Royal Thai Navy Spokesperson clarified the accusations from Representative of the Parliament of Thailand that RTN selected Elbit Systems Hermes 900 as winner for land-based Medium-Altitude Long-Endurance Unmanned Aerial Vehicle (MALE UAV) requirement.
โฆษกกองทัพเรือ ชี้แจงกรณีถูกกล่าวหาเรื่องการจัดหาอากาศยานไร้คนขับ (UAV) และโครงการท่าเรือดำน้ำ
วันนี้ (22 มีนาคม 2565) พลเรือโท ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ ชี้แจงข้อเท็จจริง กรณี นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร กล่าวหากองทัพเรือในกรณีการจัดหาอากาศยานไร้คนขับ (UAV) และโครงการท่าเรือดำน้ำนั้น
กองทัพเรือขอชี้แจงว่าเรื่องทั้งหมดไม่เป็นไปตามที่กล่าวหา โดยตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว ไม่พบว่าบริษัทที่มายื่นข้อเสนอ UAV มีความเกี่ยวพันกับบริษัทเรือดำน้ำ
และขอยืนยันว่ากองทัพเรือได้ดำเนินการจัดหา UAV ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด มีใช้งานจริงในกองทัพของหลายประเทศ มีประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือในการใช้งานสูง
รวมถึง ประเด็นครูภาษานั้น ทร.ได้ตรวจพบเองตั้งแต่ต้น และได้ดำเนินสั่งห้ามบุคคลเหล่านั้นเข้าพื้นที่ ตั้งแต่ ธ.ค.๖๔ โดยขอแยกเป็นประเด็นต่างๆ ดังนี้
1.ประเด็นที่ระบุว่า กองทัพเรือเปลี่ยนแบบ UAV จาก Wing Loong ของประเทศจีน เป็น UAV แบบ Hermes 900 ของประเทศอิสราเอล เนื่องจากปัญหาความไม่โปร่งใสในโครงการจัดหาเรือดำน้ำของจีน
โดย บริษัทที่นำ UAV แบบ Hermes 900 เข้ามาอยู่ในเครือข่ายบริษัทนายหน้าของเรือดำน้ำจีนเช่นกันนั้น
กองทัพเรือขอชี้แจงว่า ได้ตรวจสอบความความสัมพันธ์ของผู้ยื่นข้อเสนอ UAV ทุกรายเบื้องต้นแล้ว ไม่มีผลประโยชน์ร่วมกันและไม่พบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดหาเรือดำน้ำแต่อย่างใด
ทั้งนี้การดำเนินโครงการจัดหา UAV ในครั้งนี้ เป็นการจัดซื้อโดยวิธีคัดเลือก โดยกำหนดคุณสมบัติและขีดสมรรถนะตามความต้องการของกองทัพเรือ ซึ่งจะต้องมีการรับรองมาตรฐานด้านการบิน มีความน่าเชื่อถือและความพร้อมใช้งาน
รวมทั้งมีความสามารถในการอยู่รอดสูง ในการปฎิบัติภารกิจทั้งทางทะเลและทางบก มีใช้งานในกองทัพของประเทศผู้ผลิต มีค่าใช้จ่ายต่ำ มีการฝึกอบรมและการถ่ายทอดเทคโนโลยี
ตลอดจนมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของโครงการฯ สูงสุด แต่เนื่องจากการดำเนินการจัดซื้อยังไม่เสร็จสิ้น จึงยังไม่สามารถให้รายละเอียดทั้งหมดได้
2.ประเด็นข้อกล่าวหาว่า UAV แบบ Hermes 900 ของอิสราเอล เป็น UAV ที่ กองทัพเรือประเทศอื่นไม่เคยใช้งานมาก่อน รวมถึงมีประวัติการตกนั้น ขอนำเรียนว่า UAV ของทุกบริษัทที่ ทร.เชิญชวนยื่นข้อเสนอ มีใช้กันในหลายประเทศ และได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ
จึงขอให้วางใจว่ากองทัพเรือจะได้รับ UAV ที่ได้มาตรฐาน คุ้มค่ากับภาษีของประชาชนมาใช้งาน ส่วนเรื่องการตกของ UAV นั้น เป็นเรื่องเป็นไปได้ เหมือนการตกของเครื่องบินชนิดอื่นๆ
ซึ่งจากข้อมูลการตกของ UAV ทั่วโลก อ้างอิงจากเว็ปไชค์ https://dronewars.net/drone-crash-database/ พบว่ามี UAV หลายประเทศทั้งของ อิสราเอล สหรัฐอเมริกา จีน อิตาลี ตุรกี รวมถึง ประเทศอื่นๆ มีประวัติเกิดอุบัติเหตุเหมือนกันหมด
ดังนั้นการตกของ UAV อาจจะไม่ได้เกิดจากความบกพร่องของระบบหรือความผิดปกติของเครื่องยนต์ แต่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น การโดนต่อต้านจากฝ่ายตรงข้าม สภาพอากาศที่แปรปรวน /ทักษะ หรือประสบการณ์ของผู้บังคับเครื่อง UAV
อย่างไรก็ตาม กองทัพเรือได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับความน่าเชื่อถือของระบบ มั่นใจได้ว่า ระบบ UAV ที่ ทร.จะได้รับดีที่สุดตามวัตถุประสงค์การใช้งานและความต้องการของ ทร. ในวงเงินที่กำหนด
3.กองทัพเรือขอเรียนว่า การจัดหา UAV ในครั้งนี้ ได้ดำเนินการด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม เป็นไปตามกฎหมาย และปฏิบัติต่อผู้ประกอบการทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน มีเอกสารหลักฐานการดำเนินงานอย่างชัดเจน มีขั้นตอน ตอบข้อสงสัยและข้อซักถาม
รวมทั้งโครงการนี้ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมการจัดทำ “ข้อตกลงคุณธรรม ประจำปี งป. ๖๕” โดยคณะกรรมการความร่วมมือการป้องกันการทุจริต (ค.ป.ท.) ได้จัดคณะผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
ซึ่งเป็นตัวแทนจากภาคประชาชน ร่วมสังเกตและให้คำแนะนำตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดโครงการ
4. ส่วนประเด็นเรื่องความคืบหน้าในการก่อสร้างท่าจอดเรือดำน้ำและข้อสงสัยที่ว่าผู้แทนบริษัท CSOC ที่เข้ามารับผิดชอบโครงการสร้างท่าจอดเรือดำน้ำ เป็นผู้ได้รับการแต่งตั้งโดยถูกต้องหรือไม่
กองทัพเรือขอชี้แจงให้ทราบว่า ผู้แทนที่บริษัท CSOC แต่งตั้ง โดยมีเอกสารสัญญาที่ชัดเจน คือนาย Lang Qingxu ซึ่งเป็นผู้บริหารโครงการ และมีนายจักรพงษ์ วงศ์ธนปกรณ์ เป็นวิศวกรโครงการ มีคุณวุฒิวิศวกรโยธาระดับสามัญ
ส่วนภาพที่นายยุทธพงศ์ นำมาเผยแพร่และบอกว่าเป็นครูสอนภาษา นั้นกองทัพเรือ ตรวจพบว่า บ.CSOC ได้จ้างบุคคลเหล่านี้จริง โดยทำหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อ ไม่ได้ควบคุมงานทางวิศวกรรม
ต่อมาภายหลัง กองทัพเรือตรวจพบด้วยตนเองว่าบุคคลดังกล่าวไม่มีใบอนุญาตทำงานที่ถูกต้อง จึงไม่อนุญาตให้เข้ามาในพื้นที่โครงการก่อสร้างตั้งแต่ ธ.ค.๖๔ ซึ่ง กองทัพเรือได้ดำเนินการเรียบร้อยก่อนที่จะถูกกล่าวหาใน ก.พ.๖๕
และสุดท้ายนี้ กองทัพเรือ ขอยืนยันว่าจะเดินหน้าพัฒนากองทัพให้มีความทันสมัย เข้มแข็ง สามารถปฏิบัติภารกิจในการปกป้องอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้กับประชาชนและประเทศชาติ
