วันพุธที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ความคืบหน้าโครงการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพไทยในปี ๒๕๕๙-๕

M60A3 Main Battle Tank Royal Thai Army New Upgrade
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=238675653161883&set=p.238675653161883

จากภาพล่าสุดในข้างต้นที่ปรากฎว่ากองทัพบกไทยมีการปรับปรุงรถถังหลัก M60 ซึ่งน่าจะเป็นการดำเนินการโดยบริษัท IMI อิสราเอลตามที่เคยรายงานข่าวไปก่อนนั้น
ในภาพจะเห็นว่าปืนใหญ่รถถังที่ติดกับรถถังหลัก M60 ที่ปรับปรุงจะไม่ใช่ปืนใหญ่รถถังขนาด 120mm คือ MG251/MG253 ขนาด 120mm/L44 ของ IMI
http://www.imi-israel.com/home/doc.aspx?mCatID=68579
แต่ยังคงเป็นปืนใหญ่รถถังขนาด 105mm โดยเปลี่ยนเป็นปืนใหม่น่าจะเป็นปืนใหญ่รถถัง M68(L7) ที่ได้สิทธิบัตรการผลิตในอิสราเอลที่ใช้ในรถถังหลัก Merkava MkI และ Merkava MkII ซึ่งกองทัพอิสราเอลปลดประจำการแล้ว
ซึ่งที่ดูจากรูปแบบกระบอกปืนที่เห็น ไม่แน่ใจว่าน่าจะเป็นปืนใหญ่รถถังขนาด 105mm แบบของใหม่หรือไม่ ส่วนระบบควบคุมการยิงและกล้องเล็งใหม่ก็น่าจะเป็นของ Elbit Systems

รถถังหลักที่ได้รับการปรับปรุงเข้าใจว่าน่าจะเป็นรถถังหลัก M60A3 เพราะสีตัวรถเป็นลายพรางแบบสามสี NATO ซึ่งมีประจำการใน กองพันทหารม้าที่๕ รักษาพระองค์ และ กองพันทหารม้าที่๑๗ รักษาพระองค์
ขณะที่รถถังหลัก M60A1 ที่ประจำการใน กองพันทหารม้าที่๒๐ รักษาพระองค์ สีตัวรถจะเป็นสีเขียวขี้ม้า
ตรงนี้ก็ยังไม่ทราบครับว่าโครงการปรับปรุงของ IMI ตอนนี้จะปรับปรุงเฉพาะ ถ.หลัก M60A3 กองพันเดียวหรือทั้งสองกองพัน และจะปรับปรุง ถ.หลัก M60A1 รวมถึง ถ.หลัก M48A5 ด้วยหรือไม่

([ROLEPLAY] Thailand to finalise deal with Israel on M60 Patton upgrade packages
https://www.reddit.com/r/worldroleplay/comments/408qj6/roleplay_thailand_to_finalise_deal_with_israel_on/
เนื้อหาข่าวที่ลงในข้างต้นเห็นมีอ้างอิงจาก Web นี้แห่งเดียวครับ ยังไม่มีแหล่งข่าวอื่นๆอ้างอิงเป็นทางการ เลยมองว่าอาจจะดูไม่ค่อยน่าเชื่อถือครับ
แต่ถ้าเป็นไปตามที่อ้างอิงในที่ลงไว้ในข้างต้นทั้งหมด คือปรับปรุงทั้ง M48A5, M60A1 และ M60A3 ทั้งหมดที่กองทัพบกมีทั้งหมดในวงเงิน $700 million แต่ก็บอกว่า ทบ.จะเลิกใช้ M48A5)

ก็ดูเหมือนโครงการปรับปรุงปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานอัตตาจร M163 TVADS Super Vulcan ที่ปรับปรุงโดย IMI อิสราเอลก่อนหน้านี้ครับ ที่มาทำแบบเงียบๆแทบไม่มีข้อมูลอะไรออกมาเลย
แต่หลักๆที่ทำคงมีเปลี่ยน ปถ.105mm ใหม่กับระบบควบคุมการยิงใหม่ (ไม่แน่ใจว่าเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่หรือไม่) คงต้องมาดูกันภายหลังว่าจะมีภาพการปรับปรุงรถเพิ่มเติมปรากฏออกมาอีกมากกว่านี้หรือไม่ครับ

รถถังหลัก Oplot กองพันทหารม้าที่๒ กองพลทหารราบที่๒ รักษาพระองค์ กองทัพบกไทย

ประเด็นหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงในสื่อหลักของไทยในกรณี Battery ของรถถังหลัก Oplot กองทัพบกไทยมีปัญหานั้น 
เห็นว่าข่าวนี้ต้นทางมาจากทางนิตยสาร Kanwa the Asian Defence ครับ
https://www.kanwa.com (แต่ยังหา Link จริงๆไม่พบ เข้าใจว่าเป็นหัวข้อบทความในหนังสือรูปเล่ม)

ประเด็นเนื้อหาหลักคือ Battey ของรถถังหลัก Oplot นั้นมีอาการเสื่อมสภาพและประจุไฟใหม่ได้ช้าและลดประสิทธิภาพลงหลังจากการใช้งานไปได้ระยะหนึ่ง ซึ่งน่าจะมาจากการใช้งานในสภาพอากาศร้อนชื้นของไทยทำให้ Battery เสื่อมสภาพเร็ว
ก็เห็นว่าทางยูเครนจะแก้ปัญหานี้ให้ทางไทยครับ อย่างไรก็ตามในแหล่งข่าวข้างต้นมีการระบุข้อมูลว่า โรงงานที่ผลิต Battery ของ ถ.หลัก Oplot นั้นเดิมอยู่ที่เขต Luhansk
ซึ่งก็อย่างที่ทราบว่าเกิดความขัดแย้งภายในภาค Donbass ทางตะวันออกของยูเครนซึ่งประกอบด้วยเขต Donetsk กับเขต Luhansk นั้น เป็นพื้นที่สู้รบระหว่างกองกำลังรัฐบาลยูเครนกับกลุ่มติดอาวุธนิยมรัสเซียมาตั้งแต่ปี 2014

