วันอาทิตย์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ความคืบหน้าโครงการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพไทยในปี ๒๕๖๐-๙

Rafael Spike Anti-Tank Guided Missile of ST Kinetics Singapore display at Defense & Security 2015 exhibition(My Own Photo) 

http://www.dti.or.th/download/file/d10d71b0.pdf
Defence Technology Institute released check the purchase price of materials for 63 related IR Seeker equipments

ความคืบหน้าที่สำคัญของโครงการพัฒนาอาวุธด้วยตนเองของ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ สปท. DTI(Defence Technology Institute)
คือการออกเอกสารการสอบราคาซื้อวัสดุระบบ IR Seeker จำนวน ๖๓รายการ เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๐(2017)
เป็นที่เข้าใจว่าระบบ IR Seeker ดังกล่าวจะถูกนำมาใช้ในโครงการพัฒนาระบบอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้รถถัง(Anti-Tank Guided Missile)
ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาจรวดนำวิถีที่ DTI ประกาศแผนงานพัฒนาต่อจากโครงการจรวดนำวิถีหลายลำกล้อง DTI-1G 302mm และเครื่องจรวดหลายลำกล้อง DTI-2 122mm

ปัจจุบันกองทัพไทยยังมีความต้องการในการจัดหาระบบอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้รถถังแบบใหม่เพื่อทดแทนระบบเก่าที่ปลดประจำการไปได้หลายปีแล้ว
เช่นในส่วนของกองทัพบกไทย(Royal Thai Army) คือโครงการจัดหาระบบอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้รถถังทดแทนระบบ M47 Dragon ที่จัดหามานานซึ่งล้าสมัยและหมดอายุการใช้งานแล้ว
ช่วง ๓-๕ปีก่อนนั้นกองทัพบกไทยได้ประเมินค่าอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้รถถังแบบพกพาได้ด้วยชุดยิงขนาดเล็กสองระบบคือ Raytheon-Lockheed Martin FGM-148 Javelin สหรัฐฯ และ Rafael Spike อิสราเอล ซึ่งต่อมามีข้อมูลว่ากองทัพบกไทยเลือก Spike-MR อิสราเอล
อย่างไรก็ตามเนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณทำให้กองทัพบกไทยยังไม่มีการดำเนินการจัดหา ATGM ใหม่จนถึงตอนนี้ ซึ่งถ้า DTI จะพัฒนาอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้รถถังของไทยเองจนเข้าสู่สายการผลิตและประจำการได้จริงย่อมจะเป็นเรื่องที่ดีมากครับ

AH-1F and AH-1F EDA of 3rd Aviation Battalion, Aviation Regiment, Army Aviation Center, Royal Thai Army(https://www.facebook.com/ball.kittidej)

ตามที่ได้มีการวิเคราะห์การจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกแบบเฮลิคอปเตอร์โจมตีใหม่ของกองทัพบกไทยเพื่อทดแทน ฮจ.๑ AH-1F และ AH-1F EDA ทั้ง ๗เครื่องที่ประจำการใน กองพันบินที่๓ ศูนย์การบินทหารบกนั้น(http://aagth1.blogspot.com/2017/09/blog-post_18.html)
ได้ข้อมูลมาเพิ่มเติมบางส่วนครับว่าแบบเฮลิคอปเตอร์โจมตีใหม่ที่มีตัวแทนบริษัทประเทศต่างๆมาเสนอให้กองทัพบกไทยพิจารณานั้นน่าจะมีอยู่ด้วยกันดังนี้คือ
Boeing AH-64E Apache Guardian และ Bell AH-1Z Viper สหรัฐฯ, Airbus Helicopters Tiger ฝรั่งเศส-เยอรมนี, Turkish Aerospace Industries/Leonardo T129 ATAK ตุรกี-อิตาลี และ Mil Mi-28NE รัสเซีย โดยเท่าที่ทราบจีนไม่ได้เสนอ Z-10 ของตนให้ไทย

