วันเสาร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2560

ความคืบหน้าโครงการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพไทยในปี ๒๕๖๐-๓

NORINCO VN1 8x8 model at Defense & Security 2015(My Own Photo)

ในส่วนของกองทัพบกไทยนั้นมีกระแสข่าวออกมาในช่วงเดือนมีนาคมถึงการพิจารณาโครงการจัดหายานเกราะล้อยางแบบใหม่ว่าได้มีการเลือกแบบรถคือ NORINCO VN1 จากสาธารณรัฐประชาชนจีนแล้ว
ตามข้อมูลเบื้องต้นจะมีการจัดหารถหุ้มเกราะล้อยาง VN1 ชุดแรกจำนวน ๓๔คัน รวมรถกู้ซ่อม ๒คัน ระบบอาวุธเป็นป้อมปืน 30mm พร้อมปืนกลร่วมแกน 7.62mm ไม่มีอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้รถถัง
ราคาเฉลี่ยต่อคันคราวๆที่คันละ $1.7 million(๕๙,๓๒๕,๐๐๐บาท) พร้อมกระสุน 30x165mm อีก ๑๒,๕๐๖นัด ราคานัดละ $155(๕,๔๒๕บาท) น่าจะได้รับมอบรถชุดแรกในปี พ.ศ.๒๕๖๒(2019)
(ราคาแพงกว่า BTR-3E1 ที่ราคาคันละ $948,000 เพราะว่า Technology ของ VN1 มีความทันสมัยกว่า BTR-3 ที่มีพื้นฐานจากรถเกราะยุคสงครามเย็น BTR-80 ซึ่ง VN1 นั้นมีการออกแบบรถในรูปแบบเดียวกับรถเกราะล้อยางตะวันตกยุคปัจจุบันคือมีประตูให้กำลังพลขึ้นลงท้ายรถ)
การจัดซื้อรถเกราะล้อยางเป็นชุดแรกเพียง ๓๔คันสำหรับ ๑กองพันนี้ก็เหมือนกับการจัดหารถถังหลัก VT4 ครับคือเป็นเหตุผลข้อจำกัดด้านงบประมาณ ที่ต้องจัดหาเป็นชุดๆจำนวนไม่มากผูกพันต่อเนื่องไปในแต่ละปีงบประมาณ
(แต่ก็นับว่าถูกกว่ายานล้อยางของตะวันตกอย่างเช่น Patria AMV ฟินแลนด์ กับ LAV III แคนาดาที่ราคาเฉลี่ยคันละมากกว่า $2-3 million ขึ้นไป หรือ Stryker กองทัพบกสหรัฐฯที่แพงถึงคันละ $5 million มาก)

Ukranian BTR-3E1 delivered to 10th Cavalry Battalion Royal Thai Army
เมื่อ 26 ส.ค.59, 1400 พ.ท.จิตรพล รุจานันท์ ผบ.ม.พัน10 นำกำลังพลตรวจรับ รถยานเกราะล้อยาง BTR-3E1 จำนวน 9 คัน และ ติดตั้งอาวุธประจำยานพาหนะร่วมกับพนักงานบริษัทดาต้าเกท และ มว.ซบร.สน.2 บริเวณโรงรถ ร้อย.นขต.ม.พัน.10
https://www.facebook.com/media/set/?set=a.1000529600069261.1073743836.100003366913576

ยังไม่ชัดเจนว่ารถเกราะ VN1 นี้จะลงในส่วนของเหล่าทหารราบที่ยังขาดยานเกราะล้อยางในอัตรา หรือจะลงในส่วนเหล่าทหารม้าที่มีความต้องการยานเกราะล้อยางลำเลียงพลทดแทนในส่วนกองพันทหารม้าบรรทุกยานเกราะอยู่
แต่ที่ผ่านมาจะเห็นว่าคณะกรรมการพิจารณาการจัดหายานเกราะล้อยางแบบใหม่นี้อยู่ในส่วนของ ศูนย์การทหารราบ ทำให้เข้าใจว่าน่าจะเป็นการจัดหาในส่วนเหล่าทหารราบ
แต่ก็มีรายงานอีกส่วนว่าเป็นของเหล่าทหารม้าในส่วนกองพันทหารม้าลาดตระเวนทดแทนรถหุ้มเกราะล้อยาง V-150 4x4 ที่ส่วนใหญ่ประจำการในหน่วยขึ้นตรงของ กองพลทหารม้าที่๑
เช่น กรมทหารม้าที่๒ พล.ม.๑ ซึ่งตามที่ได้เคยรายงานไปก่อนหน้านี้ว่า กองพันทหารม้าที่๑๐ ม.๒ พล.ม.๑ นั้นได้รับมอบยานเกราะล้อยาง BTR-3E1 เข้าประจำการในหน่วยเพื่อทดแทน V-150 ไปแล้ว
ยังเหลือ กองพันทหารม้าที่๗ และ กองพันทหารม้าที่๑๒ ม.๒ พล.ม.๑ ที่อัตราจัดอาวุธยุทโธปกรณ์เดิมคือยานเกราะล้อยาง V-150 อยู่

