วันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ความคืบหน้าโครงการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพไทยในปี ๒๕๕๙-๑๐

Royal Thai Navy new Frigate(DW3000H based on KDX-I Gwanggaeto the Great class destroyers) construction at Daewoo Shipbuilding & Marine Engineering(DSME) Okpo-Dong shipyard, Geoje, South Gyeongsang, Republic of Korea

นี่เป็นหนึ่งในภาพที่มีการเผยแพร่ใน Internet และ Social Network ว่าเป็นเรือฟริเกตแบบ DSME DW3000H ที่กำลังสร้างที่อู่ต่อเรือของบริษัท Daewoo Shipbuilding & Marine Engineering ที่ Okpo-Dong ทางตอนใต้ของสาธารณรัฐเกาหลี
ตามโครงการจัดหาเรือฟริเกตสมรรถนะสูงระยะที่๑ วงเงิน ๑๔,๖๐๐๐ล้านบาท โดยได้ทำพิธีวางกระดูงูเรือไปเมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ที่ผ่านมา ณ อู่เรือ DSME ที่ Okpo เช่นกัน
ความคืบหน้าในการก่อสร้างที่เพิ่งวางกระดูงูเรือเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ถ้ามีการสร้างถึงในส่วนลำตัวเรือและดาดฟ้ายกที่ปรากฎในภาพแล้ว ถ้าถ่ายภาพในเดือนตุลาคมนี้ก็นับว่าค่อนข้างเร็วทีเดียวสำหรับเรือฟริเกตระวางขับน้ำ 3,650tons
รูปทรงเรือในภาพรวมค่อนข้างจะใกล้เคียงกับแบบจำลองเรือที่เคยเห็นมาก่อนหน้านี้แล้วหลายภาพ ส่วนตัวเข้าใจว่าน่าจะมีพิธีปล่อยเรือลงน้ำในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า(ไม่ยืนยัน) โดยเรือจะเข้าประจำการได้ในปี พ.ศ.๒๕๖๑(2018)
ซึ่งในส่วนโครงการจัดหาเรือฟริเกตสมรรถนะสูงระยะที่สองนี้ก็หวังเป็นไปตามที่รายงานความร่วมมือในการพัฒนาอู่ต่อเรือในไทยระหว่างกรมอู่ทหารเรือ กับบริษัทอู่กรุงเทพ และบริษัท DSME ว่าจะมีการต่อเรือฟริเกตลำที่สองในไทย
ที่รวมถึงความคืบหน้าในโครงการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชุด ร.ล.กระบี่ ลำที่๒ ที่จะมีการติดตั้งระบบเข็มทิศไยโร Laser แบบ Safran Sigma 40 เพื่อใช้ร่วมกับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อต้านเรือผิวน้ำ Harpoon Block II เช่นเดียวกับเรือฟริเกตสมรรถนะสูง ตามที่ได้รายงานไปครับ

AAV7A1 Royal Thai Marine Corps, Royal Thai Navy CARAT 2016

มีรายงานออกมาว่า กองพันรถสะเทินน้ำสะเทินบก กองพลนาวิกโยธิน กองทัพเรือไทยมีการตั้งโครงการปรับปรุงรถสะเทินน้ำสะเทินบก AAV7A1 จำนวน ๓คันวงเงินประมาณ ๓๐๐ล้านบาท ให้มีสมรรถนะสูงขึ้น
ปัจจุบัน พัน.รนบ.พล.นย. มีรถสะเทินน้ำสะเทินบก LVTP7 รุ่นเก่า ๑๒คันที่ผ่านการปรับปรุงแล้ว และ AAV7A1 รุ่นใหม่ ๒๔คัน