ที่มีข่าวลือมาล่าสุดนั้นตัวเลือกที่กองทัพบกไทยพิจารณาเหลือสองแบบแล้วคือ AH-1Z Viper กับ Tiger โดยมีแนวโน้มว่า AH-1Z จะเป็นตัวเลือกที่ดีเพราะมีแบบแผนใกล้เคียงกับ ฮ.จ.๑ AH-1F มากที่สุด
ก็ต้องติดตามกันว่าผลที่ออกมาในอนาคตจะเป็นไปตามที่กล่าวมานี้จริงหรือไม่ เพราะได้ข้อมูลมาอีกทางมาระบุว่าขณะนี้ยังไม่ได้มีการตัดสินใจใดๆออกมาเลย
โดยการเสนอแบบตัวเลือกเฮลิคอปเตอร์โจมตีใหม่ ต่อ ศบบ.นั้นจะมีกำหนดส่งข้อเสนอจนถึงต้นเดือนตุลาคม และคาดว่าจะเริ่มการพิจารณาคัดเลือกแบบได้ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนหรือหลังจากนั้นครับ

ทั้งนี้นอกจากเฮลิคอปเตอร์โจมตีใหม่ทดแทน ฮ.จ.๑ AH-1F ขั้นต้น ๑กองร้อยบิน ๘เครื่องแล้ว ตามแผนความต้องการอัตราโครงสร้างศูนย์การบินทหารบกใหม่ในปัจจุบัน
กองทัพบกยังมีความต้องการจัดหา ฮ.โจมตีเพิ่มเติมในแต่ละกองพันบินอากาศยานปีกหมุน อย่างน้อยอีก หนึ่ง ร้อย.บ. ๘เครื่อง เช่นใน กองพันบินที่๙(ผสม)
รวมถึงเฮลิคอปเตอร์ลาดตระเวนติดอาวุธในแต่ละกองพันบินอากาศยานปีกหมุนอย่างน้อยอีกหนึ่ง ร้อย.บ. ๘เครื่อง เพิ่มเติมจาก ฮ.ลว./อว.๕๕๐ AS550 C3 ๘เครื่องที่ประจำการใน กองพันบินที่๑ (แผนเดิมต้องการขั้นต้น ๑๖เครื่อง)

แต่ทั้งนี้เนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณ มองว่าเฉพาะส่วน ฮ.ลาดตระเวนคงจะมีแผนปรับปรุงติดตั้งกล้องตรวจการณ์ชี้เป้า Electro-Optical Infrared(EO/IR) ให้ AS550 C3 มากกว่า
ส่วนการจัดหา ฮ.มือสองอย่าง OH-58D Kiowa Warrior ซึ่งกองทัพบกสหรัฐฯ(US Army) เพิ่งจะปลดประจำการไป และส่งออกเครื่องส่วนเกินให้มิตรประเทศในรูปแบบ Excess Defense Article และ Foreign Military Sale นั้น(http://aagth1.blogspot.com/2017/09/oh-58d-kiowa-warrior.html)
เช่น กองทัพอากาศตูนิเซีย ๒๔เครื่องรวมระบบอุปกรณ์และอาวุธต่างๆมีวงเงินที่ $100.8 million(http://www.dsca.mil/major-arms-sales/tunisia-oh-58d-kiowa-warrior-aircraft-equipment-and-support) แต่มองว่าในระยะยาวแล้วอายุการใช้งานเครื่องจะสั้นเกินไปไม่คุ้มค่าที่จะจัดหามาใช้ครับ

Royal Thai Army AEROS 40D Sky Dragon Airship with 2 Axsys V14-MSII Electro-Optical Infrared camera systems Emergency landing at Pattani, 5 September 2014


Royal Thai Army 3 Axsys V14-MSII Electro-Optical Infrared(EO/IR) camera systems on 3 Bell 212 Helicopters amd 2 V14-MSII  cameras on AEROS 40D Sky Dragon Airship(www.nationgroup.com)

สำหรับเรือเหาะตรวจการณ์ AEROS 40D Sky Dragon สหรัฐฯแบบมีนักบินประจำที่กองทัพบกไทยจัดหามาในปี พ.ศ.๒๕๕๒(2009) และได้ปลดประจำการไปในปี พ.ศ.๒๕๖๐(2017) นี้นั้น
รายงานปัญหาของสมรรถนะตัวเรือเหาะ ทั้งพื้นผิวผ้าใบตัวเรือเหาะเสื่อมสภาพ ค่า Helium gas เพื่อรักษาสภาพรูปทรงเรือเหาะมีค่าใช้จ่ายสูง สมรรถนะความเร็วและเพดานบินต่ำกว่าที่ต้องการ และเคยเกิดอุบัติเหตุลงจอดฉุกเฉินนั้นก็ได้ถูกรายงานไปบ่อยครั้งแล้ว

