๗๐๑ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
แต่ในส่วนการจัดหาเครื่องบินขับไล่ Gripen อีกฝูง ๑๘เครื่องนั้นเข้าใจว่าคงจะเป็นแผนในระยะยาวสำหรับทดแทนในส่วนของ F-5E/F ฝูงบิน๒๑๑ กองบิน๒๑ หรือ F-16A/B ADF ฝูงบิน๑๐๒ กองบิน๑ ที่จะต้องปลดประจำการในอีก ๑๐-๑๕ปีข้างหน้า
แต่ทั้งนี้ก็น่าจะขึ้นกับงบประมาณที่กองทัพอากาศจะได้รับในอนาคตครับว่าจะดำเนินการตามแนวทางนี้ได้หรือไม่ครับ