วันเสาร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2564

กองทัพเรือไทยปลดประจำการเรือเร็วโจมตีติดอาวุธปล่อยนำวิถี Exocet ลำสุดท้าย เรือหลวงราชฤทธิ์



All three of  the Ratcharit-class fast attack craft missile boats, FAC-321 HTMS Ratcharit, FAC-322 HTMS Vitiyakom and FAC-323 HTMS Udomdej at Brindisi; Italy, Corinth canal; Greece and Red Sea in 1980.

FAC-321 HTMS Ratcharit, the Ratcharit-class fast attack craft missile boat was decommissioned in 30 September 2021.

พิธีปลดเรือหลวงราชฤทธิ์ หลังทำหน้าที่ปกป้องน่านน้ำไทยมา ๔๒ ปี
ตามคำสั่งกระทรวงกลาโหมที่ ๑๑๕๑\๒๕๖๔ ให้ปลด ร.ล.ราชฤทธิ์ ออกจากระวางประจำการ ในวันที่ ๑ ต.ค.๖๔ กองทัพเรือโดยกองเรือยุทธการได้กำหนดพิธีปลดระวางประจำการ ร.ล.ราชฤทธิ์ ในวันที่ ๓๐ ก.ย.๖๔ 
ณ ท่าเรือหมายเลข ๑๐ อจปร.อร.เวลา ๑๗๐๐ หลังจากที่ได้รับใช้ชาติมามากว่า ๔๒ ปี โดย ร.ล.ราชฤทธิ์ ได้ปฏิบัติภารกิจที่สำคัญให้กับกองทัพเรือและประเทศชาติเป็นจำนวนมาก 
อาทิรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ลาดตระเวนตรวจการณ์ในน่านน้ำไทย ฝึกร่วมกับมิตรประเทศ ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งถวายความปลอดภัยแด่พระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดอายุการปฏิบัติงานในกองทัพเรือ  

ทั้งนี้ ที่มาของชื่อเรือลำนี้มีที่มาที่มีความสำคัญจากสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ไทยทำการรบกับญวนหลายครั้งด้วยกัน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเกรงว่าญวนจะยกทัพเรือบุกรุกเข้ามายังราชอาณาเขต 
จึงโปรดให้ต่อเรือขึ้นมาหลายลำ เพื่อทำหน้าที่ปกป้องน่านน้ำไทยซึ่งเรือเหล่านี้ส่วนหนึ่ง คือ เรือราชฤทธิ์  เรือวิทยาคม เรืออุดมเดช เรือราชฤทธิ์ นั้นมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษ ว่า SIR WALTER SCOTT สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๙ เป็นเรือชนิด BARGE

ในส่วน ร.ล.ราชฤทธิ์ ลำปัจจุบัน เป็นเรือในกองเรือตรวจอ่าวชุดแรกที่มีการติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่พื้น ซึ่งเป็นยุคเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีจากการใช้ปืนมาเป็นอาวุธปล่อยนำวิถียุคแรกๆ ของกองทัพเรือ 
โดยเมื่อมีการใช้อาวุธแบบใหม่ ทางกองเรือตรวจอ่าว จึงได้ปรับหลักนิยมให้เหมาะสม กับเรือที่มีความเร็วสูง มีอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูง ด้วยการเข้าโจมตีเป้าหมายแบบแเม่นยำแล้วถอนตัว ซึ่งเรียกว่าหลักนิยมใหม่นี้ว่าหลักนิยมเรือยนต์เร็วโจมตีอาวุธปล่อยนำวิถี   
ด้วยสมรรถนะของเรือชุดเรือเร็วโจมตีอาวุธปล่อยนำวิถี(EXOCET)  ชุด ร.ล.ราชฤทธิ์ ได้สร้างความภาคภูมิใจให้กับ ผู้บังคับการเรือ กำลังพลประจำเรือที่เคยร่วมปฏิบัติราชการกับเรือลำนี้ 
รวมถึงกำลังพลของกองเรือตรวจอ่าว และ กำลังพลในกองทัพเรือต่างรับรู้ถึงศักยภาพของเรือชุดนี้ที่ทำให้ กองทัพเรือไทยเป็นที่น่าเกรงขามต่อนานาประเทศอย่างมากในยุคนั้น

เรือเร็วโจมตีติดอาวุธปล่อยนำวิถี (EXOCET) ชุดเรือหลวงราชฤทธิ์ เป็นเรือเร็วโจมตีอาวุธปล่อยนำวิถีชุดที่กองทัพเรือได้จัดหาในปี พ.ศ.๒๕๑๙ โดยใช้งบประมาณจากค่าสัมปทานสำรวจน้ำมันในทะเลจากบริษัทต่างๆ นอกเหนือจากงบประมาณประจำ
และมีชื่อโครงการว่า "การจัดหาเรือคุ้มครองการสำรวจน้ำมันในทะเล" ซึ่งเรือชุด ร.ล.ราชฤทธิ์นี้ได้ถูกนำมาใช้ในการคุ้มครองและปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลบริเวณแท่นเอราวันอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาดังกล่าว 
โดยชุดเรือเร็วโจมตีอาวุธปล่อยนำวิถี(EXOCET) ประกอบด้วยเรือ ๓ ลำ ได้แก่ ร.ล.ราชฤทธิ์ , ร.ล.วิทยาคม และร.ล.อุดมเดช ซึ่งทั้ง ๓ ลำ ต่อโดย บริษัท  Cantiere Navale Breda ประเทศอิตาลี 
โดย ร.ล.ราชฤทธิ์ และ ร.ล.วิทยาคม ได้ขึ้นระวางประจำการในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ส่วน ร.ล.อุดมเดช ได้ขึ้นระวางประจำการในปี พ.ศ.๒๕๒๓  