ทั้งระบบที่จัดหามารวม ๓๔๐ล้านบาท($10.26 million) แบ่งเป็น
รายการแรก ตัวเรือเหาะ ๖๖.๘ล้านบาท($2.01 million), กล้องตรวจการณ์ ๒ชุดและระบบควบคุมและส่งสัญญาณ ๘๗ล้านบาท($2.62 million) รถหุ้มเกราะสถานีควบคุม ๔๐ล้านบาท($ 1.2million) และโรงเก็บพร้อมอุปกรณ์ภาคพื้น ๙ล้านบาท($271,818)
รายการที่สอง อากาศยานปีกหมุนติดตั้งระบบเฝ้าตรวจทางอากาศกล้องตรวจการณ์คุณภาพสูง ๓ระบบ ๑๓๑ล้านบาท($ 3.95 million) นั้น

ในส่วนรถหุ้มเกราะควบคุมและถ่ายทอดสัญญาณแบบ Grizzly Command & Control MRAP(Mine Resistant Ambush Protected) ๑คันนั้นจะมีการขายทอดตลาดไป
ส่วนกล้องตรวจการณ์ Axsys V14-MSII ๒ระบบที่ติดตั้งบนเรือเหาะนั้น จะมีการพิจารณานำไปติดตั้งกับเฮลิคอปเตอร์แบบอื่นต่อไป เช่นเดียวกับที่ติดกับเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป ฮ.ท.๒๑๒ Bell 212 ๓เครื่องที่ติดตั้งกล้อง EO/IR Axsys V14-MSII มาก่อนแล้วครับ


Royal Thai Marine Corps, Royal Thai Navy's HMV-150 upgraded of V-150 4x4 by Panus Assembly Co.,Ltd Thailand was transited for field test at Narathiwat in 29 September 2017

เมื่อ ๒๙ ก.ย.๖๐ เวลา ๑๑๕๐ น.อ.เลอศักดิ์ คชนันทน์ ผบ.ฉก.นย.ทร./ผบ.ฉก.นย.ภต. ให้โอวาทและกล่าวต้อนรับกำลังพลส่วนใหญ่ ผลัดเปลี่ยนหน้าที่ ฉก.นย.ทร./ฉก.นย.ภต.ประจำปี งป.๖๑ ณ ชายหาด ค่ายจุฬาภรณ์ อ.เมืองนราธิวาส จว.นราธิวาส 
โดยประกอบด้วยกำลังพลจาก กรมทหารพรานนาวิกโยธิน กองทัพเรือ (กรม ทพ.นย.ทร.) กองพันทหารราบที่ ๔, หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง, กองพันลาดตระเวน, กองพันทหารช่าง และกองพันพยาบาล 
ซึ่งกำลังพลดังกล่าว เดินทางมาโดยทางเรือ ประกอบด้วย เรือหลวงอ่างทอง และเรือหลวงมันใน 
ในการนี้ น.อ.เลอศักดิ์ คชนันทน์ ผบ.ฉก.นย.ทร./ผบ.ฉก.นย.ภต.ได้กล่าวเน้นย้ำให้กำลังพลทุกนายปฏิบัติงานอย่างเต็มความสามารถ อยู่บนพื้นฐานและหลักการที่ถูกต้อง มีความซื่ออสัตย์สุจริต มีคุณธรรมและจริยธรรมในการปฏิบัติงาน 
นอกเหนือจากภารกิจในการปกป้องอธิปไตย และรักษาผลประโยชน์ของชาติแล้ว ภารกิจให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง 
ขอให้กำลังพลทุกนายใช้ศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มกำลังความสามารถ ในการปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ภายใต้พหุวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างจากพื้นที่อื่น ๆ ทั้งในด้านศาสนา ภาษา ขนบธรรมเนียม ประเพณี และต้องไม่ประมาทโดยเด็ดขาด 
ทั้งนี้ กำลังพลทุกนาย คือตัวแทนของ กองทัพเรือ
https://www.facebook.com/watcharin13/posts/1721711241173324

Royal Thai Marine Corps, Royal Thai Navy's new varriant of PHANTOM 380-X1 Cobra 4x4 by Panus Assembly Co.,Ltd Thailand
https://www.facebook.com/rach2511/posts/10214495404436998

