Royal Thai Air Force (RTAF) Commander-in-Chief Air Chief Marshal Alongkorn
Wannarot was attend to 50th years of Fairchild AU-23A Peacemaker armed
gunship, counter-insurgency and utility transport aircraft of 501st Squadron,
Wing 5 that in servied since 1972 at Wing 5 RTAF base in Prachuap Khiri Khan
Province on 24 November 2022.
RTAF also displayed examples of 12 modernized AU-23A aircraft that upgraded by
Thai Aviation Industries (TAI) and thailand company RV Connex to be
operational for next 15 years in 2037.
๕๐ ปี เครื่องบินโจมตีและธุรการแบบที่ ๒
พลอากาศเอก อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ร่วมแสดงความยินดี
ในพิธีครบรอบ ๕๐ ปี เครื่องบินโจมตีและธุรการแบบที่ ๒
โดยมี นาวาอากาศเอก สิทธิรัตน์ พู่ทรงชัย ผู้บังคับการกองบิน ๕ ข้าราชการ
ลูกจ้าง พนักงานราชการกองบิน ๕ ให้การต้อนรับ ณ ฝูงบิน ๕๐๑ กองบิน ๕
อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน
๒๕๖๕
โอกาสนี้ ผู้บัญชาการทหารอากาศ
ได้กล่าวให้โอวาทเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ผู้ปฏิบัติงานสนับสนุนภารกิจของเครื่องบินโจมตีและธุรการแบบที่
๒, เยี่ยมชมการจัดแสดงยุทโธปกรณ์, นิทรรศการเกี่ยวกับประวัติ
และภารกิจที่สำคัญของเครื่องบินโจมตีและธุรการแบบที่ ๒
เครื่องบินโจมตีและธุรการแบบที่ ๒ ได้เข้าประจำการในกองทัพอากาศ ตั้งแต่วันที่
๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๑๕ จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลากว่า ๕๐ ปี
ที่ได้ปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากกองทัพอากาศในทุกด้าน
อาทิ การลาดตระเวนติดอาวุธ การลาดตระเวนทางอากาศ การลำเลียงทางอากาศ
การปฏิบัติการฝนหลวง การบินควบคุมไฟป่า และการปฏิบัติการจิตวิทยา
ทั้งยังปฏิบัติภารกิจในเหตุการณ์สำคัญของประเทศชาติ
ทั้งการป้องกันประเทศด้านความมั่นคง และด้านการพัฒนาประเทศ อีกมากมาย
เครื่องบินโจมตีและธุรการแบบที่๒ บ.จธ.๒ Fairchild AU-23A Peacemaker
ได้บรรจุเข้าประจำการในกองทัพอากาศไทย(RTAF: Royal Thai Air Force) เมื่อวันที่
๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๕(1972)
เครื่องบินโจมตีและธุรการ บ.จธ.๒ AU-23A Peacemaker จำนวน ๔เครื่อง โดยมี
เรืออากาศเอก ถาวร บุรีรีตน์(ยศขณะนั้น) เป็นหัวหน้าหมู่บิน บินเดินทางมาลงที่
กองบิน๒ โคกกระเทียม จังหวัดลพบุรี อย่างเป็นทางการในวันที่ ๒๑ ธันวาคม
๒๕๑๕
บรรจุเข้าประจำการในฝูงบิน๒๐๒ ที่จัดตั้งเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๑๖(1973)
โดยมี นาวาอากาศตรี อนันต์ ทองอนันต์(ยศขณะนั้น) เป็นผู้บังคับฝูงบิน บรรจุ
บ.จธ.๒ AU-23A เข้าประจำการรวม ๑๓เครื่อง พ.ศ.๒๕๑๙(1976) รับมอบ บ.จธ.๒ AU-23A
เข้าประจำการเพิ่มอีก ๒๐เครื่อง
เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๓(1990) บ.จธ.๒ AU-23A จำนวน ๑๑เครื่องจากฝูงบิน๒๐๒
กองบิน๒ เข้าประจำการ ณ ที่ตั้งฝูงบิน๕๓๑ กองบิน๕๓ ประจวบคีรีขันธ์
ทดแทนเครื่องบินตรวจการณ์แบบที่๒ บ.ต.๒ Cessna O-1 Bird Dog
เดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๙(1996) บ.จธ.๒ AU-23A จำนวน ๑๑เครื่องจากฝูงบิน๒๐๒
กองบิน๒ ย้ายเข้ามาประจำการรวมกับ บ.จธ.๒ ชุดแรกที่ฝูงบิน๕๓๑ กองบิน๕๓ รวมเป็น
๒๒เครื่อง
พ.ศ.๒๕๔๗-๒๕๖๔(2004-2021) ปฏิบัติหน้าที่หน่วยบิน๙๕๐๑
กองกำลังกองทัพอากาศเฉพาะกิจที่๘ กกล.ทอ.ฉก.๙ ปัจจุบัน บ.จธ.๒ AU-23A
บรรจุประจำการในฝูงบิน๕๐๑ กองบิน๕ ประจวบคีรีขันธ์ จำนวน ๑๒เครื่อง
ในช่วงเวลาที่ภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ทวีความรุนแรงถึงขีดสุด
บ.จธ.๒ AU-23A
มีบทบาทอย่างมากในการปฏิบัติงานสนับสนุนกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน
กอ.รมน.(ISOC: Internal Security Operations Command) อย่างได้ผลดีเยี่ยม
จนได้รับคำชมจากต่างเหล่าทัพและหน่วยข้างเคียงที่ปฏิบัติราชการด้วยกันเสมอมา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์
และขบวนการโจรก่อการร้ายภาคใต้ตามแนวชายแดนไทย
และการปราบปรามการก่อความไม่สงบภายในประเทศ
ในช่วงเวลาดังกล่าวฝูงบิน Peacemaker เคยมีหน่วยบินออกปฏิบัติราชการสนามถึง
๘หน่วยบินในเวลาเดียวกันคือ พิษณุโลก เชียงคำ น่าน สกลนคร วัฒนานคร
นครศรีธรรมราช ตราด สุรินทร์
จากการมีหน่วยราชการสนามอยู่ทั่วประเทศนั่นทำให้อริราชศัตรูของชาติต่างรู้พิษสงและหวั่นเกรงการมาถึงพื้นที่การรบของ
บ.จธ.๒ AU-23A อย่างมาก โดยเฉพาะอำนาจการทำลายอันโดดเด่นของปืนใหญ่อากาศ M197
ขนาด 20mm สามลำกล้องหมุน
ซึ่งยิงออกจากด้านข้างของเครื่องนั้นสามารถทำลายกองกำลัง โรงเรือน ที่มั่น
และยานพาหนะของข้าศึกอย่างได้ผลดียิ่ง
ดังจะเห็นได้จากสรุปบทเรียนจากการรบ
ในหนังสือประวัติศาสตร์กองทัพอากาศในการใช้กำลังทางอากาศสนับสนุนการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์
ที่กล่าวสรุปได้ว่าอากาศยานที่มีผลต่อขวัญและกำลังใจของ ผกค.มากที่สุด
คือเครื่องบินที่มีอำนาจการยิงด้านข้าง ซึ่งสามารถยิงได้ตลอดเวลารอบเป้าหมาย
ซึ่งก็คือ บ.จธ.๒ AU-23A Peacemaker และนอกเหนือจากนี้ก็ยังมีอากาศยานอื่นเช่น
เครื่องบินโจมตีและลำเลียงแบบที่๒ บ.จล.๒ Douglas AC-47 Spooky
ที่ใช้ในภารกิจสนับสนุนการยิงเช่นเดียวกัน
ฝูงบิน บ.จธ.๒ AU-23A Peacemaker
ได้สร้างเกียรติประวัติและวีรกรรมไว้อย่างกล้าหาญ
โดยเข้าร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับกำลังภาคพื้นดินทุกครั้งที่ได้รับการร้องขอในสมรภูมิสำคัญๆทั่วทุกภาคของประเทศไทย
อาทิ
-สมรภูมิภูหินร่องกล้า เขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์
พ.ศ.๒๕๑๗-๒๕๒๕(1974-1982)
-สมรภูมิห้วยโกร๋น ทุ่งช้าง จังหวัดน่าน พ.ศ.๒๕๒๑(1978)
-สมรภูมิผาตั้ง จังหวัดเชียงราย พ.ศ.๒๕๒๒-๒๕๒๔(1979-1981)
-สมรภูมิกุงชิง เขาช่องช้าง จังหวัดนครศรีธรรมราช
พ.ศ.๒๕๒๓-๒๕๒๕(1980-1982)
-สมรภูมิบ้านโนนหมากนุ่น จังหวัดปราจีนบุรี พ.ศ.๒๕๒๓(1980)
-สมรภูมิผาจิ ผาวัว จังหวัดน่าน พ.ศ.๒๕๒๕(1982)
-การปราบปรามกองกำลังขุนส่า จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ.๒๕๒๕(1982)
-ยุทธการสุริยพงศ์ ๑,๒,๓,๔ จังหวัดน่าน พ.ศ.๒๕๒๖-๒๕๒๗(1983-1984)
-การปักเขตชายแดนไทย-มาเลเซีย พ.ศ.๒๕๒๖-๒๕๒๘(1983-1985)
-ยุทธการบ้านชำราก บ้านสุขสันต์ จังหวัดตราด พ.ศ.๒๕๒๘(1985)
