วันศุกร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2563

กองทัพเรือไทยทำพิธีรับมอบเรือลากจูงขนาดกลางชุดเรือหลวงปันหยีลำที่สอง เรือหลวงหลีเป๊ะ

Royal Thai Navy's hand-over ceremony of new second Panyi-class Tugboat HTMS Lipe (858) at Laem Thian Pier, Sattahip Naval Base, Chonburi province, Thailand in 23 January 2020.


กองทัพเรือ จัดพิธีรับมอบเรือลากจูงขนาดกลาง เรือหลวงหลีเป๊ะ
วันนี้ (23 มกราคม 2563) เวลา 07.50 น. พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีรับมอบเรือลากจูงขนาดกลาง เรือหลวงหลีเป๊ะ ณ ท่าเรือแหลมเทียน การท่าเรือสัตหีบ
ฐานทัพเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยมี พลเรือเอก ชุมศักดิ์ นาควิจิตร ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ พลเรือตรี เทวินทร์ ศิลปชัย ผู้บัญชาการกองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ กองเรือยุทธการ และแขกผู้มีเกียรติให้การต้อนรับ


กองทัพเรือ ได้ว่าจ้างสร้างเรือลากจูงขนาดกลาง (ลจก.) จำนวน ๒ ลำ จากบริษัท อิตัลไทย มารีน จำกัด โดยได้รับมอบเรือไว้ใช้ในราชการแล้วจำนวน 1 ลำ คือ เรือหลวงปันหยี ซึ่งได้ขึ้นสังกัดกับกองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ กองเรือยุทธการ 
ส่วนเรือหลวงหลีเป๊ะ กองทัพเรือได้ลงนามในสัญญากับ บริษัท อิตัลไทย มารีน จำกัด ในการจ้างสร้างเรือตามโครงการจัดหาเรือลากจูงเพื่อทดแทนเรือเก่าและให้มีเรือลากจูงขนาดกลางในจำนวนที่เพียงพอ 
รองรับภารกิจสนับสนุนการนำเรือรบขนาดใหญ่ เข้า - ออก จากท่าเทียบเรือ การดับเพลิงในเขตฐานทัพตามท่าเรือต่าง ๆ ของกองทัพเรือ
รวมถึงการสนับสนุนภารกิจอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ การขจัดคราบน้ำมัน บริเวณท่าเรือและชายฝั่ง การลากเป้าฝึกยิงอาวุธ เป็นต้น โดยการว่าจ้างบริษัทเอกชนภายในประเทศต่อเรือนี้
นับได้ว่าเป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้อู่เรือภาคเอกชนของไทยเกิดความชำนาญ รองรับการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการใช้เทคโนโลยี อันจะเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการต่อเรือภายในประเทศอีกทางหนึ่ง คุณลักษณะของเรือลากจูงขนาดกลาง เป็นไปตามที่กองทัพเรือกำหนด



แบบเรือออกแบบโดย บริษัท Robert Allan Ltd., Naval Architects and Marine Engineering ประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นผู้ออกแบบเรือลากจูงที่มีชื่อเสียงระดับโลก 
แบบเรือที่ใช้คือ Ramparts 3200CL เป็นแบบเรือมาตรฐาน Ramparts 3200 Series ของ Robert Allan ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ได้ผ่านการสร้างโดยอู่ต่อเรือต่าง ๆ ทั่วโลก และเป็นที่ยอมรับของเจ้าของเรือมาแล้ว เป็นจำนวนมากกว่า 100 ลำ และเป็นแบบเดียวกับเรือหลวงปันหยี
แบบเรือ Ramparts 3200 ของ Robert Allan Ltd. ได้ปรับปรุงให้ตรงกับความต้องการของกองทัพเรือ ตัวเรือทำด้วยเหล็กประสานด้วยการเชื่อม ความหนาของแผ่นเหล็กออกแบบให้หนากว่าความต้องการขั้นต่ำของสมาคมจัดชั้นเรือ 
และเรือออกแบบให้เป็นเรือที่ให้บริการบริเวณท่าเรือประเภท ship – assist tug ลากจูง (Towing) ส่วนการทำงานใช้ดึงและดันทางด้านหัวเรือเป็นหลัก โดยมีกว้านลากจูง และกว้านเก็บเชือก
ระบบขับเคลื่อนเป็นแบบ Azimuth Stern Drive (ASD) หรือ Z – drive ชนิดสองใบจักร ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดีเซล และติดตั้งระบบดับเพลิงภายนอกเรือ ที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดีเซลที่แยกต่างหากจากเครื่องจักรใหญ่ 
สมรรถนะของเรือ เรือมีกำลังเพียงพอที่จะทำให้เรือมีกำลังดึงไม่น้อยกว่า 53 เมตริกตัน และวงหันหมุนรอบตัวเอง (360 องศา) ใช้เวลาไม่เกิน 60 วินาที



