วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

กองทัพเรือไทยทำพิธีเจิมเรือยกพลขึ้นบกอู่ลอยเรือหลวงช้าง Type 071ET LPD










Long Live The King and Long Live The Queen.
Royal Thai Navy (RTN) held ship anointing ceremony for LPD-792 HTMS Chang(III), the Type 071ET Landing Platform Dock (LPD) at Chuk Samet Pier, Sattahip Naval Base, Chonburi Province, Thailand on 18 May 2024. (Royal Thai Navy)




Naval Acquisition Management Office (NAMO), Royal Thai Navy announced to procure new Combat Management System (CMS), Surveillance System (search radar), Fire Control System (FCS), Weapon Systems and Gyro system to be fitted on LPD-792 HTMS Chang for 920,000,000 Baht ($25,330,406),
refer to source of median price Investigate prices from market seven potential tenders include Leonardo S.p.A, Thales Nedeland B.V., Navantia S.A. S.M.E., ASELSAN ELEKTRONIK SANAYI TICARET A.S., Israel Aerospace Industry (IAI), Hartech Technologies Ltd., and Rafael Advanced Defense Systems Ltd.



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเจิมเรือหลวงช้าง ณ ท่าเรือจุกเสม็ด ฐานทัพเรือสัตหีบ 
วันที่ 18 พฤษภาคม 2567 เวลา 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเจิมเรือหลวงช้าง ณ ท่าเรือจุกเสม็ด ฐานทัพเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยมี พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ พลเรือเอก ชาติชาย ทองสะอาด ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ หัวหน้าส่วนราชการ และประชาชนเฝ้า ฯ รับเสด็จ
การนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองทิศบูชา พระพุทธนวราชบพิตร ทรงศีล พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้พลเรือเอก ชาติชาย ทองสะอาด ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ทูลเกล้า ฯ ถวายสูจิบัตรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รองศาสตราจารย์ วัชรีวรรณ ทองสะอาด ภริยาผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ทูลเกล้า ฯ ถวายสูจิบัตรแด่ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี 
และพลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ กราบบังคมทูลรายงานความเป็นมาในการต่อเรือหลวงช้าง และกราบบังคมทูลเชิญเสด็จ ฯ ไปทรงประกอบพิธีเจิมเรือหลวงช้าง

จากนั้นเสด็จขึ้นเรือหลวงช้าง บริเวณดาดฟ้าหลัก (Main deck) (ทางบันได) ทรงทำความเคารพธงราชนาวีทางท้ายเรือ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้พลเรือตรี อารยะ สิงหเสมานนท์ ผู้บัญชาการกองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ กองเรือยุทธการ กราบบังคมทูลรายงาน นาวาเอก ธีรสาร คงมั่น ผู้บังคับการเรือหลวงช้าง กราบบังคมทูลรายงานและกราบบังคมทูลเชิญเสด็จ ฯ รับการถวายความเคารพยิงสลุตหลวง   
เสด็จขึ้นแท่น ณ พระสุจหนี่ รับการถวายการยิงสลุตหลวง ทรงผินพระพักตร์ไปทางเรือหลวงปิ่นเกล้า ทรงรับการถวายความเคารพเรือหลวงปิ่นเกล้า ยิงสลุตหลวงจำนวน 21 นัด เสร็จแล้วเสด็จ ฯ ไปยังบริเวณหัวเรือ เรือหลวงช้าง ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมที่แผ่นป้ายชื่อเรือหลวงช้าง 
ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ ลำนี้ว่า “เรือหลวงช้าง” ชื่อภาษาอังกฤษ “H.T.M.S. CHANG” ตามชื่อของหมู่เกาะช้างในจังหวัดตราด ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของกองทัพเรือ ที่ได้กำหนดหลักเกณฑ์การตั้งชื่อเรือรบ ตามประเภทของเรือ โดยในส่วนของเรือยกพลขึ้นบก กำหนดให้ตั้งชื่อตามเกาะต่าง ๆ ในประเทศไทย 
จากนั้นทรงคล้องพวงมาลัยบริเวณแผ่นป้ายชื่อเรือหลวงช้าง แล้วเสด็จออกจากบริเวณหัวเรือ ไปยังห้องประทับรับรอง ทรงลงพระปรมาภิไธย และทรงลงพระนามาภิไธย ในสมุดที่ระลึก

