วันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2566

กองทัพอากาศไทยทำพิธีบรรจุเครื่องบินฝึก บ.ฝ.๒๒ T-6TH เข้าประจำการครบ ๑๒เครื่อง










Royal Thai Air Force (RTAF) held commissioning ceremony for its twelve T-6TH (Beachcraft T-6C Texan II) trainer aircrafts at RTAF Flying Training School Kamphaeng Saen in Nakhon Pathom Province on 22 August 2023. (Royal Thai Air Force)






Royal Thai Air Force also held opening ceremony of new RTAF Flying Training School's Training Center include current CT-4E, DA42 and new T-6C simulators. 
Inducting of T-6C Texan II allow RTAF to be decommissioned its ageing Pilatus PC-9 Mustang which in serviced since 1991. (Royal Thai Air Force)



"กองทัพอากาศจัดพิธีบรรจุเครื่องบิน T-6C เข้าประจำการสำหรับภารกิจฝึกศิษย์การบินของกองทัพอากาศ ทดแทนเครื่องบิน PC-9 ที่ครบวาระปลดประจำการหลังฝึกศิษย์การบินมาแล้วกว่า 30 ปี"

พลอากาศเอก อลงกรณ์  วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธานในพิธีบรรจุเครื่องบิน T-6C จำนวน 12 เครื่อง เข้าประจำการเป็น “เครื่องบินฝึกแบบที่ 22” ของกองทัพอากาศ ณ ฝูงฝึกขั้นปลาย กองฝึกการบิน โรงเรียนการบิน อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม 
เมื่อวันอังคารที่ 22 สิงหาคม 2566 เพื่อรองรับภารกิจฝึกศิษย์การบินของกองทัพอากาศ ทดแทนเครื่องบินฝึกแบบที่ 19 หรือ PC-9 ที่ครบวาระปลดประจำการระหว่างปี 2564 - 2566 หลังใช้ปฏิบัติภารกิจฝึกศิษย์การบินของกองทัพอากาศมาตั้งแต่ปี 2534 นับเป็นระยะเวลากว่า 30 ปี
พร้อมเปิดอาคารฝึกบินจำลอง โรงเรียนการบิน ซึ่งมีระบบเครื่องฝึกบินจำลองของเครื่องบินฝึกแบบต่าง ๆ ประกอบด้วย CT-4E สำหรับการฝึกศิษย์การบินชั้นประถม, DA-42 สำหรับฝึกศิษย์การบินชั้นมัธยม (บินลำเลียง) และ T-6C สำหรับฝึกศิษย์การบินชั้นมัธยม (บินขับไล่/โจมตี)

ทั้งนี้ กองทัพอากาศได้ดำเนินโครงการจัดหาเครื่องบินฝึกที่มีขีดความสามารถในการเสริมสร้างพื้นฐานการฝึก การบินขับไล่/โจมตี โดยใช้อากาศยานและระบบเครื่องฝึกบินจำลองและอุปกรณ์สนับสนุนการฝึกที่มีเทคโนโลยีเหมาะสม สามารถวิเคราะห์และประเมินผลการฝึกได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งระบบการส่งกำลังและซ่อมบำรุงที่มีความน่าเชื่อถือ มีมาตรฐานสากลระดับโลก สามารถทำการฝึกศิษย์การบินให้มีความรู้และทักษะการบินขั้นพื้นฐานในการปฏิบัติงานกับเครื่องบินขับไล่/โจมตี ได้อย่างปลอดภัย
เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่ศิษย์การบินจะต้องทำการฝึกบินกับเครื่องบินขับไล่/โจมตีสมรรถนะสูงของกองทัพอากาศต่อไป
โดยได้ศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดรอบคอบ และตัดสินใจจัดหาเครื่องบินฝึกนักบินแบบ T-6C ผลิตโดยบริษัท Textron Aviation Defense, LCC สหรัฐอเมริกา จำนวน 12 เครื่อง พร้อมอุปกรณ์ อะไหล่ การฝึกอบรม และระบบเครื่องฝึกบินจำลอง เพื่อใช้งานในการฝึกศิษย์การบินชั้นมัธยม 
โดย T-6C เป็นหนึ่งในเครื่องบินฝึกที่มีเทคโนโลยีและระบบการฝึกที่ทันสมัยที่สุดของโลก มีคุณลักษณะและขีดความสามารถตรงตามที่กองทัพอากาศต้องการ และสามารถประหยัดงบประมาณในการฝึกนักบินขับไล่โจมตีในภาพรวมของกองทัพอากาศได้ 
โดยครอบคลุมความต้องการของกองทัพอากาศในรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้

1. เป็นเครื่องบินฝึกศิษย์การบินที่มีสมรรถนะและเทคโนโลยีที่ทันสมัย สามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต มีระบบสนับสนุนการฝึกตามภารกิจที่กองทัพอากาศต้องการ
2. ระบบสนับสนุนการฝึกมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีความสมบูรณ์ สามารถวัดผล และวิเคราะห์การฝึกของนักบินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. ระบบส่งกำลังบำรุงเป็นที่น่าเชื่อถือ มีการใช้งานแพร่หลาย และมีความง่ายในการดำเนินการ
4. มีอุปกรณ์สนับสนุนการซ่อมบำรุง พัสดุอะไหล่ (Spare Parts) และเอกสารเทคนิคที่เกี่ยวข้องเพียงพอในการสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจตามที่กองทัพอากาศกำหนด และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สนับสนุนการบินสามารถปฏิบัติงานซ่อมบำรุงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5. มีความคุ้มค่าในการปฏิบัติภารกิจ โดยสามารถประหยัดงบประมาณการฝึกนักบินขับไล่โจมตีในภาพรวมของกองทัพอากาศได้