เข้าใจว่าทางยูเครนต้องหาแหล่งผลิตชิ้นส่วนประกอบย่อยของรถถังหลัก Oplot ใหม่แทนชิ้นส่วนที่ผลิตในเขต Donetsk กับเขต Luhansk เดิมหลายๆระบบ (เป็นสาเหตุร่วมหนึ่งที่ทำให้การผลิตรถถัง Oplot ให้ไทยล่าช้า)
ถ้ารวมกับการแก้ไขปัญหา Bettery เสื่อมสภาพเร็วจากการใช้งานในเขตร้อนชื้นอย่างไทย ก็ต้องใช้เวลาอีกพอควร
ถ้าดูจากที่ผ่านๆมาทางยูเครนได้เสนอความร่วมมือที่จะถ่ายทอด Technology ความมั่นคงของตนให้ไทยมาตลอด เช่นการลงนามความร่วมมือที่จะเปิดสายการผลิตรถเกราะ BTR-3E1 ภายในไทย
ซึ่งหลังที่มีพระราชกฤษฎีกายุบเลิกองค์การแบตเตอรี่กับองค์การฟอกหนังไปเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๐ ก็มีการตั้งโรงงานแบตเตอรี่ทหาร สังกัด กองโรงงานอุตสาหกรรม กรมการอุตสาหกรรมทหาร ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร ขึ้นมา
เรื่อง Battery ของรถถังหลัก Oplot ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ทางไทยกับยูเครนน่าจะคุยกันได้ (แต่ว่าการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจะมีการดำเนินการอย่างไรในขั้นต้นและระยะยาวตรงนี้ก็ยังไม่ทราบ)
แต่ก็สงสัยอยู่อย่างครับว่ารายงานนี้ไปได้แหล่งข่าวมาไหน เพราะคงต้องเป็นเจ้าหน้าที่ภายในที่เกี่ยวข้องครับถึงมีข้อมูลแบบนี้(ทั้งไทยและยูเครน) ซึ่งก็ไม่ทราบว่ามีวัตถุประสงค์ใดที่ให้ข้อมูลนี้กับสื่อ

ทั้งนี้ก็รวมถึงข่าวการส่งมอบรถถังหลัก Oplot ชุดใหม่จำนวน ๑๐คันตามที่ได้รายงานไปก่อนหน้านี้
ซึ่งถ้าเป็นความจริงจะนับเป็นการส่งมอบชุดที่สามแล้ว นับจากการส่งมอบรถชุดแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๗(2014) จำนวน ๕คัน และชุดที่สองเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๘(2015) จำนวน ๕คัน
ทำให้รถถังหลัก Oplot ที่ประจำการในกองทัพบกไทยรวมเป็น ๒๐คัน ยังเหลืออีกตามสัญญาที่ทางยูเครนจะต้องจัดส่งให้ไทยอีก ๒๙คัน โดยมีรายงานว่ารถชุดใหม่จะมาส่งถึงไทยเพิ่มเติมภายในปีนี้

แต่ก็ยังมีข้อสงสัยถึงความน่าเชื่อถือของข่าวการส่งมอบรถชุดใหม่นี้อยู่ครับ เพราะการส่งมอบคราวนี้ไม่มีภาพถ่ายการขนส่งรถถังจากเรือขนส่งหรือการเครื่องย้ายรถบนถนนปรากฎออกมาเลย
มีการอ้างข้อมูลบางแหล่งว่าเรือจากยูเครนที่มาไทยในวันที่ ๒๓ พฤษภาคม เป็นเรือที่ขนส่งรถหุ้มเกราะล้อยาง BTR-3E1 ที่กองทัพบกสั่งจัดหาอยู่ซึ่งก็มีจัดส่งให้เป็นระยะต่อเนื่อง
ในส่วนของรถถังหลัก Oplot ชุดล่าสุดนั้นก็มีการอ้างว่าลงเรือมาแล้วแต่ยังไม่มาถึงไทย ซึ่งเรือจะถึงไทยในราวเดือนมิถุนายนนี้
โดยถ้าติดตามจากชุดภาพในโรงงาน Malyshev และการทดสอบรถที่ยูเครนในช่วงครึ่งปีแรกนี้ก็จะเห็นว่ามีรถถังหลัก Oplot ที่ประกอบเสร็จสมบูรณ์ทั้งคนแล้วหลายคัน รวมถึงชิ้นส่วนที่รอบการประกอบทั้งตัวถังและป้อมปืนอีกเป็นจำนวนมาก
(นอกจากภาพที่เผยแพร่ใน Facebook จนถึง Blog และ Social Network ของยูเครนและรัสเซีย ที่มีการยืนยันแล้วว่าน่าจะเป็นภาะการส่งมอบรถชุดที่สองเมื่อปีที่แล้ว ไม่ใช่การส่งมอบรถชุดล่าสุด)
รวมถึงแม้ว่า Jane's ที่เป็นแหล่งข้อมูลทางการทหารที่มีชื่อเสียงน่าเชื่อถือมานานกว่าร้อยปีจะลงข่าวยืนยันตามสื่อที่ออกมาก็ตาม แต่กรณีข่าวรับมอบรถถังหลัก Oplot ของไทยนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นได้ครับ (คงต้องรอดูภาพและข้อมูลยืนยันที่ถูกต้องกว่านี้กันต่อไป)

