วันอังคารที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2564

กองทัพเรือไทยทำพิธีวางกระดูกงูเรือลากจูงขนาดกลางชุดเรือหลวงปันหยีลำที่สาม






Royal Thai Navy was conducted Keel laying ceremony for new thrid Panyi-class Tugboat at Asian Marine Service PCL (ASIMAR) in 13 September 2021.

พิธีวางกระดูกงูเรือลากจูงขนาดกลาง กองทัพเรือ

วันนี้ (13 กันยายน 2564) เวลา 12.30 น. พลเรือเอก ชาติชาย ศรีวรขาน  ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีวางกระดูกงูเรือลากจูงขนาดกลาง ณ อู่ต่อเรือ บริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน) อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ 
โดยมี พลเรือโท วุฒิชัย สายเสถียร รองเสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือลากจูงขนาดกลาง ให้การต้อนรับ และกล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดหาเรือในครั้งนี้ 

ตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือ พ.ศ.2558 - 2567 โครงสร้างกำลังรบ ได้กำหนดให้มีเรือลากจูง สำหรับใช้ปฏิบัติราชการในพื้นที่ต่าง ๆ จำนวน 8 ลำ โดยปัจจุบันมีเรือลากจูงใช้ปฏิบัติราชการแล้ว จำนวน 6 ลำ และมีแผนปลดระวางประจำการ 1 ลำ ซึ่งจะเหลือเรือลากจูงใช้ในราชการ เพียง 5 ลำ
กองทัพเรือจึงมีความจำเป็นในการจัดหาเรือลากจูงขนาดกลางเพื่อมาทดแทน ซึ่งการต่อเรือลากจูงขนาดกลางลำนี้ จะทำให้มีเรือลากจูงที่เพียงพอต่อการสนับสนุนเรือขนาดใหญ่และเรือดำน้ำที่กองทัพเรือจะได้รับมอบมาใช้ปฏิบัติราชการในปี 2567 

การต่อเรือลากจูงขนาดกลางลำนี้ กองทัพเรือได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยใช้วิธีคัดเลือกจากบริษัทอู่ต่อเรือภายในประเทศ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมต่อเรือภายในประเทศ ให้มีความเข้มแข็ง ทั้งทางด้านองค์บุคคล องค์ความรู้ และช่วยลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ 
อันจะนำไปสู่การพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 

สำหรับเรือลากจูงขนาดกลางลำนี้ จัดสร้างขึ้นโดยใช้แบบเรือ Ramparts 3200 CLASS TUG  เป็นแบบพื้นฐาน โดยพัฒนาระบบและส่วนประกอบให้สามารถรองรับความต้องการใช้งานทางด้านยุทธการ ซึ่งจะมีขีดความสามารถในการสนับสนุนเรือขนาดใหญ่ และเรือดำน้ำของกองทัพเรือ
ในการเข้า-ออกจากท่า การขจัดคราบน้ำมันในทะเล การดับเพลิงในเรือในเขตฐานทัพ ท่าเรือต่าง ๆ ตลอดจนสนับสนุนภารกิจอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
ซึ่งการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าว เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โปร่งใส เป็นธรรม และเป็นไปตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ทุกประการ โดยมีกำหนดส่งมอบภายใน 540 วัน นับถัดจากวันลงนามในสัญญา หรือภายในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 

สำหรับเรือลากจูงขนาดกลางที่จัดให้มีพิธีวางกระดูกงูในวันนี้ มีคุณลักษณะเฉพาะที่สำคัญ คือ มีความยาวตลอดลำ 31.5 เมตร ความกว้างตัวเรือ 12.6 เมตร กินน้ำลึกเต็มที่ 4.5 เมตร ความเร็วสูงสุดต่อเนื่องที่ระวางขับน้ำเต็มที่ 12.1 นอต
ห้องพักสำหรับกำลังพล 20 นาย มีพื้นที่จัดเก็บเสบียงอาหารและระบบน้ำจืดเพียงพอต่อการปฏิบัติงานในทะเลได้ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 3 วันระยะปฏิบัติการไม่น้อยกว่า 2,500 ไมล์ทะเล ด้วยความเร็ว 8 นอตที่ระวางขับน้ำเต็มที่และมีกำลังดึงไม่น้อยกว่า 55 เมตริกตัน

โอกาสนี้ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้กล่าวเพื่อเป็นเกียรติในพิธี โดยมีใจความสำคัญระบุว่า
“ตามที่กองทัพเรือได้ดำเนินการจัดหาเรือลากจูงขนาดกลาง จำนวน 1 ลำ โดยว่าจ้างบริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการสร้างเรือ 
ให้สามารถตอบสนองภารกิจของกองทัพเรือ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการดำเนินการในขั้นตอนต่าง ๆ ได้สำเร็จเรียบร้อยมาตามลำดับ จนถึงขั้นตอนที่สำคัญในวันนี้ คือ การวางกระดูกงูเรือ 
ซึ่งผมมีความเชื่อมั่นในขีดความสามารถและประสบการณ์ของ บริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน) ว่าจะสามารถดำเนินการสร้างเรือลากจูงขนาดกลางลำนี้ ให้ประสบผลสำเร็จลุล่วงด้วยดีทุกประการ”