VN1 8x8 Bolivarian Marine Infantry(Venezuelan Marine Corps) Bolivarian Navy of Venezuela(Navy of Venezuela)

ทั้งนี้ถ้ามีการยืนยันอย่างเป็นทางการ กองทัพบกไทยจะเป็นลูกค้ารายล่าสุดที่จัดหารถหุ้มเกราะล้อยาง VN1 จีนเข้าประจำการต่อจาก นาวิกโยธินกองทัพเรือเวเนซุเอลาที่จัดหาไปราว ๖๐คัน และกองทัพบกอาเจนตินา ๑๑๐คัน
ซึ่งระบบอาวุธของรถเกราะล้อยาง VN1 ของกองทัพบกไทยน่าจะแตกต่างจากรถเกราะ VN1 ของนาวิกโยธินเวเนซุเอลาพอสมควรตรงที่ไม่ติดอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้รถถัง HJ-73D นำวิถีด้วยเส้นลวดแบบ SACLOS ระยะยิง 3,000m และของอาเจนติน่าที่ติดเพียงป้อมปืนกลหนัก 12.7mm ครับ
(รถของไทยน่าจะใกล้เคียงกับแแบบจำลองในข้างต้นที่ติดป้อมปืน Remote Weapon Station สำหรับปืนใหญ่กล 30mm และปืนกลร่มแกน 7.62mm อย่าง UW4A ของ Norinco เพื่อเพิ่มพื้นที่ภายในตัวรถรองรับกำลังพลได้ครบมาตรฐาน ๑หมู่ทหารราบ ๑๑นายของกองทัพบกไทย)

BTR-3E1 1st Infantry Battalion Royal Guard, 2nd Infantry Regiment Royal Guard, 2nd Infantry Division Royal Guard, Royal Thai Army

Ukranian BTR-4E 8x8 Indonesian Marine(https://www.facebook.com/ukroboronprom)

สำหรับยานเกราะล้อยาง BTR-3E1 ของกองทัพบกไทยนั้นก็ตามที่รายงานไปว่าการเจรจาหารือระหว่างไทยกับยูเครนในการจัดตั้งโรงงานผลิตรถหุ้มเกราะล้อยาง BTR-3E1 ในไทยเริ่มมีความคืบหน้ามากขึ้น
รวมถึงการที่ยูเครนเสนอยานเกราะล้อยาง BTR-4 ให้กองทัพบกไทยในโครงการจัดหายานเกราะล้อยางแบบใหม่ด้วย โดยมีความสำเร็จกับพม่าที่ซื้อสิทธิบัตรการผลิต BTR-4 ในประเทศเช่นเดียวกับ BTR-3U 92คันมาก่อน
แต่ทั้งนี้ข่าวที่ออกมานั้นมาจากทางยูเครนฝั่งเดียว รวมถึงที่นาวิกโยธินอินโดนีเซียซึ่งเพิ่งจะทดสอบ BTR-4M ทั้งรุ่นรถรบทหารราบ IFV และรุ่นลำเลียง APC ที่มีผลไม่น่าพอใจ เมื่อรวมกับความล่าช้าในส่งมอบ BTR-3E1 และ Oplot ด้วยแล้ว
เมื่อรวมกับการจัดหายานเกราะล้อยาง VN1 จีนล่าสุดก็ไม่ทราบว่านอกจากการซ่อมบำรุงแล้วการผลิตประกอบยานเกราะล้อยาง BTR-3E1 ยูเครนในไทยจะเป็นไปได้ที่จะดำเนินการจริงมากพอหรือไม่ครับ

Carvalry Center Royal Thai Army demonstraed Fire Power include Upgraded M60A3 Main Battle Tank by Elbit Systems(https://www.youtube.com/watch?v=XBCNlvaU51M)

VT4 picture show with poem at 6th Carvaly Battalion, 6th Carvaly Regiment Royal, 3rd Cavalry Division, Royal Thai Army

