วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2562

กองทัพเรือไทยทำพิธีเจิมเรือและขึ้นระวางประจำการเรือฟริเกตสมรรถนะสูงเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช




Long Live The King and Long Live The Queen.
Royal Thai Navy's guided missile frigate FFG-471 HTMS Bhumibol Adulyadej was formal commissioning ceremony at Sattahip naval base, Chonburi province, Thailand in 16 October 2019

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงเจิมเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช

วันนี้ (16 ตุลาคม 2562) เวลา 18.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงเจิมเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช 
ณ ท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยมี พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ พลเรือเอก ชุมศักดิ์ นาควิจิตร ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ พลเรือโท วราห์ แทนขำ ผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบ 
พลตำรวจตรี ประการ ประจง ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรี นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นางสาวนภาวรรณ ขุนอักษร ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดพัทยา พร้อมด้วยข้าราชการ ทหาร ลูกจ้าง พนักงานราชการกองทัพเรือ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จเข้าพลับพลาพิธี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธนวราชบพิตร ทรงกราบ ประทับพระราชอาสน์ ทรงศีล ประธานสงฆ์ถวายศีลจบ 
พลเรือเอก ชุมศักดิ์ นาควิจิตร ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พันเอกหญิง กัลยกร นาควิจิตร ภริยาผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตรแด่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี 
จากนั้น พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ กราบบังคมทูลรายงานความเป็นมาในการต่อเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช และกราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ ไปทรงประกอบพิธีเจิมเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯออกจากพลับพลาพิธี ไปยังเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินขึ้นเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เรือหลวงปิ่นเกล้า ยิงสลุตหลวงถวายความเคารพ จำนวน 21 นัด พลเรือตรี อนุพงษ์ ทะประสพ ผู้บัญชาการกองเรือฟริเกตที่ 1 กองเรือยุทธการ
และ นาวาเอก สมิทนัท คุณวัฒน์ ผู้บังคับการเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช กราบบังคมทูลถวายรายงานตามลำดับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เสด็จไปยังบริเวณหัวเรือ ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมที่แผ่นป้ายชื่อเรือหลวงภูมิพล แล้วทรงคล้องพวงมาลัยบริเวณใต้แผ่นชื่อเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานลั่นฆ้องชัย ประโคมสังข์ แตร ดุริยางค์.
จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ เข้าภายในเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช ทอดพระเนตรห้องศูนย์ยุทธการ สมควรแก่เวลา เสด็จไปยังห้องโถงนายทหารเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช ผู้บัญชาการทหารเรือน้อมเกล้าฯ ถวายเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดชจำลอง 
ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ทูลเกล้าฯ ถวายลองลูกปืนยิงสลุตนัดแรก ผู้บัญชาการกองเรือฟริเกตที่ 1 กองเรือยุทธการ ทูลเกล้าฯ ถวายพระมาลา ปักชื่อเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช แด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี 
ผู้บังคับการเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดชทูลเกล้าฯ ถวายสมุดลงพระปรมาภิไธย แด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมุดลงพระนามาภิไธยแด่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงลงพระปรมาภิไธย และ พระนามาภิไธย
เสด็จลงจากเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เข้าพลับพลาพิธี เรือหลวงปิ่นเกล้า ยิงสลุตถวายความเคารพ จำนวน 21 นัด ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ประทับพระราขอาสน์ ทรงหลั่งทักษิโณทก 
พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ

สำหรับ เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เป็นเรือฟริเกตสมรรถนะสูงที่กองทัพเรือดำเนินการจัดหาจาก สาธารณรัฐเกาหลี เพื่อใช้ในภารกิจการป้องกันประเทศและการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล 
โดยจัดหามาเพื่อทดแทนเรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และเรือหลวงพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่ได้ปลดระวางประจำการไปแล้ว โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ ระหว่าง ปีงบประมาณ 2556 – 2561 ใช้งบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 14,600 ล้านบาท 

