วันพฤหัสบดีที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2560

กองทัพเรือจัดพิธีรับมอบเรือตรวจการณ์ชายฝั่งชุดเรือ ต.261 จำนวน ๔ลำ

Royal Thai Navy commission ceremony new 4 T.261 class Inshore Patrol Craft from Ship builder Marsun, 6 September 2017

กองทัพเรือจัดพิธีรับมอบเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ชุดเรือ ต.261 จำนวน 4 ลำ

น้อมนำและยึดถือการพึ่งพาตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของร9 เรือรบที่ต่อด้วยฝีมือคนไทย ส่งเสริมอุตสาหกรรมการต่อเรือภายในประเทศ




วันนี้ (6 กันยายน 2560) เวลา 15.19 น. พลเรือเอก ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีรับมอบเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ชุดเรือ ต.261 จำนวน 4 ลำ ณ ท่าเรือหมายเลข 5 (LST Ramp) ท่าเรือแหลมเทียน การท่าเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี 
โดยมี พลเรือเอก สุชีพ หวังไมตรี ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ พลเรือตรี บรรจบ โพธิ์แดง ผู้บัญชาการกองเรือยามฝั่ง กองเรือยุทธการ กำลังพลประจำเรือ และแขกผู้มีเกียรติให้การต้อนรับ




กองทัพเรือ ได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือ พ.ศ.2551 - 2560 ที่ได้กำหนดความต้องการเรือตรวจการชายฝั่ง เพื่อใช้ในภารกิจต่างๆ 
โดยดำเนินโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง กองทัพเรือ จำนวน 20 ลำ เพื่อทดแทนเรือตรวจการณ์ชายฝั่งเดิม ที่ใช้ราชการมาเป็นเวลานาน และมีกำหนดที่จะปลดระวาง ประกอบด้วย
โครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ชายฝั่งกองทัพเรือ ชุดเรือ ต.232 จำนวน 6 ลำ ประกอบพิธีรับมอบเรือ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2559
โครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ชายฝั่งกองทัพเรือ ชุดเรือ ต.261 จำนวน 4 ลำ ประกอบพิธีรับมอบเรือ ในวันนี้ (6 กันยายน 2560) โดยได้มีพิธีปล่อยเรือลงน้ำ ณ อู่ต่อเรือ บริษัทมาร์ซัน จำกัด เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2560 และนางปรานี อารีนิจ ภริยาผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นสุภาพสตรีผู้ประกอบพิธี
โครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ชายฝั่งกองทัพเรือ ชุดเรือ ต.265 จำนวน 5 ลำ อยู่ระหว่างการสร้างเรือได้ประกอบพิธีวางกระดูก เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2559
โครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ชายฝั่งกองทัพเรือ ชุดเรือ ต.270 จำนวน 5 ลำ อยู่ระหว่างการสร้างเรือได้ประกอบพิธีวางกระดูก เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2560




กองทัพเรือ ได้ว่าจ้างให้ บริษัท มาร์ซัน จำกัด เป็นผู้ดำเนินการสร้างเรือ เพื่อเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการต่อเรือภายในประเทศ อีกทั้งยังเป็นการประหยัดงบประมาณมากกว่าการจัดหาจากต่างประเทศ 
โดยเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ชุดเรือ ต.261 จะเข้าประจำการในกองเรือยามฝั่ง กองเรือยุทธการ มีภารกิจในการตรวจการณ์ สกัดกั้น ลาดตระเวน ป้องกันการแทรกซึมทางทะเลและชายฝั่ง คุ้มครองเรือประมงและเรือพาณิชย์ 
ป้องกันและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติบริเวณชายฝั่งทะเลในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน รักษากฎหมายในทะเลตามอำนาจหน้าที่ที่กองทัพเรือได้รับมอบหมาย รวมถึงการถวายความปลอดภัยแด่พระบรมวงศานุวงศ์




คุณลักษณะของเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ชุดเรือ ต.261
ขีดความสามารถปฏิบัติการรบ (Combat Capabilities) 
สามารถปฏิบัติภารกิจได้ครอบคลุมพื้นที่ปฏิบัติการบริเวณชายฝั่งในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน 
สามารถตรวจจับ ติดตาม และพิสูจน์ทราบเป้าผิวน้ำ 
สามารถป้องกันตนเองจากเรือผิวน้ำและอากาศยานข้าศึกได้ตามสมรรถนะของอาวุธประจำเรือ 
สามารถปฏิบัติการทางเรืออย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องรับการส่งกำลังบำรุงเพิ่มเติมได้ไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง 
สามารถปฏิบัติงานได้ในสภาพทะเลไม่น้อยกว่า Sea State 2 
สามารถตรวจค้นเรือที่ต้องสงสัย ค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ 
และมีความสามารถการทรงตัวที่ดีในการบังคับเรือและบังคับเลี้ยวในการปฏิบัติงานที่ความเร็วสูง (Maneuverability)