หลังจากภารกิจทางด้านการรบต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ลดน้อยลงไปแล้ว
ภารกิจของ บ.จธ.๒ AU-23A ก็มีการปรับตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยในยามสงบ
บ.จธ.๒ AU-23A ยังคงปฏิบัติภารกิจที่หลากหลายอย่างต่อเนื่องเสมอมา
อาทิเช่น
ภารกิจลาดตระเวนถ่ายภาพทางอากาศสนับสนุนโครงการในพระราชดำริ
และการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานต่างๆ ภารกิจปฏิบัติการฝนหลวง
ภารกิจการบินโปรยเมล็ดพันธ์ไม้
ภารกิจปฏิบัติการจิตวิทยาทั้งการบินกระจายเสียงและโปรยใบปลิวในพื้นที่ต่างๆ
รวมทั้งการบินปล่อยควันสี และลากแผ่นผ้าในงานพิธีสำคัญๆ
เป็นเวลา ๕๐ปีมาแล้วที่เครื่องบินโจมตีและธุรการแบบที่๒ บ.จธ.๒ AU-23A
Peacemaker เข้าประจำการในกองทัพอากาศไทย
จากเครื่องบินที่ถูกพัฒนาและทดสอบเพื่อนำไปใช้ปฏิบัติภารกิจการรบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(เวียดนาม)
แต่กองทัพอากาศสหรัฐฯ(USAF: US Air Force)
ก็ไม่ได้ส่งเข้าทำการรบตามที่ตั้งใจไว้
และเมื่อกองทัพอากาศไทยได้คัดเลือกและตัดสินใจจัดหา AU-23A Peacemaker
เข้าประจำการกลับพบว่าเป็นอากาศยานที่ทรงคุณค่า
และสามารถปฏิบัติภารกิจสมตามคำมุ่งหมายที่กองทัพอากาศได้คาดหวังได้อย่างยอดเยี่ยม
ด้วยการแผนแบบและพัฒนาเหมาะสมกับภารกิจตั้งแต่ต้น
ด้วยคุณลักษณะเฉพาตัวที่โดดเด่น
และขีดความสามารถในการใช้อาวุธได้อย่างเหมาะสมกับภัยคุกคามของชาติในเวลานั้น
รวมทั้งการปฏิบัติภารกิจได้อย่างหลากหลายอย่างที่ไม่เคยมีเครื่องบินแบบใดของกองทัพอากาศไทยทำได้มาก่อน
ทำให้นับตั้งแต่วันที่เข้าประจำการ บ.จธ.๒ AU-23A
ได้มีโอกาสปฏิบัติภารกิจเพื่อรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติในยามสงครามและปฏิบัติภารกิจในการพัฒนาชาติอย่างได้ผลดีมาตลอด
แต่จะมีสักกี่คนที่จะรู้ว่า บ.จธ.๒ AU-23A
ที่ยังคงปฏิบัติภารกิจรับใช้ชาติมาอย่างเข้มแข็งอยู่ทุกวันนี้ยังแฝงไว้ด้วยความภาคภูมิใจของผู้ร่วมปฏิบัติงานทุกๆคนในความเป็นฝูงบิน
Peacemaker เพียงฝูงเดียวในโลกนี้อีกด้วย
ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่อย่างใดในการที่กองทัพอากาศไทยจะสามารถปฏิบัติการโดยใช้เครื่องบินที่ผลิตมาจำนวนน้อยในโลก
และถูกมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจทุกรูปแบบมาตลอด ๕๐ปีที่ผ่านมา
แต่ก็ยังคงมีสภาพดีพร้อมต่อการปฏิบัติภารกิจมาจนถึงทุกวันนี้
ถึงแม้ว่าเพื่อนร่วมศึกในอดีตของ บ.จธ.๒ AU-23A ไม่ว่าจะเป็น
เครื่องบินโจมตีและลำเลียง บ.จล.๒ AC-47,เครื่องบินโจมตีและฝึกแบบที่๑๓ บ.จฝ.๑๓
North American T-28D Trojan, เครื่องบินโจมตีแบบที่๕ บ.จ.๕ North American
Rockwell OV-10C Bronco และเครื่องบินโจมตีแบบที่๖ บ.จ.๖ Cessna A-37B
Dragonfly จะทยอยปลดประจำการไปแล้วก็ตาม
สิ่งที่ไม่สามารถลืมได้ก็คือบุคคลากรทุกๆท่านตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ไม่ว่าจะเป็นนักบิน ช่าง สื่อสาร สรรพาวุธ
รวมทั้งเจ้าหน้าที่สนับสนุนต่างๆ
ได้ดูแลและซ่อมบำรุงเครื่องบินอย่างดีตลอดรวมทั้งมีการพัฒนาการการใช้งานในภารกิจที่หลากหลายกว่าเมื่อครั้งถูกแผนแบบไว้แต่เดิม
