วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

กองทัพเรือพม่ามีเรือดำน้ำ ๑๐ลำมีความเป็นได้จริงหรือไม่?

Republic of Union of Myanmar Navy

ประเด็นหนึ่งซึ่งถูกกล่าวถึงในแง่เสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับโครงการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทยล่าสุดนั้น คือคำให้สัมภาษณ์สื่อของรัฐมนตรีกลาโหมที่กล่าวว่า
กองทัพเรือพม่ามีเรือดำน้ำถึง ๑๐ลำ และเป็นเรือใหม่ทั้งหมด ซึ่งสร้างความสงสัยให้ผู้ที่ติดตามข่าวสารทางทหารในไทยจำนวนหนึ่งมาก (ถ้าท่านรัฐมนตรีไม่เข้าใจผิดว่าประเทศที่มีเรือดำน้ำมากกว่า ๑๐ลำคือกองทัพเรืออินเดียซึ่งอยู่ในฝั่งทะเลอันดามันเช่นกัน)

เพราะส่วนใหญ่จะเป็นที่เข้าใจว่ากองทัพเรือพม่ามีความต้องการจะจัดตั้งกองเรือดำน้ำในปี 2015
โดยได้มีการส่งกำลังพลไปฝึกองค์ความรู้ด้านวิทยาการเรือดำน้ำที่ปากีสถาน ซึ่งปากีสถานอาจจะพิจารณาขายเรือดำน้ำ Agosta 70 เก่าแบบมือสองให้พม่า
และกำลังเจรจาความเป็นไปได้ในการจัดซื้อเรือดำน้ำชั้น Kilo จากรัสเซีย ๒ลำ แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาก็ยังไม่มีรายงานความคืบหน้าเพิ่มเติมในขณะนี้
(อ้างอิงจาก http://www.globalsecurity.org/military/world/myanmar/navy.htm)
โดยพม่าต้องการจะจัดหาเรือดำน้ำโจมตีดีเซล-ไฟฟ้า(Conventional Submarine) เพื่อคานกำลังต่อกองทัพเรือบังคลาเทศที่จัดหาเรือดำน้ำชั้น Type 035 (NATO กำหนดรหัส "Ming") จากจีนแบบมือสองจำนวน ๒ลำ
ซึ่งทั้งสองประเทศมีความขัดแย้งพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลอ่าวเบงกอลในการสำรวจแหล่งทรัพยากรธรรมชาติทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมาตั้งแต่ช่วงปี 2008 จนถึงความขัดแย้งทางพรมแดนทางบก จนเคยมีการปะทะกันมาแล้วหลายครั้งเช่นล่าสุดในปี 2014

กรณีที่ระบุว่ากองทัพเรือพม่ามีเรือดำน้ำถึง ๑๐ลำ นั้นส่วนตัวเคยได้ทราบมาระยะหนึ่งแล้วครับว่า กองทัพเรือพม่าอาจจะมีเรือดำน้ำขนาดเล็กพวก Midget Submarines ใช้งานอยู่จำนวนหนึ่ง
ที่ได้ทราบข้อมูลมาคือดูเหมือนพม่าจะมีความสามารถในการต่อเรือดำน้ำขนาดเล็กเหล่านี้ส่วนหนึ่งเองในประเทศซึ่งอาจจะได้รับความช่วยเหลือทาง Technology จากบางประเทศ
ถ้าถามว่ามีประเทศใดบ้างที่เป็นผู้ส่งออกเรือดำน้ำขนาดเล็กให้กองทัพเรือพม่า ก็ดูเหมือนจะมีความเป็นไปได้อยู่อย่างน้อยสองประเทศคือ อดีตยูโกสลาเวียและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี

สำหรับอดีตยูโกสลาเวียนั้นเป็นประเทศผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่ของกองทัพพม่าในอดีตก่อนยุคการปกครองโดยรัฐบาลทหาร SLORC หรือต่อมาคือ SPDC จะมีการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์จากจีนจำนวนมากในต้นปี 1990s
โดยในส่วนของกองทัพเรือพม่านั้นได้มีการจัดหาเรือรบจากอดีตยูโกสลาเวียหลายชุด เช่น
เรือตรวจการณ์ชายฝั่งชั้น Y ช่วงปี 1957-1960, เรือตรวจการณ์ชั้น PB-90 ช่วงปี 1990, เรือตรวจการณ์ลำน้ำชั้น Michao ช่วงปี 1963-1968 และเรือสำรวจชายฝั่ง 801 Thutaythi ปี 1965 เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่มีอายุการใช้งานนานมากๆและเริ่มจะทยอยปลดประจำการไปหลายลำแล้ว

Former Yugoslav Navy submarines P-821 Heroj and P-912 Una at the Museum of Maritime Affairs in the port of Porto Montenegro, Tivat.(wikipedia.org)

