วันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2560

พิธีปล่อยเรือตรวจการณ์ชายฝั่งชุดเรือ ต.261 4ลำลงน้ำ และพิธีวางกระดูกงูเรือตรวจการณ์ชายฝั่งชุดใหม่ 5ลำ











Royal Thai Navy ceremony Keel laying new 5 Inshore Patrol Craft and Launching 4 T.261 class Inshore Patrol Craft from Marsun, 10 March 2017

พิธีวางกระดูกงูเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ชุดใหม่ จำนวน 5 ลำ และพิธีปล่อยเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ชุดเรือ ต.261 (เรือ ต.261 – ต.264) จำนวน 4 ลำ ลงน้ำ

วันนี้ (10 มีนาคม 2560) เวลา 12.40 น. พลเรือเอก ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธานในพิธีวางกระดูกงูเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ชุดใหม่ จำนวน 5 ลำ และพิธีปล่อยเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ชุดเรือ ต.261 (เรือ ต.261 – ต.264) จำนวน 4 ลำ ลงน้ำ 
ณ บริษัท มาร์ซัน จำกัด ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ โดยมี นางปรานี อารีนิจ นายกสมาคมภริยาทหารเรือ เป็นสุภาพสตรีผู้ประกอบพิธีปล่อยเรือลงน้ำ

ในเวลา 13.19 น. ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะประธานในพิธี ได้กดปุ่มไฟฟ้าประสานกระดูกงู เรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ชุดใหม่ ทั้ง 5 ลำ ซึ่งพิธีดังกล่าวถือเป็นพิธีแรกในการสร้างเรือและมีความสำคัญของชาวเรือโดยเชื่อว่าเพื่อให้เกิดความสวัสดีมีชัยและความวัฒนาถาวรให้แก่เรือ 
และนอกจากนั้นยังถือกันว่าเป็นการเชิญแม่ย่านางเรือให้เข้าสิงสถิตในเรือด้วย
จากนั้นในเวลา 13.39 น. นายกสมาคมภริยาทหารเรือ ในฐานะสุภาพสตรีผู้ประกอบพิธีปล่อยเรือลงน้ำ ได้กล่าวเชิญมิ่งขวัญและมงคลสู่เรือ เพื่อให้เกิดสวัสดิมงคลแก่ตัวเรือ ก่อนตัดเชือกเพื่อปล่อยเรือตรวจการณ์ชายฝั่งชุดเรือ ต.261 จำนวน 4 ลำ ลงน้ำ

ตามยุทธศาสตร์ กองทัพเรือ พ.ศ.2551 - 2560 กำหนดความต้องการเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง (ตกช.) รวม 24 ลำ เพื่อใช้ในภารกิจต่าง ๆ โดยมีแผนปลดเรือกตรวจการณ์ชายฝั่งที่ใช้ราชการมานานและครบกำหนดปลดระวาง ตั้งแต่ปี 2558 - 2560 รวม 14 ลำ 
จึงมีความจำเป็นต้องการจัดหาเรือตรวจการณ์ชายฝั่งทดแทนเรือที่จะปลดระวาง ซึ่งการจัดหาครั้งนี้เป็นการจัดหาเรือตรวจการณ์ชายฝั่งเพิ่มเติมให้เพียงพอต่อการใช้งาน เพื่อตอบสนองต่อภารกิจตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือ 
สำหรับการจัดและเตรียมกาลังสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของทัพเรือภาคและหน่วยเฉพาะกิจของกองเรือยุทธการ และให้การสนับสนุนอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง

การดำเนินโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ชายฝั่งที่ผ่านมา กองทัพเรือได้ทยอยจัดหาเรือตรวจการณ์ชายฝั่งทดแทนมาอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ 
โครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ชุดเรือ ต.228 (ต.228 - ต.230) จำนวน 3 ลำ ผูกพันงบประมาณ 3 ปี (2554 – 2556) ได้รับมอบตามสัญญาฯ เรียบร้อยแล้ว เมื่อปี พ.ศ.2556 
โครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ชุดเรือ ต.232 (ต.232 - ต.237) จำนวน 6 ลำ ผูกพันงบประมาณ 3 ปี (2557 - 2559) ได้รับมอบตามสัญญาฯ เรียบร้อยแล้ว เมื่อปี พ.ศ.2559 
โครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ชายฝั่งจำนวน 4 ลำ ที่ได้มีพิธีปล่อยลงน้ำในวันนี้ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการฯ มีกำหนดรับมอบเรือ ภายในวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 
โครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง จำนวน 5 ลำ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการฯ และโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง จำนวน 5 ลำ ที่ได้จัดให้มีพิธีวางกระดูกงูเรือในวันนี้

