Royal Thai Navy launching ceremony of new 5 T.265 class Inshore Patrol Craft from Marsun shipyard Thailand, 15 Feburay 2018
กองทัพเรือจัดพิธีปล่อยเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ชุดเรือ ต.265 จำนวน 5 ลำ ลงน้ำ
วันนี้ (15 กุมภาพันธ์ 2561) เวลา 15.39 น. พลเรือเอก นริส ประทุมสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีปล่อยเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ชุดเรือ ต.265 จำนวน 5 ลำ ลงน้ำ
โดยมี นางเกสรา ประทุมสุวรรณ นายกสมาคมภริยาทหารเรือ ในฐานะภริยาผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นสุภาพสตรีผู้ประกอบพิธีปล่อยเรือ ณ อู่ต่อเรือ บริษัท มาร์ซัน จำกัด ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ
ตามยุทธศาสตร์ กองทัพเรือ พ.ศ.2551 - 2560 กำหนดความต้องการเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง (ตกช.) รวม 24 ลำ เพื่อใช้ในภารกิจต่าง ๆ โดยมีแผนปลดเรือตรวจการณ์ชายฝั่งที่ใช้ราชการมานานและครบกำหนดปลดระวาง ตั้งแต่ปี 2558 - 2560 รวม 14 ลำ
จึงมีความจำเป็นต้องการจัดหาเรือตรวจการณ์ชายฝั่งทดแทนเรือที่จะปลดระวาง ซึ่งการจัดหาครั้งนี้เป็นการจัดหาเรือตรวจการณ์ชายฝั่งเพิ่มเติมให้เพียงพอต่อการใช้งาน เพื่อตอบสนองต่อภารกิจตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือ
สำหรับการจัดและเตรียมกำลังสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของทัพเรือภาคและหน่วยเฉพาะกิจของกองเรือยุทธการ และให้การสนับสนุนอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง
การดำเนินโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ชายฝั่งที่ผ่านมา กองทัพเรือได้ทยอยจัดหาเรือตรวจการณ์ชายฝั่งทดแทนมาอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ
โครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ชุดเรือ ต.228 (ต.228 - ต.230) จำนวน 3 ลำ ผูกพันงบประมาณ 3 ปี (2554 - 2556) ได้รับมอบตามสัญญาฯ เรียบร้อยแล้ว เมื่อปี พ.ศ.2556
โครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ชุดเรือ ต.232 (ต.232 - ต.237) จำนวน 6 ลำ ผูกพันงบประมาณ 3 ปี(2557 - 2559) ได้รับมอบตามสัญญาฯ เรียบร้อยแล้ว เมื่อปี พ.ศ.2559
โครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง จำนวน 4 ลำ (ต.261 - ต.264) ได้รับมอบตามสัญญาเรียบร้อยแล้วเมื่อปี 2560
และโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง จำนวน 5 ลำ (ต.265 - ต.269) ที่ได้มีพิธีปล่อยลงน้ำในวันนี้
สำหรับการจัดหาเรือตรวจการชายฝั่ง โดยการว่าจ้างให้ บริษัท มาร์ซัน จำกัด เป็นผู้ดำเนินการนับได้ว่าเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการต่อเรือภายในประเทศ อีกทั้งยังเป็นการประหยัดงบประมาณมากกว่าการจัดหาจากต่างประเทศ
โดยเรือตรวจการณ์ชายฝั่งจะเข้าประจำการใน กองเรือยามฝั่ง กองเรือยุทธการ มีภารกิจในการตรวจการณ์ สกัดกั้น ลาดตระเวน ป้องกันการแทรกซึมทางทะเลและชายฝั่ง คุ้มครองเรือประมง และเรือพาณิชย์