ทั้งนี้อดีตยูโกสลาเวียเป็นประเทศหนึ่งที่มีอุตสาหกรรมทางเรือที่สามารถต่อเรือรบได้เองในประเทศ ถึงระดับที่สามารถต่อเรือดำน้ำขนาดเล็กและเรือดำน้ำโจมตีดีเซล-ไฟฟ้าตามแบบประจำการในกองทัพเรือยูโกสลาเวียได้
ตัวอย่างอู่ต่อเรือ Uljanik ที่เมือง Pula ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศโครเอเชียแล้วนั้น สมัยอดีตยูโกสลาเวียเคยสร้างเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้าชั้น Sutjeska ๒ลำเข้าประจำการในปี 1962-1987
หรืออู่ต่อเรือ Brodosplit (BSO เดิม) เมือง Split ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศโครเอเชียเช่นกัน สมัยอดีตยูโกสลาเวียเคยสร้างเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้าชั้น Heroj ๓ลำเข้าประจำการในปี 1968-1999, เรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้าชั้น Sava ๒ลำเข้าประจำการในปี 1972-2002 และเรือดำน้ำขนาดเล็กชั้น Una ๖ลำเข้าประจำการในปี 1985-2005 เป็นต้น
ซึ่งอดีตยูโกสลาเวียนั้นได้เคยให้ความร่วมมือการถ่ายทอด Technology กับเกาหลีเหนือในการสร้างเรือดำน้ำขนาดเล็กและมีอิทธิพลในการออกแบบเรือดำน้ำยุคใหม่ล่าสุดของกองทัพเรือประชาชนเกาหลีที่มีข้อมูลรั่วไหลออกมาบ้าง

แต่หลังจากที่อดีตยูโกสลาเวียล่มสลายและเกิดสงครามกลางเมืองในช่วงปี 1990s จนแตกเป็นประเทศเกิดใหม่ต่างๆนั้น หลังจากที่มอนเตเนโกรแยกตัวไปเซอร์เบียก็เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเลไม่มีกองทัพเรืออีกแล้ว
ดังนั้นในช่วงปี 1990s เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันถึงกองทัพพม่าจะยังจัดหาอาวุธบางระบบจากเซอร์เบีย เช่น ปืนใหญ่อัตตาจรล้อยาง Nora B-52 ขนาด 155mm
แต่ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่กองทัพเรือพม่าจะจัดหาเรือดำน้ำขนาดเล็กจากเซอร์เบียได้ เพราะเซอร์เบียไม่มีอู่ต่อเรือทางทะเลแล้วครับ


Ghadir class midget submarine Islamic Republic of Iran Navy(www.irna.ir)

A Sang-O-class submarine captured by South Korea on display at Tongil (Unification) Park near Gangneung in 2012.(wikipedia.org)

สำหรับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีนั้นได้มีการพัฒนาสร้างเรือดำน้ำขนาดเล็กขึ้นมาหลายชั้นเข้าประจำการในกองทัพเรือประชาชนเกาหลีและส่งออกต่างประเทศได้จำนวนหนึ่ง เช่น
เรือดำน้ำขนาดเล็กชั้น Yono ระวางขับน้ำขณะดำใต้น้ำ 130tons ซึ่งถูกอ้างว่าเป็นเรือดำน้ำที่ยิง Torpedo จมเรือคอร์เวตชั้น Pohang คือ PCC-772 Cheonan ของกองทัพเรือสาธารณรัฐเกาหลีในปี 2010
เรือดำน้ำขนาดเล็กชั้น Yugo ระวางขับน้ำขณะดำใต้น้ำ 110tons ซึ่งถูกสร้างขึ้นมา ๖ลำ โดยหนึ่งลำถูกเกาหลีใต้ยึดได้ในปี 1998, ลำหนึ่งถูกปลดประจำการแล้ว และมีหนึ่งลำจมในอุบัติเหตุระหว่างการฝึกเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2016 นี้
และเรือดำน้ำขนาดเล็กชั้น Sang-O ระวางขับน้ำขณะดำใต้น้ำ 370tons ซึ่งเป็นแบบล่าสุดที่สร้างขึ้นมาช่วงปี 1990s โดยจาก ๔๐ลำ มีลำหนึ่งถูกเกาหลีใต้ยึดได้ในปี 1996
รวมถึงข้อมูลว่าเกาหลีเหนือกำลังมีการพัฒนาเรือดำน้ำขนาดเล็กแบบ K-300 หรือที่รู้จักในกลุ่มนักวิเคราะห์ทางทหารว่า Sang-O II ที่ขยายขนาดและเพิ่มสมรรถนะตัวเรือให้สูงขึ้น