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯไปยังห้องโถงนายทหาร พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ น้อมเกล้า ฯ ถวาย เรือหลวงช้าง (จำลอง) แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พลเรือเอก ชาติชาย ทองสะอาด ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ น้อมเกล้า ฯ ถวายลองลูกปืนยิงสลุตหลวงนัดแรก แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 
พลเรือตรี อารยะ สิงหเสมานนท์ ผู้บัญชาการกองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ  กองเรือยุทธการ ทูลเกล้า ฯ ถวายพระมาลาปักชื่อเรือหลวงช้าง แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ นาวาเอก ธีรสาร คงมั่น ผู้บังคับการเรือหลวงช้าง เข้าเฝ้า ฯ ทูลเกล้า ฯ ถวายพระมาลาปักชื่อเรือหลวงช้าง แด่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี 
แล้วทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกับ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีและนายทหารเรือชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือ จำนวน 1 ชุด

เวลา 17.45 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี เสด็จฯไปยังห้องสะพานเดินเรือ ทอดพระเนตรภายในห้องสะพานเดินเรือ โดยสะพานเดินเรือ หรือ ห้องควบคุมการเดินเรือ  มีไว้สำหรับควบคุมการเดินเรือ เพื่อให้เรือสามารถเดินทางไปได้อย่างปลอดภัยและถึงที่หมายอย่างตรงเวลา 
โดยมีนายยามเรือเดินซึ่งได้รับแนวทางและคำสั่งการของผู้บังคับการเรือ ตามระเบียบของกองทัพเรือ ทำหน้าที่ควบคุมและสั่งการบนสะพานเดินเรือ
สำหรับสะพานเดินเรือ เรือหลวงช้างนั้น มีอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการนำเรือที่ทันสมัย อาทิเช่น เรดาร์เดินเรือจำนวน 2 ตัวแบบ x-band และ s-band แผนที่อิเล็คทรอนิกส์ จีพีเอสสำหรับการนำเรือ ระบบกล้องวงจรปิด ที่สามารถใช้ตรวจสอบ ในขณะปฏิบัติการยพกล และ ขณะปฏิบัติการร่วมระหว่างเรือกับอากาศยาน รวมทั้ง ระบบถือท้ายที่ทันสมัย เพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจได้สำเร็จตามที่ได้รับมอบหมาย

จากนั้น เสด็จฯไปยังบริเวณหัวเรือ เสด็จขึ้นแท่น ประทับยืน ณ พระสุจหนึ่ทรงผินพระพักตร์ไปทางเรือหลวงปิ่นเกล้า ทรงรับการถวายความเคารพจากเรือหลวงปิ่นเกล้า ยิงสลุตหลวงจำนวน 21 นัด เสร็จสิ้นแล้วเสด็จลงจากแท่นรับการถวายการยิงสลุตหลวง ไปยังบันไดทางลงเรือ  ทรงทำความเคารพธงราชนาวีทางท้ายเรือ 
เสด็จลงจากเรือหลวงช้าง  ไปยังพลับพลาพิธี   ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก เสด็จ ฯ ไปทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการทรงลาพระสงฆ์ เสด็จออกจากพลับพลาพิธี ไปยังรถยนต์พระที่นั่ง  เสด็จพระราชดำเนินกลับ

ทั้งนี้ เรือหลวงช้าง เป็นเรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ ลำใหม่ที่กองทัพเรือได้ว่าจ้าง บริษัท China Shipbuilding Trading (CSSC) ให้ต่อขึ้น ณ อู่ต่อเรือหูตงจงหัว เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งได้รับการปรับปรุงและพัฒนาแบบมาจากเรือ LPD Type 071 ที่ประจำการในกองทัพเรือจีน มีขีดความสามารถ ในการควบคุมบังคับบัญชา การปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก 
และมีขีดความสามารถในการลำเลียงกำลังรบยกพลขึ้นบกจำนวน 650 นาย มียานรบประเภทต่าง ๆ รวมถึงยุทโธปกรณ์ อีกทั้งสามารถปฏิบัติงาน ร่วมกับอากาศยานของกองทัพเรือได้ทุกประเภท ใช้ระยะเวลาในการต่อเรือ 4 ปี จึงแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2566 
โดยมีพลเรือเอก เชิงชาย  ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือในขณะนั้น  เดินทางไปเป็นประธานในพิธีรับมอบเรือหลวงช้าง ณ อู่ต่อเรือหูตงจงหัว เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างการเดินทางกลับ เรือหลวงช้างได้ประกอบกำลังเดินทางกับเรือหลวงนราธิวาส รวมทั้งทำการฝึกการปฏิบัติงานในสถานีเรือต่าง ๆ เพื่อให้กำลังพล และเรือมีความพร้อมปฏิบัติราชการตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายทันทีที่เดินทางกลับมาถึง 