สำหรับความคืบหน้าโครงการปรับปรุงรถถังหลัก M60A3 โดยบริษัท Elbit Systems อิสราเอลชุดแรกจำนวน ๕คันของ กองพันทหารม้าที่๑๗ รักษาพระองค์ กองพลทหารม้าที่๒ รักษาพระองค์ และกำลังดำเนินการปรับปรุงอีก ๕คันของ กองพันทหารม้าที่๕ รักษาพระองค์(น่าจะเสร็จแล้ว)
มีข้อมูลเพิ่มเติมว่าจะมีการดำเนินการปรับปรุงรถถังหลัก M60A3 เพิ่มเติมอีก ๑๖คัน ทั้งรถที่ประจำการใน ม.พัน.๑๗ รอ. และ ม.พัน.๕ รอ. รวมจะมี ถ.หลัก M60A3 ที่ได้รับการปรับปรุง ๒๖คัน
ตามข้อมูลที่มีตอนนี้คาดว่ารถถังหลัก VT4 ชุดแรกที่กองทัพบกไทยสั่งจัดหาอาจจะส่งมอบได้ในเดือนกันยายน-ตุลาคมจนถึงภายในปลายปีนี้โดยจะมีการส่งกำลังพลของกองทัพบกไปฝึกที่จีนในช่วยเดือนเมษายนนี้แล้ว 
ซึ่งก็ไม่ทราบว่ารถถังหลัก Oplot ยูเครนจะส่งมอบรถที่เหลืออีก ๒๙คันตามที่สัญญาว่าไม่เกินปีนี้ได้หรือไม่ครับ(ป้ายภาพรถถังหลัก VT4 พร้อมบทกลอนทหารม้าที่ กองพันทหารม้าที่๖ กรมทหารม้าที่๖ กองพลทหารม้าที่๓)

IWI ACE-N 22 Carbine 5.56x45mm NATO STANAG 30 round Magazine(wikipedia.org)

มีข่าวเกี่ยวกับการจัดหาอาวุธประจำกายของกองทัพบกไทยมาเล็กน้อยครับว่า มีการคัดเลือกแบบและทดสอบปืนเล็กยาวประจำการแบบใหม่ที่จะมาทดแทนปืนเล็กยาวเก่าที่มีอายุการใช้งานมานานและเสื่อมสภาพไม่เหมาะสมที่จะซ่อมบำรุงให้ใช้งานต่อ เช่น ปืนเล็กยาว M16A1 และ ปลย.๑๑ HK33
ที่ได้ข้อมูลว่าเบื้องต้นเหมือนว่าปืนเล็กยาวที่กองทัพบกเลือกอาจจะเป็นปืนเล็กยาว IWI ACE 23 ขนาด 5.56x45mm ของ Israel Weapon Industries อิสราเอล(ACE-N 23 ซองกระสุน NATO STANAG)
(ตัวแทนจัดจำหน่ายเดียวกับ ปลย.๕๐ IWI TAVOR ที่จัดหาไปเมื่อ ๑๐ปีที่แล้วเข้าประจำการในหน่วยกำลังรบหลักหลายหน่วยของกองทัพบก เช่น กองพลที่๑ รักษาพระองค์ฯ และ กองพลทหารราบที่๒ รักษาพระองค์ฯ
โดยสำหรับปืนเล็กยาว Tavor ก็มีรายงานสรุปปัญหาของปืนที่สำคัญ ลูกยางรองขอรั้งปลอกกระสุนเสื่อมสภาพและแตกง่าย กล้องช่วยเล็ง Mepro 21 ถอดประกอบเองโดยผู้ใช้ลำบากและเป็นฝ้าง่ายในสภาพอากาศร้อนชื้น ฯลฯ เป็นต้น)
ปืนเล็กยาวตระกูล ACE อิสราเอลนั้นในภูมิภาค ASEAN นี้มีกองทัพประชาชนเวียดนามจัดหาปืนเล็กสั้น ACE 31 และปืนเล็กยาว ACE 32 ขนาด 7.62x39mm ประจำการพร้อมสิทธิบัตรการผลิตในประเทศ
ซึ่ง ปลย.ACE นั้นมีพื้นฐานระบบกลไกการทำงานแบบเดียวกับปืนเล็กยาวตระกูล AK รัสเซียซึ่งมีความน่าเชื่อถือสูง โดย ปลย.ACE มีสมดุลน้ำหนักปืนและความแม่นยำที่ดี ตรงนี้ก็คงต้องรอให้มีข้อมูลและภาพยืนยันการจัดหาจริงๆออกมาก่อนถ้าข้อมูลนี้เป็นความจริงครับ

AH-1F and AH-1F EDA Royal Thai Army(https://www.facebook.com/ball.kittidej)