มีข้อมูลบางส่วนออกมาว่ามีประจำการในกองทัพเรืออิหร่านซึ่งเปิดตัวเรือดำน้ำขนาดเล็กชั้น Ghadir ที่สร้างเองในอิหร่านเมื่อปี 2007 นั้นอาจจะมีพื้นฐานมาจากเรือดำน้ำชั้น Yono และ Yugo ที่จัดหาจากเกาหลีเหนือจำนวนหนึ่งก่อนหน้านี้
โดยเรือดำน้ำขนาดเล็กชั้น Yugo นี้เคยเข้าประจำการในกองทัพเรือประชาชนเวียดนามจำนวน ๒ลำช่วงปี 1997 แต่ปัจจุบันปลดประจำการแล้ว
(จำได้ว่าช่วงปี พ.ศ.๒๕๔๐(1997) เป็นต้นมาซึ่งเป็นช่วงหลังจากที่โครงการจัดหาเรือดำน้ำแบบ A19 จากบริษัท Kockums สวีเดนของกองทัพเรือไทยไม่ประสบความสำเร็จ
ก็มีรายงานในสื่อทางทหารว่าเวียดนามจัดหาเรือดำน้ำขนาดเล็กชั้น P-4 Yugo จากเกาหลีเหนือสองลำพร้อมอุปกรณ์ Torpedo และทุ่นระเบิด แต่ก็ไม่มีรายงานภาพยืนยัน ทำให้หลายคนเชื่อว่าเป็นเพียงข่าวลือ
จนมาในช่วงหลังปี ๒๕๔๗-๒๕๔๘(2004-2005) ก็มีภาพเผยแพร่ออกมาสองสามภาพเป็นเจ้าหน้าที่กองทัพประชาชนเวียดนามเยี่ยมชมเรือดำน้ำขนาดเล็กสีเขียวที่จอดอยู่ที่ท่า
มาถึงหลังปี ๒๕๕๓(2010) จึงมีภาพเรือดำน้ำขนาดเล็กชั้น Yugo ทั้งสองลำของกองทัพเรือประชาชนเวียดนามทาสีดำมีหมายเลขสีขาวออกมาทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวในโทรทัศน์มากขึ้น
ซึ่งเป็นช่วงที่เวียดนามเริ่มโครงการจัดหาเรือดำน้ำชั้น Project 636M Improved Kilo จากรัสเซีย และมีการปลดประจำเรือดำน้ำขนาดเล็กชั้น Yugo ต่อมารวมระยะเวลาประจำการเกือบ ๒๐ปี แต่ก็นับว่าเรือชั้นนี้ของกองทัพเรือประชาชนเวียดนามหาภาพยากมากอยู่ดี)

ทั้งนี้พม่าเคยตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีจากเหตุวางระเบิดที่อนุสรณ์สุสานทหารใน Rangoon ปี 1983 เพื่อลอบสังหารประธาณาธิบดีเกาหลีใต้ในขณะนั้น ทำให้มีเจ้าหน้าที่พม่าและเกาหลีใต้เสียชีวิตถึง ๒๑ราย
ต่อมาพม่าได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีใหม่ในปี 2003 และผู้บัญชาการทหารพม่าได้ไปเยือนเกาหลีเหนือในปี 2008 และมีข้อตกลงความร่วมมือทางทหารร่วมกัน
ถ้าดูจากที่กองทัพพม่าได้มีการจัดหาระบบอาวุธจากเกาหลีเหนือจำนวนหนึ่ง เช่น เครื่องยิงจรวดหลายลำกล้อง M-1991 ขนาด 240mm แล้ว การจัดหาเรือดำน้ำขนาดเล็กพร้อมการถ่ายทอด Technology เพื่อสร้างเองในพม่าอาจจะมีความเป็นไปได้อยู่บ้าง
เพราะเคยมีรายงานว่ามีการพบเจ้าหน้าที่เทคนิคเกาหลีเหนือราว ๒๐กว่าคนที่ฐานทัพเรือ Monkey Point กองทัพเรือพม่าที่เมือง Yangon รวมถึงข่าวลือที่กองทัพเรือพม่าได้จัดหาเรือดำน้ำขนาดเล็กชั้น Yugo เมื่อช่วงต้นปี 2000s มาแล้ว
แต่ทั้งนี้เองหลังจากที่พม่ามีการเลือกตั้งเปลี่ยนผ่านเป็นรัฐบาลกึ่งพลเรือนเมื่อปี 2010 เพื่อเป็นสนับสนุนการที่กลุ่มประเทศตะวันตกผ่อนปรนยกเลิกการคว่ำบาตทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมความร่วมมือการลงทุนจากสาธารณรัฐเกาหลีมากขึ้น
ทำให้รัฐบาลพม่ามีนโยบายที่ลดระดับความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีลง นั่นอาจจะทำให้การจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์จากเกาหลีเหนือของพม่าลดลงไปซึ่งอาจจะรวมถึงความเป็นไปได้เรื่องเรือดำน้ำครับ

