วันพฤหัสบดีที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2566

กองทัพเรือไทยทำพิธีรับมอบเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเรือ ต.997 และ ต.998












Royal Thai Navy (RTN) held formal delivering ceremony of new 2 Coastal Patrol Craft T.997-class (T.997 and T.998) from Thailand's shipyard company Marsun Public Company Limited at Laem Thian Pier, Sattahip Port, Sattahip District, Chonburi Province, Thailand on 20 September 2023. (Royal Thai Navy)
New RTN T.997 and T.998 are fitted with one Oerlikon GAM-CO1 20mm autocannon and two M2 .50cal heavy machinegun on each ship. 
T.997-class was original plan to equipped with Russian AK-306 30mm naval gun and Antares Mod.9 fire control systems but long delay due Covid-19 pandemic in 2020-2021 and ongoing Russia-Ukraine War in 2022, followed by bidding of two 30mm Autocannon Naval Gun Systems with related equipment for 197,549,856.00 Baht ($6,019,559.44) and finally fitted with GAM-CO1 20mm naval gun from decommissioned ship likely for reduce cost from delayed programme.



ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ เป็นประธานในพิธีรับมอบเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง (เรือ ต.997 - ต.998)
วันนี้ (20 กันยายน 2566) เวลา 10.20 น. พลเรือเอก อะดุง  พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ เป็นผู้แทนผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธี รับมอบเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง (เรือ ต.997 - ต.998) ณ ท่าเรือแหลมเทียน การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

ตามที่ กองทัพเรือ ได้อนุมัติให้จัดสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.997 - ต.998 จำนวน 2 ลำ  เพื่อรองรับการปฏิบัติภารกิจของกองทัพเรือ ตามนโยบายการพัฒนากองทัพ และเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการต่อเรือภายในประเทศ 
ซึ่งโครงการนี้กองทัพเรือได้ว่าจ้างให้บริษัท มาร์ซัน จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการ โดยความเป็นมาของการสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งนั้น เริ่มจากการที่ กองทัพเรือได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 
ในการพระราชทานพระราชดำริและพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับการต่อเรือ เพื่อการพึ่งพาตนเองของกองทัพเรือ นับตั้งแต่การสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุด เรือ ต.91 ถึงเรือ ต.99 จำนวน 9 ลำ ระหว่างปี พ.ศ.2510 - 2530 อันเป็นการดำเนินโครงการของกองทัพเรือ ตามพระราชดำริของพระองค์ 
โดยกองทัพเรือได้จัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเรือชุด ต.991 - ต.993 เนื่องในโอกาสมหามงคลที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระชนมายุครบ 80 พรรษา ในปี พ.ศ.2550 ซึ่งโครงการนั้นประสบความสำเร็จด้วยดี 
ต่อมาในปี พ.ศ.2552 กองทัพเรือจัดทำโครงการการจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา ชุดเรือ ต.994 - ต.996 ด้วยเป็นการสนองพระราชดำริ ในเรื่องการพึ่งพาตนเองของกองทัพเรือ 
และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระราชทานทั้งพระราชดำริและพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับการต่อเรือ 
ซึ่งโครงการเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติฯ ชุดเรือ ต.994 นี้ได้สร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2554 และสามารถปฏิบัติงานตอบสนองต่อภารกิจได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ สำหรับโครงการจ้างเรือสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ต.997 และ ต.998 จำนวน 2 ลำ ในครั้งนี้ กองทัพเรือ ได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือ พ.ศ.2558 – 2567 
ที่ได้กำหนดความต้องการเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง จำนวนทั้งสิ้น 16 ลำ เพื่อใช้ในภารกิจต่าง ๆ และทดแทนเรือที่ครบกำหนดปลดระวางประจำการ โดยกองทัพเรือ
ได้จัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งไว้ใช้ในราชการแล้วคือ เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.81 - ต.83 ชุดเรือ ต.991 - ต.996 และชุดเรือ ต.111 - ต.115 รวมเป็นจำนวน 14 ลำ และในส่วนของการจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง 2 ลำนี้ กองทัพเรือได้ออกประกาศเชิญชวนยื่นข้อเสนอโดยวิธีคัดเลือก 
และบริษัท มาร์ซันฯ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้สร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง จำนวน 2 ลำ ตามแบบชุดเรือ ต.994 ของกองทัพเรือ โดยมีรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะทางเทคนิคตามความต้องการของฝ่ายเสนาธิการ 
และจัดให้มีพิธีลงนามในสัญญา เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2562 รวมทั้งได้ประกอบพิธีวางกระดูกงูเรือเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2562 