การผลัดเปลี่ยนกำลังพลของ หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธิน กองทัพเรือ/หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๑(2017) ที่ ค่ายจุฬาภรณ์ จังหวัดนราธิวาส ตามชุดภาพในข้างต้นนั้น
มีการพบว่า นาวิกโยธิน กองทัพเรือไทยได้มีการนำรถหุ้มเกราะล้อยาง HMV-150 ที่บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ ทำการปรับปรุงจากรถหุ้มเกราะล้อยาง V-150 4x4 ที่ประจำการใน กองร้อยยานเกราะ กองพันรถถัง กองพลนาวิกโยธิน มาก่อน
รถเกราะ HMV-150 ต้นแบบที่ถูกนำมาประจำการที่นราธิวาสนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการทดสอบในภาคสนามจริงเพื่อประเมินค่าก่อนการพิจารณาที่จะดำเนินการปรับปรุงรถเกราะ V-150 ของ นย.ที่มีให้เป็นมาตรฐาน HMV-150 ต่อไป

ซึ่งรถหุ้มเกราะล้อยาง First Win II 4x4 ที่นาวิกโยธินไทยได้รับมอบจากบริษัท ชัยเสรี เม็ททอล แอนด์ รับเบอร์ จำกัด(Chaiseri metal & rubber Co. Ltd) ไว้ทดลองใช้งาน ๖๐วันก่อนหน้า ก็เป็นรถเกราะป้องกันทุ่นระเบิด MRAP อีกแบบที่น่าจะถูกนำไปใช้ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้
นอกเหนือจากรถหุ้มเกราะล้อยาง Phantom 380-X1 ซึ่งเป็นผลงานของบริษัทพนัสที่เข้าประจำการในนาวิกโยธินไทยที่ชายแดนภาคใต้แล้ว และกองทัพเรือไทยกำลังจะจัดหาเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่ง
โดยได้มีภาพเปิดเผยถึงรถหุ้มเกราะล้อยาง Phantom 380-X1 Cobra ที่การปรับปรุงเพิ่มเติมในบางส่วนด้วยครับ(http://aagth1.blogspot.com/2017/07/hmv-150-first-win-ii.html)





Ceremony of Royal Thai Navy delivered Nari VTOL UAV to Suranaree Task Force, 2nd Army Region, Royal Thai Army, 8 September 2017

ภารกิจสำเร็จลุล่วงไปอย่างสวยงาม!
กองบัญชาการกองทัพไทย สั่งผลิตโดรนจากกองทัพเรือให้เหล่าทัพต่างๆใช้งาน
เราสามัคคีกัน! เราไม่แบ่งแยกเหล่าทัพ! เราทำงานประสานกัน! สนับสนุนงานวิจัยฯภูมิปัญญาทหารไทย!

เรื่องหนึ่งที่ถูกโยงเข้าหากรณีปัญหาการจัดหาเรือเหาะตรวจการณ์ AEROS 40D Sky Dragon ที่ปลดประจำการไปในข้างต้นบ่อยครั้งคือเรื่องที่มักจะมีกลุ่มคนออกมาเสนอความเห็นว่า "ทำไมทหาร-ตำรวจไม่ใช้ Drone ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้"
ในที่นี้เราจะกล่าวถึงในแง่มุมที่ว่า Drone ที่มักจะถูกกล่าวถึงนั้นคืออากาศยานไร้คนขับ(UAV: Unmanned Aerial Vehicle) ซึ่งในความเป็นจริงนั้นแต่ละเหล่าทัพมีการจัดหาและพัฒนา UAV ของไทยเองประจำการและใช้ปฏิบัติการจริงในหลายๆพื้นที่มามากกว่าสิบปีแล้ว
เช่น RQ-11B Raven, DTI Mini UAV กองพันข่าวกรองทหาร, Searcher Mk II กับ Hermes 450 กองร้อยบินอากาศยานไร้คนขับที่๒ กองพันบินที่๒๑ กรมบิน ศูนย์การบินทหารบก กองทัพบกไทย, Narai(นารายณ์), Ongkot(องคต), DTI RTN KSM150 กับ Falcon-V FUVEC VTOL UAV ขึ้นลงทางดิ่งกองทัพเรือไทย และ Aerostar, TEagle Eyes II, Tiger Shark I/II MALE UAV กองทัพอากาศไทย เป็นต้น ซึ่ง UAV ที่กล่าวชื่อมามีถึง ๗ระบบที่พัฒนาเองในไทย