Hyundai Heavy industries KSS-II(Type 214 Son Won-Il class) and HDS-500 Submarines Model

S. Korean Navy's first-generation submarines decommissioned
http://english.yonhapnews.co.kr/news/2016/06/30/0200000000AEN20160630007500315.html

อีกประเด็นที่ถูกกล่าวถึงสำหรับข่าวเมื่อปี 2015 ที่บริษัท Hyundai Heavy industries(HHI) สาธารณรัฐเกาหลีให้ข้อมูลว่ากำลังสร้างเรือดำน้ำแบบ HDS-400 ให้กับลูกค้าที่ไม่สามารถเปิดเผยชื่อและจำนวนได้
โดยเรือดำน้ำ HDS-400 ซึ่งเป็นเรือดำน้ำที่มีขนาดเล็กลงมาจากเรือดำน้ำแบบ HDS-500RTN ที่เคยเสนอข้อมูลให้กองทัพเรือไทยเมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๘(2015) นั้น
มีการร่ำลือกันในกลุ่มสังคม Online ของไทยบางแห่งครับว่าเรือดำน้ำ HDS-400 นี่มีลูกค้าคือกองทัพเรือพม่า
อย่างไรก็ตามเท่าที่มีการรวบรวมข้อมูลล่าสุดนี้ ยังไม่มีรายงานทางกองทัพเรือพม่าได้มีการส่งเจ้าหน้าที่ไปทำการฝึกอบรมศึกษาหรือเข้าสังเกตุการณ์การซ้อมรบที่สาธารณรัฐเกาหลีแต่อย่างใด
รวมถึงจากแหล่งข้อมูลในเกาหลีใต้เองที่เชื่อว่าทาง HHI ได้สร้างเรือดำน้ำ HDS-400 นี้สำหรับกองทัพเรือสาธารณรัฐเกาหลีเองเพื่อทดแทนเรือดำน้ำขนาดเล็กชั้น Dolgorae ๓ลำที่เรือชุดสุดท้าย ๒ลำที่เข้าประจำการในปี 1990-1991 ได้ถูกปลดประจำการเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายนที่ผ่านมา
และที่ต้องเป็นปกปิดความลับในการจัดหาก็เนื่องจากเรือชั้นนี้จะถูกใช้ในการสนับสนุนปฏิบัติการลับของหน่วยรบพิเศษอย่าง UDT/SEAL ของกองทัพเรือสาธารณรัฐเกาหลี หรือไม่เช่นนั้นก็คงจะเป็นประเทศอื่นมากกว่าพม่าครับ

Myanmar Army Officer aboards Submarine

อย่างไรก็ตามเรื่องเรือดำน้ำขนาดเล็กกองทัพเรือพม่านี้ก็เป็นหนึ่งในบรรดาข่าวลือที่ออกมากล่าวถึงความลึกลับของกองทัพพม่าครับตัวอย่างเช่น
กองทัพพม่าจัดหาขีปนาวุธพิสัยใกล้ Hwasong-6 SRBM จากเกาหลีเหนือบ้าง การสร้างเครือข่ายอุโมงค์ใต้ดินฐานทัพลับที่มีภาพออกมาบ้าง และโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ที่เงียบไปแล้วบ้าง
ฉะนั้นตอนที่ได้ทราบข้อมูลมาส่วนตัวก็เลยไม่ค่อยเชื่อครับว่าจะเป็นความจริง
แต่อีกแง่หนึ่งถ้าพม่าจะต่อเรือดำน้ำขนาดเล็กเองได้จริงในตอนนี้ก็ไม่แปลกใจนักครับ เพราะเราก็เห็นพม่าพึ่งพาตนเองทางอุตสาหกรรมทางการทหาร โดยเฉพาะการต่อเรือรบเองในประเทศมานานแล้ว
ดังนั้นเรื่องที่กองทัพเรือพม่ามีเรือดำน้ำถึง ๑๐ลำนั้นอาจจะเป็นเรื่องที่มีข้อมูลในส่วนข่าวกรองทางทหารของไทย แต่มันก็ยังเป็นความลับและคำกล่าวลอยๆที่ไม่สามารถจะยืนยันหลักฐานอะไรออกมาได้ในขณะนี้
(เชื่อว่าแม้แต่ชาวพม่าและทหารพม่าหลายนายอาจจะไม่ทราบเรื่องด้วยซ้ำไป เหมือนชุดเรือ ต.241 ของกองทัพเรือไทย)
หรืออาจจะเป็นอะไรที่ต่างจากที่กล่าวในบทความนี้ไปเลยก็ไม่อาจจะทราบได้ครับ