เรือเร็วโจมตีติดอาวุธปล่อยนำวิถีทั้ง ๓ ลำได้รับใช้กองทัพเรือมายาวนาน จนกระทั่งกองทัพเรือได้ปลดระวาง ร.ล.วิทยาคม และ ร.ล.อุดมเดชในปี พ.ศ.๒๕๕๙ และ พ.ศ.๒๕๖๐ ตามลำดับทำให้ ร.ล.ราชฤทธิ์เป็นเรือเร็วโจมตีอาวุธปล่อยนำวิถีลำสุดท้ายในกองทัพเรือไทย 
ร.ล.ราชฤทธิ์ ยังคงปฏิบัติหน้าที่อย่างสุดความสามารถ จนกระทั่งกองทัพเรือได้วางแผนปลดระวาง ร.ล.ราชฤทธิ์ ในปีพ.ศ.๒๕๖๔ โดยการปลดประจำการเรือ ร.ล.ราชฤทธิ์ นับเป็นการสิ้นสุดการมีเรือรบประเภทเรือเร็วโจมตีติดอาวุธปล่อยนำวิถี 
รวมถึงการเลิกใช้งานอาวุธปล่อยนำวิถีต่อต้านเรือผิวน้ำ Exocet MM38 ที่ติดตั้งกับเรือชุดนี้ของกองทัพเรือไทย ดังนั้นเพื่อเป็นการยกย่องและเชิดชูเกียรติให้กับเรือลำนี้ ที่ได้ปฏิบัติราชการให้กองทัพเรือไทยมายาวนาน และเพื่อให้กำลังพลรุ่นหลังได้รับทราบถึงประวัติของเรือลำนี้ 
อีกทั้งเพื่อให้ ร.ล.ราชฤทธิ์ ได้ถูกจดจำว่าเป็นเรือที่เป็นประวัติศาสตร์ของกองเรือตรวจอ่าว และของกองทัพเรือไทยสืบไป 
จึงขอเชิญร่วมรำลึกและสดุดีเรือแห่งประวัติศาสตร์ในพิธีปลดระวางประจำการ ร.ล.ราชฤทธิ์ ในวันที่ ๓๐ ก.ย.๖๔ ณ ท่าเรือหมายเลข ๑๐ อจปร.อร.เวลา ๑๗๐๐ (แบบ new normal)

ร.ล.ราชฤทธิ์ อำลากองทัพเรือไทย ....
กองทัพเรือได้ปลดระวางประจำการ ร.ล.ราชฤทธิ์ (หมายเลข 321) เมื่อ 1 ตุลาคม 2564 หลังจากประจำการมา 42 ปี โดย ร.ล. ราชฤทธิ์ เป็นเรือลำแรกของ เรือเร็วโจมตีติดอาวุธปล่อยนำวิถี ชุด ราชฤทธิ์ ขึ้นระวางประจำการเมื่อ 10 สิงหาคม 2522 
ส่วนอีก 2 ลำคือ ร.ล. วิทยาคม (หมายเลข 322) ขึ้นระวางประจำการเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2522 ปลดประจำการเมื่อปี 2559 และ ร.ล. อุดมเดช (หมายเลข 323) ขึ้นระวางประจำการเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2523  ปลดประจำการเมื่อ  ปี 2560 
เรือรบชุดนี้สังกัดกองเรือตรวจอ่าว ต่อที่ บริษัท Cantiere Navale Breda เมือง Mestre ประเทศอิตาลี มีระวางขับน้ำเต็มที่ 300 ตัน ยาว 49.8 เมตร กว้าง 7.5 เมตร กินน้ำลึก 3 เมตร  ความเร็วสูงสุด 36 นอต รัศมีทำการ 2,000 ไมล์ทะเล กำลังพลประจำการ 46 นาย 
ติดอาวุธ ปืนใหญ่เรือขนาด 76/62 OTO MERALA หัวเรือ ปืนขนาด 40/70 มม. แท่นเดี่ยวท้ายเรือ ปืนกลขนาด .50 นิ้ว 2 แท่น 
อาวุธนำวิถีโจมตีเรือ EXOCET MM 38 หรือฉายา “ไอ้ปลาบิน” ของฝรั่งเศส  4 ท่อยิง มีระยะยิงไกล 42 กม. นำวิถีแบบ Fire and forget หรือยิงแล้วลืมได้เลย เพราะมันจะวิ่งหาเป้าหมายด้วยตัวของมันเองโดยอัตโนมัติ (ได้มีการถอดถอนออกไปหลังจากหมดอายุการใช้งาน) 
ในสมัยนั้น “ไอ้ปลาบิน” จัดเป็นหมัดเด็ดของเรือเร็วโจมตีทีเดียว เพราะมันมีความแม่นยำเป็นเลิศอีกทั้งมีอานุภาพการทำลายล้างสูง ...ลูกเดียวโดนเข้าไป สามารถจมเรือรบได้เลย 
...บัดนี้เรือเร็วโจมตีติดอาวุธปล่อยนำวิถี ชุดราชฤทธิ์  ทั้ง 3 ลำ ได้อำลาจากกองทัพเรือไทยอย่างสมเกียรติแล้ว ชั่วนิจนิรันดร์...