UAV เหล่านี้ได้มีการนำไปทดสอบใช้งานจริงในพื้นที่ปฏิบัติการมาแล้วทั้งที่ชายแดนภาคใต้หรือตรวจการณ์ในพื้นที่ชายแดนตะวันออกและตะวันตก ตามตัวอย่างที่กองทัพเรือได้ผลิตและส่งมอบ นารายณ์ UAV ให้กองกำลังสุรนารี กองทัพภาคที่๒ กองทัพบก และเหล่าทัพอื่นไปใช้งาน
อย่างไรก็ตาม UAV แต่ละแบบทั้งขนาดใหญ่ขนาดเล็กยังมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถจะทำการบินได้ต่อเนื่องตลอดเวลา ดังนั้นในการตรวจการณ์ต่อเนื่องสมัยนั้นกองทัพบกจึงมีแนวคิดที่จะจัดหาเรือเหาะซึ่งสามารถบินได้ต่อเนื่องนานข้ามวันและประหยัดเชื้อเพลิง
แต่ก็อย่างที่ทราบว่าตัวระบบเรือเหาะ Sky Dragon นั้นมีปัญหาตั้งแต่บริษัทผู้ผลิตที่เอาตัวต้นแบบ Prototype มาขายให้แล้ว รวมถึงเป็นระบบที่ใช้คนบังคับภายในไม่ได้เป็นแบบ Balloon ไร้คนขับผูกประจำที่เพดานบินสูงเหมือนประเทศอื่น ผลที่ออกมาจึงไม่ดีอย่างที่เห็น

นั่นกลับแย่ที่ว่าประเด็นการปลดประจำการเรือเหาะของกองทัพบกไทยกลับถูกโยงเข้ากับการจัดหาของเหล่าทัพอื่น ตัวอย่างเช่นเรือดำน้ำ S26T ที่มีสื่อไร้จรรยาบรรณและผู้ไม่หวังดีต่อชาติโจมตีว่าเมื่อประจำการเรือต้องจมลูกเรือตายยกลำแน่ๆ ทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวกันเลย
อีกส่วนที่โยงไปถึงการใช้งานระบบอาวุธยุทโธปกรณ์ในการแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เช่นคำถามที่ว่า "ทำไมกองทัพไทยไม่ใช้ Drone ติดอาวุธในพื้นที่ชายแดนภาคใต้" ซึ่งในที่นี้หมายถึงอากาศยานรบไร้คนขับ(UCAV: Unmanned Combat Aerial Vehicle) 
คำตอบคือสถานการณ์ในพื้นที่นั้นการเพิ่ม 'อำนาจการยิง' ไม่สามารถที่จะใช้แก้ปัญหาอะไรได้เลย และบ่อยครั้งที่คำแนะนำที่มาจากผู้ที่อยู่นอกพื้นที่ซึ่งไม่ได้มีพื้นฐานความรู้จริงแต่อย่างใดมักจะสร้างความลำบากใจให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่จริงมาก

ทุกวันนี้ฝ่ายเราพยายามแก้ปัญหาโดยการลดเงื่อนไขที่เป็นบ่อเกิดของปัญหาลง ในขณะที่กลุ่มก่อความไม่สงบมักจะกระทำการเป็นกลุ่มขนาดเล็กและปะปนกับชาวบ้านในพื้นที่ ถ้าใช้อาวุธทางอากาศจาก UCAV โจมตีความเสียหายข้างเคียงจะสูงเกินกว่าที่เราจะรับได้ 
โดยเฉพาะการถูกนำไปขยายผลความรุนแรงของฝ่ายตรงข้ามเพื่อสร้างความเกลียดชังในหมู่ประชาชนและต่อนานาชาติ จนนำมาสู่การแทรกแซงจากกลุ่มติดอาวุธก่อการร้ายสากลในพื้นที่ของไทย ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ฝ่ายความมั่นคงของไทยไม่ต้องการให้เกิดขึ้น 
ดังนั้นเราจะไปใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยการสร้างปัญหาใหม่ เหมือนประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศหรือประเทศมหาอำนาจที่มองว่าฝ่ายตรงข้ามไม่ใช่คนเหมือนพวกตนไม่ได้ เพราะนั่นไม่ใช่วัฒนธรรมของชาวไทย และการทำแบบนั้นยิ่งมีแต่จะทำให้ทุกอย่างเลวร้ายลงจากที่เป็นอยู่ตอนนี้ครับ