โดยกองทัพเรือได้ว่าจ้างบริษัท DaewOo Shipbuilding & Marine Engineering หรือ DSME เป็นผู้ดำเนินการสร้างเรือ ณ อู่ต่อเรือบริษัท DSME เขต Okpo เมือง Geoje จังหวัด Gyeongsangnum สาธารณรัฐเกาหลี 
โดยบริษัท DSME ได้จัดพิธีตัดแผ่นเหล็กตัวเรือแผ่นแรก ตามแบบธรรมเนียมของทหารเรือทั่วโลก เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554 โดยมี พลเรือเอก ไกรสร จันทร์สุวานิช ผู้บัญชาการทหารเรือ (ในขณะนั้น) เป็นประธานในพิธี 
และได้มีพิธีวางกระดูกงูเรือ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 จากแผ่นเหล็กที่ตัดเป็นรูปต่างๆ ได้นำมาเชื่อมเข้าด้วยกันเป็นบล็อก ประกอบด้วยบล็อกทั้งหมด 63 บล็อก จากนั้นจึงนำบล็อกทั้งหมดมาต่อกันบนพื้นที่ประกอบบล็อกจนเห็นเป็นรูปร่างตัวเรือ 
และเมื่อเชื่อมบล็อก ทั้งหมด และวางเครื่องยนต์ เครื่องจักร ระบบอาวุธภายในเรือที่มีขนาดใหญ่เรียบร้อยแล้ว จึงเป็นขั้นตอนของพิธี ปล่อยเรือลงน้ำ ในวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2560 
โดยมี พลเรือเอก ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ในขณะนั้น) เป็นประธาน และ นางปราณี อารีนิจ เป็นสุภาพสตรีผู้ประกอบพิธีปล่อยเรือลงน้ำ
เมื่อปล่อยเรือลงน้ำแล้ว จึงได้ทำการประกอบอุปกรณ์ย่อยต่างๆ ทั้งหมดลงเรือ และทำการทดสอบเรือ หน้าท่า หรือ Harbor Acceptance Test (HAT) จนมั่นใจว่าอุปกรณ์ทั้งหมดสามารถใช้งานได้ จึงทำการทดสอบ ทดลองในทะเล หรือ Sea Acceptance Test (SAT) 
จนกระทั่งระบบทุกระบบทดสอบผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานของ NATO และกองทัพเรือเกาหลี บริษัท DSME จึงได้จัดพิธีส่งมอบเรือให้กับกองทัพเรือไทย เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2561 
โดยมี พลเรือเอก พูลศักดิ์ อุบลเทพชัย ประธานคณะที่ปรึกษา กองทัพเรือ (ในขณะนั้น) เป็นประธาน ในพิธี และหลังจากนั้นจึงได้ส่งมอบเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดชให้กับกองทัพเรือไทยตามสัญญา 
เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ทางบริษัท DSME ได้ส่งมอบเรือตาม โดยกำลังพลประจำเรือได้นำเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช ออกเดินทางกลับประเทศไทยในเช้าวันเดียวกัน 
โดยเรือได้เดินทางมาถึงประเทศไทย และเข้าร่วมพิธีรับมอบเรือ ที่ ท่าเรือจุกเสม็ด อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ.2562 โดยมี พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธาน

เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช หมายเลขเรือ 471 จัดเป็นเรือรบประเภท เรือฟริเกต ขึ้นการบังคับบัญชากับกองเรือฟริเกตที่ 1 กองเรือยุทธการ จัดเป็นเรือรบชั้น 1 ของกองทัพเรือ มีกำลังพลประจำเรือ 141 นาย 
ได้รับการออกแบบและสร้างเรือโดยใช้มาตรฐานทางทหารของกองทัพเรือชั้นนำ มีระวางขับน้ำสูงสุด 3,700 ตัน. ใช้ระบบขับเคลื่อนแบบ CODAG (Combined Diesel and Gas Turbine) ทำความเร็วสูงสุดมากกว่า 30 นอต มีระยะปฏิบัติการในทะเลที่ความเร็ว 18 นอต มากกว่า 4,000 ไมล์ทะเล 
มีความคงทนทะเลสูงถึงภาวะทะเลระดับ 8 หรือ ความสูงคลื่น อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องรับการส่งกำลังบำรุงไม่น้อยกว่า 21 วัน คุณลักษณะของเรือถูกออกแบบโดยใช้ Stealth Technology เ
พื่อลดขนาดพื้นที่หน้าตัดการสะท้อนคลื่นเรดาร์ ลดการแผ่รังสีความร้อนจากตัวเรือ และลดการแพร่ คลื่นเสียงใต้น้ำ ทำให้ยากต่อการถูกตรวจจับและพิสูจน์ทราบ

เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช มีขีดความสามารถในการปฏิบัติการรบทางเรือทั้ง 3 มิติ ได้แก่ การรบผิวน้ำ การปราบเรือดำน้ำ และการป้องกันภัยทางอากาศ รวมทั้งยังมีขีดความสามารถในการโจมตีที่หมายชายฝั่งด้วยอาวุธปล่อยนำวิถี 
โดยสามารถนำเฮลิคอปเตอร์ขนาดไม่เกิน 10 ตัน ไปกับเรือได้ 1 ลำ เช่น เฮลิคอปเตอร์แบบ S - 70B Sea Hawk หรือ แบบ MH 60S Knight Hawk เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติการใน ทะเล 
นอกจากนั้น ยังมีขีดความสามารถในการตรวจการณ์และการทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์ครอบคลุมทุกมิติ ทุกระยะ ด้วยอุปกรณ์ตรวจจับที่มีประสิทธิภาพ ได้แก่ 
เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำและอากาศแบบ AMB – EP เรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศระยะไกลแบบ AMB ER โซนาร์แบบ DSQS - 24C โซนาร์ ลากท้ายแบบ ACTAS - 20 ระบบดักรับการแพร่คลื่นเรดาร์ R-ESM และระบบดักรับการแพร่คลื่นวิทยุ C-ESM เป็นต้น 

ในส่วนของระบบอาวุธได้รับการติดตั้งอาวุธที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง ได้แก่ ปืนหลักแบบ 76/62 SuperRapid Multi-Feed ปืนกลรองแบบ 30 มม. MSI อาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่พื้นแบบ Harpoon Block II อาวุธ ปล่อยนำวิถีพื้นสู่อากาศแบบ ESSM 
ระบบป้องกันตนเองระยะประชิดแบบ Phalanx ตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำแบบ MK 54 และระบบแท่นยิงเป้าลวงต่อต้านอาวุธปล่อยนำวิถีและตอร์ปิโด แบบ Soft Kil Weapon System (SKWS) DL-12T และ แบบ MK 137 
สำหรับหัวใจในการบริหารจัดการการรบ หรือ Combat Management นั้น เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช ได้รับการติดตั้งระบบอำนวยการรบ SAAB 9LV MK 4 ที่ใช้เป็น มาตรฐานในเรือรบหลักของกองทัพเรือ 
สามารถเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธี หรือ Tactical Data Link กับเรือฟริเกตชุดเรือหลวงนเรศวร และเรือหลวงจักรีนฤเบศร รวมถึงเครื่องบินตรวจการณ์และเตือนภัยล่วงหน้า SAAB 340 AEW8C Erieye และเครื่องบินขับไล่ JAS - 39 Gripen ของกองทัพอากาศ 
จึงทำให้ทุกหน่วยในพื้นที่การรบสามารถเห็นและเข้าใจภาพสถานการณ์เดียวกัน เป็นการทวีกำลังขีดความสามารถการรบให้กับกองทัพส่งผลให้การปฏิบัติการร่วมในลักษณะกองเรือ Battle Group และการปฏิบัติการร่วมกับกองทัพอากาศมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นอกจากขีดความสามารถในการปฏิบัติการรบแล้ว เรือลำนี้ยังมีขีดความสามารถในการปฏิบัติการทางทหารที่ไม่ใช่สงครามได้หลากหลายภารกิจเช่นกัน ได้แก่ การบังคับใช้กฎหมายในทะเล การตรวจค้นเรือต้องสงสัย ด้วยเรือ RHIB ที่มีความเร็วสูงมากกว่า 40 นอต 2 ลำ 
การต่อต้านการก่อการร้ายในทะเล ด้วยการใช้เป็นกองบัญชาการของส่วนควบคุมชุดปฏิบัติการพิเศษและเป็นฐานบินของเฮลิคอปเตอร์ ตลอดจนการปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล 
ด้วยการใช้ระบบอำนวยการรบและระบบเดินเรือแบบรวมการวิเคราะห์ ทิศทางการเคลื่อนที่ของยานพาหนะหรือผู้ประสบภัยในทะเล การเคลื่อนที่ของคราบน้ำมันการเคลื่อนที่ของกลุ่มก๊าซที่ลอยในอากาศ 
โดยเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช ยังถูกออกแบบให้มีขีดความสามารถในการอยู่รอดขณะปฏิบัติการในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนของสารนิวเคลียร์ เคมี และชีวภาพ ที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ 
รวมทั้งการปรับใช้พื้นที่ในโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ที่มีระบบปรับอากาศรองรับ เป็นที่พักชั่วคราวของผู้ประสบภัย ตลอดจนการสนับสนุนการส่งกลับทางสายแพทย์ หรือ MEDVAC จากพื้นที่ประสบภัยบนฝั่งมายังเรือ หรือ จากเรือในทะเลไปยังโรงพยาบาลบนฝั่ง

