วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ภาพเปิดเผยกองทัพอากาศไทยนำอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่อากาศระยะปานกลาง KS-1C เข้าประจำการที่กองบิน๔ ตาคลี



KS-1CM Surface to Air Missiles of Royal Thai Air Force (RTAF) Security Force was displayed at Wing 4 Takhli RTAF Base in 17 February 2021.

พลอากาศโท สมควร  รักดี ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน พร้อมคณะตรวจเยี่ยมสายวิทยาการอากาศโยธิน กองบิน ๔ โดยมี นาวาอากาศเอก เนาวมรัตน์  ประพัฒน์ทอง ผู้บังคับการกองบิน ๔ ให้การต้อนรับ ณ กองบิน ๔ เมื่อ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔



ระบบอาวุธต่อสู้อากาศยานระยะปานกลาง KS-1C ที่พัฒนาโดย China Aerospace Science and Industry Corporation(CASIC) สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศอัตตาจร ที่กองทัพอากาศไทยจัดหามาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๙(2016)
ซึ่ง ๑ระบบ ประกอบด้วยรถที่บังคับการ KZH, รถ Radar ค้นหา KMZ, รถ Radar ติดตามเป้าหมาย KLD, รถระบบแปลงความถี่ KBP, รถแท่นยิง KFC ๔ระบบ โดยหนึ่งแท่นยิงอัตตาจรมีจรวด ๒นัดระยะยิง 70km, ที่จ่ายพลังงาน KDP, รถบรรทุกลูกจรวด และรถบรรทุกเครื่องมือ

กองทัพอากาศไทยได้นำระบบอาวุธต่อสู้อากาศยานระยะปานกลาง KS-1C เข้าประจำการใน กองพันทหารอากาศโยธิน กองบิน๗ สุราษฎร์ธานี ซึ่งมีการเปิดเผยต่อสาธารณชนครั้งแรกในงานวันเด็กแห่งชาติประจำปี พ.ศ.๒๕๖๐ ที่กองบิน๗ โดยกองบิน๗ มีหน่วยบินที่ขึ้นตรงคือ 
ฝูงบิน๗๐๑ มีเครื่องบินขับไล่แบบที่๒๐ บ.ข.๒๐/ก Saab Gripen C/D ๑๑เครื่อง และฝูงบิน๗๐๒ มีเครื่องบินควบคุมและแจ้งเตือนทางอากาศแบบที่ ๑ บ.ค.๑ SAAB 340 AEW(Airborne Early Warning Radar) Erieye ๒เครื่อง และเครื่องบินลำเลียงแบบที่ ๑๗ บ.ล.๑๗ SAAB 340B ๔เครื่อง

การพบภาพของระบบอาวุธต่อสู้อากาศยานระยะปานกลาง KS-1C ที่กองบิน๔ ตาคลีล่าสุด น่าจะเป็นการแสดงถึงว่ากองทัพอากาศไทยน่าจะมีการจัดหา KS-1C เพิ่มเติมอย่างน้อย ๑ระบบมาก่อนหน้าแล้วและถูกนำเข้าประจำการใน กองพันทหารอากาศโยธิน กองบิน๔ ที่น่าจะหน่วยล่าสุด
โดยกองบิน๔ มีหน่วยบินที่ขึ้นตรงประกอบด้วย ฝูงบิน๔๐๑ ประจำการด้วยเครื่องบินขับไล่และฝึกแบบที่๒ บ.ขฝ.๒ Korea Aerospace Industries(KAI) T-50TH Golden Eagle จำนวน ๑๒เครื่อง,

ฝูงบิน๔๐๒ ประจำการด้วยเครื่องบินตรวจการณ์และฝึกแบบที่๒๐ บ.ตฝ.๒๐ Diamond DA42 MMP จำนวน ๕เครื่อง, ฝูงบิน๔๐๓ ประจำการด้วยเครื่องบินขับไล่แบบที่๑๙/ก Lockheed Martin F-16AM/BM EMLU Fighting Falcon จำนวน ๑๘เครื่อง 
และฝูงบิน๔๐๔ ประจำการด้วยอากาศยานไร้คนขับทางยุทธวิธี Aeronautics Aerostar จำนวน ๒ระบบ, อากาศยานไร้คนขับขนาดเล็ก Aeronautics Orbiter II และอากาศยานไร้คนขับพิสัยกลาง Aeronautics Dominator จำนวน ๑ระบบ เป็นต้น

ตามแผนในสมุดปกขาวกองทัพอากาศไทย 2020(https://aagth1.blogspot.com/2020/02/2020.html) ในส่วนการป้องกันฐานบินได้ระบุถึงโครงการจัดหาระบบป้องกันฐานบิน ระยะที่๑ ปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๖-๒๕๖๘(2023-2025), ระยะที่๒ งป.๒๕๖๙-๒๕๗๑(2026-2028) 
และระยะที่๓ งป.๒๕๗๒-๒๕๗๔(2029-2031) สำหรับระบบอาวุธต่อสู้อากาศยานระยะปานกลาง(MEDRAD: Medium Range Air Defence) เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการป้องกันภัยทางอากาศและภาคพื้นแก่ที่ตั้งฐาน ทอ.ให้รองรับภัยคุกคามในอนาคตและทดแทนระบบเก่าที่ใช้งานมานานครับ