ลักษณะโดยทั่วไป

ขนาดของเรือ
1. ความยาวตลอดลำเฉพาะตัวเรือ 32.00 เมตร
2. ความกว้าง 12.40 เมตร
3. กินน้ำลึกสูงสุด 4.59 เมตร
4. ระยะตั้งฉากจากหัวเรือถึงเก๋ง 9.10 เมตร

ความจุถัง (อัตราการบรรทุก)
1. น้ำมันเชื้อเพลิง 149.2 ลูกบาศก์เมตร
2. น้ำจืด 49.00 ลูกบาศก์เมตร
3. ถังน้ำถ่วงเรือ 56.00 ลูกบาศก์เมตร
4. ถังบรรจุของเสีย 5.90 ลูกบาศก์เมตร
5. ถังเก็บน้ำมันที่สกปรกปนเปื้อน 5.90 ลูกบาศก์เมตร
6. ถังน้ำยาดับเพลิงโฟมเคมี 6.90 ลูกบาศก์เมตร
7. ถังบรรจุสารเคมีกำจัดคราบน้ำมัน 6.90 ลูกบาศก์เมตร

ความเร็วเรือ
ความเร็วสูงสุดต่อเนื่องที่ระวางขับน้ำเต็มที่ ไม่ต่ำกว่า 12 นอต โดยกำลังเครื่องยนต์ไม่เกินร้อยละ 100 ของ MCR (Maximum Continuous Rating)

ระยะปฏิบัติการ
ระยะปฏิบัติการไม่น้อยกว่า 2500 ไมล์ทะเล ด้วยความเร็ว 8 นอต ที่ระวางขับน้ำเต็มที่ (Full Load Displacement) โดยใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ไม่เกินร้อยละ 95 ของความจุน้ำมันเชื้อเพลิงเต็มถัง

กำลังพลประจำเรือ
นายทหาร จำนวน 3 นาย
พันจ่า จำนวน 3 นาย
จ่า จำนวน 10 นาย
พลทหาร จำนวน 4 นาย
รวมพลประจำเรือทั้งหมด จำนวน 20 นาย
โดยมี เรือเอก ชาญชัย อยู่เจริญ เป็นผู้บังคับการ
https://www.facebook.com/RoyalThaiNavyFanpage/posts/3215704318457063


ขีดความสามารถปฏิบัติการรบ (Combat Capabilities)
-สามารถเข้าดึง/ดัน เรือขนาดใหญ่ของ ทร. รวมทั้ง ร.ล.จักรีนฤเบศร และเรือดำน้ำของ ทร. ได้อย่างคล่องตัว และสามารถเคลื่อนที่ไปด้านข้างได้ โดยมีขีดความสามารถในการลากจูง และเรือมีกำลังดึง (Static Bollard Pull) ไม่น้อยกว่า 50 เมตริกตัน
-สามารถปฏิบัติงานในท่าเรือ และชายฝั่งได้ทั้งกลางวัน และกลางคืน โดยเรือมีความคงทนทะเลได้ถึงสภาวะ ทะเลระดับ 3 (Sea State 3)
-สามารถดับเพลิงไหม้ในเรือ ทั้งในเขตฐานทัพ ท่าเรือต่างๆ ของ ทร. ตลอดชายฝั่ง
-สามรถขจัดคราบน้ำมันในทะเลบริเวณท่าเรือ และชายฝั่งได้
-สามารถสนับสนุนกิจอื่นๆ ด้วยขีดความสามารถที่มีอยู่ได้หากมีความจำเป็น เช่น การลากเป้าในการฝึกยิงอาวุธ เป็นต้น
Clip: https://www.facebook.com/RoyalThaiNavyFanpage/videos/2332897036954850/