อีกเรื่องหนึ่งที่มีกระแสกลับมาอีกครั้งในช่วงนี้คือโครงการจัดหาเฮลิคอปเตอร์โจมตีใหม่ของกองทัพบกไทยเพื่อทดแทน ฮ.จ.๑ AH-1F ที่มีประจำการในกองพันบินที่๓ ศูนย์การบินทหารบก ทั้งหมด ๗เครื่อง
ประกอบด้วย AH-1F ที่จัดหาในปี พ.ศ.๒๕๓๔ ๓เครื่องจากเดิม ๔เครื่อง(ตกที่ภาคเหนือ ๑เครื่องเมื่อ๑๐กว่าปีก่อน) และเครื่อง AH-1F EDA ที่ซ่อมคืนสภาพใหม่ในปี พ.ศ.๒๕๕๔(2011) ๔เครื่อง
ซึ่ง ฮ.จ.๑ AH-1F นั้นก็เช่นเดียวกับ ฮ.ท.๑ UH-1H ที่มีอายุการใช้งานนานและไม่มีสายการผลิตอะไหล่อีกแล้ว จำเป็นที่ต้องปลดประจำการในอนาคตอันใกล้

โดยศูนย์การบินทหารบกมีความต้องการเฮลิคอปเตอร์โจมตีใหม่ ๑กองร้อยบิน จำนวน ๘เครื่อง แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลออกมาว่าจะเลือก ฮ.โจมตีแบบใดในตอนนี้
เครื่องที่มีข่าว่าสนใจก็เช่น Boeing AH-64E Apache กับ Bell AH-1Z สหรัฐฯ, Airbus Helicopters Tiger ฝรั่งเศส-เยอรมนี, Leonardo A129 Mangusta อิตาลี/Turkish Aerospace Industries T129 ATAK ตุรกี, Mil Mi-28NM รัสเซีย อาจจะรวมถึง Z-10 จีนด้วย
แต่อย่างก็ตามต้องการจัดหาเฮลิคอปเตอร์โจมตีใหม่ทดแทน AH-1F นั้นยังมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ ซึ่งกองทัพบกมีความจำเป็นต้องจัดหาเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไปเป็นต้องการเร่งด่วนที่สำคัญมากกว่า เช่นการจัดหา ฮ.ท.๑๔๙ AW149 และ ฮ.ท.๑๗ Mi-17V5 ชุดใหม่เพิ่มเติมเป็นต้นครับ



HMV-150 Infantry Fighting Vehicle and Armoured Personal Carrier by Panus Assembly Co.,Ltd Thailand for upgrade Royal Thai Navy V-150 4x4 

HMV-150 อีกรุ่นหนึ่งของโฉมใหม่ V-150 ทร.ไทย!...
กองทัพเรือไทยได้มอบรถหุ้มเกราะล้อยาง V-150 ให้ Panus Assembly ซึ่งเป็นบริษัทภายในประเทศ ทำการปรับปรุงใหม่ให้ทันสมัยเรียกว่า HMV-150 ให้สามารถติดอาวุธได้หลายแบบ ตัวรถมีเกราะที่หนาขึ้น พร้อมทั้งมีสมรรถนะที่สูงขึ้นด้วย 
ได้มีการออกแบบโครงสร้างใหม่ให้มีความแข็งแรงและสะดวกสบายในพื้นที่ใช้งานภายในตัวรถ HMV-150 มีน้ำหนัก 16 ตัน ตัวรถมีความยาว 6.5 เมตร ความกว้าง 2.5 เมตร
โครงสร้างเป็นแบบ 2 ชั้นตรงกลางฉีดโฟม เกราะด้านข้างและด้านบนหลังคาหนา 12 มม. ส่วนใต้ท้องหนา 16 มม. ทำให้ป้องกันการยิงจากรอบข้างและป้องกันแรงระเบิดได้ดี 
รุ่นลำเลียงพลติดตั้งป้อมสำหรับติดอาวุธที่มีเกราะกำบังรอบตัว ส่วนรุ่นรถรบติดตั้งป้อมติดอาวุธอัตโนมัติ ควบคุมการยิงจากภายในรถ 
เปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่เป็นรุ่น Cummins isle +350 8.9 litres Euro 3 ให้กำลัง 350 แรงม้า ทำให้รถมีความเร็วสูงสุดถึง 110 กม./ชม. ระบบเกียร์แบบอัตโนมัติ Alison 4500 sp 6 speed ระบบการหันเลี้ยวเป็นแบบ 4 ล้อ ทำให้ทำมีวงเลี้ยวได้แคบสุด 3.5 เมตร 
จากการปรับปรุงรถ Commando V-150 ใหม่เป็นรุ่น HMV-150 ในครั้งนี้ จะทำให้กองทัพสามารถใช้งานรถรุ่นนี้ไปได้อีกนานหลายสิบปี โดยมีประสิทธิภาพและขีดความสามารถเทียบเท่ารถหุ้มเกราะล้อยางที่ทันสมัยในปัจจุบัน อีกทั้งยังประหยัดงบประมาณในการจัดหารถใหม่ 
ที่สำคัญคือเราสามารถดำเนินการสร้างได้เองในประเทศ ทำให้การส่งกำลังบำรุงรักษาซ่อมทำมีความสะดวกและรวดเร็ว อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตและโรงงานภายในประเทศอีกด้วย
https://www.facebook.com/sompong.nondhasa/posts/903994509703661