เรือเร็วโจมตีติดอาวุธปล่อยนำวิถีชุดเรือหลวงราชฤทธิ์ ทั้ง ๓ลำ ร.ล.ราชฤทธิ์ 321 ขึ้นระวางประจำการเมื่อ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๒(1979) เรือหลวงวิทยาคม 322 ขึ้นระวางประจำการเมื่อ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๒๒ และเรือหลวงอุดมเดช 323 ขึ้นระวางประจำการเมื่อ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๓(1980) 
เป็นเรือเร็วโจมตีติดอาวุธปล่อยนำวิถีชุดที่สองของกองทัพเรือไทย ตามหลังชุดแรกคือเรือเร็วโจมตีติดอาวุธปล่อยนำวิถีเรือหลวงปราบปรปักษ์ ทั้ง ๓ลำที่สร้างโดย Singapore Technologies Marine สิงคโปร์ และเดิมติดอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่พื้น Gabriel อิสราเอล จำนวน ๕ท่อยิง ประกอบด้วย
เรือหลวงปราบปรปักษ์ 311 ขึ้นระวางประจำการเมื่อ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๑๙(1976) เรือหลวงหาญหักศัตรู 312 ขึ้นระวางประจำการเมื่อ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๑๙ และเรือหลวงสู้ไพรินทร์ 313 ขึ้นระวางประจำการเมื่อ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๐(1977) 

เรือเร็วโจมตีติดอาวุธปล่อยนำวิถีชุด ร.ล.ปราบปรปักษ์ ทั้งสามลำได้ปลดประจำการลงทั้งหมดไปก่อนแล้ว โดยเรือลำสุดท้ายของชุดคือ ร.ล.สู้ไพรินทร์ ได้ปลดประจำการเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๑(2018) ซึ่งก่อนหน้าเรือชุดนี้ก็ถูกถอดแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถี Gabriel เนื่องจากจรวดหมดอายุ
ตามนโยบายผู้บัญชาการทหารเรือประจำปี พ.ศ.๒๕๖๓(2020) ร.ล.ราชฤทธิ์ มีกำหนดจะทำการฝึกยิงอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่พื้น Exocet MM38 เป็นครั้งสุดก่อนปลดประจำการ อย่างไรก็ตามในการฝึกกองทัพเรือประจำปี ๒๕๖๓ และ ๒๕๖๔(2021) ที่ผ่านก็ไม่มีการยิงอาวุธปล่อยนำวิถี Exocet เกิดขึ้น
เข้าใจว่าข้อจำกัดด้านงบประมาณจากการระบาด Covid-19(https://aagth1.blogspot.com/2021/05/covid-19.html) บังคับกองทัพเรือไทยต้องล้มเลิกแผนดังกล่าวพร้อมกับการเลิกใช้งานอาวุธปล่อยนำวิถี Exocet MM38(https://aagth1.blogspot.com/2017/01/blog-post_19.html

ร.ล.วิทยาคม ปลดประจำการเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙(2016) ต่อมาส่งมอบให้จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อตั้งประกอบพระอนุสาวรีย์ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์(https://aagth1.blogspot.com/2019/04/blog-post_22.html)
ร.ล.อุดมเดช ปลดประจำการในปี พ.ศ.๒๕๖๐(2017) โดยต่อมาถูกนำมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ Jesada Technik Museum การปลดประจำการ ร.ล.ราชฤทธิ์ เป็นลำสุดท้ายของชุดถือเป็นการสิ้นสุดการมีประจำการด้วยเรือเร็วโจมตีติดอาวุธปล่อยนำวิถีชุดที่สองและชุดสุดท้ายของกองทัพเรือไทย
มีบางรายงานระบุว่า ร.ล.ราชฤทธิ์ ที่ปลดประจำการเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๔ อาจจะถูกนำมาจัดแสดงที่ศูนย์สมุททานุภาพกองทัพเรือ ที่มีพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๖๔ โดยหลักเกณฑ์การตั้งชื่อเรือตามชื่อเรือรบในทะเลสมัยโบราณ เมื่อไม่มีเรือ รจอ.แล้วก็คงจะมีการเปลี่ยนไปครับ