พิธีรับมอบเรือลากจูงขนาดกลาง เรือหลวงหลีเป๊ะ
ผู้บัญชาการทหารเรือ พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ เป็นประธานในพิธีฯ ณ บริเวณท่าเรือแหลมเทียน การท่าเรือสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
เรือหลวงหลีเป๊ะ จัดสร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนการนำเรือเข้า - ออกจากเทียบ รวมถึงการดับเพลิงในเขตฐานทัพตามท่าเรือต่างๆ และสนับสนุนภารกิจอื่นๆของกองทัพเรือตามที่ได้รับมอบหมาย
Clip: https://www.facebook.com/navyradiobroadcasting/videos/530830634448890/

Clip: พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีรับมอบเรือลากจูงขนาดกลาง (เรือหลวงหลีเป๊ะ) ณ ท่าเรือแหลมเทียน ฐานทัพเรือสัตหีบจังหวัดชลบุรี เพื่อประจำการใน กองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ กองเรือยุทธการ
https://www.facebook.com/prthainavy/videos/189083818874785/

Clip:ธงราชนาวีขึ้นสู่ยอดเสา บนเรือหลวงหลีเป๊ะ เรือลากจูงขนาดกลางลำใหม่แห่งราชนาวีไทย
https://www.facebook.com/prthainavy/videos/2781925225234469/


ผู้บัญชาการทหารเรือให้โอวาทกำลังพลประจำเรือ เรือหลวงหลีเป๊ะ "ไม่ได้เก่ง.....แต่มีค่า"
วันนี้ 23 มกราคม 2563 เวลา 08.00 น. พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีรับมอบเรือหลวงหลีเป๊ะ ณ ท่าเรือแหลมเทียน ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โอกาสนี้ ผู้บัญชาการทหารเรือได้ให้โอวาทแก่กำลังพลประจำเรือความว่า
"ผู้บังคับการเรือหลวงหลีเป๊ะและกำลังพลประจำเรือหลวงหลีเป๊ะทุกนาย วันนี้เป็นอีกวันหนึ่งที่ต้องจารึกเป็นประวัติศาสตร์คือการเริ่มภารกิจอย่างจริงจังตามที่ได้รับมอบหน้าที่ตามกฎหมาย การที่กองทัพเรือได้ต่อเรือลากจูงขึ้นมาก็คือทดแทนเรือลากจูงขนาดเล็ก 2 ลำที่จะปลดประจำการนี้ 
หากพิจารณาดูลักษณะของเรือลำนี้ ไม่เล็กแล้วก็ไม่ใหญ่ ไม่เล็กไม่ใหญ่นี้ก็คือ ระวางขับน้ำลำนี้ถึง 800 กว่าตัน หากเป็นเรือรบปกติก็เป็นเรือชั้น 2 ใกล้เคียงกับเรือรบชั้นที่ 1 กินน้ำลึก ถึง 5 เมตรกว่า หากไม่มีความระมัดระวังอาจเกิดความเสียหายได้ 
และคำว่าไม่ใหญ่คือเมื่อเทียบกับเรือที่ปลดไปมีความเหนือกว่าอย่างมาก นอกจากนี้แล้วหากพิจารณาถึงภารกิจและบทบาทที่มอบหมายให้กับเรือลำนี้จะเห็นได้ว่าบทบาทหน้าที่ของกองทัพเรือสำหรับเรือลากจูงได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก 
จากนี้ผ่านมาคือไม่ได้หมายความว่าเกี่ยวกับการรบหรือการบริการเพียงอย่างเดียวนั่นคือหมายความว่า ต้องเกี่ยวข้องกับพี่น้องประชาชนในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนและความมั่นคงของประเทศชาติ 
เพราะอย่างยิ่งผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลและสิ่งแวดล้อม นี่คือภารกิจใหม่ที่ต้องรับผิดชอบ นี่คือความท้าทาย อีกประการหนึ่งที่ทหารเรือยุคใหม่ต้องเผชิญคือภัยคุกคามทุกรูปแบบซึ่งไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป
ขอฝากข้อคิดข้อเตือนใจ กองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ คำว่า ยุทธบริการ แม้ไม่ใช่งานปกติที่เกี่ยวข้องกับการรบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ต้องรับภารกิจที่ไม่เคยดำเนินการมาก่อนก็คือ การช่วยเหลือเรือดำน้ำในการเข้าเทียบออกจากท่า
 ขอให้ศึกษาหาความรู้ เพราะหากเกิดความเสียหายอันเกิดจากความประมาทเลินเล่อหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์จะนำมาซึ่งความเสียหายทั้งแก่ตัวเองและหน่วยงาน
คำพูดสุดท้ายที่จะฝากไว้ก็คือคำว่า "ไม่ได้เก่ง.....แต่มีค่า" อันนี้คือสัจจะวาจาหากขาดซึ่งพวกเธอ เรือรบขนาดใหญ่ในการเข้าออกจากท่าจะมีความยากลำบากโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเจอภาวะคลื่นลมที่รุนแรงหากขาดซึ่งเรือลำนี้ก็ไม่สามารถบรรลุภารกิจได้
โดยเรือลำนี้มีความสามารถในการลากจูงในทะเล โดยสามารถลากเรือรบขนาดใหญ่ทางทะเลได้โดยสวัสดิภาพและปลอดภัย สอดคล้องกับคำว่า "ไม่เก่ง....แต่มีค่า" 
จงรักษาคุณค่าบทบาทนี้อย่างเข้มแข็งอดทนและเสียสละหากทำได้เช่นนี้ก็จะเชื่อได้ว่าทุกคนจะนำเรือลำนี้ประสบความสำเร็จสร้างชื่อเสียงเกียรติยศ ให้กับกองทัพเรือสืบไปในภายภาคหน้าต่อไป"
https://www.facebook.com/prthainavy/posts/2949508881767115