รถถังหลัก VT4 (MBT-3000) รถต้นแบบคันใหม่ที่จีน ซึ่งปรากฎภาพล่าสุดเมื่อต้นปีนี้

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมของโครงการจัดหารถถังหลัก VT4 หรือ MBT-3000 ของกองทัพบกไทย จาก Facebook Page Combat Zones นิตยสาร Battlefield Defense ของ บก.สมพงษ์ นนท์อาสา นี้มีรายงานครับว่า
กองทัพบกไทยได้ลงนามจัดหารถถังหลัก VT4 เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙(2016) จำนวน ๒๘คัน วงเงิน ๔,๙๘๔ล้านบาท(นับว่าใกล้เคียงกับที่ส่วนตัวคาดไว้คือประมาณ ๕พันล้านบาท) มีกำหนดส่งมอบใน ๒ปี
โดยโครงการจัดหาครั้งนี้เป็นข้อตกลงแบบรัฐต่อรัฐระหว่างไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งเป็นมิตรประเทศ ทำให้กองทัพบกจะได้ยุทโธปกรณ์ในราคาถูกและจัดส่งได้รวดเร็วเนื่องจากซื้อโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

ทั้งนี้คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกแบบรถถังหลักของกองทัพบกได้ไปดูงานรถถังหลัก T-90S ที่รัสเซีย และรถถังหลัก VT4 จีน
ได้ประเมินคะแนนตามคุณลักษณะความต้องการ ความสามารถในการผลิต การบริการหลังการขาย การถ่ายทอดพัฒนา Technology ราคาต่อคันพร้อมอุปกรณ์สำหรับการรบ
คณะกรรมการกองทัพบกได้ให้คะแนนรถถังหลัก VT4 ร้อยละ๘๐ และรถถังหลัก T-90S ร้อยละ๗๕ (ราคาต่อคันที่เสนอให้ไทย VT-4 คันละ ๔.๙ล้านบาท ขณะที่ T-90S คันละประมาณ ๖ล้านบาทกว่า)

ถึงแม้ว่าจะไม่มีการประกอบหรือผลิตรถถังหลัก VT4 ในไทย แต่จีนมีโครงการจะตั้งศูนย์การส่งกำลังบำรุงและซ่อมบำรุงในไทย
พร้อมส่งช่างเทคนิค วิศวกร มาประจำที่ไทยด้วย และมีการสะสมชิ้นส่วนซ่อม โดยมีระยะประกัน ๑ปี พร้อมสนับสนุนการซ่อมแซมปรนนิบัติบำรุงอีกไม่ต่ำกว่า ๒๕ปี
ประกอบด้วยชิ้นส่วนสำรองต่างๆ ๔๓๗รายการ ชุดตาข่ายพรางตัวรถ ๒๘ชุด และกระสุนปืนใหญ่(กระสุนฝึกไม่มีหัวระเบิด) ๙๐นัด โดยจะมีการจัดส่งเจ้าหน้าที่ไทย ๑๘นายไปฝึกที่จีนก่อนการรับมอบรถชุดแรก ๔เดือน จากนั้นจะฝึกอบรมในไทย

Type 69-II ติดปืนใหญ่รถถัง 105mm กองพันทหารม้าที่๒๒ กองทัพบกไทย
(หมายเหตุ: ในกรณี รถถังหลัก ถ.๓๐ Type 69-II จีนที่กองทัพบกปลดประจำการไปก่อนนั้น
ในช่วงเวลาที่จัดหาคือ พ.ศ.๒๕๓๐(1987) กองทัพไทยจัดหารถถังรุ่นนี้จากจีนโดยตรงในราคามิตรภาพเนื่องจากเป็นรถในกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนโดยตรง เพื่อรับมือภัยคุกคามตามพรมแดนตะวันออกอย่างเร่งด่วนในช่วงนั้น
แต่จีนมีเงื่อนไขที่ทำให้ไทยไม่สามารถสำรองอะไหล่และอุปกรณ์ต่างสำหรับซ่อมบำรุงรถได้เองในไทย
ประกอบกับเวลาต่อมา ถ.หลักรุ่นนี้ล้าสมัยลงและกองทัพบกได้มีการจัดหารถถังแบบอื่นใช้งานที่มีประสิทธิภาพพอเช่น รถถังเบา ถ.เบา.๓๒ Stingray และรถถังหลัก M60A1/M60A3
ถ.หลัก Type 69-II จึงอยู่ในสภาพที่ไม่เหมาะสมในการซ่อมบำรุงเพื่อคงสภาพความพร้อม แม้ว่าจีนจะเสนอการปรับปรุงรถถัง Type 69-II ที่ติดปืนใหญ่รถถัง 105mm โดยมีการทดสอบรถต้นแบบที่ ม.พัน.๒๒ แล้วก็ตาม
แต่เมื่อกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนเองเลิกใช้รถถังรุ่นนี้แล้ว กองทัพบกจึงประเมินให้ปลดประจำการไปในที่สุด  แต่ว่าตามตรงโดยความเห็นส่วนตัวข้อเสนอของจีนในโครงการรถถังหลัก VT4 ก็ดูจะยังเอาเปรียบไทยอยู่ดี)

มีรายงานเพิ่มเติมด้วยครับว่ากองทัพบกไทยมีแผนจะจัดหารถถังหลัก VT4 เพิ่มเติมอีก ๑๘คัน รวมเป็น ๔๖คัน ตามอัตราจัดกำลังกองพันทหารม้ารถถังแบบใหม่
(เดิมทีกองพันทหารม้ารถถังของกองทัพบกไทยจะมีรถถังหลักรวม ๕๑คัน คือ
หนึ่งหมวดรถถังมีรถถังหลัก ๕คัน โดยเป็นรถของผู้บังคับหมวด ๑คัน หนึ่งกองร้อยรถถังจะมีรถถังหลัก ๑๕คัน+รถถังของผู้บังคับกองร้อย ๑คันเป็น ๑๖คัน สามกองร้อยรถถังมีรถถัง ๔๘คัน+รถถังของผู้บังคับกองพันอีก ๑คัน+รองผู้บังคับกองพันอีก ๒คัน รวมทั้งหมดเป็น ๕๑คัน
ตอนนี้ยังไม่ทราบว่าอัตราจัดกองพันทหารม้ารถถังใหม่ที่ ๔๖คันนั้น เป็นอย่างไรครับ)
รวมถึงจะมีการจัดหารถสายพานกู้ซ่อม ๕คัน และรถซ่อมบำรุง ๔คัน ด้วย