สำหรับการจัดหาเรือตรวจการชายฝั่ง โดยการว่าจ้างให้ บริษัท มาร์ซัน จำกัด เป็นผู้ดำเนินการนับได้ว่าเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการต่อเรือภายในประเทศ อีกทั้งยังเป็นการประหยัดงบประมาณมากกว่าการจัดหาจากต่างประเทศ 
โดยเรือตรวจการณ์ชายฝั่งจะเข้าประจำการใน กองเรือยามฝั่ง กองเรือยุทธการมีภารกิจในการตรวจการณ์ สกัดกั้น ลาดตระเวน ป้องกันการแทรกซึมทางทะเลและชายฝั่ง คุ้มครองเรือประมงและเรือพาณิชย์ 
ป้องกันและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติบริเวณชายฝั่งทะเลในอ่าวไทย และทะเลอันดามัน รักษากฎหมายในทะเลตามอำนาจหน้าที่ที่กองทัพเรือได้รับมอบหมาย รวมถึงการถวายความปลอดภัยแด่พระบรมวงศานุวงศ์

คุณลักษณะที่สำคัญของเรือตรวจการณ์ชายฝั่งชุดใหม่ของกองทัพเรือ
ขีดความสามารถปฏิบัติการรบ (Combat Capabilities) 
สามารถปฏิบัติภารกิจได้ครอบคลุมพื้นที่ปฏิบัติการบริเวณชายฝั่งในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน
สามารถตรวจจับ ติดตามและพิสูจน์ทราบเป้าผิวน้ำ 
สามารถป้องกันตนเองจากเรือผิวน้ำและอากาศยานข้าศึกได้ตามสมรรถนะของอาวุธประจำเรือ 
สามารถปฏิบัติการทางเรืออย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องรับการส่งกำลังบำรุงเพิ่มเติมได้ไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง สามารถปฏิบัติงานได้ในสภาพทะเลไม่น้อยกว่า Sea State 2 
สามารถตรวจค้นเรือที่ต้องสงสัย ค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ 
และมีความสามารถการทรงตัวที่ดีในการบังคับเรือ และบังคับเลี้ยวในการปฏิบัติงานที่ความเร็วสูง (Maneuverability)

คุณลักษณะทั่วไปของเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง (Ship System Performance) 
ระวางขับน้ำเต็มที่โดยประมาณ 45 ตัน 
ขนาดของเรือ ความยาวตลอดลำ 21.40 เมตร ความกว้างสูงสุด ของเรือ 5.56 เมตร ความลึกของเรือ (Molded Depth) 3.15 เมตร กินน้ำลึกตัวเรือ (Molded Draught) 1.05 เมตร 
ความเร็วสูงสุดต่อเนื่อง ที่ระวางขับน้ำเต็มที่ไม่น้อยกว่า 30 นอต 
กำลังพลประจำเรือ 9 นาย 
สามารถปฏิบัติงานในทะเลได้ต่อเนื่องได้ไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องรับการส่งกำลังบำรุง 
ระยะปฏิบัติการไม่น้อยกว่า 350 ไมล์ทะเล ด้วยความเร็วเดินทางมัธยัสถ์ (15 นอต) ที่ระวางขับน้ำเต็มที่ (Full Load Displacement) 
ขนาดและสัดส่วนของโครงสร้างตัวเรือได้รับการตรวจสอบ และรับรองจากสมาคมจัดชั้นเรือ DNV แห่งประเทศนอร์เวย์ โดยโครงสร้างตัวเรือและแผ่นเปลือกเรือทำด้วยอลูมินัมอัลลอยเกรดที่ใช้ในการต่อเรือโดยเฉพาะ (Marine Grade) 
ระบบขับเคลื่อนประกอบด้วย เครื่องจักรใหญ่ดีเซลเรือตราอักษร MAN รุ่น D2862 LE463 พร้อมเพลาใบจักร จำนวน 2 ชุด ซึ่งผลิตกำลังได้เครื่องละ 1,029 กิโลวัตต์ ทำให้มีกำลังเครื่องจักรรวม 2,058 กิโลวัตต์ 
ขับเพลาใบจักรและใบจักรผ่านชุดคลัชท์และเกียร์ทด จำนวน 2 ชุด โดยที่ระบบเพลาและใบจักรซ้าย-ขวาเป็นแบบ Fixed Pitch Propeller (FPP) จำนวน 2 ชุด
อาวุธประจำเรือ
อาวุธปืนหลัก ปืนกลขนาด 20 มิลลิเมตร จำนวน 1 กระบอก บริเวณหัวเรือ
อาวุธปืนรอง ปืนกลขนาด .50 นิ้ว จำนวน 1 กระบอก พร้อมกับเครื่องยิงลูกระเบิด 81 มิลลิเมตร ร่วมแกน จำนวน 1 กระบอก ติดตั้งบริเวณท้ายเรือ
https://th-th.facebook.com/prthainavy/posts/1453543998030285