โดยคำนึงถึงการใช้งบประมาณให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด โปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ พลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ
สำนักงานโฆษกกองทัพเรือ
UAV HERMES 900 ...1ในทางเลือกของกองทัพเรือไทย
HERMES 900 ได้ร่วมแข่งขันในโครงการจัดหาอากาศยานไร้คนขับประจำฐานบินชายฝั่งของกองทัพเรือโดยอยู่ระหว่างการคัดเลือกในขั้นตอนสุดท้ายและจะทราบผลในเร็วๆนี้
Battlefield Defense จึงขอนำเสนอ ข้อมูลที่น่าสนใจของ HERMES 900 ซึ่งเป็นตัวเลือกที่จะเป็น UAV ใหม่ของกองทัพเรือไทยในอนาคต
ELBIT SYSTEMS เป็นบริษัทผู้ผลิตยุทโธปกรณ์ทางทหารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอิสราเอล และจำหน่ายยุทโธปกรณ์ให้กับกองทัพประเทศต่างๆ ทั่วโลก มากกว่า 52 ประเทศ
โดยเฉพาะกองทัพอิสราเอลและกองทัพสหรัฐอเมริกา ELBIT SYSTEMS มีพนักงานจำนวนมากกว่า 14,000 คน รายได้ต่อปีประมาณ 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 112,000 ล้านบาท) โดยจำหน่ายให้กองทัพสหรัฐฯ ประมาณ 31,000 ล้านบาทต่อปี
ELBIT SYSTEMS เป็นผู้ผลิตยุทโธปกรณ์หลายประเภท เช่น ระบบอากาศยานไร้คนขับ (UAV), ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ (EW), ระบบ Anti-Drone, ระบบควบคุมและบังคับบัญชา (C4I), วิทยุสื่อสารทางทหาร (TADIRAN),
กล้องตรวจการณ์รังสีความร้อนความละเอียดสูง (ELOP), ระบบควบคุมการยิง (FCS), ปืนใหญ่อัตตาจรล้อยาง (ATMG) และเครื่องยิงลูกระเบิดอัตตาจรล้อยาง (ATMM) เป็นต้น
กองทัพบกได้จัดหา UAV รุ่น HERMES 450 เข้าประจำการ จำนวน 1 ระบบ (3 เครื่อง) และมีการซ่อมบำรุงในประเทศ โดยเจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการของ ELBIT SYSTEMS และผู้แทนของ ELBIT SYSTEMS ในประเทศไทย
กองทัพเรือ อยู่ระหว่างการพิจารณาจัดหา UAV ทางยุทธวิธีพิสัยไกล เข้าประจำการ โดย ELBIT SYSTEMS ได้เสนอ UAV รุ่น HERMES 900 พร้อมอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องและการฝึกอบรม ถ่ายทอดเทคโนโลยี
ELBIT SYSTEMS เป็นผู้ผลิต UAV รายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มี UAV ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และ ขนาดใหญ่ ซึ่งได้มาตรฐาน NATO Standard
ในห้วง 10 ปีที่ผ่าน กองทัพอิสราเอล ได้จัดหา UAV มาประจำการในกองทัพอิสราเอล (IDF) ทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ เกือบทั้งหมดใช้ UAV ระบบหลัก ที่ผลิตโดย Elbit Systems
นอกจากนี้ ELBIT SYSTEMS ยังได้จัดจำหน่าย UAV ให้กับกองทัพต่างๆ ในทวีปยุโรป อเมริกา และเอเชีย มากกว่า 30 ประเทศ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ แคนนาดา จอร์เจีย โคลัมเบีย เม็กซิโก บราซิล ชิลี ฟิลิปปินส์ และ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ไม่เปิดเผยชื่อ)
ส่วนหนึ่งของประเทศที่ใช้ UAV ของ ELBIT
- กองทัพอิสราเอล มี UAV รุ่น Hermes 900 และ Hermes 450 ประจำการอยู่