ส่วนเครื่องยนต์ของรถถังหลัก VT4 บก.สมพงษ์ให้ข้อมูลเป็นเครื่องยนต์ดีเซลแบบ FW150 ๑๒ลูกสูบ สี่จังหวะ กำลัง 1200HP (883kW) พร้อม Turbocharge ระยะบายความร้อนด้วยน้ำ
ซึ่งเครื่องยนต์รถถังแบบนี้ไม่มีข้อมูลมาก่อน แต่อ้างว่าใช้ Technology จากยุโรปตะวันตก(DEUTZ?) แต่ก็ยังสร้างในจีนทั้งหมดอยู่
นอกนั้นก็ใกล้เคียงกับที่มีการให้ข้อมูลไปก่อนครับคือ ระบบควบคุมการยิงแบบ Digital พร้อมกล้องเล็งรักษาความเสถียรของภาพ(Image Stabilized Fire Control System) สำหรับพลยิง กล้อง Panoramic Sight พร้อระบบควบคุมการยิงแบบ Hunter-Killer สำหรับ ผบ.รถ
กล้องสร้างภาพความร้อน ระบบควบคุมอาวุธปล่อยนำวิถี ระบบแจ้งเตือนจากการตรวจจับด้วย Laser และยิงลูกระเบิดควันด้วยใช้หีบควบคุมด้วยมือหรือยิงแบบอัตโนมัติ เกราะวัสดุผสมและเกราะปฏิกิริยาแรงระเบิด ERA ครับ
(ทุกอย่างออกแบบและสร้างในจีน แต่อ้างว่าใช้ระบบ Technology ที่ทันสมัยจากตะวันตก)

ทั้งนี้โครงการจัดหารถถังหลัก Oplot ๔๙คันนั้น จะยังคงทยอยจัดหาเข้าประจำการใน กองพันทหารม้าที่๒ กองพลทหารราบที่๒ รักษาพระองค์ จนครบอัตราทั้งกองพันเช่นเดิม
โดยรถถังหลัก VT4(MBT-3000) จาก NORINCO จีน ที่มีโครงการจัดหามาใหม่ชุดแรก ๒๘คันนั้น ถ้าเป็นตามรายงานของสำนักข่าวไทยจะเข้าประจำการที่ กองพันทหารม้าที่๔ รักษาพระองค์ กองพลที่๑ รักษาพระองค์ 
ซึ่งเป็นคนละส่วนโครงการสำหรับคนละหน่วยกันครับ (กองทัพบกมีกองพันทหารม้าที่มีรถรบต่างแบบประจำการผสมร่วมกันเพียงหน่วยเดียวคือ กองพันทหารม้าที่๒๒ ซึ่งเป็นหน่วยฝึกศึกษาของ ศูนย์การทหารม้า)


ฮ.ท.๑๗ Mi-17V5 กองบินสนับสนุนทั่วไป ศูนย์การบินทหารบก กองทัพบกไทย ใช้ถังดับเพลิงแบบยกหิ้วภายนอกเพื่อดับไฟป่า ในพื้นที่ป่าพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส

อีกทั้งช่วงก่อนที่นายกรัฐมนตรีและคณะจะเดินทางไปประชุมร่วมกลุ่ม ASEAN ที่เมือง Sochi รัสเซีย ซึ่งได้ร่วมการประชุมและลงนามข้อตกความร่วมทั้งด้าน วิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจและความมั่นคงในหลายๆด้านระหว่างไทย-รัสเซียนั้น
ก็มีการนำเสนอข่างออกมาอย่างต่อเนื่องครับว่ากองทัพบกไทยมีความต้องการจัดหาเฮลิคอปเตอร์จากรัสเซียและอาจจะรวมถึงยุทโธปกรณ์แบบอื่นเช่น เครื่องบินสะเทินน้ำสะเทินบกเพื่อดับไฟป่า 
โดยผู้บัญชาการทหารบกได้สัมภาษณ์สื่อว่ากองทัพบกต้องการเฮลิคอปเตอร์ใหม่ทดแทนเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงแบบ ฮ.ล.๔๗ CH-47D ที่เคยมีประจำการใน กองบินสนับสนุนทั่วไป ศูนย์การบินทหารบก ๖เครื่อง
การจัดหาดังกล่าวน่าจะเป็นเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไปแบบ ฮ.ท.๑๗ Mi-17V5 ที่ได้ใช้ในภารกิจดับไฟป่าที่จังหวัดนราธิวาสภาคใต้ร่วมกับอากาศยานแบบอื่นๆของ ศบบ.เช่น ฮ.ท.๒๑๒ Bell 212 EDA เป็นต้น
ซึ่งแนวทางวางแผนการจัดหา ฮ.ท.๑๗ Mi-17V5 จำนวน ๑๒เครื่องนั้นเป็นความต้องการขั้นต่ำเพียงร้อยละ๕๐ จากความต้องการที่แท้จริงที่จะต้อมีความพร้อมรบถึงร้อย๘๐ เท่านั้น
(และประเด็นนี้ก็ได้กลายเป็นหัวข้อโจมตีความน่าเชื่อถือของกองทัพและหน่วยงานรัฐ ทั้งการจัดหา ฮ.Mi-17V5 เพื่อนำมาใช้ภารกิจช่วยเหลือประชาชนต่างๆ 
และการขายซากเครื่อง CH-47D จากบางสื่อซึ่งทางกองทัพบกก็ได้มีการชี้แจ้งข้อเท็จจริงไปแล้วว่ายังไม่ได้มีการดำเนินการใดๆในขายซากเครื่องรวมถึงเรื่องการทุจริตตามที่ระบุด้วย)
ระยะเวลาราว ๕ปีนับตั้งแต่ ฮ.ท.๑๗ Mi-17V5 ชุดแรก ๓เครื่อง และชุดที่สอง ๒เครื่องได้เช้ประจำการใน กองบินสนับสนุนทั่วไป ศูนย์การบินทหารบก นั้นได้พิสูจน์แล้วครับว่า ฮ.Mi-17V5 นั้นเป็นอากาศยานแบบหนึ่งที่มีประสิทธิต่อราคาที่ดี
ดังนั้นการจัดหา ฮ.ท.๑๗ Mi-17V5 เพิ่มเติมอีก ๑๒เครื่องก็น่าจะเป็นแนวทางเหมาะสมและมาได้ไกลนับจากที่กำลังพลนักบินและช่างอากาศยานชุดแรกของกองทัพบกจำนวนไม่กี่นายไปศึกษาเปลี่ยนแบบที่รัสเซียมาจนรับมอบเครื่อง