เรือลากจูงขนาดกลางชุดเรือหลวงปันหยีลำที่สอง ที่ได้รับพระราชทานนานชื่อเรือว่า เรือหลวงหลีเป๊ะ หมายเลขเรือ 858 ที่กองทัพเรือไทยได้ทำพิธีรับมอบเรือเมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๓(2020) ณ ท่าเรือแหลมเทียน การท่าเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
ได้มีพิธีปล่อยเรือลงน้ำเมื่อวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๒(2019)(https://aagth1.blogspot.com/2019/04/blog-post_10.html) และการทำพิธีวางกระดูกงูเรือไปเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๑(2018)(https://aagth1.blogspot.com/2018/07/blog-post_5.html)
ร.ล.หลีเป๊ะ มีความแตกต่างจากเรือลำแรกของชุด ร.ล.ปันหยี 857(https://aagth1.blogspot.com/2016/10/blog-post_43.html) โดยปรับปรุงเพิ่มยางกันกระแทก(Mooring Rubber Fenders) ที่ส่วนหัวเรือให้เหมาะสมกับการเข้าเทียบและลากจูงเรือดำน้ำที่จะเข้าประจำการในอนาคตมากขึ้น(https://aagth1.blogspot.com/2019/09/s26t.html)

ปัจจุบันนอกจากเรือ ลจก.ชุด ร.ล.ปันหยี ทั้งสองลำที่ถูกนำเข้าประจำการทดแทนเรือเก่าที่ปลดไป กองทัพเรือยังมีเรือลากจูงขนาดกลางชุดเรือหลวงริ้น สองลำคือ ร.ล.ริ้น 853 และ ร.ล.รัง 854 และเรือลากจูงขนาดกลางชุดเรือหลวงแสม สองลำคือ ร.ล.แสมสาร 855 และ ร.ล.แรด 856
ขณะที่เรือลากจูงขนาดเล็กชุดเรือหลวงกลึงบาดาร สองลำคือ ร.ล.กลึงบาดาร 851 และ ร.ล.มารวิชัย ที่เข้าประจำการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๗(1954) เป็นที่เข้าใจว่าน่าจะปลดประจำการลงในเวลาอันใกล้ รวมถึงยังมีเรือลากจูง ฐานทัพเรือสัตหีบ ฐท.สส.23 และ ฐท.สส.24 ประจำการอยู่ด้วยเป็นต้น
แขกผู้มีเกียรติในพิธีรับมอบเรือนอจากผู้บัญชาการทหารเรือ พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ คณะนายทหารระดับสูง ภริยาและกลุ่มภาคอุตสาหกรรมทางเรือไทยแล้ว ยังได้มีการนำลูกเสือสมุทรเข้าชมพิธีเพื่อส่งเสริมความรู้ด้านกิจการสร้างเรือในประเทศของกองทัพเรือไทยแก่เด็กเยาวชนด้วยครับ