นอกจากนั้นยังได้ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ไปสู่ผู้ปฏิบัติงานในรุ่นต่อๆมาจนมาถึงรุ่นปัจจุบันอีกด้วย
ตลอด ๕๐ปีที่ผ่านมาฝูงบิน Peacemaker
ของกองทัพอากาศไทยมีการสูญเสียทั้งเครื่องบิน นักบิน และเจ้าหน้าที่
จากภารกิจการรบและภารกิจการฝึกไปจำนวนไม่น้อย ทุกคนที่ปฏิบัติงานกับ บ.จธ.๒
AU-23A ในปัจจุบันยังคงระลึกถึงท่านเหล่านั้นในความกล้าหาญ
และการเสียสละได้แม้แต่ชีวิตในการปกป้องเอกราชและอธิปไตยของชาติและจะคงรักจิตวิญญาณของความเป็นทหารกล้าผู้ซื่อสัตย์
จงรักษ์ภัคดีต่อแผ่นดินและมุ่งมั่นต่อการปฏิบัติภารกิจสืบต่อไปนานเท่านาน
สมรรนะและขีดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจของเครื่องบินโจมตีและธุรการแบบที่๒
บ.จธ.๒ AU-23A Peacemaker
บริษัทผู้ผลิต Fairchild สหรัฐฯ
ปีกยาว 49.67feet
สูง 12.25feet
ลำตัวยาว 36.8feet
เครื่องยนต์ turboprop Garrett TPE-331-1-101F กำลังขับ 650hp
น้ำหนักตัวเปล่า 3,608lbs
น้ำหนักบรรทุก 1,120lbs (ผู้โดยสาร ๗คน)
บินได้ไกล 350nmi
เพดานบิน 26,400lbs (ปกติไม่เกิน 10,000feet)
บินได้นาน ๓ชั่วโมง ๓๐นาที
ความเร็วสูงสุด 150knots
อุปกรณืติดตั้งเพิ่มเติม กล้อง electro-optical/Infrared(EO/IR) แบบ FLIR STAR
SAFIRE 380HD
เอกสารจาก กรมช่างอากาศ(Directorate of Aeronautical Engineering) กองทัพอากาศไทย เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๔(2021) ประกาศถึงการบริการสนับสนุนโครงการปรับปรุงขีดความสามารถ บ.จธ.๒ AU-23A จำนวน ๑๔เครื่อง วงเงิน ๖๐,๐๐๐,๐๐๐บาท($1,998,781)
ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทอุตสาหกรรมการบินจำกัด(TAI: Thai Aviation Industries) ไทย และบริษัท RV Connex ไทย ในการปรับปรุงติดตั้งห้องนักบินจอดแสดงผลสี ๔จอ ระบบตรวจสอบสภาพอากาศแบบ real -time และช่วยการบินขึ้นลงในเวลากลางคืน และระบบ Avionics ใหม่อื่นๆ
พลอากาศเอก อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศไทยยังได้ให้สัมภาษณ์สื่อว่า บ.จธ.๒ AU-23A จำนวน ๑๒เครื่องที่ปรับปรุงความสมัยแล้วจะประจำการไปต่อได้อีก ๑๕ปีหรือราวปี พ.ศ.๒๕๘๐(2037) โดยจะมีการตรวจสอบสภาพเครื่องบินทุก ๕ปีด้วย นับเป็นการใช้งานที่ยาวนานคุ้มค่ามาก
ขณะเดียวกัน ณ พิธีครบรอบ ๕๐ปี เครื่องบินโจมตีและธุรการแบบที่๒ ที่กองบิน๕ ประจวบคีรีขันธ์ สื่อไทยยังได้สัมภาษณ์ผู้บัญชาการทหารอากาศไทยเกี่ยวกับความคืบหน้าของโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ Lockheed Martin F-35A Lightning II จากสหรัฐฯ
ผู้บัญชาการทหารอากาศไทยยังยืนยันว่ากองทัพอากาศไทยเลือกเครื่องบินขับไล่ F-35A สหรัฐฯเท่านั้นในการทดแทนเครื่องบินขับไล่แบบที่๑๙/ก บ.ข.๑๙/ก Lockheed Martin F-16A/B Fighting Falcon ที่มีอายุการใช้งานมานาน โดยที่ F-35 ๑เครื่องสามารถทดแทน F-16 ได้ถึง ๓เครื่อง
อย่างไรก็ตามต้องรอความชัดเจนที่สภา Congress สหรัฐฯจะอนุมัติความเป็นไปได้ในการขายช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๖(2023) และยังไม่มีแผนสำรองในการมองเครื่องบินขับไล่แบบอื่นถ้าสหรัฐฯไม่อนุมัติการขาย แต่ถ้าสหรัฐฯมีการส่งสัญญาณอย่างใดอย่างหนึ่งก็จะพิจารณาครับ