บ.ล.๒๙๕ Airbus C-295W กองทัพบกไทย ที่สเปน

มีรายงานการทดสอบบินของเครื่องบินลำเลียงยุทธวิธีขนาดกลางสองเครื่องยนต์ บ.ล.๒๙๕ C-295W เครื่องแรกของกองทัพบกไทย ที่สนามบิน Seville ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงาน Airbus สเปนตามที่รายงานไป
โดยเครื่องบินลำเลียง C-295W จำนวน ๑เครื่องนี้คาดว่าจะเข้าประจำการใน กองการบิน กรมการขนส่งทหารบก 
ซึ่งเดิมทีกองทัพบกเคยมีเครื่องบินลำเลียง บ.ล.๓๓๐ Short Brothers Short 330-UTT ๒เครื่องที่ปลดประจำการไปแล้ว และยังคงประจำการเครื่องบินลำเลียง บ.ล.๒๑๒ EADS CASA C212-300 ๒เครื่องอยู่
นอกจากนี้มีรายงานว่าอากาศยานไร้คนขับทางยุทธวิธีขนาดกลางแบบ Elbit Hermes 450 UAV สำหรับภารกิจลาดตระเวนตรวจการณ์ระยะเวลาทำการบินนาน 
ได้มีการจัดหาเข้าประจำการแล้วเพื่อทดแทนอากาศยานไร้คนขับ IAI Searcher II UAV ที่ใช้งานมานานในส่วน ศูนย์การบินทหารบก และมีรายงานว่ากำลังทำการฝึกบินที่ กองร้อยบิน กองพลทหารราบที่๙ 
ซึ่งทั้งหมดก็เป็นส่วนหนึ่งของการจัดหาอากาศยานของกองทัพบกที่มาแบบเงียบๆช่วงนี้ครับ

24 - 25 พ.ค.59 การประชุมคณะทำงานพิจารณายานเกราะล้อยางมาใช้ใน ทบ.
เอกอัครราชฑูตยูเครนประจำประเทศไทยและคณะเข้าเยี่ยมคำนับ พล.ต.ดนัย กฤตเมธาวี ผบ.ศร. ณ ห้องรับรอง บก.ศร. 
และต่อจากนั้น ผบ.ศร.เป็นประธานการประชุมคณะทำงานพิจารณายานเกราะล้อยางมาใช้ใน ทบ.ไทย ณ ห้องประชุม 1 บก.ศร.ค่ายธนะรัชต์

ภาพ/ข่าว โดย ปชส.ศร.
https://www.facebook.com/media/set/?set=a.601761836646998.1073742240.226022944220891
https://www.facebook.com/ศูนย์การทหารราบ-226022944220891/

ในชุดภาพข้างต้นจะเห็นครับว่า เอกอัครราชฑูตยูเครนประจำประเทศไทยและคณะนั่งในตำแหน่งตัวแทนบริษัทฯ และมีผู้แทนบริษัทหลายๆราย(นาจะเป็นคนไทย) ในการประชุมคณะทำงานพิจารณายานเกราะล้อยางใหม่ของกองทัพบกไทย
ซึ่งตัวแทนนายทหารในส่วนของกองทัพบกก็มีทั้ง ศูนย์การทหารราบ ศูนย์การทหารม้า กรมสรรพาวุธทหารบก กรมยุทธศึกษาทหารบก สำนักงานปลัดบัญชีกองทัพบก กรมส่งกำลังบำรุงทหารบก เป็นต้น
อาจจะพอบอกได้ว่าโครงการจัดหายานเกราะล้อยางของกองทัพบกครั้งนี้มีตัวแทนจากยูเครนส่งแบบรถของตนเข้าแข่งขันรายหนึ่ง และอาจจะเป็นการจัดหาระบบรถหุ้มเกราะล้อยางที่จะนำเข้าประจำการทั้งใน เหล่าทหารราบ และเหล่าทหารม้าด้วย

แต่ตัวแทนรายอื่นจากประเทศอื่นๆก็ไม่ทราบครับว่ามีแบบใดบ้าง ทั้งนี้ที่ได้เคยรายงานไปว่ารถเกราะล้อยางอีกแบบที่มีข่าวออกมาก่อนว่าเสนอให้กองทัพบกคือ BTR-82A รัสเซีย
แต่ตอนนี้ยังไม่มีรายงานที่ยืนยันชัดเจนว่าทางตัวแทนจากรัสเซียจะมาเข้าร่วมการประชุมคณะทำงานพิจารณายานเกราะล้อยางหรือไม่และเมื่อใด
ซึ่งก็ควรที่จะมีตัวแทนหลายรายจากหลายประเทศมาเสนอแบบยานเกราะล้อยางให้กองทัพบกครับ

ยานเกราะล้อยาง DTI Black Widow Spider 8x8 รถต้นแบบสำหรับกองทัพบกไทย(My Own Photo)


อากาศยานไร้คนขับขึ้นลงทางดิ่งปีกตรึง Falcon-V FUVEC พัฒนาโดยบริษัท Top Engineering Group และสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ สทป.