ป้องกันและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติบริเวณชายฝั่งทะเลในอ่าวไทย และทะเลอันดามัน รักษากฎหมายในทะเลตามอำนาจหน้าที่ที่กองทัพเรือได้รับมอบหมาย รวมถึงการถวายความปลอดภัยแด่พระบรมวงศานุวงศ์
คุณลักษณะที่สำคัญของเรือตรวจการณ์ชายฝั่งชุดใหม่ของกองทัพเรือ
ขีดความสามารถปฏิบัติการรบ (Combat Capabilities) สามารถปฏิบัติภารกิจได้ครอบคลุมพื้นที่ปฏิบัติการบริเวณชายฝั่งในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน สามารถตรวจจับ ติดตามและพิสูจน์ทราบเป้าผิวน้ำ
สามารถป้องกันตนเองจากเรือผิวน้ำและอากาศยานข้าศึกได้ตามสมรรถนะของอาวุธประจำเรือ สามารถปฏิบัติการทางเรืออย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องรับการส่งกำลังบำรุงเพิ่มเติมได้ไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง สามารถปฏิบัติงานได้ในสภาพทะเลไม่น้อยกว่า Sea State 2
สามารถตรวจค้นเรือที่ต้องสงสัย ค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ และมีความสามารถการทรงตัวที่ดีในการบังคับเรือ และบังคับเลี้ยวในการปฏิบัติงานที่ความเร็วสูง (Maneuverability)
คุณลักษณะทั่วไปของเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง (Ship System Performance)
ระวางขับน้ำเต็มที่โดยประมาณ 45ตัน ขนาดของเรือ ความยาวตลอดลำ 21.40เมตร ความกว้างสูงสุด ของเรือ 5.56เมตร ความลึกของเรือ (Molded Depth) 3.15เมตร กินน้ำลึกตัวเรือ (Molded Draught) 1.05เมตร
ความเร็วสูงสุดต่อเนื่องที่ระวางขับน้ำเต็มที่ไม่น้อยกว่า 30 นอต กำลังพลประจำเรือ 9 นาย สามารถปฏิบัติงานในทะเลได้ต่อเนื่องได้ไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องรับการส่งกำลังบำรุง
ระยะปฏิบัติการไม่น้อยกว่า 350 ไมล์ทะเล ด้วยความเร็วเดินทางมัธยัสถ์ (15 นอต) ที่ระวางขับน้ำเต็มที่ (Full Load Displacement)
ขนาดและสัดส่วนของโครงสร้างตัวเรือได้รับการตรวจสอบ และรับรองจากสมาคมจัดชั้นเรือ DNV แห่งประเทศนอร์เวย์ โดยโครงสร้างตัวเรือและแผ่นเปลือกเรือทำด้วยอลูมินัมอัลลอยเกรดที่ใช้ในการต่อเรือโดยเฉพาะ (Marine Grade)
ระบบขับเคลื่อนประกอบด้วย เครื่องจักรใหญ่ดีเซลเรือตราอักษร MAN รุ่น D2862 LE463 พร้อมเพลาใบจักร จำนวน 2 ชุด ซึ่งผลิตกำลังได้เครื่องละ 1,029 กิโลวัตต์ ทำให้มีกำลังเครื่องจักรรวม 2,058 กิโลวัตต์
ขับเพลาใบจักรและใบจักรผ่านชุดคลัชท์และเกียร์ทด จำนวน 2 ชุด โดยที่ระบบเพลาและใบจักรซ้าย-ขวาเป็นแบบ Fixed Pitch Propeller (FPP) จำนวน 2 ชุด
อาวุธประจำเรือ
อาวุธปืนหลัก ปืนกลขนาด 20 มิลลิเมตร จำนวน 1 กระบอก บริเวณหัวเรือ
อาวุธปืนรอง ปืนกลขนาด .50 นิ้ว จำนวน 1 กระบอก พร้อมกับเครื่องยิงลูกระเบิด 81 มิลลิเมตร ร่วมแกน จำนวน 1 กระบอก ติดตั้งบริเวณท้ายเรือ
พิธีปล่อยเรือลงน้ำ เป็นพิธีที่มีมาตั้งแต่ครั้นโบราณกาล เมื่อถึงเวลาปล่อยเรือเดินทะเลลงน้ำจะต้องทำพิธี เพื่อให้เกิดสวัสดิมงคลแก่ตัวเรือเสียก่อน