(การสร้างความเกลียดชังคือสิ่งที่ฝ่ายตรงข้ามต้องการทั้งในฝ่ายตนและฝ่ายเรา เราใช้ไฟดับไฟไม่ได้ เราต้องใช้น้ำดับไฟ 
ในอดีตที่ผ่านมาไทยเราแก้ไขและผ่านปัญหาความมั่นคงต่างๆได้ด้วยวิธีนี้ แม้ว่าในบางสถานการณ์ที่น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ แต่ไทยเราก็อดทนโดยเชื่อว่าถ้าน้ำยังน้อยก็ต้องสะสมน้ำให้มากขึ้นแล้วรดน้ำต่อเนื่องไปจนกว่าไฟจะดับมอดหมด 
ทำให้ประเทศไทยไม่ค่อยมีปัญหาอาชญากรรมจากความเกลียดชังทางเชื้อชาติที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก แต่ในอนาคตก็ไม่แน่เพราะผู้คนในสังคมไทยส่วนหนึ่งได้เปลี่ยนไปจากอดีตแล้ว

ไม่อย่างนั้นก็จะเหมือนกับประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศที่มีสงครามกลางเมืองกับหลายกลุ่มชาติพันธุ์มาตั้งแต่เป็นเอกราชยาวนานถึง ๗๐ปี 
ด้วยพื้นฐานความคิดที่เห็นแก่ตัวของกลุ่มผู้ปกครองประเทศนั้นที่มองว่าเชื้อชาติตนดีสูงส่งกว่ากลุ่มชาติพันธุ์อื่นที่พวกเขาคิดว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมทั้งที่อยู่อาศัยร่วมแผ่นดินเดียวกับตนมานาน
จนถูกประชาคมโลกประนามเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การบังคับใช้แรงงานทาส ทหารเด็ก ข่มขืมรุมโทรมแบบเป็นระบบ และมีผู้อพยพจำนวนมากหนีความตายเข้ามาพึ่งประเทศไทยเรา

เราไม่ควรไปฟังความคิดเห็นจากคนไม่ดีบางกลุ่มที่คิดพูดและทำแต่เรื่องร้ายๆ ชอบแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงโดยที่ตัวเองอยู่ในที่ปลอดภัย ค่อยแต่ติเตียนคนทำงานทำความดีเพราะว่าตนเองคิดเลวจึงเหมารวมว่าคนอื่นก็เลวเหมือนกันกับพวกตน  
ซึ่งพวกกลุ่มคนไร้วุฒิภาวะก้าวร้าวหยาบคายที่เรียกร้องการแก้ปัญหาด้วยการสร้างความแตกแยกสุดโต่ง รวมถึงฝักใฝ่แนวคิดการปกครองประเทศแบบอนาธิปไตยเหล่านี้ พอเจอของจริงเข้าเห็นมาหลายรายแล้วลงไปนอนคว่ำหน้าปากสั่นพร่ำแต่ว่า "ไม่ๆ ช่วยด้วย! ฉันยังไม่อยากตาย!" 
และกลุ่มคนที่ชมชอบวิธีการทำความสะอาดบ้านด้วยการจุดไฟเผาบ้านตนเองพวกนี้ละที่เป็นภัยความมั่นคงของชาติบ้านเมืองอย่างแท้จริง ที่สามารถพบเห็นได้แม้แต่ใน Webboard หรือ Group Facebook ทางทหารที่เคยมีชื่อว่าเป็นกลางและพูดคุยกันด้วยเหตุผลทางวิชาการมาตลอดก็ตาม)

new Royal Thai Air Force SAAB 340B+ serial number 70206

ในช่วงเดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๐ ส่วนของกองทัพอากาศไทยในการปลดประจำการอากาศยานที่มาอายุการใช้งานมานาน และการจัดหาอากาศยานใหม่เพื่อทดแทนส่วนที่ขาด ก็เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามข้อจำกัดของงบประมาณ
ซึ่งอากาศยานแบบล่าสุดที่รับมอบในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมานั้นจะเป็นกลุ่มอากาศยานที่ใช้ในภารกิจตรวจการณ์รวบรวมข่าวกรอง ซึ่งเป็นระบบที่อยู่ในชั้นความลับตามที่ได้รายงานไป(http://aagth1.blogspot.com/2017/09/p180-avanti-ii-evo-saab-340b.html)
การรับมอบอากาศยานรบที่สำคัญของกองทัพอากาศไทยก็จะมีล่าสุดในเดือนมีนาคม ๒๕๖๑(2018) คือการรับมอบเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ KAI T-50TH ตามกำหนดการที่กองทัพอากาศดำเนินการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับประชนมาตลอดในช่วงหลังมานี้ครับ