DTI และ ทร. จับมือร่วมวิจัยยานเกราะล้อยาง-อากาศยานไร้นักบิน

เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2559 DTI ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมวิจัยโครงการวิจัยและพัฒนาที่สำคัญสองโครงการ คือ

โครงการวิจัยและพัฒนายานเกราะล้อยางสำหรับปฏิบัติภารกิจ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน และโครงการวิจัยและพัฒนาอากาศยานไร้นักบินปีกนิ่งขึ้นลงทางดิ่ง (FUVEC) 
ซึ่งถือว่าเป็นก้าวย่างสำคัญอีกครั้งหนึ่งของ DTI ในการร่วมมือกับหน่วยผู้ใช้ หน่วยงานราชการ และภาคเอกชนในการวิจัยและพัฒนายุทโธปกรณ์เพื่อนำมาใช้งานในกองทัพ

สำหรับโครงการวิจัยและพัฒนายานเกราะล้อยางสำหรับปฏิบัติภารกิจ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน มีวัตถุประสงค์เพื่อวิจัยและพัฒนาต้นแบบยานเกราะล้อยางสำหรับปฏิบัติภารกิจ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน 
เป็นรถยานเกราะล้อยางสะเทินน้ำสะเทินบกสำหรับลำเลียงพล อาวุธยุทโธปกรณ์ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ของกำลังรบยกพลขึ้นบกในการเคลื่อนที่จากเรือสู่ฝั่ง 
สามารถบรรทุกไปกับเรือ และปฏิบัติการทางยุทธวิธียกพลขึ้นบกจากในทะเลชายฝั่งเข้าสู่ที่หมายหัวหาดและต่อเนื่องในยุทธบริเวณ 
และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยเป็นความร่วมมือของ DTI และสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหาร กองทัพเรือ

ความเป็นมาของโครงการนั้น เนื่องด้วยกองทัพเรือนอกจากจะรับบทบาทในการปกป้องอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติทางทะเลแล้ว ยังต้องมีขีดความสามารถในการสถาปนากำลังรบบนฝั่ง ทำการยึดรักษาหัวหาดอย่างมั่นคง 
ด้วยกำลังรบยกพลขึ้นบกไปยังชายฝั่งข้าศึกหรือพื้นที่ชายฝั่งที่ข้าศึกยึดครองอยู่ ซึ่งข้อได้เปรียบของการยุทธสะเทินน้ำสะเทินบกคือความอ่อนตัว ขีดความสามารถในการรวมกำลังที่เข็มแข็งและความรวดเร็วในการปฏิบัติภารกิจ 
และในปัจจุบันสภาพแวดล้อมของการดำเนินกลยุทธ์ที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้กำลังรบยกพลขึ้นบกจะมีภารกิจในการดำเนินกลยุทธ์ภาคพื้นดินที่ต่อเนื่องด้วย 
ซึ่งจะต้องดำรงขีดความสามารถในการเคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็ว มีอำนาจการยิงสนับสนุนที่รุนแรง และมีการป้องกันเพื่อเพิ่มความอยู่รอดในสนามรบ

ยานเกราะล้อยางแบบ 8x8 เป็นรถที่ได้รับการออกแบบขึ้นมาเพื่อให้มีความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่ มีอำนาจการยิงที่รุนแรงด้วยอาวุธที่หลากหลายสอดคล้องกับภารกิจ 
มีเกราะป้องกันแรงระเบิดด้านใต้และด้านข้าง ช่วยปกป้องทหารภายในรถ อีกทั้งมีความสามารถในการเคลื่อนที่ในน้ำ 
ทำให้ยานเกราะล้อยางมีคุณลักษณะและขีดความสามารถที่สอดคล้องและเหมาะสมต่อการสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของหน่วยนาวิกโยธินในการปฏิบัติการยุทธสะเทินน้ำสะเทินบก ครอบคลุมถึงการปฏิบัติการอื่น ๆ ของหน่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
DTI ได้ดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาต้นแบบยานเกราะล้อยาง 8x8 สำหรับปฏิบัติภารกิจของกองทัพบกแล้วจำนวนหนึ่งคัน 
ซึ่งทำให้ DTI ได้รับองค์ความรู้อย่างมากในด้านการออกแบบ กำหนดคุณลักษณะของยานเกราะล้อยางตามความต้องการของผู้ใช้งาน 
และการดำเนินการสร้างต้นแบบที่มีรายละเอียดซับซ้อน ซึ่งจากความต้องการเพิ่มประสิทธิภาพของการปฏิบัติการของหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ทำให้นำมาสู่ข้อตกลงดังกล่าว