แผนการปรับปรุง V-150 เป็น HMV-150 ของกองทัพเรือไทยโดยบริษัทพนัส แอสเซมบลีย์(Panus Assembly Co.,Ltd) ซึ่งเคยมีการพัฒนาสร้างรถหุ้มเกราะล้อยาง PHANTOM 380-X ส่งมอบให้ นาวิกโยธิน กองทัพเรือไทย ทดสอบและนำไปใช้งานที่ภาคใต้จำนวนหนึ่งมาแล้วนั้น
แสดงให้เห็นว่ากองพันรถถัง กองพลนาวิกโยธิน นั้นมีแผนที่จะใช้งานรถเกราะล้อยาง V-150 ต่อไป โดยทำการปรับปรุงเป็น HMV-150 ซึ่งมีสมรรถนะการขับเคลื่อน เกราะป้องกัน และระบบอาวุธที่ดีขึ้นทั้งรุ่นรถรบทหารราบและรุ่นลำเลียงพล
(อัตรากำลังพลประจำรถของ V-150 สมัยที่ยังอยู่ กองพันลาดตระเวน กองพลนาวิกโยธินคือ ๓+๗นาย รถเกราะ V-150 ๒คันจะบรรทุกทหารนาวิกโยธินได้ครบ ๑หมู่ปืนเล็ก ๑๓นาย ๓พวกยิงพวกยิงละ๔นาย+๑ผบ.หมู่ ปัจจุบันมีแผนปรับกำลังหมู่ปืนเล็กเหลือ ๒พวกยิงเป็น ๙นาย
รถรุ่น IFV ป้อมปืนจัดหาจากต่างประเทศเลือกปืนใหญ่กลได้ตั้งแต่ขนาด 20mm-30mm รุ่นลำเลียงพลติดปืนกลหนัก .50cal และมีแนวทางติดป้อมปืนใหญ่รถถัง 105mm ให้เลือก)
ถ้าการพัฒนาปรับปรุงและทดสอบรถต้นแบบประสบความสำเร็จด้วยดี HMV-150 ใหม่นี้ก็จะประจำการกับ พัน.ถ.นย.ต่อไป ซึ่งเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมความมั่นคงของไทยอีกระดับ
ซึ่งกองทัพเรือไทยเองก็มีโครงการพัฒนารถหุ้มเกราะล้อยางสะเทินน้ำสะเทินบกสำหรับหน่วยนาวิกโยธิน นย.ที่พัฒนาจาก Black Widow Spider 8x8 ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ สปท.(DTI: Defence Technology Institute) ตามที่ได้เคยรายงานไปครับ

Conventional Submarine model of China Shipbuilding Industry Corporation(CSIC) and China Shipbuilding & offshore International(CSOC) at Ship Tech.III 2016 (My Own Photo)

กรณีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจะเข้ามาตรวจสอบโครงการจัดหาเรือดำน้ำเนื่องจากมีข้อสงสัยในเรื่องความโปร่งใสในการแข่งขันและข้อเสนอจากจีนที่อาจจะเป็นข้อกำหนดที่ทำให้ทางไทยเสียเปรียบมากกว่าที่จะได้ประโยชน์
ซึ่ง สตง.ต้องการขอให้ทางกองทัพเรือส่งเอกสารและชี้แจงรายละเอียด ทั้งนี้ถ้าโครงการเรือดำน้ำ S26T จากจีนจะไม่ผ่านไม่ว่าด้วยเหตุผลหรือในรูปแบบใดก็ตาม ก็ไม่ใช่ว่ากองทัพเรือจะเลือกจัดหาเรือดำน้ำจากประเทศอื่นมาแทนได้
ยิ่งการจะให้มีการตรวจสอบโครงการจากหน่วยงานอื่นอย่าง สตง.ด้วยแล้ว ยิ่งเป็นตอกย้ำเหตุผลของฝ่ายที่ต่อต้านเรือดำน้ำที่ไม่ต้องการให้กองทัพเรือมีเรือดำน้ำประจำการแม้แต่ลำเดียวให้มีแนวร่วมมากขึ้นด้วย แต่ล่าสุดก็เห็นว่า สตง.ได้ผ่านการตรวจสอบโครงการแล้วครับ