อนึ่ง เมื่อกองทัพเรือได้รับมอบเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ครบตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือพ.ศ.2558 - 2567 แล้ว จะทำให้กองทัพเรือมีเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเพียงพอต่อการใช้งาน ตอบสนองต่อภารกิจ ตามยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
ทั้งยังเป็นการสนองพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการพึ่งพาตนเองของกองทัพเรือ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการต่อเรือภายในประเทศ และเป็นการประหยัดงบประมาณมากกว่าการจัดหาจากต่างประเทศ 
โดยเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งทั้งสองลำนี้จะเข้าประจำการในกองเรือยามฝั่ง กองเรือยุทธการ มีภารกิจในการตรวจการณ์สกัดกั้น ลาดตระเวน ป้องกันการแทรกซึมทางทะเลและชายฝั่ง  คุ้มครองเรือประมงและเรือพาณิชย์ป้องกันและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติบริเวณชายฝั่งทะเลในอ่าวไทย 
และทะเลอันดามัน รักษากฎหมายในทะเลตามอำนาจหน้าที่ที่กองทัพเรือได้รับมอบหมาย รวมถึงการถวายความปลอดภัยแด่พระบรมวงศานุวงศ์

คุณลักษณะที่สำคัญของเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดใหม่นี้ มีความยาวตลอดลำ 41.45 เมตร ความกว้างสูงสุดของเรือ 7.2 เมตร ความลึกของเรือ 3.8 เมตร ระยะกินน้ำลึกตัวเรือ 2.0 เมตร ความเร็วสูงสุดต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 28 นอต กำลังพลประจำเรือ 33 นาย 
เครื่องจักรใหญ่ ตราอักษร MAN กำลังเครื่องยนต์ 2960 KW ที่ 1900 rpm พร้อมเพลาใบจักร ตราอักษร WARTSILA จำนวน 2 ชุด เครื่องไฟฟ้าขนาด 150 KW 380 VAC จำนวน 2 ชุด เกียร์ส่งกำลัง ตราอักษร ZF รุ่น 9055 จำนวน 2 ชุด 
มีการจัดแบ่งที่พักอาศัยสำหรับกำลังพลตามอัตรา 33 นาย เสบียงอาหาร และน้ำจืดเพียงพอ สามารถปฏิบัติงานในทะเลได้อย่างต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่า 7 วัน โดยไม่ต้องรับการส่งบำรุง ระยะปฏิบัติการ ไม่น้อยกว่า 1,500 ไมล์ทะเล ด้วยความเร็วเดินทางมัธยัสถ์ที่ระวางขับเต็มที่

กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ

พิธีรับมอบ เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง  ต.997 และ ต.998  ณ ท่าเรือแหลมเทียน การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

กองทัพเรือไทย(RTN: Royal Thai Navy) ได้ทำพิธีรับมอบเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.997 สองลำคือ เรือ ต.997 และเรือ ต.998 เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๖(2023) ณ ท่าเรือแหลมเทียน การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
ตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือไทย พ.ศ.๒๕๕๘-๒๕๖๗(2015-2024) ที่กำหนดความต้องการเรือตรวจการใกล้ฝั่งทั้งหมด ๑๖ลำ ชุดเรือ ต.997 ทั้ง ๒ลำได้ทดแทนเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.91 สองลำสุดท้ายคือ เรือ ต.98 และเรือ ต.99 ที่ปลดประจำการเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๕(2022)(https://aagth1.blogspot.com/2022/10/98-99.html)

ปัจจุบันกองเรือยามฝั่ง(CGS: Coast Guard Squadron) กองเรือยุทธการ(RTF: Royal Thai Fleet) กองทัพเรือไทยมีเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งประกอบด้วย เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.81 ๓ลำ(เรือ ต.81, ต.82 และ ต.83), เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.111 ๓ลำ(เรือ ต.111, ต.112 และ ต.113) ,ชุดเรือ ต.114 ๒ลำ(ต.114 และ ต.115), เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.991 ๓ลำ(เรือ ต.991, ต.992 และ ต.993 , เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.994 ๓ลำ(เรือ ต.994, ต.995 และ ต.996) และเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.997(เรือ ต.997 และ ต.998) ซึ่งทั้งหมดสร้างในประเทศไทย