ภารกิจที่ผ่านมาของ เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช
- การเดินทางกลับจากสาธารณรัฐเกาหลี ระหว่างวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2561 - 7 มกราคม พ.ศ. 2562
- การฝึกเพื่อเพิ่มความขำนาญของกำลังพลประจำเรือ ในห้วงเดือน กุมภาพันธ์ - มีนาคม พ.ศ.2562
- การฝึกหลักสูตรผู้บังคับการเรือ และยุทธวิธีเรือผิวน้ำ ระหว่างวันที่ 5 - 9 มีนาคม พ.ศ.2562
- การฝึกกองทัพเรือ และการฝึกผสม Guardian Sea กับกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 29 มีนาคม - 16 เมษายน พ.ศ.2562
- การฝึกผสม AusThai กับกองทัพเรือออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ 18 - 28 เมษายน พ.ศ.2562
- การฝึกเตรียมความพร้อมในการเผชิญสถานการณ์ฉุกเฉิน บริเวณท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุต และในเขตจังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2562
- การฝึกผสมทางทะเล (Field Training Exercise) ในกรอบการประชุมรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมอาเซียน กับรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ประเทศคู่เจรจา(ADMM-Plus EWG on MS) บริเวณทะเลจีนใต้ 
และเข้าร่วมนิทรรศการทางเรือนานาชาติ IMDEX ASIA 2019 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 5 - 21 พฤษภาคม พ.ศ.2562
- การฝึกผสม CARAT 2019 กับกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 2 พฤษภาคม - 8 มิถุนายน พ.ศ.2562
- การฝึกร่วม กองทัพเรือ - กองทัพอากาศ ระหว่างวันที่ 27 - 28 มิถุนายน พ.ศ.2562
- การฝึกผสม Sea Garuda 2017 กับกองทัพเรืออินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 15 - 22 สิงหาคม พ.ศ.2562