ส่วนตัวไม่เชื่อครับว่ากองทัพเรือจะประสบความสำเร็จในการจัดหาเรือดำน้ำครั้งล่าสุดนี้ได้โดยง่าย เพราะเป็นไปได้มากที่สุดท้ายแล้วโครงการจะต้องถูกล้มเลิกด้วยเหตุอะไรสักอย่างเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตหลายครั้ง และกองทัพเรือก็ต้องยุติโครงการเรือดำน้ำไปอีกนานหลายปี
โดยฝ่ายที่ต่อต้านการมีเรือดำน้ำของกองทัพเรือก็ต้องทำให้แน่ใจว่ากองทัพเรือจะไม่สามารถจัดตั้งโครงจัดหาเรือดำน้ำได้อีกในอนาคต หรือตั้งโครงการขึ้นมาได้ก็ต้องไม่มีทางที่โครงการจะผ่านได้ตลอดไป จากแนวร่วมที่ต่อต้านกองทัพและสนับสนุนกองทัพแต่ต่อต้านเรือดำน้ำจีน
กระบวนการสำคัญของการต่อต้านเรือดำน้ำที่ทำตอนนี้คือ การโฆษณาชวนเชื่อว่ายังไงโครงการจะต้องผ่านแน่ๆโดยการโจมตีตัวบุคคล รวมถึงการสร้างและแพร่ข่าวตอกย้ำให้ประชาชนต่อต้านเรือดำน้ำและกองทัพเรือด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจและการทุจริตอย่างต่อเนื่องครับ

ขั้นตอนของกระบวนการต่อต้านโครงการจัดหาเรือดำน้ำ S26T ไม่น่าจะมีความเข้าใจยากเกินไปนักครับโดยข้อหลักๆคือ
๑.พยายามดึงเรื่องไม่ให้ส่งข้อพิจารณาโครงการเข้ากระทรวงกลาโหมและเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ได้นานที่สุดจนเลย การประชุม ครม.ครั้งสุดท้ายของเดือนมีนาคม(๒๘ มีนาคม) ซึ่งจะเลยระยะเวลาการใช้กรอบงบประมาณประจำปี พ.ศ.๒๕๖๐(2017)
๒.พยายามส่งเรื่องให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเข้ามาดำเนินการตรวจสอบกองทัพเรือในความโปร่งใสถูกต้องของโครงการ ซึ่งถ้าผลักดันให้ สตง.ตัดสินให้กองทัพเรือเป็นฝ่ายผิดไม่ได้ ก็ต้องดึงเรื่องยื้อให้ได้นานที่สุด
๓.เผยแพร่ข่าวสารโฆษณาชวนเชื่อชักจูงภาคประชาสังคมเพื่อให้เกิดการต่อต้านและกดดันกองทัพเรือให้ยกเลิกโครงการจัดหาเรือดำน้ำจีนและจากประเทศอื่น โดยเน้นการทำให้ผู้คนเชื่อถึงความไม่จำเป็นในการปกป้องน่านน้ำทะเลไทยด้วยเรือดำน้ำของกองทัพเรือทุกทาง
ทั้งการเผยแพร่เอกสารความลับที่มีเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องภายในกองเรือดำน้ำและกองทัพเรือที่จะเป็นผู้ทำได้ หรือแม้แต่การสร้างข้อมูลเท็จโดยเฉพาะอย่างการแอบอ้างและดัดแปลงพระราชดำรัสที่กระทำโดยสื่อกระแสหลักและผู้มีผลประโยชน์แอบแฝงซึ่งเป็นการไม่บังควรอย่างยิ่งก็ตาม

