วันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

DTI เตรียมเปิดตัวยานเกราะล้อยางสะเทินน้ำสะเทินบก AAPC สำหรับนาวิกโยธินไทย





Defence Technology Institute or DTI with CHO Thavee PLC. to unveil Amphibious Armored Personnel Carrier(AAPC) 8x8 wheeled amphibious armored vehicle at Defense and Security 2017 exhibition in Bangkok Thailand on 6-9 November.
Prototype of DTI AAPC based on previously Royal Thai Army's DTI Black Widow Spider 8x8 for requirement of Royal Thai Marine Corps, Royal Thai Navy.


สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ สทป. หรือ DTI ร่วมกับ บริษัท ช ทวี จำกัด(มหาชน) เตรียมเปิดตัวยานเกราะล้อยางลำเลียงพลสะเทินน้ำสะเทินบกต้นแบบ 8x8 Amphibious Armored Personnel Carrier(AAPC) ที่พัฒนาในไทยเป็นครั้งแรก
ในงานแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ Defense and Security 2017 ที่ศูนย์จัดแสดงสินค้า Impact เมืองทองธานี กรุงเทพฯ ประเทศไทย ระหว่างวันที่ ๖-๙ พฤศจิกายนที่จะถึงนี้

โครงการวิจัยและพัฒนายานเกราะล้อยางลำเลียงพลสะเทินน้ำสะเทินบกนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิจัยและพัฒนาต้นแบบยานเกราะล้อยางสำหรับปฏิบัติภารกิจของ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน กองทัพเรือไทย
โดยมีพื้นฐานพัฒนาจากยานเกราะล้อยาง 8x8 แบบ Black Widow Spider สำหรับกองทัพบกไทยที่มีการพัฒนาสร้างและทดสอบรถต้นแบบแล้วจำนวนหนึ่งคัน

ยานเกราะล้อยางสะเทินน้ำสะเทินบก AAPC มีการขยายขนาดตัวถังรถเพื่อให้สามารถบรรทุกกำลังพลได้มากขึ้นและมีกำลังลอยตัวในน้ำได้ดีขึ้น รวมถึงด้านบนตัวถังที่รองรับป้อมปืนอาวุธขนาดกลาง(Medium Caliber Weapons) เช่น ป้อมปืน Remote Weapon Station ปืนใหญ่กลขนาด 30mm
เห็นได้จากด้านหน้าของรถที่ติดแผ่นชายน้ำขนาดใหญ่ซึ่งพับยกขึ้นลงได้ รวมถึงด้านท้ายรถที่ติดตั้งระบบขับเคลื่อนขณะลอยตัวในน้ำที่มีกำลังมากขึ้น เพื่อให้สามารถทำความเร็วขณะลอยตัวในน้ำได้สูงกว่ายานเกราะล้อยาง Black Widow Spider

โดยยานเกราะล้อยางลำเลียงพลสะเทินน้ำสะเทินบกต้นแบบ มีการกำหนดคุณสมบัติดังนี้
- สามารถบรรทุกเจ้าหน้าที่ประจำรถประกอบด้วย ผบ.รถ/ผบ.หมู่ ๑นาย พลขับ ๑นาย และพลยิง ๑นาย และอัตราบรรทุกทหารราบไม่น้อยกว่า ๑๑นาย
- มีความเร็วเดินทางบนบกโดยประมาณไม่ต่ำกว่า 80km/h
- มีความเร็วเดินทางในน้ำสูงสุด 15km/h
- มีระยะปฏิบัติการบนบก 600km
- มีระบบเติมลมและปล่อยลงยางอัตโนมัติ
- มีระบบอาวุธหลักขนาด 12.7-30mm และมีระบบอาวุธรองขนาด 7.62mm
- มีเกราะด้านข้างสามารถกันกระสุนตามมาตรฐานยุทโธปกรณ์ กระทรวงกลาโหม กมย.กห.ที่ ๒/๒๕๔๗ ระดับ Level 3
- มีเกราะใต้ท้องสามารถป้องกันระเบิดตามมาตรฐาน NATO Level 2b (STANAG 4569)
- มีระบบป้องกันนิวเคลียร์ เคมี ชีวะ ภายในห้องโดยสาร
- มีระบบกล้องตรวจการณ์รอบตัวรถและระบบแสดงผล

นาย สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ว่าบริษัทมีความพร้อมที่ผลิตรถได้ตามความต้องการ ไม่ว่าจะ ๑๐-๒๐ หรือไม่ว่าจะกี่คัน
โดยเมื่อสองปีที่แล้วเคยมีประเทศเพื่อนบ้านของไทยขอซื้อแบบรถกับบริษัท ซึ่งมีการคุยกับ DTI เพื่อผลิตร่วมกันและส่งออกต่างประเทศ ซึ่งสายการผลิตจำนวนมากต่อเดือนคาดว่าจะทำได้ถึง ๑๕-๒๐คันต่อเดือน

พันเอก ชัชพงษ์ พันธุ์พยัคฆ์ ผู้อำนวยการโครงการของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศกล่าวว่า สิ่งที่ท้าทายของโครงการนี้ไม่ใช่การผลิตหรือการวิจัย แต่เป็นความเชื่อมั่นของเหล่าทัพผู้ใช้งาน สทป.ต้องสามารถส่งผลงานให้เหล่าทัพผู้ใช้งานทดสอบจนมีความเชื่อมั่นได้
นาวาอากาศโท อธิวัฒน์ บุญมีมา ผู้จัดการโครงการของ สปท. กล่าวว่า ช ทวี และบริษัทที่ปรึกษา ST Kinetics สิงคโปร์ ได้ให้องค์ความรู้ในการออกแบบ ประกอบรวม และทดสอบแก่นักวิจัยของ DTI ซึ่งมีประโยชน์ในการวิจัยพัฒนาและผลิตยานเกราะล้อยางแก่กองทัพไทยในอนาคตได้

มีข้อสังเกตว่ายานเกราะล้อยางลำเลียงพลสะเทินน้ำสะเทินบก AAPC ของไทยมีความคล้ายคลึงกับยานเกราะล้อยาง Terrex 2 / Terrex 3 ของ Singapore Technologies Kinetics สิงคโปร์(http://aagth1.blogspot.com/2016/07/st-kinetics-terrex.html)
โดย ST Kinetics ได้ร่วมกับ Science Applications International Corporation(SAIC) สหรัฐฯเสนอ Terrex 2 เข้าแข่งขันในโครงการจัดหายานเกราะล้อยาง Amphibious Combat Vehicle Phase 1 Increment 1 (ACV 1.1) นาวิกโยธินสหรัฐฯ(US Marine Corps)ด้วย(http://aagth1.blogspot.com/2015/09/st-kinetics-terrex-2.html)

ดร.อาทิตย์ ฤทธิ์เลื่อน หัวหน้าระบบวิศวกรรมของ สปท.กล่าวว่า จำเป็นจะต้องบูรณาการความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรการศึกษาเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิจัยพัฒนาเพื่อให้ได้เกิดผลที่ดีที่สุด
ทั้งนี้ยานเกราะล้อยางลำเลียงพลสะเทินน้ำสะเทินบกต้นแบบนี้จะถูกส่งมอบให้ DTI และนาวิกโยธินกองทัพเรือไทย เพื่อดำเนินการทดสอบสมรรถนะและประเมินค่าต่อไปในอนาคตครับ