Samsung Techwin KAAV7A1 upgrade with Remote Weapon System at ADEX 2013

ซึ่งมีข้อมูลว่านาวิกโยธินไทยต้องการปรับปรุงสมรรถนะของ AAV7A1 ให้เป็นมาตรฐาน AAV7A1 RAM/RS( Reliability, Availability, and Maintainability/Rebuild to Standard) ของ BAE Systems เช่นที่กองกำลังป้องกันตนเองทางบกญี่ปุ่นกำลังจัดซื้อโดยการเปิดสายการผลิตใหม่
ทั้งนี้นอกจากแผนปรับปรุง AAV RAM/RS ของ BAE Systems แล้ว Hanwha Techwin(Samsung Techwin เดิม) สาธารณรัฐเกาหลีซึ่งได้สิทธิบัตรการผลิตรถสะเทินน้ำสะเทินบก KAAV7A1 ก็มีแบบแผนการปรับรถ AAV7A1 ของตนเช่นกัน
โดยนาวิกโยธินฟิลิปปินส์ก็กำลังจะจัดหารถสะเทินน้ำสะเทินบก KAAV7A1 สร้างใหม่ ๘คันจากเกาหลีใต้วงเงิน 2.5 billion philippine peso($51.48 million) ซึ่งผ่านการปรับปรุงโดย Hanwha Techwin แล้ว 
แต่ก็ไม่ทราบว่าแบบแผนการปรับปรุงทั้งสองบริษัทนี้จะมีความเกี่ยวข้องกับโครงการปรับปรุง AAV7A1 ของนาวิกโยธินกองทัพเรือไทยหรือไม่ครับ

Marsun's M21 Inshore Patrol Craft model at Ship Tech.III 2016 (My Own Photo)

ตามเอกสารของศูนย์ข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างกองทัพเรือ สำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์กองทัพเรือได้อนุมัติโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ชายฝั่งด้วยวิธีพิเศษ วงเงิน ๖๒๗,๕๐๐,๐๐๐บาท กำหนดราคากลางเมื่อวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๙ ในปีงบประมาณ ๒๕๖๐-๒๕๖๒
ประกอบด้วยสามรายการคือ ๑.การสร้างเรือตรวจการณ์ชายฝั่งจำนวน ๕ลำ ๒.การจัดซื้ออะไหล่/ชิ้นส่วนในการปรับปรุง/ซ่อมทำ ปืนกล GAM CO-1 ขนาด 20mm ๕แท่น ๓.การจัดซื้ออะไหล่/ชิ้นส่วนในการปรับปรุง/ซ่อมทำ ปืนกล 0.50cal ๕แท่น
ตรงนี้เข้าใจว่าเป็นการจัดหาเรือตรวจการณ์ชายฝั่งชุด เรือ ต.228 ซึ่งใช้แบบเรือ M21 ของบริษัท MARSUN เช่นเดิมครับ

โดยเรือ ตกช.ชุดแรกจำนวน ๓ลำ ประกอบด้วยเรือ ต.228, เรือ ต.229 และเรือ ต.230 ขึ้นระวางประจำการเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๖
เรือ ตกช.ชุดที่สองจำนวน ๖ลำ ประกอบด้วยเรือ ต.232, เรือ ต.233, เรือ ต.234, เรือ ต.235, เรือ ต.236 และ เรือ ต. 237 ซึ่งทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำเมื่อวันที่ ๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๙ โดยมีกำหนดรับมอบเรือเข้าประจำการในวันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙ ที่ผ่านมา
เรือ ตกช.ชุดที่สามจำนวน ๔ลำ ทำพิธีวางกระดูกงูเรือไปเมื่อวันที่ ๗ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๘ มีกำหนดจะรับมอบเรือเข้าประจำการในวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๐
เรือ ตกช.ชุดที่สี่จำนวน ๕ลำ ทำพิธีวางกระดูกงูเรือไปเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๘ 
และล่าสุดเรือ ตกช.ชุดที่ห้าจำนวน ๕ลำที่มีการอนุมัติการจัดซื้อจัดสร้างไป รวมแล้วเรือ ตกช.ชุดเรือ ต.228 มีการสั่งจัดหาแล้ว ๒๓ลำครับ

Conventional Submarine model of China Shipbuilding Industry Corporation(CSIC) and China Shipbuilding & offshore International(CSOC) at Ship Tech.III 2016 (My Own Photo)