ผลผลิตของโครงการวิจัย จะได้ต้นแบบยานเกราะล้อยางสำหรับปฏิบัติภารกิจ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน จำนวน 1 คัน 
พร้อมทั้งผลการทดสอบสมรรถนะและการทดลองระบบย่อยต่าง ๆ และคู่มือการใช้งานการซ่อมบำรุง รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ร่วมกันของนักวิจัย DTI และเจ้าหน้าที่ของกองทัพเรือ 
โดยต้นแบบกำหนดคุณสมบัติดังนี้
- สามารถบรรทุกเจ้าหน้าที่ประจำรถประกอบด้วย ผบ.รถ/ผบ.หมู่ 1 นาย พลขับ 1 นาย และพลยิง 1 นาย และอัตราบรรทุกทหารราบไม่น้อยกว่า 11 นาย
- มีความเร็วเดินทางบนบกโดยประมาณไม่ต่ำกว่า 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
- มีความเร็วเดินทางในน้ำสูงสุด 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
- มีระยะปฏิบัติการบนบก 600 กิโลเมตร
- มีระบบเติมลมและปล่อยลงยางอัตโนมัติ
- มีระบบอาวุธหลักขนาด 12.7 – 30 มม. และมีระบบอาวุธรองขนาด 7.62 มม.
- มีเกราะด้านข้างสามารถกันกระสุนตามมาตรฐานยุทโธปกรณ์ กระทรวงกลาโหม กมย.กห.ที่ 2/2547 ระดับ 3
- มีเกราะใต้ท้องสามารถป้องกันระเบิดตามมาตรฐาน NATO Level 2b (STANAG 4569)
- มีระบบป้องกันนิวเคลียร์ เคมี ชีวะ ภายในห้องโดยสาร
- มีระบบกล้องตรวจการณ์รอบตัวรถและระบบแสดงผล

สำหรับอีกโครงการหนึ่งคือโครงการวิจัยและพัฒนาอากาศยานไร้นักบินปีกนิ่งขึ้นลงทางดิ่ง (FUVEC) นั้น เป็นการร่วมมือระหว่าง DTI, สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ และบริษัท ท็อป เอ็นยีเนียริ่ง กรุ๊ป จำกัด 
โดยความเป็นมาของโครงการนั้น เกิดจากการที่บริษัท ท็อป เอ็นยีเนียริ่ง กรุ๊ป จำกัด ได้นำเสนอข้อมูลอากาศยานไร้นักบินปีกนิ่งขึ้น-ลงทางดิ่งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกองทัพเรือได้แก่ 
หน่วยฝ่ายอำนวยการ (กรมยุทธการทหารเรือ) หน่วยผู้ใช้งาน (กองเรือยุทธการ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ทัพเรือภาคที่ 1 ทัพเรือภาคที่ 2 ทัพเรือภาคที่ 3 กองการบินทหารเรือ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง) 
หน่วยเทคนิคที่เกี่ยวข้อง (กรมอู่ทหารเรือ กรมอิเล็กทรอนิกส์ กรมสรรพาวุธทหารเรือ) 
ซึ่งจากคุณลักษณะดังกล่าวสามารถนำมาใช้งานกับภารกิจของกองทัพเรือได้อย่างหลากหลายและมีความสอดคล้องกับนโยบายของกองทัพเรือในการนำอากาศยานไร้นักบินไปใช้งาน 
จึงเสนอเป็นโครงการวิจัยร่วมระหว่างกองทัพเรือ, DTI และบริษัท ท็อป เอ็นยีเนียริ่ง กรุ๊ป จำกัด โดยกำหนดความต้องการใช้งานของกองทัพเรือ 3 ภารกิจ ดังนี้

ภารกิจที่ 1 ใช้สำหรับการปฏิบัติภารกิจลาดตระเวน ตรวจการณ์ การพิสูจน์ทราบฝ่าย และชี้เป้าในระยะพ้นของฟ้าในพื้นที่ปฏิบัติการของกองทัพเรือ 
รวมทั้งเฝ้าตรวจการทำผิดทางทะเลต่าง ๆ การค้ามนุษย์ น้ำมันเถื่อน เป็นต้น ในระยะทางน้อยกว่า 100 กิโลเมตร
ภารกิจที่ 2 สำรวจคราบน้ำมันในทะเล ที่ระยะน้อยกว่า 300 กิโลเมตร
ภารกิจที่ 3 การทำแผนที่ภูมิประเทศแสดงขั้นความสูง (Mapping terrain)

โดยผลผลิตของโครงการจะได้ต้นแบบอากาศยานไร้นักบินปีกนิ่งขึ้น-ลงทางดิ่ง (FUVEX) ประกอบด้วยโครงสร้างอย่างน้อย 4 ลำ 
ระบบควบคุมอัตโนมัติ 4 ชุด ระบบขึ้นลงเรือ 2 ชุด ระบบควบคุมภาคพื้นดิน 2 ชุด อุปกรณ์ถ่ายภาพ 1 ชุด และระบบรับส่งข้อมูลแบบดิจิตอลที่มีคุณลักษณะดังนี้
- รัศมีปฏิบัติการแบบ Real time ระยะ 100 กิโลเมตร
- ตรวจการณ์พื้นที่รัศมี 150 กิโลเมตร การตรวจการณ์นอกรัศมีปฏิบัติการแบบ Real Time เป็นการบินอัตโนมัติโดยกำหนด Way point บันทึกภาพไว้บนตัวยาน (Silent Mode)
- ระยะเวลาปฏิบัติการอย่างน้อย 4 ชั่วโมง
- ความเร็วเดินทาง 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
- ทนความแรงของคลื่นลมได้ที่ระดับ 3 (Sea State 3) ความสูงของคลื่น 0.5 - 1.25 เมตร ความเร็วลม 7 - 10 น็อต (12.96-18.52 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
-สามารถขึ้นลงทางดิ่งแบบกึ่งอัตโนมัติบนดาดฟ้าเรือตั้งแต่เรือชุด ตกป. ขึ้นไปที่มีพื้นที่ท้ายเรือสำหรับการขึ้นลง 5x5 ตารางเมตร

ซึ่งทั้งสองโครงการ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของการวิจัยและพัฒนายุทโธปกรณ์ของประเทศ ส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศกับภาคเอกชน 
และเป็นการพึ่งพาตนเองเพื่อสนับสนุนการสร้างความมั่นคง เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีด้วยฝีมือคนไทยต่อไป