ท้ายที่สุดต่อให้กองทัพเรือจะต้องล้มเลิกโครงการจัดหาเรือดำน้ำจีนไปก็ตาม นั่นก็ยังไม่พอสำหรับฝ่ายต่อต้าน เพราะอย่างที่กล่าวไปว่ากลุ่มพวกนี้จะต่อต้านการมีเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทยโดยสิ้นเชิง
ไม่ว่าจะเป็นจัดหาจากประเทศที่น่าเชื่อถืออย่างเช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส สวีเดน รัสเซีย หรือแม้แต่การที่กองทัพเรือจะแนวคิดจะสร้างเรือดำน้ำเองในประเทศก็ตาม คนกลุ่มนี้ก็จะต้องต่อต้านให้แน่ใจทุกวิถีทางว่าโครงการจะล้มแน่นอนให้ได้
ซึ่งถ้าวิเคราะห์ดูในหลายๆด้านแล้ว จะมีหลายกลุ่มที่จะได้ผลประโยชน์ในทางบวกกับฝ่ายตนอย่างมาก ถ้ากองทัพเรือไทยยังคงไม่มีเรือดำน้ำประจำการ(ไม่ขอระบุเพราะค่อนข้างเป็นประเด็นอ่อนไหวด้านความสัมพันธ์ทางความมั่นคงภายในระหว่างประเทศ)
ตรงนี้ก็ต้องลองมีคิดดูครับว่าระหว่างไม่มีเรือดำน้ำเลยสักลำเหมือนที่ผ่านๆมา กับมีเรือดำน้ำจีนอย่างน้อย ๑ลำที่เป็นที่กังขาเรื่องประสิทธิภาพต่อราคา เมื่อประเทศไทยเราต้องเข้าสู่ภาวะสงครามโดยเฉพาะสงครามในทะเล เราจะแพ้สงครามจนสิ้นชาติหรือเปล่าถ้าไม่มีเรือดำน้ำประจำการ?

จนสุดท้ายการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ ๒๘ มีนาคม ก็ไม่มีการเสนอวาระจากกระทรวงกลาโหมเรื่องโครงการจัดหาเรือดำน้ำ S26T จากจีนระยะที่๑ จำนวน ๑ลำ งบประมาณผูกพันต่อเนื่อง ๑๓,๕๐๐ล้านบาท โดยวงเงินในปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๐(2017) จะจ่ายก่อนประมาณ ๘๐๐ล้านบาท
โดยแบ่งงบประมาณผูกพันต่อเนื่องเป็นสามระยะช่วงปีคือ ระยะที่๑ พ.ศ.๒๕๖๐-๒๕๖๖(2017-2023), ระยะที่๒ พ.ศ.๒๕๖๔-๒๕๖๙(2021-2026) และระยะที่๓ พ.ศ.๒๕๖๕-๒๕๗๐(2022-2027) สำหรับเรือดำน้ำ ๓ลำรวมประมาณ ๓๖,๐๐๐ล้านบาท
ซึ่งเมื่อไม่ทันกรอบการใช้วงเงินในงบประมาณปี พ.ศ.๒๕๖๐(2017) ที่จะเริ่มในเดือนเมษายนนี่แล้ว ทางกองทัพเรือก็จะต้องส่งเงินงบประมาณของตนคืนเพื่อนำไปใช้ในโครงการอื่น และกระทรวงกลาโหมจะมีการดำเนินการนำเสนอต่อไปหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ

แต่จากการให้สัมภาษณ์สื่อของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีกลาโหมนั้นดูจะไม่ได้รีบร้อนอะไร โดยน่าจะเสนอทันในปีงบประมาณ ๒๕๖๐(2017) นี้ และไม่รู้สึกถึงต่อกระแสการต่อต้านโครงการจัดหาเรือดำน้ำ
โดยทาง พลเอก ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกลาโหมจะทำการตรวจสอบเอกสารและขั้นตอนต่างๆให้เรียบร้อยจนเป็นที่แน่ใจอีกที โดยยังไม่ทราบว่าจะส่งเข้า ครม.ได้ทันในสัปดาห์หรือไม่
การนำเรื่องเข้าที่ประชุม ครม.จะขึ้นอยู่กับ พลเอก วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการคณะรัฐมนตรีว่าจะบรรจุวาระหรือไม่ครับ(อาจจะภายในเดือนเมษายนนี้เป็นต้นไปหรือเป็นอย่างอื่นก็ไม่แน่ใจ เพราะเป็นโครงการแบบรัฐต่อรัฐ อาจจะเลื่อนได้เป็นกรณีพิเศษถึงสิ้นปี งป.๖๐ ภายในก่อนสิ้นเดือนกันยายนนี้)

สำหรับโครงการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทยที่แม้แต่เจ้าหน้าที่ในกองทัพเรือด้วยกันเองยังต่อต้านและยังสนับสนุนการส่งข้อมูลเอกสารให้ฝ่ายตรงข้ามที่ไม่หวังดีต่อประเทศชาติใช้โจมตีกองทัพเรือแล้ว
สุดท้ายเราก็ต้องยอมรับความจริงของคำถามที่ว่า 'เมื่อไรกองทัพเรือไทยจะมีเรือดำน้ำประจำการ' นั้นจัดอยู่ในกลุ่มคำถามเรื่องเดียวกับที่ว่า 'เมื่อไรทีมฟุตบอลทีมชาติไทยจะได้ไปแข่งฟุตบอลโลก FIFA World Cup 
ซึ่งสิ่งที่เราต้องการจริงๆสำหรับโครงการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรืออาจจะไม่ใช่กระบวนการจัดหาที่โปร่งใส แบบเรือดำน้ำที่มีสมรรถสูงจากประเทศที่น่าเชื่อถือน่าเชื่อถือ หรือการทำความเข้าใจกับภาคประชาชน แต่น่าจะเป็น 'ปาฏิหาริย์' ที่ไม่มีอยู่จริงมากกว่าครับ