- ประเทศอังกฤษ รุ่น Watch Keeper (Hermes 450) มูลค่า 250 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 8,000 ล้านบาท) (Elbit ถ่ายทอดเทคโนโลยีการประกอบในอังกฤษ)
- ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มูลค่า 250 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 8,000 ล้านบาท)
- ประเทศบราซิล มูลค่า 175 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 5,600 ล้านบาท)
- ประเทศเม็กซิโก มูลค่า 150 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 4,800 ล้านบาท)
- สหประชาชาติ มูลค่า 90 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2,900 ล้านบาท)
- ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ไม่เปิดเผยชื่อ) มูลค่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 9,600 ล้านบาท)
- ประเทศฟิลิปปินส์ มูลค่า 180 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 5,760 ล้านบาท)
และ ประเทศอื่นๆ อีกกว่า 10 ประเทศทั่วโลก
จุดเด่นของ UAV HERMES 900 จาก ELBIT SYSTEMS ประเทศอิสราเอล
- ระบบ UAV HERMES 900 สามารถเชื่อมโยงภาพและข้อมูลจาก UAV เข้ากับระบบสงครามที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง (NETWORK CENTRIC WARFARE : NCW) ของกองทัพเรือ ได้อย่างสมบูรณ์เนื่องจาก Elbit Systems เป็นผู้ดำเนินการในระบบ NCW ให้กับกองทัพเรืออยู่แล้ว
- กองทัพบกมีสถานีควบคุมภาคพื้นดิน (GCS) ของ UAV HERMES 450 จำนวน 2 สถานี ซึ่งหากมีปฏิบัติการร่วมกัน สามารถใช้สถานี GCS ของกองทัพบก ควบคุม UAV HERMES 900 ของกองทัพเรือได้
- HERMES 900 บินปฏิบัติภารกิจได้ต่อเนื่องถึง 30 ชั่วโมง จึงมีความเหมาะสมอย่างยิ่งในภารกิจการลาดตระเวน พื้นที่ทางทะเลที่กว้างใหญ่ของประเทศไทย ทั้งทางด้านอ่าวไทยและด้านอันดามัน
- HERMES 900 เป็น UAV ขนาด 1 ตัน มีลำตัวเล็กกว่าและมีพื้นที่หน้าตัดเรดาร์ (Radar Cross Section) ขนาดเล็ก ทำให้ HERMES 900 รอดพ้นจากการตรวจจับด้วยเรดาร์ของฝ่ายตรงข้ามได้ดีกว่า
- HERMES 900 ใช้เครื่องยนต์ ROTAX 914 (HYBRID) ซึ่งเป็นเครื่องยนต์แบบลูกสูบ 4 สูบ ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง ผ่านการพิสูจน์แล้วในเรื่องความแข็งแรงทนทาน มีเสียงเงียบมาก และมียอดจำหน่ายหลายแสนเครื่อง
ซึ่งมีชั่วโมงบินสะสมหลายล้านชั่วโมง ทำให้มั่นใจในเรื่องประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และสามารถสนับสนุนชิ้นส่วนซ่อมได้นานกว่า
- อุปกรณ์หลักของระบบ UAV (Hardware) มากกว่า 80% ELBIT SYSTEMS สามารถผลิตได้เอง จึงสามารถส่งกำลังบำรุงได้เป็นระยะเวลานาน
- ELBIT SYSTEMS เป็นผู้ออกแบบ และพัฒนาโปรแกรมควบคุมระบบ UAV (Software)
- ELBIT SYSTEMS อยู่ระหว่างการเจรจาร่วมทุน ถ่ายทอดเทคโนโลยีการซ่อมบำรุง และการประกอบ UAV ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีการป้องกันประเทศ (สทป.)
