วันพุธที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2562

กองทัพเรือไทยทำพิธีปล่อยเรือลากจูงขนาดกลางลำที่สองลงน้ำ

Royal Thai Navy's launching ceremony of new second Panyi-class Tugboat from Italthai Marine Limited, 9 April 2019

Clip: พิธีปล่อยเรือลากจูงขนาดกลางลำที่ 2 ในชุดเรือหลวงปันหยี ลงน้ำที่อู่ต่อเรือ บริษัท อิตัลไทย จำกัด
https://www.facebook.com/prthainavy/videos/641170946324700/


กองทัพเรือ จัดพิธีปล่อยเรือลากจูงขนาดกลาง (ลจก.) ลำที่สองลงน้ำ โดยเรือลำนี้จะมีกภารกิจสำคัญนอกเหนือจากภารกิจของเรือลากจูงโดยทั่วไปคือ การสนับสนุนการปฏิบัติการการปฏิบัติงานของเรือดำน้ำ ซึ่งที่กองทัพเรือได้จัดหาและจะเข้าประจำการในอนาคตอันใกล้นี้

วันนี้ (9 เมษายน 2562) เวลา 09.45 น. พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีปล่อยเรือลากจูงขนาดกลาง (ลจก.) ลำที่สอง ลงน้ำ 
โดยมี นาวาเอกหญิง อุบลวรรณ รุดดิษฐ์ 'นายกสมาคมภริยาทหารเรือ เป็นสุภาพสตรีผู้ประกอบพิธีปล่อยเรือ ณ อู่ต่อเรือ บริษัท อิตัลไทย มารีน จำกัด ถนนท้ายบ้าน ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ
กองทัพเรือ ได้ลงนามในสัญญากับ บริษัท อิตัลไทย มารีน จำกัด ในการจ้างจ้างสร้างเรือลากจูงขนาดกลาง (ลจก.) จำนวน 2 ลำ สร้างเรือตามโครงการจัดหาเรือลากจูงขนาดกลาง เพื่อทดแทนเรือเก่าและให้มีเรือลากจูงขนาดกลาง ในจำนวนที่เพียงพอ สามารถ รองรับภารกิจที่กองทัพเรือกำหนด 
ได้แก่ สนับสนุนการนำเรือรบขนาดใหญ่ เข้า - ออก จากท่าเทียบเรือ การดับเพลิง ในเขตฐานทัพตามท่าเรือต่าง ๆ ของกองทัพเรือ รวมถึง การสนับสนุนภารกิจอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ การขจัดคราบน้ำมันบริเวณท่าเรือและชายฝั่ง การลากเป้าฝึกยิงอาวุธ เป็นต้น 
โดยเรือลำนี้จะมีภารกิจสำคัญเพิ่มเติมคือ การสนับสนุนการปฏิบัติการของเรือดำน้ำ ที่กองทัพเรือจัดหาและจะเข้าประจำการในอนาคตอันใกล้นี้ ได้แก่ การสนับสนุนการเข้าเทียบ – ออกจากเทียบของเรือดำน้ำ และการสนับสนุนที่เกี่ยวข้องให้เรือดำน้ำมีความพร้อมก่อนออกปฏิบัติการในทะเลอีกด้วย
ทั้งนี้ การว่าจ้างบริษัทเอกชนภายในประเทศต่อเรือครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากอู่เรือเป็นอย่างดี ส่งผลดีต่อทางราชการ นับได้ว่าสะดวกในขั้นการปรับรายละเอียดของแบบเรือให้ตรงกับความต้องการของทางราชการ 
รวมทั้งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้อู่เรือภาคเอกชนของไทยเกิดความชำนาญ รองรับการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการใช้เทคโนโลยี อันจะเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการต่อเรือภายในประเทศอีกทางหนึ่ง


คุณลักษณะของเรือลากจูงขนาดกลาง
เป็นไปตามที่กองทัพเรือกำหนด แบบเรือออกแบบโดย บริษัท Robert Allan Ltd., Naval Architects and Marine Engineering ประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นผู้ออกแบบเรือลากจูงที่มีชื่อเสียงระดับโลก 
แบบเรือที่ใช้คือ Ramparts 3200CL เป็นแบบเรือมาตรฐาน Ramparts 3200 Series ของ Robert Allan ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ได้ผ่านการสร้างโดยอู่ต่อเรือต่าง ๆ ทั่วโลก และเป็นที่ยอมรับของเจ้าของเรือมาแล้วเป็นจำนวนมากกว่า 100 ลำ และเป็นแบบเดียวกับเรือหลวงปันหยี
แบบเรือ Ramparts 3200 ของ Robert Allan Ltd. ได้ปรับปรุงให้ตรงกับความต้องการของกองทัพเรือ ตัวเรือทำด้วยเหล็กประสานด้วยการเชื่อม ความหนาของแผ่นเหล็กออกแบบให้หนากว่าความต้องการขั้นต่ำของสมาคมจัดชั้นเรือ 
และเรือออกแบบให้เป็นเรือที่ให้บริการบริเวณท่าเรือประเภท ship – assist tug ลากจูง (Towing) ส่วนการทำงานใช้ดึง และดันทางด้านหัวเรือเป็นหลัก โดยมี กว้านลากจูง และกว้านเก็บเชือก 
ระบบขับเคลื่อนเป็นแบบ Azimuth Stern Drive (ASD) หรือ Z – drive ชนิดสองใบจักร ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดีเซล และติดตั้งระบบดับเพลิงภายนอกเรือ ที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดีเซลที่แยกต่างหากจากเครื่องจักรใหญ่