สำหรับความคืบหน้าโครงการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทย มีสื่อรายงานว่าดูเหมือนทางจีนจะต้องการกดดันไทยให้ดำเนินการจัดซื้อเรือดำน้ำ S26T ของตนทีเดียว ๓ลำ วงเงิน ๓๖,๐๐๐ล้านบาท ตามที่มีการวางแผนไว้แต่แรก
ขณะที่รัฐบาลไทยกับกองทัพเรือไทยต้องการให้จัดซื้อโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ระยะที่๑ ก่อนเพียง ๑ลำ ภายในปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๐ นี้ในวงเงินไม่เกิน ๑๒,๐๐๐ล้านบาท

ตรงนี้ทั้งทางผู้ที่เกี่ยวข้องในฝั่งไทยและฝั่งจีนก็คงจะต้องไปพูดคุยหารือข้อตกลงกันเพิ่มเติมอีกทีครับว่าจะทำอย่างไร
เพราะดูทางรัฐบาลไทยและกองทัพเรือไทยเองไม่ต้องการที่จะใช้ งป.๖๐ ให้สูงเกินไปในโครงการจัดหาเรือดำน้ำทีเดียว ๓ลำ ซึ่งจะมีผลกระทบตามมาในหลายๆด้าน โดยเฉพาะในส่วนกองทัพเรือเองที่คงใช้งบประมาณประจำปีของตนไปกับการจัดหาเรือดำน้ำอย่างเดียวไม่ได้
ซึ่งงบประมาณกลาโหมประจำปี พ.ศ.๒๕๖๐ ในส่วนโครงการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)อนุมัติวงเงินเพียงประมาณ ๗๐๐ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งงบประมาณผูกพันต่อเนื่องจะต้องรอการอนุมัติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

ขณะที่จีนเองก็ดูไม่ค่อยพอใจที่ไทยจะเลือกจัดหาเรือดำน้ำของตนในรูปแบบงบประมาณผูกพันต่อเนื่องทีละลำจนครบในระยะเวลาเกือบ ๑๐ปี 
เพราะอย่างโครงการจัดหาเรือดำน้ำ S20P ของปากีสถานเองก็จัดหาทีเดียว ๘ลำ ซึ่งทางปากีสถานจะต่อเองในประเทศครึ่งหนึ่ง ๔ลำโดยการถ่ายทอด Technology จากจีนด้วย
ก็จึงเป็นไปได้ว่าการลงนามจัดหาอาจจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆนี้ โดยยังไม่น่าจะมีการยกเลิกโครงการเพียงรอเวลาที่เหมาะสมก่อน แต่ก็หมายความว่าโครงการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือจะล่าช้าออกไปอีก ซึ่งก็ไม่ทราบว่านี่จะเป็นข่าวดีหรือข่าวร้ายครับ





new batch of AgustaWestland AW139 Royal Thai Army at U-Tapao Royal Thai Navy Air Base
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=197512760691550&set=pcb.1421024214582298
https://www.facebook.com/theeraporn.nimnual

มีภาพเผยแพร่ออกมาว่าเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไปแบบ ฮ.ท.๑๓๙ AgustaWestland AW139 ของกองทัพบกไทยชุดใหม่จำนวน ๓เครื่องได้มีการขนส่งมายังสนามบินอู่ตะเภาตั้งแต่วันที่ ๓๐-๓๑ ตุลาคมแล้ว
ก่อนหน้านี้กองทัพไทยได้สั่งจัดหา ฮ.ท.๑๓๙ AW139 จำนวน ๒เครื่องเข้าประจำการใน กองการบิน กรมการขนส่งทหารบก กบบ.ขส.ทบ. ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๗(2014) และต่อมาจัดหาเพิ่มเติมอีก ๓เครื่อง รวมเป็น ๕เครื่อง โดยถูกใช้ในภารกิจขนส่งบุคคลสำคัญเป็นหลัก
โดยกองทัพบกไทยได้สั่งจัดหา ฮ.ท.๑๓๙ AW139 ชุดใหม่จำนวน ๖เครื่อง วงเงินประมาณ ๒,๘๐๐ล้านบาท ซึ่งจากรูปแบบสีบนตัวเครื่องชุดใหม่ประกอบกับข้อมูลก่อนหน้านี้
เข้าใจว่า ฮ.AW139 ชุดใหม่นี้เข้าประจำการใน กองบินปีกหมุนที่๑ ศูนย์การบินทหารบก ศบบ.ทบ. เพื่อสนับสนุนภารกิจใช้งานทั่วไปของกองทัพภาคที่ไม่ใช่ภารกิจทางยุทธวิธี เช่น การลำเลียงกำลังพล ส่งกำลังบำรุง ขนส่งบุคคลสำคัญ และงานธุรการ
ทั้งนี้มีรายงานด้วยว่ากองทัพบกไทยมีแผนจะจัดหาเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป AgustaWestland AW149 จำนวน ๖เครื่องเป็นระยะที่๒ เพื่อเข้าประจำการใน ศบบ. ซึ่ง ฮ.AW149 จะเป็นรุ่นที่ใช้งานทางยุทธวิธีเช่นเดียวกับ ฮ.ท.๖๐ UH-60L/UH-60M Blackhawk ครับ