ซึ่งจะทำให้บุคลากรในประเทศได้รับองค์ความรู้ในการพัฒนาระบบ UAV และมีขีดความสามารถในการซ่อมบำรุงและบริการหลังการขายเพิ่มมากขึ้น
HERMES 900 สามารถที่จะติดตั้งระบบอาวุธได้ โดยมี Software และ Hardware ไว้เรียบร้อยแล้วในตัว UAV โดยไม่ต้องมี Option แต่อย่างใด นอกจากนี้ที่ใต้ปีกยังมี Hard point จำนวน 4 จุด สำหรับติดอาวุธเช่นลูกระเบิด หรืออาวุธนำวิถี
โดยใช้กล้อง EO/IR ในการค้นหาเป้าหมายซึ่งจะมี Laser designator เป็นตัวชี้เป้าหมาย จึงเห็นได้ชัดว่า Hermes 900 มีขีดความสามารถในการติดตั้งอาวุธได้อย่างสมบูรณ์
ซึ่งก็ตรงกับข้อกำหนดของกองทัพเรือที่ UAV ต้องสามารถติดตั้งระบบอาวุธได้ ซึ่ง UAV ทุกบริษัทที่เสนอให้กองทัพเรือพิจารณาก็ล้วนแต่สามารถติดตั้งระบบอาวุธได้ทุกเจ้า
แต่จุดประสงค์หลักการนำ UAV ระยะบินไกลแบบใหม่ไปใช้งาน ก็คือภารกิจบินลาดตระเวน ตรวจการณ์ แต่ถ้าในอนาคตกองทัพเรือมีความประสงค์จะติดตั้งระบบอาวุธ ก็เพียงจัดหาอาวุธที่ต้องการมาติดตั้งเท่านั้น
บริษัท Elbit Systems ได้มีการเซ็นต์สัญญาที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีการซ่อมบำรุง และการประกอบ UAV ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีการป้องกันประเทศ (สทป.) และกองทัพเรือโดยตรง
อันจะทำให้ สปท. และกองทัพเรือได้รับเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งจะทำให้บุคลากรในประเทศได้รับองค์ความรู้ในการพัฒนาระบบ UAV และมีขีดความสามารถในการซ่อมบำรุงและบริการหลังการขายเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ยังเป็นแนวทางที่จะพัฒนาองค์ความรู้ ด้าน UAV มากขึ้นตามลำดับ อันจะทำให้มีการจ้างงานในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งประโยชน์จะตกกับหน่วยงานทางราชการ ไม่ได้ตกกับบริษัทเอกชนบริษัทใดบริษัทหนึ่ง
ตามที่ขณะที่เขียนบทความนี้ยังไม่พบเอกสารประกาศจากศูนย์ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างและราคากลางกองทัพเรือไทย(RTN: Royal Thai Navy) หรือกรมบัญชีกลาง(CGD: Comptroller General's Department) กระทรวงพาณิชย์ไทย ซึ่งสามารถเข้าถึงการตรวจสอบการใช้งบประมาณหน่วยงานรัฐได้
ในส่วนของ สำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์ทหารเรือ(NAMO: Naval Acquisition Management Office) เกี่ยวกับผู้ชนะโครงการอากาศยานไร้คนขับประจำฐานบินชายฝั่ง โดยวิธีคัดเลือก วงเงิน ๓,๙๖๒,๐๔๐,๐๐๐บาท($118,693,250) ที่เผยแพร่ในเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๔(2021)
ซึ่งไม่มีการเผยแพร่เอกสารการกำหนดร่างขอบเขตของงาน(TOR: Terms of Reference) สำหรับรายละเอียดอากาศยานไร้คนขับประจำฐานบินชายฝั่งที่กองทัพเรือไทยต้องการ แต่มีข้อมูลเบื้องต้นว่าจะจัดหา ๑ระบบประกอบด้วยอากาศยาน ๓เครื่อง พร้อมอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆที่เกี่ยวข้อง