ในส่วนของพิธีวางกระดูกงูเรือของประเทศไทยและต่างประเทศ ถือเป็นพิธีกรรมที่มีความสำคัญ และได้ปฏิบัติสืบต่อเนื่องกันมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่สมัยโบราณ 
อันถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเรือที่จะก่อให้เกิดความสวัสดีมีชัย และความวัฒนาถาวรให้แก่เรือ และยังถือว่าเป็นการอัญเชิญแม่ย่านางเรือ ให้เข้าสถิตแก่เรืออีกด้วย

กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ

ตามที่แบบเรือลากจูงขนาดกลางลำใหม่ที่มีพิธีวางกระดูงูเรือเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๔(2021) ยังคงใช้แบบเรือ Ramparts 3200 ของ บริษัท Robert Allan Ltd.แคนาดา จึงเป็นที่เข้าใจว่าคือเรือที่ต่อจากเรือลากจูงขนาดกลางชุดเรือหลวงปันหยีเป็นลำที่สาม
โดยสองลำแรกคือ เรือหลวงปันหยี 857 ขึ้นระวางประจำการเมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๐(2017)(https://aagth1.blogspot.com/2016/10/blog-post_43.html) และเรือหลวงหลีเป๊ะ 858 ขึ้นระวางประจำการเมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๓(2020)(https://aagth1.blogspot.com/2020/01/blog-post_24.html)

ขณะที่ ร.ล.ปันหยี และ ร.ล.หลีเป๊ะ ทั้งสองลำถูกสร้างโดย บริษัท อิตัลไทย มารีน จำกัด(Italthai Marine Limited) เรือลากจูงขนาดกลางลำใหม่ถูกสร้างโดย บริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน)(ASIMAR: Asian Marine Service PCL)
โดยถ้าดูตามระยะเวลาการสร้างของเรือลากจูงขนาดกลางชุด ร.ล.ปันหยีทั้งสองลำ เรือลากจูงขนาดกลางลำใหม่น่าจะถูกปล่อยเรือลงน้ำได้ในปี พ.ศ.๒๕๖๕(2022)(https://aagth1.blogspot.com/2018/07/blog-post_5.html) และขึ้นระวางประจำการได้ในปี พ.ศ.๒๕๖๖(2023)(https://aagth1.blogspot.com/2019/04/blog-post_10.html)

ปัจจุบันกองทัพเรือไทยมีเรือลากจูงประจำการอยู่ ๖ลำนอกจากชุด ร.ล.ปันหยี ๒ลำคือ เรือลากจูงขนาดกลางชุดเรือหลวงริ้น ๒ลำคือ เรือหลวงริ้น 853 และเรือหลวงรัง 854 และเรือลากจูงขนาดกลางชุดเรือหลวงแสมสาร ๒ลำคือ เรือหลวงแสมสาร 855 และเรือหลวงแรด 856
ทั้งนี้เรือลากจูงขนาดเล็กชุดเรือหลวงกลึงบาดาล ๒ลำคือเรือหลวงกลึงบาดาร 851 และเรือหลวงมารวิชัย 852 ที่ขึ้นระวางประจำการตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๗(1954) เป็นที่เข้าใจว่าน่าจะใกล้ปลดประจำการแล้ว ๑ลำ หรืออาจจะใกล้ปลดประจำการไปแล้วทั้ง ๒ลำ 

ตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือ พ.ศ.๒๕๕๘-๒๕๖๗(2015-2024) ที่ต้องการเรือลากจูงไว้ใช้งานรวม ๘ลำ ทำให้เป็นที่เข้าใจว่ากองทัพเรือไทยจะมีการจัดหาเรือลากจูงขนาดกลางเพิ่มเติมอีก ๑ลำต่อจากเรือลากจูงใหม่ที่วางกระดูกงูเรือไป ในการทดแทนเรือลากจูงชุด ร.ล.กลึงบาดาร ๒ลำ
เช่นเดียวกับเรือลากจูงขนาดกลางชุด ร.ล.ปันหยี ทั้ง ๒ลำ เรือลากจูงขนาดกลางลำใหม่ยังถูกออกแบบเพื่อใช้ในการสนับสนุนเรือดำน้ำแบบ S26T จีนที่มีกำหนดรับมอบล่าสุดในปี พ.ศ.๒๕๖๗(2024) ด้วยครับ(https://aagth1.blogspot.com/2019/09/s26t.html)