นอกจากนี้ ตามนโยบายของรัฐบาลเรื่องการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศหรือ S-Curve ที่ 11 กองทัพอากาศจึงได้กำหนดให้เป็นการจัดหาพร้อมการพัฒนา ซึ่งบริษัท Textron Aviation Defense, LCC 
และรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ร่วมตรวจสอบขีดความสามารถอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยเสนอให้มีการจ้างงานอุตสาหกรรมภายในประเทศให้มีส่วนร่วมในการผลิตและประกอบเครื่องบินฝึกแบบ T-6C ภายในประเทศ 
ซึ่งเป็นโครงการแรกของกองทัพอากาศที่ดำเนินการและประสบความสำเร็จในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศหรือ S-Curve ที่ 11
การบรรจุเข้าประจำการเครื่องบินฝึกแบบที่ 22 หรือ T6C ในครั้งนี้นับเป็นประวัติศาสตร์ก้าวสำคัญของการวางรากฐานการฝึกศิษย์การบินรองรับเทคโนโลยีที่ทันสมัยด้านการบินและเป็นไปตามมาตรฐานสากล

กองประชาสัมพันธ์ สำนักกิจการพลเรือนและประชาสัมพันธ์ กรมกิจการพลเรือนทหารอากาศ 23 สิงหาคม 2566

พิธีบรรจุเครื่องบินฝึกแบบที่๒๒ บ.ฝ.๒๒ Beechcraft T-6TH Texan II เข้าประจำการ ณ ฝูงฝึกขั้นปลาย กองฝึกการบิน โรงเรียนการบิน อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ของกองทัพอากาศไทย(RTAF: Royal Thai Air Force) เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๖(2023) ที่ผ่านมา
มีขึ้นให้หลังราวสิบเดือนหลังจากมีพิธีต้อนรับเครื่องบินฝึก บ.ฝ.๒๒ T-6TH Texan II ๒เครื่องแรกเมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๕(https://aagth1.blogspot.com/2022/11/t-6th.html) และมีการทยอยรับมอบเครื่องเพิ่มตามมา(https://aagth1.blogspot.com/2023/01/t-6th-04-05.html)

จากภาพที่เผยแพร่อย่างเป็นการโดยกองทัพอากาศไทยหนึ่งวันให้หลังในวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๖ ได้แสดงการจัดแสดงเครื่องบินฝึก บ.ฝ.๒๒ T-6TH Texan II ทั้ง ๑๒เครื่องในลานจอดของโรงเรียนการบินกำแพงแสน แสดงให้เห็นว่ากองทัพอากาศไทยได้รับมอบเครื่องครบ ๑๒เครื่องแล้ว
พิธีบรรจุเข้าประจำการของเครื่องบินฝึกแบบที่๒๒ บ.ฝ.๒๒ T-6TH ในวันเดียวกันยังได้รวมถึงพิธีเปิดอาคารฝึกบินจำลองใหม่ของโรงเรียนการบินกองทัพอากาศไทย ซึ่งผู้บัญชาการทหารอากาศไทย พลอากาศเอก อลงกรณ์  วัณณรถ ได้ทดลองเครื่องฝึกบินจำลอง(Flight Simulator) ของ T-6C ด้วย

กองทัพอากาศไทยได้ลงนามจัดหาเครื่องบินฝึก บ.ฝ.๒๒ T-6TH จำนวน ๑๒เครื่อง วงเงิน ๕,๑๙๔,๙๙๔,๒๑๖.๔๐บาท($162 million) ในเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๓(2020)(https://aagth1.blogspot.com/2022/08/t-6th.html) ที่มีพื้นฐานจากเครื่องบินฝึก Beachcraft T-6C Texan II
พร้อมการถ่ายทอดวิทยาการจากบริษัท Textron Aviation Defense สหรัฐฯ แก่ภาคอุตสาหกรรมการบินของไทย โดย บ.ฝ.๒๒ T-6TH ๑๐เครื่องที่เหลือได้ถูกจัดส่งทางเรือและทำการประกอบในไทยโดย บริษัทอุตสาหกรรมการบินจำกัด(TAI: Thai Aviation Industries) ไทยในจังหวัดนครสวรรค์

การนำเครื่องบินฝึก บ.ฝ.๒๒ T-6TH เข้าประจำการครบ ๑๒เครื่องจะทำให้กองทัพอากาศไทยสามารถปลดประจำการเครื่องบินฝึกแบบที่๑๙ บ.ฝ.๑๙ Pilatus PC-9 ที่ประจำการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๔(1991) ได้ ตามแผนที่จะปลดประจำการลงทั้งหมดในระหว่างปี พ.ศ.๒๕๖๔-๒๕๖๖(2021-2023) นี้
ในปี พ.ศ.๒๕๖๗(2024) กองทัพอากาศไทยยังจะได้รับมอบเครื่องบินโจมตีและฝึกแบบที่๒๒ บ.จฝ.๒๒ Beechcraft AT-6TH Wolverine จำนวน ๘เครื่องที่มีพื้นฐานร่วมกับ บ.ฝ.๒๒ T-6TH พร้อมการถ่ายทอดวิทยาการเช่นกันครับ(https://aagth1.blogspot.com/2022/11/at-6e-wolverine.html)