บริษัท มาร์ซัน จำกัด (มหาชน)(Marsun Public Company Limited) อู่ต่อเรือเอกชนไทยซึ่งเป็นผู้สร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.997 ซึ่งมีพื้นฐานแบบเรือร่วมกับเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.991 และเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.994 ที่เข้าประจำการไปแล้วก่อนหน้า
โดยเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.997 มีพิธีวางกระดูกงูเรือเมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๒(2019)(https://aagth1.blogspot.com/2019/11/997-998.html) และพิธีปล่อยเรือลงน้ำเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๔(2021)(https://aagth1.blogspot.com/2021/06/997.html)

อย่างไรก็ตามจากแผนเดิมที่มองจะติดตั้งปืนกล AK-306 ขนาด 30mm พร้อมระบบควบคุมการยิง(Fire Control System) แบบ Antares Mod.9 จากรัสเซีย(https://aagth1.blogspot.com/2019/07/ak-306-30mm.html) ซึ่งจะเป็นเรือรบชุดแรกของกองทัพเรือไทยที่จะติดตั้งระบบอาวุธรัสเซีย
การส่งมอบเรือจากเดิมในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๔ ได้ล่าช้าจากสถานการณ์ Covid-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้ไม่สามารถจัดหาอาวุธสำหรับชุดเรือ ต.997 ทั้งสองลำที่ยังคงอยู่ที่อู่เรือ Marsun ในจังหวัดสมุทรปราการได้(https://aagth1.blogspot.com/2022/08/997.html)

ต่อมา Website ศูนย์ข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างและราคากลางกองทัพเรือไทยได้เผยแพร่สองโครงการการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีคัดเลือกของกรมสรรพาวุธทหารเรือ(NORDD: Naval Ordnance Department) ซึ่งประกาศในวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๕
คือโครงการซื้อระบบปืนกล 30mm จำนวน ๒ระบบ วงเงิน ๑๙๗,๕๔๙,๘๕๖บาท($6,019,559.44) และโครงการซื้อระบบควบคุมการยิง จำนวน ๒ระบบ วงเงิน ๖๙,๖๗๘,๖๓๘.๒๓บาท($2,123,701.21)(https://aagth1.blogspot.com/2023/01/30mm-997.html)

รายละเอียดในเอกสารกำหนดร่างขอบเขตของงาน(TOR: Terms of Reference) ระบุว่าเป็นระบบปืนกล 30mm และระบบควบคุมการยิง จำนวน ๒ระบบ พร้อมอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เป็นสำหรับเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.997 ทั้งสองลำ เพื่อแทนที่ระบบของรัสเซียตามแผนเดิม
ตามที่เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.991 จำนวน ๓ลำ และเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.994 จำนวน ๓ลำ ที่เข้าประจำการก่อนหน้าติดตั้งปืนเรือหลักปืนกล MSI DS30M ขนาด 30x173mm โดยเอกสารระบุรายละเอียดว่าต้องเป็นระบบที่สามารถใช้กระสุนที่มีใช้งานในกองทัพเรือแล้วได้

อย่างไรก็ตามนอกจากปืนรองปืนกลหนัก M2 ขนาด .50caliber(12.7x99mm) สองกระบอกซึ่งเป็นไปตามกำหนดคุณสมบัติระบบอาวุธเดิม ในภาพวีดิทัศน์พิธีรับมอบได้เห็น เรือ ต.997 และ ต.998 ทั้งสองลำแต่ละลำได้ติดตั้งปืนกล Oerlikon GAM-CO1 ขนาด 20x128mm เป็นปืนหลักของเรือ
ปืนกล GAM-CO1 ขนาด 20mm ในแท่นยิงควบคุมด้วยมือ(manual) โดยไม่ต้องการระบบควบคุมการยิงดังกล่าวเข้าใจว่าถูกนำมาจากเรือที่ปลดประจำการแล้วที่กรมสรรพาวุธทหารเรือเก็บไว้ในคลังของตน น่าจะเพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณจากความล่าช้าของโครงการในส่วนระบบอาวุธครับ