เรือหลวงช้างลำใหม่นี้เป็นเรือหลวงช้างลำที่ 3 ของราชนาวีไทย มีความยาวตลอดลำ 210 เมตร ความกว้าง 28 เมตร กินน้ำลึก 7 เมตร ระวางขับน้ำ 25,000 ตัน มีกำลังพลประจำเรือ 196 นาย แบ่งเป็น นายทหารสัญญาบัตร 26 นาย พันจ่า 39 นาย จ่า 96 นาย และพลทหาร 35 นาย โดยได้เข้าประจำการในกองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ กองเรือยุทธการ 
มีภารกิจหลักในการปฏิบัติการยุทธสะเทินน้ำสะเทินบก การขนส่งและลำเลียง อีกทั้งเป็นเรือบัญชาการ และมีภารกิจรองในการสนับสนุนการปฏิบัติการของเรือดำน้ำ อาทิ การช่วยเหลือและบรรเทาสาธารณภัย (HADR) การอพยพประชาชน การสนับสนุนการป้องกันและต่อต้านการก่อการร้ายในทะเลและท่าเรือ

กองประชาสัมพันธ์ 
สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ

ซื้อระบบอำนวยการรบ ระบบตรวจการณ์ ระบบควบคุมการยิง ระบบอาวุธ และระบบไยโร พร้อมอุปกรณ์สนับสนุนที่เกี่ยวข้อง สำหรับโครงการเพิ่มขีดความสามารถระบบการรบสำหรับการปฏิบัติการทางเรือ จำนวน ๑ ระบบ โดยวิธีคัดเลือก (เลขที่โครงการ : 67059245267)
วันที่ประกาศ 15/05/2567  ราคากลาง(บาท) 920,000,000.00  สถานะโครงการ ระหว่างดำเนินการ

เรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ เรือหลวงช้าง(ลำที่๓) ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นจากพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ที่เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพระราชพิธีเจิมเรือเมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๗(2024) ณ ท่าเรือจุกเสม็ด ฐานทัพเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี  นับเป็นสิริมงคลอย่างหาที่สุดมิได้แก่กำลังพลประจำเรือและกองทัพเรือไทย(RTN: Royal Thai Navy)
โดยพิธีเจิมเรือหลวงของราชนาวีไทยลำก่อนหน้าคือพิธีเจิมเรือฟริเกตเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดชเมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๒(2019) ณ ท่าเรือจุกเสม็ด ฐานทัพเรือสัตหีบ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพระราชพิธีเช่นกัน(https://aagth1.blogspot.com/2019/10/blog-post_18.html) นับเป็นเวลาห่างกันราว ๕ปีในการทำพิธีเจิมเรือกับเรือหลวงใหม่ของราชนาวีไทย
เรือยกพลขึ้นบกอู่ลอยชั้น Type 071ET LPD(Landing Platform Dock) เรือหลวงช้าง(ลำที่๓) ที่เข้าประจำการในกองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ กยพ.(ACSSS: Amphibious and Combat Support Service Squadron) กองเรือยุทธการ กร.(RTF: Royal Thai Fleet) กองทัพเรือไทย เป็นรุ่นส่งออกของเรืออู่ยกพลขึ้นบกชั้น Type 071 ของกองทัพเรือปลดปล่อยประชาชนจีน(PLAN: People's Liberation Army Navy) 

นับตั้งแต่เดินทางจากอู่เรือ Hudong-Zhonghua Shipbuilding Group(HZ) มหานคร Shanghai ในเครือ China State Shipbuilding Corporation(CSSC) รัฐวิสาหกิจผู้สร้างเรือจีน มายังไทยในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๖๖(2023)(https://aagth1.blogspot.com/2023/04/type-071et-lpd-sattahip.html) เรือยกพลขึ้นบกอู่ลอย ร.ล.ช้าง ก็ได้ปฏิบัติภารกิจการทดสอบคุณลักษณะของเรือและเข้าร่วมการฝึกต่างๆอย่างต่อเนื่อง
ในวันที่ ๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๗ ที่ผ่านมา อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ดำเนินการนำเรือหลวงช้างเข้าอู่แห้งรับการซ่อมทำจำกัดเพื่อการตรวจสอบสภาพตัวเรือใต้แนวน้ำ ก่อนสิ้นสุดระยะเวลาการรับประกันจากบริษัท China Shipbuilding Trading Company(CSTC) ฝ่ายการค้าของ CSSC จีนผู้สร้างเรือ ผลการตรวจสภาพและบำรุงรักษาตัวเรือไม่พบปัญหาใดๆ