คงยังหวังได้หน่อยว่ารถหุ้มเกราะล้อยาง DTI Black Widow Spider 8x8 อาจจะได้ประจำการใน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน กองทัพเรือไทย 
หลังจากที่กระแสออกมาว่าอาจจะไม่ได้รับการคัดเลือกจากโครงการจัดหายานเกราะล้อยางแบบใหม่ของกองทัพบกไทย
รวมถึงอากาศยานไร้คนขับ FUVEC แบบ Falcon-V และ Pigeon-V ซึ่งมีการนำมาสาธิตในการฝึกร่วมประจำปีของกองทัพเรือมาแล้วครับ

Royal Thai Air Force Gripen(wikipedia.org)

ข่าวเรื่องการให้สัมภาษณ์ของ พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและอดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ หลังการเข้าพบของเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย นาย Staffan Herrstrom 
ที่หลายสำนักข่าวลงข่าวเหมือนกับว่ากองทัพอากาศไทยมีแผนจะจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ Gripen เพิ่มเติม ๔เครื่องไปแล้ว แต่สวีเดนปฏิเสธที่จะขายให้ไทยนั้น
ในความเป็นจริงที่ผ่านมา ตั้งแต่อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศท่านก่อนๆคือ พลอากาศเอก อิทธพร ศุภวงศ์ ก็มีแนวคิดการจัดหาเครื่องบินขับไล่ บ.ข.๒๐ Gripen C/D เพิ่มเติมสำหรับ ฝูงบิน๗๐๑ กองบิน๗ ที่มีประจำการอยู่ปัจจุบัน ๑๒เครื่องมาหลายปีแล้ว
เนื่องจากอัตราเครื่องประจำฝูงบินขับไล่ที่ ๑๒นั้นเป็นจำนวนที่สามารถคงระดับความพร้อมรบในขั้นต้นเท่านั้น ซึ่งจำนวนเครื่องในอัตราฝูงบินขับไล่ปกติของกองทัพอากาศจะอยู่ที่ ๑๖-๑๘เครื่อง 
เช่นที่เห็นได้จาก บ.ข.๑๙ F-16A/B ของ ฝูงบิน๑๐๒(F-16A/B Block15 ADF) และฝูงบิน๑๐๓(F-16A/B Block15 OCU) กองบิน๑ และ ฝูงบิน๔๐๓(F-16A/B EMLU) กองบิน๔

อย่างไรก็ตามส่วนตัวมองว่าการให้สัมภาษณ์ของอดีต ผบ.ทอ.นั้นน่าจะเป็นการแสดงความเห็นส่วนตัวของท่านเรื่องแนวคิดการจัดหาเครื่องบินขับไล่ Gripen เพิ่มเติมตามความต้องการอัตราจัดมาตรฐานของฝูงบินขับไล่ เช่นที่เคยมีมาหลายครั้งจนถึงวาระของ ผบ.ทอ.ท่านปัจจุบันเองมากกว่า
เพราะที่ผ่านมาก็เคยมีการพูดถึงเรื่องนี้มาหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าเป็นรูปธรรมชัดเจนจริงๆเสียที ก็อย่างที่ทราบครับว่ากองทัพอากาศยังมีภาระในหลายๆโครงการต่อเนื่องอยู่อีกมากจนอาจจะไม่มีการตั้งโครงการจัดหา Gripen เพิ่มได้ในเร็วๆนี้
ซึ่งทางการสวีเดนเองก็ได้ให้ข้อมูลปฏิเสธเรื่องการขาย Gripen ชุดใหม่ให้ไทยไป เพราะว่ายังไม่มีการติดต่อมาอย่างเป็นทางการจากทางไทยในขณะนี้ โดยไม่มีเรื่องเหตุผลด้านสถานการณ์ภายในของไทยและต่างประเทศ(ไม่นับการต่อต้านจาก NGO ในสวีเดนเอง)
ที่ผ่านมาหลายปีทางบริษัท SAAB ผู้ผลิตเครื่องและองค์กรด้านการส่งออกยุทโธปกรณ์ของสวีเดนก็ยังรออยู่ว่าเมื่อไรไทยจะสั่งจัดหา Gripen เพิ่มกับตนจริงๆเสียทีมาตลอด 
ซึ่งจากรายงานการเปิดตัวเครื่องบินขับไล่ Gripen E ล่าสุดตามที่รายงานไปนั้น ทาง SAAB ก็หวังที่จะขายทั้ง Gripen C/D เพิ่มเติมสำหรับฝูงบิน๗๐๑ และ Gripen E/F ในโครงการจัดหาเครื่องขับไล่ฝูงใหม่ในอนาคตของกองทัพอากาศไทยครับ

(ตรงนี้จากแต่ละข่าวทั้งหมด ก็แสดงถึงคุณภาพการนำเสนอของสื่อหลักของไทยที่ไม่ค่อยมีความน่าเชื่อถือและจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อสารมวลชนนัก จั่วหัวเรื่องชี้นำไปทางแต่เนื้อหาข่าวจริงคนละเรื่องและอีกหลายๆอย่างเป็นประจำ
รวมถึงสื่อบน Social Network หลายแห่งที่ไร้คุณภาพที่ส่วนหนึ่งมีวัตถุประสงค์โดยตรงหรือแอบแฝงในการบ่อนทำลายความน่าเชื่อขององค์กรที่มีหน้าที่พิทักษ์รักษาความมั่นคงและความสงบสุขของชาติ เพื่อให้ประชาชนในประเทศและต่างประเทศรับข้อมูลผิดๆด้วย 
นอกจาก Website, Facebook Page หรือ Twitter ของหน่วยงานโดยตรงที่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลทางการหรือเป็นบุคคลมืออาชีพที่มีความน่าเชื่อถือแล้ว ที่เหลือโดยมากมีแต่อะไรก็ไม่รู้เชื่อถือแทบไม่ได้เลย ซึ่งพวกหลังที่ว่ามาน่าเบื่อน่ารำคาญมากแต่เราทำอะไรไม่ค่อยได้)