คุณลักษณะทั่วไป (Ship System Performance) 
ระวางขับน้ำเต็มที่โดยประมาณ 45 ตัน 
ขนาดของเรือ ความยาวตลอดลำ 21.40 เมตร ความกว้างสูงสุดของเรือ 5.56 เมตร ความลึกของเรือ (Molded Depth) 3.15 เมตร กินน้ำลึกตัวเรือ (Molded Draught) 1.05 เมตร 
ความเร็วสูงสุดต่อเนื่อง ที่ระวางขับน้ำเต็มที่ไม่น้อยกว่า 30 นอต 
กำลังพลประจำเรือ 9 นาย สามารถปฏิบัติงานในทะเลได้ต่อเนื่องได้ไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องรับการส่งกำลังบำรุง 
ระยะปฏิบัติการไม่น้อยกว่า 350 ไมล์ทะเล ด้วยความเร็วเดินทางมัธยัสถ์ (15 นอต) ที่ระวางขับน้ำเต็มที่ (Full Load Displacement)
ขนาดและสัดส่วนของโครงสร้างตัวเรือได้รับการตรวจสอบ และรับรองจากสมาคมต่อเรือ Det Norske Veritas (DNV) 
เครื่องจักรใหญ่ตราอักษร MAN รุ่น D2862 LE463 กำลังเครื่องยนต์ 1,029 kWที่ 2,100 RPM พร้อมเพลาใบจักร จำนวน 2 เครื่อง 
เครื่องไฟฟ้าขนาด 32 kWe, 220 V AC. 1 Phase 50 Hz. จำนวน 2 เครื่อง ประกอบด้วย 
เครื่องยนต์ขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Prime Mover) ตราอักษร PERKINS 
เครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator) ตราอักษร MARATHON MAGNAPLUS 
เกียร์ทด ตราอักษร TWIN DISC ชนิด Intermediate Duty ขนาด Input Rating สูงสุดที่ 1,145 kW ที่ความเร็วรอบ 2,100 RPM จำนวน 2 ชุดเครื่อง 
ระบบเพลาใบจักรแบบ Fixed Pitch จำนวน 2 ชุด

อาวุธประจำเรือ
อาวุธปืนหลัก ปืนกลขนาด 20 มิลลิเมตร จำนวน 1 กระบอก ติดตั้งบริเวณหัวเรือ
อาวุธปืนรอง ปืนกลขนาด .50 นิ้ว จำนวน 1 กระบอก เครื่องยิงลูกระเบิด 81 มิลลิเมตร ร่วมแกน จำนวน 1 กระบอก ติดตั้งบริเวณท้ายเรือ
https://www.facebook.com/prthainavy/posts/1649248225126527

ตามที่ได้รายงานพิธีปล่อยเรือตรวจการณ์ชายฝั่งชุดเรือ ต.261 ๔ลำลงน้ำ และพิธีวางกระดูกงูเรือตรวจการณ์ชายฝั่งชุดเรือ ต.270 ๕ลำ(http://aagth1.blogspot.com/2017/03/261-4-5.html)
กองทัพเรือไทยได้รับมอบเรือตรวจการณ์ชายฝั่งแบบ Marsun M21 ชุดต่างๆเพื่อเข้าประจำการใน กองเรือยามฝั่ง กองเรือยุทธการ เพื่อทดแทนเรือ ตกช.เก่าที่มีอายุการใช้นามานานหลายปีแล้ว ๑๓ลำคือ

ชุดเรือ ต.228 ประกอบด้วยเรือ ต.228, ต.229 และ ต.230 รวม ๓ลำ, ชุดเรือ ต.232 ประกอบด้วย ต.232, ต.233, ต.234, ต.235, ต.236 และ ต.237 รวม ๖ลำ
และล่าสุดคือชุดเรือ ต.261 ประกอบด้วย ต.261, ต.262, ต.263 และ ต.264 รวม ๔ลำ รับมอบเมื่อ ๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๐ ที่ผ่านมา

ชุดเรือ ต.265 จำนวน ๕ลำประกอบด้วย ต.265, ต.266, ต.267, ต.268 และ ต.269 ซึ่งทำพิธีวางกระดูกเมื่อ ๒๕ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๙ จะมีการปล่อยเรือลงน้ำตามมาในอนาคต(http://aagth1.blogspot.com/2016/04/blog-post_25.html)
เช่นเดียวกับชุดเรือ ต.270 ๕ลำประกอบด้วย ต.270, ต.271, ต.272, ต.273 และ ต.274 ที่ทำพิธีวางกระดูกเมื่อ ๑๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๐ จะทำให้กองทัพเรือมีเรือตรวจการณ์ชายฝั่งใหม่รวมทั้งหมด ๒๓ลำ

ข้อสังเกตคือนอกจากเรือ ต.231 ที่คือเรือ Hysucat 18 ที่สร้างโดย Technautic Intertrading ประเทศไทย เข้าประจำการเมื่อ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ เป็นเรือต้นแบบทดสอบสาธิต Technology ใหม่ในสมัยนั้น
ยังมีชุดเรือ ต.241 ๓ลำคือ ต.241 ต.242 และ ต.43 ที่คือเรือปฏิบัติการพิเศษ Seafox Mk.IV และเรือปฏิบัติการพิเศษชุดเรือ พ.51 ๔ลำคือ พ.51, พ.52, พ.53 และ พ.54 ที่ประจำการในหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ ทำให้ชุดหมายเลขเรือได้ถูกข้ามไปในชุดเรือ ต.261 ใหม่นี้ครับ