http://andrei-bt.livejournal.com/445912.html


สายการผลิตของรถถังหลัก Oplot-T ที่โรงงาน Malyshev ของยูเครนสำหรับกองทัพบกไทยก็เห็นได้จากวิดีทัศน์รายการโทรทัศน์ที่ออกอากาศวันที่ ๒๗ ตุลาคม ข้างต้นว่ายังคงดำเนินการอยู่แม้จะยังดูล่าช้าก็ตาม
ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีชิ้นส่วนตัวถังรถแคร่ฐานถึงลำดับที่๒๗ และลำดับที่๓๐(Hull No.27 and No.30) ชิ้นส่วนป้อมปืนลำดับที่๒๒ (Turret No.22) แล้ว
แต่ก็ยังไม่เห็นที่ประกอบเป็นรถเต็มตัวคันนอกจากภาพในหลายเดือนก่อนหน้าที่มีอยู่ราว ๕คัน ซึ่งได้เคยรายงานว่าเป็นชุดที่๓ ที่เพิ่งจะส่งมอบให้ กองพันทหารม้าที่๒ กองพลทหารราบที่๒ รักษาพระองค์ รวมล่าสุดกองทัพบกไทยมีรถถังหลัก Oplot ๑๕คันครับ




NORINCO to demonstrate VT4(MBT-3000) Main Battle Tank at Zhuhai Air Show 2016, 1-6 November 2016

งานแสดงอากาศยานและอาวุธยุทโธปกรณ์ Zhuhai Air Show 2016 ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่จัดในวันที่ 1-6 พฤศจิกายนนี้ ทาง NORINCO จีนก็จะมีการสาธิตรถถังหลัก VT4 หรือ MBT-3000 สำหรับส่งออกที่เป็นรถต้นแบบที่ปรับปรุงเพิ่มใหม่ในงานด้วย 
จากภาพข้างต้นจะเห็นว่ารถถังหลัก MBT-3000(VT4) ที่ทำการซ้อมการสาธิตสมรรถนะทำลายพรางแบบเดียวกับรถถังหลัก Type 96B ที่ข้าแข่งขันในการแข่งรถถังนานาชาติ Tank Biathlon 2016 ที่รัสเซียซึ่งจีนได้อันดับที่สอง(ถึงล้อกดสายพานรถคันหนึ่งจะหักหลุดระหว่างการแข่งก็ตาม)
ซึ่งก็อย่างที่ทราบว่ากองทัพบกไทยได้สั่งจัดหารถถังหลัก VT4(MBT-3000) จำนวน ๒๘คัน วงเงิน ๔,๙๘๔ล้านบาท เป็นลูกค้ารายแรกของรถถังรุ่นใหม่ล่าสุดนี้ ซึ่งในงาน Zhuhai Air Show 2016 อาจจะมีข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับรถของไทยครับ

Vertical Launch MICA(VL MICA) ground based air defence system(http://www.mbda-systems.com)