Model of HTMS Trang Royal Thai Navy second Krabi class Offshore Patrol Vessel(https://www.youtube.com/user/ThaiPBS)

สำหรับความคืบหน้าของโครงการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชุด ร.ล.กระบี่ ลำที่สองคือ ร.ล.ตรังที่กำลังดำเนินการที่อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดชนั้น ล่าสุดมีข้อมูลว่าจะมีการทำพิธีวางกระดูกงูเรือในราวเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้
ซึ่งกองทัพเรือไทยยังมีความต้องการจัดหาเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งอีก ๒ลำจากที่มีแล้ว ๓ลำ และกำลังสร้าง ๑ลำคือ เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชุด ร.ล.ปัตตานี ๒ลำ(ร.ล.ปัตตานี และ ร.ล.นราธิวาส) และชุด ร.ล.กระบี่ ๒ลำ (ร.ล.กระบี่ และ ร.ล.ตรัง)
ตรงนี้ก็ต้องติดตามต่อไปว่าแบบเรือ ตกก.ใหม่ที่อาจจะมาแทนแบบเรือ 90m OPV ของ BAE Systems สหราชอาณาจักร ที่บริษัทอู่กรุงเทพซื้อสิทธิบัตรมาและกำลังจะหมดอายุลงนั้น จะเป็นในรูปแบบใดครับ




F-16AM/BM EMLU with Sniper Advanced Targeting Pod, 403rd Tactical Fighter Squadron, Wing 4, Royal Thai Air Force at Cope Tiger 2017

การฝึกร่วมนานาชาติ Cope Tiger 2017 ระหว่างกองทัพอากาศไทย กองอากาศสหรัฐฯ และกองทัพอากาศสิงค์โปร์นั้น ก็เป็นอีกการฝึกที่เครื่องบินขับไล่ บ.ข.๑๙/ก. F-16AM/BM EMLU ฝูงบิน๔๐๓ กองบิน๔ ของไทยได้เปิดตัวกระเปาะชี้เป้าแบบ Sniper ATP ครับ

Thailand launches 10-year military modernisation programme

ตามแผน ๑๐ปีโครงการพัฒนากองทัพให้ทันสมัยปี 2026 ของกระทรวงกลาโหมไทย นอกจาการเพิ่มงบประมาณกลาโหมจากร้อยละ ๑.๔ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP) เป็นร้อยละ๒ แล้วยังมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมความมั่นคงเพื่อพึ่งพาต้นเองด้วยในหลากหลายด้าน
ในส่วนการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์จากจีนในระยะยาวนั้นในส่วนทางไทยได้สั่งจัดหาเครื่องผลิตกระสุนขนาดกลาง(Medium Caliber)ที่รองรับกระสุนปืนใหญ่กลขนาดตั้งแต่ 20mm 30mm และ 40mm จาก NORINCO จีน
ซึ่งจะสนับสนุนสายการผลิตจำนวนมากในส่วนโรงงานสรรพาวุธของไทยในการผลิตกระสุนปืนใหญ่กลใช้เองสำหรับอาวุธยุทโธปกรณ์หลายแบบ เช่นกระสุน 30x165mm ที่ใช้กับ BTR-3E1 และ 30x173mm ที่ใช้กับปืนใหญ่กลเรือ MSI DS-30 ที่ไทยพัฒนาสร้างกระสุนฝึกได้เองแล้วมาก
รวมถึงแผนการจัดตั้งโรงงานซ่อมบำรุงอาวุธยุทโธปกรณ์จากจีน ที่จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการจัดหาอะไหล่และการซ่อมบำรุงปรับปรุงอาวุธจีนไม่เกิดปัญหาแบบเดียวกับรถถังหลัก ถ.๓๐ Type 69-II ในอดีตด้วย
แต่อย่างไรก็ตามจากหลายๆโครงการพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ภายในประเทศที่ผ่านมาซึ่งไม่ได้ประสบความสำเร็จในการนำเข้าสู่สายการผลิตจำนวนมาก ก็หวังว่าเรื่องนี้จะได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมจริงจังในอนาคตอันใกล้ครับ