สมรรถนะของเรือ
เรือมีกำลังเพียงพอที่จะทำให้เรือมีกำลังดึงไม่น้อยกว่า 53 เมตริกตัน และวงหันหมุนรอบตัวเอง (360 องศา) ใช้เวลาไม่เกิน 60 วินาที

ลักษณะโดยทั่วไป
ขนาดของเรือ
1. ความยาวตลอดลำเฉพาะตัวเรือ 32.00 เมตร
2. ความกว้าง 12.40 เมตร
3. กินน้ำลึกสูงสุด 4.59 เมตร
4. ระยะตั้งฉากจากหัวเรือถึงเก๋ง 9.10 เมตร


ความจุถัง (อัตราการบรรทุก)
1. น้ำมันเชื้อเพลิง 149.2 ลูกบาศก์เมตร
2. น้ำจืด 49.00 ลูกบาศก์เมตร
3. ถังน้ำถ่วงเรือ 56.00 ลูกบาศก์เมตร
4. ถังบรรจุของเสีย 5.90 ลูกบาศก์เมตร
5. ถังเก็บน้ำมันที่สกปรกปนเปื้อน 5.90 ลูกบาศก์เมตร
6. ถังน้ำยาดับเพลิงโฟมเคมี 6.90 ลูกบาศก์เมตร
7. ถังบรรจุสารเคมีกำจัดคราบน้ำมัน 6.90 ลูกบาศก์เมตร

ความเร็วเรือ
ความเร็วสูงสุดต่อเนื่องที่ระวางขับน้ำเต็มที่ ไม่ต่ำกว่า 12 นอต โดยกำลังเครื่องยนต์ไม่เกินร้อยละ 100 ของ MCR (Maximum Continuous Rating)


ระยะปฏิบัติการ
ระยะปฏิบัติการไม่น้อยกว่า 2500 ไมล์ทะเล ด้วยความเร็ว 8 นอต ที่ระวางขับน้ำเต็มที่ (Full Load Displacement) โดยใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ไม่เกินร้อยละ 95 ของความจุน้ำมันเชื้อเพลิงเต็มถัง

กำลังพลประจำเรือ
นายทหาร จำนวน 3 นาย
พันจ่า จำนวน 3 นาย
จ่า จำนวน 10 นาย
พลทหาร จำนวน 4 นาย
รวมพลประจำเรือทั้งหมด จำนวน 20 นาย

การตั้งชื่อเรือรบ
ตามระเบียบของ กองทัพเรือ ได้กำหนดหลักเกณฑ์การตั้งชื่อเรือรบ ตามประเภทของเรือต่าง ๆ ไว้ดังนี้
1. เรือพิฆาต ตั้งตามชื่อตัวบุคคล บรรดาศักดิ์ หรือสกุล ของผู้ประกอบคุณประโยชน์ไว้แก่ชาติ เช่น เรือหลวงนเรศวร เรือหลวงตากสิน
2. เรือฟริเกต ตั้งตามชื่อแม่น้ำสายสำคัญ เช่น เรือหลวงเจ้าพระยา เรือหลวงบางปะกง
3. เรือคอร์เวต ตั้งตามชื่อเมืองหลวง และเมืองสำคัญในประวัติศาสตร์ เช่น เรือหลวงสุโขทัย เรือหลวงรัตนโกสินทร์
4. เรือเร็วโจมตี (อาวุธนำวิถี) ตั้งตามชื่อเรือรบในทะเล สมัยโบราณที่มีความเหมาะสมกับหน้าที่ของเรือนั้น ๆ เช่น เรือหลวงอุดมเดช เรือหลวงปราบปรปักษ์
5. เรือเร็วโจมตี (ปืน,ตอร์ปิโด) ตั้งตามชื่อจังหวัดชายทะเล เช่น เรือหลวงปัตตานี เรือหลวงนราธิวาส
6. เรือดำน้ำ ตั้งตามชื่อผู้มีอิทธิฤทธิ์ในวรรณคดีในด้านการดำน้ำ เช่น เรือหลวงมัจฉานุ
7. เรือทุ่นระเบิด ตั้งตามชื่อสมรภูมิรบที่สำคัญในประวัติศาสตร์ เช่น เรือหลวงบางระจัน
8. เรือยกพลขึ้นบก เรือลากจูง เรือส่งกำลังบำรุง เรือน้ำมัน ตั้งตามชื่อเกาะ เช่น เรือหลวงอ่างทอง (เรือยกพลขึ้นบก) เรือหลวงมาตรา (เรือน้ำมัน) เรือหลวงสิมิลัน (เรือส่งกำลังบำรุง) เรือหลวงปันหยี (เรือลากจูง)
9. เรือตรวจการณ์ (ปืน) ตั้งชื่อตามอำเภอชายทะเล เช่น เรือหลวงหัวหิน
10. เรือตรวจการณ์ (ปราบเรือดำน้ำ) ตั้งชื่อตามเรือรบในลำน้ำ สมัยโบราณที่มีความเหมาะสมกับหน้าที่ของเรือนั้น ๆ เช่น เรือหลวงทยานชล
11. เรือสำรวจ ตั้งชื่อตามดาวที่สำคัญ เช่น เรือหลวงจันทร เรือหลวงสุริยะฃเรือหลวงศุกร์
12.เรือหน้าที่พิเศษ ตั้งชื่อด้วยถ้อยคำที่มีความหมายและเหมาะกับหน้าที่ของเรือนั้น เช่น เรือหลวงจักรีนฤเบศร
13. เรือขนาดเล็ก (เล็กกว่า 200 ตัน) ตั้งชื่อด้วยอักษรย่อตามชนิดและหน้าที่ของเรือนั้น มีหมายเลขต่อท้าย เช่น เรือ ต.991