พิธีเจิมเรือ และขึ้นระวางประจำการเรือ
พิธีเจิมเรือและขึ้นระวางประจำการเรือ ได้เริ่มมีขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 
โดยในปีพุทธศักราช ๒๔๓๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อยังทรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นฯ กับพระยาชลยุทธโยธินทร์ (อองเดร ดู เปลซี เดอ ริเชอลิเออ) เสด็จยุโรป 
และให้ส่งเรือกลไฟขนาดใหญ่ เขามาเป็นเรือพระที่นั่ง 1 ลำ ซึ่งพระราชทานชื่อว่า "เรือพระที่นั่งมหาจักรี" และเรือลำนั้นมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2435 เทียบท่าราชวรดิฐ 
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีพระราชทานขึ้นระวางเป็นเรือพระที่นั่ง และมอบแก่กระทรวงทหารเรือ
นับแต่ได้มีพระราชพิธีเจิมเรือพระที่นั่งมหาจักรี (ลำแรก) เป็นต้นมา จึงถือเป็นแบบอย่างต่อๆ มาในทุกรัชกาล ซึ่งจะต้องมีพระราชพิธีเจิมเรือ และขึ้นระวางเรือสำหรับเรือรบแห่งราชนาวีที่มีเพิ่มขึ้นมาทุกๆ ลำ 
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงเจิมเรือพิฆาตตอร์ปิโดเสือคำรนสินธุ์ เรือตอร์ปิโด 4 เรือหลวงพระร่วง และเรือพระที่นั่งมหาจักรี (ลำที่ 2)
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงเจิม เรือหลวงรัตนโกสินทร์ (ลำแรก) และเรือหลวงสุโขทัย (ลำแรก)
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เจิมเรือหลวงศรีอยุธยา เรือดำน้ำและเรือตอร์ปิโดใหญ่
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมขนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจิมเรือหลวงจักรีนฤเบศร เรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ลำแรกของประเทศ 
เรือ ต.99 ซึ่งเป็นเรือที่กองทัพเรือ โดยกรมอู่ทหารเรือต่อขึ้นเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเนื่องในมหามงคลวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ นอกจากนี้ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เจิมเรือหลวงอีกหลายลำ ได้แก่ 
เรือหลวงบางปะกง เรือหลวงประแส เรือหลวงโพสามต้น เรือหลวงท่าดินแดง เรือหลวงสารสินธุ์ เรือหลวงทยานชล เรือหลวงคำรนสินธุ เรือหลวงกูด เรือหลวงไผ่ เรือหลวงสมุย เรือหลวงปราบ เรือหลวงสัตกูด และเรือหลวงมัตโพน 
และพระราชพิธีเจิมเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดชในวันนี้ นับเป็นครั้งแรกในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
https://www.facebook.com/prthainavy/posts/2724602437591095

นับตั้งแต่พิธีวางกระดูกงู(https://aagth1.blogspot.com/2016/05/blog-post_16.html)พิธีปล่อยเรือลงน้ำเรือ(https://aagth1.blogspot.com/2017/01/blog-post_23.html) และพิธีรับมอบเรือที่เกาหลีสาธารณรัฐเกาหลี(https://aagth1.blogspot.com/2018/12/blog-post_16.html)
จนถึงการเดินทางออกจากสาธารณรัฐเกาหลี เยี่ยมเยือนมิตรประเทศต่างๆ จนมาถึงไทย(https://aagth1.blogspot.com/2019/01/blog-post_6.html) มีพิธีต้อนรับและรับมอบเรือ(https://aagth1.blogspot.com/2019/01/blog-post_7.html)
และเข้าร่วมการฝึกทางเรือต่างๆนั้น(https://aagth1.blogspot.com/2019/04/guardian-sea-2019.html, https://aagth1.blogspot.com/2019/06/carat-2019_10.html, https://aagth1.blogspot.com/2019/07/blog-post_3.html, https://aagth1.blogspot.com/2019/08/sea-garuda-2019.html)

เรือฟริเกตสมรรถนะสูงเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดชก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นจากพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ที่เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพระราชพิธีเจิมเรือ นับเป็นสิริมงคลอย่างหาที่สุดมิได้แก่กำลังพลประจำเรือและกองทัพเรือไทย
พิธีขึ้นระวางประจำการ ร.ล.ภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๒(2019) นับเป็นก้าวสำคัญในโครงการจัดหาเรือฟริเกตใหม่ของ กองเรือฟริเกตที่๑ กองเรือยุทธการ ซึ่งเป็นที่เข้าใจว่ายังมีความต้องการเพิ่มเติมอีกหนึ่งลำ(https://aagth1.blogspot.com/2017/03/blog-post_8.html)
ในการทดแทนเรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก(https://aagth1.blogspot.com/2017/09/blog-post_30.html) และเรือหลวงพุทธเลิศหล้านภาลัย(https://aagth1.blogspot.com/2015/04/blog-post_17.html) ที่ปลดประจำการไปแล้วครับ