ปล่อยเรือลงน้ำ

ในวันที่ 10 มีนาคม กองทัพเรือประกอบพิธีปล่อยเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง จำนวน 4 ลำ ได้แก่ เรือ ต.261 เรือ ต.262 เรือ ต.263 และเรือ ต.264 โดยมีกำลังพลชุดรับเรือร่วมพิธี ณ อู่บริษัท มาร์ซัน จำกัด

รูป : โฉมหน้า ผู้ควบคุมเรือ ตกช. ลำใหม่จำนวน 4 ลำ คุ้นหน้าใครไหมเอ่ย

ขอขอบคุณ รูปภาพ และข้อมูลจาก ผค.เรือ ชุดรับเรือครับ

By Admin ต้นปืน561
https://www.facebook.com/NavyForLifePage/posts/1274831249221433

ตามข้อมูลในข้างต้นกองทัพเรือได้รับมอบเรือตรวจการณ์ชายฝั่งแบบ Marsun M21 ชุดต่างๆเพื่อเข้าประจำการใน กองเรือยามฝั่ง กองเรือยุทธการ เพื่อทดแทนเรือ ตกช.เก่าที่มีอายุการใช้นามานานหลายปีแล้ว ๙ลำคือ
ชุดเรือ ต.228 ประกอบด้วยเรือ ต.228, ต.229 และ ต.230 รวม ๓ลำ, ชุดเรือ ต.232 ประกอบด้วย ต.232, ต.233, ต.234, ต.235, ต.236 และ ต.237 รวม ๖ลำ
ล่าสุดคือชุดเรือ ต.261 ประกอบด้วย ต.261, ต.262, ต.263 และ ต.264 รวม ๔ลำ ที่จะรับมอบหลังพิธีปล่อยลงน้ำในวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๐ ที่จะถึงนี้
รวมกับพิธีวางกระดูกงูเรือเรือตรวจการณ์ชายฝั่งชุดใหม่ ๕ลำในวันเดียวกับที่ทำพิธีปล่อยชุดเรือ ต.261 ลงนาม และพิธีลงนามในข้อตกลงคุณธรรมโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ๕ลำ เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ตามที่ได้รายงานไปด้วย
เมื่อรวมกับเรือ ต.227 ที่สร้างขึ้นทดแทนเรือ ต.215 ที่สูญเสียไปในเหตุภัยพิบัติคลื่นยักษ์ Tsunami ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗(2004) รวมเรือตรวจการณ์ชายฝั่งที่เข้าประจำการแล้ว กำลังจะเข้าประจำการ และกำลังจะสร้างทั้งหมด ๒๔ลำ ตามความต้องการพอดี

มีข้อสังเกตุอยู่ประการว่า นอกจากเรือ ต.231 ที่คือเรือ Hysucat 18 ที่สร้างโดย Technautic Intertrading ประเทศไทย เข้าประจำการเมื่อ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ เป็นเรือต้นแบบทดสอบสาธิต Technology ใหม่ในสมัยนั้น ที่ยังคงประจำการอยู่นั้น
ยังมีชุดเรือ ต.241 ที่คือเรือปฏิบัติการพิเศษ Seafox Mk.IV และเรือปฏิบัติการพิเศษชุดเรือ พ.51 ประกอบด้วย เรือ พ.51, พ.52, พ.53 และ พ.54 รวม ๔ลำ ที่ประจำการในการสนับสนุนหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ
เป็นชุดหมายเลขเรือที่ได้ข้ามไปในชุดเรือตรวจการณ์ชายฝั่งที่จัดหามาใหม่ในชุดเรือ ต.261 ครับ