มีกระแสข่าวออกมาเล็กน้อยว่ากองทัพบกไทยอาจจะได้รับมอบระบบป้องกันภัยทางอากาศอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่อากาศแบบ MBDA VL MICA ฝรั่งเศส/สหราชอาณาจักร ๑ระบบแล้ว(ประกอบด้วยแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถี, ฐาน Radar และที่บังคับการอัตตาจร)
ซึ่งมีรายงานว่าได้จัดหาในวงเงิน ๓,๕๒๐ล้านบาท ในปี ๒๕๕๗(2014) เพื่อทดแทนระบบอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่อากาศ Spada อิตาลีที่ประจำการในกองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่๗ กองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานมานานถึง ๒๕ปี
แต่อย่างไรก็ตามยังไม่มีรายงานภาพหรือเอกสารยืนยัน รวมถึงมีการให้ข้อมูลส่วนหนึ่งว่ากองทัพบกไทยไม่ได้มีการสั่งจัดหาระบบดังกล่าวแต่อย่างใด จึงยังไม่ยืนยันความถูกต้องของข้อมูลนี้ครับ

Turkmenistan KS-1C Surface to Air Missile durring Independence Day military parade, 27 October 2016(https://www.youtube.com/watch?v=Enqk25paOQQ)

ทั้งนี้ก็เช่นเดียวกับโครงการจัดหาระบบอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่อากาศ KS-1C จากสาธารณรัฐประชาชนจีน สำหรับหน่วยต่อสู้อากาศยานของอากาศโยธิน กองทัพอากาศไทย(มีข้อมูลว่าจัดหามาอย่างน้อย ๓แท่นยิง หนึ่งแท่นยิงมีอาวุธปล่อยนำวิถี ๒นัดในท่อยิงบรรจุทรงสี่เหลี่ยม)
แม้ว่าจะมีเอกสารรายงานข้อมูลการจัดหาเผยแพร่ออกมาตามที่มีการรายงานก่อนหน้านี้ แต่ตอนนี้ก็ยังไม่มีการเปิดเผยระบบอย่างเป็นทางการหรือมีภาพยืนยันชัดเจนออกมาว่ามีการรับมอบระบบแล้ว
โดยประเทศหนึ่งที่มีการจัดหาอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่อากาศ KS-1C รุ่นล่าสุดจากจีนคือกองทัพเติร์กเมนิสถานที่เปิดตัวในการสวนสนามวันประกาศเอกราชเมื่อ ๒๗ ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งระบบ KS-1C ของอากาศโยธินกองทัพอากาศไทยก็น่าจะเป็นรูปแบบเดียวกันนี้ครับ

Chaiseri First Win 4x4 with CMI Cockerill CSE90 90mm turret concept

นอกจากการสั่งจัดหาเฮลิคอปเตอร์ลำเลียง ฮ.๑๑ EC725(H225M) เพิ่มเติม ๒เครื่องอย่างเป็นทางการ และภาพเครื่องบินฝึก บ.ทอ.๖ ในสายการผลิตระยะที่๑ ของกองทัพอากาศ กับโครงการซ่อมปรับปรุงสภาพครึ่งอายุปืนใหญ่อัตตาจร ปกค.๓๗ M109A5 ของกองทัพบก
ตามที่ได้เคยได้รายงานไปก่อนหน้าแล้วนั้น ก็ไม่มีความเคลื่อนไหวโครงการจัดหาหรือปรับปรุงอาวุธยุทโธปกรณ์หลักใดออกมาในช่วงเดือนตุลาคมนี้อีก
ทั้งนี้ก็เป็นที่เข้าใจได้ครับว่านี้เป็นช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมนักที่จะมีข่าวการดำเนินการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูงออกมาครับ
(เรื่องหนึ่งที่ต้องขอว่ากล่าวอีกครั้งคือ มี Page FB หรือ Webboard หรือ Website เยอะแยะที่คัดลอกบทความจาก Blog นี้ไปลงแล้วไม่ให้แหล่งที่มาดั้งเดิมแม้แต่ Link เดียว จนถึงดัดแปลงข้อความราวกับว่าเขียนเองแปลเองหรือมีเจตนาอื่นแฝงมาตลอดนานแล้วครับ)