ในสมัยปัจจุบันพิธีปล่อยเรือลงน้ำ แบบสากล ให้สุภาพสตรีเป็นผู้ประกอบพิธีโดยวิธีปล่อยขวดแชมเปญกระทบหัวเรือ
การนี้สืบเนื่องมาจากการดื่มอวยพรด้วยถ้วยเงิน เมื่อดื่มแล้วก็ขว้างถ้วยขึ้นไปบนเรือปรากฏว่าสิ้นเปลืองมาก จึงเปลี่ยนเป็นขว้างขวดกับหัวเรือแทน
คราวหนึ่งสุภาพสตรีผู้ประกอบพิธีได้ขว้างขวดแชมเปญไม่ถูกหัวเรือ แต่กลับไปถูกแขกที่มาในงานพิธีบาดเจ็บ จึงได้ใช้เชือกผูกคอขวดเสียก่อนเสมอ
จนถึงปัจจุบันนี้พิธีปล่อยเรือลงน้ำของราชนาวี เฉพาะที่มีหลักฐานปรากฏในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพิธีปล่อยเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลงน้ำ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2454
ส่วนเรือหลวงที่สร้างจากต่างประเทศที่มีหลักฐานปรากฏ ได้แก่ เรือหลวงเสือคำรณสินธุ์ ประเภทเรือพิฆาต มีพิธีปล่อยเรือลงน้ำ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2453 ณ อู่กาวาซากิ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น
สำหรับเรือหลวง ตัวเรือเป็นเหล็ก สร้างโดยกรมอู่ทหารเรือที่มีพิธีปล่อยเรือลงน้ำเป็นครั้งแรก คือ เรือหลวงสัตหีบ (ลำที่ 1)
ซึ่งมีคุณหญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ ภริยา จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (ในขณะนั้น) เป็นสุภาพสตรีผู้ประกอบพิธีปล่อยเรือลงน้ำ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2500
กองประชาสัมพันธ์สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
https://www.facebook.com/prthainavy/posts/1807845772600104
https://www.facebook.com/prthainavy
เรือตรวจการณ์ชายฝั่งชุดเรือ ต.265 จำนวน ๕ลำประกอบด้วย ต.265, ต.266, ต.267, ต.268 และ ต.269 ซึ่งทำพิธีวางกระดูกเมื่อ ๒๕ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๙(http://aagth1.blogspot.com/2016/04/blog-post_25.html) ได้มีการทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำในวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ซึ่งอู่ต่อเรือบริษัท Marsun ไทยยังคงดำเนินการสร้างเรือตรวจการณ์ชายฝั่งชุดเรือ ต.270 จำนวน ๕ลำประกอบด้วย ต.270, ต.271, ต.272, ต.273 และ ต.274 ที่ทำพิธีวางกระดูกเมื่อ ๑๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๐ (http://aagth1.blogspot.com/2017/03/261-4-5.html)
ทำให้ขณะนี้กองทัพเรือไทยมีเรือตรวจการณ์ชายฝั่งชุดเรือ ต.228 ประกอบด้วยเรือ ต.228, ต.229 และ ต.230 รวม ๓ลำ, ชุดเรือ ต.232 ประกอบด้วย ต.232, ต.233, ต.234, ต.235, ต.236 และ ต.237 รวม ๖ลำ และชุดเรือ ต.261 ประกอบด้วย ต.261, ต.262, ต.263 และ ต.264 รวม ๔ลำ
เมื่อรวมกับชุดเรือ ต.265 ๕ลำที่น่าจะมีการรับมอบเรือภายในปี พ.ศ.๒๕๖๑(2018) นี้จะรวมเป็น ๑๘ลำ และเมื่อรวมกับชุดเรือ ต.270 อีก ๕ลำในอนาคต และเรือ ต.227 ที่เข้าประจำการในปี พ.ศ.๒๕๕๐(2007) จะทำให้กองทัพเรือมีเรือตรวจการณ์ชายฝั่งใหม่รวมทั้งหมด ๒๔ลำครับ