กองทัพเรือ ได้กำหนดหลักเกณฑ์การตั้งชื่อเรือรบ ตามประเภทของเรือ โดยในส่วนเรือยกพลขึ้นบก เรือลากจูง เรือส่งกำลังบำรุง เรือน้ำมัน ตั้งตามชื่อเกาะ
พิธีปล่อยเรือลงน้ำ เป็นพิธีที่มีมาตั้งแต่ครั้นโบราณกาล เมื่อถึงเวลาปล่อยเรือเดินทะเลลงน้ำจะต้องทำพิธี เพื่อให้เกิดสวัสดิมงคลแก่ตัวเรือเสียก่อน ในสมัยปัจจุบันพิธีปล่อยเรือลงน้ำ แบบสากล ให้สุภาพสตรีเป็นผู้ประกอบพิธี 
โดยวิธีปล่อยขวดแชมเปญให้กระทบหัวเรือ การนี้สืบเนื่องมาจากการดื่มอวยพรด้วยถ้วยเงิน เมื่อดื่มแล้วก็ขว้างถ้วยขึ้นไปบนเรือปรากฏว่าสิ้นเปลืองมาก จึงเปลี่ยนเป็นขว้างขวดกับหัวเรือแทน 
คราวหนึ่งสุภาพสตรีผู้ประกอบพิธีได้ขว้างขวดแชมเปญไม่ถูกหัวเรือ แต่กลับไปถูกแขกที่มาในงานพิธีบาดเจ็บ จึงได้ใช้เชือกผู้คอขวดเสียก่อนเสมอ 
จนถึงปัจจุบันนี้พิธีปล่อยเรือลงน้ำของราชนาวี เฉพาะที่มีหลักฐานปรากฏในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า เจ้าอยู่หัว ได้มีพิธีปล่อยเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลงน้ำ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2454 
ส่วนเรือหลวงที่สร้างจากต่างประเทศที่มีหลักฐานปรากฏ ได้แก่ เรือหลวงเสือคำรณสินธุ์ ประเภทเรือพิฆาต มีพิธีปล่อยเรือลงน้ำ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2453 ณ อู่กาวาซากิ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น 
สำหรับเรือหลวง ตัวเรือเป็นเหล็ก สร้างโดยกรมอู่ทหารเรือที่มีพิธีปล่อยเรือลงน้ำเป็นครั้งแรก คือ เรือหลวงสัตหีบ (ลำที่ 1) 
ซึ่งมีคุณหญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ ภริยา จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (ในขณะนั้น) เป็นสุภาพสตรีผู้ประกอบพิธีปล่อยเรือลงน้ำ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2500

กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
https://www.facebook.com/prthainavy/posts/2378802228837786

เรือลากจูงขนาดกลางชุดเรือหลวงปันหยีลำที่สองหมายเลขเรือ 858 ที่ได้ทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำเมื่อวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๒(2019) ได้มีการทำพิธีวางกระดูกงูเรือไปเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๑(2018)(https://aagth1.blogspot.com/2018/07/blog-post_5.html)
จากข้อมูลที่เผยแพร่โดยกองทัพเรือไทยเรือลากจูงขนาดกลางลำที่สอง ที่สร้างในไทย โดยอู่เรือบริษัท Italthai Marine นี้น่าจะยังไม่ได้รับการขอพระราชทานชื่อเรือ เป็นที่เข้าใจว่าเมื่อเรือมีพิธีขึ้นระวางเข้าประจำการแล้วจะมีการประกาศชื่อเรือในคราวเดียวกัน
โดยเรือลากจูงขนาดกลางชุด ร.ล.ปันหยี ลำที่สอง นี้ยังมีภารกิจในการสนับสนุนการเข้าเทียบ-ออกจากเทียบและการสนับสนุนที่เกี่ยวข้องให้เรือดำน้ำแบบ S26T ที่กองทัพเรือไทยจัดหาจากจีนด้วยครับ(https://aagth1.blogspot.com/2018/09/s26t.html)