ต่อมา website ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ(Thai Government Procurement) กรมบัญชีกลาง(CGD: Comptroller General's Department) กระทรวงการคลังไทย ได้เผยแพร่เอกสารประกาศของ สำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์ทหารเรือ สยป.ทร.(NAMO: Naval Acquisition Management Office) กองทัพเรือไทย เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๗
เกี่ยวกับตารางแสดงวงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรรและรายละเอียดค่าใช้จ่ายการจัดซื้อจัดจ้างที่มิใช้การจัดซื้อจัดจ้าง โครงการซื้อระบบอำนวยการรบ ระบบตรวจการณ์ ระบบควบคุมการยิง ระบบอาวุธ และระบบไยโร พร้อมอุปกรณ์สนับสนุนที่เกี่ยวข้อง สำหรับโครงการเพิ่มขีดความสามารถระบบการรบสำหรับการปฏิบัติการทางเรือ จำนวน ๑ ระบบ โดยวิธีคัดเลือก
วงเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร ๙๒๐,๐๐๐,๐๐๐บาท($25,330,406) วันที่กำหนดราคากลาง(ราคาอ้างอิง) ณ วันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๗ แหล่งที่มาของราคากลาง(ราคาอ้างอิง) ใช้ราคาที่ได้มาจากการสืบราคาจากท้องตลาด จำนวน ๗บริษัท ดังนี้

๑.บริษัท Leonardo S.p.A อิตาลี
๒.บริษัท Thales Nedeland B.V. เนเธอร์แลนด์
๓.บริษัท Navantia S.A. S.M.E. สเปน
๔.บริษัท ASELSAN ELEKTRONIK SANAYI TICARET A.S. ตุรกี
๕.บริษัท Israel Aerospace Industry (IAI) อิสราเอล
๖.บริษัท Hartech Technologies Ltd. อิสราเอล
๗.บริษัท Rafael Advanced Defense Systems Ltd. อิสราเอล

แม้ไม่ได้มีรายละเอียดเพิ่มใดๆระบุไว้แต่จากวงเงินงบประมาณและชื่อโครงการเป็นที่เข้าใจว่านี่คือโครงการจัดซื้อระบบต่างๆเพื่อเพิ่มขีดความสามารถระบบการรบสำหรับเรือยกพลขึ้นบกอู่ลอยเรือหลวงช้าง(ลำที่๓) ซึ่งตั้งแต่รับมอบเรือยังไม่ได้รับการติดตั้งระบบอำนวยการรบ(CMS: Combat Management System), radar ตรวจการณ์, ระบบควบคุมการยิง(FCS: Fire Control System) และระบบอาวุธ อย่างเต็มรูปแบบ
โดยตามแผนที่กองทัพเรือเผยแพร่แก่สื่อของไทย ร.ล.ช้าง ขณะนี้ได้รับการติดตั้งอาวุธที่ดำเนินการในไทยแล้วประกอบด้วยปืนกลหนัก M2 .50cal ๔กระบอก ที่กราบซ้ายและกราบขวาของเรือ และปืนกล Oerlikon GAM-CO1 20mm ๒แท่นยิงที่กราบซ้ายและขวาหน้าสะพานเดินเรือ ระบบอาวุธอื่นๆที่มีแผนจะติดตั้งรวมถึงปืนเรือ 76mm ๑กระบอกที่หัวเรือ, ปืนกล 30mm หรือ 40mm ๒แท่นยิง และเครื่องยิงเป้าลวง ๔ระบบ
เจ็ดบริษัทที่มีรายชื่อนั้นต่างมีผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในความต้องการโครงการเช่น บริษัท Leonardo อิตาลีผู้ผลิตปืนเรือ 76/62 ที่ใช้ในเรือหลายชุดของกองทัพเรือไทยรวมถึงเรือยกพลขึ้นบกอู่ลอยเรือหลวงอ่างทอง บริษัท Thales ยุโรป, บริษัท Navantia สเปน, บริษัท ASELSAN ตุรกี, บริษัท IAI อิสราเอล, บริษัท Hartech อิสราเอล และบริษัท Rafael  อิสราเอล ก็ต่างมีระบบ CMS, Radar, FCS, อาวุธ และ Gyro หลายแบบครับ