จากแหล่งที่มาราคากลาง ๔ บริษัทคือ บริษัท Israel Aerospace Industries Ltd.(IAI) อิสราเอล, บริษัท Elbit Systems Ltd อิสราเอล, บริษัท China National Aero-Technology Import & Export Corporation(CATIC) สาธารณรัฐประชาชนจีน และบริษัท General Atomics Aeronautical Systems, Inc.(GA-ASI) สหรัฐฯ
การชี้แจงของโฆษกกองทัพเรือไทยได้อ้างถึงข้อกล่าวหาจากฝ่ายการเมืองและสื่อที่ว่ากองทัพเรือได้เลือกแบบอากาศยานไร้คนขับ Elbit Systems Hermes 900 อิสราเอลเป็นผู้ชนะ โดยให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงและปฏิเสธข่าวเท็จจากผู้ไม่หวังดีที่ต้องการทำลายความน่าเชื่อถือของกองทัพเรือไทย
ซึ่งที่ผ่านมาบ่อยครั้งที่การให้ข่าวจากฝ่ายการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านหรือสื่อกระแสหลักของไทยนั้นไม่ได้ให้ข้อมูลที่ตรงกับความเป็นจริงทั้งหมด ดังนั้นจึงควรจะถือว่าตอนนี้กองทัพเรือไทยยังไม่มีการเลือกแบบว่าเป็นอากาศยานไร้คนขับ Hermes 900 UAV อิสราเอลอย่างเป็นทางการ
Hermes 900 จะเป็นอากาศยานไร้คนขับระบบที่สองที่จัดหาจาก Elbit Systems อิสราเอลต่อจากอากาศยานไร้คนขับ Hermes 450 ที่ประจำการใน กองร้อยบินอากาศยานไร้คนขับ กองพันบินที่๒๑ กรมบิน ศูนย์การบินทหารบก(Army Aviation Center) กองทัพบกไทย(RTA: Royal Thai Army)(https://aagth1.blogspot.com/2021/11/dti-d-eyes-04.html)
แม้ว่าข้อมูลเบื้องต้น กองการบินทหารเรือ(RTNAD: Royal Thai Naval Air Division) กองเรือยุทธการ(RTF: Royal Thai Fleet) กองทัพเรือไทย มีตั้งใจจะใช้อากาศยานไร้คนขับเพดานบินปานกลางระยะทำการนาน(MALE UAV: Medium-Altitude Long-Endurance Unmanned Aerial Vehicle)
ในภารกิจการลาดตระเวนทางทะเล(Maritime Patrol) เป็นหลัก ด้วยการพัฒนาขีดความสามารถระบบอากาศยานไร้คนขับ(UAS: Unmanned Aircraft Systems) ทั้งที่จัดหาจากต่างประเทศและพัฒนาในไทย(https://aagth1.blogspot.com/2022/03/marcus-b-rq-21-blackjack-uav.html)
ข้อมูลล่าสุดได้เปิดเผยว่า Hermes 900 มีขีดความสามารถในการติดอาวุธเป็นอากาศยานรบไร้คนขับอากาศยานรบไร้คนขับ(UCAV: Unmanned Combat aerial Vehicle) ที่น่าจะรวมถึงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้รถถังตระกูล Spike(https://aagth1.blogspot.com/2020/12/rafael-spike-mr.html)
มีรายงานมานานแล้วว่าระบบ UAV ที่กองทัพอากาศอิสราเอล(Israeli Air Force) มีใช้บางแบบสามารถติดอาวุธได้ แต่ไม่เคยมีการยืนยันซึ่งน่าจะเพราะอิสราเอลต้องการรักษาความลับในเรื่องนี้ ถ้ายืนยันได้ว่าจริง Hermes 900 จะเป็น UAV แบบแรกของกองทัพเรือไทยที่สามารถเลือกติดอาวุธได้
ยังมีการเปิดถึงความร่วมมือการถ่ายทอดวิทยาการให้กับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ สทป.(DTI: Defence Technology Institute) ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านระบบ UAV สำหรับกองทัพ อันจะทำให้ไทยสามารถพึ่งพาตนเองในการใช้งานระบบและพัฒนาอุตสาหกรรมการบินภายในไทยด้วยครับ